มนุษย์ใช้เกณฑ์อะไรแบ่งแยกสิ่งดีชั่ว มันมีพื้นฐานจากความจริงแท้ หรือเป็นเพียงการประกอบสร้างของการรับรู้เชิงอัตวิสัย ประสบการณ์ และการชักจูงโดยบรรทัดฐานของสังคม?
นี่คือคำถามสำคัญที่เกิดขึ้นตลอดการรับชมละครเวทีเรื่อง ‘Paranoid-Schizoid’ ผลงานแนวฟิสิคัล (Physical Theatre) เรื่องล่าสุดของคณะละคร บีฟลอร์เธียร์เตอร์ (B-Floor Theatre) โดย ดุจดาว วัฒนปกรณ์ นักแสดงและนักจิตบำบัดที่หลงใหลในความเชื่อมโยงระหว่างจิตใจและการเคลื่อนไหวของร่างกาย นำแสดงโดยนักแสดงระดับแนวหน้าจากกลุ่ม B-Floor อย่าง คาเงะ ธีระวัฒน์ มุลวิไล, จารุนันท์ พันธชาติ และ อรอนงค์ ไทยศรีวงศ์
ละครเวทีเรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งของโปรเจก Cloud State ที่ต้องการนำเสนอ ‘ภาวะคลุมเครือ’ ของสิ่งที่เป็นจริงและไม่จริงในสังคม โดยมีพื้นฐานการสร้างบทจากทฤษฎีทางจิตวิทยาของ เมลานี ไคลน์ (Melanie Klein) ว่าด้วยภาวะวิตกกังวลพ่วงกับอาการจิตเภทที่เกิดขึ้นจากการแยก ‘ความดี’ กับ ‘ความชั่ว’ ออกจากกันโดยชัดเจน ซึ่งมักเกิดขึ้นกับเด็กทารก เรียกว่า ‘Paranoid-Schizoid Position’
ดุจดาวอธิบายว่าเด็กทารกมักจะแบ่งความเข้าใจต่อโลกออกเป็นสองส่วน คือ ดีทั้งหมด (Wholly Good) กับ เลวทั้งหมด (Wholly Bad) แต่เมื่อภาวะที่ว่าหนักขึ้นถึงขั้นไม่สามารถทำความเข้าใจได้ว่า ความเป็นจริงคนเราก็มีทั้งดีชั่วปนกันไป ซึ่งบางทีภาวะที่ว่านี้ก็คล้ายกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในสังคมไทย แม้คนส่วนใหญ่จะเลยวัยทารกมาแล้วก็ตาม
ประเด็นดังกล่าวถูกนำเสนอผ่านศิลปะการเคลื่อนไหวร่างกายผสมผสานกับเทคนิคการด้นสด (Improvisation) โดยให้ผู้ชมเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราว แสดงการเดินทางจากจุดเริ่มต้นของจิตใจอันว่างเปล่า ไร้กรอบ ไร้เส้นแบ่ง
การแสดงเริ่มขึ้นด้วยความเงียบงัน ชายชุดดำ และหญิงชุดขาวเดินไปรอบๆ กระบะแป้งทรงกลม ตามมาด้วยการสนทนาที่แผ่วเบาของทั้งคู่ ค่อยๆ พาให้ผู้ชมให้เพ่งความสนใจมาที่พื้นที่การแสดงได้เป็นอย่างดี จนกระทั่งการสนทนาแปรเปลี่ยนเป็นการสั่งการ
เป็นเรื่องน่าตื่นตาตื่นใจสำหรับคอละครเวที ที่ได้เห็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ง่ายๆ อย่างหูฟังและไมโครโฟนไร้สาย มามีส่วนร่วมในการแสดง ของสองสิ่งนี้ถูกใช้เพื่อให้ตัวละครจิตสำนึกป้อนคำสั่งไปยังชายชุดดำแบบลับๆ ให้ทำการแสดงแบบด้นสด พร้อมทั้งฉายภาพอำนาจที่จิตใจมีต่อร่างกาย ตามต่อด้วยคำถามมากมาย เพื่อตรวจสอบความเข้าใจของมนุษย์ต่อสิ่งดี-เลว
ในช่วงแรกทั้งตัวละครกับผู้ชม ยังคงจำแนกและขีดเส้นแบ่งทุกสิ่งได้ชัดเจน ‘ประชาธิปไตยและความหลากหลายทางเพศเป็นสิ่งดี’ ‘การถูกจ้องมองเป็นสิ่งไม่ดี’ แต่แล้วเส้นแบ่งเหล่านั้นก็ถูกตีกวนจนเละเทะ ทุกคนในพื้นที่นั้นต้องเจอกับคลื่นของความสับสน ที่นำมาสู่การตบตีกันของด้านขาวและดำ
“หากคนดีทำสิ่งชั่วร้าย เขายังเป็นคนดีอยู่หรือไม่?”
“เราสามารถรู้สึกดีกับเรื่องที่ไม่ดีได้ไหม?”
จนในที่สุด เราทุกคนถูกพาไปยังพื้นที่สีเทาทางศีลธรรม ผู้แสดงและผู้ชมเริ่มเรียนรู้ที่จะหาข้อดีจากเรื่องไม่ดี และเจอข้อเสียในเรื่องที่ดี เปลี่ยนเลนส์ในการมองเรื่องราวรอบตัวไปได้ทุกครั้งที่ถูกจิตใต้สำนึกสั่งการ ก้าวเข้าสู่ภาวะ Paranoid-Schizoid Position อย่างสมบูรณ์
ดุจดาวและทีมนักแสดงเลือกที่จะจบการแสดงชุดนี้ด้วยฉากการด้นสดชุดใหญ่ที่ทั้งเพลินตาและหลอมรวมแง่คิดจากเรื่องราวทั้งหมด ด้วยชุดคำสั่ง ‘Good Acting of Bad People’ และ ‘Bad Acting of Good People’ กว่าที่ผู้ชมจะรู้ตัว ชุดคำสั่งนั้นก็ซับซ้อนจนแทบจะจับใจความไม่ได้ ผู้ชมได้เห็นภาพคนเลวแสร้งเป็นคนดีอย่างแนบเนียน และเห็นคนดีที่พยายามอย่างไรก็ไม่มีทางดูชั่วร้ายได้ เป็นการปิดม่านที่สะท้อนให้เห็นถึงความรางเลือนที่มีอยู่จริงในสังคมได้ดีเยี่ยม
ละครเวทีเรื่อง Paranoid-Schizoid จะเริ่มทำการแสดงตั้งแต่วันที่ 7-11 ธันวาคม 2022 เวลา 19.00 น ณ ห้องสตูดิโอชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) หากใครสนใจอยากค้นหาความจริงในพื้นที่สีเทานี้ สามารถติดต่อสำรองที่นั่งได้ที่ เฟซบุ๊กเพจ B-Floor (บัตรราคา 750 บาท)
และขอแนะนำ ‘IT’S JUST A FICTION [not mentioning anything]’ ละครเวทีลำดับที่สองในโปรเจกต์ Cloud State 2022 ที่จะจัดแสดงต่อมาในวันที่ 15-18 ธันวาคม 2022 สามารถสำรองที่นั่งได้แล้ววันนี้
ภาพ: B Floor Theatre
Tags: theatre, การแสดง, Screen and Sound, B Floor Theatre, Cloud State 2022, Review, ละครเวที