ทำไมลัทธิที่เรามองว่าไร้สาระ ถึงมีคนเชื่อ

คนส่วนใหญ่อาจมองว่าพวกเขาทั้งงมงาย ทั้งขาดวิจารณญาณ และไม่เข้าใจว่าทำไมถึงเชื่อสนิทใจ แต่รู้หรือไม่ว่าเจ้าลัทธินั้นมีวิธีการสุดล้ำในการล่อลวงเหยื่อให้ติดกับ 

คำตอบอยู่ใน How to Become a Cult Leader สารคดี Original Netflix ความยาว 6 ตอน ที่จะพาผู้ชมไปรู้จักเรื่องราวตั้งแต่จุดเริ่มต้นไปจนถึงจุดจบของลัทธิ พร้อมทั้งไขเคล็ดลับการก่อร่างสร้างตัวเป็นเจ้าลัทธิ บรรยายโดย ปีเตอร์ ดิงเคลจ (Peter Dinklage) นักแสดงที่เคยฝากผลงานดังอย่าง Game of Thrones (2011) และ 3 ผู้กำกับอย่าง รอน ไมริก (Ron Myrick), ทิม รอนช์ (Tim Rauch) และเกรก แฟรงคลิน (Greg Franklin)

อีกทั้งยังเป็นอีกหนึ่งในชุดสารคดี How to Become อันประกอบไปด้วย How to Become a Tyrant (2021) ที่หลายคนคุ้นหูคุ้นตากันเป็นอย่างดี และ How to Become a Mob Boss (2023) ที่คงคอนเซปต์เดียวกัน คือการเสียดสีโดยใช้อารมณ์ของการบรรยายแบบหนังสือคู่มือการไปสู่เป้าหมาย

สารคดีทั้ง 6 ตอน เรียงตอนตามลำดับตามเวลาการเกิดขึ้นของลัทธิ โดยเริ่มตอนแรกด้วย แมนสันแฟมิลี่ (Manson Family) ลัทธิอันโด่งดังจากการบุกฆาตกรรมดาราฮอลลีวูดชื่อดัง ชารอน เทต (Sharon Tate) ในบ้านพักส่วนตัว, เรื่องราวของลัทธิโบสถ์มวลชน (Peoples Temple) โดยจิม โจนส์ (Jim Jones) อันเป็นที่เลื่องลือจากการฆาตกรรมหมู่สาวกในโจนส์ทาวน์ (Jonestown), ลัทธิบุดด้าฟิลด์ (Buddhafield) ที่เจ้าลัทธิล่วงละเมิดสาวกชาย ลัทธิเฮฟเวนเกจ (Heaven’s Gate) ซึ่งโด่งดังจากการฆ่าตัวตายหมู่เพื่อไปสู่พบภูมิเอเลี่ยน, ลัทธิชื่อดังในญี่ปุ่น โอมชินริเกียว (Aum Shinrikyo) พวกเขาก่อวินาศกรรมโดยรมแก๊สพิษในรถไฟฟ้า และสุดท้ายคือลัทธิโบสถ์แห่งความสามัคคี (Unification Church) ลัทธิอันยิ่งใหญ่ที่ยังคงอยู่จนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีชื่อเสียงที่เป็นที่ประจักษ์ของผู้คนจากพฤติกรรมการแต่งงานหมู่

ในด้านวิธีการเล่า (Form) หนึ่งในความน่าสนใจของสารคดีนี้คือ การเป็นลูกครึ่งผสมผสานระหว่างสารคดีประเภท Expository Documentary กับ Participatory Documentary กล่าวคือ Expository จะเป็นการเล่าโดยเสียงของผู้บรรยายอย่างตรงไปตรงมา หรือที่นิยมเรียกว่า ‘Voice of God’ ซึ่งจะโน้มน้าวให้ผู้ชมคิดไปในทางเดียวกับสิ่งที่สารคดีต้องการจะสื่อ โดยมากจะสามารถพบเห็นได้ในสารคดีเกี่ยวกับสัตว์ป่า ส่วน Participatory คือสารคดีที่จะมีการสัมภาษณ์บุคคลต่างๆ ซึ่งใน How to Become a Cult Leader จะเป็นการเล่าเรื่องราวจาก Voice of God พร้อมไปกับภาพแอนิเมชันและฟุตเทจจากสื่ออื่นๆ ร้อยเรียงไปพร้อมกับบทสัมภาษณ์ของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่อเรื่องราว

รวมถึงการใส่ฟุตเทจประกอบ อันมีลีลาคล้ายคลึงกับมีม (Meme) ที่มักจะเป็นภาพ GIF หรือคลิปสั้นๆ ที่สามารถนำมาเชื่อมโยงกับบริบทในสารคดีแล้วทำให้รู้สึกร่วมสมัย เกิดอารมณ์ขำขันเสียดสีตัวละครได้ โดยในฉากหนึ่งที่ทำงานกับความรู้สึกของผู้เขียนมากคือ ฉากที่ผู้บรรยายพูดถึงความอัศจรรย์ของเจ้าลัทธิ แล้วได้มีการใส่ฟุตเทจมีมที่เหล่าสาวกอัศจรรย์กับการฟื้นคืนชีพของพระเยซู

ในมุมของผู้เขียน แม้วิธีการเล่าแบบหนังสือคู่มือจะดูเป็นจุดเด่นของสารคดี แต่มันก็ทำให้สารคดีขาดอิสระในตัวเอง อีกทั้งเมื่อการเล่าวิธีการสู่การเป็นเจ้าลัทธิ จำเป็นต้องใช้ผู้บรรยายหรือ Voice of God สิ่งนี้ก็ไม่ต่างกับเจ้าลัทธิที่พยายามชี้นำอะไรบางอย่างให้กับคนดู ไม่เปิดช่องว่างให้คนดูได้ตีความ หรือตั้งคำถามเองบ้าง 

ส่วนด้านเนื้อหา แม้ว่าคอนเซปต์การ ‘เป็นหนังสือคู่มือเจ้าลัทธิ’ จะฟังดูน่าดึงดูด แต่กลับไม่ได้สร้างความแปลกใหม่ให้ผู้ชมมากพอ เพราะการเป็นหนังสือคู่มือ ทำให้ผู้สร้างหนักแน่นไปในการบอกวิธีการการเป็นเจ้าลัทธิ ประหนึ่งเป็นตำราเรียนมากกว่าข้อมูล หรือราวใหม่ๆ ที่น่าสนใจ 

ซึ่งหากใครที่มีความสนใจในเรื่องลัทธิอยู่แล้ว หรือเคยศึกษาเรื่องราวของพวกเขามาบ้าง สารคดีเรื่องนี้กลับชวนให้รู้สึกจำเจ เพราะมันไม่ได้ทำให้ผู้ชมเห็นอะไรไปมากกว่าสารคดีเกี่ยวกับลัทธิเรื่องอื่นเลย

อีกทั้งสำหรับผู้เขียนมองว่า หากเทียบกับสารคดีเรื่องอื่น เช่น In the Name of God: A Holy Betrayal (2023) ที่กล่าวถึงลัทธิในประเทศเกาหลีใต้ สามารถทำการเล่าได้แปลกใหม่ และน่าสนใจมากกว่า เพราะมีทั้งข้อมูลที่หาจากสารคดีอื่นไม่ได้ ประกอบกับคลิปเสียงจริงและฟุตเทจจริง

อย่างไรก็ตาม หากจะมองว่าการทำตัวเป็นคู่มือรู้เท่าทันเจ้าลัทธิ 101 ตามเป้าหมายของผู้กำกับ เราอาจพูดได้ว่าสารคดีเรื่องนี้ก็สอบผ่านภายใต้มาตรฐานนี้เช่นกัน 

เพราะ ‘ความกลืนและเคี้ยวง่ายของเนื้อหา’ ทำให้สารคดีสามารถส่งสารต้องการจะสื่อได้อย่างง่ายดาย โดยการถอดวิธีการเป็นเจ้าลัทธิแต่ละขั้นตอนออกมา ทำให้ผู้ชมได้เข้าใจถึงสัญญาณอันตรายของการเกิดลัทธิ หรือเรียกได้ว่าทำให้รู้เท่าทัน เพราะบางทีสังคมเราอาจจะตกอยู่ในขั้นตอนหนึ่งของเจ้าลัทธิ แต่ผู้คนไม่รู้ว่าสิ่งนี้จะนำไปสู่อันตรายได้ 

เหมือนกับในปัจจุบันที่สื่อต่างเกาะกระแสการเกิดขึ้นของลัทธิประหลาด และมองเพียงว่าเป็นเรื่องตลก แต่เมื่อเราดูกรณีของลัทธิต่างๆ เช่น โอมชินริเกียว ก็จะทราบดีว่า สื่อเป็นผู้ที่ทำให้หายนะเกิดขึ้น เพราะพวกเขาให้พื้นที่กับเจ้าลัทธิ ทั้งออกรายการ ทั้งสัมภาษณ์ ซึ่งเป็นเหมือนการช่วยโฆษณาลัทธิ และยังเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ปลอดภัยต่อผู้คนอีกด้วย

เรื่องความลุ่มหลงของเหยื่อผู้หลงเชื่อลัทธิ แม้ว่าผู้คนโดยมากจะมองลัทธิประหลาดด้วยสายตาแห่งความขบขัน และไม่สลักสำคัญอะไร แต่เมื่อมีคนไม่เชื่อ ก็ต้องมีคนที่เอนเอียงไปเชื่อ เพราะได้ยินได้ฟังเรื่องราวของเจ้าลัทธิกรอกหูทุกวันผ่านสื่อ แม้จำนวนคนเชื่อจะมีไม่มากนัก แต่นับเป็นความสำเร็จของเจ้าลัทธิ เพราะแม้จะมีเพียง 1 ใน 100 ที่เชื่อ แต่ด้วยอิทธิพลของความเชื่อ คนคนนั้นอาจมีกำลังทำอะไรบางอย่างมากกว่าคน 100 คน เพราะเขาอาจมอบทั้งชีวิตให้เจ้าลัทธิไปแล้ว

โดยจากการรับชมสารคดี How to Become a Cult Leader ทั้ง 6 ตอน 6 ลัทธิ ผู้เขียนมองว่าคงเป็นประโยชน์อยู่ไม่น้อย หากจะสรุปประเด็นดังกล่าว ด้วยการยกตัวอย่าง 6 วิธีการสู่หนทางการเป็นเจ้าลัทธิ (เป็นเพียงการสรุปจากผู้เขียน และแต่ละข้อไม่ได้เป็นตอนในสารคดี)

อุปโลกน์ตัวตน

การนิยมชมชอบใครสักคนนั้น อาจเริ่มต้นได้จากรูปลักษณ์ ต่อเนื่องถึงตัวตนของคนคนนั้น ซึ่งเจ้าลัทธิเองก็มีวิธีการเริ่มต้นจากการสร้างภาพลักษณ์ของตัวเองเป็นด่านแรก ตัวอย่างที่ชัดเจนคือกรณีของชาร์ลส์ แมนสัน (Charles Manson) ผู้นำลัทธิแมนสันแฟมีลี่ (Manson family) เดิมทีเขามีลักษณะทั่วไป ตัดผมสั้น ใส่เสื้อเชิ้ต แต่เมื่อพบกลุ่มเป้าหมายเหล่าบุปผาชน หรือที่คนส่วนใหญ่เรียกว่าฮิปปี้ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ยึดถือในอิสรภาพและปัจเจก แมนสันจึงเปลี่ยนแปลงตัวเองให้สามารถซื้อใจพวกเขาได้ ทั้งไว้ผมยาว ใส่เสื้อฮาวาย และเล่นดนตรีตามแบบฉบับของบุปผาชน เขาจึงเป็นที่นิยมชมชอบมากยิ่งขึ้น การสร้างภาพลักษณ์นี้เองก็ยังถูกพบเห็นได้มากมาย เช่น การแต่งตัวประหลาดอันมีเอกลักษณ์ของเจ้าลัทธิ คนภายนอกอาจมองเขาเป็นเพียงตัวตลก แต่ความไม่ตลกคือมีคนไม่น้อยที่หลงใหลถูกใจในภาพลักษณ์แบบนี้

การสร้างภาพลักษณ์จะไม่หนักแน่นพอ ถ้าพวกเขาไม่มีเรื่องราว เจ้าลัทธิส่วนใหญ่จำเป็นที่จะต้องอ้างตัวถึงเรื่องราวที่ผู้คนเชื่อเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว โดยมาพวกเขามักจะบอกว่าตัวเองนั้นทำหน้าที่เป็นผู้ส่งสารจากพระเจ้า เหมือนกับกรณีของ มุน ซอนมยอง (Sun Myung Moon) แห่งลัทธิโบสถ์แห่งความสามัคคี

วาทศิลป์

นอกจากภาพลักษณ์ของเจ้าลัทธิที่สะกดเหล่าสาวกได้แล้ว อีกสิ่งสำคัญคือการพูดจาล่อลวง เหยื่อส่วนใหญ่ให้สัมภาษณ์ถึงความหลงใหลที่มีต่อเจ้าลัทธิ ในขณะที่แมนสันมีวิธีการพูดคุยอันเปี่ยมล้นไปด้วยเสน่ห์ และมาแชลล์ แอปเปิลไวต์ (Marshall Applewhite) เจ้าลัทธิเฮฟเวนส์เกจ (Heaven’s Gate) เองก็มีเคล็ดลับในการพูดเพื่อปิดกั้นการความคิดของสาวก ถ้าสาวกสงสัยเขาจะบอกว่าพวกสาวกยังเชื่อไม่พอ จะเห็นได้ว่าการหยุดยั้งไม่ให้ผู้คนตั้งคำถามก็เป็นวิธีพื้นฐานที่ชักจูงคนได้ ไม่ต่างจากวิธีการของเหล่าเผด็จการทั่วโลก 

โจนส์เป็นอีกคนหนึ่งที่เก่งในเรื่องการโน้มน้าว ผู้คนในลัทธิต่างขายทรัพย์สินส่วนตัวทั้งหมดเพื่อมอบให้กับเขา เพราะพวกเขามีรู้สึกผิดต่อโจนส์ เนื่องจากโจนส์พูดฝังหัวทุกคนว่า เขาเสียสละทุกอย่างเพื่อสาวกทั้งหลาย

วิธีการเหล่านี้เองที่สอดคล้องกับหลักการของการล่อลวง (Grooming) และการจัดการควบคุม (Manipulate) พวกเขาจะพูดให้เหยื่อรู้สึกว่าได้รับการยอมรับ แสดงความเข้าใจต่อเหยื่อ และโน้มน้าวให้อีกฝ่ายรู้สึกผิดกับสิ่งที่ตัวเองไม่ได้กระทำ

คิดค้นระบบความเชื่อใหม่

มาแชลล์คิดค้นระบบความเชื่อใหม่ว่า โลกกำลังจะถึงจุดสิ้นสุด หนทางเดียวที่จะรอดพ้นคือการไปสู่ภพภูมิเอเลี่ยน เขากล่อมผู้คนว่า ร่างกายเป็นเพียงเปลือกนอก สิ่งที่จะไปขึ้นยานกับเอเลี่ยนได้คือจิตวิญญาณ ดังนั้นจึงเกิดการฆ่าตัวตายหมู่ เพื่อหวังจะไปสู่โลกใหม่ที่ดีกว่า

การตัดขาดจากคนภายนอก ละทิ้งตัวตน

หากสิ่งสำคัญจำเป็นที่จะทำให้ลัทธิอยู่ยั้งยืนยงได้คือการไม่ตั้งคำถาม การตัดไฟตั้งแต่ต้นลมของเจ้าลัทธิก็คือ ขจัดสิ่งเร้าที่จะทำให้สาวกเกิดการตั้งคำถาม สิ่งนั้นคือคนภายนอกและครอบครัวของเหล่าสาวก โจนส์จึงต้องทำการหลีกหนีผู้คนโดยการตั้งเมืองโจนส์ทาวน์ หรือในลัทธิโบสถ์แห่งความสามัคคีก็จัดการแต่งงานหมู่ให้คนภายในลัทธิ โดยอ้างถึงสายเลือดที่บริสุทธิ์ แต่แท้จริงหวังจะกำจัดข้อสงสัย ไปพร้อมกับการขยายจำนวนสมาชิก บุดด้าฟิลด์เองก็เช่นกันที่ตัดขาดผู้คนทั้งจากโลกภายนอก และพยายามเปลี่ยนรูปลักษณ์ของพวกเขาโดยการศัลยกรรม การแต่งตัว เพื่อให้ไม่หลงเหลือตัวตนของตัวเอง

แลกเปลี่ยนความเชื่อกับสิ่งที่คนต้องการ

โดยมากแล้วผู้คนอาจเชื่อในลัทธิเพราะหลายปัจจัย หนึ่งในนั้นคือการที่ลัทธิให้สิ่งที่พวกเขาต้องการ อาจเป็นการไปสู่สรวงสวรรค์ การหลีกหนีจากโลกที่สับสนวุ่นวาย หรือแม้แต่เป็นที่พึ่งทางจิตใจ ดังนั้นลัทธิบุดด้าฟิลด์ที่เห็นโอกาสนี้จึงบอกผู้คนว่า การเข้าสู่ลัทธิไม่ใช่การให้อะไรกับลัทธิ แต่เป็นการให้ความสุขกับตนเอง

ใช้สื่อและการโฆษณา

สิ่งสำคัญที่สุดเพื่อเป้าหมายการขยายลัทธิ คือการทำให้ผู้คนจำนวนมากรู้จัก โดยโจนส์ได้ใช้วิธีที่จัด Road Trip ทัวร์คอนเสิร์ต หรือบุดด้าฟิลด์ที่โฆษณาตนเองด้วยการที่ชักนำดารานักร้อง หรือคนในวงการมาเข้าร่วมลัทธิ

แต่นั่นก็ยังเทียบไม่ได้กับ โชโกะ อาซาฮาระ (Shoko Asahara) แห่งโอมชินริเกียว ผู้ออกรายการโทรทัศน์ มีการ์ตูนของตัวเอง ทั้งยังมีสาวกเป็นเหล่าหัวกะทิจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยดัง นักวิทยาศาสตร์ และผู้มีหน้ามีตาในสังคม สื่อเองก็ให้พื้นที่รายการต่าง ๆ กับเขามากเช่นกัน จนทำให้ลัทธิขยายใหญ่มากยิ่งขึ้น

หรือเพราะลัทธิตอบคำถามในใจของผู้คนได้ พวกเขาจึงเชื่อ?

สำหรับผู้เขียนมองว่า หลายครั้งที่คนเราเชื่ออะไรอย่างสุดจิตสุดใจ ก็ไม่ได้มาจากการเป็นคนหัวอ่อน หรือขาดวิจารณญาณ แต่เป็นเพราะพวกเขาเหล่านั้นมีปัญหา หรือคำถามที่ตัวเองไม่สามารถแก้ไขและตอบมันได้ ดังนั้นเมื่อมีใครสักคนสามารถไขข้อสงสัยเหล่านั้น ก็เป็นเรื่องไม่ยากที่พวกเขาจะรู้สึกเลื่อมใส 

ปัญหาในสังคมก็ส่งผลกระทบต่อความเชื่อของมนุษย์ มนุษย์ที่ไม่ได้เป็นปัจเจกโดดเดี่ยวในสังคม แต่เป็นส่วนหนึ่งของสายสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ในสังคม ดังนั้นวิธีคิดและความเชื่อของตัวเรา จึงเป็นผลิตผลของสังคม 

หากสังเกตในช่วงล่าสุด ประเทศไทยเกิดลัทธิที่ใช้คลื่นพลังบุญในการปัดเป่ารักษาโรค เมื่อมองย้อนกลับไปก็จะเห็นว่าปัญหาที่ผู้คนเผชิญอยู่ คือปัญหาด้านสาธารณสุขที่รัฐไม่สามารถจัดการได้ ท้ายที่สุดแล้วเมื่อมีคนเสนอตัวเข้ามาแก้ปัญหานี้ โดยการรักษาปัดเป่าด้วยคลื่นพลังบุญ แล้วบังเอิญว่า คนที่ถูกรักษาดันหายขึ้นมาจริงๆ ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เจ้าลัทธิจะถูกศรัทธา

ดังนั้นจากในสารคดีจึงเห็นว่า ลัทธิที่แก้ปัญหาของคนอื่นได้ก็จะครองใจสาวกได้ตามไปด้วย ผู้คนบางส่วนที่เจอปัญหาเกี่ยวกับความว่างเปล่าในตัวตน จึงถูกชักจูงได้โดยลัทธิบุดด้าฟิลด์ที่มุ่งจะแก้ไขเรื่องนี้ หรือหญิงนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ตกเป็นเบี้ยล่างของแมนสัน ก็ถูกเขาหลอกล่อด้วยอุดมการณ์การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ไม่ต่างไปจากสภาวะสังคมที่วุ่นวายและเกิดสงคราม 

อย่างไรก็ตามด้วยคอนเซปต์ของสารคดี ที่ไม่ได้เข้าไปสำรวจภายในจิตใจของผู้คนที่เชื่อ ดังนั้นบทบาททางความคิดในฝั่งของเหล่าสาวก จึงไม่ได้มีน้ำหนักเทียบเท่ากับเจ้าลัทธิ สารคดีจึงขาดมิติในแง่ที่ว่า ทำไมสาวกถึงคล้อยตามเจ้าลัทธิได้อย่างง่ายดาย

จนถึงตรงนี้คงจะดีไม่น้อย หากผู้อ่านได้ลองสำรวจสังคมและตนเองว่า กำลังตกอยู่ภายใต้อำนาจของความเชื่อใดที่ก่อให้เกิดอันตรายหรือเปล่า เพราะวันหนึ่งด้วยกระบวนการต่างๆ ทั้งของเจ้าลัทธิ สังคม และตัวเราเอง อาจทำให้เราตกเป็นเหยื่อของลัทธิก็เป็นได้

สุดท้าย ทุกคนล้วนแล้วแต่มีอิสระที่จะเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นในลัทธิ หรือการมีอยู่ของสิ่งใดก็ตาม ตราบใดที่สิ่งนั้นไม่ได้ส่งผลกระทบในแง่ลบ หรือละเมิดสิทธิเสรีภาพของทั้งตัวผู้เชื่อและตัวผู้อื่น 

อ้างอิง

https://www.springnews.co.th/news/hot-issue/841953#

https://urbancreature.co/manipulation/

Tags: , , , , ,