เราต่างได้ยินเรื่องเล่าของสิ่งลี้ลับเหนือธรรมชาติที่เรียกว่า ‘ผี’ หรือ ‘วิญญาณ’ มาช้านาน แต่ใครเล่าจะบอกได้อย่างเต็มปากว่าสิ่งที่มองไม่เห็นนี้มีอยู่จริง จะเต็มที่ก็มีเพียงหลักฐานชิ้นเล็กชิ้นน้อย เช่น ภาพถ่าย ที่สุดท้ายผลพิสูจน์ก็มักออกมาในทางตรงกันข้ามเสมอจากการใช้กฎเกณฑ์ทางหลักวิทยาศาสตร์เข้าช่วย แล้วถ้าหากสมมติว่ามีคนที่ปักใจเชื่อเรื่องของการมีตัวตนอยู่ของโลกหลังความตาย และพร้อมจะ ‘แลกทุกสิ่งทุกอย่าง’ เพื่อแสดงให้โลกเห็นว่าพวกเขาเชื่อไม่ผิดนั้นจะเป็นอย่างไร
สิ่งที่กล่าวมาในข้างต้นคือธีมหลักของภาพยนตร์เรื่อง Ghost Lab ฉีกกฎทดลองผี ที่ผู้กำกับ ‘กอล์ฟ – ปวีณ ภูริจิตปัญญา’ ต้องการนำเสนอออกมา ผ่านตัวละคร ‘กล้า’ – อาจอง สุญญตา (พาริส อินทรโกมาลย์สุต) และ ‘วี’ – ชีวี พรหมเมธัส (ธนภพ ลีรัตนขจร) สองหมอแผนกศัลยกรรมของโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ซึ่งมีความเชื่อในเรื่องของโลกหลังความตายแบบสุดขั้ว ทางหมอกล้าพยายามจะพิสูจน์ทุกวิถีทางให้คนอื่นเชื่อว่า ‘ผีมีอยู่จริง’ จากอดีตวัยเด็กที่เขาปักใจเชื่อว่าเคยพบกับวิญญาณของพ่อผู้เสียชีวิตไป ขณะที่หมอวีเชื่อว่าเป็นเพียงเรื่องจินตนาการ หลักการวิทยาศาสตร์สามารถอธิบายเรื่องลี้ลับนี้ได้ทั้งหมด จนกระทั่งค่ำคืนหนึ่ง พวกเขาได้มองเห็นวิญญาณที่โดนไฟคลอกร่วมกัน และจุดนี้เอง ส่งผลให้ทั้งคู่ตกลงปลงใจเริ่มแผน ‘ล่าแสงเหนือ’ เพื่อแสดงให้โลกเห็นว่าผีมีอยู่จริง และนำงานวิจัยที่ว่าตีพิมพ์ลงยังนิตยสาร The Experiment
บทตั้งต้นภาพยนตร์เรื่องนี้มีความน่าสนใจไม่น้อย เพราะส่วนใหญ่เรามักจะได้เสพภาพยนตร์แนวภูตผีจากฝีมือผู้กำกับไทย ชนิดที่ว่าเป็นการเจอจากการลบหลู่ ลองของ หรือแนวสืบสวนสอบสวน แต่กลับไม่ค่อยเห็นในแนวตั้งข้อสมมติฐานเป็นแก่นหลักของเรื่องเสียเท่าไรนัก Ghost Lab จึงเปรียบเสมือนข้อเชื้อเชิญผู้ชมให้ก้าวตามมา แล้วอุดมคติในเรื่องโลกหลังความตายของคุณจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป จุดนี้ถือเป็นวัตถุดิบฟรีสไตล์อย่างมากในการทำหนังผี เพราะเชื่อเถอะว่าไม่เคยมีคนตายที่ไหนกลับมาเล่าให้เราฟังแบบตัวเป็นๆ ได้ว่า เมื่อถึงจุดจบของชีวิตแล้ว พวกเขาเจอต้องไปพบเจออะไรบ้าง
*หลังจากนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์
ช่วง 15 นาทีแรกของหนัง หลังหมอทั้งสองได้ตกลงร่วมกันทดลองตัวตนการมีอยู่ของผีนั้น ทุกอย่างดูจะน่าตื่นเต้นชวนค้นหาไปเสียหมด ก่อนเริ่มไต่ระดับความตื่นเต้น ตั้งแต่การถือกล้องโทรศัพท์และเทอร์โมมิเตอร์วัดอุณหภูมิแบบที่เราเคยเห็นในรายการ ล่าท้าผี เข้าไปสำรวจตามซอกหลืบของโรงพยาบาล และได้เห็นปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติแบบโพลเตอร์ไกสต์ (Poltergeist) เช่น สิ่งของตกลงมากระจัดกระจายแบบไม่ทราบสาเหตุ รถเข็นผู้ป่วยขยับเอง แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะได้พบกับผีแบบตัวเป็นๆ เหมือนค่ำคืนนั้น
จุดหักเหสำคัญของเรื่อง คือการที่หมอวีต้องเสียแม่ผู้ป่วยกระเสาะกระแสะมานานหลายปี เธอเปรียบเสมือนที่พึ่งทางใจคนสุดท้ายที่เหลืออยู่ของเขา แล้วชีวิตต่อจากนี้จะเหลืออะไรสำคัญอีกล่ะ นอกจากเพื่อนสนิทอย่างหมอกล้า และในฐานะที่ตนเป็นนักวิทยาศาสตร์ การได้อุทิศชีวิตตนช่วยเหลือเพื่อนให้งานวิจัยสำเร็จ น่าจะเป็นเป้าหมายเดียวที่เหลืออยู่ ฉะนั้น ในเมื่อรู้ว่าผีมีจริง เดี๋ยวฉันจะตายเอง แล้วกลับมาในฐานะวิญญาณผู้ร่วมทดลอง
ซีนตรงนี้เอง จึงกลายเป็นการก้าวล้ำเส้นเรื่องของ ‘ชีวิต’ แบบจริงๆ จังๆ จากนักวิทยาศาสตร์ผู้ยึดถือในหลักเหตุผล กลับเป็นฝ่ายก้าวสู่คำว่าสติเฟื่องเสียงั้น ซึ่งผู้ที่เคยชมและมาอ่านบทความนี้อาจจะคิดว่ามันคือการกระทำของตัวละครแบบ ‘อิหยังวะ’ มากๆ แต่ถ้ามองในมุมกลับกัน หากเรามีคนรักคนสำคัญเพียงหนึ่งเดียว แล้วเขาจากไปแบบไม่หวนคืน ภาวะบิดเบี้ยวของจิตใจจนเกิดอาการเสียสติย่อมใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เลย ทว่ามันยิ่งบิดเบี้ยวขึ้นไปอีก เมื่อเพื่อนรักทั้งสองกลับแย่งกันตายแทน ด้วยความที่เชื่อแบบสนิทใจว่า ไม่ว่าใครตายสุดท้ายก็จะกลับมาได้
นอกจากเรื่องการล้ำเส้นเรื่องของชีวิตแล้ว ‘ศีลธรรม’ และ ‘ความเชื่อ’ ในพุทธศาสนายังเป็นอีกสองประเด็นหลักที่ถูกหยิบยกขึ้นมา ในแง่ของศีลธรรม การทดลองที่ต้องแลกมาด้วยเลือดเนื้อย่อมไม่ใช่ผลดีเท่าไรนัก เพราะนั่นหมายความว่าคุณต้องแลกกับชีวิตที่เสียไปแล้วไม่มีวันหวนคืน หรือไม่สามารถรับผิดชอบผลการกระทำที่จะตามมาได้หลังคุณตายไปแล้ว โดยในภาพยนตร์ นอกจากการตายของหนึ่งในสองหมอแล้ว นับจากนั้นยังมีการทดลองให้วิญญาณเพื่อนปรากฏตัวด้วยวิธีเล่นกับความรู้สึกของครอบครัวผู้เสียชีวิตซึ่งนั่นแทบจะผิดจรรยาบรรณร้อยเปอร์เซ็นต์
สอง ในแง่ของพระพุทธศาสนา ‘การยึดติด’ (อุปาทาน) กับอะไรบางอย่างมากจนเกินไป สุดท้ายย่อมส่งผลให้ชีวิตสั่นคลอนได้ง่าย เช่นการที่ตัวละครทั้งสองเชื่อว่าผีมีจริง การจะทำให้ข้อพิสูจน์นี้เป็นจริง ต้องแลกกับอะไรก็ยอม จึงไม่ต่างจากการบั่นทอนจิตใจตัวเองไปจนถึงคนรอบข้างทีละเล็กทีละน้อย ฉะนั้น ตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา การปล่อยวางหรือการมองโลกความเป็นจริงแบบสามัญด้วยหลัก ‘อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา’ ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ไม่คงทน และไม่สามารถบังคับสิ่งใดให้ยั่งยืนตลอดไปได้ ในเมื่อคนเป็นมักไล่ให้ผีไปที่ชอบ แล้วใจของคนเป็นเองล่ะ เจอที่ชอบได้สนิทใจแล้วหรือยัง จุดนี้เองจึงเป็นประเด็นสำคัญในช่วงท้ายที่หนังถ่ายทอดออกมาได้ดีในระดับหนึ่ง
ถึงแม้ว่า ‘Ghost Lab ฉีกกฎทดลองผี’ จะเต็มไปด้วยฉากและแนวคิดของตัวละครแบบน่าฉงนหลายต่อหลายฉาก แต่อย่าลืมว่าในจักรวาลหนังเรื่องนี้เปิดมาด้วยคำว่า ‘ไซไฟ-ทริลเลอร์’ แนวคิด ‘การจำลอง’ ทดลองผีแบบเหนือจินตนาการสุดโต่งที่ผู้กำกับ กอล์ฟ ปวีณ ต้องการจะสื่อจึงพอจะเข้าใจได้ในระดับหนึ่ง ส่วนหนึ่งที่หนังเรื่องนี้ทำได้ดีแล้วคือแนวคิดที่สอดแทรกมา ทว่าความเข้มข้นของบทอาจจะไม่ถูกใจคอหนังผี หากเทียบกับผลงานเก่าๆ แบบ บอดี้..ศพ#19 หรือหนังตระกูล สี่แพร่ง ห้าแพร่ง เท่านั้นเอง อีกทั้งการโปรโมตยังมีส่วนทำให้ความคาดหวังสูงมากตามด้วยเช่นกัน
โปรเจ็กต์หนังสยองขวัญจาก GDH ยังเหลืออีกหนึ่งเรื่องกับเรื่อง ‘ร่างทรง’ ของ ‘โต้ง’ – บรรจง ปิสัญธนะกูล ที่ตัวอย่างหนังเพิ่งเปิดเผยออกมาซึ่งเรียกเสียงฮือฮาได้พอสมควร น่าสนใจว่า GDH จะลบคำสบประมาทจากแฟนหนังสยองขวัญชาวไทยได้หรือไม่ แต่อย่างน้อย การมาของภาพยนตร์เรื่อง Ghost Lab ก็เป็นนิมิตหมายอันดีว่าหนังผีไทยไม่ได้มีแต่ผีหลอกตุ้งแช่จำเจเสมอไป รวมถึงการได้ชมการแสดงสมบทบาทของ ต่อ ธนภพ และไอซ์ พาริส ที่แสดงให้เห็นว่า มาตรฐานนักแสดงจากค่าย GDH กับนาดาวบางกอกไม่เคยตกลงเลย
Fact Box
- ภาพยนตร์เรื่อง Ghost Lab ฉีกกฎทดลองผี คือภาพยนตร์สยองขวัญเรื่องที่ 4 ของผู้กำกับ ‘กอล์ฟ’ - ปวีณ ภูริจิตปัญญา ต่อจากเรื่อง บอดี้..ศพ#19 ปี 2550, สี่แพร่ง ตอน ยันต์สั่งตาย และห้าแพร่ง ตอน หลาวชะโอน โดยไอเดียภาพยนตร์เรื้องนี้เกิดจากการเวิร์กช็อปจับคู่ร่วมกับ ‘เต๋อ’ - นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ด้วยเหตุผลที่ว่า ในเมื่อทุกคนเชื่อว่าทุกที่มีผีอยู่จริง ส่วนใหญ่คนจะวิ่งหนี แล้วความจริงโลกหลังความตายหน้าตาเป็นอย่างไร ก่อนที่ไอเดียนี้จะชนะเลิศการประกวดเวิร์กช็อป และ GDH กับ Netflix Flim นำมาต่อยอดสร้างเป็นภาพยนตร์แบบจริงจัง