ว่ากันว่าเดือนมิถุนายน 1993 คือช่วงเวลาโฉมหน้าวงการภาพยนตร์อเมริกันและภาพยนตร์โลกเปลี่ยนไปตลอดกาล 

เมื่อหนังเกี่ยวกับสัตว์ดึกดำบรรพ์ทุนสร้าง 63 ล้านเหรียญฯ ออกฉาย และทำรายได้ทั่วโลกถล่มทลายทั้งสิ้น 914 ล้านเหรียญฯ สร้างหมุดหมายของการเนรมิต ‘สัตว์ประหลาด’ ขึ้นมาในจักรวาลหนังฮอลลีวูด ทั้งมันยังไปไกลถึงขึ้นมีแฟรนไชส์ใหญ่ยักษ์และภาคต่อตามมาอีกหลายภาค

Jurassic Park (1993) ออกฉายเป็นครั้งแรกในเดือนมิถุนายนเมื่อ 30 ปีก่อน ส่งให้ สตีเวน สปีลเบิร์ก (Steven Spielberg) ขึ้นตำแหน่งราชาหนังทำเงินอีกเรื่องของฮอลลีวูด หลังประสบความสำเร็จถล่มทลายมาแล้วจาก Jaws (1975) หนังว่าด้วยฉลามนักล่าทุนสร้างเจ็ดล้านเหรียญฯ แต่ทำรายได้ไปเป็นกอบเป็นกำที่ 476 ล้านเหรียญฯ และ E.T. the Extra-Terrestrial (1982) ที่กวาดรายได้ไป 792 ล้านเหรีญฯ 

กล่าวอย่างรวบรัด ถึงตอนนั้นสปีลเบิร์กก็ไม่มีอะไรให้ฮอลลีวูดต้องกังขาในฐานะคนทำหนังแล้วหลังสร้างหนังที่ทำให้ฉลามกลายเป็นฝันร้ายของคนค่อนโลกในเวลาต่อมา (แม้ในความเป็นจริงแล้ว ฉลามไม่มีนิสัยตะบี้ตะบันไล่งับคนอย่างที่เห็นในหนังก็ตาม) รวมทั้งหนังมนุษย์ต่างดาวชวนอบอุ่นหัวใจที่ใครต่อใครพากันหลงรัก แต่สปีลเบิร์กก็ยังทะเยอทะยานอยากทำหนังเรื่องใหม่ ซึ่งก็เป็นผลพวงจากความสำเร็จครั้งก่อนๆ ของเขา สตูดิโออนุมัติทุนสร้าง 63 ล้านเหรียญฯ ให้สปีลเบิร์กทำหนังว่าด้วยไดโนเสาร์ โดยดัดแปลงมาจากนิยายชื่อเดียวกันเมื่อปี 1990 ของ ไมเคิล ไครช์ตัน (Michael Crichton) ซึ่งสำหรับสปีลเบิร์กแล้ว พล็อตเรื่องที่ว่าด้วยการสร้างสิ่งซึ่งสูญพันธุ์ไปแล้วให้กลับมามีชีวิตอีกหนนั้น ช่างตราตรึงใจเขาเหลือเกิน 

“มันก็น่าเชื่ออยู่นะที่วันหนึ่ง ไดโนเสาร์อาจกลับมามีชีวิตอยู่ร่วมกับมนุษย์ยุคใหม่” เขาบอก และด้วยแนวคิดนี้ Jurassic Park จึงต้องไปให้พ้นจากการเป็นหนังสัตว์ประหลาดธรรมดา และสำหรับสปีลเบิร์กแล้ว การทำหนังทริลเลอร์ว่าด้วยไดโนเสาร์กับมนุษย์เช่นนี้ ก็เป็นเสมือนการทำ Jaws เวอร์ชันภาคพื้นดินนั่นเอง 

โจเซฟ แม็กไบรด์ (Joseph McBride) ผู้เขียน Steven Spielberg: A Biography (1997) หนังสือชีวประวัติของสปีลเบิร์กให้สัมภาษณ์สำนักข่าว BBC ว่า “สปีลเบิร์กออกจะกังวลหน่อยๆ ตอนที่ต้องกำกับ Jurassic Park โดยเขาเรียกมันว่าหนัง Jaws ฉบับภาคพื้นดิน (Jaws on land) แต่อย่างไรก็ตาม Jurassic Park มีแง่มุมเรื่องเนื้อตัวไดโนเสาร์ให้เขาเล่นด้วยเยอะกว่ามาก และนี่ล่ะคือเคล็ดลับของหนัง มันทำงานกับคนดูทั้งในแง่กายภาพและจิตใจ”

หนึ่งในขั้นตอนที่ยากที่สุดคือ การออกแบบและสร้างไดโนเสาร์เพื่อไปเข้าฉาก สปีลเบิร์กตั้งใจให้ไดโนเสาร์ในเรื่องเป็นสัตว์มากกว่าสัตว์ประหลาด และทีมงานต้องตะลุยศึกษารายละเอียดว่าด้วยไดโนเสาร์จำนวนมหาศาลเพื่อรังสรรค์มันออกมาให้สมจริงที่สุด แต่ก็ต้องดูน่าเกรงขามและแฟนตาซี มากพอจะอยู่ในหนัง พวกเขาเลยต้องออกแบบไดโนเสาร์ออกมาตามทฤษฎีวิวัฒนาการ เช่น ไดโนเสาร์บางส่วนวิวัฒนาการมาเป็นนก หรือต้องมีลักษณะคล้ายกิ้งก่า อย่างไรก็ตาม ในอีกหลายปีต่อมา มีทฤษฎีใหม่ๆ ที่ระบุว่าภาพลักษณ์ไดโนเสาร์ในหนังสปีลเบิร์กที่สร้างภาพจำเป็นวงกว้างนั้นออกจะผิดไปจากสิ่งที่ควรจะเป็นสักเล็กน้อย เป็นต้นว่า อาจเป็นไปได้ที่ตัวละครเด่นของเรื่องอย่างไทแรนโนซอรัส หรือที-เร็กซ์ อาจมีขนปกคลุมตามเนื้อตัว (ในเวลาต่อมาฮอลลีวูดก็ปรับใช้ทฤษฎีนี้ใน Jurassic World Dominion, 2022 เมื่อเจ้าที-เร็กซ์ปรากฏตัวพร้อมขนบนหน้า)

ความโหดหินอีกประการที่หลายคนน่าจะทราบกันอยู่แล้วคือ สปีลเบิร์กกำกับ Jurassic Park ในเวลาไล่เลี่ยกันกับ Schindler’s List (1993) หนังว่าด้วยการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวครั้งใหญ่ในสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งสุดท้ายหนังออกฉายห่างกันหกเดือน สปีลเบิร์กกล่าวภายหลังว่า สตูดิโอให้เขากำกับ Jurassic Park ก่อน เพราะหากเขาซึ่งเป็นคนยิวกำกับ Schindler’s List แล้วคงพังทลายเกินกว่าจะทำหนังเรื่องอื่นต่อได้ โดยตารางการถ่ายทำช่วงนั้นหฤโหดอย่างไม่น่าเชื่อ กล่าวคือเขาเริ่มถ่ายทำ Schindler’s List ในโปแลนด์ขณะที่ Jurassic Park ยังอยู่ในห้องตัดต่อที่อเมริกา ทำให้เขาต้องง่วนอยู่กับการแบ่งเวลามาดูร่างตัดต่อหนังทริลเลอร์ที่เน้นความบันเทิงในโรง ขณะที่ก็ต้องพยายามกำกับหนังที่ชวนหัวใจสลายที่สุดเรื่องหนึ่ง ซึ่งในเวลาต่อมา เขาถึงกับออกปากว่าการทำสิ่งนี้ถือเป็นประสบการณ์สุดขั้วที่ลืมไม่ลงเด็ดขาด

เจมส์ เคนดริค (James Kendrick) ศาสตราจารย์ด้านภาพยนตร์ที่มหาวิทยาลัยเบย์เลอร์ให้สัมภาษณ์ BBC ว่า สิ่งที่ทำให้ Jurassic Park ตราตรึงในใจผู้คนคือมันสร้าง ‘ความกลัว’ แบบที่หนังเฮอร์เรอร์มี และเป็นสูตรเดียวกันกับที่สปีลเบิร์กเคยเล่นมาแล้วใน Jaws 

“คุณจะพบว่าเขาให้เราเห็นวิลอซิแรปเตอร์แวบเดียว คุณได้ยินเสียงพวกนั้น เห็นนัยน์ตาพวกมัน เห็นว่ามันเคลื่อนไหวได้ สปีลเบิร์กทำกับคนดูเหมือนที่เขาเคยทำไว้ใน Jaws นั่นคือตอนที่เขาถ่ายให้เห็นครีบฉลาม เขาทำให้เห็นว่าคนในเรื่องถูกโจมตีอย่างไร แต่ไม่ได้บอกว่าอะไรที่โจมตีคน” เคนดริคกล่าว

หนึ่งในฉากที่หลายคนพูดถึงมากที่สุดคือฉากที่โดรมีโอซอร์หรือแร็ปเตอร์ (ในเวลาต่อมากลายเป็นหนึ่งในตัวละครยอดฮิต และถูกทีมบาสเก็ตบอล โตรอนโต แร็ปเตอร์ส หยิบไปใช้เป็นชื่อทีม) ออกล่า เล็กซ์ (อาเรียนา ริชาร์ดส์) กับ ทิม (โจเซฟ มาซเซลโล) สองพี่น้องที่หนีตายเข้าไปในห้องครัว แต่เจ้ากิ้งก่ายักษ์กลับฉลาดพอจะเปิดประตูเข้ามาได้ มิหนำซ้ำยังพาเพื่อนมาออกล่าด้วยกันอีก กล้องถ่ายให้เห็นกรงเล็บขนาดยักษ์ของมันที่ออกเดินย่ำไปทั่วห้อง และเสียงเล็บกระทบพื้นปูนท่ามกลางความเงียบสุดขีดเมื่อเล็กซ์และทิมต้องกลั้นหายใจไม่ให้มีเสียงเล็ดลอด นับเป็นหนึ่งในฉากที่ได้ชื่อว่า ‘ออกแบบ’ ความกลัวได้แยบคายและอยู่หมัดมากที่สุดฉากหนึ่งของสปีลเบิร์ก (ทั้งยังกลายเป็นฉากจำของหนังด้วย)

Jurassic Park ออกคำรามในเดือนมิถุนายน 1993 ทำเงินสัปดาห์แรกไปที่ 50 ล้านเหรียญฯ แซงหน้ารายได้สัปดาห์เปิดของ Batman Returns (1992) และอย่าลืมว่านั่นเป็นค่าเงินในยุคที่เงินเฟ้อในสหรัฐฯ ยังไม่โหดหินเท่าปัจจุบัน เว็บไซต์ variety ประเมินว่าหากใช้ค่าเงินในเวลานี้คำนวณ ตัวเลขของสัปดาห์แรกน่าจะพุ่งไปถึงเลขสามหลักอย่างไม่ต้องสงสัย ขณะที่หนังสือพิมพ์ variety ฉบับเดือนธันวาคมปี 1993 ก็ลงรายละเอียดถึงประเด็นนี้ไว้ว่า “ใครก็รู้ทั้งนั้นว่า Jurassic Park จะได้รับความนิยมไปทั่วโลก แต่ไม่มีใครคาดการณ์ได้แน่ๆ ว่าเจ้าหนังไดโนเสาร์นี้มันจะไปทำรายได้ถล่มทลายในต่างประเทศจนรายได้จากสหรัฐฯ ดูเล็กจ้อยไปเลย”

สามทศวรรษที่ผ่านมา Jurassic Park ทิ้งมรดกให้ภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ มากมาย สำคัญที่สุดคือการแผ้วถางเพดานจินตนาการ ความเป็นไปได้ในการจะสร้างไดโนเสาร์ (หรือสัตว์ขนาดใหญ่อื่นๆ) เพื่อถ่ายทำพร้อมกันกับที่มันปักหมุดเป็นหนังที่ใช้วิช่วล เอฟเฟ็กต์สได้อย่างหมดจด ทั้งยังบันดาลใจให้คนทำหนังรุ่นใหม่ๆ มากมายเดินรอยตามความมหัศจรรย์ในการทำหนังของเขานับตั้งแต่วันนั้น

Tags: , , ,