ปัญหาโลกแตกของเด็ก ม.ต้น ที่กำลังก้าวเข้าสู่การศึกษาในระดับที่สูงกว่าก็คือ หาตัวเองไม่เจอ ไม่รู้ว่าจะเอายังไงกับหนทางในอนาคตดี ซึ่งเป็น Pain Point ของระบบการศึกษาไทยที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ทุกปี จนตอนนี้นักเรียนก็ยังหาทางออกไม่ได้ เลยเลือกเรียนสายวิทย์-คณิตไว้ก่อน “เซฟๆ ดี” แถมในยุคนี้ AI กำลังมาจนมีคนจัดอันดับ ‘อาชีพเตรียมตกงาน’ เพราะเทคโนโลยีที่จะเข้ามาแทนที่แรงงานมนุษย์บางส่วน แถมเรียนจบแล้วก็ไม่รู้จะหางานทำได้หรือเปล่า เพราะข่าวบัณฑิตตกงานก็มีให้เห็นอยู่เกลื่อนจนพาจิตตก
ที่แน่ๆ คือไม่ใช่แค่เด็กไทยที่กำลังสงสัยว่าจะเรียนต่อไปทางไหนดี เพราะครูที่รับบทการส่งต่อความรู้เองก็มีหวั่นใจบ้างแล้ว ว่าพวกเขาจะปรับการเรียนการสอนเพื่อตอบโจทย์ความท้าทายของตลาดแรงงานในอนาคตได้อย่างไรบ้าง
ไม่รู้ว่าตัวเองถนัดอะไร ไม่รู้ว่ามีอาชีพอะไรให้ทำบ้าง
จากการทำงานมาตลอด 6 ปี เพื่อพัฒนาห้องเรียนแห่งอนาคต (Samsung Smart Learning Center) กับโรงเรียน 50 แห่งทั่วประเทศไทยของ บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด ทำให้ซัมซุงพบว่าสาเหตุที่เด็กไทยไม่รู้ตัวว่าอยากทำอะไรนั้น ส่วนหนึ่งก็เพราะพวกเขาไม่รู้ว่าโลกนี้มีอาชีพหรืองานอะไรให้ทำบ้าง นอกจากอาชีพที่พ่อแม่หรือคนใกล้ตัวทำอยู่ และยังไม่มีเครื่องมือที่จะช่วยให้รู้จักตัวเองมากขึ้นอีกด้วย
วาริท จรัณยานนท์ ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายการตลาดองค์กร ของบริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด และผู้จัดการโครงการเพื่อสังคม อย่างโครงการ Samsung Career Discovery ‘ค้นพบตัวเอง ค้นพบอาชีพ’ เล่าให้ฟังต่อว่า “แทนที่โครงการฯ จะพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อวิเคราะห์ความถนัดและสร้างลิสต์อาชีพมาให้เด็กเลือกเลยว่า ถนัดอันนี้ก็ไปทำอย่างนี้สิ ซัมซุงเลือกที่จะเปิดพื้นที่ให้เด็กค้นหาตัวเอง แล้วให้ข้อมูลเกี่ยวกับอาชีพต่างๆ ผ่านวิดีโอแนะนำบนเว็บแอปพลิเคชัน Samsung Career Discovery ส่วนเรื่องการตัดสินใจเลือกอาชีพนั้น ซัมซุงเปิดโอกาสให้เด็กเป็นคนเลือกสิ่งที่อยากทำเอง”
ดังนั้นเว็บแอปพลิเคชัน Samsung Career Discovery จึงเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่จะเข้ามาช่วยให้เด็กค้นหาตัวเองได้ง่ายขึ้น ผ่านการทำแบบทดสอบพหุปัญญา ช่วยให้เด็กค้นพบอาชีพหลากหลายสาขากว่า 50 อาชีพ ที่จะนำไปสู่การตัดสินใจในการเลือกเส้นทางของพวกเขาในอนาคต
Together for Tomorrow! Enabling People ‘มุ่งสร้างพลังคน มุ่งสร้างอนาคตที่ดีร่วมกัน’ ผ่าน Samsung Future Career Bootcamp
การรับฟังเสียงตอบรับของเด็กและเยาวชนยังทำให้ซัมซุงพบว่า ในยุคที่ใครๆ ก็บอกว่า “เทคโนโลยีกำลังจะเข้ามาแย่งงาน” ความสนใจด้านอาชีพของเด็กเองก็มากขึ้นพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของโลกด้วย ซัมซุงในฐานะผู้นำด้านนวัตกรรมที่ติดตามข้อมูลด้านเทคโนโลยีอย่างใกล้ชิด จึงเดินหน้าต่อยอดโครงการจนกลายมาเป็น Samsung Future Career Bootcamp เพื่อเน้นปูพื้นความรู้ให้เด็กและคุณครูได้รู้จักกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ได้เข้ามาเปลี่ยนบทบาทการทำงานของแรงงานมนุษย์มากขึ้น
โดยในครั้งนี้ ซัมซุงได้จัดค่ายที่แบ่งฐานความรู้ออกเป็น 3 ฐานหลักเพื่อมอบความรู้เทคโนโลยีแห่งโลกอนาคต คือ จักรกลอัตโนมัติ (Automation) ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligent) และ Big Data ผ่านกระบวนการเรียนรู้แบบ Active learning เพื่อยกตัวอย่างให้เห็นว่านวัตกรรมที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้นจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อการจ้างงานในอนาคตอย่างไรบ้าง
วาริทเล่ากระบวนการของ Samsung Future Career Bootcamp ว่า “เราอยากให้เด็กเรียนรู้ว่าเทคโนโลยีเหล่านี้จะมีบทบาทอย่างไรกับอาชีพของพวกเขาในอนาคต แน่นอนว่ามันอาจจะทำให้บางอาชีพหายไป แต่กิจกรรมตลอดค่ายอบรมนี้จะช่วยแสดงให้เด็กเห็นว่าพวกเขาสามารถสร้างพื้นที่การทำงานใหม่ๆ หรือหยิบเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ร่วมกับงานได้อย่างไร หรือพื้นที่การทำงานของเขาจะไปอยู่ตรงไหนเมื่อมีเทคโนโลยีเหล่านี้เข้ามา เราอยากบอกน้องๆ ให้เฝ้ามองอาชีพที่อยากเป็น เฝ้ามองเทคโนโลยีที่จะเข้ามา และต้องพลิกเทคโนโลยีเหล่านั้นมาใช้ให้เกิดความมั่นคงในอาชีพของตัวเอง เพื่อให้รับมือกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคตให้ได้”
3 ฐานเทคโนโลยีเพื่อเรียนรู้อาชีพในโลกอนาคต
จุดเด่นของฐานการเรียนรู้ในค่าย คือการผนวกการอบรมเข้ากับกิจกรรมเสริมในรูปแบบของ Active Learning เป็นการทำกิจกรรมที่ช่วยให้เด็กเข้าใจถึงเทคโนโลยีของการทำงานผ่านการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง รวมถึงได้เรียนรู้เรื่องการสื่อสารกับผู้อื่น ทักษะการคิดวิเคราะห์และความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบสิ่งประดิษฐ์ที่จะสามารถช่วยเหลือสังคมได้ในอนาคตไปในคราวเดียวกัน
ฐานแรกอย่าง Automation แขนกลคนอยู่ไหน เริ่มต้นด้วยการให้ครูและนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมลองพับจรวดกระดาษด้วยการใช้มือเดียวบ้างสองมือบ้าง เพื่อจำลองสถานการณ์ให้เห็นว่าประสิทธิภาพในการทำงานระหว่างมนุษย์และจักรกลนั้นย่อมแตกต่างกัน เพราะมนุษย์มีความสามารถที่ไม่เท่าเทียมกันในการทำงานอย่างเดียวกัน แต่เหนือไปกว่านั้นคือตอนนี้เรามีเทคโนโลยี Automation หรือแขนกล ที่จะช่วยเป็นมือในการทำงานแทนมนุษย์ เพราะเจ้าแขนกลนี้จะได้รับชุดคำสั่ง Coding ช่วยให้สามารถย่นระยะเวลาในการทำงานที่ซ้ำซากต่างๆ เช่น การเลือกและหยิบของตามคำสั่ง Coding ที่ถูกป้อนคำสั่งไว้เป็นจำนวนมากอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันนี้แขนกลยังมีความสามารถที่จำกัด สามารถทำได้แต่งานที่ได้รับป้อนคำสั่ง Coding มาเท่านั้น
ฐานที่สองคือ ฉลาดแค่ไหนถึงเรียกว่า AI จำลองให้เห็นว่าเทคโนโลยีอย่างสมองกล AI หรือ Artificial Intelligence นั้นไปไกลกว่าแค่การป้อนคำสั่งให้ทำงานอย่างไรบ้าง เพราะมันคือการสร้างการเรียนรู้ให้กับเครื่องจักร (Machine Learning) หรือระบบปฏิบัติการต่างๆ เพื่อให้ตอบสนองต่องานหรือเป้าหมายที่เราอยากได้โดยที่เราเองไม่ต้องคอยมาตั้งค่าใหม่ หรือป้อนชุดคำสั่งใหม่ให้สมองกลตลอดเวลา
ฐานที่สามคือ Big Data คนเล็กข้อมูลใหญ่ เริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามกับเด็กและครูว่า “เฟซบุ๊กดักฟังเราจริงไหม? บริการออนไลน์ต่างๆ รู้ได้อย่างไรว่าเราต้องการอะไรบ้าง?” จากนั้นจึงค่อยๆ ไล่เรียงให้เห็นว่าเทคโนโลยีในปัจจุบันนั้นเก็บข้อมูลของเราทุกคนไว้อย่างละเอียดและมหาศาลขนาดไหน เช่น การเก็บข้อมูลของแอปพลิเคชันสั่งอาหาร ที่สามารถวิเคราะห์ได้ว่ามีผู้สั่งอาหารในพื้นที่ไหนมากที่สุด เพื่อที่คนขับหรือผู้ให้บริการรับส่งอาหารจะได้กำหนดพื้นที่ของการไปรอให้บริการได้ ซึ่งนั่นคือการใช้ข้อมูลเพื่อวิเคราะห์ความน่าจะเป็นและโอกาสทางเศรษฐกิจ สามารถนำมาต่อยอดธุรกิจได้มากมาย
แต่ทุกฐานการเรียนรู้ที่ร้อยเรียงกันนั้นไม่ได้ทำให้ผู้เข้าร่วมทั้งเด็กและคุณครูถอดใจแต่อย่างใด เพราะสิ่งสำคัญที่พวกเขาได้เรียนรู้ใน Samsung Future Career Bootcamp ก็คือการทบทวนประสบการณ์ของตนเอง ตระหนักถึงความสำคัญของเทคโนโลยีและข้อมูลต่างๆ ก่อนจะพลิกมันมาเป็นโอกาสในการพัฒนาความสามารถในการประกอบอาชีพของตนร่วมไปกับความถนัดทางปัญญาและอาชีพที่ค้นพบจากเว็บแอปพลิเคชัน Samsung Career Discovery ที่ซัมซุงได้จัดให้เด็กและคุณครูช่วยกันค้นหาหลังเข้าฐานการเรียนรู้แล้ว
กิจกรรมการเรียนรู้ดังกล่าวได้รับความสนใจทั้งจากนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 และนักศึกษาระดับชั้นประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ชั้นปีที่ 1 รวมถึงคุณครูจากทั่วประเทศ โดยวันเฉลิม พงษ์วิจิตร คุณครูจากโรงเรียนพนาศึกษา จ.อำนาจเจริญ สะท้อนว่า ค่ายนี้ไม่เพียงแต่ทำให้ได้เห็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และโอกาสทางธุรกิจในอนาคตเท่านั้น เพราะเขายังสามารถนำเอาเครื่องมือที่ได้จากกระบวนการเรียนรู้ภายในค่าย ตลอดจนเครื่องมือการค้นหาตัวเองและการค้นพบอาชีพของซัมซุงไปใช้ออกแบบการสอนในห้องเรียนอีกด้วย
เช่นเดียวกับ ปรินทร ธิติธีระรัตน์ นักเรียนชั้น ม.4 จากโรงเรียนวารี จ.เชียงใหม่ ที่เล่าว่ากิจกรรมนี้ช่วยให้เธอเห็นโอกาสและทางเลือกในการพัฒนาตัวเองเพื่อก้าวให้ทันเทคโนโลยีในอนาคต นอกจากนั้นปรินทรยังเสริมว่า แอปพลิเคชัน Samsung Career Discovery ยังช่วยให้เธอค้นพบความถนัดของตัวเองที่ไม่เคยให้ความสำคัญมาก่อน และเธอยังคิดว่าแอปพลิเคชันดังกล่าวจะช่วยลดเวลาในการถามว่าตัวเองอยากเรียนต่อด้านไหนและมีช่องทางการประกอบอาชีพเป็นอะไรได้บ้าง เพราะถ้ารู้ตัวเองไว ก็น่าจะช่วยให้เธอไม่ต้องปวดหัวกับปัญหาโลกแตกของเด็กไทยว่าจะเอายังไงกับการศึกษาและอนาคตดี
Tags: การศึกษา, อาชีพ, big data, automation, Artificial Intelligence, Samsung