*Trigger Warning ความรุนแรงทางเพศ ความรุนแรงในครอบครัว การทำร้ายตัวเอง และการทำแท้ง

 

ทันทีที่ภาพยนตร์เรื่อง Blonde (2022) ถูกเผยแพร่ใน Netflix เสียงวิจารณ์ก็แตกออกเป็นสองฝั่งชัดเจน ทั้งฝั่งที่ชื่นชมและฝั่งที่เต็มไปด้วยความรู้สึกผิดหวัง

แต่ไม่ว่าจะยืนอยู่ฝั่งไหน เสียงส่วนใหญ่ต่างลงความเห็นว่างานภาพของผู้กำกับ แอนดรูว์ โดมินิก (Andrew Dominik) นั้นยอดเยี่ยม การหยิบจับโทนภาพแบบขาว-ดำ มาเล่าเคล้ากับการแสดงของ อนา เดอ อาร์มัส (Ana de Armas) ที่รับบทเป็นมอนโรก็เข้าขั้นสมบูรณ์แบบ ดนตรีประกอบก็มาได้ถูกที่ถูกเวลาเสมอ ทว่าข้อบกพร่องใหญ่ที่หลายคนลงความเห็นตรงกันคือพล็อตและการเล่าเรื่องที่อาจเรียกได้ว่าเข้าขั้น ‘ล้มเหลว’ จนก่อให้เกิดการตั้งคำถามตามมาว่าหนังเรื่องนี้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อที่จะสื่อถึงอะไร 

การตีความที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วหรือไม่ เราจะสามารถเรียกว่าเป็นชีวประวัติของ ‘มาริลีน มอนโร’ (Marilyn Monroe) อย่างเต็มปากเต็มคำได้จริงหรือ เพราะเสียงส่วนใหญ่ทั้งนักวิจารณ์หนังและผู้ชมทั่วไป ต่างลงความเห็นว่า Blonde ไม่ได้ที่บอกเล่าถึงชีวิตแท้จริงของมอนโร แต่เปรียบเสมือนแฟนฟิกของผู้กำกับ ที่สร้างสรรค์งานออกมาตามความเข้าใจของตัวเองเพียงเท่านั้น

อย่าเชื่อทุกอย่างที่เล่าใน Blonde เพราะทั้งหมดที่เห็นไม่ใช่เรื่องจริง”

 

ฝันร้ายในโลกขาว-ดำ และความเพ้อฝันในโลกความจริง 

อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่าความโดดเด่นของ Blonde คือ งานภาพ ดนตรีประกอบ และ มาริลีน มอนโร

อย่างแรกที่ผู้เขียนรู้สึก ตลอดระยะเวลาเกือบสามชั่วโมง อนา เดอ อาร์มัส เป็นมาริลีนที่ยอดเยี่ยม เธอทำให้รู้สึกเชื่อว่าหญิงสาวผมบลอนด์มากด้วยเสน่ห์คนนี้คือมอนโร ประกอบกับการแสดงออก ท่าทาง แววตา ที่สื่อถึงความรู้สึกในห้วงอารมณ์ต่างๆ จนถูกเรียกว่าเป็นหนึ่งในผลงานที่พิสูจน์ความสามารถด้านการแสดงของอาร์มัสได้เป็นอย่างดี

งานภาพและการวางองค์ประกอบศิลป์ถือว่าสร้างความประทับใจได้ไม่น้อย การเล่นแสง มุมกล้องแปลกตา การปรับโทนสีของภาพที่พักหนึ่งเป็นแบบสี แล้วค่อยตัดมาเป็นแบบขาว-ดำ ที่ทั้งหมดถ่ายทำด้วยกล้องฟิล์ม ทำให้เชื่อว่าเรากำลังรับชมเรื่องราวชีวิตของผู้คนยุค 50-60s เคล้ากับความรู้สึกในห้วงเวลาเดียวกันว่าทั้งหมดนี้เป็นเหมือนกับละครเหนือจริง ทั้งบทพูด ท่าทางที่พวกเขาแสดงออก และดนตรีประกอบชวนให้หดหู่ล่องลอย 

Blonde ใช้อัตราส่วนภาพ 4 แบบ ที่เป็นส่วนสำคัญในการสร้างความโกลาหลให้กับเรื่องราว ทั้งการใช้อัตราส่วนแบบ 1:1 ที่เรียกกันง่ายๆ ว่าสี่เหลี่ยมจัตุรัส ก่อนจะสลับเป็น 1.37:1 สักพักก็ใช้อัตราส่วน 1.85:1 ให้บรรยากาศไม่กว้างเกินไปและไม่แคบเกินไป แล้วก็สลับมาใช้อัตราส่วนแบบ 2.39:1 ทำให้บรรยากาศดูกว้างขึ้น ซึ่ผู้กำกับเลือกสลับอัตราส่วนภาพไปมาตลอดการเล่าเรื่อง

แต่สิ่งที่ติดค้างอยู่ในใจและแปร่งในความรู้สึก คือการเล่าเรื่องที่กระโดดไปมา ไม่ปะติดปะต่อ และการสื่อความบางอย่างที่อาจจะทำให้ผู้ชมบางกลุ่มตั้งคำถามถึงสิ่งที่พวกเขากำลังรับชม เพราะอย่างที่รู้กันดี Blonde ไม่ใช่หนังชีวประวัติของมอนโร แต่นำเรื่องราวส่วนใหญ่มาจากนวนิยายความยาว 700 หน้า ในชื่อเรื่องเดียวกันของจอยซ์ แคโรล โอทส์ (Joyce Carol Oates) ที่วางจำหน่ายเมื่อปี 2000 หลังจากมอนโรเสียชีวิตได้ 38 ปี

แม้ตัวละครในนวนิยายจะเป็นบุคคลที่มีตัวตนจริง แต่เรื่องราวทั้งหมดคือการเสริมเติมแต่งเพิ่มใหม่จากการหยิบจับข่าวฉาว ข้อสันนิษฐาน หรือทฤษฎีสมคบคิดหลากหลาย มาประกอบร่างเป็นนิยายโรแมนติก-ดราม่า คู่กับการพยายามจะสื่อให้เห็นถึงปัญหาการกดขี่สตรีในแวดวงฮอลลีวูด ผลกระทบของเด็กที่ถูกเลี้ยงมาแบบละเลย ความรุนแรงในครอบครัว และการล่วงละเมิดทางเพศ ไปจนถึงการเสียดสีที่ฮอลลีวูดได้สร้างคาแรกเตอร์สาวผมบลอนด์สวยแต่ไม่ฉลาด

 

Blonde ไม่ใช่ชีวประวัติ แต่เป็นเพียงแฟนฟิกชีวิตมอนโร

มีหลายคนเข้าใจผิดไปว่า Blonde เป็นภาพยนตร์ชีวประวัติของมอนโร เรียกว่าผลงานนี้เป็นสารคดีของเธอ ทั้งที่บทกับชีวิตจริงของมอนโร แทบจะไม่มีความเหมือนอย่างที่หนังตีความไว้ 

ยกตัวอย่างเช่น แม่ของมอนโรที่เป็นโรคประสาทและมีอาการหวาดระแวงจริงตามที่หนังว่าไว้ แต่ไม่มีใครรู้ว่าแม่ของเธอเคยทุบตี ทำร้าย หรือจับเด็กหญิง นอร์มา จีน (Norma Jeane) กดลงในอ่างน้ำเหมือนอย่างที่ภาพยนตร์บอกเล่าหรือไม่

การเล่าเรื่องว่าเธอใช้ชีวิตอยู่กับแม่ที่มีอาการทางจิตขั้นหนัก คล้ายกับต้องการสื่อให้เห็นว่าการเลี้ยงดูจากคนที่ไม่ปกติคือส่วนสำคัญที่หล่อหลอมให้เด็กหญิง ‘นอร์มา จีน’ เติบโตมาเป็น ‘มาริลีน มอนโร’ พร้อมกับปมปัญหามากมายในจิตใจ ซึ่งจากข้อมูลหลายชิ้นระบุว่าแม่ของมอนโรไม่ได้เทิดทูนผู้เป็นสามีอย่างเพ้อพกเหมือนในภาพยนตร์ ไม่ได้ติดหล่มความรักที่ล้มเหลว แต่ยังเปิดโอกาสใหม่ๆ ให้กับตัวเองด้วยการแต่งงานอีก 3 ครั้ง

อีกประเด็นที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคงหนีไม่พ้นความสัมพันธ์ระหว่างมอนโรกับ จอห์น เอฟ. เคเนดี (John F. Kennedy) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ในหนังตีความชัดเจนไปเลยว่าพวกเขาสองคนมีสัมพันธ์สวาท มีฉากออรัลเซ็กซ์ที่ชวนอึดอัด ซึ่งในแง่ความเป็นจริง เรื่องราวความสัมพันธ์ของทั้งสองคนก็ยังไม่มีใครกล้าการันตีขนาดนั้น

รวมไปถึงการตั้งคำถามว่าทำไมผู้กำกับถึงมองว่ามอนโรเป็นผู้หญิงที่เพ้อฝัน เปี่ยมด้วยอารมณ์ มีความต้องการทางเพศสูง ปล่อยตัวปล่อยใจไปกับชายมากหน้าหลายตามากขนาดนั้น หรือเพราะเน้นตามคอนเซ็ปต์ภาพจำว่าเธอเป็นสัญลักษณ์ทางเพศ (Sex Symbol) ที่สวย เซ็กซี่ และดึงดูดผู้คน

ตลอดทั้งเรื่อง ภาพยนตร์เหมือนจะเน้นย้ำว่ามอนโรเป็นหญิงสาวที่บอบช้ำและมีปัญหาทางจิตใจ เธอมีความคิดและการกระทำหลายอย่างที่บิดเบี้ยว แล้วสื่อออกมาเป็นภาพชวนให้รู้สึกอึดอัดปนสยดสยอง เคล้าด้วยการเปลือยกาย เซ็กซ์ ภาพจำแบบสาวผมบลอนด์ไร้สติ และความเซ็กซี่ ที่หยิบมาใช้วนไปวนมา

ในแง่ความเป็นจริง มอนโรถือเป็นผู้หญิงที่มีความคิดหัวก้าวหน้าพอสมควรในยุคนั้น เธอเขียนบทกวี อ่านงานของ คอนสแตนติน สตานิสลาฟสกี (Konstantin Stanislavski) และ ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) นักประสาทวิทยาชาวออสเตรียผู้เป็นบิดาแห่งจิตเวชวิเคราะห์ (แม้ปัจจุบันงานของเขาถูกตีในหลายแง่มุม แต่หากเทียบกับยุคนั้น ถือว่ามอนโรเป็นนักอ่านผลงานหลากหลายด้านและมีหนังสืออยู่ในบ้านมากกว่า 400 เล่ม) และถูกนักสตรีนิยมในยุคหลังให้การยอมรับว่ามอนโรเป็นผู้หญิงที่กล้าทำหลายเรื่องในขณะที่ผู้หญิงในยุคเดียวกันไม่กล้าทำ เช่น การพูดถึงสิทธิเท่าเทียมทางเพศและชนชั้น การแสดงจุดยืนต่อต้านเรื่องนิวเคลียร์ และผลักดันสิทธิในเรือนร่างของเหล่าสตรีที่กำลังลังเลว่าการใส่กางเกงขาสั้นออกจากบ้านเป็นเรื่องที่เหมาะสมหรือไม่ เพราะผู้หญิงก็ควรจะมีสิทธิสวมใส่เครื่องแต่งกายอะไรก็ได้ที่พวกเธออยากใส่ 

ผู้กำกับไม่ได้สนใจประเด็นเหล่านี้ เพิกเฉยต่อความเป็นเฟมินิสต์และความสำเร็จในชีวิตของมอนโร แต่เลือกนำเสนอภาพจำเดิมๆ อย่างความเย้ายวนทางเพศ ความเจ็บป่วยจากโรคซึมเศร้า การทำแท้ง ข่าวเสียหายเกี่ยวกับการป่วนกองถ่าย ข่าวฉาวกับผู้ชาย และการเป็นเหยื่ออารมณ์ของผู้คนที่อยู่รอบตัวเธอ บิดเบือนชีวิตของนักแสดงสาวโดยใช้คำว่า ‘อ้างอิงจากนวนิยาย’ มาสร้างสรรค์ผลงาน ในประเด็นนี้คือส่วนหนึ่งที่สร้างความกระอักกระอ่วนใจให้กับผู้เขียนขณะที่รับชม จนต้องตั้งคำถามว่า “นี่เรากำลังดูอะไรอยู่?”

บางความคิดเห็นมองว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ย้ำเตือนว่ามีผู้หญิงจำนวนมากในฮอลลีวูด เคยประสบพบเจอกับการล่วงละเมิดทางเพศ การที่จะต้องยอมมีเพศสัมพันธ์กับผู้จัดชาย โปรดิวเซอร์ชาย หรือใครก็ตามในวงการที่มีอำนาจมากกว่า และถูกจัดแจงให้เป็นเพียงสัญลักษณ์ทางเพศ ที่ถูกมองว่าเป็นเรื่องที่ปฏิบัติกันทั่วไปในอุตสาหกรรมนี้ 

หากเอ่ยว่า Blonde กำลัง ‘จงใจ’ ทำให้ผู้ชมขมวดคิ้ว รู้สึกกระอักกระอ่วนใจ และหลายฉากหลายตอนที่ไม่มีความสมจริงชวนให้ตั้งคำถามกับสิ่งที่เห็นอยู่ตลอดเวลา เป็นผลมาจากความตั้งใจของผู้กำกับที่ต้องการนำเสนอเรื่องราวเกือบสามชั่วโมงให้บิดเบี้ยวไม่สมบูรณ์ เนื่องจากทั้งหมดถูกเล่าผ่านเลนส์ของมอนโรที่มีสภาพจิตใจไม่คงที่ ตัดสลับภาพสีกับภาพขาว-ดำ ที่เปรียบเทียบระหว่างโลกแห่งความเป็นจริง กับโลกละครที่มอนโรสร้างขึ้นมาในหัว ก็คงจะพอทำให้เรามองเห็นภาพยนตร์เรื่องนี้มากขึ้นอีกนิด

เพราะ Blonde อาจเป็นการนำเสนอ มาริลีน มอนโร ในแบบที่ผู้กำกับมองเห็น โดยที่ยังไม่ต้องถกเถียงกันต่อว่ามุมมองนั้นเป็นมุมมองที่ถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งมุมที่เขามองก็คงจะแตกต่างจากหลายคนที่มองมอนโร ทว่าในขณะเดียวกัน การเอาชื่อเสียง อัตลักษณ์ และเรื่องราวที่เป็นจริงบางส่วนของคนที่มีตัวตนจริงมาผสมกับฟิกชัน และมุมมองที่ค่อนข้างส่วนตัว อาจทำให้ผู้ชมก็มีสิทธิทวงถามต่อได้ว่าผู้กำกับสร้างหนังเรื่องนี้ขึ้นมาเพื่ออะไร หรือเขาต้องการจะให้หนังเรื่องนี้สื่อถึงสิ่งใดกันแน่?’

 แต่ทั้งหมดทั้งมวลที่เล่าใน Blonde ก็ไม่ใช่เรื่องราวชีวิตของ มาริลีน มอนโร แบบร้อยเปอร์เซ็นต์อยู่ดี

 

มรดกจากฮอลลีวูดที่ถูกหล่อหลอมโดยแนวคิดชายเป็นใหญ่?

ไม่นานหลังออกฉายก็เกิดเสียงวิจารณ์หลายแง่ เริ่มจากคะแนนรีวิวในเว็บไซต์ Rotten Tomatoes ที่ค่อนข้างต่ำทั้งในฝั่งของนักวิจารณ์และผู้ชมทั่วไป ส่วนสำนักข่าวและเว็บไซต์เกี่ยวกับภาพยนตร์จำนวนมากต่างพากันเขียนบทความวิจารณ์ในหลายแง่มุม 

เกิดการตั้งคำถามว่าสิ่งที่เกิดขึ้นใน Blonde คือผลผลิตของการแสดงอำนาจจ้องมองของผู้ชาย (male gaze) หรือไม่ ทำไมทีมผู้สร้างถึงเลือกที่จะนำเสนอว่ามอนโรมีสภาพไม่ต่างจากวัตถุทางเพศ เน้นย้ำถึงการเติบโตมาอย่างบิดเบี้ยว ประสบความสำเร็จใจชีวิตแต่ก็ล้มเหลวในการใช้ชีวิต ตกเป็นเหยื่อให้ชายจำนวนมากในวงการรุมทึ้งผลประโยชน์จากเธอผ่านการนำเสนอเรื่องการถูกทอดทิ้ง ถูกทารุณกรรม ข่มขืน ทุบตี หรือแม้กระทั่งประเด็นเรื่องการทำแท้ง จนเว็บไซต์ collider ตั้งข้อสันนิษฐานว่า

“ผลงานเรื่องนี้อาจเป็นตัวอย่างที่ทำเห็นได้อย่างชัดเจนหรือไม่ว่า ฮอลลีวูดยังคงมีผู้กำกับที่เกลียดชังเพศหญิง ไม่ต้องการจะเห็นว่าผู้หญิงประสบความสำเร็จ และพอใจที่จะเห็นผู้หญิงเหล่านั้นถูกลงโทษ”

ยังมีการตั้งคำถามถึงฉากโป๊เปลือยที่เผยให้เห็นบ่อยครั้ง เนื่องจาก อนา เดอ อาร์มัส ต้องเปลือยกายมากถึง 1 ใน 3 ของเรื่อง เกิดความก้ำกึ่งว่าจะมองสิ่งนี้ให้เป็นอาร์ตได้ขนานนั้นไหม หรือสิ่งที่เกิดขึ้นก็เป็นเพียงแค่การมองสตรีเป็นวัตถุทางเพศเหมือนในสมัยก่อน แต่กลับผลิตซ้ำวาทกรรมเก่าล้าสมัย การตีความในมุมเดียวที่ไม่ควรจะพูดถึงอีกแล้วในโลกยุคใหม่ ที่ความคิดของผู้คนในสังคมได้เปลี่ยนไปจากเดิม

ผู้ชมบางกลุ่มยังแสดงความคิดเห็นถึงประเด็นการทำแท้ง คาดเดาว่านอกจาก male gaze ผู้กำกับยังมีทัศนคติต่อต้านการทำแท้งด้วยหรือไม่ แล้วสื่อความคิดนั้นของตัวเองออกมาผ่านงานเรื่อง Blonde ทั้งฉากที่เล่นกับภาพ CGI ตัวอ่อนในท้องของมอนโร ซึ่งหากเทียบกันในความเป็นจริงในการท้องครั้งแรก เด็กจะยังไม่เติบโตจนมีรูปร่างชัดเจนขนาดที่นำเสนอในเรื่อง ก่อนเล่าต่อว่าเธอทำแท้ง เหมือนกับว่าเธอตัดสินใจฆ่าตัวอ่อนที่เติบโตมากพอดูแล้ว 

ไหนจะการเน้นถึงอาการหลอนและความเจ็บปวดจากการสูญเสีย ที่สะท้อนผ่านฉากที่มอนโรเข้าร่วมชมผลงานรอบปฐมทัศน์ของตัวเองแล้วได้รับเสียงปรบมือ แต่กลับถามตัวเองว่า “เธอฆ่าลูกเพื่อสิ่งนี้หรือ” มาจนถึงการตั้งท้องครั้งที่สอง มีเสียงเด็กผู้หญิงกระซิบถามขึ้นในหัวว่า ‘ครั้งนี้แม่จะไม่ทำร้ายหนูใช่ไหม ไม่ทำเหมือนที่แม่ทำครั้งก่อนใช่ไหม’

ไม่เพียงเท่านี้ แฟนคลับของมอนโรที่รับชมยังเอ่ยถึงอีกประเด็นน่าสนใจ การหยิบจับบุคคลที่เคยมีชีวิตจริงมาตีความใหม่ เล่าเรื่องในแง่ความรู้สึกลักลั่น ความไม่ปกติทางจิตใจ จับเปลื้องผ้าเปลือยกาย แล้วเล่าถึงการถูกล่วงละเมิดทางเพศซ้ำๆ เป็นสิ่งที่เหมาะสมหรือไม่

ผู้ใช้งานทวิตเตอร์ดังกล่าวได้อ้างอิงข้อมูลจากบทความหนึ่ง เคยมีทีมสร้างหนังขอให้มอนโรมารับบทเป็น จีน ฮาร์โรล (Jean Harlow) นักแสดงชื่อดังที่สร้างแรงบันดาลใจให้นอร์มา จีน เพื่อที่จะทำหนังชีวประวัติ แต่มอนโรได้ปฏิเสธคำขอนั้นไป พร้อมกับแสดงความคิดเห็นว่า

“I hope they don’t do that to me after I’m gone” 

(ฉันหวังว่าพวกเขาจะไม่ทำแบบนั้นกับฉัน หลังจากที่ฉันตายไปแล้ว)

หากเธอเคยเอ่ยเช่นนั้นจริงๆ ข้อความดังกล่าวก็ไม่ถูกรับฟังแต่อย่างใด 

 

อ้างอิง

https://screenrant.com/why-blonde-movie-changes-from-black-white-to-color/

https://www.vanityfair.com/hollywood/2022/09/blonde-is-the-new-marilyn-monroe-movie-a-pro-life-fever-dream

https://www.hollywoodreporter.com/movies/movie-news/planned-parenthood-blonde-abortion-1235231175/

https://collider.com/blonde-marilyn-monroe-movie-ana-de-armas-andrew-dominick/

https://www.filminquiry.com/blonde-2022-review/

https://movieweb.com/blonde-explained-good-bad-movie/

https://www.vulture.com/2022/09/whats-fact-and-whats-fiction-in-netflixs-blonde.html

https://feminisminindia.com/2022/10/05/netflixs-blonde-reinforces-marilyn-monroe-as-a-sex-symbol-without-deconstructing-the-gaze/

https://twitter.com/remainsoflilies/status/1575401987692175361?s=20&t=tpCzAy7BF9gaRMqaQ5EXSQ 

https://www.gamesradar.com/blonde-netflix-marilyn-monroe-biopic/

 

Tags: , , , , , , , , , , , , , , , , , , ,