เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ที่ผ่านมา เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อม ร่วมกับองค์กรภาคีเครือข่าย ได้เดินทางไปยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงอธิบดีกรมอนามัย ซึ่งลงนามโดย 56 องค์กรภาคีทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งผู้ลงนามรายบุคคลอีก 559 รายชื่อ เรียกร้องให้กรมอนามัยพิจารณาออกมาตรการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน กรณีผู้หญิงเข้าถึงบริการทำแท้งปลอดภัยในช่วงวิกฤติโควิด-19 ได้ยากขึ้น
ข้อมูลจากสายปรึกษาท้องไม่พร้อม 1663 กลุ่มทำทาง และเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อม พบว่านับตั้งแต่มีการประกาศพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในเดือนมีนาคมจนถึงปัจจุบัน ผู้หญิงที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์มีจำนวนเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาก่อนหน้าอย่างชัดเจน สถานบริการสุขภาพบางส่วนหยุดให้บริการยุติการตั้งครรภ์เนื่องจากมีภารกิจการค้นหาดูแลผู้ป่วยโรคติดเชื้อโควิด-19 บางส่วนลดจำนวนผู้รับบริการและมีความเข้มงวดในการรับส่งต่อจากพื้นที่เสี่ยงโรคติดเชื้อโควิด-19 โดยก่อนหน้าที่จะเกิดสถานการณ์โควิด เครือข่ายอาสาเพื่อยุติการตั้งครรภ์ปลอดภัย หรือ RSA (Referal System for Safe Abortion) ภายใต้การดูแลของกรมอนามัย มีสถานบริการสุขภาพที่ให้บริการ 142 แห่ง ปัจจุบันเหลืออยู่เพียง 71 แห่ง และมีหน่วยบริการเพียง 4 แห่งทั่วประเทศไทยที่ให้บริการสำหรับกรณีอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ ขึ้นไป
ในส่วนของผู้รับบริการเองนอกจากไม่สามารถเดินทางข้ามจังหวัดได้ หลายคนยังกังวลกับเรื่องการถูกกักตัว ทั้งขาไปและกลับจากการไปรับบริการในสถานบริการต่างพื้นที่ ซึ่งทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ทั้งค่าเดินทาง อาหาร ที่พัก และค่าคนที่จะต้องมาคอยดูแลลูกระหว่างที่ไม่อยู่ และเสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้าง หากต้องลางานหลายวันติตต่อกัน นอกจากนี้หลายคนยังต้องเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น จากการที่ตนเอง และสามีต้องตกงานกะทันหัน เมื่อสถานประกอบการต้องปิดตัวลง หรือได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ ขณะเดียวกันมาตรการ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ยังมีแนวโน้มที่จะนำมาซึ่งการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในอนาคตเพิ่มมากขึ้นด้วย เนื่องจากการใช้เวลาอยู่ในบ้านร่วมกันเพิ่มโอกาสในการมีเพศสัมพันธ์กับคู่มากขึ้น ขณะที่ประชาชนกลับเข้าไม่ถึงอุปกรณ์คุมกำเนิด หรือใช้วิธีการคุมกำเนิดที่ยังไม่มีประสิทธิภาพ
รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อมกล่าวว่า บริการยุติการตั้งครรภ์ปลอดภัย เป็นบริการสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์ที่มีความสำคัญและจำเป็นต่อชีวิตของประชาชน ไม่สามารถจะหยุด หรือชะลอการให้บริการได้ไม่ว่าจะเกิดวิกฤตการณ์ หรือภัยพิบัติใดก็ตาม เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อมจึงได้จัดทำจดหมายเปิดผนึกต่อกรมอนามัยให้พิจารณาออกมาตรการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นโดยด่วน
โดยข้อเรียกร้องสำคัญในจดหมายเปิดผนึกที่เสนอต่อกรมอนามัย ประกอบด้วย
-
ขอให้กรมอนามัยประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาอนุญาตให้ผู้หญิงที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์สามารถเดินทางออกนอกพื้นที่เพื่อไปรับบริการที่สถานบริการนอกพื้นที่ได้
-
จัดหาและเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ในการคุมกำเนิดชั่วคราว และจัดระบบการกระจายอุปกรณ์อย่างมีประสิทธิภาพ ให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าถึงง่าย รวมทั้งจัดให้มีบริการคุมกำเนิดกึ่งถาวรที่เข้าถึงได้ โดยเฉพาะหลังยุติการตั้งครรภ์
-
พิจารณานำเอาเทคโนโลยีการดูแลรักษาทางไกล หรือ Tele-medicine มาใช้กับการให้บริการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่และรับเชื้อโควิด-19 โดยใช้การปรึกษาออนไลน์ ก่อนและภายหลังการใช้ยาในผู้หญิงที่ต้องการจะยุติการตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ต่ำกว่า 12 สัปดาห์ที่มีผลตรวจอัลตร้าซาวด์ยืนยัน
-
เผยแพร่ข้อมูลนโยบายการให้บริการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยให้ประชาชนทั่วไป รวมทั้งสถานบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขได้รับทราบ เพื่อดำเนินการไปในแนวทางเดียวกันในการสนับสนุนให้ผู้หญิงสามารถเข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย
-
พัฒนานโยบาย และยุทธศาสตร์ในระยะยาว เพื่อสนับสนุนให้บริการทำแท้งที่ปลอดภัยเป็นบริการสุขภาพที่สถานบริการสาธารณสุขของรัฐทุกแห่งควรเปิดให้บริการยุติการตั้งครรภ์ หรืออย่างน้อยจังหวัดละ 1 แห่ง
นายแพทย์บัญชา ค้าของ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวภายหลังการรับมอบจดหมายเปิดผนึกจากเครือข่ายฯ ว่า ทางกรมอนามัยได้รับทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้น โดยมาตรการที่ดำเนินการอยู่ ในการแก้ไขปัญหาในเวลานี้คือ การให้แพทย์ออกหนังสือส่งตัวให้ผู้หญิงเดินทางไปรับบริการในจังหวัดที่มีสถานบริการ
“หลักฐานความจำเป็นทางการแพทย์โดยใบส่งต่อนี่ ถือว่าเป็นความฉุกเฉินที่สามารถจะแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ท้องที่ได้ เพราะว่าทุกๆ อย่างที่เป็นโรคฉุกเฉินนี่มันรอไม่ได้ รวมทั้งการตั้งครรภ์ไม่พร้อม เพราะยาเมตาบอนที่เราแนะนำ มันจำกัดด้วยเวลา ในแนวปฏิบัติขณะนี้ ถึงไม่บอก แต่กรมอนามัยก็จะกำชับอีกครั้งหนึ่งว่า ในขณะที่ยังไม่มีโปรโตคอลเรื่องเทเลเมดิซีนออกมา ก็ให้คุณหมอใช้วิธีออกใบส่งตัวก่อน”
ส่วนสถานบริการที่ปิดให้บริการไปก่อนหน้านี้ รองอธิบดีกรมอนามัยมองว่า สถานบริการน่าจะกลับมาเปิดให้บริการได้อีกครั้ง หลังจากที่ในเวลานี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดเริ่มดีขึ้น
“ขณะนี้คนไข้โควิดลดจำนวนลงมาก ผมคิดว่าเป็นจังหวะที่ดีที่จะกระตุ้นให้กลับมาให้บริการได้อีก ก็ไม่ยากครับ เพียงแต่คัดกรองโควิดเหมือนเดิม มีไข้ไหม ไอ จามไหม ถ้ามีก็เข้าแทร็คโควิดไป ถ้าไม่มีก็เข้าแทร็คคนไข้ท้องไม่พร้อม”
ต่อคำถามเรื่องการพิจารณานำเอาระบบการให้การรักษาทางไกล หรือ Tele-medicine มาใช้กับกรณีการให้การยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย นพ.บัญชารับปากว่าจะนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการของสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์เพื่อพิจารณาในเรื่องนี้ และคาดว่าจะได้รับคำตอบภายในไม่เกินเดือนมิถุนายน ว่าจะสามารถออกระเบียบข้อบังคับให้มีการใช้เทเลเมดิซีนกับการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยได้หรือไม่
“Tele-medicine อันนี้น่ะเป็น “นิว นอร์มอล” ที่คิดว่ากระทรวงสาธารณสุขทั้งหมดพูดแล้ว ขณะนี้กรมเองก็ออกมาตรการเพื่อรองรับทุกๆ ระบบ ผมจะรีบนำเรื่องนี้เข้ามาคุยในบอร์ดสำนักอนามัยเจริญพันธุ์ แล้วก็รีบชวนเครือข่ายอาสาเพื่อยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย มาคุยกันว่า และจัดระบบโปรโตคอลขึ้นมาใหม่ว่า ใครจะทำ และถ้าเราจะทำเรื่องนี้นี่ จะสร้างความมั่นใจว่า จะใช้ระบบเทคโนโลยีเข้าไปทดแทนได้อย่างไร อย่างกรณีที่อยู่กันคนละจังหวัด จำนวนคนไข้เยอะ แต่จำนวนคุณหมอน้อย แน่นอนว่าจะต้องมีการพูดคุยถึงระเบียบ แนวทางปฏิบัติ ตลอดจนเครื่องไม้เครื่องมือ แต่ผมคิดว่า เครื่องไม้เครื่องมือแทบจะไม่มีข้อจำกัดเท่าไหร่ ผมคิดว่าน่าจะไม่เกินต้น หรือกลางเดือนหน้า น่าจะได้คำตอบว่า เราจะมีโปรโตคอลนิวนอร์มอล ดูแลเรื่องการตั้งครรภ์ไม่พร้อม”
นพ.พีรยุทธ์ สานุกูล ผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ในฐานะผู้บริหารหน่วยงานที่รับผิดชอบงานนี้โดยตรง ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นการนำเอาระบบ Tele-medicine มาใช้กับกรณียุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยว่าจะต้องพิจารณาให้รอบด้านว่าไม่ขัดกับ กฎหมาย และระเบียบข้อบังคับที่มีอยู่
“จริงๆ ตั้งแต่มีสถานการณ์โควิดเข้ามา เราได้รับทราบถึง ประเด็นการเข้าถึงบริการที่มีความยากลำบากมากขึ้น ล่าสุดเราก็เพิ่งประชุมเมื่อเช้าวันนี้ เรื่องของการจัดยาให้มีความเพียงพอ ก็ผูกโยงไปถึงเรื่อง Tele-medicine ด้วย ตรงนี้ก็จะได้มีการนำเข้าไปหารือกับสมาคมวิชาชีพ ราชวิทยาลัยสูตินารีแพทย์ที่จะออกแนวทางปฏิบัติ และในส่วนของแพทยสภาที่ดูในส่วนของข้อบังคับแพทยสภา ว่าจะเป็นไปได้ไหม แม้ว่าการใช้ยาจะมีข้อบ่งใช้ก็จริง แต่ก็ต้องมีวิธีการใช้ที่ถูกต้องด้วย เพราะในการใช้ทุกอย่างมันมีผลข้างเคียง หรือภาวะแทรกซ้อนได้ ซึ่งตรงนี้มันจะต้องอยู่บนหลักการว่า 1.ผู้รับบริการจะต้องปลอดภัยที่สุด 2.ผู้ให้บริการ โดยเฉพาะ แพทย์ บุคลากรทางการแพทย์จะต้องทำตามระเบียบ ไม่ผิดระเบียบข้อบังคับ และไม่ถูกจับ เราต้องไปดูระเบียบข้อบังคับว่าจะต้องไม่ค้านกับกฎหมาย เนื่องจากตอนนี้กฎหมายยังไม่เปิดโอกาสให้สิทธิเสรีภาพของสตรีในการที่จะยุติการตั้งครรภ์ได้”
สุพีชา เบาทิพย์ ผู้ประสานงาน กลุ่มทำทาง กลุ่มอาสาสมัครที่ทำงานให้คำปรึกษาผู้หญิงที่ท้องไม่พร้อม ซึ่งเดินทางมาร่วมยื่นจดหมายเปิดผนึกด้วย แสดงความคิดเห็นต่อท่าทีของกรมอนามัย ภายหลังฟังคำตอบจากรองอธิบดี และผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ว่า
“คำว่า Tele-medicine คำที่เพิ่งจะฮิตขึ้นมาในช่วงนี้ ทั้งๆ ที่มีคนขายยาออนไลน์เถื่อนมาตั้งนานแล้ว ผู้หญิงเสียเงินไปฟรีๆ กันมาก บางคนเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เพราะคนขายยาไม่ได้มีความรับผิดชอบ ผู้หญิงเองก็เข้าไม่ถึงข้อมูลการใช้ยาที่ชัดเจน กรมอนามัยควรถือเป็นโอกาสที่จะดึงผู้หญิงมาจากคนกลุ่มนี้ได้แล้ว ทำให้เป็นสิ่งที่ถูกต้องตามไกด์ไลน์ขององค์การอนามัยโลก อย่างรัฐบาลอังกฤษก็ทำแล้วในช่วงโควิด
“ทางกลุ่มทำทางจะติดตามผลักดันเรื่องนี้ต่อไป นอกจากนั้นเรายังจะผลักดันต่อในเรื่องการยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 301 ที่เอาผิดผู้หญิงทำแท้ง ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำตัดสินว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญด้วย เพราะอาจมีแนวโน้มว่าจะมีการแก้ไข แต่ไม่ได้ยกเลิกมาตรานี้ ต้องยกเลิกให้ได้เพื่อที่ผู้หญิงเองก็จะเข้าถึงบริการได้อย่างปลอดภัยจริงๆ และหมอที่ให้บริการก็จะไม่ต้องกังวล หรือลังเลใจที่จะมาช่วยในเรื่องนี้เพราะกลัวกฎหมาย”
เรื่อง: สุไลพร ชลวิไล
Tags: ผู้หญิง, ทำแท้ง, โควิด-19, พ.ร.ก. ฉุกเฉิน, ท้องไม่พร้อม, ทำแท้งปลอดภัย