สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนมั่นใจคือ สำหรับใครก็ตามที่โตมากับการอ่านมังงะ Slam Dunk (1990-1996) ของ ทาเคฮิโกะ อิโนะอุเอะ ลำพังฉากเปิดด้วยลายเส้นขาวดำของกลุ่มนักบาสเก็ตบอลมัธยมปลายโชโฮคุของ The First Slam Dunk (2022) คงทำหลายคนน้ำตาซึมน้ำตาร่วงกันได้ไม่ยาก อย่างน้อยๆ ก็ผู้เขียนแล้วหนึ่ง
พูดแบบเรียบง่ายที่สุด พื้นที่ในหัวใจของผู้เขียน และอาจจะอีกหลายๆ คน ในช่วงหนึ่งถูกยึดครองโดยมังงะ Slam Dunk มายาวนานนับสิบปี ชนิดว่าพูดชื่อแล้ว สามารถนึกหลายฉากหลายตอนออกมาได้เอง โดยไม่ต้องออกแรงเค้น และอีกกับหลายๆ คน นี่ก็อาจเป็นมังงะที่เป็น ‘คอมฟอร์ตโซน’ ให้หวนกลับไปอ่านซ้ำอยู่บ่อยครั้ง แม้จะรู้ดีว่าการแข่งขันแต่ละนัดจบลงอย่างไร นำไปสู่อะไรใหม่บ้าง แต่ Slam Dunk ก็ยังทรงพลังในแง่การเล่าเรื่องบางประการเสมอ
Slam Dunk ได้รับการตีพิมพ์เป็นครั้งแรกทางนิตยสารโชเน็นจัมป์ ว่าด้วยเรื่องชมรมบาสเก็ตบอลของโรงเรียนโชโฮคุในจังหวัดคานางาวะ สถานที่อันปลุกปั้น ซากุรางิ เด็กหนุ่มมัธยมปลายผู้ย้อมผมเป็นสีแดงแจ๋ ใช้เวลาส่วนใหญ่ในรั้วโรงเรียนไปกับการทะเลาะวิวาท กลับต้องมาจับพลัดจับผลูมาเข้าร่วมทีมเพราะหวังอยากได้ใจสาวผู้มี อาคางิ พี่ชายจอมเฮี้ยบเป็นกัปตันทีมบาสเก็ตบอล เส้นเรื่องในมังงะจึงเริ่มขึ้นจากความทุลักทุเลของซากุรางิที่ต้องหัดกิจกรรมพื้นฐานด้านกีฬาสารพัดอย่าง กระนั้น แม้จะมองด้วยสายตากึ่งรำคาญใจ แต่อาคางิก็ไม่ปฏิเสธพลังช้างสารและการกระโดดสูงลิ่วซึ่งดูจะเป็นพรสวรรค์ติดตัวของเจ้าหนุ่มหัวแดงมาตั้งแต่ต้น
และกลายเป็นว่า การเข้ามาของนักกีฬาหัวแดง ทำให้ทีมบาสเก็ตบอลโชโฮคุที่ดูจะไม่ค่อยมีอนาคตเท่าไรนัก ก็ดูค่อยๆ มีความหวังขึ้นมาเสียอย่างนั้น รุคาว่า เด็กหนุ่มชั้นเดียวกันกับซากุรางิที่เป็นดาวเด่นด้านบาสเก็ตบอลมาตั้งแต่มัธยมต้น และแม้จะมีนิสัยไม่ค่อยเอาใคร หวงบอล ทะเยอทะยานยากจะหาใครเทียบ ทั้งยังต่อยตีกับซากุรางิอยู่เนืองๆ แต่ก็เป็นหัวใจสำคัญในการทำแต้มของทีมเสมอมา, มิยางิ พอยต์การ์ดร่างเล็กที่ใช้เวลาส่วนใหญ่นอกคอร์ดอยู่กับการแลกหมัดใส่คนที่เข้ามาหาเรื่อง และ มิสึอิ การ์ดตัวทำแต้มที่แม่นยำเรื่องการยัดห่วงสามคะแนนกว่าใคร ผู้เคยได้รับบาดเจ็บจนตัดใจเลิกเล่นกีฬาแล้วไปร่วมแก๊งนักเลงนอกโรงเรียน อันกลายเป็นแผลใหญ่เมื่อเขาหวนกลับมาเล่นบาสเก็ตบอลอีกครั้ง กับสภาพร่างกายที่ห่างกายจากการฝึกซ้อมไปร่วมสองปีจนส่งผลต่อความทนทาน
Slam Dunk จึงว่าด้วยเรื่องของ ‘ทีมบาสเก็ตบอลเด็กเก’ เล่าเรื่องผ่านสายตาซากุรางิที่เป็นนักกีฬามือใหม่ผู้มองทุกอย่างด้วยสายตาใคร่รู้ อันเป็นเลนส์สำคัญที่คนอ่านจะได้เห็นด้วย ทั้งมันยังครบสูตรมังงะกีฬาที่พูดถึงชาว ‘มวยรองบ่อน’ ที่ดูไม่ค่อยมีแต้มต่ออย่างทีมอื่นเขา ซึ่งได้กลายเป็นมวลที่คลุมองก์ท้ายของเรื่องไว้ เมื่อทั้งทีมกัดฟันสู้เอาชนะจนคว้าตั๋วได้ไปแข่งอินเตอร์ไฮ หรือการแข่งบาสเก็ตบอลระดับประเทศของเหล่าเด็กมัธยมปลาย อันเป็นความฝันสูงสุดของอาคางิและเหล่านักกีฬาชั้นปีที่สามหลายๆ คน โดยเฉพาะเมื่อโชโฮคุต้องเผชิญหน้ากับ เทคโนฯ ซังโน ทีมบาสเก็ตบอลชายระดับชั้นมัธยมปลายที่เก่งที่สุดของประเทศ และการแข่งขันนัดนี้ก็กลายเป็นหนึ่งในฉากที่หลายคนโหวตให้เป็นฉากที่ดีที่สุดฉากหนึ่งของจักรวาลมังงะ
และอนิเมะ The First Slam Dunk ก็เล่าเรื่องโดยมีการแข่งขันนี้เป็นฉากหลัง หากแต่เล่าผ่านเรื่องราวของ มิยางิ พอยต์การ์ดซึ่งโดยตำแหน่งแล้วคือคนที่เห็นรูปแบบเกมทั้งสนาม และโดยคาแร็กเตอร์ซึ่งมีเส้นเรื่องเก่าในมังงะบางที่สุด การสร้างเส้นเรื่องของเขาจึงง่ายกว่าตัวละครที่มีพื้นหลังมาแล้วอย่างสมาชิกทีมคนอื่นๆ อีกทั้งยัง ‘ทำงาน’ กับเส้นเรื่องของการแข่งขัน เมื่อโดยตำแหน่งแล้วเขาเป็นคนที่คอยคุมเกมรุกและรับในภาพรวมทั้งหมด
The First Slam Dunk ขยายภาพชีวิตของมิยางิ เด็กชายจากโอกินาว่าเมืองติดทะเล ที่เพิ่งสูญเสียพ่อไปและตัวติดกับ โชตะ พี่ชายซึ่งเป็นนักกีฬาบาสเก็ตบอลอนาคตไกล กระทั่งเมื่ออุบัติเหตุพรากพี่ชายไปอีกคน เหลือไว้เพียงเขากับน้องสาวและแม่ผู้เงียบขรึม ทั้งยังต้องย้ายที่อยู่จากโอกินาว่ามายังคานางาวะซึ่งเป็นเมืองใหญ่และแออัด ความสัมพันธ์ระหว่างเขากับแม่อาจไม่ถึงขั้นย่ำแย่แต่ก็พูดได้ว่าเหินห่าง และไม่ช้าไม่นาน ทั้งหมดนี้นำพาชีวิตเรียวตะไปสู่การเป็นเด็กเกหลังห้อง ทว่า ก็ยังเหนียวแน่นอยู่กับการเล่นบาสเก็ตบอลซึ่งพาเขาไปเจออาคางิ รุ่นพี่ที่แม้จะปากคอเราะร้ายทั้งยังเจ้าระเบียบจนชวนเวียนหัว หากก็เป็นเพียงคนเดียวที่เชื่อมั่นในตัวเขา
หนังสำรวจบาดแผลการจากไปของโชตะได้อย่างละมุนละไม ทว่าก็ชวนร้าวรานใจ เพราะมิยางิผู้เป็นน้องรู้สึกเสมอว่าการดำรงอยู่ของเขาในฐานะลูกชายคนรอง และในฐานะเด็กหนุ่มที่เล่นบาสเก็ตบอล คือแผลแทงหัวใจแม่เสมอเพราะด้านหนึ่ง
สำหรับเขาแล้ว เขาไม่มีวันเป็นได้แบบโชตะผู้พี่ ไม่ว่าจะในฐานะลูกหรือในฐานะนักกีฬาบาสเก็ตบอลเองก็ตามที และเขาก็ตระหนักดีว่า การหมกมุ่นอยู่กับบาสเก็ตบอล ซึ่งเป็นเสมือนเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของเขา อีกด้านคือการเป็นคมมีดที่คอยย้ำเตือนแม่ถึงโชตะเสมอ ซึ่งในความเจ็บช้ำ ความรวดร้าวกล้ำกลืนของมิยางิ เขาก็รู้ดีอยู่แก่ใจว่าแม่เขาเสียสละเพียงใด ที่ไม่พรากบาสเก็ตบอลอันเป็นที่รักไปจากเขา แม้ว่าการมีอยู่ของมันจะทำให้แม่เศร้าโศกมากก็ตามที
เป็นครั้งแรกที่ ทาเคฮิโกะ อิโนะอุเอะ ผู้ให้กำเนิดมังงะ Slam Dunk มากำกับเองร่วมกับ ยาสึยุกิ อิบาระ คนทำอนิเมะผู้เจนสนามสายอนิเมะที่ออกฉายเป็นตอนๆ กล่าวจากภาพรวมแล้ว The First Slam Dunk จึงเป็นเสมือนสนามประลองมือแห่งใหม่ของคนทั้งสอง ซึ่งแน่นอนว่าผลลัพธ์ที่ออกมานั้นงดงามและหมดจดอย่างยิ่ง โดยเฉพาะบทที่อิโนะอุเอะเขียนเอง เขาจึงดัดแปลงบทบางประการให้ต่างออกไปจากต้นฉบับมังงะได้อย่างอิสระ ทว่าก็ยังหลงเหลือร่องรอยบางอย่าง เพื่อไม่ให้รสชาติเปลี่ยนจนจำไม่ได้ โดยเฉพาะฉากการแข่งขันระหว่างโชโฮคุกับซังโนที่ยังเดือดดาลและทรงพลังเท่าต้นฉบับ เพียงแต่หนังจำต้องเลือกตัดตัวละครรายล้อมออกไปหมด เช่นเหล่านักกีฬาจากคานางาวะที่เป็นไม้เบื่อไม้เมา ทว่าก็เข้ารอบอินเตอร์ไฮมาด้วยกัน และหากใครเคยอ่านมังงะ ก็คงพบว่าตัวละครเหล่านี้ร่วมลุ้น ร่วมเชียร์โชโฮคุสุดหัวใจ (จนแทบจะลงมาเล่นเองอยู่แล้ว) หรือ อุโอสึมิ กัปตันแห่งมัธยมเรียวนัน ที่ตามเส้นเรื่องแล้วเป็นเสมือนคู่ปรับและเป็นเสมือนกระจกอีกด้านของอาคางิ ผู้เตือนสติอาคางิผู้หมดพลังด้วยปรัชญาแห่งการทำอาหาร ซึ่งเพื่อไม่ให้ The First Slam Dunk ไกลตัวคนที่ไม่เคยอ่านมังงะมาก่อน จึงต้องตัดตัวละครเหล่านี้แล้วเส้นเรื่องอื่นขึ้นมาทดแทน
อย่างไรก็ดี ลำพังตัวมังงะ Slam Dunk ก็มีวิธีการเล่าเรื่องที่เน้นงานภาพคล้ายภาพยนตร์อยู่สูงตั้งแต่เป็นมังงะ โดยเฉพาะฉากการแข่งขันช่วงองก์ท้ายๆ ที่เล่าได้อย่างชวนใจหายใจคว่ำกับงานภาพแสนตราตรึง เช่น ฉากที่ซากุรางิลอยตัวขึ้นบล็อกลูกจากซังโนจนลูกบาสกระดอนใส่เท้าแล้วพุ่งขึ้นมาเป็นเส้นเข้าสายตาผู้อ่าน (ซึ่งถ้าเทียบแล้วก็เหมือนการวางเฟรมการกำกับภาพ) หรือการเล่าเรื่องโดยปราศจากตัวอักษรในนาทีท้ายๆ ของการแข่งขันที่ชวนให้นึกถึงเทคนิคการตัดต่อชวนให้เลือดเนื้อเดือดพล่าน และน่าจะเป็นฉากที่หลายคนจดจำหรืออาจจะน้ำหูน้ำตาไหลไปกับชาวโชโฮคุ อย่างที่ผู้เขียนเคยเป็นเมื่อครั้งแรกที่ได้อ่านก็ได้ ซึ่งในเวลาต่อมา ก็น่าสนใจว่าการออกแบบงานภาพลักษณะนี้ ยังปรากฏในมังงะลำดับถัดไปของอิโนะอุเอะอย่าง Vagabond ด้วย
หากจะมีสักสิ่งเดียวที่อยากขอติติงไว้คือ ลีลาการแปลคำบรรยายภาษาไทยที่ถือได้ว่าฉุดรั้งความดีงามของภาพยนตร์ราวกับหินก้อนยักษ์ นอกเหนือจากแปลผิดความหมายแล้ว ยังใช้ศัพท์กระโดดไปมาหรือใช้สรรพนามไม่อยู่กับร่องกับรอยตลอดทั้งเรื่อง
ถึงที่สุด The First Slam Dunk คือหนึ่งในอนิเมะชั้นยอดอย่างไม่ต้องสงสัย มันไม่เพียงแต่โอบอุ้มหัวใจเหล่า (อดีต) เด็กๆ ที่เคยอ่านมังงะต้นฉบับจนชวนน้ำตาเอ่อตั้งแต่ฉากเปิดเรื่อง หากแต่หนังก็ยังทรงพลังในตัวของมันเองด้วยเส้นเรื่องที่ว่าด้วยการเติบโต การรับมือความสูญเสีย และการข้ามพ้นวัยของตัวละครนักกีฬาโชโฮคุผู้เป็นที่รักเหล่านั้น
สมแล้วที่ในอีกสองทศวรรษหลังมังงะจบลง มันจะยังยึดครองพื้นที่ในหัวใจของหลายๆ คนจนถึงปัจจุบัน
Tags: Slam Dunk, The First Slam Dunk, บาสเกตบอล, Screen and Sound