หนึ่งในข้อกล่าวหาคลาสสิกของศิลปะคือ ถึงอย่างไรก็ตามศิลปะก็เป็นเพียง ‘ของเล่น’ ของกระฎุมพี เป็นเพียงเรื่องของคนที่มีเงินและมีเวลาว่างมากพอจะปรนเปรอตนเอง

ภาพยนตร์ก็เป็นของเล่น 

ภาพยนตร์นั้นก้ำกึ่งอยู่ในฐานะของการถูกนับและไม่ถูกนับเป็นศิลปะเสมอมา แกว่งไปมาระหว่างการเป็นวัตถุผลิตเพื่อตอบสนองความบันเทิงราคาถูกของมวลชนมากกว่าจะเป็นการยกระดับจิตวิญญาณปัจเจก แต่ด้วยความที่การสร้างภาพยนตร์เป็นกระบวนการที่มีราคาแพง การสร้างหนังโดยตัวของมันเองจึงเป็นเรื่องของกระฎุมพีที่ร่ำรวย

หากมันก็เป็นเช่นที่ Lav Diaz คนทำหนังชาวฟิลิปปินส์เคยกล่าวไว้ว่า ดิจิตัลเป็นเทววิทยาของการปลดแอก การปลดแอกภาพยนตร์ออกจากรูปแบบเดิมๆ ใครก็ตามสามารถทำหนังที่ไหนก็ได้ ยาวแค่ไหนก็ได้ และนั่นทำให้ภาพยนตร์เปลี่ยนมือจากสตูดิโอและนายทุนผู้ร่ำรวยมาอยู่ในมือของใครก็ตามที่มีเรื่องที่จะเล่า และกระหายที่จะเล่ามันออกมา 

Hassan Fazili เป็นคนทำหนังชาวอัฟกานิสถาน เขาและ Fatima ภรรยาเปิดอาร์ตคาเฟ่ในกรุงคาบูล ในปี 2015 มีคนร้องเรียนคาเฟ่ของเขาว่าผิดหลักศาสนา คาเฟ่ถูกปิด ตาลีบันขึ้นบัญชีจับตายเขาในฐานะผู้ต่อต้านศาสนา เขาและครอบครัวที่นอกจาก Fatima ซึ่งเป็นนักแสดงและคนทำหนังเช่นกัน ยังมี Nargis และ Zahra ลูกสาวสองคน หอบหิ้วหนีตายข้ามไปอาศัยในบ้านมิตรสหายในทาจิกิสถาน พวกเขาพยายามทำเรื่องลี้ภัยไปยุโรปแต่ไม่ว่าจะพยายามเท่าไรก็ไม่เป็นผล สิบสี่เดือนผ่านไป ทางการส่งตัวพวกเขากลับอัฟกานิสถานซึ่งก็คือส่งไปตาย หนังเริ่มต้นตรงนี้ 

มันเริ่มตรงที่ Hassan และ Fatima ใช้โทรศัพท์มือถือซัมซุงของตนบันทึกภาพการเดินทางของพวกเขา จากอัฟกานิสถานพวกเขาทั้งนั่งรถ เดินเท้าเข้าไปในเขตของตุรกี แล้วมุ่งหน้าต่อไปบัลแกเรีย ติดอยู่ตรงค่ายผู้ลี้ภัยชายแดนบัลแกเรียหลายเดือน รอคอยอย่างไร้ผล ซ้ำยังโดนทำร้ายจากพวกชาตินิยมที่มองว่าคนอพยพน่ารังเกียจ จะมาแย่งงาน มาสูบกินทรัพยากรของพวกเขา หลังจากการประท้วงหน้าค่ายอพยพอันน่าสะพรึงพวกเขาไม่กล้าอยู่ต่อ ตัดสินใจหนีเข้าเซอร์เบีย เดินเท้าในป่ายี่สิบวัน นอนข้างถนน มีชีวิตอดอยากยากไร้ จนมาติดอยู่ในค่ายผู้อพยพชายแดนเซอร์เบียที่ก็แทบไม่เหลือที่ว่างจนต้องไปปูฟูกนอนในโถง พวกเขารอคอยที่นั่น ทำตามกฎด้วยการส่งชื่อครอบครัวไปเข้าคิวคนที่จะได้เข้ายุโรป หลังจากรอคอยนานนับปี พวกเขาก็ถูกส่งไปฮังการี แต่จนแล้วจนรอดพวกเขาก็ไม่ได้ไปไกลกว่า Transit zone 

ภายใต้สงครามชีวิตที่รุนแรงหนักหน่วง หนังที่บันทึกกันเองภายในครอบครัวอาจชวนให้จินตนาการถึงเรื่องราวหดหู่ การต้องได้เห็นเด็กหญิงสองคนเร่ร่อนไปยังที่ต่างๆ เติบโตขึ้นต่อหน้ากล้อง หรือการมองเห็นชีวิตที่แทบไม่เหลือคำว่าชีวิต หนังควรจะเจ็บปวดทุกข์เศร้า หม่นหมอง

หนังเป็นเช่นนั้น เจ็บปวดหม่นหมองหากในขณะเดียวกันมันก็กลับเต็มไปด้วยประกายของชีวิตตลอดเวลา เป็นเหมือนดอกไม้ที่จะบานในทุกหนแห่งไม่ว่าดินจะแห้งแล้งเพียงไร 

ภาพยนตร์จึงกลายเป็นบันทึก

สิ่งที่ภาพยนตร์เรื่องนี้สนใจไม่ใช่โลก ไม่ใช่ความขัดแย้ง ไม่ใช่ศาสนา ไม่ใช่สังคม แต่คือชีวิต ชีวิตของครอบครัวเล็กๆ ที่พยายามจะดิ้นรนที่จะมีชีวิต ที่จะรื่นรมย์กับสิ่งต่างๆ ที่ตัวเองหามาได้ กับการถ่ายภาพคนรักตอนพระอาทิตย์ตก หัดขี่จักรยาน ทำอาหาร หรือเต้นรำตามเพลงของพวกตะวันตก หนังเปิดฉากแรกด้วยโฮมวีดีโอของลูกสาวทั้งสองตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็กๆ เสียงเล่าหลักของหนังก็เป็นเสียงของ Nargis ลูกสาวคนโต สลับกับเสียงของ Hassan เอง ชีิวิต มิตรสหาย การละเล่น การงอกงามท่ามกลางความโหดร้ายของโลก 

หนังเล่าเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ทั้งงดงามและเจ็บปวด เช่นเรื่องของเพื่อนคนหนึ่งที่เขาสนิทสนมอย่างยิ่ง คนที่ต่อมาทนความฉ้อฉลของรัฐบาลไม่ได้จนไปเข้าร่วมกับตาลีบัน คืนหนึ่งเขาโทรมาบอกให้ Hassan หนีไป เพราะแม้จะสนิทสนมแต่เมื่อเผชิญหน้ากันเขาก็อาจเลือกความเชื่อมากกว่ามิตรสหาย หรือฉากเล็กๆ ที่ตลกมากเมื่อ Hassan ชมสาวข้างห้องแล้วทำให้ภรรยาไม่พอใจ เพราะมันต่างกันระหว่างเล่นเป็นผัวเมียคนไม่รู้จักในหนังกับการฟังสามีตัวเองแซวเด็กสาว หรือการพยายามสอนภรรยาหัดขี่จักรยาน การที่เด็กๆ พบเพื่อนใหม่ๆ วิ่งเล่นและปลอบประโลมกันและกัน 

ทั้งหมดถูกบันทึกลงในนามของภาพยนตร์ ฟุตเตจถูกลับลอบส่งออกไปถึงมือคนตัดต่อทำเสียงในเยอรมัน ซึ่งในการให้สัมภาษณ์เธอบอกว่าสิ่งที่เธอต้องยึดไว้ให้มั่นคือว่านี่เป็นเรื่องของชีวิต แกนหลักในการตัดต่อของเธอจึงมาจากฉากเล็กๆ ที่ Nargis พยายามจะเล่นคนเดียวด้วยการเต้นตามเพลงของ ไมเคิล แจคสัน โดยบิดาของเธอถ่ายภาพนี้เอาไว้ ในขณะเดียวกันพวกเขาก็ไม่อยากให้หนังเป็นฟุตเตจคุณภาพต่ำจากกล้องมือถือ พวกเขาจึงพยายามปรับปรุงทั้งภาพและเสียงสุดกำลังที่ทำได้ ขณะที่ Hassan และครอบครัวยังคงพเนจรไปบนทางคดเคี้ยวที่ตัดผ่านนรกอย่างที่ Nargis เล่าไว้ในฉากแรกๆ

บางครั้งภาพยนตร์ก็กลายเป็นปีศาจ 

หนังเรื่องนี้ใช้เวลากว่าสามปีในการถ่ายทำ แทบทุกคนในครอบครัวล้วนผลัดกันถือกล้อง และดูเหมือนชีวิตทั้งหมดของ Hassan หมกมุ่นอยู่กับมัน เขาตามถ่ายการเดินทางของตน ผู้คนที่รายรอบในค่าย ถ่ายลูกๆ เติบโต ถ่ายการสนทนาและการทุ่มเถียงของตนและภรรยา ภาพยนตร์ค่อยๆ กลืนชีวิตเขาเข้าไป จนในฉากหนึ่งที่ไม่มีภาพ เป็นเพียงแสงจันทร์ยามกลางคืนที่นอกหน้าต่าง เขาเล่าความว่าบางครั้งภาพยนตร์ก็เป็นสิ่งชั่วร้าย มันน่ากลัวและกัดกิน เพราะครั้งหนึ่งลูกสาวคนเล็กของเขาหายตัวไปจากค่าย เขาและเพื่อนบ้านช่วยกันออกตามหา หากลึกๆ ในใจเขาคิดว่ามันจะดีแค่ไหนถ้าเขาเอากล้องออกมาด้วย มันจะดีแค่ไหนถ้าฉากลูกหายกลายเป็นส่วนหนึ่งในหนังของเขา มันคงจะสร้างแรงกระแทกสะเทือนใจผู้คน เขาถึงกับคิดฉากการพบศพลูกเสียด้วยซ้ำ และนั่นอาจจะเป็นครั้งแรกๆ ที่เราเห็นว่าเขารู้สึกว่าภาพยนตร์นั้นช่างสกปรก ภาพยนตร์เป็นสิ่งชั่วร้าย มันเลวร้ายกว่าการต้องเร่ร่อนไปอย่างไร้สัญชาติ ความรู้สึกรุนแรงของเขาไม่ใช่ในฐานะศาสนิกที่โดนศาสนาคร่าชีวิต แต่ในฐานะของศิลปินที่โดนงานศิลปะของตนทำร้ายกลืนกิน หนังปล่อยภาพของทัศนียภาพนอกค่ายในยามกลางคืนคลอไปกับเสียงเล่าอันเจ็บปวดของเขา 

ถึงที่สุดภาพยนตร์เรื่องนี้กลายเป็นอาวุธ 

ในช่วงท้ายของหนัง อีกครั้งที่ Hassan พูกคุยกับผู้ชมผ่านเสียงเล่า ผ่านภาพแฟลชแบคของครอบครัวของเขาที่แทนที่จะได้อยู่ในบ้านแสนสุข เด็กๆ กลับเติบโตขึ้นมาในค่ายผู้อพยพ ร่างที่สูงขึ้น ผมที่ยาวขึ้น สายตาที่สั้นลง และการเรียนรู้ชีวิตอันยากแค้น เขาบอกว่าสำหรับเขาในฐานะศิลปิน ภาพยนตร์เรื่องนี้คือสิ่งเดียวที่เขามี คือหลักฐานยืนยันว่าเขามีตัวตนจริง เขาลี้ภัยการเมืองจริงๆ เขาและครอบครัวเป็นคนมีเลือดมีเนื้อจริงๆ ไม่ใช่มวลผู้อพยพไร้ใบหน้า ไม่ใช่คนมุสลิมพหูพจน์ ภาพยนตร์กลายเป็นอาวุธชิ้นเดียวที่เขาเอาไว้ต่อสู้กับโลกทั้งใบเพื่อปกป้องครอบครัว เพื่อพาพวกเขาเข้าไปสู่ที่ที่ปลอดภัยกว่านี้ ที่ที่จะไม่ต้องตาย เพียงเพราะคิดต่างเชิงศาสนา หรือเพราะเป็นศิลปิน หนังมีฉากเล็กๆ ที่ดูจะเป็นการแอบถ่ายโดยภรรยาของเขา เมื่อพวกเขาคุยกันเรื่องศาสนา เขาบอกว่าคนทั้งตระกูลของเขาเป็น Mullah เป็นหมอสอนศาสนา ยกเว้นเขาที่เป็นศิลปินและเลิกสวดมนต์แต่นั่นไม่ได้แปลว่าเขาเลิกศรัทธา ในฉากนั้น เขาผู้ซึ่งถูกศาสนาไล่ล่า ศิลปินที่ขัดแย้งกับโลกอิสลามในสายตาของตาลีบัน ถูกขอให้เป็น Mullah ในค่ายอพยพ และภรรยาผู้ซึ่งเปิดใจกว้างของเขา แอบถ่ายการสนทนาของศาสนิกนี้เอาไว้ และเมื่อพวกเขาคุยเล่นกันในเวลาต่อมา เธอบอกว่าเธอเคยสวดมนต์แต่ไม่สวดตามเขา เธอขำที่เขาผู้ซึ่งเลิกสวดมนต์กลายเป็น Mullah ไปจนแล้วจนรอด

ภาพยนตร์กลายเป็นชีวิต 

ในที่สุดศาสนาไม่ได้ต้องกลายเป็นขั้วตรงข้ามของศิลปะและชีวิต ในฉากหนึ่ง Nargis ถามแม่ของเธอว่าเมื่อเธอโตขึ้นเธอต้องคลุมผมหรือเปล่า และแม่บอกให้ถามพ่อ พ่อบอกว่ามันเป็นสิทธิ์ของเธอที่จะคลุมหรือไม่คลุมผม หลายปีก่อนหน้าแม่บอกว่าเมื่อพ่อเจอแม่ครั้งแรก พ่อถึงกับตบศรีษะแม่ที่ปล่อยให้ปอยผมหนึ่งร่วงลงจากผ้าคลุม ตอนนี้พ่อไม่สวดมนต์ หนีตายจากศาสนิกสุดโต่ง แต่ยังศรัทธา แม่ไม่สวดมนต์ตามพ่อ แต่แม่ก็ยังคลุมผม ศาสนาในกรอบอาณาเขตส่วนตัวของปัจเจก เป็นคนละเรื่องกับเมื่อศาสนาถูกบังคับใช้กับทุกผู้คนราวศาสนิกเป็นเพียงพหูพจน์ไร้รูปที่ต้องเชื่อมั่นในการตีความศาสนาแบบเดียวกับผู้ปกครอง ศาสนาที่ควรจะงอกงาม เอื้ออารีจึงกลายเป็นเช่นเดียวกันกับภาพยนตร์ และถึงที่สุดก็เช่นเดียวกับศิลปะเป็นอาวุธในการประหัตประหาร เป็นปีศาจที่ทำลายคนอื่น เป็นกฎหมายที่บังคับผู้คน และเป็นของเล่นของผู้มีอำนาจ

ในทางกลับกันศาสนาก็เป็นเช่นภาพยนตร์ เช่นศิลปะ มันอาจแนบเนาอยู่ในชีวิต 

ในฉากท้ายๆ ของหนัง พวกเขายังคงติดอยู่ในเขต Transit zone ท้องฟ้าสีวานิลลาเหนือรั้วลวดหนามบนกำแพง Nargis ออกไปถ่ายหนังด้วยกล้องมือถือของพ่อ แม่ของเธอถีบจักรยานเป็นแล้ว น้องของเธอก็เติบโตขึ้ย ชีวิตดำเนินมาก่อนหนังเริ่ม หนังเลือกบันทึกบางขณะของมันไว้ และมันยังคงต้องดำเนินต่อไปหลังจากหนังจบลงประกายชีวิตหนึ่งเปล่งแสงในความยากไร้ แต่ ความยากไร้ไม่สิ้นสุด ยังไม่สิ้นสุด ยังไม่สิ้นสุดในตอนนี้และจะยังไม่สิ้นสุดลง โชคดีที่พวกเขายังคว้าจับและบันทึกเอาไว้ได้บ้าง

คุณโดม สุขวงศ์ ผู้ก่อตั้งหอภาพยนตร์ฯ เคยกล่าวคำขวัญว่า “ภาพยนตร์ยังให้เกิดปัญญา” ราวกับภาพยนตร์เป็นสถาบันชนิดหนึ่ง เป็นศาสนาแบบหนึ่ง มันอาจเป็นคำกล่าวที่อหังการ แต่ภาพยนตร์จำนวนหนึ่งก็เป็นเช่นนั้น มันบรรจุชีวิตคนจำนวนหนึ่ง บอกเล่าเรื่องราวหนึ่งๆ ใช้สรรพกำลังที่มันทำได้ ทำให้เราคิดถึงเรื่องหนึ่ง และเชื่อมโยงไปยังเรื่องอื่นๆ เช่นเดียวกันกับผู้คนข้างในนั้น เช่นเดียวกับศาสนาและศิลปะสำหรับปัจเจกชนเอกพจน์ที่มีความเชื่อและชีวิตเป็นของตนเอง 

 

*ชื่อบทความมาจากชื่อไทยของ The Dark Knight หนังที่กล่าวถึงแบทแมน ซูเปอร์ฮีโร่ที่ออกปฏิบัติการในยามกลางคืนเพื่อช่วยคนทุกข์ยากในเมืองกอทแธมอันโฉดร้าย 

Fact Box

  • Midnight Traveller ได้รับรางวัล Special Jury Award สารคดีโลก เทศกาลหนังซันแดนซ์ และ Prize of the Ecumenical Jury - Special Mention เทศกาลหนังเบอร์ลินปีล่าสุด
  • ภาพยนตร์เปิดฉายรอบพิเศษ (ฉายควบหนังสั้น ‘Lost and Found’) ในงาน LIFEiS BEAUTiFUL : Charity LiFESTYLE EVENT วันอาทิตย์ 24 พ.ย. 13.30 น. ที่ Lido Connect

 

Tags: , , ,