กรณีที่ไทยจะส่งตัวนางสาวราฮาฟ โมฮัมเหม็ด เอ็ม อัลคูนัน หญิงสาวชาวซาอุดิอาระเบียกลับไปหาครอบครัว ซึ่งนับเป็นความเสี่ยงถึงชีวิต ทาง สุนัย ผาสุก ที่ปรึกษาองค์การฮิวแมนไรท์ วอทช์ ประเทศไทย ติดตามประเด็นนี้อย่างใกล้ชิด เขากล่าวว่า สถานการณ์ล่าสุดนี้ จากเดิมที่เจ้าหน้าที่มีแผนส่งตัวนางสาวราฮาฟไปหาครอบครัวที่รออยู่ที่คูเวตกับเที่ยวบินของคูเวตแอร์ไลน์เมื่อเวลา 11.15 น. ที่ผ่านมา แต่มีการยื้อเวลาไม่ให้เธอถูกส่งกลับไปกับเที่ยวบินดังกล่าว แต่ยังวางใจไม่ได้ เพราะยังมีอีกหนึ่งเที่ยวบินที่จะบินสู่คูเวตในเวลาเที่ยงคืนนี้

เวลานี้ ราฮาฟถูกกักตัวอยู่ที่โรงแรมมิราเคิล ทรานสิต เธอยังมีโทรศัพท์อยู่กับตัว ยังเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ และทางสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัย (UNHCR) กำลังพยายามเจรจากับทางการไทยเพื่อเข้าพบราฮาฟ พร้อมประเมินคำร้องเรียนของเธอว่ามีอันตรายอย่างไรบ้าง และเหตุใดจึงต้องแสวงหาการลี้ภัย แต่การเจรจายังไม่ลงตัว ขณะเดียวกัน ทางสหประชาชาติและสถานทูตของเหล่าประเทศที่เป็นหัวหอกทางด้านสิทธิมนุษยชนก็ประสานเสียงกันคัดค้านรัฐบาลไทยไม่ให้ส่งตัวราฮาฟกลับไปหาครอบครัว

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่า หากราฮาฟสามารถเดินทางไปถึงออสเตรเลียได้ เธอจะได้รับความคุ้มครองเบื้องต้น และอาจจะสามารถยื่นขอลี้ภัยที่นั่น โดยทางการออสเตรเลียจะประเมินเหตุผล หากผ่านก็จะให้วีซ่าในฐานะผู้ลี้ภัย ซึ่งเธอจะสามารถตั้งถิ่นฐานที่นั่นได้ในระยะเวลาหนึ่ง เมื่อครบกำหนดแล้วจะประเมินต่อว่าจะได้รับสิทธิพลเมืองหรือไม่

สุนัยแจ้งว่ามีอีกหนึ่งกรณีที่น่ากังวล นั่นคือหากครอบครัวของเธอเดินทางมารับตัวเธอที่ประเทศไทย ซึ่งสถานทูตซาอุฯ และทางการไทยพูดไปในทางเดียวกันว่า หากครอบครัวมาถึงก็สามารถพาตัวเธอกลับไปได้

จากข้อมูลที่สุนัยได้รับมา พ่อของราฮาฟเป็นหัวหน้าเผ่าที่มีอิทธิพลอย่างมากในซาอุดิอารเบีย นั่นจึงเป็นคำอธิบายว่าทำไมเขาจึงสามารถทำให้นักการทูตซาอุฯ ยื่นมือเข้าช่วยในการกักตัวราฮาฟ โดยมีความร่วมมือจากทางสายการบินด้วย

ขณะที่ทางสถานทูตซาอุฯ ในประเทศไทย มีความต้องการส่งตัวราฮาฟกลับไปหาครอบครัว ซึ่งสิ่งที่รัฐไทยสามารถทำได้คือการไม่ให้เจ้าหน้าที่กลุ่มดังกล่าวเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ทรานสิต อันเป็นพื้นที่ของประเทศไทยที่ไม่ควรอนุญาตให้มีการใช้อำนาจหรือเอกสิทธิ์เหนืออธิปไตยไม่ว่าจะโดยสถานทูตของชาติใดก็ตาม ทั้งยังผิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างร้ายแรง โดยใช้เรื่องวีซ่าเป็นข้อแก้ต่าง ซึ่งหากมองในแง่สิทธิมนุษยชนก็นับว่ารุนแรงมากแล้ว และถ้ามองเรื่องอำนาจอธิปไตยของประเทศก็นับว่ารุนแรงไม่แพ้กัน

กรณีแบบนี้ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ก่อนหน้านี้เป็นลักษณะที่ไทยส่งตัวผู้ลี้ภัยซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ไทยจับได้นอกพื้นที่ทรานสิต เช่นกรณีชาวอุยกูร์กว่าร้อยชีวิต กรณีของแอคทิวิสต์ชาวกัมพูชาที่ไทยส่งตัวกลับไปให้รัฐบาลพนมเปญ หรือก่อนหน้านี้ในกรณีของนักฟุตบอลชาวบาห์เรน ที่ไทยสมคบกับบาห์เรนจับตัวเขาขณะที่เดินทางมาฮันนีมูนในไทย  

คำถามสำคัญที่ต้องการคำตอบก็คือ มีผลประโยชน์สำคัญอันใด ทำไมประเทศไทยจึงยอมละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างร้ายแรงและโจ่งแจ้ง จนเข้าใกล้ความเป็นรัฐเถื่อน (Rogue State) รวมถึงทำให้อธิปไตยของประเทศอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงอย่างนี้? เหล่านี้เป็นคำถามที่ผู้มีหน้าที่ดูแลความมั่นคงของประเทศไม่เคยให้คำตอบ