“Call Me by Your Name เป็นภาพยนตร์ที่มีกลิ่นฤดูร้อน แต่เราไปถ่ายทำกันในเดือนพฤษภาคมในภูมิภาคที่ฝนตกเยอะที่สุดของเมืองเครมา เรียกได้ว่าหายนะ แต่คุณไม่เห็นสิ่งนั้นในภาพยนตร์เลยเพราะเราได้สยมภูเป็นผู้กำกับภาพ”

ลูกา กัวดาญีโน (Luga Guadagnino) ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง Call Me by Your Name กล่าวถึงผู้กำกับภาพชาวไทย สอง-สยมภู มุกดีพร้อม ในงานแถลงข่าวภาพยนตร์เรื่องนี้ที่เบอร์ลิน โดยทั้งคู่เคยทำงานร่วมกันมาก่อนแล้วในเรื่อง Antonia ที่ลูกาเป็นโปรดิวเซอร์ และล่าสุดในปีที่ผ่านมาก็เพิ่งถ่ายทำภาพยนตร์สยองขวัญคลาสสิกเรื่อง Suspiria ร่วมกันอีกด้วย

สดๆ ร้อนๆ ไปกว่านั้นคือสยมภูเองเพิ่งจะได้รับรางวัลผู้กำกับภาพยอดเยี่ยม (Best Cinematography) ในงานประกาศรางวัลภาพยนตร์อินดี้ของสหรัฐอเมริกา Independent Spirit Awards เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

“ผมรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ทำงานกับสยมภู ผู้กำกับภาพที่รอบรู้และเก่งกาจ จากที่ได้ทำงานร่วมกัน เราไม่เพียงแต่ค้นพบปรมาจารย์ผู้มหัศจรรย์ในด้านกำกับภาพ แต่ยังได้เห็นบุคคลที่มีความสามารถในการจัดการถ่ายทำในฉากจริงด้วยวิธีการที่เราไม่เคยได้สัมผัสมาก่อน ผมคิดว่านักแสดงที่นั่งอยู่ตรงนี้ก็ยอมรับในความสามารถของเขาเช่นกัน เพราะเขาสามารถสร้างความเข้าใจร่วมกันให้นักแสดงแสดงในแบบที่ตัวเองเชื่อว่าต้องเป็นไป ผมคิดว่าสยมภูได้สร้างความผ่อนคลายและความจริงแท้ของภาพยนตร์ขึ้นมา” —ลูกาเล่า

ก่อนหน้านี้สยมภูเคยฝากผลงานไว้ในหนังไทยหลายเรื่องด้วยกัน สตรีเหล็ก 2, เฉิ่ม, สยิว, Me…Myself ขอให้รักจงเจริญ, ฤดูร้อนนั้น ฉันตาย หรือกระทั่งนาคี 2 (อยู่ในช่วงโปรดักชั่น) หนังชื่อคุ้นหูเหล่านี้ล้วนเป็นผลงานกำกับภาพของเขา แต่เรื่องที่สร้างชื่อเสียงให้สยมภูไปไกลถึงวงการภาพยนตร์โซนยุโรปน่าจะเป็น ลุงบุญมีระลึกชาติ โดยอภิชาตพงศ์ วีระเศรษฐกุล ที่เคยทำงานร่วมกันมาแล้วก่อนหน้าในเรื่องสุดเสน่หา ปี 2545

และในงานเสวนา Dudesweet talks with สยมภู มุกดีพร้อม ที่จัดขึ้นในวันที่ 13 มีนาคมที่ผ่านมา ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ที่มี ก้อง ฤทธิ์ดี บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ Bangkok Post เซ็กชัน Life นักเขียนและนักวิจารณ์ภาพยนตร์มาเป็นวิทยากรรับเชิญ โดยสยมภูเล่าประสบการณ์การทำงานของเขาว่า

“ภาพยนตร์เรื่องแรกที่เราไปถ่ายต่างประเทศคือ Antonia เรื่องเกี่ยวกับกวีชาวอิตาเลียน กำกับโดยเฟอร์ดินันโด ชิโต้ ฟิโลมาริโน (Ferdinando Cito Filomarino) ซึ่งเป็นเพื่อนกับลูกา กัวดาญีโน นี่แหละ เขาชอบลุงบุญมีฯ และหนังที่เราถ่ายมาทั้งหมด เขาก็แค่อีเมลมาแล้วเราก็คุยกันเท่านั้นเอง แล้วตอนถ่าย Antonia ซีนสุดท้ายบนเทือกเขาแอลป์ บังเอิญมีคลื่นโทรศัพท์เข้ามา ปรากฏว่าลูอิส มิญาร์โร (Luis Miñarro) ที่เป็นโปรดิวเซอร์ร่วมกับเราในเรื่องลุงบุญมีฯ ก็โทรมาบอกว่าเขาอยากจะเชิญไปที่ปอร์โต้เพื่อที่จะคุยกับมิเกล โกเมซ (Miguel Gomes) เราไม่รู้จักเขามาก่อนนะ แต่ตอนที่คุยกันครั้งแรกเคมีมันไปด้วยกันได้ ก็เลยทำงานด้วยกัน”

จากนั้นผู้กำกับภาพจากเมืองไทยก็ย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่โปรตุเกสชั่วคราวยาวนานถึงหนึ่งปี เพื่อถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง Arabian ​Nights ของมิเกล โกเมซ หลังจากนั้นทั้งฝีมือ ผลงาน จังหวะและโอกาสก็เอื้อให้เขาได้มีโอกาสร่วมงานกับลูกาใน Call Me by Your Name โดยก่อนเริ่มงานเขาได้ไปค้นหาหนังสือมาอ่านและรู้สึกว่าเป็นบทประพันธ์ที่ดี พอได้บทมาอ่านแล้วก็ยิ่งเห็นภาพที่ชัดขึ้นเพราะมีสถานที่ชัดเจน ว่าเกิดขึ้นที่เมืองเครมา (Crema) เมืองเล็กๆ ที่ประเทศอิตาลี

“แต่พี่สองนี่ถ่ายหนังด้วยฟิล์มเป็นหลักนะครับ ไม่ใช่ดิจิทัล” คุณก้อง ฤทธิ์ดีเสริมข้อมูล

“ตอนนั้นที่ถ่ายเรื่อง Antonia โลกมันเริ่มเปลี่ยน มีกล้อง Red (กล้องดิจิทัลคุณภาพสูงในยุคแรกๆ) ออกมาใหม่ๆ เราเป็นคนแรกๆ ที่สนใจเรื่องดิจิทัลเลยกระโดดลงไปศึกษามัน มีหนังไทยเรื่องหนึ่งที่เราถ่ายโดยใช้กล้องฟิล์ม Viper Thompson หลังจากนั้นก็ถ่ายหนังไทยด้วยกล้องดิจิทัลอีก 2-3 เรื่องเลยค้นพบว่าเราไม่พอใจ”

ภาพยนตร์ต่างประเทศเรื่องแรกที่เขาใช้ฟิล์มถ่ายก็คือ Antonio ซึ่งผู้กำกับเองก็เปิดเผยกับสยมภูว่าภาพที่เห็นจากการถ่ายด้วยฟิล์มเฉียบขาด และไม่จำเป็นต้องถกเถียงอะไรกันต่อเลยว่าควรจะเปลี่ยนไปใช้ดิจิทัลหรือไม่ หลังจากนั้นเขาเลยบอกกับตัวเองว่าเขาจะถ่ายแต่กล้องฟิล์มเท่านั้นหากเป็นสนามภาพยนตร์ ซึ่ง Call Me by Your Name เองก็ใช้กล้องฟิล์มและเลนส์ 35 มม. ตัวเดียวถ่ายทั้งเรื่อง

“เราว่าจริงๆ แล้วองค์ประกอบมันเป็นเรื่องของคนนะ เราต้องทำให้โปรดิวเซอร์ หรือคนที่ทำงานทั้งหลายแหล่รู้สึกสบายใจกับการทำงานสิ่งนี้ แล้วพอ Call Me by Your Name จบในจังหวะที่มันโฟลวมากในแง่ของ film logistic ทีมงานเลยมีทักษะและมีความเข้าใจในการทำงานกับฟิล์มมากขึ้น”

เขายังเพิ่มเติมเรื่องการทำงานอีกว่า

“เราต้องไป pre-production ที่เครมาก่อนประมาณเดือนครึ่ง ซึ่งทิโมธี ชาลาเมต์ (Timothée Chalamet) ที่รับบทเอลิโอ กับอาร์มี แฮมเมอร์ (Armie Hammer) ที่รับบทโอลิเวอร์ในเรื่อง เขาก็ไปก่อนด้วย เพราะเขามีการบ้านที่ต้องทำ ไปเรียนรู้สถานที่ ว่าโลกที่เขาอยู่มันเป็นแบบไหน แล้วลูกาก็โชว์คลิปที่ทิโมธีเล่นละครเวทีให้ดู ซึ่งเรารู้สึกว่านี่คือ wonder boy พลังเขาเยอะมาก เพราะฉะงั้นไม่ได้แล้ว ถ้าเราได้สิ่งที่ดีแบบนี้ เราต้องทำงานให้ดีมาก ไม่ให้เสียของ”

ก้อง ฤทธิ์ดียังยกคำพูดที่สยมภูเคยบอกว่างานของตากล้องคือการเป็นช่างเทคนิค เพราะฉะนั้น คำถามคือ แล้วช่างเทคนิคต้องส่งผ่านอารมณ์หรือความเป็นบทไปสู่อุปกรณ์อย่างไร ทั้งการเลือกกล้อง เลนส์ หรือแม้กระทั่งการจัดวางแสง

“อย่างเรื่องนี้ เราเคยคิดมาตั้งนานแล้วว่าถ้าถ่ายหนังด้วยเลนส์ตัวเดียวจะเป็นยังไงนะ แต่ไม่เคยมีโอกาสได้ทำสักที พอลูกาเปรยว่าจะลองไหม เราก็ไม่ได้ตอบตกลงทันที ไปดูโลเคชั่นก่อน ซึ่งตอนอ่านบทเราพอจะนึกออกแล้วว่าตึกหลังนี้ ห้องนี้อยู่ตรงไหน เราเลยใช้กล้องดิจิทัลถ่ายด้วยเลนส์ประมาณ 3-4 เลนส์ แล้วค่อยๆ ตัดตัวเลือกออก เราตอบไม่ถูกว่ากระบวนการที่คุณก้องถามเราทำออกมายังไง แต่ถ้าเป็นงานทุกอย่างที่เกี่ยวกับภาพ เราถือว่ามันเป็นงานของเรา แล้วมันก็ติงต๊องเหมือนกันนะ ที่ใช้เลนส์ตัวเดียวถ่ายภาพยนตร์ทั้งเรื่อง ช่างภาพก็ต้องถอยเข้าถอยออกเอา แต่สิ่งที่น่าจะได้คือมุมมองที่เป็นกลาง ไม่พยายามเข้าใกล้หรือถอยห่างเกินไปในเชิงความหมาย แต่ก็ไม่รู้หรอกครับ ก็ลองๆ กันไปทั้งสองคน ทั้งผู้กำกับและเรา”

“แสงในเรื่องนี้สำหรับผมมันมีความอบอุ่น กินใจ สร้างบรรยากาศความรักแรกรุ่น ฤดูร้อนของฝรั่งในเมืองเล็กๆ และในภาพยนตร์มันคือเรื่องแสงทั้งนั้นเลย แบบนี้เวลาถ่ายหนังที่ประเทศไทยกับยุโรปแตกต่างกันไหม ในเชิงเทคนิคหรือวิธีการ”

คุณก้องโปรยคำถาม

“ต่างกันนะครับ องศาของแสงบ้านเราไม่เหมือนกับประเทศที่อยู่เหนือขึ้นไป ฉะนั้นประเทศเราจะมีองศาของแสงที่อยู่ในช่วงดีๆ สั้นๆ คือเช้าและเย็น นั่นคือความแตกต่างทางภูมิศาสตร์ แต่ว่า Call Me by Your Name ดันไปถ่ายในปีที่ฝนตกหนักมากของอิตาลีประมาณ 2-3 ปีที่แล้ว ซึ่งช่างภาพบางทีถ้าอยากได้แสงก็ต้องบิดมุม บล็อกกิ้งนักแสดงเพื่อที่จะจัดแสงได้ แต่ผมคิดว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เลยต้องหาวิธีอื่น ซึ่งก็แปลว่าต้องรอ อย่างฉากทะเลสาบคือเรื่องใหญ่เลยครับ มันเป็นซีนสุดท้ายที่ต้องถ่ายเพราะเลื่อนกันมานาน ที่ไหนก็น้ำท่วมหมด เลยหาโลเคชันกันจนได้ทะเลสาบที่หนึ่งใกล้เมืองเครมา แต่วันนั้นอยู่ๆ น้ำมันก็ผุดขึ้นมาจากใต้ดิน ก็ต้องยกรถเครนหนีกัน จนต้องมาถ่ายกันใหม่”

และนอกจากโลเคชั่นหรือลมฟ้าอากาศแล้ว อีกปัจจัยที่สำคัญในการกำกับภาพของสยมภู ก็คือการทำงานร่วมกับนักแสดง ที่มีท่าทาง เลือดเนื้อ ลมหายใจเป็นของตัวเอง

“การถ่ายทำ Call Me by Your Name ต้องยืดหยุ่นมากเพราะให้นักแสดงเป็นตัวตั้ง เวลาเซ็ตอัปขึ้นมาเราไม่ได้เริ่มจากกล้อง แต่เริ่มจากว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างในซีนๆ นั้น การที่นักแสดงจะมีรีแอคระหว่างกันและ เซ็ตติ้งของเขามันเป็นเรื่องของเขา เพราะฉะนั้นเราก็ต้องปล่อยให้เขาได้ลองและพยายามทำในสิ่งที่เขาต้องการ หลังจากนั้นกล้องถึงจะเข้าไปอีกทีมากกว่า”

สยมภูเล่าว่าในบางซีน ผู้กำกับลูกาจะให้ทุกคนออกไปข้างนอกห้องให้หมด แล้วบรีฟกับนักแสดงและผู้กำกับภาพ ถกเถียงกันว่าจะถ่ายทอดซีนนั้นๆ ออกมาในลักษณะไหน ซึ่งทิโมธีเองก็เคยให้สัมภาษณ์ไว้ในเทศกาลภาพยนตร์ ว่าบางครั้งที่ถ่ายอยู่ เขาไม่ได้รู้สึกตัวเลยว่ามีกล้องกำลังจับ นักแสดงมีอิสระถึงขั้นลองเล่นดูก่อน หรือแม้แต่หันมาตั้งคำถามบางอย่างกับผู้กำกับด้วยซ้ำ ส่วนสิ่งที่ผู้กำกับภาพต้องทำก็คือ

“เราก็ยืนดู แล้วปล่อยให้เขาคุยกัน แล้วเราก็พยายามเก็บสิ่งที่เขาคุยกันทุกอย่างว่ามันจะแปลความหมายเป็นเชิงเทคนิคว่าอย่างไร แล้วพอเห็นพวกเขาเริ่มแสดงมันก็จะลงตัวของมันเองโดยที่นักแสดงจะตอบสนองกับสถานที่จริงๆ”

ในช่วงท้ายของงานเสวนา คุณก้องต่อยอดคำถามว่าวันๆ หนึ่งเราเห็นภาพเป็นร้อยเป็นพันภาพตั้งแต่ลืมตาตื่นขึ้นมา  คนสื่อสารและตอบสนองกับภาพเยอะกว่าเมื่อก่อนอย่างแท้จริง โลกนี้อาจจะมีคน 6,000 ล้านคน แต่มีจำนวนของภาพมากกว่านั้น 2-3 เท่า ในฐานะที่สยมภูทำงานกับกล้องและถ่ายภาพ รู้สึกอย่างไรกับโลกที่มีภาพมหาศาลขนาดนี้

“มันเป็นเรื่องของวัฒนธรรมที่เปลี่ยนและสังคมที่พัฒนาไป แต่โดยส่วนตัวเราถือว่างานภาพเป็นงานที่เราทำ และเป็นอาชีพที่เราเลือกทำเท่านั้นเอง ไม่ได้มีอะไรพิเศษไปมากกว่านั้นเลย เพราะทั้งชีวิตเราสนใจเรื่องอื่นมากกว่า เช่น เราสนใจว่าเราจะตายยังไง แค่นั้นเอง”

บรรยากาศของการเสวนาผ่อนคลาย ส่วนใหญ่ก็เพราะการตอบคำถามที่จริงใจและละเอียดลออของสยมภู ความตลกหน้าตายและแพชชันในการทำงานส่งความรู้สึกที่ว่า สิ่งที่เขาทำมันคือเรื่องธรรมดา แค่เราต้องจริงจังและรับผิดชอบกับมัน

มีคำถามที่น่าสนใจมากมายถูกโยนขึ้นมาบนเวทีในช่วง Q&A หนึ่งในนั้นก็คือคำถามที่ว่าเขามีวิธีเรียกแรงบันดาลใจให้กลับมาจากความเหนื่อยหรืออุปสรรคในการทำงานได้อย่างไร และคำตอบของเขาก็คือ

“ดูหนังตอนเที่ยงคืน หมายถึง เราอยู่กับตัวเราเองและสิ่งที่เรารัก อย่างที่สองคือครอบครัว เราทำสิ่งนี้มาเหนื่อยมากๆ แล้วครอบครัวเขาเข้าใจหรือสนับสนุนเราไหม เราว่านี่คือสองเรื่องใหญ่ แต่ว่าถ้าเป็นอุปสรรคแบบ on set เราจะไม่ยอมให้มันเกิดขึ้นไง เราเป็นขุนพลอยู่ข้างหน้า เราถือดาบแล้ว เราต้องดันให้มันไปต่อด้วยภาระงาน แต่มันจบแล้วก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง”

ผู้ฟังเสวนาโยนคำถามอีกว่ามีวิธีการเลือกอย่างไรว่าตัวเองพอใจกับถ่ายช็อตนี้แล้ว นี่คือสิ่งที่ดีสุดแล้ว —สยมภูตบเบาๆ ที่อก

“เพราะเราต้องรู้สึกไง เราถึงต้องถ่ายฟิล์มไงเพราะกล้องฟิล์มมันให้ตรงนี้กับเราได้ ถ้าเป็นกล้องดิจิทัลเราอาจจะไม่รู้สึกแบบนี้ก็ได้ เพราะผู้กำกับบอกว่าตัดพอแล้ว แต่ตัดพอกับดีพอมันไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นเราคิดว่ามันคือความรู้สึกที่แปลว่ามันเล่าเรื่องแล้วหรือยัง ได้สิ่งที่เราต้องการไหม framing ได้หรือยัง แต่ทั้งหมดทั้งมวลมันกลับมาที่ตัวเราว่าเราพอใจกับมันไหม มันตอบที่ตรงนี้เลยนะ เพราะหน้าที่หลักของช่างภาพคือคุณต้องแปลทุกอย่างที่เป็นสารจากใครก็ตามให้เป็นเรื่องทางเทคนิคให้ได้

“เราคิดว่าการถ่ายเผื่อไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีในการถ่ายภาพยนตร์ เพราะมันไม่ใช่โฆษณาที่จะให้ลูกค้าเลือก ภาพยนตร์ อารมณ์ของมันยาวเป็นชั่วโมงมันจึงจะมีช่วงของมัน ถ้าคุณเผื่อ คุณจะรู้ได้ยังไงว่าคุณใช้เทปนี้แล้วซีนก่อนหรือหลังจากนี้มันจะมากไปหรือน้อยไป อารมณ์มันจะถูกแยกออกเป็นสองทางแล้ว”

“เราคิดว่าการถ่ายเผื่อไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีในการถ่ายภาพยนตร์ เพราะมันไม่ใช่โฆษณาที่จะให้ลูกค้าเลือก”

เวลาเริ่มแตะสามทุ่ม คำถามท้ายๆ ที่มีผู้ฟังโยนขึ้นมาคือจะเก่งแบบนี้ได้อย่างไร สยมภูตอบง่ายๆ ว่า

อย่างแรกเราต้องรู้ก่อนว่าเราจำเป็นต้องรู้อะไรบ้าง ถ้าเราไม่รู้ว่าต้องรู้อะไรแล้วเราจะทำงานให้ออกมาดีได้ยังไง”

ค่ำคืนของงานเสวนาจบลงอย่างนั้นพร้อมความรู้สึกวนอยู่ในหัว ที่เราต้องรีบนำมาเขียนอย่างเร็วรี่

Fact Box

  • หลังจากจบการศึกษาปริญญาตรีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สยมภูเคยไปศึกษาต่อที่โรงเรียนภาพยนตร์ Gerasimov Institute of Cinematography (Vgik) ที่กรุงมอสโก ประเทศรัสเซียเป็นเวลาประมาณหนึ่งปี ซึ่งตอนแรกตั้งใจว่าจะเรียนด้านกำกับ ได้มีโอกาสศึกษาและดูภาพยนตร์รัสเซียคุณภาพสูงตอนที่ศึกษาอยู่
  • Call Me by Your Name ได้เข้าชิงออสการ์ใน 4 สาขาด้วยกันคือภาพยนตร์ยอดเยี่ยม นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม (ทิโมธี ชาลาเมท์) บทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม (เจมส์ ไอฟ์วรี่) และ เพลงนำภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (เพลง Mystery of Love โดยซูฟยอน สตีเวนส์)
Tags: , , , , ,