ขอให้ทุกท่านตระหนักว่า การแสดงเรื่องนี้ ไม่ได้พูดถึงสถานที่ไหน ไม่ได้กล่าวถึงใคร หรือแม้แต่ช่วงเวลาใดก็ตาม…
IT’S JUST A FICTION [not mentioning anything] คือผลงานละครเวทีลำดับที่ 2 ในโปรเจกต์ ‘Cloud State’ โดยกลุ่มนักศึกษาการละคอน คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ถ่ายทอด ‘ความมั่วซั่ว’ ของดินแดนไร้ชื่อ ผ่านละครเพลงแนวฟิซิคัล (Physical Theatre) ร่ำระบายบทเพลงสุดแอบเสิร์ด (Absurd) และท่าเต้นชวนหัว ฉาบเคลือบความจริงดำมืดในมิติล่างสุดที่ใครบางคนไม่อยากให้ชาวเมืองรู้ว่ามีอยู่
การแสดงเริ่มต้นขึ้นด้วยอุปมานิทัศน์ของคนถ้ำ พวกเขาไม่เคยออกไปไหน ไม่เคยเห็นแสงตะวัน ความจริงเพียงหนึ่งเดียวที่รับรู้ถูกตีกรอบให้อยู่แค่เงาสะท้อนบนผนังถ้ำ จนกระทั่งวันหนึ่งมีคนหลุดออกไป
เขากลับมาเล่าให้เพื่อนมนุษย์ถ้ำฟังถึงความสว่างจ้าของแสงตะวันที่เกือบจะแผดเผาดวงตา แต่เมื่อม่านตาเริ่มปรับการรับแสงจนเขาสามารถจ้องมองเข้าไปที่ดวงตะวันได้ ความจริงก็ปรากฏให้เห็นเด่นชัด โลกนอกถ้ำช่างอุดมสมบูรณ์ ถึงกระนั้นคนในถ้ำก็ไม่ขอเชื่อสิ่งนั้น หนำซ้ำยังกล่าวโทษผู้ตื่นรู้ว่าหลอกลวง
‘มันจะมีอะไรจริงไปกว่าเงาบนผนังถ้ำได้!’
ความสนุกของละครเวทีเรื่องนี้ คือผู้ชมได้ถูกจับยัดเข้าไปในความมั่วซั่วเละเทะของตรรกะประหลาดในดินแดนนี้เช่นเดียวกันกับตัวละคร การร้อยเรียงเนื้อหาแต่ละช่วงถูกออกแบบมาให้จับต้นชนปลายไม่ถูก มีการใช้ทำนองเพลงป็อป (Pop) สมัยใหม่ ไปจนถึงเพลงแทร็ปฮิปฮอป (Trap Hip Hop) ร้อยเรียงออกมาเป็นเรื่องที่ผู้ชมคุ้นชิน อาทิ ความเดือดดาลของหญิงสาวตอนเห็นคนไม่ยืนในโรงภาพยนตร์ การตั้งคำถามถึงความเป็นไทยโดยแท้ ผ่านเพลงทำนองสนุกสนานชื่อว่า ‘ซาหริ่ม’ ซึ่งหลังจากความเพลิดเพลินตลกโปกฮาดำเนินไปได้สักพัก รอยยิ้มบนใบหน้าผู้ชมก็เริ่มหดหาย เมื่อความจริงดังกล่าวให้ความรู้สึก ‘จริง’ ขึ้นเรื่อยๆ
กลุ่มคนที่โกรธเกรี้ยวลุกขึ้นยืนบนเก้าอี้ ตะโกนกู่ก้องถึงความคับแค้นใจ แต่เสียงที่เปล่งออกมากลับเป็นภาษาของสัตว์ป่า พวกเขาถูกจับกุมเข่นฆ่าเพียงเพราะเห็นต่างและอยู่ข้างความยุติธรรม
ผู้สร้างละครนำองค์ประกอบจากเหตุการณ์จริงในประเทศไทยมาใช้ได้อย่างกล้าหาญ ทั้งคำแถลงปลุกใจให้คนคลั่งในความเป็นเอกราช รายชื่อผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ ‘6 ตุลาฯ’ ในปี 2519 ภาพข่าววันที่ห้างสรรพสินค้าดังย่านแยกราชประสงค์ถูกเผา บันทึกเสียงของแม่ที่สูญเสียบุตรชายผู้เป็นที่รักไปจากการกวาดล้างผู้ชุมนุมด้วยกระสุนจริง และอีกหลายสิ่งที่ผู้สร้างแทบจะกล่าวถึงไม่ได้อย่างตรงไปตรงมา
ในช่วงท้ายของเรื่องผู้ชมจะได้เห็นบทบาทของผู้ปกครองดินแดนที่ตั้งตนเป็นสมมติเทพ ส่งต่ออำนาจแบบผิดๆ ให้ประชาชนใต้ปกครองทำร้ายกันเองเพื่อผลประโยชน์ของตน จนถึงจุดที่อำนาจดังกล่าวเริ่มถูกท้าทายและถูกรื้อถอนจนเหลือไว้เป็นรากสั้นๆ ที่ไม่สามารถเติบโตได้ในยุคสมัยต่อจากนี้ เพราะจะไม่มีใครอยู่ในถ้ำนี้เพื่อสืบทอดมันแล้ว
แต่จงอย่าลืมว่าทั้งหมดเป็นแค่ ‘เรื่องสมมติ’ อุปมานิทัศน์นี้เป็นเพียงการบอกเล่าเรื่องปลอมเพื่อสะท้อนความจริงเท่าที่ผู้ชมจะรับไหว
หากนำเหตุการณ์จากละครเวทีเรื่องนี้เข้าโปรแกรมตัดต่อสมมติในความคิด และสลับเรียงลำดับให้ถูกต้อง จะได้เป็นเส้นทางการตื่นรู้ของดินแดนไหนสักแห่งที่ผู้ชมอาจจะเคยหรือกำลังอาศัยอยู่ จากจุดเริ่มต้นอันมืดบอด สู่การตื่นรู้และความเปลี่ยนแปลงอันรุ่งโรจน์ และถึงแม้ละครเวทีเรื่อง IT’S JUST A FICTION [not mentioning anything] จะสิ้นสุดรอบการแสดงไปแล้วเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม แต่ประสบการณ์ความวายป่วงที่ทีมผู้สร้างมอบให้คนดู ก็นับเป็นการสรุปรวมปี 2022 ที่สุดปังแบบพังพินาศได้อย่างยิ่งใหญ่และสวยงาม
Tags: BFloorTheatre, TU, ละครเวที, มิวสิกคัล, บีฟลอร์, ศิลปการละคร, Musical, ศิลปกรรมศาสตร์, ธรรมศาสตร์, CloudState2022, ItsJustaFiction2022, BFloor