น่าจะนับเป็นหนึ่งในประเด็นร้อนแรงของห้วงยามนี้สำหรับโลกภาพยนตร์และการแสดง ภายหลังจากที่ แมดส์ มิคเคลเซน (Mads Mikkelsen) นักแสดงชาวเดนมาร์กให้สัมภาษณ์นิตยสาร GQ ของสหราชอาณาจักรว่า “การแสดงสไตล์เมธอดมันเลอะเทอะเป็นบ้า แต่ถ้าเป็นขั้นตอนการเตรียมตัวก่อนการแสดงละก็ คุณจะผลักมันให้สุดคลั่งเต็มที่เลยก็ยังได้ แล้วถ้าหนังเรื่องนั้นมันห่วยล่ะ คุณว่าสิ่งที่คุณประสบความสำเร็จคืออะไร ผมประทับใจไหมที่คุณไม่หลุดออกจากตัวละครเลย ทั้งที่คุณน่าจะหลุดจากการเป็นตัวละครนี้ตั้งแต่เริ่มด้วยซ้ำ! ถ้าอย่างนั้นคุณจะเตรียมตัวแสดงบทฆาตกรต่อเนื่องยังไงล่ะ ต้องใช้เวลาอีกสองปีถึงจะถอนตัวออกมาจากบทได้อย่างนั้นเหรอ 

“สื่อก็มักจะ ‘พระเจ้า เขาจริงจังกับบทนี้มากเลย ดังนั้นเขาเลยน่าทึ่งเป็นบ้า ให้รางวัลเขาไปเถอะ’ แล้วจากนั้นก็กลายเป็นประเด็น คนรู้จักวิธีการแบบนี้ แล้วมันก็กลายเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมา” 

และนั่นเองที่จุดกระแสข้อถกเถียงบนโลกอินเทอร์เน็ต ว่าด้วยเรื่องการแสดงสไตล์เมธอดหรือ ‘Method Acting’ อันหมายถึงการแสดงแบบที่นักแสดงกลืนและกลายเป็นตัวละครในทุกมิติ ซึ่งย่อมหมายความถึงการอุทิศตัวให้แก่บทอย่างไม่มีเงื่อนไข เพื่อจะได้เข้าถึงบทบาทอย่างที่สุด 

ตำนานการ ‘แลกเลือดแลกเนื้อ’ ให้การแสดงสไตล์นี้ที่โด่งดังมากคือ แดเนียล เดย์-ลิวอิส (Daniel Day-Lewis) กับบทที่ส่งเขาเข้าชิงรางวัลนักแสดงนำชายเป็นครั้งแรกและคว้ารางวัลกลับบ้านมาได้ด้วยจาก My Left Foot: The Story of Christy Brown (1989) ที่เขารับบทเป็น คริสตี บราวน์ นักเขียนชาวไอริชที่ต้องนั่งรถเข็นตลอดเวลา ซึ่งแน่นอนว่าเดย์-ลิวอิส ทุ่มเทจิตวิญญาณให้กลายเป็นบราวน์ทุกแง่มุมด้วยการไม่ยอมลุกออกจากรถเข็นแม้พักกองหรือเปลี่ยนฉาก ยังผลให้ทีมงานคนอื่นๆ ต้องคอยเข็นรถและดูแลเขาเสมือนเขาป่วยไข้อยู่จริงๆ (ภายหลังมีทีมงานบอกว่า พวกเขาไม่ชอบใจนักที่ต้อง ‘เข็นรถเข็นให้คนที่ร่างกายสมบูรณ์ดี’ ไปเรื่อยๆ โดยไม่จำเป็น) หรือใน In the Name of the Father (1993) ที่เขาต้องรับบทเป็น แกรี คอนลอน ชายชาวไอริชที่ถูกเข้าใจผิดว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในเหตุการณ์ระเบิดผับเบอร์มิงแฮมจากความขัดแย้งระหว่างอังกฤษกับไอร์แลนด์จนถูกจองจำในคุก เพื่อการนี้ เดย์-ลิวอิสใช้ชีวิตอยู่หลังลูกกรงและบังคับให้ทีมงานสาดน้ำเย็นจัด พูดจาถากถางใส่เขาทุกครั้งที่เดินผ่าน เรื่อยไปจนลดน้ำหนักกว่าสิบกิโลกรัมเพื่อบทนี้ และคงสำเนียงไอริชตอนเหนือไว้ตลอดเวลาทั้งหน้าฉากและหลังฉาก

เดย์-ลิวอิสให้สัมภาษณ์ถึงการแสดงของเขาว่า “ผมเป็นบางอย่างไปแล้วในเวลานั้น ไม่ได้เป็นตัวเองอย่างสมบูรณ์ เวลาพูดเรื่องนี้ทีไรผมรู้สึกเหมือนกำลังขุดหลุมฝังศพให้ตัวเองเสมอเลย เพราะมันอันตรายอย่างใหญ่หลวงมาก ทั้งยังฟังดูเอาแต่ตัวเองเป็นใหญ่ รวมทั้งสิ่งที่คนอื่นๆ ดูจะคิดกัน ซึ่งก็ยุติธรรมดีว่าผมนั้นออกจะแปลกๆ เวลาทำงาน และมันก็สมเหตุสมผลสำหรับผมมาก ทั้งนี้วิธีที่ผมทำงานนั้น ผมว่าสิ่งที่คนเข้าใจกันไปผิดๆ มากที่สุดคือหลายคนดูหมกมุ่น คิดถึงวิธีการแสดงแบบนี้มากไป ซึ่งไม่ควรเลย! เพราะสิ่งที่คุณควรทำคือการหาเงื่อนไขที่เหมาะสมสำหรับการแสดงที่จะเปิดพื้นที่ให้จินตนาการได้ทำงานอย่างเต็มที่ และเมื่อจินตนาการนั้นมีอิสระในตัวเอง คุณก็ไม่มีทางรู้หรอกว่าอะไรมันจะเกิดขึ้นได้บ้าง

“ฉะนั้น มันจึงไม่ใช่การทำงานที่สร้างโครงหรือสร้างเงื่อนไขขึ้นมา อันที่จริงออกจะตรงกันข้ามด้วยซ้ำ”

ทั้งนี้ กล่าวกันว่าการแสดงแบบเมธอดนั้นถูกนำมาใช้อย่างจริงจังเป็นครั้งแรกๆ ก็จาก คอนสแตนติน สตานิสลาฟสกี (Konstantin Stanislavski) ผู้กำกับละครเวทีชาวรัสเซียตั้งแต่ยุค 1900s แล้วสหรัฐอเมริกาจึงรับเข้ามาช่วงต้นยุค 1930s ในสถาบันสอนการแสดง 

หัวเรือหลักๆ ในยุคสมัยนั้นคือ สเตลลา แอดเลอร์ (Stella Adler) นักแสดงและครูสอนการแสดงที่ประสบความสำเร็จล้นหลาม ลูกศิษย์ของเธอที่กลายเป็นนักแสดงผู้ทรงอิทธิพลในฮอลลีวูดมีตั้งแต่ มาร์ลอน แบรนโด (Marlon Brando), โรเบิร์ต เดอ นีโร (Robert De Niro) และเป็นที่นิยมในอเมริกาอยู่พักใหญ่ เจมส์ ฟรันโก (James Franco) นักแสดงหนุ่มเคยเขียนถึงประเด็นนี้ไว้ในนิตยสาร The New York Times ว่า “นักแสดงเหล่านั้นล้วนเฆี่ยนตีตัวเองจากอาชีพ และยังส่งผลต่อภาพลักษณ์ของพวกเขาด้วยนับตั้งแต่มาร์ลอน แบรนโด การแสดงของแบรนโดนั้นปฏิวัติการแสดงในอเมริกาอย่างหมดจด เพราะเขาไม่ได้ดู ‘กำลังแสดง’ ในความหมายที่ว่า เขาไม่ได้ ‘สวมร่าง’ เป็นตัวละครใดๆ มากเท่าที่เขา ‘กลายเป็น’ ตัวละครนั้นจริงๆ”

อย่างไรก็ดี การแสดงแบบเมธอดนั้นส่งผลลบต่อนักแสดงด้วยเช่นกัน ทั้งในเชิงร่างกายและจิตใจ เรย์มอนด์ แฮมเดน นักจิตวิทยาชี้ว่าการแสดงสไตล์เมธอดนั้นคือการที่นักแสดงพยายาม “แยกความรู้สึกส่วนตัวออกไปขณะที่กลายเป็นตัวละคร เพื่อที่จะได้ดึงเอาความรู้สึกที่ตัวละครนั้นกำลังรู้สึกอยู่ อย่างถ้าตัวละครรู้สึกอยากร้องไห้ พวกเขาก็จะร้องไห้ไปกับตัวละคร” ขณะที่อันตรายใหญ่หลวงนั้นมักจะเกิดขึ้นเมื่อตัวละครไม่อาจแยกความรู้สึกของตัวเองกับความรู้สึกของตัวละครได้ และอาจส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันหรือชีวิตส่วนตัวโดยไม่อาจหลีกเลี่ยง หรืออาจจะหมายถึงการ ‘กลายเป็นอื่น’ ที่ทำลายคนรอบๆ ตัวด้วย

หนึ่งในกรณีที่อื้อฉาวคือการแสดงของ จิม แคร์รี (Jim Carrey) ที่รับบทเป็น แอนดี คอฟแมน (Andy Kaufman) นักแสดงตลกที่ประสบความสำเร็จสูงสุดก่อนจะค่อยๆ ดิ่งลงจนกระทั่งป่วยด้วยโรคมะเร็งใน Man on the Moon (1999) กล่าวกันว่าแคร์รีนั้นหมกมุ่นอยู่กับการเป็นตัวละครตลอดเวลาเสียจนลงเอยด้วยการกลั่นแกล้ง เจอร์รี ลาวเลอร์ (Jerry Lawler) ซึ่งร่วมแสดงด้วยกันทั้งหน้าฉากและหลังฉาก ลาวเลอร์บอกว่าจุดแตกหักอยู่ที่ตอนเขาถูกแคร์รีถ่มน้ำลายใส่หน้าจนเขาคว้าคอแคร์รีมาบีบจนเกิดเป็นการทะเลาะวิวาทกลางกองถ่าย ชนิดที่ว่าแคร์รีเรียกร้องให้เปลี่ยนตัวนักแสดงออก (ซึ่งไม่ได้ผล ลาวเลอร์ยังคงร่วมแสดงในหนังต่อไป)

กรณีของแคร์รีนี่เองที่ทำให้หลายคนตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการแสดงแบบเมธอด เมื่อมันอาจหมายถึงการที่ตัวนักแสดงไม่อาจหลุดจากบทจนไปทำร้ายคนอื่นๆ รอบตัว ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม มาร์ติน ฟรีแมน (Martin Freeman) นักแสดงชาวอังกฤษจากซีรีส์ Sherlock และแฟรนไชส์ The Hobbit แสดงความเห็นอย่างตรงไปตรงมาว่า การแสดงแบบเมธอดนั้น “เลอะเทอะเหลือเกินเวลาต้องเห็นใครสักคน ‘สูญเสียการเป็นตัวเอง’ เนี่ย มันเลอะเทอะเพราะว่ามันไม่ใช่งานฝีมืออีกต่อไปแล้ว และนี่ก็เป็นหน้าที่การงานด้วย”

ฟรีแมนเล่าถึงการแสดงของแคร์รีใน Man on the Moon ว่า “สำหรับผมนะ ผมมั่นใจว่าจิม แคร์รีเป็นคนที่น่ารักและฉลาดมาก แต่ไอ้การแสดงในนั้นมันเอาแต่ใจ เห็นแก่ตัว หลงตัวเองฉิบหาย มากที่สุดตั้งแต่ผมเคยดูมาเลย แล้วเรื่องที่ว่ายุคสมัยนี้เราพร้อมโอบรับอะไรแบบนี้มันโคตรบ้าเลย บ้าไปแล้วจริงๆ 

“คุณแค่ต้องยึดอยู่กับความเป็นจริง และมันก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะไม่ได้เสียตัวตนไประหว่างที่ผู้กำกับสั่ง ‘แอ็กชัน’ หรือ ‘คัต’ แต่ผมว่าทั้งหมดทั้งมวลมันแค่ความพยายามอันแสนจะเสแสร้งและไร้สาระ แถมยังเป็นมือสมัครเล่นเอามากๆ นี่มันไม่เป็นมืออาชีพเอาเสียเลย คือเอาให้งานมันออกมาเสร็จสิ ทำงานคุณไปสิ”

เจค จิลเลนฮาล (Jacob Gyllenhaal) ที่เพิ่งไปเป็นพิธีกรให้รายการ Saturday Night Live ก็บอกว่า “เอาจริงนะ ผมใช้สไตล์แบบเมธอดได้ห่วยแตกมาก จำได้ว่าสมัยแสดงเรื่อง Nightcrawler (2014 – เขารับบทเป็นนักข่าวหนุ่มที่กระหายทำข่าวมากเสียจนก้าวข้ามเขตแดนจริยธรรม) ผมไปบอกผู้กำกับว่า ‘เตรียมตัวเจอผมลดน้ำหนัก 8 ปอนด์ (ประมาณ 3 กิโลกรัม) แล้วชนะออสการ์ได้เลย’ แล้วสัปดาห์ต่อมาผมก็บอกว่า ‘อยากเห็นนักแสดงลดน้ำหนัก 36 ปอนด์ (ประมาณ 16 กิโลกรัม) แล้วชนะลูกโลกทองคำมั้ยครับ’ แล้วผมก็ไปโผล่ที่กองถ่าย บอกทุกคนว่า ‘พวกคุณกำลังมองชายที่เพิ่มน้ำหนักมา 10 ปอนด์ (4 กิโลกรัม) แล้วก็ไม่สนใจเรื่องรางวัลอะไรทั้งนั้น!’

“ตอนนั้นแหละที่ผมตระหนักได้ว่า มีบางเรื่องที่ผมควรตระหนักได้เมื่อนานมาแล้ว นั่นคือการแสดงมันเป็นงานโง่ๆ น่ะ มันสนุกและควรเต็มไปด้วยความอิ่มใจ” (อย่างไรก็ดี จิลเลนฮาลลดน้ำหนักไปเกือบ 10 กิโลกรัม เพราะเขารู้สึกว่าตัวละครนี้ต้องชวนให้นึกถึงหมาป่าที่ดูหิวกระหายมากๆ)

วิลล์ พัลเตอร์ (William Poulter) นักแสดงชาวอังกฤษจาก The Revenant (2015) และ Midsommar (2019) บอกว่า สำหรับเขานั้น การแสดงแบบเมธอดไม่ใช่เรื่องจำเป็นนัก “เมื่อนักแสดงต้องทำงาน ไม่ว่าฉากนั้นจะเป็นอะไรก็ตาม ตราบเท่าที่มันไม่ไปละเมิดคนอื่นและคุณตระหนักรู้ถึงสิ่งที่ตัวเองทำ มันก็ไม่เป็นอะไรหรอกครับ แต่ถ้าการทำงานของคุณมันสร้างบรรยากาศเลวร้ายขึ้นมา คุณก็สูญเสียสิ่งสำคัญไปแล้ว

“ไม่ควรเอาการแสดงแบบเมธอดมาเป็นข้ออ้างสำหรับพฤติกรรมย่ำแย่สิครับ”

ข้อถกเถียงเรื่องการแสดงแบบเมธอดนั้นยังดำเนินต่อไป และไม่ว่ามันจะเหมาะกับนักแสดงคนไหนหรือไม่อย่างไร หลักไมล์สำคัญอาจอยู่ที่สิ่งที่พัลเตอร์บอก นั่นคือการไม่ไปล่วงละเมิดคนอื่น รวมทั้งอาจต้องระมัดระวังไม่ให้มันกลายเป็นการ ‘ทำลายตัวตน’ ของนักแสดง ไม่ว่าจะทั้งทางร่างกายหรือจิตใจด้วย

Tags: , , , ,