หากจะมีรางวัลสาขา ‘ราชินีหนังรีเมกแห่งฮอลลีวูด’ เชื่อว่าชื่อของ นาโอมิ วัตต์ส คงเป็นตัวเก็งหนึ่งเดียวอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะนับจากผลงานเรื่องก่อนๆ ที่ผ่านมา Goodnight Mommy (2022) หนังยาวลำดับที่สองของ แม็ตต์ โซเบล ก็เป็นหนังรีเมกเรื่องที่สี่ในชีวิตของวัตต์สแล้ว ถัดจาก The Ring (2002), King Kong (2005) และ Funny Games (2007) โดยตัวหนัง Goodnight Mommy เองก็ดัดแปลงมาจากภาพยนตร์ชื่อเดียวกันสัญชาติออสเตรียเมื่อปี 2014 กำกับโดย เวโรนิกา ฟรันซ์ กับ เซอเวริน เฟียลา และได้รับคำชมกราวใหญ่ในฐานะหนังว่าด้วย ‘แม่-ลูก’ ที่ชวนสยดสยองมากที่สุดเรื่องหนึ่ง แถมยังกวาดห้ารางวัลใหญ่จากเวทีภาพยนตร์ออสเตรีย อันเป็นเวทีใหญ่สุดในบ้านมาครอง รวมทั้งสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
ดังนั้น เมื่อมันถูกนำมาดัดแปลงใหม่ ความคาดหวังเรื่องความเฮี้ยน หลอนหลอก ย่อมเพิ่มขึ้นเป็นธรรมดา… และน่าเสียดายที่โซเบลกำกับได้ผิดที่ผิดทางจนเสน่ห์ของต้นฉบับจืดจางไม่เหลือ แถมใส่ความโฉ่งฉ่างระทึกหูแบบฮอลลีวูดมาแทนแบบไม่ปรานีปราศรัย แต่ในทางกลับกัน เราก็อาจจะมองได้ว่านี่เป็นการ ‘สร้างหนัง’ ในแบบของตัวเองขึ้นมาโดยไม่จำเป็นต้องเดินรอยตามต้นฉบับ อย่างนั้นก็อาจจะได้!
ทั้งนี้ Goodnight Mommy (2022) ลงฉายทางสตรีมมิงแอมะซอนไพร์ม มันว่าด้วยเรื่องของ เอลเลียส (คาเมอรอน โครเวตติ) กับลูคัส (นิโคลัส โครเวตติ) เด็กชายฝาแฝดที่อาศัยอยู่กับพ่อซึ่งหย่าขาดกับแม่ (วัตต์ส) มาพักใหญ่ กระทั่งเมื่อพ่อตัดสินใจพาพวกเขาไปพักกับแม่ ผู้เป็นอดีตนักแสดงชื่อดัง ในชนบทแห่งหนึ่ง ฝาแฝดกลับตกใจแทบสิ้นสติ เมื่อเห็นว่าแม่ของพวกเขาปรากฏตัวในสภาพสวมหน้ากากเต็มหน้า โดยเธออธิบายว่าเธอเพิ่งผ่านการศัลยกรรมมา และขอให้แฝดปฏิบัติตามกฎบางประการ เช่น ห้ามเข้าไปเล่นในห้องนอนของเธอรวมทั้งกระท่อมนอกบ้านเด็ดขาด
เช่นเดียวกับตัวต้นฉบับ หนังเล่าผ่านสายตาของฝาแฝด พวกเขาอึดอัดใจที่เห็นแม่ หรือในสายตาพวกเขาคือผู้หญิงคนหนึ่งที่คลุมใบหน้าด้วยผ้าพันแผลขนาดใหญ่ทั้งหน้า ทำตัวห่างเหิน ไม่ยอมร้องเพลงกล่อมนอน หรือมีท่าทีฉุนเฉียวเจ้าอารมณ์ พวกเขาก็เริ่มผวาดผวาขึ้นเรื่อยๆ ว่าหญิงที่อยู่ในบ้านอาจไม่ใช่แม่ผู้อ่อนโยนอันเป็นที่รักของพวกเขา หากแต่เป็นใครคนหนึ่ง หรืออาจไม่ใช่แม้กระทั่งคน สวมรอยเป็นแม่เข้ามา
สิ่งที่น่าสนใจคือ แทบตลอดทั้งเรื่องไม่ว่าจะในเวอร์ชันออสเตรียหรือเวอร์ชันอเมริกัน คนดูแทบไม่ได้เห็นใบหน้าของ ‘แม่’ เลยแม้แต่ครั้งเดียว รูปถ่ายที่ปรากฏในบ้านนั้นมักเป็นภาพที่เธอยืนหันหลังหรือไม่ก็พร่าเลือนเสียจนดูไม่ออก กระทั่งวิดีโอที่พ่อเป็นผู้ถ่ายไว้ได้ก่อนหย่าร้างก็ไม่ได้ถ่ายติดใบหน้าแม่มา ดังนั้นแม่จึงเป็นคนแปลกหน้าของทั้งฝาแฝดและของทั้งคนดูด้วย มิหนำซ้ำหนังยังขับเน้นความรู้สึกว่างเปล่าห่างเหินด้วยการจับจ้องตัวละครแม่จากที่ไกล ไม่ว่าจะอีกฟากของโต๊ะ หรือบนโซฟาไกลลิบจากจุดที่ลูกๆ ยืนอยู่ แต่สิ่งหนึ่งที่อย่างไรเวอร์ชันอเมริกันก็ไม่อาจทำให้เทียบเท่าเวอร์ชันออสเตรียได้คือความเลือดเย็น สยดสยองปนอำมหิต
กล่าวคือแม่ของเวอร์ชันออสเตรีย (รับบทได้อย่างเอ็มวีพีโดย ซูซานเนอ วอสต์) มาในรูปลักษณ์บอบช้ำกว่าของอเมริกันมาก เธอสวมผ้าพันแผลพันหลายทบทั้งหัว ที่โผล่พ้นออกมามีเพียงเบ้าตาช้ำๆ กับเลือดคั่งบริเวณที่ได้รับการผ่าตัดศัลยกรรมจนไม่น่าแปลกใจที่เด็กๆ เห็นแล้วจะขวัญผวาที่แม่ตัวเองเปลี่ยนไปขนาดนี้ รวมทั้งบุคลิกห่างเหิน ไว้เนื้อไว้ตัว ตลอดจนเด็กแฝดทั้งสองเองที่ค่อยๆ วางแผน ‘กระชากหน้ากาก’ แม่อย่างเยือกเย็นผิดวิสัยเด็ก รวมกันกับการเคลื่อนกล้องเนิบช้าที่ยิ่งสร้างบรรยากาศคุกคามสยดสยอง และความไม่ไว้วางใจกันระหว่างแม่ลูกให้ดุเดือดยิ่งขึ้น
ในทางกลับกัน แม่ในเวอร์ชันของโซเบลกลับปรากฏตัวด้วยความสวยใส แน่นอนว่าแม้เราจะไม่เห็นหน้าเธอเพราะเธอสวมผ้าคลุมไว้ทั้งหัว แต่แม่ก็ยังดูหมดจดราวกับว่าเธอเพียงแค่สวมผ้าคลุมไว้เท่านั้น ไม่ได้ดูผ่านการผ่าตัดหนักหน่วงจนเลือดคั่งอยู่ใต้ผิวจนลูกตกใจไม่กล้าเข้าหา หรือกระทั่งตัวเด็กแฝดเองที่แสดงออกต่อมาอย่างชัดเจนมากกว่าจะเก็บงำซ่อนเล็บของตนไว้ และที่แสนจะฮอลลีวูดจนฉีกเวอร์ชันเดิมไปเลย คือการโผล่มาของฉาก Jump scare ที่ดูผิดที่ผิดทางและประดักประเดิดอย่างถึงที่สุด
ทั้งนี้ เอาเข้าจริงต้นธารหลักๆ ของมันอาจมาจากผู้กำกับเองที่อยากเห็นการแสดงแบบที่ปรากฎให้เราเห็นในเวอร์ชัน 2022 นี้ ยังไม่นับรวมทีท่าความเป็นฮอลลีวูดที่ชั่วๆ ดีๆ ต้องมีฉากเซ็กซี่วาบหวิวให้เลิกคิ้วประหลาดใจเล่น เมื่อเห็นแม่ค่อยๆ ยืนเปลื้องผ้าเต้นอยู่หน้ากระจก (!!) ชวนนึกถึงเมื่อวัตต์สรับบทเป็นแม่จาก Funny Games หนังรีเมกปี 1997 ของผู้กำกับชาวออสเตรีย (อีกแล้ว) มิคาเอล ฮานาเกอ ที่ก็กำกับเวอร์ชันรีเมกสาขาฮอลลีวูดเองด้วย โดยตัวละครแม่ในเวอร์ชันนี้สวมชุดนอนเซ็กซี่กว่าเวอร์ชันเดิมมาก อันเป็นการยั่วล้อและตั้งคำถาม (ตามประสาฮานาเกอ) ต่อขนบของฮอลลีวูดและคนดูอเมริกันที่ต้องมีฉากวาบหวิวโผล่มาเสมอๆ ไม่ต่างจาก Goodnight Mommy
กลับมาที่ตัวหนัง ไม่ว่าจะในเวอร์ชันใด แก่นแกนหนึ่งที่หนังตั้งคำถามและมุ่งสำรวจคือความสัมพันธ์ระหว่างแม่ลูก การรับมือกับโศกนาฏกรรมโดยไม่ทุบทำลายกันและกันทิ้งไปเสียก่อน เมื่อตัวละครต่างผูกโยงกันด้วยเหตุการณ์สำคัญที่หากจะก้าวข้ามได้ สำหรับแม่แล้วคือการออกมาตั้งต้นใหม่ เปลี่ยนแปลงและลบเลือนทุกอย่างใหม่ผ่านการศัลยกรรมหรือเปลี่ยนสายงาน เพื่อจะได้เริ่มต้นอย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งหากมองจากสายตาภายนอก อาจนับเป็นพฤติกรรมเลือดเย็นอย่างยิ่งในฐานะคนเป็นแม่ ที่ดูราวกับตั้งหน้าตั้งตาจะลืมเรื่องราวต่างๆ ในครอบครัวให้จงได้ หากแต่มองจากมุมของเธอ ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง มันก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไรหากเธอจะตั้งหลักใหม่เพื่อไปต่อท่ามกลางสายตาวิพากษ์วิจารณ์ความเป็นแม่ของเธอ
อย่างไรก็ตาม ถึงที่สุดการที่ Goodnight Mommy ของแอมะซอนจะเป็นหนังทริลเลอร์โฉ่งฉ่างเสียงดัง กลบกลิ่นอายความเลือดเย็นจากต้นฉบับไปจนหมด หากแต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันเป็นหนังไร้รสชาติแต่อย่างใด และที่สำคัญคือ ใช่หรือไม่ว่านี่คือผลลัพธ์ของการพยายามฉีกแนวต้นฉบับเพื่อไม่ให้ซ้ำเดิม เพราะหากซ้ำเดิมแล้ว เราจะทำหนังรีเมกไปทำไมกันเล่า
Tags: Screen and Sound, Amazon Prime, Goodnight Mommy, นาโอมิ วัตต์ส, Naomi Watts