“ในประเทศที่เจริญแล้ว ‘ชุดนักเรียน’ กับ ‘เสรีภาพ’ สามารถเดินไปด้วยกันได้”

ตอนนี้สังคมไทยเกิดการตั้งคำถามกับชุดนักเรียนอีกครั้ง แรกเริ่มเกิดขึ้นจากการตั้งคำถามถึงความจำเป็นของยูนิฟอร์มในหลายสถาบัน จนเกิดการปะทะทางของสองชุดความคิด ฝ่ายหนึ่งรู้สึกว่าชุดนักเรียนมีความจำเป็น มีเพื่อฝึกฝนระเบียบวินัย ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ส่วนอีกฝ่ายมองว่าการแต่งตัวไปรเวทไม่ได้ส่งผลกับการเรียน แล้วทำไมจะใส่ชุดธรรมดาเข้าชั้นเรียนไม่ได้

การตั้งคำถามสั้น ๆ ลุกลามไปถึงรายละเอียดยิบย่อยของกฎระเบียบชุดนักเรียน เสื้อต้องใส่ในกางเกง ต้องเห็นหัวเข็มขัด ห้ามพับหรือห้ามม้วนถุงเท้า ไปจนถึงเรื่องอื่น ๆ เช่น เล็บต้องสั้นกุด ต้องตัดผมสั้นเท่าติ่งหู หรือไถผมทรงนักเรียน ที่มองว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกี่ยวกับความเสมอภาคอะไรเลย กลายเป็นประเด็นใหญ่ที่ถูกพูดถึงไปทั่วโลกโซเชียลว่า ตกลงแล้วทิศทางของชุดนักเรียนในสังคมไทยจะเดินไปทางไหนต่อ?

ท่ามกลางการตั้งคำถามมากมาย ทำให้เกิดความสงสัยใครรู้ถึงจุดกำเนิดของชุดนักเรียนว่าเริ่มต้นมาจากที่ไหน ไทยมีการกำหนดชุดนักเรียนตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่ละประเทศให้เด็ก ๆ สวมใส่ชุดนักเรียนด้วยเหตุผลอะไรบ้าง และประเทศที่ไม่ได้ซีเรียสกับยูนิฟอร์ม มีระบอบการศึกษาและการเรียนการสอนที่ดีกว่าประเทศที่ให้เด็กสวมใส่ชุดนักเรียนหรือไม่ 

ชุดนักเรียนในหน้าประวัติศาสตร์ไทย

สังคมไทยอยู่กับการแต่งกายด้วยชุดนักเรียนมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ราวพุทธศักราช 2428 (ค.ศ.1885) เนื่องจากต้องทำสยามให้ทันสมัยทัดเทียมชาติตะวันตก สังคมไทยจึงรับค่านิยมและวัฒนธรรมจากต่างแดน หนึ่งในนั้นคือการสวมเครื่องแบบของเด็กนักเรียน โดยกำหนดคร่าว ๆ ว่า จะต้องมีหมวกฟาง พร้อมผ้าพันหมวกตามสีประจำโรงเรียน เสื้อราชปะแตนสีขาว กางเกงขาสั้น ถุงเท้า และรองเท้าสีดำ ทว่าถุงเท้ากลับเป็นสิ่งของที่ชาวสยามยังไม่ได้ใช้กันอย่างแพร่หลาย จึงอะลุ่มอล่วยให้ไม่สวมใส่ถุงเท้าไปโรงเรียนได้

หลังจากรัชสมัยรัชกาลที่ 5 ที่ทำให้เห็นการมีอยู่ของชุดนักเรียนในสังคมไทย พระราชบัญญัติเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ. 2482 (ค.ศ.1941) ก็ถือกำเนิดขึ้น ภายใต้พระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ในยุคสมัยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดย พ.ร.บ.เครื่องแบบนักเรียน ระบุไว้ว่า ‘เครื่องแบบทั้งหลายที่กำหนดให้นักเรียนจากโรงเรียนรัฐบาลในความควบคุมของกระทรวงธรรมการ โรงเรียนประชาบาล โรงเรียนเทศบาล และโรงเรียนราษฎร์ เครื่องแบบนักเรียนจะเป็นอย่างใด จะให้แต่งเมื่อไหร่และโดยเงื่อนไขอย่างใดนั้น ให้เป็นไปตามระเบียบที่กระทรวงธรรมการกำหนดไว้’

อย่างไรก็ตาม การกำหนดเครื่องแบบนักเรียนตามพระราชบัญญัติถูกเปลี่ยนแปลงบ่อยครั้งตามยุคสมัย อาทิ ผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้หลายครอบครัวไม่มีเงินมากพอซื้อเครื่องแบบนักเรียนให้เด็ก ๆ ประกอบกับวัตถุดิบและเสื้อผ้าอยู่ในขั้นขาดแคลน กฎระเบียบที่เคยตั้งไว้จึงต้องทำให้หย่อนยานลง ก่อนจะกลับมาจริงจังอีกครั้งภายหลัง และเกิดการเปลี่ยนแปลงทางคลื่นความคิดครั้งใหญ่อีกครั้งในปี 2020

ชุดนักเรียนบนหน้าประวัติศาสตร์และสังคมโลก

‘อังกฤษ’ เป็นประเทศแรกในโลกที่ออกกฎให้นักเรียนต้องสวมเครื่องแบบที่สถานศึกษากำหนด บันทึกทางประวัติศาสตร์ระบุว่าช่วงปี 1222 อาร์คบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี สั่งให้ออกแบบชุดเสื้อคลุมยาวคู่กับเข็มขัดสีน้ำตาลอ่อน เรียกกันว่า ‘คัปป้าคลอซา’ (Cappa Clausa) ให้เด็กนักเรียนศาสนาสวมใส่เข้าชั้นเรียน ต่อมาในรัชสมัยของพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 มีการบันทึกว่า โรงเรียนแถบชานเมืองจะให้เด็กยากจนสวมเครื่องแบบเพื่อแยกพวกเขาเหล่านั้นออกจากนักเรียนชั้นสูง

ในปี 1552 โรงเรียนเพื่อการกุศล Christ Hospital ดีไซน์โค้ทยาวสีน้ำเงินให้กับผู้ที่เข้ารับการศึกษา เนื่องจากสีฟ้าหรือสีน้ำเงินคือสีย้อมผ้าที่มีราคาถูกที่สุด แต่ก็ไม่ได้ถูกเรียกว่าเป็นชุดนักเรียนอย่างเป็นทางการ จนกระทั่งปี 1870 เกิดการออกระเบียบการศึกษาชั้นต้นที่ระบุถึงเครื่องแบบนักเรียนอย่างชัดเจน จนทำให้โรงเรียนทั้งในอังกฤษและเวลส์ นิยมสวมใส่เครื่องแบบนักเรียนที่ประกอบด้วย เสื้อกั๊ก เนกไท สูท กางเกงสแลคขายาว

กระแสความนิยมการใส่ชุดนักเรียนของเด็กชาวอังกฤษเคยอยู่ในขั้นเฟื่องฟู ก่อนจะเสื่อมลงหลังจากผ่านพ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 หลายคนมองว่าชุดนักเรียนไม่มีความจำเป็นกับระบบการศึกษาอีกต่อไป ซ้ำยังมองว่าเป็นของฟุ่มเฟือย มีราคาแพง และใช้ได้แค่ช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น บ้างก็มองว่าชุดนักเรียนได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของกลุ่มชนชั้นสูงของอังกฤษไปเสียแล้ว ภายหลัง เกิดการวิจารณ์หนักขึ้นจนทำให้สถานศึกษาจำนวนมากตัดสินใจยกเลิกข้อบังคับให้สวมใส่ชุดนักเรียน

แม้โรงเรียนส่วนใหญ่ในอังกฤษจะยกเลิกการสวมชุดยูนิฟอร์ม แต่สถานศึกษาทรงเกียรติหลายแห่งยังคงเครื่องแบบเอาไว้เช่นเดิม อาทิ วิทยาลัยอีตัน โรงเรียนมัธยมชายล้วนที่ได้รับการขนานนามว่าดีที่สุดในโลก ที่ภายหลังเริ่มผ่อนปรนกฎระเบียบและพิธีการลงบ้างแล้ว (แต่ก็ยังต้องสวมยูนิฟอร์มอยู่) แต่ทางโรงเรียนจะมีวันอิสระให้เด็ก ๆ สามารถแต่งตัวอะไรมาเรียนก็ได้เช่นกัน  

ปัจจุบันโรงเรียนรัฐบาลในอังกฤษกว่า 40,000 แห่งทั่วประเทศ ยังคงกำหนดให้นักเรียนสวมเครื่องแบบอยู่ ท่ามกลางการวิพากษ์วิจารณ์ของกลุ่มเสรีนิยมที่มองว่าเป็นการสร้างระบบธุรกิจที่ไม่จำเป็น ผูกขาดการค้าอยู่กับเจ้าเดิม ๆ เนื่องจากโรงเรียนหลายแห่งสั่งทำเครื่องแบบจากโรงงานเดียวกัน และถ้าเด็กนักเรียนซื้อเครื่องแบบที่ไม่ได้ผลิตจากเจ้าเดียวกับโรงเรียนก็ถือว่าผิดกฎอยู่ดี  

คณะกรรมการการแข่งขันการค้า (The Official Fair Trading: OFT) ออกมาเรียกร้องให้โรงเรียนเลิกบังคับให้ซื้อยูนิฟอร์มจากร้านค้าเจ้าเดียว หรือแนะนำให้โรงเรียนใช้บริการผู้ผลิตมากกว่า 1 ราย เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและความเป็นธรรมกว่านี้ จากการลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่าเสื้อสเวตเตอร์ในร้านค้าที่โรงเรียนบอกว่าถูกกฎระเบียบขายอยู่ตัวละ 12 ปอนด์ แต่สเวตเตอร์ในร้านเสื้อผ้าทั่วไปที่มีหน้าตาเหมือนกับสเวตเตอร์ใส่ไปโรงเรียน มีราคาแค่ 5 ปอนด์เท่านั้น

ทาง OFT ไม่ได้โจมตีสถานศึกษาทั่วอังกฤษว่าจะต้องยกเลิกกฎเครื่องแบบนักเรียน แต่พวกเขามองเห็นถึงปัญหาของการผูกขาดการค้า รวมถึงปัญหาการแบกค่าใช้จ่ายจำนวนมากของผู้ปกครองที่จะต้องซื้อเครื่องแบบให้ตรงตามที่โรงเรียนกำหนด ทาง OFT กล่าวว่าเรื่องเหล่านี้สามารถหันหน้าเข้าหากันเพื่อแก้ปัญหาได้ เพราะเครื่องแบบนักเรียนควรคำนึงถึงความเหมาะสมของราคาด้วย

ไปดูทางฝั่งสหรัฐอเมริกากันบ้าง คนส่วนใหญ่มักเห็นหรือได้ยินการพูดถึงชุดนักเรียนตามสื่อบันเทิงต่าง ๆ อย่าง ภาพยนตร์ ทีวีซีรีส์ การ์ตูน เพลง หรือ นวนิยาย เด็กนักเรียนโรงเรียนเอกชนส่วนใหญ่มักสวมชุดยูนิฟอร์มเต็มยศ ส่วนเด็กโรงเรียนรัฐจะสวมชุดไปรเวทในสไตล์ของตัวเอง ตรงกันข้ามกับในประเทศไทยที่เด็กโรงเรียนรัฐจะต้องสวมชุดนักเรียน มีการกำหนดทรงผมทั้งชายหญิงชัดเจน เรียบร้อยทุกกระเบียดนิ้ว แต่โรงเรียนเอกชนระดับนานาชาติในไทยมักเปิดกว้างให้เด็ก ๆ แต่งตัวอย่างไรมาเรียนก็ได้

ความแตกต่างแบบขั้วตรงข้ามนี้มีเหตุผล โรงเรียนเอกชนส่วนใหญ่ในสหรัฐฯ มักมีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ผูกติดกับคริสต์ศาสนา โรงเรียนเริ่มต้นการเรียนการสอนกันในโบสถ์ และหลายแห่งก็ก่อตั้งขึ้นเพื่อรองรับเด็ก ๆ จากสังคมชนชั้นกลางไปจนถึงสูงโดยเฉพาะ ซึ่งครอบครัวที่ส่งลูกเข้าเรียนย่อมรับทราบถึงค่าใช้จ่ายเรื่องชุดนักเรียนอยู่ก่อนแล้ว

อังกฤษและสหรัฐอเมริกามักเกิดการปะทะทางความคิดอยู่บ่อย ๆ ถึงความจำเป็นของการมีชุดนักเรียน แต่การวิพากษ์ของพวกเขาจะโต้เถียงกันในระดับมัธยมศึกษาเท่านั้น เพราะการศึกษาระดับอุดมศึกษาของทั้งสองประเทศไม่ได้บังคับให้สวมชุดนักศึกษาแต่อย่างใด

เรายังคงเห็นเด็ก ๆ ในประเทศเคนยาแต่งเครื่องแบบนักเรียนไปโรงเรียน ทว่ารัฐบาลไม่ได้ปล่อยปละละเลยให้ครอบครัวทั่วประเทศต้องแบกภาระเรื่องค่าใช้จ่าย รัฐบาลจึงออกนโยบายมอบสวัสดิการโรงเรียนประถมศึกษาด้วยการแจกเครื่องแบบนักเรียนฟรีคนละ 2 ชุด เพื่อช่วยเหลือครอบครัวที่มีรายได้น้อย

โรงเรียนในนิวซีแลนด์ไปไกลกว่านั้น พวกเขาเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ เลือกใส่ยูนิฟอร์มของชายหรือหญิงได้ตามต้องการ เพื่อสนับสนุนตัวตนและอัตลักษณ์ของผู้สวมใส่ ควบคู่กับการชูประเด็นความหลากหลายทางเพศ เช่นเดียวกับโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งในจังหวัดชิบะ ประเทศญี่ปุ่น ก็ออกโรงสนับสนุนนักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศ อนุญาตให้นักเรียนมีอิสระในการเลือกสวมกระโปรงหรือกางเกงได้ตามใจ รวมถึงให้นักเรียนเลือกได้ด้วยว่าจะผูกเนกไทหรือติดโบ

ค่านิยมการสวมใส่เครื่องแบบนักเรียนในสังคมญี่ปุ่น ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่ช่วงการปฏิวัติเมจิ ค.ศ. 1868-1912 ด้วยเหตุผลคล้ายคลึงกับประเทศไทยสมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อทำให้ประเทศมีความทันสมัยทัดเทียมชาติตะวันตก และรัฐบาลญี่ปุ่นก็ได้นำแรงบันดาลใจจากระบบกองทัพมาปรับใช้กับการศึกษา รวมถึงออกแบบชุดนักเรียน เพื่อสร้างความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

ภายใต้โครงสร้างที่ชัดเจน พร้อมกับดีไซน์ชุดนักเรียนที่ถอดแบบมาจากเครื่องแบบทหารญี่ปุ่น (ที่เอามาจากเครื่องแบบทหารฝรั่งเศสอีกทอดหนึ่ง) เรียกกันว่า ‘กักคุรัน’ แรกเริ่มสงวนไว้สำหรับผู้ชายเท่านั้น ส่วนเด็กผู้หญิงที่ไปโรงเรียนจะเริ่มต้นด้วยการสวมชุดกิโมโน ก่อนจะออกเครื่องแบบนักเรียนหญิงในปี 1920 ที่รับแรงบันดาลใจจากราชนาวีอังกฤษ เรียกว่า ‘เซเลอร์ ฟุกุ’ (Sailor fuku) แต่คนญี่ปุ่นจะออกเสียงว่า ‘เซราฟุกุ’

ญี่ปุ่นถือเป็นประเทศที่โดดเด่นเรื่องชุดยูนิฟอร์ม มีคนไทยจำนวนไม่น้อยมักหยิบชุดนักเรียนญี่ปุ่นมาเทียบกับชุดนักเรียนไทย รวมถึงหยิบค่านิยมทางสังคมและวัฒนธรรมที่เป็นระเบียบเรียบร้อยมาประกอบ เพื่อบอกว่าไทยกับญี่ปุ่นมีความคล้ายคลึงกัน ถ้าสังคมญี่ปุ่นที่ให้เด็กใส่ชุดนักเรียนเป็นสังคมที่ดี ไทยก็ต้องเป็นแบบญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม แม้ญี่ปุ่นออกกฎให้เด็ก ๆ สวมชุดนักเรียนเหมือนกับไทย แต่บริบทที่แตกต่างหลายอย่างระหว่างสังคมไทยกับสังคมญี่ปุ่น ก็ทำให้ไม่สามารถเปรียบเทียบได้อย่างเด็ดขาด หรือสร้างความชอบธรรมได้ว่านักเรียนไทยควรจะใส่หรือไม่ใส่ชุดนักเรียนเหมือนกับประเทศญี่ปุ่น

ทางด้านประเทศที่ไม่ได้สนใจเรื่องชุดนักเรียนเท่าไหร่นักอย่างฝรั่งเศส คนส่วนใหญ่มองว่าการแต่งกายไม่มีความจำเป็นต่อการศึกษา ซ้ำยังละเมิดเสรีภาพในการแสดงออก และเน้นความสำคัญของปัจเจกหรือตัวตนแต่ละคนมากกว่าภาพรวม เช่นเดียวกับประเทศฟินแลนด์ ดินแดนที่โด่งดังเรื่องมาตรฐานการศึกษาระดับชั้นนำของโลก ที่ไม่ได้บังคับให้เด็ก ๆ ต้องใส่ชุดนักเรียน พร้อมชูนโยบายการศึกษาว่า ยิ่งสังคมมีความเสมอภาคมากเท่าไหร่ ประชาชนจะเตรียมพร้อมเปิดรับการศึกษามากเท่านั้น แถมยังส่งผลให้สุขภาพจิตดียิ่งขึ้นไปด้วย  

การศึกษาที่ได้คุณภาพ จะต้องเดินควบคู่ไปกับภาครัฐที่ดำเนินนโยบายทางสังคมที่มีประสิทธิภาพด้วย ซึ่งการศึกษาฟินแลนด์ไปไกลจนถึงขั้นที่ว่า โรงเรียนแห่งหนึ่งในกรุงเฮลซิงกิ มีเด็กจากครอบครัวที่ร่ำรวยมาก ครอบครัวชนชั้นกลาง และครอบครัวชนชั้นแรงงานรวมกันอยู่ในห้องเดียว เนื่องจากพวกเขาไม่ต้องจ่ายค่าเทอม ไม่มีเครื่องแบบนักเรียน ไม่มีค่าใช้จ่ายเรื่องอุปกรณ์การเรียน และมีนักจิตวิทยาและครูคอยส่งเสริมพัฒนาการอย่างใกล้ชิด

สำนักข่าว BBC เคยนำเสนอรายงานน่าสนใจเกี่ยวกับชุดนักเรียน ฮาน ซึงฮี นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยมิสซูรี เคยเขียนบทความเกี่ยวกับชุดนักเรียนลงวารสารการศึกษา IJEPL (International Journal of Education policy and Leadership) ระบุถึงความเป็นไปได้ว่าเครื่องแบบนักเรียนทำให้เกิดบรรยากาศแบบเผด็จการ หรือบรรยากาศแบบระบบกองทัพทหาร และเวลาส่วนใหญ่ในสถานศึกษาอาจถูกใช้ไปกับกฎข้อบังคับมากกว่าเนื้อหาในคาบเรียน

เรเชล เฮสเคธ (Rachel Hesketh) ผู้ช่วยนักวิจัยประจำสถาบันนโยบายแห่งมหาวิทยาลัยคิงส์ คอลเลจ ลอนดอน เคยเขียนบทความเมื่อปี 2015 ว่า ความสอดคล้องระหว่างเครื่องแบบนักเรียนกับผลคะแนนของเด็กไม่มีความเกี่ยวข้องชัดเจนเลย เพื่อยืนยันว่าชุดนักเรียนไม่ได้มีผลต่อคะแนนสอบของเด็กเท่าไหร่นัก

สำหรับสังคมไทยยังคงต้องเผชิญกับประเด็นชุดนักเรียนกันอีกนาน ทั้งฝ่ายที่ไม่ต้องการสวมใส่ชุดนักเรียน และฝั่งที่อยากให้เด็ก ๆ สวมชุดนักเรียนจะต้องตอบคำถามคาใจของอีกฝั่งให้ได้ อาทิ มีเหตุผลใดบ้างที่ทำให้ไม่อยากใส่ชุดนักเรียน จริงหรือไม่ถ้าไม่ใส่ชุดนักเรียนจะทำให้ไม่ตั้งใจเรียนจนผลคะแนนแย่ลง จนถึงคำถามเรื่องข้อบังคับด้านทรงผมที่ถูกพูดถึงไม่น้อยกว่ายูนิฟอร์ม

การตั้งคำถามจะยังคงดำเนินต่อไป ทุกคนต่างต้องหาคำตอบว่า ยูนิฟอร์มช่วยเรื่องความปลอดภัยได้จริงหรือไม่ แล้วทำไมเด็กถึงต้องใส่ชุดนักเรียนก่อนจึงจะปลอดภัย แต่สุดท้ายก็ยังมีผู้สวมใส่บางคนที่บอกว่าชุดนักเรียนก็ไม่ได้สร้างความรู้สึกปลอดภัยอะไรเลย นอกจากนี้เรื่องค่าใช้จ่ายก็เป็นสิ่งที่มองข้ามไม่ได้ กระโปรงนักเรียนตัวละ 500 บาท สามารถแบ่งเบาค่าใช้จ่ายหรือช่วยเพิ่มค่าใช้จ่ายกันแน่ รวมไปถึงประเด็นใหม่อย่างความแตกต่างหลากหลายทางเพศ ที่อาจต้องใช้เวลานานกว่าประเด็นอื่น ๆ เพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดให้กับสังคมไทย

 

ที่มา

https://dl.parliament.go.th/handle/lirt/17236

https://www.voathai.com/a/a-47-2007-10-23-voa2-90633609/920694.html

http://news.bbc.co.uk/2/hi/8601207.stm

https://school-uniforms.procon.org/history-of-school-uniforms/

https://blogs.kcl.ac.uk/policywonkers/do-school-uniforms-improve-students-behaviour-or-academic-performance/

https://www.bbc.com/thai/thailand-46811317

https://www.bbc.com/thai/features-45698818

https://uk.linkedin.com/in/rachel-hesketh-64a0a9ba

Tags: , , , , ,