หลายบริษัทเริ่มให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า โดยการรีไซเคิลและหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ เพื่อลดความเสี่ยงการขาดแคลนทรัพยากรและปัญหาสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้
ทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้ระบบเศษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งเน้นไปที่การหมุนเวียนทรัพยากรต่างๆ กลับมาใช้ให้เกิดความคุ้มค่าและเป็นประโยชน์มากที่สุด เพื่อกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
สำหรับการนำแนวคิด Circular Economy มาปรับใช้ในเชิงธุรกิจนั้นมุ่งเน้นไปที่ทรัพยากรต้องถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้ โดยมีการวางแผนและกระบวนการทำงานที่เหมาะสม เพื่อนำของเสียหรือของเหลือใช้กลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงชุมชนและสภาพแวดล้อมในบริเวณใกล้เคียง
หนึ่งในบริษัทชั้นนำที่ประยุกต์เอาแนวคิด Circular Economy มาใช้ ได้แก่ เอสซีจี ภายใต้แนวปฎิบัติที่เรียกว่า SCG Circular Way โดยริเริ่มทำโครงการต่างๆ ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างจริงจัง เพื่อใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด กระทบสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด และยังได้ช่วยเหลือชุมชนและคนในท้องถิ่นในเรื่องของหลักการใช้ชีวิตและสร้างรายได้เพิ่มขึ้น
โครงการที่เห็นได้ชัดเจนทั้งในด้านของวิธีการนำหลัก Circular Economy มาปฏิบัติ และผลลัพธ์ที่ได้ คือ ‘นวัตกรรมบ้านปลาจากท่อ PE 100’ ซึ่งทางเอสซีจีจะนำท่อ PE 100 (Polyethylene Pipe) ที่เหลือจากการขึ้นรูปสำหรับทดสอบเม็ดพลาสติกภายในโรงงาน มาใช้สร้างบ้านปลา เพื่อเป็นแหล่งอนุบาลและเป็นที่หลบภัยของสิ่งมีชีวิตในทะเล ปัจจุบันมีบ้านปลาจากท่อ PE 100 มากถึง 1,740 แห่ง โดยจะช่วยคืนความสมดุลของระบบนิเวศบริเวณชายฝั่ง พร้อมกับสร้างรายได้ให้กับชาวประมงพื้นบ้านได้ 1,500 บาท ถึง 3,000 บาทต่อวัน และมีคนเข้าร่วมโครงการในฐานะจิตอาสามากถึง 12,200 คน
นอกจากนี้ยังมีโครงการ ‘ต้นแบบถนนพลาสติกรีไซเคิล’ (Recycled Plastic Road) อีกหนึ่งนวัตกรรมตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยเป็นความร่วมมือระหว่างเอสซีจีและกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ที่นำพลาสติกใช้แล้ว เช่น ถุงพลาสติกหูหิ้วและถุงใส่อาหาร ที่มาจากการคัดแยกขยะภายในเอสซีจีและครัวเรือนในชุมชนเมืองมาบตาพุด จ.ระยอง มาบดแล้วไปผสมกับยางมะตอยเพื่อใช้ในการปูถนนภายในนิคมอุตสาหกรรมอาร์ไอแอลระยะทางความยาว 220 เมตร จากการทดสอบพบว่าคุณสมบัติของพลาสติกช่วยให้ถนนแข็งแรงและต้านทานการกัดเซาะของน้ำได้ดี
พร้อมกับความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ ระหว่างบริษัทผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด (CPAC) ภายใต้เครือบริษัท เอสซีจี และบริษัท ศุภาลัย จํากัด (มหาชน) ในโครงการ ‘ถนนคอนกรีตรีไซเคิล’ ที่ได้นำเศษคอนกรีตเหลือใช้ ซึ่งปกติจะเป็นขยะจากการก่อสร้าง มารีไซเคิลเป็นถนนคอนกรีตในโครงการ ศุภาลัย ไพร์ม พระราม 9 พื้นที่ประมาณ 150 ตารางเมตร โดยที่ความแข็งแรงเท่าเดิม ซึ่งช่วยลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เช่น หิน ทราย ได้มากถึง 100 ตัน และสร้างมูลค่าให้กับขยะที่ต้องนำออกไปทิ้งในแต่ละโครงการสูงถึง 7 ล้านบาท
อีกความร่วมมือสำคัญระหว่างเอสซีจีและบางจากกับโครงการ ‘นวัตกรรมการผลิตบรรจุภัณฑ์น้ำมันหล่อลื่นจากเม็ดพลาสติกรีไซเคิล’ โดยนำแกลลอนน้ำมันเครื่องหล่อลื่นที่ใช้แล้วจากสถานีบริการบางจาก มาผ่านกระบวนการรีไซเคิลเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตแกลลอนบรรจุน้ำมันเครื่องหล่อลื่นอีกครั้งหนึ่ง
นอกจากโครงการต่างๆ ที่ทางเอสซีจีได้เริ่มทำไปแล้ว ภายใต้แนวปฎิบัติ SCG Circular way ยังให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้าใจและปลูกจิตสำนึกเรื่องการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าของพนักงานเอสซีจี โดยเริ่มจากการให้พนักงานปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันให้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ในการจัดการแยกขยะลงถังขยะ 6 ประเภทที่วางไม้ตามจุดต่างๆ ในเอสซีจี โดยมีเป้าหมายเพื่อจัดการขยะให้หมุนเวียนกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้
แม้หลายคนคิดว่าเรื่อง Circular Economy เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในระดับมหภาค หรือเป็นเรื่องที่อยู่ในธุรกิจซึ่งใหญ่เกินกว่าตัวของตัวเอง แต่หากสังเกตจากกระบวนการทั้งหมดแล้ว จะเห็นว่าอยู่บนหลักการความเข้าใจของมนุษย์ที่เราเองมีส่วนร่วมได้เช่นกัน
โดยเราสามารถปฎิบัติได้ง่ายๆ ในชีวิตประจำวัน ตามแนวคิด Circular Economy เช่น การแยกชนิดขยะให้ถูกต้อง โดยขยะรีไซเคิลชนิดต่างๆ ควรล้างให้สะอาดก่อนนำไปทิ้ง การพกถุงผ้าแทนการใช้ถุงพลาสติกจากร้านค้า หรือการพกกระบอกน้ำและหลอดน้ำสเตนเลสส่วนตัวแทนการใช้แก้วและหลอดพลาสติกจากร้านค้า รวมถึงการกินอาหารที่ไม่ควรเหลือเศษอาหารแล้วทิ้งจนเกิดเป็นขยะให้แก่โลก เป็นต้น
ปัจจุบัน Circular Economy ได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของหลายองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งก็เพื่อเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติที่กำลังจะหมดไป แม้ว่าหลายคนอาจมองว่า Circular Economy เป็นเพียงหลักการที่นำมาปรับใช้ในภาคธุรกิจเท่านั้น แต่จริงๆ แล้วเราในฐานะคนธรรมดาทั่วไป ก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาสิ่งแวดล้อมได้ เพื่อทำให้โลกใบนี้น่าอยู่มากยิ่งขึ้นในอนาคตได้เช่นกัน
Fact Box
- เอสซีจีให้ความสำคัญกับ Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งเป็นกุญแจสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ด้วยความมุ่งมั่นที่จะทำให้เกิดขึ้นจริงในภาคธุรกิจ ภายใต้แนวปฎิบัติ SCG Circular Way โดยสร้างความเข้าใจ และสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิตและการบริโภคให้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติของเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยร่วมมือกับทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดขึ้นจริง
- ทำความเข้าใจเรื่อง Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน และแนวปฎิบัติ SCG Circular Way ได้ที่ https://www.scg.com/sustainability/circular-economy/