ในบรรดาผู้จัดทำสารคดีธรรมชาติที่โด่งดังที่สุด เห็นจะไม่พ้นบริษัท BBC (British Broadcasting Corporation) ที่เรามักจะจดจำภาพและเสียงของผู้บรรยายอันนุ่มลึกท่ามกลางป่าดงดิบ แผ่นน้ำแข็ง ทะเลทราย หรือท้องทะเลลึกได้เป็นอย่างดี ในขณะที่พวกเขาค่อยๆ บรรจงเล่าเรื่องราวอันน่าตื่นตาตื่นใจของภาพธรรมชาติอันสวยงามและอลังการ เสมือนเราได้ไปยืนอยู่ตรงนั้นจริงๆ พร้อมกับเสียงดนตรีจากวงออร์เคสตราที่โหมโรงและสร้างบรรยากาศให้กับรายการจนเป็นซิกเนเจอร์ที่ยากจะลืมเลือน
แน่นอนว่าในกลุ่มสารคดีเรือธงของ BBC นั้น สาขาด้านการสำรวจมหาสมุทรเป็นอะไรที่ผมชื่นชอบมาตั้งแต่เด็ก และโชคดีมากที่มีโอกาสได้ดู The Blue Planet หนึ่งในซีรีส์แรกๆ ที่ BBC ทำเกี่ยวกับการสำรวจท้องทะเลภายใต้ความละเอียดสูงและเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มีให้ใช้ในช่วงยุค ค.ศ. 2000 ซึ่งก็ทำให้ The Blue Planet กลายเป็นชิ้นงาน Masterpiece ที่กวาดรางวัลทั้ง Emmy และ BAFTA ไปแบบสบายๆ รวมถึงเป็นต้นกำเนิดให้กับซีรีส์สารคดีชื่อดังในชุด Life ตามมาอีกหลายโปรแกรม และล่าสุด BBC มีการทำภาคต่อออกมาในชื่อ Blue Planet II ในปี ค.ศ. 2017 ด้วย
ในตัวซีรีส์เองมีเรื่องน่าจดจำเยอะครับ ทั้งเรื่องราวของหอยฝาเดียวที่เป็นนักล่าตัวฉกาจ ชีวิตของปูเสฉวน ระบบนิเวศในดงสาหร่ายเคลป์ ภาพของสิ่งมีชีวิตนับร้อยที่ไม่เคยถูกถ่ายทำมาก่อนในประวัติศาสตร์ หรือเสียงของนักพากย์อย่าง เซอร์ เดวิด แอตเทนโบโร (David Attenborough) ที่คงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ไม่รู้ลืม แต่สิ่งหนึ่งที่สะกิดใจผมมาโดยตลอดคือภาพของโครงกระดูกวาฬที่ตั้งตระหง่านอยู่กลางพื้นมหาสมุทรในตอน สำรวจท้องทะเลลึก ซึ่งเป็นภาพที่ดูน่ากลัวและชวนหดหู่มาก ในตอนนั้นผมเองยังไม่มีความรู้พอจะแปลสิ่งที่ได้ยิน เลยทำให้คิดไปต่างๆ นานาว่า ศพวาฬจะมีประโยชน์อะไรในพื้นที่ที่ปราศจากชีวิตและไม่มีอะไรให้เห็นเลย
กว่า 20 ปีผ่านไปนับตั้งแต่การสำรวจในครั้งนั้น ตอนนี้เรามีข้อมูลมากยิ่งขึ้นเกี่ยวกับระบบนิเวศที่เข้าถึงยากที่สุดแห่งหนึ่งในโลกมากขึ้นหลายเท่า
กลายเป็นว่าซากวาฬไม่ได้เป็นเพียงแค่อาหารไม่กี่มื้อให้กับตัวอะไรก็ตามที่โชคดีพอจะมาเจอมัน แต่เป็นเสมือนประกายไฟที่จุดกำเนิดระบบนิเวศขนาดย่อมๆ ขึ้นมาในบริเวณนั้นเลยทีเดียว รวมถึงมีความสำคัญกับทั้งห่วงโซ่อาหาร ปรากฏการณ์ในดินแดนอันมืดมิดและเย็นยะเยือกนี้ที่เกินกว่าเราจะจินตนาการได้
บทความนี้จะพาทุกท่านดำดิ่งไปดูหนึ่งในกลไกที่ช่วยให้โลกใต้ท้องทะเลอันแสนจะลึกสุดกู่ สามารถจุนเจือชีวิตใหม่นับล้านได้อย่างน่าประหลาดจากการสิ้นสุดลงของอีกหนึ่งชีวิต ผ่านปรากฏการณ์ที่เราตั้งชื่อได้อย่างตรงไปตรงมาว่า Whale fall (ซากวาฬตก)
อาหารในห้วงทะเลลึก
ก่อนอื่น ผมขอให้คุณผู้อ่านจินตนาการว่าตัวเองเป็นสัตว์ทะเลชนิดหนึ่ง เจ้าสัตว์ทะเลนี่ต้องเลือกที่อยู่ที่จะใช้อาศัยในทะเลซึ่งตัวเลือกก็มีตั้งแต่ผิวน้ำไปจนถึงก้นบึ้งของมหาสมุทร การเลือกที่จะไปอยู่ที่ส่วนลึกที่สุดดูน่าจะเป็นไอเดียที่ไม่ดีเท่าไหร่ แต่การที่ยังมีสิ่งมีชีวิตอยู่รอดในพื้นที่อันแสนจะเลวร้ายนี้ แสดงว่ามันต้องมีข้อได้เปรียบเชิง ‘ยุทธศาสตร์’ อย่างใดอย่างหนึ่งอยู่แน่ๆ ใช่ไหม?
ทีนี้ พื้นที่ในทะเล (Aquatic layers) สามารถแยกเป็นระดับชั้นต่างๆ ได้จากความลึก ซึ่งแน่นอนว่าในแต่ละชั้นจะมีเอกลักษณ์แตกต่างกันไป ในส่วนของ ‘พื้นมหาสมุทร’ นั้นจะอยู่ในโซน Abyssal (ความลึก 4,000-6,000 เมตร) ไปจนถึง Hadal (ลึกมากกว่า 6,000 เมตร) หรือร่องลึกก้นมหาสมุทร ทั้งหมดนี้นับเป็นจุดสิ้นสุดของเขตทะเลเป็นพื้นที่ของมหาสมุทรนอกพื้นที่ชายฝั่ง (Pelagic zone) ในมหาสมุทรแล้ว โดยมักจะมีความลึกที่ประมาณ 3,000 ถึง 6,000 เมตร ลงไป ในโซนนี้แสงแดดไม่สามารถส่องถึงได้เลยแม้แต่น้อย เรียกว่ามืดสนิทไม่ต่างจากในห้วงอวกาศเลยด้วยซ้ำ (ลืมเรื่องแหล่งอาหารที่มาจากพืชหรือกระบวนการสังเคราะห์แสงไปได้เลย) แถมความดันของน้ำก็สูงจนน่าใจหาย พร้อมกับอุณหภูมิอันเย็นยะเยือกที่ 2-3 องศาเซลเซียส เท่านั้น
แล้วอาหารจะมาจากไหนกัน ในเมื่อมันคือนรกดำมืดอันไร้ทรัพยากรอย่างชัดเจนขนาดนี้ คำตอบนั้นอยู่ที่จุด ‘สิ้นสุด’ ที่พื้นที่เหล่านี้คลอบคลุมอยู่ ในเมื่อเป็นบริเวณก้นมหาสมุทร ทุกอย่างที่ตายจากข้างบนจะต้องจมลงมาที่นี่อยู่ดี อาจจะมากบ้างน้อยบ้างตามแต่บริเวณ แต่แรงโน้มถ่วงย่อมการันตีว่าสารอินทรีย์และอนินทรีย์ทุกรูปแบบจะต้องจบลงที่พื้นสมุทรไม่ทางใดก็ทางหนึ่งอยู่ดี ทำให้เกิดปรากฏการณ์น่าตื่นตาตื่นใจที่เราเรียกกันว่า ‘Marine snow’ ซึ่งก็คือการที่เศษซากอินทรีย์จากเบื้องบนผิวน้ำทยอยจมลงมา และเกาะตัวกันเป็นเหมือนวัสดุสีขาวนับล้านๆ ลอยละล่องไปทั่ว เสมือนเราดำอยู่ท่ามกลางดงหิมะ (Marine snow เป็นหนึ่งตัวอย่างที่ชัดที่สุดของวัฏจักรคาร์บอนของระบบนิเวศทางทะเล)
ดังนั้นถ้าคุณเป็นสิ่งมีชีวิตในกลุ่มกินเศษซาก นักย่อยสลาย หรือเป็นนักล่าประเภทฉวยโอกาส ก้นสมุทรก็เป็นเหมือนสวรรค์ที่ทำให้คุณแทบไม่ต้องไปแข่งกับใครเลยก็ว่าได้ เพราะข้อได้เปรียบนี้มันตรงกับ ‘ยุทธศาสตร์’ การหากินของคุณอยู่ดี บางสายพันธุ์ของสัตว์น้ำลึกนั้นวิวัฒนาการและมีชีวิตรอดได้จากเศษซากที่มาจาก Marine snow เลยด้วยซ้ำ
แต่ปัญหาสุดท้ายคืออาหารที่มีนั้นมันกระจายไปทั่วและมักจะมีความเข้มข้นต่ำ ทำให้ต้องเปลืองพลังงานสุดๆ ในการทยอยเก็บเศษพลังงานเหล่านี้กิน จะมีบ้างไหมที่จะเกิดแหล่งอาหารขนาดใหญ่พร้อมระบบนิเวศอันสลับซับซ้อนในดีกรีที่พอจะเอาไปแข่งกับแนวปะการังของท้องน้ำด้านบนได้บ้าง คำตอบคือมีอยู่แล้ว เพราะไม่ใช่แค่เศษอาหารที่แหลกเป็นผงโกโก้ครันช์เท่านั้นที่จมลงมาสู่สุสานเบื้องลึกนี้ แต่ในบางครั้งก็มี ‘แจ็กพอต’ ชิ้นมโหฬารร่วงลงมาเพื่อสร้าง ‘ระบบนิเวศใหม่’ ในพื้นที่แห่งนี้ด้วยเช่นกัน
ปรากฏการณ์ (ซาก) วาฬตก หรือ ‘Whale fall’
‘แจ็กพอต’ ที่ผมกล่าวถึงนั้นมีหลากหลาย แต่เราจะมาเจาะลึกกับสิ่งที่โดดเด่นที่สุด ซึ่งก็คือ ‘ซากวาฬ’ นั่นเอง วาฬที่ตายและทิ้งศพตัวเองให้จมดิ่งไปจนถึงก้นมหาสมุทร (หรือโซนความลึกที่ผมกล่าวไว้แล้ว) ได้สำเร็จนั้นจะถูกเรียกรวมกันว่าปรากฏการณ์ ‘Whale fall’
มนุษย์เรากว่าจะรู้ว่ามีปรากฏการณ์นี้อยู่ก็ปาไปช่วงปี ค.ศ. 1977 แล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่การสำรวจทะเลลึกนั้นครึกครื้นมากๆ จากความสามารถของเรือดำน้ำประสิทธิภาพสูงที่มีความทนทานต่อแรงดันมหาศาลได้
โดยภารกิจแรกๆ ที่เจอกับระบบนิเวศซากวาฬนี้คือ ภารกิจของยานสำรวจ Trieste II (DSV-1) ที่พบกับโครงกระดูกยักษ์กองหนึ่งในพื้นทะเลแถว Santa Catalina ทะเลแปซิฟิกฝั่งที่ติดกับรัฐแคลิฟอเนียร์ของสหรัฐ โดยเป็นซากของวาฬสีเทาที่เก่าแล้วและไม่ค่อยมีตัวอย่างอะไรเหลืออยู่มาก ทำให้ไม่ได้มีการค้นคว้าเพิ่มเติมมากนักจากสิ่งที่ดูจะเป็นสุสานใต้น้ำอันแสนธรรมดานี้
จุดเปลี่ยนของวงการสำรวจทางทะเลครั้งใหญ่มาถึงพร้อมกับยานดำน้ำลึกชื่อดังนาม Alvin ที่มีภารกิจเจ๋งๆ อย่างการค้นพบซากเรือ RMS Titanic เป็นเครื่องยืนยันความสามารถ ซึ่งภารกิจครั้งนี้ของ Alvin ถูกควบคุมโดย เคร็ก สมิธ (Craig Smith) จาก University of Hawaii และคณะ
ในขณะที่ยานกำลังดำไล่เรี่ยไปกับพื้น ภาพของกองโครงกระดูกขนาดใหญ่ก็ค่อยๆ ก่อร่างขึ้นเมื่อไฟของยานสำรวจสาดเข้าไปหามันอย่างช้าๆ
พวกเขาคิดว่านี่น่าจะเป็นซากฟอสซิลขนาดใหญ่ของไดโนเสาร์ที่ถูกสภาพแวดล้อมใต้ทะเลช่วยให้คงสภาพเอาไว้ แต่เปล่าเลย เมื่อเข้าไปดูใกล้ๆ ก็พบว่านี่คือโครงกระดูกวาฬไม่ผิดแน่ แต่ที่แปลกไปกว่านั้นคือ บริเวณโดยรอบกลับเต็มไปด้วยสิ่งมีชีวิตหลากหลายชนิด อัดแน่นทั่วทั้งซากวาฬ แลดูแตกต่างจากท้องทะเลลึกอันไร้ซึ่งชีวิตโดยสิ้นเชิง นี่จึงเป็นครั้งแรกที่ระบบนิเวศชนิดพิเศษนี้ได้รับการบันทึกและเก็บตัวอย่างเอาไว้ได้อย่างเป็นทางการ ทำให้หลังจากนั้นเราสามารถระบุและสำรวจปรากฏการณ์นี้ได้มากขึ้น ผ่านการวัดข้อมูลการเดินทางของฝูงวาฬไปจนถึงการใช้เทคโนโลยีอย่างโซนาร์ความละเอียดสูง ในการส่องกราดพื้นทะเลเพื่อหาซากวาฬเป้าหมาย
ผลการวิจัยล่าสุดพบว่าระบบนิเวศที่เกิดจาก Whale fall นั้นจะมีระยะที่เด่นชัดพอตัว โดยเริ่มที่ระยะที่ 1 ซึ่งซากวาฬพึ่งจะเน่าเปื่อย ในระยะนี้เนื้อเยื่อและวัสดุอินทรีย์ของร่างกายวาฬยังคงอยู่ครบ สิ่งมีชีวิตที่เข้ามาใช้ประโยชน์จึงเป็นพวกปลานักล่าหรือนักกินซากที่ตามหาซากนี้จนเจอ โดยระยะนี้กินเวลาสั้นที่สุด เมื่อเนื้อทั้งหลายถูกกินไปซะเยอะแล้ว ระบบนิเวศก็พัฒนาไปสู่ระยะที่ 2 ซึ่งนักย่อยสลายนานาชนิดค่อยๆ เข้ามากัดกินกระดูกหรืออาศัยในบริเวณรอบซากวาฬอันอุดมไปด้วยโมเลกุลอินทรียสารนานาชนิดที่ถูกย่อยและกระจายออกไป ระยะที่ 3 เกิดขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปหลายปีต่อจากนั้น โดยแบคทีเรียในพื้นที่ได้ย่อยเอากระดูกวาฬและลิพิดที่หลงเหลืออยู่เป็นอย่างท้ายๆ จนกลายเป็นสารประกอบกำมะถัน อันเป็นอาหารให้หอยกาบน้ำลึก ทากทะเล หรือหนอนหลากหลายชนิด
ทั้งหมดนี้กินเวลาได้กว่าร้อยปี และถึงแม้อาหารทั้งหมดจะหายไป เศษซากแร่ธาตุที่เหลืออยู่ก็เป็นเสมือนอาหารเสริมให้กับสิ่งมีชีวิตในบริเวณนั้นต่อไปได้อีกเช่นกัน โดยนักวิทยาศาสตร์ได้เสนอให้นี่เป็นระยะที่ 4 ด้วย ซึ่งก็คงจะนับยาวไปจนซากวาฬนั้นย่อยสลายไปจนเกลี้ยงแล้วจริงๆ
ระยะทั้งหมดนี้คล้ายกันกับการเน่าเปื่อยของซากสิ่งมีชีวิตบนบก แต่ด้วยความพิเศษของสภาพแวดล้อมโดยรอบอันปราศจากสารอินทรีย์ จึงทำให้ Whale fall มีคุณค่าเชิงระบบนิเวศอย่างมหาศาลในฐานะเครื่องมือไม่กี่ชิ้นที่สามารถนำอาหารจากเบื้องบนลงมาได้ในปริมาณมากพอที่จะดำรงอยู่ได้เป็นระยะเวลานานหลักร้อยๆ ปี มากและนานพอที่จะจุนเจือหรือสร้างชีวิตใหม่ขึ้นมาได้ในบริเวณพื้นทะเลลึกได้
สำหรับระบบนิเวศที่ Whale fall สร้างขึ้นมานั้น สามารถเทียบเคียงได้กับปล่องภูเขาไฟใต้สมุทรเลย
เพราะเป็นเหมือน Hot zone ที่ทำให้เกิดการบูมของสปีชีส์ต่างๆ ได้มากมาย ที่เด่นๆ เลยคือกลุ่มปลา Hagfish ที่หน้าตาน่ารังเกียจสุดๆ ซึ่งมักจะเป็นลูกค้าหลักที่มารุมตอมซากในระยะแรกๆ ส่วนปลากินเนื้ออย่างพวกฉลามน้ำลึกก็มีให้เห็นด้วนเช่นกัน ที่ตามมาหลังจากนั้นก็มีทั้งปลาน้ำลึกอื่นๆ ที่กินเศษซากขนาดเล็กลงได้อย่างพวกปลาไหล, หนอน (เน้นไปที่ตระกูล Osadex), ปู, กุ้ง, หมึก, ไอโซพอด, หอย, และจุลินทรีย์นานาชนิด บางสายพันธุ์แทบไม่มีโอกาสพบเห็นได้เลย ถ้าไม่ใช่ในระบบนิเวศอันแสนพิเศษนี้
Whale fall จึงเป็นเสมือนโอเอซิสแห่งห้วงทะเลลึกเลยก็ว่าได้ และยังช่วยกระจายรอยเท้าแห่งชีวิตไปทั่วดินแดนอันรกร้างตามแนวการเดินทางของวาฬได้เป็นอย่างดี รวมถึงเป็นขั้นตอน Biological pump ที่เติมคาร์บอนหลายตันและสารอินทรีย์อีกเพียบกลับสู่พื้นโลกอีกครั้งหนึ่ง
ทำไมต้องเป็นวาฬ
เพราะวาฬนั้นมีขนาดใหญ่คงเป็นคำตอบที่ตรงเกินไปนิด แต่ใช่ครับ นี่เป็นตัวแปรหลักที่ทำให้ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นได้ เพราะซากสัตว์ขนาดเล็กมักจะถูกกำจัดจนเรียบก่อนจะตกถึงพื้นทะเลลึกหลายกิโลเมตรอยู่แล้ว วาฬซึ่งเป็นสัตว์ขนาดใหญ่และมีผิวที่หนาจึงสามารถจมลงได้อย่างรวดเร็วเมื่ออากาศภายในหลุดรอดออกมาจนหมดและผ่านพ้นจากการย่อยสลายในทะเลระดับบนๆ ได้นั่นเอง
ส่วนประกอบของวาฬยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ Whale fall มีเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใคร เพราะวาฬนั้นอุดมไปด้วยโปรตีนจากเนื้อ ร่วมกับไขมันและลิพิดที่อัดแน่นจนมนุษย์อย่างเราๆ เอามาใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลายในฐานะน้ำมันวาฬมาแล้วในยุคหนึ่ง ทั้งหมดนี้เป็นแหล่งของสารอาหารที่โลกใต้ทะเลลึกไม่ค่อยได้เจอ จึงทำให้ดึงดูดสิ่งมีชีวิตในระดับความลึกนี้เข้ามาได้อย่างรวดเร็ว
กระดูกวาฬยังช่วยสร้างระบบนิเวศย่อยๆ ในซากวาฬหลักได้อีกด้วย เพราะแคลเซียมและลิพิดที่เกาะอยู่ล้วนเป็นอาหารและโครงสร้างอันแข็งแรงให้สัตว์ในกลุ่มหนอนทะเลใช้ปักหลักกันได้เต็มที่ ในบางกรณีก็เยอะซะจนดูแล้วเหมือนดงหญ้าปกคลุมทั่วโครงกระดูกวาฬเลยทีเดียว เจ้าหนอนพวกนี้สามารถย่อยกินกระดูกวาฬได้นับสิบๆ ปี และของเสียจากพวกมันก็ส่งต่อไปให้จุลินทรีย์ใช้ต่อได้อีก เป็นวัฏจักรคาร์บอนเล็กๆ ที่แฝงเข้าไปอีกชั้น
นอกจากนี้ เรายังได้ทำการวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ‘ซาก’ ชนิดอื่นๆ ด้วยเช่นกัน โดยเปรียบเทียบระหว่างซากที่พบตามธรรมชาติและซากที่ทำการจมเพื่อทดสอบโดยมนุษย์ ซึ่งก็มีทั้งซากสัตว์ทะเลขนาดใหญ่อย่างฉลามวาฬ ปลากระเบน ไปจนถึงสาหร่ายเคลป์หรือต้นไม้ซึ่งสามารถจมลงไปเป็นแหล่งอาหาร (Food fall) ได้เช่นกัน แต่ทั้งหมดนี้มีผลกับระบบนิเวศพื้นทะเลต่างจากซากวาฬโดยสิ้นเชิง ทั้งกับชนิดพันธุ์ของสัตว์ที่เข้ามา และระยะเวลาที่ซากเหล่านี้ถูกย่อยสลายนั้นก็มักจะเร็วกว่าด้วย ทำให้ไม่ค่อยหลงเหลืออะไรให้สิ่งมีชีวิตในระยะท้ายๆ ของการย่อยสลายเข้ามาใช้ประโยชน์ ความหลากหลายทางชีวภาพจึงลดลงตามไป
การค้นพบใหม่ๆ และความเกี่ยวข้องของมนุษย์
ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา พวกเราสามารถระบุตำแหน่งซากวาฬได้เพิ่มขึ้นหลายเท่าผ่านยานสำรวจระยะไกล (ROV: Remotely Operated Vehicle) และใช้โซนาร์กับเครื่องสแกนอัตโนมัติที่นับวันก็จะยิ่งมีความละเอียดและประสิทธิภาพสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้การสำรวจซากวาฬในแต่ละจุดสามารถทำได้โดยง่าย รวมถึงสามารถเทียบข้อมูลในแต่ละช่วงเวลาหรือสถานที่ได้ด้วยเช่นกัน ในปัจจุบันการดำสำรวจซากวาฬมักจะทำกันเป็นเรื่องปกติทุกปีเลยด้วยซ้ำ ทำให้มีการค้นพบชนิดพันธุ์สัตว์ใหม่ๆ ที่ปรับตัวมาเป็นพิเศษเพื่ออาศัยในระบบนิเวศ Whale fall มากขึ้นเรื่อยๆ
ถึงแม้ว่าสายพันธุ์พวกนี้จะมีลักษณะไม่ค่อยน่าตื่นตาตื่นใจเท่าไหร่เพราะมักจะเป็นกลุ่มผู้ย่อยสลาย แต่ก็เป็นเครื่องการันตีถึงความหลากหลายทางชีวภาพของก้นทะเลลึกได้เป็นอย่างดี ไม่แน่ว่าเราอาจจะพบกับสายพันธุ์ใหม่มากยิ่งขึ้นอีกจากการวิเคราะห์ตัวอย่างที่เก็บขึ้นมาด้วยยานสำรวจ ROV ในแต่ละไซต์ เพราะตำแหน่งของซากวาฬก็มีผลต่อสายพันธุ์ที่เกิดขึ้นเป็นระบบนิเวศด้วยเหมือนกัน ใครที่สนใจดูภารกิจเหล่านี้ ผมขอแนะนำช่อง YouTube ที่ชื่อว่า EVNautilus ที่นอกจากจะมีไลฟ์ความละเอียดสูงแล้ว ทีมนักวิทยาศาสตร์ยังบรรยายได้อินสุดๆ (ถ้าไม่รู้ว่าเป็นนักวิจัยนี่นึกว่าแก๊งเพื่อนรวมหัวกันนั่งบูลลีปลาทะเลในเซิร์ฟเวอร์ Discord) ทางทีม Nautilus เองมีการสำรวจ Whale fall เป็นประจำทุกปี จึงทำให้ได้ข้อมูลวิดีโอที่ทันสมัยพอสมควร
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือมีความเป็นไปได้สูงมากว่า ในยุคที่มนุษย์ล่าวาฬกันอย่างหนักนั้นส่งผลกระทำให้ปริมาณวาฬที่ตายตามธรรมชาติและจมไปเป็น Whale fall นั้นลดลงจนเข้าขั้นวิกฤติ เป็นการกระทบระบบ Biological pump อย่างรุนแรงจนน่าจะทำให้ระบบนิเวศท้องทะเลลึกได้รับความเสียหายอย่างรุนแรงจากการขาดสารอาหาร เพราะท้ายที่สุดแล้ว ทุกชีวิตที่อาศัยอยู่ ณ ก้นบึ้งของทะเลย่อมต้องพึ่งพาอาหารจากเบื้องบนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เนื่องด้วยไม่มีแหล่งพลังงานจากแสงอาทิตย์หรือพืชมาเป็นต้นกำเนิดของห่วงโซ่อาหารอย่างที่เราคุ้นชินกันบนพื้นโลก จึงเป็นอะไรที่ยืนยันได้อีกว่า มนุษย์เรานั้นหาเรื่องทำลายธรรมชาติได้แบบกว้างขวางเลยจริงๆ (ในปัจจุบันการล่าวาฬก็ยังคงมีอยู่ถึงแม้จะน้อยลงแล้วก็ตาม โดยประเทศที่นับว่าเป็นที่รู้จักในเรื่องนี้คือญี่ปุ่น ก็หวังว่าเขาจะเลิกการล่าเชิงพาณิชย์จริงๆ จังๆ กันได้แล้ว)
ผมหวังว่าการศึกษาเชิงลึกในด้านนี้จะมีสิทธิ์ช่วยอธิบายระบบนิเวศในลักษณะเดียวกัน เช่น ในถ้ำมืดที่ไร้แสง หรือใต้แผ่นน้ำแข็งบริเวณขั้วโลก ถึงความสัมพันธ์ระหว่างชีวิตที่ไม่สามารถเข้าถึงวัฏจักรอาหารได้ (ซึ่งก็มีแววจะประยุกต์ใช้ในการสำรวจหาสิ่งมีชีวิตในอวกาศได้อยู่เหมือนกัน) เราคงต้องดูกันว่าจะได้เห็นอะไรใหม่ๆ หรือไม่ในอนาคตอันใกล้นี้
บทส่งท้าย
สิ่งที่เราควรจะตระหนักคือ ไม่ใช่แค่เศษซากทางชีวภาพที่ตกลงสู่ก้นทะเลตามธรรมชาติเท่านั้น ผลจากกิจกรรมของมนุษย์ทำให้ขยะปริมาณมหาศาลต้องจบลงที่ก้นทะเลนับตั้งแต่เราเริ่มออกสำรวจและใช้งานท้องมหาสมุทรกันอย่างเต็มที่ สถานการณ์ยิ่งย่ำแย่ลงไปอีกเมื่อพลาสติกเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องด้วย เพราะเจ้าสิ่งนี้สามารถจมลงไปอยู่ที่ร่องลึกก้นสมุทรมาเรียนาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แถมการปนเปื้อนของพลาสติกในระบบนิเวศทางทะเลยังก่อให้เกิดปัญหาไมโครพลาสติกที่วนกลับมาทำร้ายพวกเราเองอยู่ดี
ดูเหมือนว่าระบบนิเวศท้องทะเลลึกก็คงไม่พ้นจากหายนะทางสภาพแวดล้อมนี้อยู่ดี เพราะทั้งซากเรือและขยะอีกนับไม่ถ้วนได้สร้างระบบนิเวศที่คล้าย Whale fall ขึ้นมาก็จริง แต่กระบวนการนี้ผิดธรรมชาติอย่างมหันต์ และเร่งการแตกตัวของพลาสติกและวัสดุปนเปื้อนที่เป็นอันตรายต่อระบบนิเวศมากขึ้นไปอีก
ผมว่าคงถึงเวลาแล้วที่เราต้องหยุดใช้พลาสติกกันอย่างจริงจังสักที เริ่มที่กลุ่มใช้แล้วทิ้งเป็นลำดับต้นๆ เลย เพราะเมื่อระเบิดเวลาเหล่านี้ลงถึงพื้นทะเลเมื่อไหร่ The fall of humanity ก็จะมาถึงเร็วขึ้นเท่านั้น
อ้างอิง
https://oceanservice.noaa.gov/facts/whale-fall.html
https://www.npr.org/2019/09/13/760664122/what-happens-after-a-whale-dies
https://www.nature.com/articles/433566a
https://www.nature.com/articles/srep22139
https://ocean.si.edu/ocean-life/marine-mammals/life-after-whale-whale-falls
https://www.youtube.com/watch?v=8e0Mw_25ojg&ab_channel=EVNautilus
https://nerc.ukri.org/planetearth/stories/137/
https://www.youtube.com/watch?v=wV2fwt8PZSw&ab_channel=Coldclough
https://www.youtube.com/watch?v=8e0Mw_25ojg&list=LL&index=1&ab_channel=EVNautilus
https://www.youtube.com/watch?v=fFtcK1cK1ro&list=LL&index=2&ab_channel=EVNautilus
https://www.youtube.com/watch?v=CZzQhiNQXxU&list=LL&index=3&ab_channel=EVNautilus
วิกิพีเดีย
https://en.wikipedia.org/wiki/Whale_fall
https://en.wikipedia.org/wiki/Deep_sea_community
https://en.wikipedia.org/wiki/Marine_snow
https://en.wikipedia.org/wiki/The_Blue_Planet
Tags: Scientifica, whale fall, the blue planet, ซากศพวาฬ, Science, สิ่งแวดล้อม, วาฬ