แต่ก่อนคำว่า ‘หัตถกรรม’ หรือ ‘หัตถศิลป์’ อาจจะมาพร้อมกับภาพคุณตาคุณยายในชุดซิ่นกำลังม้วนเส้นยืนสำหรับทอผ้าหรือสานตะกร้าอยู่ในบ้าน แต่เมื่อได้รับการบรรจุอยู่ในพจนานุกรมความ ‘คราฟต์’ กระบวนการสร้างงานที่เน้นการทำด้วยมือก็เริ่มได้รับความสนใจในหลายบริบท รวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปในยุคสมัยใหม่ ทำให้เทรนด์ของงานคราฟต์ปรับตัวตาม เบญจรงค์หรือเก้าอี้ไม้ไผ่จึงสามารถป็อปและร่วมสมัยได้ โดยที่ยังคงรากฐานของความดั้งเดิมอยู่

ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT เห็นความละมุนละเอียดเหล่านี้ ในงานเปิดตัวหนังสือ SACICT Craft trend 2019 ในวันที่ 18 กันยายน 2561 จึงมีคอนเซ็ปต์หลักในการนำวัฒนธรรม ฝีมือเชิงช่าง และคุณค่าเชิงภูมิปัญญาจากผลงานหัตถกรรม มาพัฒนาเพื่อให้เข้ากับทิศทางของเทรนด์และพฤติกรรม 4 รูปแบบที่น่าจับตามองของผู้บริโภคในปัจจุบัน ได้แก่ Retelling the detailing, Tropical Dream, Righteous Crafts และ Surreal Hospitality ซึ่งถ่ายทอดความหมายของงานคราฟต์ในเชิงลึก ประวัติศาสตร์ รวมไปถึงฟังก์ชันการใช้งานที่ตอบโจทย์ยุคสมัย และจัดแสดงต่อในงานนิทรรศการ Innovative Craft Gallery

อัมพวัน  พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพฯ กล่าวเปิดงาน SACICT Craft trend 2019 โดยขยายความว่าหนังสือในปีนี้ไม่เพียงแต่จะมีจุดประสงค์ให้รู้เท่าทันเทรนด์เท่านั้น แต่ยังสะท้อนให้เห็นว่าไทยจะสามารถนำเทรนด์โลกมาเป็นเครื่องมือในการปรับใช้และพัฒนาองค์ความรู้ด้านงานหัตถกรรมและการออกแบบได้อย่างไร เพราะการสืบสานดีไซน์ในระยะยาวนั้นต้องไม่โฟกัสไปที่กระแสแฟชัน แต่เป็นการมองงานคราฟต์ในหลากหลายมิติ ซึ่งนั่นหมายความว่าต้องถ่ายทอดอัตลักษณ์ของชิ้นงานและมีประโยชน์ควบคู่กันไปด้วย

แสงระวี สิงหวิบูลย์ รองผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพฯ เสริมต่อในด้านการทำงานเชิงสร้างสรรค์ของ SACICT โดยองค์กรจะทำงานทั้งในด้าน Smart Craft คือเสริมศักยภาพของบุคลากรในวงการหัตถศิลป์ ทั้งตัวผู้ผลิตงานคราฟต์และผู้ประกอบการ โดยมีไฟล์เก็บข้อมูลตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษถึงรุ่นปัจจุบัน รวมไปถึง SACICT Craft Trend ที่ดีไซน์ขึ้นมาเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดโดยเฉพาะ

งานหัตถกรรมพื้นบ้านไม่ควรจะดูน่าเบื่อและเป็นงานสำหรับคนกลุ่มเดียวอีกต่อไป นอกจากประเด็น smart craft ทางองค์กรจึงเพิ่มตัว Craft Studio เพื่อสร้างงานศิลป์ให้ร่วมสมัยโดยการนำความรู้เชิงช่างและทักษะต่างๆ มาผนวกเข้ากับคนที่มีฝีมือเพื่อผลิตต้นแบบงานใหม่ๆ สู่ตลาด และ Craft Society ที่ขีดเส้นใต้เรื่องการสร้างความนิยมและการเข้าถึงงานหัตถศิลป์ โดยการทำงานร่วมกับแบรนด์หรือโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อขยายศิลปะจากวงแคบสู่ตะกร้าสานที่กว้างขึ้น

งาน  SACICT trend จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งการพัฒนารูปแบบงานศิลป์ในแต่ละปีจะผ่านการถกเถียงและค้นหาข้อมูลเชิงลึกกับผู้เชี่ยวชาญด้านเทรนด์เพื่อค้นหาเส้นทางที่จะสืบสานวัฒนธรรมและผลิตภัณฑ์ให้ไปได้ไกลที่สุด

คุณดำรง ลี้ไวโรจน์ บรรณาธิการบริหารนิตยสาร room เล่าถึงเทรนด์ 4 รูปแบบในหนังสือโดยระบุถึงแก่นและที่มาของเทรนด์ว่า เราจะมองเทรนด์ให้แยกขาดจากวิถีชีวิตไม่ได้แล้ว เพราะมันคือการมองแนวโน้มความเป็นไปของโลก ซึ่งในที่นี้ เศรษฐกิจ สังคม หรือวัฒนธรรมจะมีผลต่อการใช้ชีวิต การตัดสินใจ รวมไปถึงค่านิยมของคนทั้งสิ้น บุคคลเหล่านี้จึงจะพิจารณาสินค้าที่ได้รับการผลิตมาด้วยความประณีตบรรจงอย่างละเอียดลออก่อนที่จะตัดสินใจซื้อด้วยเช่นกัน

Retelling the detailing คือเทรนด์แรกที่เป็นชื่อหลักของงาน ปัจจุบันผู้บริโภคมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปในเชิงที่พวกเขาสนใจที่มามากกว่าปลายทางของผลิตภัณฑ์ จึงสอดคล้องกับหัวใจหลักนี้ในแง่ที่ว่าเรื่องราวระหว่างทางของไหมเส้นนี้ ประวัติศาสตร์ของถ้วยแก้วเบญจรงค์ชิ้นนั้น หรือแจกันไม้ไผ่มีความสำคัญต่อใจและการรับรู้ของผู้บริโภค

ดังนั้นการสืบสาวเรื่องราวของรายละเอียด หรือ retelling the detailing ของสินค้าหัตถกรรมในมิติที่แตกต่างหลากหลาย  จึงสามารถสร้างคุณค่าที่เข้ากับค่านิยมของคนในปัจจุบันเพราะพวกเขาอยากรู้ที่มาที่ไป การที่นักออกแบบลดทอนการดีไซน์ให้ออกมาเป็นรูปแบบแหวกแปลกตาและเล่าถึงไอเดียและแก่นเบื้องหลังการสร้างสรรค์ผลงานจึงสร้างความน่าตื่นตาตื่นใจในเชิงรูปธรรมมากขึ้น รวมไปถึงในเชิงจิตใจที่ผู้บริโภคจะรับรู้ถึงภูมิปัญญาชาวบ้านได้อีกด้วย

หูฟังตกแต่งลายเบญจรงค์ลบภาพพานหรูหราที่ตกแต่งอย่างหยดย้อยแต่เฉิดฉายได้แค่ในตู้โชว์ เพราะดีไซน์ชิ้นนี้ไม่ได้ติดแค่ตา แต่ติดหูด้วย นักออกแบบเชื่อมต่อศิลปะที่เราแทบจะไม่เห็นใครใช้งานในชีวิตประจำวันเข้ามาทำให้เบญจรงค์มีที่ยืนในไอเท็มที่ไม่คิดว่าจะปรากฏอยู่ได้อย่างหูฟัง ออกแบบโดยคุณกฤษณ์ พุฒพิมพ์ และบุญญารัตน์เบญจรงค์จากโครงการพัฒนาอัตลักษณ์เบญจรงค์ไทย SACIC

เราเห็นเก้าอี้ทรงนี้ในที่สาธารณะมากมาย แต่เราจำมันไม่ได้เลยด้วยความแสนจะทั่วไปของมัน แต่งานปะติดปะต่อ หรือ Patchwork ของคุณภาสุรี วิรัชวิบูลย์กิจ สร้างความหมายให้กับเก้าอี้ดาษดื่นนี้โดยการแปลงโฉมมันให้มีคุณค่าทางด้านจิตใจ เธอได้คอนเซ็บนี้มาจากการใช้ผ้าเก่าเพื่อหุ้มเก้าอี้ให้ผู้สูงอายุในบ้านของตัวเอง

ทุกวันนี้เราอยากไปอาบแดดริมทะเล ล่องแก่ง ปีนผา ดูปะการังกันมากมายแต่ทำไม่ได้ด้วยข้อจำกัดต่างๆ เทรนด์ Tropical dream จึงปิ๊งขึ้นมาจากสมมติฐานนี้ คนอาจจะไปไม่ได้ แต่ดีไซน์ไปได้และไปถึง การนำธรรมชาติเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันด้วยกิจกรรม การจำลองบรรยากาศ ใช้สีเขียวของต้นไม้ใบไม้เขตร้อนเพื่อเป็นตัวแทนของธรรมชาติในผลิตภัณฑ์ต่างๆ จึงเป็นเทรนด์ที่ชุบชูจิตวิญญาณในข้อจำกัดได้อย่างต่อเนื่อง

เก้าอี้ไม้สตูลจากไม้ไผ่ขดหรือพรมตกแต่งลายกุหลาบกราฟิก จึงเป็นสัญลักษณ์ของ “ธรรมชาติในรูปแบบเสมือน” ที่มีสีสัน ผิวสัมผัส หรือรูปทรงที่ได้รับการพลิกแพลงจากธรรมชาติดั้งเดิม มาบิดโดยใช้เทคนิคสไตล์ใหม่ๆ ให้ดูเซอร์เรียลมากขึ้น

Passion of Craft on the Wall หนึ่งในผลงานจากการประกวด Innovative Craft Award 2018 คือผลงานจากเสื่อกก ภูมิปัญญาชาวบ้านและของใช้บ้านๆ ที่เราเห็นได้ในหลายครัวเรือน คุณกฤษณะลักษณ์  ภัครกุทวี นำความพื้นถิ่นมาดีไซน์ให้เป็นของแต่งบ้านสไตล์โมเดิร์น ออกแบบเป็นชิ้นส่วนที่สามารถถอดออกและนำมาปรับเปลี่ยนรูปทรงเล่นได้

Righteous crafts ดูเป็นเทรนด์ที่จับต้องไม่ได้มากที่สุดเพราะเล่าเรื่องความถูกต้องตามทำนองคลองธรรมของผลิตภัณฑ์ว่ามีผลกระทบต่อสังคมหรือสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง แต่นี่คือเทรนด์ที่สำคัญต่อสังคมมนุษย์เพราะเรากำลังพูดถึงวัฒนธรรมการบริโภคนิยมที่ล้ำเส้นเข้ามาเรื่อยๆ ที่มาที่ไปและวิถีการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ใช้วัสดุทิ้งๆ ขว้างๆ จึงสำคัญและมีผลต่อการตัดสินใจซื้อและการรับรู้ของผู้บริโภค

หากวัฒนธรรมการผลิตส่งต่อประโยชน์ไปถึงการคืนรายได้แก่ชุมชนและสร้างสรรค์องค์ความรู้ไปพร้อมกับเจ้าถิ่นด้วย เทรนด์นี้ก็จะสามารถสร้างความกลมกล่อมให้กับหลายฝ่าย ชาวบ้านได้ถ่ายทอดภูมิปัญญา ลูกค้าก็รับรู้มันในโหมดที่ภูมิปัญญาเหล่านั้นถูกแปรรูปให้โมเดิร์นขึ้น

เพราะบางครั้งการนำสินค้าไปวางขายและรับกำไรมาอย่างเดียวก็ไม่ตอบโจทย์ใครทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตหรือผู้บริโภค เราอาจจะได้เพียงสินค้าชิ้นหนึ่งที่ใช้ไปแล้วไม่รู้สึกอะไรกับมัน

ชาวมิลเลนเนียลเป็นส่วนสำคัญของแผนภูมิเทรนด์นี้ เพราะ Surreal hospitality เล่าถึงการอยากครอบครองประสบการณ์มากกว่าวัตถุ พวกเขามีการแชร์ไลฟ์สไตล์ในโซเชียล สนุกกับการโพสต์สถานที่ล้ำๆ และโหยหาประสบการณ์ใหม่ๆ ตลอดเวลา ว่ากันว่าในปี 2562 และ 2563 มิลเลนเนียลคือลูกค้าคลื่นสำคัญของธุรกิจท่องเที่ยว งานหัตถศิลป์จึงมีเอี่ยวเต็มๆ เพราะการออกแบบโรงแรม สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ อาจจะแค่โคมไฟ พรม หรือแจกันเล็กๆ แต่มันย่อมสร้าง ‘บรรยากาศเหนือจริง’ ให้กับกลุ่มคนเหล่านี้ได้ทั้งสิ้น

ในหนังสือ SACICT craft trend เองก็บอกว่างานหัตถกรรมที่ต้องใช้ทั้งระยะเวลา กำลังคน และการลงทุนมหาศาลจึงกลายเป็นความหรูหราหายาก แล้วเราเองก็อาจจะแยกศิลปะบริสุทธิ์กับงานหัตถกรรมได้ยากขึ้นเพราะเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากขึ้นด้วย ดังนั้นงานดีไซน์จึงผสานโลกเซอร์เรียลให้เข้ามาใกล้กับโลกแห่งความเป็นจริงได้ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะมองว่ามันแทรกซึมเข้าไปในแง่มุมใดของชีวิต

 

ถ่ายภาพโดย: ณัฐชานันท์ กล้าหาญ

Tags: , , , ,