ถ้าใครเคยดู Inglourious Basterds (2009) หนังสังหารนาซีตายเป็นเบือของเควนติน ทารันติโน จะพบว่ามีฉากเล็กๆ ฉากหนึ่ง เมื่อพลตรีเฮลล์สตรอม (ออกัสต์ ดีห์ล) นายทหารสัญชาติเยอรมันเล่นเกมเดาชื่อตัวละครบนไพ่ที่แปะอยู่บนหน้าผากตัวเอง ท่ามกลางสายลับฝั่งสัมพันธมิตรที่นั่งจ้องเขาเขม็ง

“บ้านเกิดของผมอยู่ในป่า ผมมาเยือนอเมริกา แต่ผมไม่ได้เจตนามาเอง หมายความว่ามีคนพาผมมาที่นี่ และเมื่อผมเดินทางจากป่ามาสู่อเมริกา ผมโดยสารมาทางเรือใช่หรือไม่”

“ใช่แล้ว”

“ผมถูกบังคับมาใช่ไหม”

“ใช่อีกเหมือนกัน”

“ตอนที่อยู่บนเรือ ผมโดนล่ามโซ่หรือเปล่า”

“ใช่”

“และเมื่อมาถึงอเมริกา ผมปลดโซ่ตรวนออกได้ใช่ไหม”

“ใช่!”

“ผมเป็นนิโกรในอเมริกาหรือเปล่า”

“ไม่ใช่”

“ถ้าอย่างนั้น ผมก็ต้องเป็นคิงคอง”

ในวาระที่ Godzilla vs. Kong (2021) หนังสัตว์ประหลาดตีกันในจักรวาล MonsterVerse ทุนสร้าง 160 ล้านเหรียญฯ ของ อดัม วิงการ์ด เข้าฉายและกวาดคำวิจารณ์แง่บวกกลับมามากมาย เราอยากชวนทุกคนไปรู้จักกับมิติดำมืดของ ‘คอง’ หรือคิงคอง ในฐานะที่มันเป็นตัวละครที่ถูกบอกเล่าและถูกสร้างมาแล้วหลายต่อหลายเวอร์ชัน ว่าด้านหนึ่ง มันเป็นมากกว่าจอมอาละวาดร่างยักษ์ แต่เป็นภาพแทนความเดือดดาลหรือการเมืองบางอย่างที่สะท้อนอยู่ในหนังแต่ละยุค 

เช่นเดียวกันกับ ก็อดซิลลา ราชาที่อาศัยอยู่ใต้มหาสมุทรซึ่งภาคนี้ลุกขึ้นมาตีกับคองจนโลกสะเทือน เป็นที่รู้กันดีว่าก็อดซิลลาเวอร์ชันต้นตำรับจากญี่ปุ่นปี 1954 นั้นเป็นสัตว์ประหลาดที่จำศีลมาเนิ่นนาน และถูกปลุกให้ตื่นจากแรงระเบิดหลังมนุษย์ทดลองนิวเคลียร์ มันจึงเป็นสัญลักษณ์ความรุนแรงของสงครามที่คนญี่ปุ่นไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ โดยเฉพาะเมื่ออิชิโระ ฮอนดะ คนทำหนังผู้ให้กำเนิดก็อดซิลลาเองเป็นอดีตทหารที่เคยเข้าร่วมในกองทัพของจักรวรรดิญี่ปุ่น ก็อดซิลลาจึงผูกโยงแนบแน่นเป็นหนึ่งเดียวกับการเมืองและประวัติศาสตร์อย่างแยกไม่ออกมาตั้งแต่เริ่ม

คิงคอง (หรือคองในจักรวาล MonsterVerse) เองก็แยกไม่ขาดจากบริบททางสังคม มันปรากฏตัวครั้งแรกใน King Kong (1933) หนังแฟนตาซีของ เมเรียน ซี. คูเปอร์ ว่าด้วยสัตว์ประหลาดที่มีรูปร่างเหมือนลิงยักษ์ อาศัยอยู่ในเกาะสมมติแถบมหาสมุทรอินเดียร่วมกันกับสัตว์ดึกดำบรรพ์อื่นๆ เคราะห์ร้ายที่มีมนุษย์ที่บุกป่าฝ่าดงไปถ่ายหนังกันยังเกาะนั้น และพยายามจะจับคองกลับมายังนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เพื่อเอามาแสดงโชว์ในฐานะสิ่งมหัศจรรย์อันดับแปดของโลก ซึ่งคองหลบหนีจากการถูกล่ามตรวนมาได้ และปีนขึ้นไปบนตึกเอ็มไพร์สเตต กลายเป็นฉากจำที่ไม่ว่าจะรีเมกกี่เวอร์ชัน ก็ยังต้องมีฉากที่คิงคองขึ้นไปทุบอกคำรามอยู่บนยอดอาคารสูงลิ่วใจกลางเมือง (กระทั่งหนังสือคอมิกของ DC ในปี 1959 ยังวาดสัตว์ประหลาดทิทาโน ลิงเอปยักษ์ปีนตึกเดลีพลาเน็ตโดยมีซูเปอร์แมนบินวนคอยกำราบมันไว้ให้)

หนังประสบความสำเร็จถล่มทลายหลังออกฉาย อาจด้วยองค์ประกอบหลายอย่างทั้งความสดใหม่ของเนื้อเรื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างสัตว์ยักษ์กับมนุษย์ (แอนน์ ดาร์โรว หญิงสาวซึ่งคองวางใจมากที่สุดในเรื่อง) และที่สำคัญคืองานเทคนิคอันชวนตระการตาที่คนดูได้เห็นลิงสูง 24 ฟุต ปีนตึกสูงชะลูดชวนเขย่าขวัญผ่านจอภาพยนตร์ และประโยคจำที่ว่า “มันไม่ได้ตายเพราะเครื่องบินหรอก โฉมงามต่างหากที่สังหารมัน” อย่างไรก็ตาม ในอีกหลายปีต่อมา King Kong เวอร์ชันต้นตำรับของคูเปอร์นี้ถูกนำมา ‘อ่านใหม่’ นักวิจารณ์หลายคนตั้งข้อสังเกตว่าตัวหนังเล่าถึงการรุกรานของคนขาว (ในนามของกองถ่ายชาวอเมริกัน) ออกล่าอาณานิคมในดินแดนอันไกลโพ้น และเทียบเคียงตัวคองกับคนดำเข้าด้วยกัน นั่นเพราะว่าช่วงรอยต่อระหว่างศตวรรษที่ 19 เรื่อยมายังต้นศตวรรษที่ 20 ชาวแอฟริกันถูกคนขาวมองหรือเทียบเคียงว่าเป็นลิงเอป นักวิจารณ์บางคนออกความเห็นว่า “ความเป็นคนดำในหนังไม่ได้อยู่ในฐานะมนุษย์ แต่เป็นลิงเอป” ตลอดจนเส้นเรื่องที่เล่าถึงคนขาวที่รุกคืบไปยังดินแดนลับแล ลักพาตัวชนพื้นเมือง (หรือก็คือคอง) มายังอเมริกา แบบเดียวกับที่คนแอฟริกันเคยถูกจับขึ้นเรือมาในสมัยยุคค้าทาส (ตัวคูเปอร์เองออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหานี้และยืนยันว่าไม่มีวาระทางสังคมใดๆ ซ่อนเร้นอยู่ในหนังแน่นอน) 

คองกลับมาอีกครั้งในรีเมกปี 1976 โดยคนทำหนังชาวอังกฤษ จอห์น กิลเลอร์มิน ที่แม้ภาพรวมมันจะยังเล่าพล็อตเดิมอยู่คือการออกเดินทางของคนขาวไปยังป่าลี้ลับ และจับเอาคองกลับมายังอเมริกา แต่คราวนี้เส้นเรื่องหลักๆ ไม่ได้ว่าด้วยทีมคนทำหนังเดินทางไปออกกองยังเกาะปริศนา แต่เป็นกลุ่มพ่อค้าน้ำมัน นำโดย เฟร็ด วิลสัน (ชาร์ลส์ กรอดิน) ชายโลภที่เชื่อว่าต้องมีบ่อน้ำมันขนาดใหญ่อยู่ที่เกาะลึกลับแถบมหาสมุทรอินเดีย จึงเตรียมออกเดินทางเพื่อไปขุดน้ำมันท่ามกลางการทัดทานของ พรีสก็อตต์ (เจฟฟ์ บริดเจส) นักบรรพชีวินวิทยา โดยระหว่างนั้นก็มีดาร์โรว (เจสสิกา แลง) นักแสดงสาวที่จับพลัดจับผลูติดเรือมาด้วยออกเดินทางไปยังเกาะลี้ลับด้วยกัน

ช่วงเวลากลางปี 1970s อเมริกาตกอยู่ภายใต้วิกฤติน้ำมันครั้งรุนแรง นับตั้งแต่ปี 1973 ที่อียิปต์-ซีเรียประกาศรบกับอิสราเอลที่อเมริกาหนุนหลังอยู่ในสงครามยมคิปปูร์ เพื่อจะแก้เผ็ด ‘พี่ใหญ่’ ของอิสราเอลในเวลานั้น กลุ่มผู้ส่งออกน้ำมันคือโอเปกจึงไม่ยอมขายน้ำมันให้อเมริกา (หรือขายให้ก็แพงมหาศาล) จนคนทั้งประเทศขาดแคลนน้ำมัน รัฐบาลต้องออกนโยบายให้ประชาชนเติมน้ำมันแบบจำกัดวัน จนเป็นภาพรถติดเรียงรายบนถนนเพื่อต่อคิวเติมน้ำมัน รวมไปถึงเครื่องดับกลางทางจนเป็นที่ชินตา 

อย่างไรก็ดี สิ่งที่โดดเด่นอย่างมากของ คิงคอง เวอร์ชันปี 1976 คือการที่มันผลักเรื่องเพศไปจนสุดเพดาน จากที่เวอร์ชันก่อนหน้า นักแสดงสาวอย่างดาร์โรวเป็นตัวละครที่คองหลงใหลและพยายามปกป้อง (เพราะเจตนาที่มันปีนขึ้นไปยังยอดตึกนั้นไม่ใช่เพราะจะอาละวาด แต่เพื่อปกป้องดาร์โรวซึ่งอยู่บนนั้นให้ปลอดภัยจากการโดนมนุษย์ด้วยกันคุกคามต่างหาก) มาเวอร์ชันนี้ ดาร์โรวเป็นตัวละครเซ็กซี่และดึงดูดทั้งมนุษย์ทั้งคอง รับบทโดยเจสสิกา แลง นางแบบสาวจากนิวยอร์กวัย 27 ปี ที่ไม่เคยผ่านประสบการณ์การแสดงมาก่อน แต่โปรดิวเซอร์หนังอย่างดีโน เดอ ลอเรนติส อยากได้นักแสดงสาวที่มีแรงดึงดูดทางเพศล้นเหลือ จึงเลือกให้เธอมารับบทเป็นดาร์โรวซึ่งทั้งเรื่องสวมเศษผ้าชิ้นเล็กและเกือบเปลือยตลอดเวลา (เมอรีล สตรีป บอกว่าเธอถูกทาบทามให้รับบทนี้ แต่โปรดิวเซอร์บอกว่าเธอ ‘ไม่ดึงดูดมากพอ’ จึงถูกปัดตกในที่สุด) มันจึงถูกจดจำในฐานะหนังสัตว์ประหลาดที่เซ็กซี่และยั่วยวนมากที่สุดเรื่องหนึ่ง (ไม่เชื่อไปดูฉากที่คองเอานิ้วใหญ่โตของมันสะกิดเศษผ้าออกจากร่างดาร์โรวได้)

คองหวนกลับมาสู่จอภาพยนตร์ในยุคโมเดิร์นอีกครั้งในเวอร์ชันรีเมกปี 2005 ของ ปีเตอร์ แจ็คสัน ที่ยาวเหยียดแบบลืมหายใจที่สามชั่วโมงครึ่ง โดยหวนกลับไปเล่าด้วยเส้นเรื่องแบบเดิม ว่าด้วยกองถ่ายถังแตกของ คาร์ล (แจ็ค แบล็ค) ไปออกกองถ่ายกันยังเกาะลับแล โดยมีนักแสดงสาวตกอับ ดาร์โรว (นาโอมิ วัตต์ส) และนักเขียนบทมือทอง แจ็ค (เอเดรียน โบรดี) ร่วมเดินทางไปด้วย แต่ยังไม่ทันได้ตั้งกองถ่ายหนังกัน พวกเขาก็พบว่าโดนชนพื้นเมืองจู่โจมจนทำให้ทีมงานตายไปสองคน อีกทั้งดาร์โรวยังถูกลักพาตัวไปสังเวยให้คอง ลิงเอปยักษ์สูง 7.6 เมตร ซึ่งถือเป็นไซส์ที่ใกล้เคียงกับเวอร์ชันปี 1933 มากที่สุด ท่ามกลางอันตรายต่างๆ ทั้งชนพื้นเมืองและสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่ยังหากิน ใช้ชีวิตอยู่บนเกาะแห่งนั้น คาร์ลจึงเปลี่ยนเป้าหมายที่จะถ่ายหนังเป็นเก็บฟุตเตจคองไว้ให้ได้มากที่สุด ทั้งยังตั้งมั่นจะพาคองกลับไปยังอเมริกาในฐานะสิ่งมหัศจรรย์อันดับแปดของโลกให้ได้

หากไม่นับความยาวของเรื่องที่ยืดขยายออกไปจากต้นฉบับเกือบเท่าตัว King Kong ของแจ็คสันเคารพต้นฉบับมากที่สุดทั้งในเชิงโครงเรื่อง หรือแม้แต่รายละเอียดอย่างประโยค “โฉมงามต่างหากที่สังหารมัน” ปิดท้ายเรื่อง ทั้งตัวดาร์โรวก็ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นวัตถุทางเพศโดยตรงอย่างปี 1976 เธอเป็นตัวละครที่พบรักกับแจ็ค นักเขียนบท พร้อมกันกับที่ให้ความรู้สึกเห็นอกเห็นใจลิงเอปยักษ์ที่ถูกมนุษย์ลักพาตัวมายังอเมริกา (แม้จะมีคนดูบางกลุ่มบอกว่า ทำไมคนพวกนี้ถึงตื่นเต้นกับลิงยักษ์ทั้งๆ ที่มีไดโนเสาร์เป็นๆ เพ่นพ่านอยู่ทั่วเกาะกันได้นะ) ทั้งเรื่องราวยังมีฉากหลังเป็นช่วงที่อเมริกาเผชิญหน้ากับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ตัวละครหลายตัวในเรื่องทั้งผู้กำกับและนำหญิงจึงตกอยู่ในสภาพแร้นแค้นและหดหู่เกือบตลอดเวลา (ดาร์โรวตกอับขนาดว่าต้องไปขโมยผลแอปเปิลจากจานวางผลไม้มากิน) ความหวังเดียวในการจะกลับมาร่ำรวยอีกครั้งของพวกเขาจึงไม่ใช่การทำหนังหากินอีกต่อไป แต่เป็นการจับเอาคองมาเปิดโชว์ซึ่งสะท้อนให้เห็นความจนตรอกและดำมืดของมนุษย์ในห้วงเวลาตกต่ำ

ทั้งนี้ สถานะของคองยังถูกยึดโยงกับชาวแอฟริกันอยู่เนืองๆ แม้จะผ่านมาหลายปีแล้ว และทีมสร้างก็พยายามหาข้อแก้ต่างให้มันเรื่อยมา นั่นเพราะเส้นเรื่องที่ว่าด้วยการลักพาตัวมายังเมืองใหญ่ การตรวนโซ่ขึ้นเรือบรรทุกมายังอเมริกา หรือตลอดจนการถูกบังคับให้กลายเป็นสินค้าโชว์ให้คนจ่ายเงินเพื่อเข้าชม ราวกับเหตุการณ์สวนสัตว์มนุษย์ในศตวรรษที่ 19 จนการมาถึงของ Kong: Skull Island (2017) ที่ฉีกแยกไปจากธีมเรื่องเก่าๆ เพราะคองไม่ได้ถูกลักพาตัวมายังโลกยุคใหม่ มีแค่เพียงมนุษย์ที่เข้าไปยังเกาะนั้นแล้วหาทางกลับออกมาไม่ได้ มนุษย์จึงกลายเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ให้คองและสิ่งมีชีวิตในเกาะลับเสมอมา 

ฉากหลังของหนังคือช่วงเวลาหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ตัวละครครึ่งหนึ่งจึงเต็มไปด้วยอดีตนายทหารผ่านศึกทั้ง แฮงค์ (จอห์น ซี. ไรลีย์) นายทหารอเมริกันจากสงครามโลกครั้งที่สองที่ติดอยู่บนเกาะนานเกือบสามสิบปี, เจมส์ คอนราด (ทอม ฮิดเดิลสตัน) อดีตกัปตันหน่วยรบพิเศษของกองทัพบกอังกฤษที่เข้าร่วมรบในสงครามเวียดนาม และเมสัน (บรี ลาร์สัน) ช่างภาพสาวที่ออกเดินทางถ่ายภาพเพื่อต่อต้านสงคราม ตลอดจนนายพลแพกการ์ด (ซามูเอล แอล. แจ็คสัน) อดีตนายทหารที่เคียดแค้นชิงชังต่อคอง และเป็นคนเดียวที่ทะเยอทะยานจะสังหารลิงยักษ์ (ที่เวอร์ชันนี้สูงถึง 31 เมตร) หากแต่ล้มเหลวอย่างน่าเศร้า คองในเวอร์ชันนี้จึงมีภาพแทนเป็นเทพเจ้าที่ปราบมนุษย์ผู้เบาปัญญาตายคาเกาะ ซึ่งต่อมาก็เป็นสถานะที่สอดรับกับการได้ไปปะทะกับราชาอย่างก็อดซิลลาใน Godzilla vs. Kong ด้วย นั่นคือเป็นการต่อสู้ของเทพ มนุษย์เป็นแค่ละอองธุลีไร้ผลใดๆ

หากมองอายุของคอง ปีนี้มันก็อายุครบ 88 ปี นับจากการถือกำเนิดขึ้นมาในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ของสหรัฐฯ ผนวกเข้ากับเส้นเรื่องวิกฤติน้ำมันโลก และถูกวางให้เป็นตัวละครที่มีสถานะดั่งเทพเจ้าในหนังยุคหลังๆ จากเมื่อก่อนที่ถูกมองเป็นแค่สัตว์ป่า ก็ถือว่ามันมาไกลมากเหมือนกัน และเราอาจจะพูดได้ด้วยว่า การเมืองในฮอลลีวูดเองก็ปรากฏผ่านเรื่องราวการทำหนังสัตว์ประหลาดยักษ์นี้ ผ่านการลบล้างไม่ให้มันถูกโยงไปสู่เรื่องการค้าทาสในหนังยุคใหม่ หรือกระทั่งการเมืองผ่านตัวละครหญิงที่หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า ในยุคหลังๆ ตัวละครหญิงในแฟรนไชส์คองนั้นไม่ได้ทำหน้าที่เป็นวัตถุทางเพศอีกแล้ว (หรือถ้ามีก็เจือจางและไม่ข้นคลั่กเท่าปี 1976) ซึ่งด้านหนึ่งมันอาจสะท้อนความพยายามหลบเลี่ยงคำครหาและไล่ตามแนวคิดยุคใหม่ๆ ให้ทัน

การมาเยือนของ Godzilla vs. Kong ในปีนี้จึงเป็นที่น่าจับตาว่า มันจะถูกนักวิจารณ์ตีความอย่างไร ทั้งจากตัวหนังที่ว่าด้วยสัตว์ยักษ์ตีกัน หรือจากการทำหนังในฐานะหนังบล็อกบัสเตอร์ฟอร์มยักษ์ในช่วงเวลายากลำบากของคนทำหนังทั่วโลกเช่นนี้

Tags: , ,