จากเรื่องสั้นบนนิตยสาร สยามสมัย สู่การรวมเล่มโดยสำนักพิมพ์ลาวคำหอม กลายเป็น ปีศาจ นวนิยายชั้นครู ผลงานจากปลายปากกา ‘เสนีย์ เสาวพงศ์’ หรือ ศักดิชัย บำรุงพงศ์ ที่ได้สร้างปีศาจที่คอยหลอกหลอนชนชั้นและอำนาจในสังคมเก่า การหยิบจับกาลเวลามาเป็นเครื่องมือของคนรุ่นใหม่ ทำให้นวนิยายเล่มนี้ทรงพลังอย่างมิอาจต้านทาน และได้รับการยกย่องมาทุกยุคทุกสมัย

แต่เพียงแค่ตัวอักษรคงไม่พอ เจน จำรัสศิลป์ และ ขรรค์ชัย บุนปาน นักหนังสือพิมพ์หัวก้าวหน้า เจ้าของโรงพิมพ์พิฆเณศ ได้นำมาดัดแปลงต่อยอดเรื่องราวของปีศาจให้เข้าถึงง่าย เห็นภาพชัดแจ้ง ส่งต่อเรื่องราวให้ออกไปอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น จนเป็นภาพยนตร์ที่ชื่อ สาย สีมา นักสู้สามัญชน (2524)

ความกล้าหาญในการหยิบเรื่องราวของอำนาจที่กำลังสูญสิ้นของคนกลุ่มนี้ช่างน่าสนใจ เพราะหนังเรื่องนี้ถูกสร้างขึ้นในปี 2522 ไม่นานหลังเหตุระอุทางการเมืองในปี 2519 ตอกย้ำถึงอำนาจที่ไม่อาจต้านทานกาลเวลา ตามที่ สาย สีมา นักสู้สามัญชน – ตัวละครเอกในเรื่องบอกเล่าให้เราฟัง

ด้วยเนื้อหาและข้อคิดอันลึกซึ้งใน ปีศาจ ทำให้ สาย สีมา นักสู้สามัญชน ถือเป็นการถอดแบบเรื่องราวจากหนังสือมาสู่ภาพยนตร์อย่างเคารพต้นฉบับ ไร้ซึ่งการเติมแต่งใดๆ เพื่อให้ ‘สาระสำคัญ’ ของเรื่องยังคงอยู่

แน่นอนว่าจุดต่างเล็กน้อยคงเป็นเรื่องของการเลือกที่จะเล่าหรือไม่เล่าอะไร จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะนำทุกแง่มุมในหนังสือมาถ่ายทอดผ่านภาพยนตร์ได้อย่างครบถ้วน และแม้จะทำได้ครบถ้วนจริงๆ แต่สุดท้ายก็จะทำให้หนังมากประเด็น ไม่คมคาย และยากแก่การติดตามของผู้ชม หนังเรื่องนี้จึงแบ่งเรื่องราวออกเป็น 3 ส่วนคือ แนวคิดที่ก้าวหน้า อำนาจที่ล้าหลัง และปีศาจที่ชื่อ ‘กาลเวลา’

แนวคิดที่ก้าวหน้า

ในส่วนนี้หนังมีความชัดเจนที่ผลักดันตัวละครหนุ่มสาวให้เป็นภาพจำและตัวแทนของชุดความคิด อุดมการณ์นี้ถูกก่อตัวขึ้นมาในฉากที่ สาย สีมา พูดคุยกับรัชนี และเข้าใจตรงกันว่า ชนชั้น มูลนาย ไพร่บ่าว ที่เกิดขึ้นในสังคมไม่ได้เกิดมาจากวาสนาหรือบาปบุญ แต่มันคืออำนาจที่คนด้วยกันอุปโลกน์และใช้กดขี่กันอยู่ตลอดเวลา

ตรงนี้เป็นจุดที่น่าสนใจ เพราะการปลูกฝังแนวคิดแบบนี้ให้คนรุ่นใหม่ มันต่อยอดและสร้างความเชื่อให้พวกเขาว่า ในเมื่อมันเป็นเรื่องที่มนุษย์กำหนดขึ้นมา มนุษย์ด้วยกันเองอย่างพวกเขานั้นย่อมเปลี่ยนแปลงได้ เพียงแต่เครื่องมือที่ใช้เปลี่ยนแปลงนั้นไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาสามารถควบคุม เพราะด้วยสังคมที่อำนาจอยู่ในมือคนรุ่นก่อน พวกเขาจึงทำได้เพียงแค่เฝ้ารอ และปล่อยให้กาลเวลาเป็นเครื่องมือในการสร้างความเปลี่ยนแปลงสังคมไปโดยตัวของมันเอง

อีกส่วนที่น่าสนใจคือเรื่องของการผลักดันให้ผู้หญิงสามารถออกไปทำงานนอกบ้านได้ อ้างอิงจากความคิดของพ่อรัชนี ที่หวังให้ลูกสาวแต่งงานกับคนมีชาติตระกูล เป็นแม่บ้านแม่เรือน ไม่ต้องทำงาน จะได้อยู่สบายแบบพี่สาวทั้งสองคน 

ในแง่มุมของพ่อรัชนี นี่อาจเป็นวิธีเลี้ยงลูกที่ถูกต้องตามค่านิยมของคนยุคนั้น แต่ในฉากที่รัชนีคุยกับกิ่งเทียน เพื่อนหญิงที่ประกอบอาชีพครู ซึ่งได้ปลูกฝังแนวคิดการปลดแอกออกจากอำนาจปิตาธิปไตย ที่ฝังลึกอยู่ในสังคมช่วงเวลานั้น การศึกษาและหน้าที่การงานคือกุญแจสำคัญที่จะทำให้พวกเธอได้ชีวิตคืนกลับมา เป็นมนุษย์ที่สามารถกล้าคิด กล้าฝัน และกล้าทำอะไรได้หลายๆ อย่าง เฉกเช่นเดียวกับผู้ชาย

นอกจากนี้ คำว่าอาชีพที่พูดถึง ยังถูกตั้งคำถามถึงอุดมการณ์ของเนื้องาน เพราะตลอดเวลาในหนังเรื่องนี้จะเห็นตัวละครประกอบอาชีพอยู่ 2 แบบ คือทำงานแบบขอไปทีเพื่อแลกกับเงินเดือนประทังชีวิต กับการทำงานด้วยใจรัก ด้วยความเข้าใจว่าหน้าที่การงานของตนสำคัญแค่ไหน แน่นอนว่าการปลูกฝังอุดมการณ์แบบหลังภายในเรื่อง จะช่วยให้คนทำงานโดยเฉพาะอาชีพที่สามารถพัฒนาสังคมได้เช่น ครู นายอำเภอ หรือทนายความ สามารถผลิตงาน สร้างผู้คน และช่วยผลักดันสังคมได้ก้าวหน้าได้มากยิ่งขึ้น 

อำนาจที่ล้าหลัง

ในส่วนนี้เอาเข้าจริงไม่ใช่ส่วนที่น่าสนใจเท่าไร เพราะหน้าที่ของหนังเรื่องนี้เป็นเพียงแค่การสะท้อนภาพของสังคมและบ้านเมืองในยุคนั้นออกมาให้ครบถ้วน ไม่ได้พูดถึงระบบอำนาจนิยมในสังคมว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร ไม่ได้พูดถึงวิธีการที่ทำให้คนกลุ่มนี้ยอมรับและมีความคิดแบบเผด็จการ แตกต่างจากเรื่องราวของคนรุ่นใหม่อย่างสาย สีมา และรัชนี ที่มักถ่ายทอดความคับแค้นใจจากการถูกกดทับด้วยอำนาจนิยมของคนรุ่นก่อนอยู่เสมอ จนทำให้ความก้าวหน้าและปีศาจกาลเวลาปรากฏขึ้นมาเพื่อต่อต้านความผิดปกติในสังคม 

แต่สิ่งดีงามที่ถูกพูดถึงคือ การถ่ายทอดผลผลิตอันน่าเศร้าของระบบที่ล้าหลัง เหตุใดพ่อของรัชนีต้องถามสาย สีมาว่าเป็นลูกเต้าเหล่าใคร ทำงานที่ไหน หรือแม้กระทั่งพระอาจารย์ของเขาจากที่เคยรับมาอุปถัมป์สร้างอนาคตให้กับสาย สุดท้ายกลายเป็นผู้เอ่ยปากเองว่าลูกศิษย์ของตนคือปีศาจที่มาพร้อมความอกตัญญู 

ถ้ามองออกมาจากมุมตัวละคร เขาไม่รู้สึกแน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ผิด สิ่งที่ไม่เหมาะสม แต่การที่มันสามารถเกิดขึ้นอย่างประเจิดประเจ้อกลางถนน หรือบนโต๊ะอาหารนั้น ถือเป็นเรื่องน่าใจหายไม่น้อย ที่คนบางกลุ่มหน้ามืดตามัว ลุ่มหลงในอำนาจ ละทิ้งศีลธรรมและมนุษยธรรม เพื่อเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบ จนลืมว่าครั้งหนึ่งตัวเองก็เคยถูกระบบแบบนี้กดขี่มาตลอด ดังเช่นแม่ของรัชนี เป็นต้น

“เขาไม่ได้ผิดหรอก เขาเพียงแค่คิดว่าเหล่านี้คือสิ่งที่ดีในทัศนะของเขา” คำพูดของสาย สีมา ก็เป็นบทสรุปที่ดีของประเด็นนี้ 

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือการตั้งคำถามต่อการทำงานของนักกฎหมายในเรื่อง การทำงานเพื่อผดุงความยุติธรรม มีความซับซ้อนมากมายเกินกว่าแค่รับเงินจากลูกความและทำงานให้ในฐานะลูกจ้าง แต่คำว่ายุติธรรมนั้นมันซับซ้อนไปถึงการจัดสรรผลประโยชน์ให้ลูกความหรือคู่ความด้วยเช่นกัน 

งานประเภทนี้จึงต้องอาศัยความเข้าใจทางสังคมเป็นอย่างมาก การตัดสินใจไม่รับเงินจากนายทุน และว่าความให้กับชาวนาของสาย สีมา จึงถือเป็นการกระทำที่น่ายกย่องยิ่งนัก และยังเป็นสาระสำคัญที่ยังคงทันสมัยควรค่าแก่การบอกต่อไปยังผู้ทำงานสายนิติศาสตร์ในทุกภาคส่วน

ปีศาจที่ชื่อกาลเวลา

ไฮไลต์สำคัญของเรื่องนี้คงหนีไม่พ้น สาย สีมา ตัวเอกผู้เป็นเจ้าของชื่อเรื่อง ด้วยเบื้องหลังที่เป็นลูกชาวนา ได้รับการศึกษา และมีโอกาสได้ทำงานเพื่อความยุติธรรม สายจึงกลายเป็นตัวแทนของปีศาจที่ชัดแจ้งที่สุดอย่างไม่ต้องสงสัย 

หากจะมีส่วนที่เสียดายนั้นก็คงเป็นเรื่องราวส่วนตัวของสาย สีมา ที่ไม่มีการเปิดเผยมากเท่าไรนักว่า มุมมองของเขาเปลี่ยนไปเมื่อไหร่ แนวคิดเช่นนี้เขาได้รับมาจากไหน เราไม่ได้เห็นวิถีชีวิตของเขา เพราะตั้งแต่เริ่มเรื่องเขาก็กลายเป็นตัวแทนของปีศาจที่ชื่อกาลเวลาเสียแล้ว

แต่ถึงอย่างไร สาย สีมา ก็ยังทำหน้าที่เป็นตัวแทนและเป็นความหวังให้กับคนรุ่นใหม่ได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง การแสดงของ ประจวบ มงคลศิริ นักศึกษาแพทย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในนามแฝงว่า ‘โปรยชัย ชโลมเวียง’ ก็ทำได้อย่างยอดเยี่ยม ฉากที่ สาย สีมา ประกาศก้องว่าตนคือปีศาจที่จะมาไล่ล่าอำนาจบนโต๊ะอาหารนั้น เรียกได้ว่าถ่ายทอดพลังจากตัวอักษรในหนังสืออกมาเป็นภาพได้อย่างครบถ้วน ถือเป็นฉากที่น่าจดจำที่สุดฉากหนึ่งของภาพยนตร์ไทย 

สุดท้ายต้องยกความดีความชอบให้กับคณะผู้สร้าง เจญ เจตนธรรม (เจน จำรัสศิลป์) และ ขรรค์ชัย บุนปาน นักหนังสือพิมพ์ชั้นครู ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ มติชน และเจ้าของโรงพิมพ์พิฆเณศ ที่ถ่ายทอดผลงานอมตะชิ้นนี้ออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม แม้จะไม่ประสบความสำเร็จเมื่อตอนออกฉาย โดยมีรายงานถึงการขาดทุนกว่า 10 ล้านบาท (เฉพาะฉากทำลายค่ายทหารญี่ปุ่นใช้งบประมาณสูงถึง 8 แสนบาท) แต่ถือเป็นมรดกแห่งความกล้าหาญของนักหนังสือพิมพ์ไทยกลุ่มหนึ่งที่ลุกขึ้นมาสร้างภาพยนตร์อันเปี่ยมด้วยอุดมคติแรงกล้า

และที่สำคัญยังเป็นการบันทึกประวัติศาตร์ให้คนรุ่นหลังได้ทราบว่า ในยุคสมัยที่อำนาจนิยมระบาดไปทุกแห่งหน ทุกชนชั้นในสังคม ยังมีคนบางกลุ่มที่ออกมาลุกขึ้นสู้เพื่อความยุติธรรมและอิสรภาพได้อย่างกล้าหาญ 

จึงเป็นเรื่องน่ายินดีมากๆ ที่ สาย สีมา นักสู้สามัญชน ได้รับการเสนอชื่อเป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติประจำปี 2563 

Tags: , , , ,