1

ทศวรรษที่ผ่านมา ภาพยนตร์แนวซูเปอร์ฮีโรได้รับความนิยมอย่างยิ่ง โดยเฉพาะจาก 2 ค่ายใหญ่ที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ซูเปอร์ฮีโรมากมายอย่าง มาเวล (Marvel) และดีซีคอมิกส์ (DC) รวมไปถึงค่ายเล็กที่นำเสนอฮีโรของตนเองออกมา ทั้งที่เป็นภาพยนตร์และซีรีส์ ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ภาพยนตร์แนวซูเปอร์ฮีโรต้องคำนึงอยู่เสมอคือ การหาตัวนักแสดงมารับบทบาทนำต้องพอเหมาะพอดี ไม่เช่นนั้น จากรุ่งอาจกลายเป็นร่วงในพริบตา 

เนื่องจากนักแสดงที่เข้ามารับบทเป็นซูเปอร์ฮีโรครั้งหนึ่ง ยิ่งการแสดงและรายได้ภาพยนต์เข้าตากรรมการและคนดู ภาพตัวตนของซูเปอร์ฮีโรย่อมติดตาผู้ชมไปอีกนาน ยกตัวอย่างเช่น ฮิวจ์ แจ็กแมน (Hugh Jackman) ที่รับบทบาทวูล์ฟเวอร์รีนถึง 17 ปีเต็ม เรียกได้ว่าแทบจะสลัดภาพของยอดมนุษย์ร่างบึกบึนมือปราบเหล่าวายร้ายที่ซ้อนทับอยู่ในตัวเขาออกไปได้ยาก

ฮิวจ์ แจ็กแมน เคยกล่าวในบทสัมภาษณ์ช่วงที่เขากำลังโปรโมตภาพยนตร์แฟรนไชส์ X-mens เป็นเรื่องสุดท้ายอย่าง LOGAN (2017) ว่า 17 ปี เป็นช่วงเวลายาวนานที่ต้องรับบทบาทนั้น ทั้งในและนอกจอ เมื่อเจอแฟนคลับก็มักถูกเรียกว่า วูล์ฟเวอร์รีน ถึงแม้เขาจะมีความสุขกับการเป็นมนุษย์หมาป่ามาตลอด แต่ในใจลึกๆ ก็กังวลว่า แฟนคลับกำลังเชิดชูตัวตนของเขากับยอดมนุษย์ซูเปอร์ฮีโรที่ซ้อนทับกันอยู่มากเกินไป

“ถึงแม้ผมจะมีความสุขมาก แต่แน่นอนว่าผมจะไม่กลับไปเล่นอีก ผมรับบทนี้มา 17 ปีและมันทำให้ผมเป็นประสาทเหมือนกัน เพราะผมกลัวว่า วันหนึ่ง คนจะจำผมในชื่อวูล์ฟเวอรีนมากกว่าตัวผม แล้วถ้าผมทำอะไรแย่ๆ พวกเขาจะให้อภัยผม เพราะผมคือยอดมนุษย์อยู่เสมอ มันน่าตื่นเต้นมากถ้าวูล์ฟเวอร์รีนจะได้เข้าร่วมกับยอดมนุษย์คนอื่นๆ แต่นักแสดงคงไม่ใช่ผมแล้ว”

2

สิ่งที่น่าสนใจคือ ‘การเชิดชูตัวบุคคล’ ที่มากเกินไปจากบทบาทของซูเปอร์ฮีโร คืออะไร 

อ้างอิงจากบทความ ‘จากราชาฟริตซ์ ถึงเอเรน เยเกอร์: ว่าด้วยวีรบุรุษและลัทธิบูชาตัวบุคคล’ ของเว็บไซต์ The matter ได้กล่าวถึงที่มาของคำนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า จุดเริ่มต้นมาจากหนังสือ Sepiens ของ ยูวัล โนอาห์ แฮรารี (Yuval Noah Harari) ที่พูดถึงการสร้างความเป็นจริงของโลกเรานั้น แบ่งเป็น 2 ประเภท ประกอบด้วย

 1. Cognitive reality หรือความเป็นจริงที่เกิดขึ้นจริงอยู่เสมอและเป็นไปตามธรรมชาติทุกครั้ง ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ เช่น ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออก ตกทางทิศตะวันตกในทุกวัน หรือเมื่อทำการปล่อยก้อนหินลงพื้น มันจะตกลงสู่พื้นดินด้วยแรงโน้มถ่วงโลก 

2. Imaginative reality หรือความเป็นจริงที่เราจินตนาการขึ้น ที่เกิดจากการคิด การแต่งตั้ง และการยอมรับจนกลายเป็นสิ่งที่เข้าใจและยึดถือร่วมกันของมนุษย์โดยมนุษย์เอง ไม่ว่าจะเป็น ศาสนา การเมือง ชนชั้น สังคม ตำแหน่ง ยศถาบรรดาศักดิ์ รวมถึงการยกย่องให้ผู้ที่มีเลือดเนื้อเชื้อไขตรงกับความเป็นมนุษย์เท่ากันทุกประการ ให้อยู่สูงกว่ามนุษย์ทั่วไป 

จากความเป็นจริง 2 ข้อดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ‘การเชิดชูตัวบุคคล’ น่าจะมีที่มาจาก Imaginative reality มากกว่า Cognitive reality 

แต่เมื่อค้นหาให้ลึกถึงรายละเอียดจะพบสิ่งที่เรียกว่า ‘ลัทธิการบูชาตัวบุคคล’ ทั้ง 2 กรณีมีที่มาเหมือนกัน แต่มีความแตกต่างกันอยู่ หากเป็นลัทธิ คือต้องมีการแสดงออกหรือโฆษณาชวนเชื่อ ให้คนคล้อยตามหรือหลงเชื่อ และนำแนวความคิดไปใช้ต่อโดยมีจุดประสงค์เพื่อควบคุมหรือกำหนดความเป็นไปของสังคม ยกตัวอย่างเช่น สตาลิน แห่งสหภาพโซเวียต, เหมา เจ๋อตง ผู้ก่อร่างสาธารณรัฐประชาชนจีน หากมองใกล้ตัวเข้ามาหน่อย เราก็จะเห็นภาพของเผด็จการทางทหารในหลายประเทศรอบข้างเรา ที่มักนำสิ่งเหล่านี้มาใช้อยู่เสมอ เพื่อเป็นข้ออ้างให้การควบคุมด้วยอาวุธปืนกลายเป็นสิ่งที่ถูกต้องขึ้นมา และในอีกหลายประเทศที่ใช้แนวทางนี้เป็น Soft power เพื่อบ่งบอกคุณค่าของบุคคลต้นแบบ

ย้อนกลับมาที่ ‘การเชิดชูตัวบุคคล’ คงไม่ถึงขั้นกลายเป็นผู้นำเผด็จการต่างๆ แต่เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผู้ที่เห็นนิยมชมชอบในบุคคลนั้นมีแนวความคิดของการคล้อยตาม หรือเชื่อว่าทุกสิ่งที่บุคคลคนนั้นทำเป็นเรื่องดี จนไม่สามารถนำมาสู่การวิพากษ์หรือวิจารณ์ได้ ถ้าเทียบในโลกออนไลน์ทุกวันนี้คงเป็นเหมือนฐานแฟนคลับที่คลั่งไคล้ในตัวดาราศิลปิน หรืออาจเป็นนักการเมือง มากจนเกินงาม จนใครก็ไม่สามารถพูดถึงหรือตักเตือนในสิ่งที่คนคนนั้นทำได้นั่นเอง

ไม่ต่างจากสิ่งที่ซูเปอร์ฮีโรในภาพยนตร์ได้รับ คือการเชิดชูคุณธรรมว่าเป็นคนดีอยู่เสมอ แม้ว่าช่วงหลังมีภาพยนตร์แนวนี้หลายเรื่องที่เริ่มฉีกกรอบขนบในการให้ซูเปอร์ฮีโรเป็นคนดีแสนดี แต่เป็นคนที่โดนตำรวจตามจับหรือเป็นเพียงผู้ดีในคราบตัวร้ายอยู่บ้างก็ตาม อย่างไรก็ดี พื้นฐานการเชิดชูแนวความคิดซูเปอร์ฮีโร ก็มาจากตรงนี้ไม่ผิดเพี้ยนออกไป

แต่การรักษาภาพพจน์ของซูเปอร์ฮีโรในจออาจจะง่าย เพราะผู้ชมได้รับชมทัศนคติของตัวละครที่ซ้อนทับนักแสดง แต่เมื่อเป็นชีวิตจริงนอกจอ ไม่ใช่โรงถ่ายทำภาพยนตร์ มันก็กลายเป็นอีกเรื่องที่นักแสดงคือตัวตนจริงๆ ของเขาไม่ใช่ในบทบาทซูเปอร์ฮีโรอีกต่อไป

3

เมื่อพูดถึงการรักษาภาพพจน์ในวงการนักแสดงซูเปอร์ฮีโร ในช่วงเดือนที่ผ่านมา ชื่อของ เอซรา มิลเลอร์ (Ezra Miller) อาจจะผ่านตาใครหลายคน ข่าวคราวหนาหูในวีรกรรมแสบๆ ของมิลเลอร์ ในช่วงที่กำลังถ่ายทำภาพยนตร์เรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะในขณะรับบทนักแสดงเจ้าของตัวละครชายที่เร็วที่สุดในโลก ในภาพยนต์รวมฮีโรฟอร์มยักษ์ของค่ายวอร์เนอร์ บราเธอร์ส อย่าง Justice league (2017) หรือขณะกำลังถ่ายทำภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโรที่ขยายเรื่องราวของจัสติซลีกให้กว้างขึ้น โดยมีเขาเป็นนักแสดงนำอย่าง เดอะ แฟลช (The Flash) ซึ่งกำลังลงจอภาพยนตร์ในปลายปีนี้ หรือแม้กระทั่งในกองถ่ายโลกเวทมนตร์ที่เขาคือนักแสดงคนสำคัญอย่างภาพยนต์เรื่อง Fantastic beat ทั้ง 3 ภาค

  ย้อนกลับไปในปี 2012 เอซรา ประกาศกับนิตยสาร Out ว่า เขาเป็น ‘Queer’ และ ‘Gender-Bending’ ที่รักคนได้ทุกเพศแบบไม่ต้องจำกัดความใดๆ ทำให้เขากลายเป็นอีกหนึ่งฮีโรของกลุ่ม LGBTQ+ ทันที และในปี 2016 เมื่อเขาได้แสดงเป็นซูเปอร์ฮีโร The Flash ของดีซีคอมิกส์ ก็ทำให้เขากลายเป็นนักแสดงจากกลุ่ม LGBTQ+ คนแรกที่เปิดเผยสถานะตัวเอง และได้เล่นเป็นซูเปอร์ฮีโรอีกด้วย

นอกจากนี้ มิลเลอร์ยัง Call out ไม่เห็นด้วยกับเรื่องต่างๆ มากมาย อาทิ #metoo ที่เกี่ยวกับกรณีการถูกล่วงละเมิดทางเพศ การใช้กัญชาเสรี หรือแม้แต่เรื่องการปกป้องสิ่งแวดล้อมและกลุ่มชนพื้นเมืองในอเมริกา เขาต่อต้านการสร้างท่อส่งน้ำมันในรัฐนอร์ทดาโคตา ที่จะส่งผลกระทบต่อภูมิทัศน์และชนพื้นเมืองอเมริกันที่อาศัยอยู่บริเวณนั้น

ไม่ใช่แค่การแสดง แต่เขายังมีวงดนตรีอินดี้ของตัวเองชื่อ Sons of an Illustrious Father ที่ซึ่งเอซราสามารถร้อง เล่นกลอง และเล่นคีย์บอร์ด เรียกได้ว่าฝีมือไม่เป็นสองรองใครทั้งในวงการนักแสดงและดนตรี ทำให้เขามีฐานแฟนคลับเพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณ

แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ทำให้แฟนคลับของเขาต่างชื่นชอบในความไม่เหมือนใคร และความเป็นตัวของตัวเองอย่างสุดโต่งของเขา จนเปรียบเขาว่าเป็นดั่งผลงานศิลปะที่ไม่จำเป็นจะต้องมีใครมาเข้าใจทุกคน

แต่วีรกรรมแรกเริ่มปรากฏบนโลกทวิตเตอร์ โดยเหตุการณ์เกิดขึ้นที่บาร์แห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองเรคยาวิก ประเทศไอซ์แลนด์ ขณะที่เขากำลังเดินออกมาจากบาร์ดังกล่าว และเจอกับแฟนคลับจำนวนหนึ่งที่กำลังรออยู่ ทันใดนั้น แฟนคลับที่เห็นมิลเลอร์ก็พุ่งตัวไปหาเขาทันที ทำให้มิลเลอร์ไม่ค่อยพอใจและผลักเธอออกไปกระแทกกับรถยนต์ ก่อนล้มลงต่อหน้าเขา ท้ายที่สุดของเหตุการณ์ไม่มีอะไรร้ายแรง หญิงสาวแฟนคลับกล่าวว่าเป็นเพียงการล้อเล่นกันเท่านั้น

ก่อนหน้านั้น มิลเลอร์ได้ให้สัมภาษณ์กับทางนิตยสาร GQ ของสหรัฐอเมริกาว่า เขาชอบพบเจอและพูดคุยกับแฟนคลับ เพราะอยากให้ทุกคนเสมอภาค ไม่มีเส้นแบ่งระหว่างดาราและคนทั่วไปที่เอื้อมไม่ถึงกัน เพราะในความเป็นจริงแล้ว ทุกคนเป็นมนุษย์เหมือนกันหมด แค่อาชีพแตกต่างกัน แต่สิ่งที่เขาทำอาจจะดูเหมือนตรงข้ามและล้ำเส้นเกินงาม

หลังจากนั้น มิลเลอร์สร้างวีรกรรมอีกครั้งจนถูกตำรวจจับในช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เขาก่อเหตุในบาร์คาราโอเกะแห่งหนึ่งและถูกจับกุมด้วยข้อหามีพฤติกรรมสร้างความวุ่นวายโดยการไปคว้าไมโครโฟนจากนักร้องหญิง และพุ่งตัวเข้าไปทำร้ายชายอีกคนอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย ทำเอาคนแตกตื่นและมึนงงกับสิ่งที่เขาทำ

ล่าสุด วันที่ 19 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า เอซรา มิลเลอร์ถูกจับกุมในข้อหาทำร้ายร่างกายผู้หญิงที่เกาะฮาวาย โดยการขว้างเก้าอี้ใส่จนทำให้เธอได้รับบาดเจ็บบริเวณหน้าผาก ซึ่งคดีนี้นับเป็นคดีที่ 2 ของนักแสดงดังในวัย 29 ปีที่ถูกจับกุม 

อย่างไรก็ดี แฟนคลับของเขายังไม่ปักใจเชื่อว่า มิลเลอร์จะมีพฤติกรรมแบบนั้น โดยให้เหตุผลว่าที่ผ่านมาเขาเป็นนักแสดงที่เก่งและไม่มีการแสดงออกเรื่องความรุนแรงใดๆ ซึ่งแฟนคลับได้ออกมากล่าวโทษว่า สิ่งที่นักแสดงหนุ่มทำไปคงมีสาเหตุมาจากฝ่ายอื่นเป็นผู้เริ่มก่อน เช่น อาจเข้าไปก่อกวนทำให้เขารำคาญ หรือมีท่าทางที่ไม่ดี เข้ามาประทุษร้ายจนเขาต้องป้องกันตัว โดยทั้งชายและหญิงผู้เสียหายได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลออกคำสั่งควบคุมชั่วคราวต่อนักแสดงหนุ่ม ก่อนจะถอนคำร้องเมื่อต้นสัปดาห์ที่แล้ว 

ทางผู้บริหารของ วอร์เนอร์บราเธอส์ (Warner Bros) และดีซี ได้พบกันเพื่อหารือเกี่ยวกับการยุติโปรเจกต์งานแสดงต่างๆ ในอนาคตของมิลเลอร์ แม้ว่าภาพยนตร์หลายเรื่องที่เขาแสดงนำกำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก

มิลเลอร์กล่าวย้ำเสมอว่า เขาไม่ชอบ หากมีใครให้เขามาอยู่ในฐานะที่เป็น role model หรือแบบอย่างให้กับใครทั้งสิ้น

“การเป็น role model มันแอบแฝงถึงการเป็นสิ่งที่สังคมยอมรับ มันหมายความว่าเป็นใครสักคนที่เป็นแบบอย่างในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แล้วสิ่งนั้นคือสิ่งที่สอดคล้องกับความต้องการของสังคม ซึ่งมันตรงกันข้ามกับสิ่งที่ผมสนใจ”

แต่การมีตัวตนบนพรมแดงก็เป็นสิ่งที่เขาปฏิเสธไม่ได้ว่าจะมีคนจำนวนหนึ่งชื่นชมเขาและเชิดชูเขา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแสดงออกด้านต่างๆ ที่เขานำเสนอกับสังคม

ท้ายที่สุด การที่ใครทำอะไรผิดพลาดไปแล้วถูกตัดสินการกระทำทั้งชีวิตคงไม่ใช่เรื่องที่ดี  ไม่ว่ามิลเลอร์จะมีพฤติกรรมเช่นไร เรื่องของคดีความก็เป็นเรื่องที่ต้องรอคอยการพิสูจน์ต่อไป หากผิดก็ว่าไปตามผิด มิใช่ว่าถึงกระทำผิดแต่แฟนคลับยังบอกว่าถูกต้อง แต่สิ่งที่พิสูจน์ได้คืออย่างน้อยเขาก็เป็นนักแสดงที่เก่งกาจหาตัวจับยากคนหนึ่ง

4

ลองคิดดูว่า หากสิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้กำลังเกิดขึ้นกับสังคมไทย โดยเฉพาะกับผู้ที่มีฐานแฟนคลับมากมาย หรือไม่ใช่คนธรรมดาแต่เป็นผู้มีอำนาจ และเป็นชนชั้นนำในสังคม สิ่งใดจะเกิดขึ้นตามมา 

เรื่องอาจกลับกลายเป็นว่า เมื่อบุคคลนั้นทำอะไรผิดก็มีคนจำนวนหนึ่งออกมาปกป้องอยู่เสมอ ไม่สามารถเข้าไปวิพากษ์วิจารณ์ได้ หากอยู่ในขั้นหนักก็สามารถเปลี่ยนดำเป็นขาวได้ในทันที โดยอาศัยฐานมวลชนที่สนับสนุนตนเอง

ไม่มั่นใจว่าตอนนี้สังคมไทยกำลังเป็นเช่นนั้นอยู่หรือไม่ ยิ่งการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ใกล้เข้ามา การบ่งบอกผลงานที่เคยทำมาของผู้สมัคร หรือการแสดงตนเป็นฮีโรต่างๆ บนหน้าจอ กับสิ่งที่เกิดขึ้นในความเป็นจริงอาจไม่เหมือนกัน คงต้องให้ประชาชนทั้งประเทศเป็นผู้จับตา เป็นพยาน เพื่อให้วัฒนธรรมการ ‘เชิดชูตัวบุคคล’ ลดน้อยลง และให้ความสนใจกับสิ่งที่เขาปฏิบัติ ทั้งนโยบายและความตั้งใจอย่างเป็นรูปธรรม และรอดูผลลัพธ์ในวันประกาศผลที่กำลังใกล้เข้ามาในเร็ววันนี้ 

ภาพ: Reuters

ที่มา:

https://www.esquire.com/entertainment/movies/a39661626/ezra-miller-arrest-the-flash-dc/

https://www.hawaiinewsnow.com/2022/04/19/ezra-miller-actor-who-played-flash-arrested-again-hawaii-island/

https://edition.cnn.com/2022/04/19/entertainment/ezra-miller-arrest/index.html

https://www.bbc.com/news/newsbeat-61161384

https://fandomwire.com/golbal-heartbreak-hugh-jackman-declares-hes-never-playing-wolverine-again/

Tags: , , ,