ครบยี่สิบปีแล้ว ที่โลกภาพยนตร์ได้ตื่นตาและช็อคสุดขีดกับกองทัพซอมบี้วิ่งไล่กระชากเนื้อหนังคนเป็นจาก 28 Days Later (2002)
อาจเป็นเรื่องที่จินตนาการออกได้ยากอยู่สักหน่อยว่าทำไมการที่คนดูได้เห็นซอมบี้วิ่งเร็วปานนักวิ่งระดับชาติ จึงกลายเป็นเรื่องชวนตื่นเต้นของวงการภาพยนตร์ไปได้ โดยเฉพาะหากมองในแง่ของยุคสมัยที่ปัจจุบันเราได้เสพหนังซอมบี้นักวิ่งกันจนตาแฉะ ทั้ง Dawn of the Dead (2004), Zombieland (2009), Army of the Dead (2021), Train to Busan (2016) และ World War Z (2013) โดยเฉพาะเรื่องหลังสุดที่ได้รับการยกย่องว่ามีซอมบี้ที่โหดมากที่สุดในโลกภาพยนตร์ ชนิดว่าถ้าเกิดเหตุการณ์นี้จริง มนุษยชาติคงหายไปครึ่งแผ่นดิน
อย่างไรก็ดี ซอมบี้เริ่มเป็นนักวิ่งก็จาก 28 Days Later หนังของ แดนนี บอยล์ คนทำหนังชาวอังกฤษที่สร้างชื่อจากแก๊งเด็กติดยาในสก็อตแลนด์ Trainspotting (1996) และเพิ่งประสบความสำเร็จจาก The Beach (2000) โดยบอยล์หยิบเอาแรงบันดาลใจมาจากแฟรนไชส์ Night of the Living Dead ของพระบิดาแห่งหนังซอมบี้ จอร์จ เอ โรเมโร และ The Day of the Triffids วรรณกรรมปี 1951 โดย จอห์น วินด์แฮม
28 Days Later จับจ้องไปยังเรื่องราวของ จิม (คิลเลียน เมอร์ฟี) ไบเกอร์หนุ่มที่ประสบอุบัติเหตุจนต้องนอนรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลร่วมสี่สัปดาห์ วันหนึ่ง เขาฟื้นคืนสติขึ้นมาและพบว่าทั้งโรงพยาบาลกลายเป็นพื้นที่รกร้าง เมืองด้านนอกกลายเป็นพื้นที่รกร้างที่เต็มไปด้วยกองซากศพ กระทั่งเมื่อสิ้นแสงอาทิตย์ ผู้คนที่อยู่ในสภาพโชกเลือด พิกลพิการก็กรูกันออกมาจากเงามืด หวังฉีกทึ้งร่างเขาซึ่งตะเกียกตะกายหนีเอาชีวิตรอดไปจนเจอ เซเลนา (นาโอมิ แฮร์ริส) กับ มาร์ค (โนอา ฮันต์ลีย์) ผู้รอดชีวิตสองคนที่ไขปริศนาถึงภัยพิบัติที่ล้างเมืองลอนดอน -นั่นคือภาวะที่ผู้คน ‘ติดเชื้อ’ และกลายเป็นซากร่างคลุ้มคลั่งไล่สังหารคนเป็น
หนึ่งในฉากจำของเรื่องคือฉากที่จิมเดินโซซัดโซเซไปทั่วลอนดอนในชุดคนไข้หลวมโพรกจากโรงพยาบาล กวาดตามองซากเศษขยะที่ตกอยู่ข้างถนน ก่อนที่หนังจะค่อยๆ พาทั้งจิมและคนดูไปพบกับสภาพเสื่อมสลายสุดขีดของเมือง ไม่ว่าจะรถบัสสีแดงขึ้นชื่อที่ล้มคว่ำไม่เป็นท่า สถานที่สำคัญหลายแห่งในตัวเมืองทั้งสะพานเวสต์มินสเตอร์, ราชวังไวต์ฮอล รวมทั้งนาฬิกาบิ๊กเบน กลายเป็นพื้นที่ปราศจากผู้คนพร้อมสกอร์เพลง East Hastings ที่ยิ่งขับเน้นความพังทลายและเสื่อมโทรมของเมืองใหญ่ รวมทั้งความโดดเดี่ยวของจิม กระทั่งเมื่อเขาถูก ‘ผู้ติดเชื้อ’ จู่โจมราวกับสัตว์ป่า ที่เปลี่ยนนิยามซอมบี้ในฐานะ ‘ศพเดินได้’ มาสู่การเป็น ‘ศพที่พร้อมวิ่งออกล่าคุณ’ ไปตลอดกาล
แน่นอนว่าหลายคนอาจรู้สึกว่าการใช้นิยามซอมบี้ในหนังเรื่องนี้ก็ไม่ถูกต้องนัก เพราะอันที่จริง ตลอดทั้งเรื่องพวกเขาถูกเรียกว่า ‘ผู้ติดเชื้อ’ ซึ่งผิดเพี้ยนไปจากนิยามซอมบี้เก่าแก่ซึ่งหมายถึงศพที่ฟื้นคืนจากความตาย แต่พร้อมกันนั้นอีกหลายคนก็แย้งว่า สภาพของ ‘ผู้ติดเชื้อ’ ในเรื่องก็ไม่ห่างจากการเป็นศพเท่าไหร่นัก กล่าวคือส่วนใหญ่แล้วอยู่ในสภาพที่หากมีสติสัมปชัญญะดี ก็ไม่น่ามีลมหายใจมาลุกวิ่งไล่กัดคนอื่นได้แล้ว ซึ่งเหล่าผู้ติดเชื้อในเรื่องก็พิสูจน์แล้วว่า ต่อให้ถูกยิงจนล้มคว่ำด้วยกระสุนปืนกล หากไม่โดนจุดสำคัญเช่นที่หัว พวกเขาก็ลุกขึ้นมาวิ่งต่อได้อยู่ดี (!!)
“เราทำหนังมาแล้วหลายต่อหลายฌ็อง (Genre) และอยากลองใช้ลูกเล่นอะไรกับมันดูหน่อย สนุกดีออก” บอยล์สาธยาย “มันช่วยฝ่ายการตลาดขายหนังได้ง่ายขึ้น สตูดิโอหรือผู้จัดจำหน่ายก็พอใจ แถมมันยังดึงกลุ่มคนดูกระแสหลักได้อีกต่างหาก และนี่แหละที่สำคัญสำหรับเรามาก เพราะเราอยากดึงกลุ่มคนดูกระแสหลัก จากนั้นเราก็ปั่นฌ็องทั้งหลายในหนังให้เละไปหมด เพราะงั้นแฟนหนังซอมบี้ที่มาดูหนังเรื่องนี้ ก็จะไม่ได้ดูแค่หนังซอมบี้ชวนแหวะเท่านั้น แต่ยังได้ดูส่วนผสมของหนังฌ็องอื่นๆ ด้วย ผมว่านี่แหละเป็นอะไรที่ลงตัวมากเลย”
หากว่าก่อนหน้านี้ หนังซอมบี้ล้วนปักหมุดไปยังเรื่องของศพที่ฟื้นคืนกลับมาผ่านการทำพิธีเรียกวิญญาณหรืออะไรก็ตามแต่ 28 Days Later เขย่าส่วนผสมความเป็นหนังไซ-ไฟเข้าไปด้วยการจับจ้องไปยังต้นธารของการติดเชื้อ ซึ่งมาจากการทดลองการติดเชื้อในสัตว์ที่ในเวลาต่อมากระจายเชื้อไปยังมนุษย์ในที่สุด เรื่องราวจึงชวนให้ขนหัวลุกกว่าที่เคยเพราะมันแสนจะใกล้ตัวและชวนหวาดผวามากกว่าเดิม โดยบอยล์เล่าถึงหนังสือเรื่อง The Hot Zone: A Terrifying True Story หนังสือสารคดีของ ริชาร์ต พรีสตัน ว่าด้วยชายที่หิ้วเอาเชื้่ออีโบล่าจากแอฟริกามายังกรุงวอชิงตัน ที่กลายเป็นส่วนผสมหลักของหนัง 28 Days Later โดยเฉพาะฉากที่ตัวละครเดินหิ้วเลือดตัวอย่างไปมา รวมถึงการที่ตัวละครติดเชื้อกันทางเลือดด้วย
“อาการบางอย่างของโรค ความป่วยไข้ใดๆ ล้วนมีรากมาจากเชื้ออีโบล่าผสมพิษสุนัขบ้า ดังนั้นมันจึงมีพื้นฐานทางการแพทย์อยู่ด้วย” บอยล์บอก ทั้งนี้ นักวิจารณ์หลายคนยังมองว่าประเด็นที่บอยล์เลือกนั้นสอดรับกับยุคสมัย เมื่อต้นยุค 2000s เต็มไปด้วยข่าวลือเรื่องการใช้สารชีวภาพเป็นอาวุธหลักแทนกระสุนหรือระเบิด ข่าวลือเรื่องไวรัสและการแพร่เชื้อจึงไม่เคยห่างหายไปจากหน้าหนังสือพิมพ์แท็บลอย และการมาถึงของหนังที่ว่าด้วยคนติดเชื้อประหลาดจากการทดลองก็เป็นเรื่องที่ไม่ได้ไกลหูไกลตาผู้คนนัก จึงไม่ยากเลยที่คนดูจะรู้สึกร่วมและหวาดกลัวเงื่อนไขในการกลายร่างไปสู่ซอมบี้ของบอยล์ยิ่งกว่าหนังซอมบี้ในยุคก่อนๆ ที่เคยดูมา
อย่างไรก็ตาม จุดเด่นอีกอย่างของ 28 Days Later คือการโหมประโคมให้คนดูเห็นถึงความน่ากลัวและอันตรายสุดขีดของซอมบี้ที่เคลื่อนที่ได้อย่างรวดเร็ว ภายหลังจากการดูหนังซอมบี้ที่เคลื่อนตัวช้าๆ มานานหลายปี การได้เห็นซอมบี้ ‘อัพสกิล’ อย่างหฤโหดเช่นนี้ก็เป็นสิ่งที่หลายคนตั้งตัวไม่ติด ซอมบี้ของบอยล์มุ่งหน้าทำลายคนเป็นอย่างดุเดือด มันวิ่งเร็ว ไม่เหนื่อยและไม่หยุดจู่โจมแม้ถูกทำร้ายกลับ พร้อมจะกัดและฉีกทึ้งเนื้อมนุษย์ และแม้คุณเอาตัวรอดจากเขี้ยวฟันของมันมาได้ แต่ถ้าโดนกัดหรือเกิดการสัมผัส ถ่ายเทเลือดให้กันแม้แต่นิดเดียว อีกไม่นานคุณจะกลายเป็นหนึ่งในพวกมัน -ผู้ติดเชื้อที่ไม่อาจเรียกว่ามีชีวิตและวิ่งไล่ล่าคนเป็นไปเรื่อยๆ อย่างไร้จุดหมาย (เคล็ดลับของบอยล์ในเรื่องนี้คือ เขาจ้างนักกีฬากรีฑาที่เกษียณตัวเองแล้วมาเข้าฉากวิ่ง เพื่อเพิ่มความเร็วและการเคลื่อนไหวอันชวนทึ่งให้ตัวละครผู้ติดเชื้อ)
ด้วยทุนสร้างเพียง 8 ล้านเหรียญฯ หนังประสบความสำเร็จถล่มทลายด้วยรายได้ 85.7 ล้านเหรียญฯ และงอกภาคต่อ 28 Weeks Later (2007) ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายว่าบอยล์ไม่ได้กำกับเพราะติดภารกิจในการปั้นหนังไซ-ไฟเครียดเขม็ง Sunshine (2007 – เมอร์ฟีนำแสดงอีกแล้วจ้า) ดังนั้น 28 Weeks Later จึงผลัดเปลี่ยนผู้กำกับไปที่ ฆวน คาร์ลอส เฟรสนาดิลโล คนทำหนังชาวสเปนแทน
28 Days Later กลายเป็นหมุดหมายสำคัญของหนังตระกูลซอมบี้อย่างปฏิเสธไม่ได้ โดยเฉพาะในแง่การบิดฌ็องให้ไปไกลกว่าการเป็นหนังเฮอร์เรอร์ แต่ยังผสมผสานความเป็นหนังวิทยาศาสตร์ หนังโลกล่มสลายไว้ด้วยกันอย่างแนบเนียน และส่งต่อมรดกด้วยการมอบเหล่าซอมบี้นักวิ่งให้แก่โลกภาพยนตร์อยู่จนถึงปัจจุบัน
Tags: ซอมบี้, Screen and Sound, 28 Days Later, Zombies