“ข้าแต่พระบิดา ผู้สถิตอยู่บนสรวงสวรรค์ พระนามทรงเป็นที่สักการะ พระอาณาจักรจงมาถึง สิ่งที่พระองค์ประสงค์จะสำเร็จ…”
“ระหว่างที่สวดภาวนาอยู่นี่ ก็ถามพระเจ้าไปด้วยเลยสิว่าทำไมถึงเอาแต่ชีวิตของเด็กๆ ไป ส่วนไอ้ขี้เมาแม่งกลับรอดออกไปพร้อมแค่แผลถลอก”
ประโยคเปิดเรื่องที่เป็นเสมือนใจความสำคัญของ Midnight Mass (2021) มินิซีรีส์ลำดับล่าสุดของ ไมค์ ฟลานาแกน (Mike Flanagan) คนทำหนังสยองขวัญ ที่ถ่ายทอดความหวาดกลัวได้ราวกับบทกวีจาก Doctor Sleep (2019), The Haunting of Hill House (2018) เล่าเรื่องราวของไรลีย์ (แซค กิลฟอร์ด) ชายหนุ่มเมาแล้วขับและเกิดอุบัติเหตุจนเด็กหญิงคนหนึ่งเสียชีวิต เขารับสารภาพและถูกส่งไปจำคุกอยู่สี่ปี ออกมาอีกทีก็กลายเป็นคนว่างงาน จำต้องกลับไปบ้านเกิดซึ่งตั้งอยู่บนเกาะเล็กๆ แห่งหนึ่ง
สิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจเดียวที่ชาวเมืองจำนวนไม่กี่ร้อยคนมีก็คือโบสถ์หรูหรากับ พรูอิตต์ บาทหลวงชราภาพ หากแต่เมื่อไรลีย์กลับไปยังบ้านเกิด สิ่งที่เขาและชาวเมืองเจอในโบสถ์กลับมิใช่บาทหลวงผู้แก่เฒ่า หากแต่เป็น พอล (เฮมิช ลิงก์เลเตอร์) บาทหลวงหนุ่มทรงเสน่ห์ที่อ้างว่าเขามาปฏิบัติภารกิจแทนคุณพ่อพรูอิตต์ซึ่งป่วยหนักอยู่ในเมืองใหญ่
และนับตั้งแต่นาทีที่ ‘คุณพ่อพอล’ ปรากฏตัว เรื่องราวแปลกประหลาดก็ค่อยๆ บังเกิดขึ้นบนเกาะ ไม่ว่าจะเป็นซากแมวตายหลายสิบตัวที่ถูกซัดมาเกยบนชายหาด เด็กขาพิการกลับมาเดินได้อีกหน หรือแม้แต่หญิงชราความจำเลอะเลือนก็ค่อยๆ กลับมาเป็นสาวอีกครั้งอย่างน่าอัศจรรย์ หากแต่ท่ามกลางเรื่องราวชวนปีติเหล่านี้ ความดำมืดและคลุ้มคลั่งบางอย่างก็ค่อยๆ ทอดตัวลงบนเกาะเล็กแคบแห่งนั้นโดยที่แทบจะไม่มีใครได้ทันรู้ตัว
ที่ผ่านมา ฟลานาแกนมักหยิบเอาเล่าเรื่องราวของความหวาดกลัวผ่านความเงียบงันและเปราะบางของมนุษย์จากนิยายมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ ตัวละครของเขามักแตกสลายหรือมีบาดแผลบางอย่างที่ไม่อาจสมานให้หายได้โดยง่าย อันจะเห็นได้จาก Doctor Sleep หนังที่ดัดแปลงมาจากนิยายชื่อเดียวกันของ สตีเฟน คิง (Stephen King) ที่จับจ้องไปยังชีวิตตอนโตของ แดนนี (ยวน แม็กเกรเกอร์) อดีตเด็กชายที่ภาพจำช่วงวัยเด็กเกือบทั้งหมดคือพ่อผู้บ้าคลั่งและเอาขวานไล่จามหัวเขากับแม่ จนเขาต้องดื่มเหล้าเพื่อให้ลืมเรื่องราวเหล่านั้น หรือนิยายปี 1959 อย่าง The Haunting of Hill House ที่เล่าเรื่องครอบครัวหนึ่งซึ่งสมาชิกทุกคนล้วนมีอดีตที่ไม่อาจสะสางได้ กับคฤหาสน์หลังงามที่พวกเขาเคยไปใช้ชีวิตในสมัยเด็ก
เช่นเดียวกับ Midnight Mass ที่ฟลานาแกนหยิบมาจากนิยายชื่อเดียวกันซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี 1990 ของ เอฟ พอล วิลสัน (F. Paul Wilson) โดยตัวนิยายพูดถึงมนุษย์ที่โหยหาชีวิตอมตะจนยอมแลกทุกอย่าง ฟลานาแกนหยิบแก่นของเรื่องที่พูดเรื่องความเชื่อและความศรัทธามาอย่างหลวมๆ แล้วเขียนเรื่องราวของมนุษย์ที่เต็มไปด้วยบาดแผลและความผิดบาปจากอดีตเข้าไปใหม่
“มันเป็นโปรเจ็กต์ที่เป็นส่วนตัวสำหรับผมมากที่สุดแล้วมั้ง” ฟลานาแกนอธิบาย “โดยเฉพาะเรื่องที่ว่าด้วยความศรัทธากับศาสนา ความหมายของการดำรงอยู่บนโลกใบนี้ และจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเราตาย ตลอดจนพวกคำถามเล็กๆ น้อยๆ อีกมากมาย ซึ่งที่ผมตั้งคำถามเหล่านี้ต่อตัวเองเรื่อยมานั้น ก็มีรากมาจากความวิตกกังวลลึกๆ ที่ติดตัวผมมาแต่เกิด
“เวลาเราทำโปรเจ็กต์ที่มีความเป็นส่วนตัวมากๆ โดยทั่วไปมันจะเข้าถึงคนจำนวนมากได้ด้วย กลายเป็นว่ามันยิ่งทำให้คนรู้สึกเข้าถึงได้มากกว่าด้วยซ้ำไป จริงอยู่ที่เรื่อง Midnight Mass แสนจะเป็นโปรเจ็กต์ส่วนตัวของผม แต่สิ่งที่เป็นใจกลางของเรื่องนี้คือคำถามต่างๆ ซึ่งมีความเป็นสากลมาก” เขาว่า
“เพราะถึงที่สุด คำถามพวกนี้ก็มีอยู่เรื่อยมา ไม่ว่าจะตอบคำถามเหล่านั้นได้หรือไม่ แต่เราก็ยังนึกสงสัยว่า ‘เราเกิดมาทำไม เป้าหมายของการมีชีวิตอยู่คืออะไร หากตายไปแล้วอะไรจะเกิดขึ้นนับจากนั้น หรือเมื่อคนที่รักตายไปแล้ว พวกเขาออกเดินทางไปยังที่แห่งใดต่อ’ คำถามเหล่านี้สากลมาก สิ่งเดียวที่ทำให้เราแตกต่างกันคือคำตอบที่แต่ละคนมีให้คำถามนี้ต่างหาก เพราะคำถามนั้นเป็นเรื่องสากลอย่างถ่องแท้ ดังนั้น แม้ว่ามันจะเป็นโปรเจ็กต์ที่แสนจะส่วนตัว แต่พร้อมกันนั้น มันก็กลายเป็น ‘เรื่องส่วนตัว’ ของคนจำนวนมากอีกด้วย นี่แหละที่ทำให้มันหมดจดมากเลย”
ตลอดความยาวเจ็ดตอนของ Midnight Mass ฟลานาแกนพาคนดูสำรวจพื้นที่ของความศรัทธาและอำนาจของศาสนาที่กระทำต่อมนุษย์ การเซ็ตให้เรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นบนเกาะคร็อกเก็ตต์ พื้นที่ปิดตายซึ่งถูกล้อมรอบด้วยน้ำทะเล มีเรือโดยสารที่จะพาทุกคนออกไปสู่แผ่นดินใหญ่วันละไม่กี่เที่ยว ดังนั้น เช่นเดียวกับวิถีชีวิตของผู้คนที่ต้องอยู่ในชุมชนเล็กๆ ทุกแห่งบนโลก พวกเขาจึงรับรู้ความเคลื่อนไหวและความเป็นไปของสมาชิกบนเกาะเป็นอย่างดี ซึ่งฟลานาแกนก็ค่อยๆ โหมให้บรรยากาศแวดล้อมเช่นนี้กลายเป็นเรื่องชวนขนหัวลุก ไม่เพียงแต่สภาพปิดตายของเกาะจะทำให้ทั้งตัวละครและคนดูรู้สึกไม่เป็นอิสระ หากยังรวมทั้งสายตาของคนในชุมชนที่จับจ้องไปยัง ‘ความเป็นอื่น’ ที่อุบัติขึ้นบนเกาะแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นไรลีย์ ชายหนุ่มที่เพิ่งออกจากเรือนจำหลังถูกคุมขังมานานสี่ปี หรือ ฮัสสัน (ราหุล โคห์ลี) นายอำเภอที่เพิ่งย้ายมาใหม่และประกาศตัวว่านับถือศาสนาอิสลาม
แต่หากจะมีความ ‘แปลกใหม่’ สักอย่างที่ชาวบ้านพร้อมจะอ้าแขนรับโดยปราศจากข้อสงสัย คือการปรากฏตัวของบาทหลวงพอลเท่านั้น และความ ‘ศักดิ์สิทธิ์’ ของเขาก็ถูกขับเน้นโดย เบฟ (ซาแมนธา สโลวาน) สมาชิกโบสถ์ผู้เลื่อมใสและศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้า พร้อมกันนั้นก็พร้อมทำทุกทางเพื่อให้พระนามของพระเจ้าเป็นที่สักการะของคนทุกคน ไม่ว่าหนทางนั้นจะต้องแลกด้วยเลือดเนื้อของใครบ้างก็ตาม
‘ความเป็นส่วนตัว’ ของมินิซีรีส์เรื่องนี้กับชีวิตของฟลานาแกนนั้นผูกโยงมาตั้งแต่ความเชื่อที่หล่อหลอมชีวิตเขาในวัยเด็ก การเติบโตขึ้นมาบนเกาะอันโดดเดี่ยวเรื่อยมาจนสภาวะติดเหล้า เช่นเดียวกับตัวละครหลักใน Midnight Mass ฟลานาแกนใช้ชีวิตหลายขวบปีบนเกาะกอฟเวิร์นเนอรส์ ท่าเรือนิวยอร์ก เนื่องจากพ่อของเขาทำหน้าที่เป็นสมาชิกหน่วยยามฝั่งสหรัฐฯ (USCG) บรรยากาศความโดดเดี่ยวของตัวเกาะยิ่งขับเน้นให้จินตนาการของฟลานาแกนในวัยเด็กเพริดกระเจิงไปในโลกของความลี้ลับ เขาหมกมุ่นกับนิยายสยองขวัญ (และยกย่องสตีเฟน คิง เจ้าพ่อนิยายเขย่าขวัญของอเมริกาเป็นเสมือนศาสดาประจำใจ) และสรรหาหนังเขย่าขวัญสารพัดเรื่องในยุค 90 มาเปิดดูที่บ้าน
พ้นไปจากเรื่องของการใช้ชีวิตบนเกาะเล็กๆ สิ่งหนึ่งที่ ‘เป็นส่วนตัว’ ของฟลานาแกนและ Midnight Mass คือประเด็นหลักอย่างความเชื่อและความศรัทธา ตัวเขาเองไม่ได้ต่อต้านหรือเหินห่างจากศาสนา ตรงกันข้าม ฟลานาแกนใช้ชีวิตในวัยเด็กนาน 12 ปีในฐานะผู้ช่วยบาทหลวงทำพิธีในโบสถ์ (altar boy) เขาจดจำพิธี ท่วงท่าตลอดจนคำเทศนาได้ขึ้นใจ และภายหลังจากที่ฟังคำเทศน์เหล่านั้นหลายต่อหลายครั้ง เด็กชายฟลานาแกนก็หยิบเอาพระคัมภีร์ไบเบิล อันเป็นต้นธารที่นักบวชทั้งหลายใช้อ้างอิงทุกครั้งที่ขึ้นเทศน์ขึ้นมาอ่าน เพื่อจะพบว่าคัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์นี้เป็นผู้ผลักให้เขาถอยออกไปจากความเชื่อในที่สุด
“ตอนผมเรียนเกี่ยวกับคัมภีร์ไบเบิลสมัยยังเด็ก มันเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะมองข้ามเรื่องราวน่าขนหัวลุกในนั้น หากลองไปเปิดหนังสือดู เราจะได้เจอเรื่องที่มีเทวทูตเดินตรวจตราอยู่ทั่วอียิปต์ คอยสังหารเด็กทารก หรือไม่ก็เรื่องน้ำในแม่น้ำกลายเป็นเลือด เรื่องภัยพิบัติจากฝูงตั๊กแตน เรื่องเสาเพลิง (pillar of fire) ต่างๆ นานา
“ผมตกใจมากตอนที่ได้รู้เป็นครั้งแรกว่า อันที่จริงแล้ว หนังสือเล่มนี้มันประหลาดแค่ไหน เต็มไปด้วยเรื่องราวที่ผมไม่เคยได้ยินได้ฟังจากในโบสถ์มาก่อน รวมทั้งเรื่องราวของความรุนแรงในพันธสัญญาเดิมที่ทำให้เห็นว่าพระเจ้านี่น่ากลัวมากเลย! พระองค์สังหารทารกแล้วให้น้ำท่วมโลก! นี่มันรุนแรงสำหรับผมมากทีเดียว เพราะที่ผ่านมา ผมไม่รู้จักสิ่งที่ตัวเองศรัทธาแม้แต่นิด”
ฟลานาแกนถ่ายทอดภาวะ ‘ปลาช็อกน้ำ’ ของตัวเองลงในตัวละครอย่างไรลีย์ ชายหนุ่มที่สมัยยังเด็กทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยบาทหลวง และเชื่อมั่นในคำสอนของศาสนาทุกลมหายใจ จนกระทั่งถึงวันที่เขาเมาแล้วขับรถไปชนเด็กสาวแปลกหน้าคนหนึ่งจนถึงแก่ชีวิต นำมาสู่ฉากเปิดเรื่องที่เขาเพียรอ้อนวอนขอการอภัยโทษจากพระเจ้าแล้วถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำคดีตอกกลับด้วยน้ำเสียงชิงชังว่า “ถามพระเจ้าไปด้วยเลยสิว่าทำไมถึงเอาแต่ชีวิตของเด็กๆ ไป ส่วนไอ้ขี้เมาแม่งกลับรอดออกไปพร้อมแค่แผลถลอก”
ยังไม่นับว่าช่วงที่เขาต้องไปรับโทษในคุก ก็เป็นห้วงเวลาที่นานพอให้ได้ทบทวนความเชื่อของตัวเองต่อสิ่งที่เขาศรัทธามาอย่างยาวนาน ฟลานาแกนเองก็เช่นกัน ภายหลังจากตะลุยอ่านคัมภีร์ไบเบิลอย่างดุเดือดและตะลึงพรึงเพริดไปกับ สงครามในดินแดนศักดิ์สิทธิ์ เขาก็ไม่ได้หันหลังให้ความเชื่อเสียทีเดียว อันที่จริง นั่นเป็นประตูบานสำคัญให้ฟลานาแกนหันไปสำรวจความเชื่ออื่นๆ ที่อยู่นอกเหนือไปจากศาสนาคริสต์นิกายคาธอลิก ตลอดจนหนังสือที่ว่าด้วยอเทวนิยมหรือการไม่เชื่อว่าพระเจ้ามีตัวตนอยู่จริง ลัทธิเหตุผลนิยม และเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์มากมายประดามี อันเป็นเหตุให้เขาได้เห็นอีกแง่มุมหนึ่งที่ความเชื่อกระทำต่อมนุษย์ ในแบบที่ไม่เคยได้เห็นสมัยที่ยังทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยบาทหลวง
“ผมสนใจสิ่งที่ความเชื่อหล่อหลอมวิธีที่เราปฏิบัติต่อผู้อื่นมาก ยิ่งถ้าเรามองมายังการเมืองและโลกในปัจจุบันนี้ สิ่งที่พวกเราทำหลายต่อหลายอย่างก็ล้วนมาจากความเชื่อที่ว่า พระเจ้าทรงอยู่ข้างฝ่ายเรา และทรงเกลียดคนกลุ่มเดียวกันกับที่เราเกลียด”
ประเด็นนี้ถูกถ่ายทอดผ่านเส้นเรื่องของเบฟ สมาชิกโบสถ์ผู้คร่ำเคร่งและเชื่อมั่นว่า ‘ความดี’ ของเธอนั้นเป็นหนึ่งเดียวอย่างที่สุด เป็นความถูกต้องและเป็นนิยามที่พระเจ้าทรงมอบให้ เธอมักถือสิทธิ์ควบคุม บงการคนอื่นๆ ในเมือง เพราะถือว่าตัวเองศรัทธาและรับใช้ศาสนามากกว่าใครอื่น (และในเวลาเดียวกันนั้น ชาวเมืองก็พร้อมจะเชื่อฟังเธอ เพราะต่างก็รู้สึกว่าเบฟคือผู้ที่ศรัทธาและจริงจังต่อพระผู้เป็นเจ้ามากที่สุด)
ขอบเขตความคลั่งของเบฟถูกผลักจนทะลุเพดาน เมื่อบาทหลวงพอลปรากฏตัวพร้อมกับปาฏิหาริย์ที่ทำให้เด็กสาวขาพิการกลับมาเดินได้อีกหน คนชราในเมืองค่อยๆ ฟื้นคืนกลับมาเยาว์วัย ตลอดจนอาการเจ็บป่วยของ ‘ผู้ศรัทธา’ ก็ค่อยๆ ทุเลาลงจนหายขาดไปเอง ทั้งหมดทั้งมวลนี้ยิ่งทำให้เบฟเชื่อว่าหากเธออุทิศตนเพื่อความเชื่อมากกว่าที่เป็น พระเจ้าจะเปิดรับเธอขึ้นสู่สรวงสวรรค์แต่เพียงผู้เดียว อันเป็นเหตุให้เธอค่อยๆ ทุบทำลายคนที่มีนิยาม ‘ความดี’ ไม่ตรงกันกับเธอออกไปทีละคน รวมทั้งคนที่มีความเชื่อต่างไปจากที่เธอเชื่อด้วย
หากแต่ Midnight Mass ก็ไม่ได้มีท่าทีต่อต้านความเชื่อแต่อย่างใด แม้ตลอดทั้งเรื่องจะเต็มไปด้วยตัวละครที่กังขาต่อความศรัทธาทั้งของตัวเองและของผู้อื่น แต่ถึงที่สุดแล้วฟลานาแกนก็ยังเลือกจะเล่าถึงแง่มุมเหล่านี้ด้วยความเคารพ โดยเลือกเล่าผ่านสมาชิกในครอบครัวเดียวกันอย่างตัวไรลีย์ซึ่งหมดศรัทธาไปแล้วโดยสมบูรณ์ กับ แอนนี แม่ของชายหนุ่มที่ยังคงศรัทธาต่อพระเจ้าอย่างไม่เสื่อมคลายแม้จนห้วงนาทีสุดท้าย
ซีรีส์ยังชำแหละให้เห็นความแตกต่างกันของความศรัทธาจากแอนนีและเบฟ ซึ่งฝ่ายแรกมีลักษณะของการให้อภัยและโอบอุ้มผู้อื่น ขณะที่ฝ่ายหลังนั้นเต็มไปด้วยการทำลายล้าง ประหัตประหารคนที่เห็นต่าง จึงไม่แปลกอะไรเมื่อช่วงนาทีที่ทั้งสองคนต้องเผชิญหน้ากัน ในฐานะคนที่ยังเรียกตัวเองว่า ‘ผู้มีศรัทธา’ จะกลายเป็นหนึ่งในฉากที่ทรงพลังมากที่สุดฉากหนึ่งของซีรีส์
“ฉันอยากให้เธอฟังฉันสักหน่อย เพราะฉันคิดว่าตลอดทั้งชีวิตที่ผ่านมาของเธอ เธอควรได้ฟังคำนี้บ้าง” แอนนีบอกเบฟ “…ว่าเธอก็ไม่ใช่คนดีอะไร”
ฟลานาแกนจับจ้องไปยังการ ‘ถือสิทธิ์’ นิยามความดีของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งถึงที่สุดแล้วมันนำพาให้เกิดความรุนแรงตามมา เมื่อเกิดการมุ่งมั่นกำจัดคนที่ ‘เห็นต่าง’ หรือเป็นอื่นในชุมชน เบฟที่ยึดมั่นว่าตัวเองคือผู้ที่อุทิศตนให้ศาสนาที่สุด ใกล้ชิดพระเจ้าที่สุด จึงต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายครั้งใหญ่เมื่อถูกตอกหน้าโดยคนที่ไปโบสถ์ทุกสัปดาห์ไม่ต่างจากเธอ และไม่มีอะไรที่สั่นคลอนมนุษย์แบบเบฟไปได้มากกว่าประโยคที่ว่า แท้จริงแล้วพวกเขาไม่ได้เป็นคนดีมากเท่าที่ตัวเองคิด
มากไปกว่านั้น พระเจ้าก็ไม่ได้รักพวกเขามากไปกว่ามนุษย์คนอื่นๆ ที่เต็มไปด้วยความบาปและหยาบช้าซึ่งพวกเขาเหยียดหยามและดูแคลนมาโดยตลอด
Midnight Mass ไม่ได้ให้คำตอบว่าความศรัทธานั้นคืออะไร และก็ไม่ได้ตอบอีกเช่นกันว่า หากไม่ศรัทธาต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้ว ชีวิตเราจะหันเหไปยังทิศทางไหน หากแต่มันบอกเล่าถึงพลังความบ้าคลั่งในนามของความศรัทธาอย่างหน้ามืดตามัว ที่พร้อมจะเชื่อทุกอย่างที่ตัวเองอยากเชื่อ และมุ่งมั่นทำลายล้างคนที่เห็นต่างไปจากตนในนามของความดีงามทั้งปวง ซึ่งถึงที่สุดแล้วได้กลายเป็นแกนกลางของปัญหาและความล่มสลายของหลายๆ อย่าง
“คุณลองไปดูประวัติศาสตร์ก็ได้ ยิ่งเก่าเท่าไร คุณก็จะยิ่งพบว่ามันเปื้อนเลือดและน่าสะพรึงกลัวมากขึ้นเท่านั้น” ฟลานาแกนบอก “เราตั้งใจให้ไม่ว่าใคร มีความเชื่อแบบไหนก็สามารถดูซีรีส์นี้ได้ทั้งนั้น และถ้ามันทำได้จริง ก็เท่ากับว่าเราได้เปิดพื้นที่สำหรับทุกความเชื่อ ความศรัทธา หรือไม่อย่างนั้น ซีรีส์ก็อาจช่วยย้ำเตือนให้เราได้ระมัดระวังว่าคนแบบไหน การใช้อำนาจแบบไหนที่มุ่งหวังมาหาผลประโยชน์จากเรา”
Tags: Screen and Sound, Midnight Mass