หนึ่งในสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ที่สร้างความวิตกกังวลมาอย่างยาวนาน นั่นก็คือ ‘วาฬไรต์’ (Right whale) วาฬสายพันธ์ุใหญ่อันดับสามของโลกที่อาศัยอยู่ในแถบทะเลแอตแลนติกเหนือ มีการคาดการณ์ว่าพวกมันกำลังจะสูญพันธุ์ในอีกไม่ถึง 20 ปีข้างหน้า ดังนั้นการรณรงค์เคลื่อนไหวเพื่อปกป้องวาฬไรต์จึงเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง แต่ขณะเดียวกันเหรียญอีกด้านของการปกป้องวาฬไรต์ กลับกลายเป็นการบีบคอกลุ่มชาวประมงให้สูญพันธุ์ตามไปด้วย
‘Entangled’ คือภาพยนตร์สารคดีดีกรีรางวัล International Ocean Film Festival 2021 ตีแผ่ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มนักรณรงค์ที่พยายามปกป้องวาฬไรต์ กับกลุ่มชาวประมงที่กำลังจะสูญเสียอาชีพไปเพราะมาตรการช่วยเหลือสัตว์สูญพันธ์ุอันเข้มงวด สารคดีเรื่องนี้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการอนุรักษ์วาฬไรต์ อันเปรียบเสมือนกับกระจกสะท้อนปัญหาภาวะโลกร้อน พร้อมกับการตั้งคำถามว่า ทำไมปัญหาใหญ่ระดับโลกจึงถูกโยนความรับผิดชอบมาที่เหล่าชาวประมงเพียงอย่างเดียว
**เนื้อหาต่อไปนี้เปิดเผยรายละเอียดสำคัญของภาพยนตร์ **
สารคดีเริ่มต้นด้วยการปูพื้นถึงปัญหาการสูญพันธ์ุที่กำลังน่าเป็นห่วงของวาฬไรต์ วาฬสายพันธ์ุหนึ่งที่อาศัยอยู่ในแถบเหนือของทะเลแอตแลนติกเหนือ เป็นวาฬขนาดใหญ่ที่มีลำตัวยาวได้ถึง 18 เมตร และหนักได้ถึง 70 ตัน พวกมันอาศัยอยู่ทางตอนตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกาไปจนถึงแถบแอตแลนติกของแคนาดา อุปนิสัยของวาฬไรต์มักเคลื่อนไหวอย่างเชื่องช้าและชอบว่ายเข้ามาในแนวชายฝั่ง ทำให้ง่ายต่อการถูกจับโดยชาวประมง สมัยก่อนนั้นการล่าวาฬไรต์ไม่ผิดกฎหมาย จึงเป็นที่มาของชื่อ ‘ไรต์ (right)’ แปลว่า มีสิทธิ์ (rights) อย่างชอบธรรมนั่นเอง
ในอดีต วาฬไรต์เคยมีจำนวนมากกว่า 2 หมื่นตัว พวกมันถูกล่าอย่างหนักเพื่อนำเอาชั้นไขมันใต้ผิวหนังไปกลั่นเป็นน้ำมัน จนเหลือไม่ถึง 300 ตัว กระทั่งในปี 1935 ได้มีการสั่งห้ามล่าวาฬไรต์ จำนวนของมันจึงเพิ่มขึ้นมาเล็กน้อย แต่ต่อมาในปี 2010 สถานการณ์ของวาฬไรต์กลับมาอยู่ในขั้นวิกฤตอีกครั้ง หลังจากนักวิทยาศาสตร์และกลุ่มนักอนุรักษ์ได้คาดการณ์ว่าพวกมันน่าจะหลงเหลืออยู่เพียงแค่ 400 ตัวเท่านั้น แถมวาฬไรต์ตัวเมียที่สามารถสืบพันธุ์ได้ก็เหลือไม่ถึง 100 ตัว
จากความกังวลใจเหล่านี้ นักอนุรักษ์หลายกลุ่มจึงเรียกร้องรัฐบาลสหรัฐฯ เปลี่ยนแปลงนโยบายการพิทักษ์ปกป้องวาฬ ตามกฎหมายการป้องกันสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทางทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ (Marine Mammal Protection Act) รวมทั้งให้มีการปฏิรูปกฎหมายใหม่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมประมงด้วย เนื่องจากสาเหตุการตายของวาฬไรต์กว่า 75% นั้นมาจากการติดเครื่องมือประมง (Entanglement) เช่น สายทุ่น (buoy line) ของชาวประมงล็อบสเตอร์ ที่วาฬไรต์มักจะว่ายเข้ามาติดอยู่บ่อยๆ
ประเด็นเรื่องการปฏิรูปกฎหมายใหม่ของอุตสาหกรรมประมงนี้เอง สารคดีได้นำเสนอเหรียญอีกด้านของการเรียกร้องเพื่อปกป้องวาฬไรต์ว่ามันกำลังสร้างผลกระทบให้กับเศรษฐกิจการประมงล็อบสเตอร์เป็นวงกว้าง
การประมงล็อบสเตอร์นั้นเป็นที่นิยมมากในแถบรัฐเมน สหรัฐอเมริกา สารคดีก็พาเราไปฟังเรื่องราวของชาวประมงต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากปี 2015 ที่หน่วยงานกำกับดูแลได้ออกมาตรการสั่งปิดแหลมค็อด (Cape cod) ไม่ให้ทำการประมงล็อบสเตอร์ อีกทั้งยังปิดอ่าวไม่ให้ทำการประมงปีละ 3 เดือน ทำให้ชาวประมงจำนวนมากต้องสูญเสียรายได้มหาศาล โดยปราศจากการเยียวยาใดๆ
แม้ชาวประมงล็อบสเตอร์หลายคนจะเข้าใจถึงปัญหาการใกล้สูญพันธ์ุของวาฬไรต์เป็นอย่างดี แต่ว่าตัวพวกเขาเองก็ไม่สามารถอดทน เสียสละ ยอมลดรายได้ของตัวเองลงไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่มีมาตรการช่วยเหลือได้เช่นกัน ชาวประมงบางคนต้องเลี้ยงครอบครัวถึง 3 ครอบครัว ต้องทำงาน 3 งานนอกจากงานประมง รวมทั้งต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นทุกปี ทว่ารายได้ก็ลดลงทุกปีจากมาตรการต่างๆ เช่น การจำกัดพื้นที่การประมงถึง 3 พันไมล์ทะเล รวมถึงมาตรการลดเชือกประมงแนวดิ่งลงถึง 50%
ใช่ว่ากลุ่มชาวประมงจะไม่ปรับตัว พวกเขาเปลี่ยนวิธีการจับล็อบสเตอร์ ด้วยการพยายามเลือกพื้นที่ในการออกทะเลอย่างระมัดระวัง มีการทาสีส้มที่เชือกประมงเพื่อที่จะให้วาฬไรต์มองเห็นได้ชัดขึ้น พยายามทำงานร่วมกับนักวิทยาศาสตร์เพื่อค้นหาจุดร่วมในการอนุรักษ์วาฬไรต์ และรักษาวิถีทางทำมาหากินของอาชีพชาวประมงไปด้วยพร้อมกัน
ผลกระทบของการอนุรักษ์วาฬไรต์ไม่ได้มีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชาวประมงเท่านั้น แต่มันสร้างผลกระทบแบบโดมิโนต่อระบบเศรษฐกิจของเมืองแถบชายฝั่งของรัฐเมน การที่ชาวประมงไม่สามารถออกเรือได้ แปลว่าร้านขายอุปกรณ์เกี่ยวกับเรือจะมีรายได้น้อยลง การส่งออกล็อบสเตอร์น้อยลง ร้านอาหารท้องถิ่นขาดแคลนวัตถุดิบประจำเมือง ธุรกิจต่างๆ ทยอยล้มไปตามๆ กัน ไม่ต่างจากโดมิโน
ตลอดทั้งเรื่อง สารคดีพยายามพาผู้ชมเจาะลึกไปถึงปัญหามากมายที่จะทำให้วาฬไรต์ใกล้สูญพันธุ์เร็วขึ้น เช่น การที่อุณหภูมิโลกสูงขึ้นจากภาวะโลกร้อน ทำให้แพลงก์ตอนทะเล อาหารหลักของวาฬไรต์หายไปกว่า 90% พวกมันต้องว่ายมาเข้าใกล้ฝั่งเรื่อยๆ จนติดเชือกของชาวประมง, การถูกเรือเดินสมุทรชนตายในตอนกลางคืน, การลักลอบล่าวาฬที่ยังหลงเหลืออยู่ ตัดสลับกับการทำงานรณรงค์ของกลุ่มนักอนุรักษ์ และกลุ่มคนที่มีส่วนในการทำให้วาฬไรต์ใกล้สูญพันธ์ุ
สิ่งที่สารคดีเรื่องนี้ทำได้ดีมาก คือการบาลานซ์ความเป็นกลางระหว่างฝ่ายนักอนุรักษ์และกลุ่มชาวประมงล็อบสเตอร์ การเลือกไม่นำเสนอมุมมองด้านใดด้านหนึ่งมากเกิน ทำให้เราได้เห็นถึงความต้องการของทั้งสองฝ่ายอย่างชัดเจน ด้านหนึ่งเรารู้สึกสงสารเหล่าคนทำงานอนุรักษ์ที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจเพื่อปกป้องวาฬไรต์ แต่อีกมุมหนึ่งเราก็เห็นภาพชาวประมงและครอบครัวที่กำลังประสบความยากลำบากในการประกอบอาชีพมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกครั้งที่มีมาตรการควบคุมใหม่ออกมา
ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามอย่างยิ่งยวดของทั้งสองฝ่าย ที่ต่างต่อสู้เพื่อหาจุดตรงกลางซึ่งสามารถช่วยเหลือเหล่าวาฬไรต์ ขณะเดียวกันก็ไม่ทำลายระบบเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมการประมงไปด้วย สารคดีเรื่องนี้ไม่ได้พยายามที่จะบอกว่าฝ่ายใดถูกหรือฝ่ายใดผิด เพียงแต่เป็นการเอาความจริงของทั้งสองฝ่ายมากางออกเพื่อให้คนดูได้เป็นคนตัดสินใจเอง แต่ที่แน่ๆ คือ ถ้าพวกเราไม่ทำอะไรสักอย่างเลย วาฬไรต์จะต้องสูญพันธุ์อย่างแน่นอน
เรื่องราวที่เริ่มต้นด้วยจุดประสงค์ที่ดี เพราะต้องการช่วยเหลือเหล่าวาฬที่ติดร่างแหของชาวประมง สุดท้ายทำให้ชาวประมงกลับมาติดร่างแหเสียเอง ทางออกที่จะเป็นผลดีสำหรับสองฝ่ายจะเป็นอย่างไรนั้น ตอนนี้ยังมองไม่ออกเลยจริงๆ
ใครที่อยากดูภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Entangled สามารถชมได้ฟรีผ่านทาง Documentary Club On Demand หรือลงทะเบียนได้ที่ https://act.gp/3g1l477 ตั้งแต่วันนี้จนถึง 30 สิงหาคม 2564
ภาพ: entangled-film.com
Fact Box
- สารคดีเรื่อง Entangled นี้ ได้ฉายให้คนไทยดูฟรีๆ จากการร่วมมือกันของ Greenpeace Thailand และ Documentary Club
- ใครที่อยากดูภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Entangled สามารถชมได้ฟรีผ่านทาง Documentary Club On Demand หรือลงทะเบียนที่ https://act.gp/3g1l477 ตั้งแต่วันนี้จนถึง 30 สิงหาคม 2564