‘หิวแสง’ น่าจะเป็นหนึ่งในคำที่ถูกหยิบมาใช้อยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกที่ใครต่อใครต่างก็อยากเป็นจุดสนใจ ราวกับโหยหาแสงสปอตไลต์จากที่ไหนสักแห่งให้ส่องลงมายังตัวเราอยู่ตลอดเวลา เพื่อที่คนอื่นจะได้มองเห็น และช่างเป็นคำที่ใช้อธิบายชีวิตของ ซิกเนอร์ แม่สาวร้านกาแฟที่พาชีวิตไปถึงขอบนรกเพียงเพราะโหยหา ‘แสง’ ได้ดีเหลือเกิน

Sick of Myself (2022) หนังร่วมทุนสร้างสองสัญชาติ (นอร์เวย์-สวีเดน) และเป็นผลงานหนังยาวเรื่องแรกของ คริสตอฟเฟอร์ บอร์กิล เล่าเรื่องของ ซิกเนอร์ (คริสทีน คูยาธ โธรป) พนักงานร้านกาแฟเล็กๆ แห่งหนึ่งในออสโล แต่ละวันของเธอผ่านพ้นไปอย่างเหนื่อยหน่ายและจืดชืด ทุกครั้งที่ไปงานปาร์ตี้ ซิกเนอร์รู้สึกราวกับว่าไม่มีใครสนใจเธอ ชีวิตเธอไม่มีอะไรให้คนอื่นหยิบยกมาพูดถึง ตรงกันข้ามกับ โธมัส (ไอริค เซเธอร์) คนรักที่เป็นศิลปินหน้าใหม่และสร้างงานด้วยการขโมยเฟอร์นิเจอร์จากร้านค้ามาดัดแปลงเป็นงานศิลปะ ผู้คนจึงมักมุ่งความสนใจไปที่ชีวิตของโธมัสที่เต็มไปด้วยความตื่นตาตื่นใจของการต้องหอบหิ้วโซฟายักษ์ออกจากร้านโดยไม่ให้พนักงานผิดสังเกต หรือรับฟังความเห็นของเขาต่อเรื่องต่างๆ นานาโดยไม่มีใครสนใจฟังความเห็นของซิกเกอร์เพราะเธอไม่ได้เป็น ‘ใคร’ เธอเป็นแค่พนักงานร้านกาแฟที่ไม่มีความโดดเด่นใดๆ เลย

หากแล้วซิกเนอร์ก็ได้รับรู้รสชาติของการที่ ‘แสงลงหัว’ เมื่ออยู่ดีๆ มีคนถูกหมากัดจนเลือดโชกวิ่งเข้ามาในร้านกาแฟที่เธอทำงาน ซิกเนอร์จึงช่วยดูแลผู้บาดเจ็บจนกว่ารถพยาบาลจะมา รู้ตัวอีกทีเสื้อขาวที่เธอสวมทำงานก็เปื้อนไปด้วยเลือดของผู้เคราะห์ร้าย สายตาทุกคู่ของคนในร้านกาแฟตลอดจนเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงพุ่งความสนใจมายังเธอไม่หยุด และซิกเนอร์ก็อิ่มเอมกับความรู้สึกที่ว่านี้เสียจนใส่เสื้อตัวดังกล่าวเดินกลับบ้าน พร้อมกับที่ต้องตอบคำถามของคนแปลกหน้าที่เข้ามาถามไถ่เธออย่างเป็นห่วงอยู่เป็นระยะๆ ตลอดทั้งทาง 

มิหนำซ้ำ โธมัสผู้หมกมุ่นอยู่แต่กับเรื่องของตัวเองก็ยังแสดงท่าทีเป็นห่วงเป็นใยเธอ เรื่องราวการปฐมพยาบาลผู้บาดเจ็บและหมาจอมโหดกลายเป็นหัวข้อสนทนาในงานปาร์ตี้ที่ซิกเนอร์เล่าซ้ำไปซ้ำมาหลายต่อหลายครั้ง และยิ่งนานวันเข้า เธอยิ่งรู้สึกว่าแค่เรื่องนี้เรื่องเดียวก็อาจไม่เพียงพอให้คนสนใจเธอตลอดไป และนั่นผลักให้เธอมุ่งหน้าเข้าสู่ขอบเหวของนรกด้วยการเสาะหายาผิดกฎหมายจากรัสเซียที่มีฤทธิ์ทำให้เสียโฉมมากิน!

จะว่าไป Sick of Myself พูดเรื่องความไร้ตัวตนของซิกเนอร์ตั้งแต่ฉากแรกของเรื่องที่เธอนั่งในภัตตาคารหรูกับโธมัสพร้อมไวน์ราคาหลายหมื่น เทียบกันกับคนรัก ซิกเนอร์แต่งตัวฉูดฉาดกว่ามาก บอร์กิลสร้างภาพจำของเธอต่อคนดูด้วยการให้เธอสวมเสื้อคลุมสีเขียวมรกตที่ไม่ว่าอย่างไรก็ ‘ยากจะละสายตา’ คู่รักวางแผนจะขโมยไวน์ออกจากร้านซึ่งซิกเนอร์กังวลว่าหากพวกเขาวางแผนได้ไม่แยบยลพอ คนจะจับสังเกตถึงแผนร้ายได้ หากแต่โธมัสก็แย้งอย่างเย็นชาว่าซิกเนอร์ช่างหลงตัวเองเสียจริงๆ ที่คิดว่าคนอื่นจะมองหรือสนใจเธอตลอดเวลา และความตลกร้ายคือ เมื่อโธมัสวิ่งฉิวเอาไวน์ออกไปจากร้านโดยมีซิกเนอร์ยืนหน้าเหวออยู่กลางถนน ก็ไม่ได้มีพนักงานของภัตตาคารคนใดที่สนใจหรือ ‘มองเห็น’ เธอจริงๆ ราวกับนี่เป็นวิธีที่บอร์กิลพยายามอธิบายต่อคนดูถึงภาวะความเจ็บปวดของซิกเนอร์ที่ไม่ว่าจะอย่างไร ก็ไม่เคยถูกมองเห็นเสียที

หนังไม่ได้มอบคำตอบแน่ชัดว่าทำไมคนจึงไม่ค่อยมองเห็นหรือสนใจซิกเนอร์ หรือกระทั่งคำตอบว่าทำไมเธอจึงโหยหาการได้รับแสงมากถึงขนาดนั้น บอร์กิลอธิบายชีวิตของซิกเนอร์อย่างคร่าวๆ ว่าเธอมีปมขัดแย้งกับพ่อและเพื่อนรัก หากแต่ปมนั้นก็ไม่ได้อธิบายตัวตนของซิกเนอร์จนกระจ่างนัก เธอเป็นหญิงสาวธรรมดา เป็นมิตรและมีอารมณ์ขัน แต่ทั้งอย่างนั้นกลับรู้สึกว่าชีวิตตัวเองว่างเปล่าเพราะแต่ละวันของเธอหมดไปกับการเป็นพนักงานร้านกาแฟที่มีชีวิตอันเรียบง่าย เทียบกันกับโธมัสที่ทำงานเป็นศิลปิน หาเรื่องขโมยของอันแสนตื่นเต้น หรือเพื่อนรอบตัวที่ต่างก็มีอาชีพอัน ‘น่าสนใจ’ และ ‘มีเรื่องให้เล่า’ เช่น แมร์เธอ (แฟนนี ฟาเกอร์) ผู้สื่อข่าวที่อาชีพการงานพาเธอไปพบเจอคนน่าสนใจมากมาย ซิกเนอร์จึงรู้สึกราวกับว่าชีวิตตัวเองนั้นถูกกลืนหายไปในความน่าเบื่อหน่าย ไม่มีอะไรให้คนอื่นสนใจเท่ากับที่ก็ไม่มีอะไรให้ตัวเองภูมิใจจะเอ่ยถึงเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่เป็นเงื่อนไขของปัญหาอันในเวลาต่อไปกลายเป็นระเบิดลูกใหญ่ คือความสัมพันธ์ระหว่างซิกเนอร์กับโธมัสซึ่งก็อาจจะพูดได้ว่าเป็นแผลของหนัง แม้ Sick of Myself พยายามจะเล่าถึงภาวะความสัมพันธ์เป็นพิษและทำร้ายกันและกัน แต่ตลอดทั้งเรื่องเรากลับไม่รู้สึกถึงความรักที่ตัวละครนี้มีต่อกันเลยแม้แต่นิดเดียว ไม่อาจจินตนาการได้ว่าอะไรที่ทำให้ซิกเนอร์และโธมัสตกลงใจจะคบหากันเป็นคนรัก (และก็ดูจะเป็นส่วนที่หนังเพิกเฉยหรือลืมจะเล่าไปอย่างน่าเสียดาย) พวกเขาอาจรับส่งมุขตลกให้กันและกัน ร่วมรักกันอย่างที่คู่รักคนอื่นๆ เป็น แต่พ้นไปจากนั้นสัญญาณของการทำลายล้างตัวเองกลับปรากฏอยู่ในระหว่างบทสนทนาของพวกเขาตั้งแต่ฉากเริ่มเรื่อง ที่โธมัสมักหยามเหยียดซิกเนอร์ว่าเธอช่างหลงตัวเองเพราะคิดว่าคนจะต้องมาสนใจเธอ หรือการพูดจาหักหน้าเธอในงานเลี้ยงซึ่งเต็มไปด้วยคนจำนวนมาก จนยากจะเชื่อว่าซิกเนอร์ยังทำใจเดินหน้าความสัมพันธ์กับเขาต่อได้ลง

ความเป็นพิษของคู่รักยิ่งปรากฏให้เห็นชัดเมื่อโธมัสเปิดตัวแกลเลอรีงานศิลปะของตัวเอง ซิกเนอร์ผู้เหงาหงอยจึงเริ่มหาทางให้ความสนใจพุ่งมายังตัวเองด้วยการบอกว่าเธอแพ้ถั่ว เชฟจึงสัญญาจะทำอาหารให้เธอเป็นกรณีพิเศษโดยไม่ให้ปนเปื้อนกับจานอื่นที่มีถั่วเป็นส่วนผสม (ท่ามกลางสายตารำคาญใจของโธมัสที่รู้ว่าเธอไม่ได้แพ้ถั่ว) ขณะที่ผู้ร่วมงานทั้งหลายต่างก็พากันถามไถ่ถึงอาการและความรุนแรงหากว่าเธอกินถั่วเข้าไป สภาวะเช่นนี้จึงนำพาไปยังจุดที่โธมัสและซิกเนอร์ต้องแก่งแย่ง ‘แสง’ กันเอง เขาพยายามกอบกู้ความสนใจให้กลับไปงานยังแกเลอรีที่เพิ่งเปิด ขณะที่เธอก็เล่นใหญ่กว่าด้วยการแสร้งทำแพ้ถั่วรุนแรงจนล้มพับ! ทั้งหมดนี้ยิ่งไม่เข้าใจว่าเหตุใดตัวละครจึงยังถูลู่ถูกังใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน เมื่อพวกเขาก็ไม่ได้ดูรักกันเลยแม้แต่น้อย จึงอาจจะกล่าวได้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างโธมัสกับซิกเนอร์เป็นเพียง ‘กลไก’ ที่ผู้กำกับใช้เพื่ออธิบายการโหยหาแสงของซิกเนอร์เท่านั้น มันจึงเบาบางและปราศจากเหตุผลแข็งแรงมารองรับการมีอยู่เสียจนกลายเป็นบาดแผลหนึ่งที่หนังปิดไม่มิด

การแข่งขันของคู่รักยังดำเนินต่อไปอย่างดุเดือด เมื่อซิกเนอร์เลือกกินยาผิดกฎหมายทั้งที่รู้ว่าผลข้างเคียงคือมันมีฤทธิ์ทำลายผิวหนังและใบหน้า จนผู้คนต่างมาห้อมล้อมให้ความสนใจกันแน่นขนัด พร้อมกันกับที่โธมัส (ซึ่งราวกับเป็นมุมกลับของเธอ) ก็ดิ้นรนอยากมีพื้นที่ของตัวเองในฐานะศิลปิน ด้วยการให้สัมภาษณ์นิตยสาร บอกวิธีการทำงานที่เขาขโมยเฟอร์นิเจอร์มาดัดแปลงเป็นงานศิลปะจนกลายเป็นที่จับตาของร้านเฟอร์นิเจอร์ในออสโล ถึงที่สุดแล้วอาชีพหน้าที่การงานของเขาก็มอดดับลงเมื่อไม่อาจทำงานแบบเดิมได้อีกต่อไป

ส่วนซิกเนอร์ก็อ้อนวอนให้แมร์เธอ เพื่อนนักข่าวของเธอเอาเรื่องของเธอไปเขียนลงเป็นข่าวจนกลายเป็นจุดสนใจ และเพื่อการนั้น ซิกเนอร์จึงตั้งใจเพิ่มปริมาณยาเพื่อให้ร่างกายแบกรับพิษหนักหน่วงเข้าไปอีกจนเกินระดับที่จะรับไหว คู่รักทั้งสองจึงเป็นเสมือนขั้วตรงข้ามที่เลือกทำลายชีวิตของตัวเองกันคนละแบบ แต่ไม่ว่าแบบไหนก็มีเพียงความพินาศรออยู่ที่ปลายทางทั้งนั้น

ทว่าความที่หนังตั้งหน้าตั้งตาจะเล่าถึงความพินาศของซิกเนอร์ในการจะหาแสงส่องมายังตัวเองนั้น ด้านหนึ่งก็ดูจะตอบสนองสิ่งที่คนดูอยากเห็นซึ่งก็คือ ‘ความพินาศ’ ระดับมหากาฬ เมื่อความพินาศสุดขีดของชีวิตจากปริมาณยาเกินขนาดทำลายทั้งผิวหนังทั้งระบบประสาทย่อยยับจนซิกเนอร์แทบประกอบกิจกรรมทั่วไปไม่ได้ แม้ชื่อเสียงจากการลงหนังสือพิมพ์จะส่งให้เธอกลายเป็นคนดังชั่วคราวจนมีคนชักชวนเธอไปถ่ายแบบเพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ความงามนอกกระแสหลัก ให้ซิกเนอร์เริ่มวาดฝันลมๆ แล้งๆ ว่าแสงจะลงมาส่องเธอโดยถาวรเสียที

แต่เอาเข้าจริงยากลับทำลายเนื้อตัวเธอจนยากจะทำงานให้รอดไปในแต่ละวัน นี่จึงเป็นความหายนะประการแรก และประการต่อมาคือเมื่อเธอจนตรอก ไม่อาจเดินหน้าถูไถชีวิตที่ย่อยยับจากการโกหกหาแสงของตัวเองได้ เธอจึงเลือกสารภาพกับแมร์เธอโดยหวังว่า การสารภาพบาปนี้จะทำให้เพื่อนรักเห็นใจและเขียนข่าวถึงเธออีกสักครั้ง หากแต่นั่นกลับกลายเป็นการทิ้งระเบิดครั้งสุดท้ายให้ชีวิตของซิกเนอร์เอง

สิ่งที่น่าจับตาคือ แม้ว่าหนังจะพูดเรื่องการเรียกร้องความสนใจจนเกินเลย แต่มันก็ไม่ได้หมกมุ่นอยู่กับประเด็นที่เห็นได้ชัดอย่างโลกโซเชียลหรือยอดไลก์มากนัก กลับกันคือมันพูดถึงภาวะไร้ตัวตนที่สัมผัสได้จากคนรอบตัวจริงๆ ไม่ใช่โลกออนไลน์ มันคือความรู้สึกของการที่ยืนอยู่ลำพังในงานปาร์ตี้โดยที่ไม่มีใครสนใจจะคุยอะไรด้วย ความรู้สึกของการถูกมองผ่านเพราะชีวิตไม่มีประเด็นอะไรให้คนเข้ามาทักทายหรือพูดคุย ความรู้สึกของการเป็นเงาหลังฉากของใครสักคนเสมอ ซึ่งหากเล่าผ่านการถูกละเลยในโลกออนไลน์มันอาจไม่ดูจริงและเข้มข้นเท่านี้

ฉากท้ายๆ ของเรื่องจึงเป็นภาวะที่ซิกเนอร์เปลี่ยนไปเป็นอื่นโดยสมบูรณ์ ช่างเป็นฉากที่ชวนให้ร้าวรานใจเมื่อเธอผู้สูญเสียพร่ำบอกตัวเองให้เชื่อว่า เธอช่างรักตัวเอง ช่างรักที่จะมีชีวิต ในโลกที่ดูราวกับไม่มีใครมองเห็นเธออีกต่อไปแล้ว

 

Tags: ,