โคดา (Coda) ในเชิงดนตรีคลาสสิค สามารถหมายถึงช่วงสุดท้ายของเพลงหรือท่อนในเพลง (movement) ที่นำพาไปสู่ตอนจบ ถ้าเทียบกับเพลงป๊อป โคดาคงมีความหมายใกล้เคียงกับเอาต์โทร (O utro) และในการเขียนโน้ตดนตรี เครื่องหมายโคดามักถูกใช้คู่กับ ดาล เซียนโย (Dal segno ตัวย่อ D.S.)
เมื่อเห็นเครื่องหมาย D.S. ตามมาด้วยชุดโน้ตเพลง แล้วต่อด้วยสัญลักษณ์โคดา ที่มาเป็นคู่ทิ้งห่างระหว่างกันด้วยโน้ตอีกชุดหนึ่ง นั่นหมายถึง ให้นักดนตรีเล่นไปถึงโคดาตัวสุดท้าย แล้วกลับไปเล่นซ้ำท่อนโดยเริ่มที่สัญลักษณ์ D.S. แล้วเมื่อเล่นซ้ำจนถึงโคดาตัวแรกอีกครั้ง ก็ให้ข้ามโน้ตเพลงที่อยู่ระหว่างตัวโคดาตัวที่หนึ่งกับสองไป แล้วเล่นโน้ตหลังจากนั้นต่อ ซึ่งวิธีการนี้เอง สามารถเอามาช่วยสร้างตอนจบของเพลงให้พิเศษขึ้นได้
‘โคดา’ จึงมีความหมายเป็นได้ทั้งจุดจบและจุดเริ่มต้นในขณะเดียวกัน ชื่อของมันถูกนำมาใช้ในหนังสารคดีเรื่อง Ryuichi Sakamoto: Coda โดยผู้กำกับ สตีเฟน โนมุระ ชีเบิล (Stephen Nomura Schible) หนังพาเราติดตามชีวิตของศิลปินและนักแต่งเพลงชาวญี่ปุ่นคนสำคัญของยุค ริวอิจิ ซากาโมโตะ ในช่วงที่เขาเผชิญกับจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ในชีวิต นั่นคือการตรวจพบมะเร็ง
ระหว่างทางหนังได้แวะสำรวจตัวตนด้านอื่นๆ ของเขา ทั้งการเป็นศิลปินเพลงอิเล็กทรอนิกส์ซินธ์ป๊อปปลายยุค 70s นักแต่งเพลงประกอบภาพยนตร์ ไปจนถึงนักเคลื่อนไหวทางสังคมผู้ต่อต้านการใช้พลังงานนิวเคลียร์ ขณะที่ช่วงชีวิตนี้ อาจจะเป็นเหมือนเพลงท่อนสุดท้ายของริวอิจิ แต่ในเวลาเดียวกันนี้ก็ทำให้เกิดผลงานชิ้นใหม่ ทั้งดนตรีประกอบให้กับภาพยนตร์มหากาพย์เรื่อง The Revenant รวมถึงอัลบั้มเดี่ยวในรอบหลายปีของตัวเอง ซึ่งถือเป็นงานมาสเตอร์พีซที่ทั้งสวยงาม ส่วนตัว รวมถึงน่าตื่นเต้นมากในวงการดนตรี
ถ้าหากเป็นดนตรี หนังเรื่องนี้คงจะไม่ใช่เพลงทั้งเพลงแต่เป็นมูฟเม้นท์สำคัญท่อนหนึ่งมากกว่า หนังโฟกัสช่วงเวลาที่ริวอิจิกลับมาทำงานหลังพักฟื้นไปเพราะมะเร็ง ร่วมกับการสัมภาษณ์เกี่ยวกับทัศนคติต่อเรื่องต่างๆ และประสบการณ์ที่ผ่านมา หนังเลือกที่จะใช้วิธีค่อยๆ พาผู้ชมเข้าไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมการทำงานของริวอิจิ ให้เราทำความรู้จักกับเขาด้วยตัวเอง มากกว่าจะเล่าเรื่องในแบบอัตชีวประวัติ กระทั่งฟุตเทจต่างๆ จากอดีต ก็ดูจะไม่ได้ถูกใช้เพื่อวาดภาพทั้งชีวิตให้เห็น แต่เพื่ออธิบายตัวตนของเขาในช่วงเวลาหนึ่ง วิธีการนี้คงขึ้นอยู่กับผู้ชมว่าจะชอบหรือไม่ ส่วนตัวผมไม่ชอบหนังมากนัก แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าตัวริวอิจิที่เป็นศูนย์กลางทั้งหมดของหนังคือ subject ที่ทรงพลังอย่างยิ่ง
Ryuichi Sakamoto: Coda เล่าถึงตัวตนริวอิจิผ่านทางงานของเขาเป็นส่วนใหญ่ จึงอาจพูดได้ว่าภาพรวมของหนังมีความเชื่อมโยงกับอัลบั้มที่เขาเริ่มต้นสร้างอยู่ขณะนั้น ภายหลังอัลบั้มนี้ถูกปล่อยออกมาเมื่อปี 2017 ในชื่อ async ซึ่งตัวมันเองเกิดจากการตกตะกอนของผลงานหลายอย่างที่ปรากฎในหนัง ซึ่งหากอยากรู้จักตัวตนของริวอิจิให้ลึกขึ้นอีกสักหน่อย ก็คงทำได้ด้วยการตามรอยชิ้นส่วนงานด้านต่างๆ เหล่านี้ต่อ
ดนตรีประกอบภาพยนตร์
ริวอิจิเริ่มมีชื่อเสียงระดับนานาชาติจากการแต่งเพลงประกอบให้หนังเรื่อง Merry Christmas, Mr. Lawrence (1983) ของผู้กำกับชั้นครูชาวญี่ปุ่น นางิสะ โอชิม่า (Nagisa Oshima) ในปี นอกจากแต่งสกอร์แล้วเขายังเป็นนักแสดงนำประกบคู่ เดวิด โบวี่ (David Bowie)
หลังจากหนังออกฉาย เพลงประกอบของมันกลายเป็นหนึ่งในธีมซองที่ติดหูผู้คนมากที่สุด ส่งผลให้ริวอิจิถูกจับตามองในฐานะนักแต่งเพลงประกอบภาพยนตร์ผู้มีลายเซ็นน่าสนใจทันที เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่าเนื่องจากไม่เคยมีประสบการณ์ในการทำสกอร์มาก่อนเลย ไม่รู้วิธีว่าปกติต้องทำกันยังไง ริวอิจิจึงลองหาวิธีในแบบของตัวเองขึ้นมา นั่นคงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เพลงธีมของเรื่องนี้โดดเด่น
ตัวสกอร์ที่ใช้ในหนังไม่ใช่ซาวด์แบบวงออเครสต้าที่นิยมกันในการทำเพลงประกอบยุคนั้น มันค่อนข้างอิเล็กทรอนิกส์ และเมื่ออยู่กับหนัง จะพบว่ามันช่วยสร้างบรรยากาศลึกลับและความขัดแย้งทางจิตใจที่มาจากความรู้สึกแบบโฮโมอีโรติค ระหว่างทหารผู้คุมกับเชลยศึกตาสองสี เมโลดี้ที่เล่นวนยังให้ความรู้สึกถึงกลิ่นอายแบบเอเชียน ที่อาจเป็นได้ทั้งมุมมองของชาวตะวันตกที่มองเข้ามาหรือสายตาของชาวตะวันออกที่มองออกไปจากค่ายเชลยสงคราม
และถ้าลองฟังแค่ตัวเพลงโดดๆ จะพบว่า ต่อให้ไม่อยู่กับหนังมันก็มีชีวิตโลดแล่นเป็นของตัวเอง ระหว่างได้ยินสามารถจินตนาการฉากขึ้นมาเองโดยไม่ยึดโยงกับตัวหนังได้เลย เพลงนี้จึงเป็นมากกว่าสกอร์ปกติทั่วไปที่มักช่วยขับเน้นหนังเฉยๆ แต่มันยังเป็นหนังได้ในตัวเองด้วย สิ่งนี้เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งในงานของริวอิจิจนถึงปัจจุบัน คือเพลงที่ให้ความรู้สึกเหมือนภาพยนตร์ เป็นดนตรีที่มีฉากในตัวเอง ไม่ว่าเพลงนั้นจะประกอบหนังหรือไม่ก็ตาม
Merry Christmas, Mr. Lawrence ส่งให้ริวอิจิได้รับรางวัล BAFTA สาขาเพลงยอดเยี่ยม หลังจากนั้นมันก็ถูกนำไปทำต่ออีกมากมายหลายเวอร์ชั่น อย่างการเติมเนื้อเพลงเข้าไปโดยนักร้องนิวเวฟชาวอังกฤษ เดวิด ซิลเวียน (David Sylvian) กลายเป็นเพลง Forbidden Colours จนถึงเวอร์ชั่นสุดป๊อปโดย อูทาดะ ฮิคารุ (Utada Hikaru) และกลายเป็นหนึ่งในเพลงประจำตัวของริวอิจิที่เวลาพูดถึงเขาก็มักจะนึกถึงเพลงนี้
หลังจากประสบความสำเร็จกับงานชิ้นแรก ริวอิจิก็ได้มีโอกาสร่วมงานกับผู้กำกับอิตาเลี่ยน เบอร์นาโด แบร์โตลุคชี่ (Bernardo Bertolucci) ในหนังเรื่อง The Last Emperor (1987) ซึ่งตอนแรกเบอร์นาโด แคสต์ริวอิจิไปแสดง แต่อยู่ดีๆ เขาก็ขนเปียโนมาในกองถ่ายและบอกริวอิจิให้ลองแต่งเพลงประกอบหนังเรื่องนี้หน่อย ถึงจะฟังดูมัดมือชกเล็กน้อยแต่ผลงานจาก The Last Emperor ก็ทำให้ริวอิจิคว้ารางวัลออสการ์สาขาเพลงสกอร์ยอดเยี่ยมร่วมกับ เดวิด เบิร์น (David Byrne) ฟรอนท์แมนของวง Talking Heads และ คอง ซู (Cong Su) คอมโพสเซอร์ชาวจีน ครั้งนี้ริวอิจิได้ลองทำงานกับวงออเครสต้า เพิ่มสีสันด้วยเครื่องดนตรีจีน
https://www.youtube.com/watch?v=xulOCPkcxqQ
ตลอดระยะเวลา เขายังได้ทำเพลงประกอบภาพยนตร์และสื่ออื่นๆ อีกหลายชิ้น การทำเพลงประกอบภาพยนตร์กลับมามีบทบาทสำคัญกับริวอิจิอีกครั้งในช่วงที่เขาป่วยหนัก หลังจากที่รู้ตัวว่าเป็นมะเร็งช่วงเดือนมิถุนายน ปี 2014 เขาก็เข้ารับการรักษาและต้องหยุดรับงาน ปีต่อมาระหว่างพักฟื้นอยู่ก็มีโทรศัพท์สายด่วนมาจากผู้กำกับ อาเลฆานโดร กอนซาเลซ อินาร์ริตู (Alejandro González Iñárritu) ที่อยากนัดริวอิจิไปพูดคุยถึงโปรเจคต์ภาพยนตร์เรื่องใหม่ของเขาที่ชื่อว่า The Revenant ริวอิจิตอบรับทันที ทั้งที่รู้ตัวว่าควรพัก แต่เขาบอกว่าไม่สามารถปฏิเสธได้จริงๆ เพราะอินาร์ริตูเป็นผู้กำกับที่เขาชื่นชมเป็นอย่างมาก นั่นคือการกลับมาของเขาหลังจากหยุดพักงานครั้งที่นานที่สุดในชีวิตและอาจเฉียดใกล้ความตายมากที่สุดด้วยเช่นกัน
สกอร์ของ The Revenant ใช้เวลาทำนานกว่าปกติจากข้อจำกัดด้านสุขภาพ ขั้นตอนกินเวลาราว 6 เดือน ทั้งที่ปกติริวอิจิใช้เวลา 2-3 เดือน หรือน้อยกว่านั้น แต่ผลลัพธ์ที่ออกมานั้นยังคงยอดเยี่ยม ดนตรีเย็นเยือกสอดรับกับบรรยากาศหนาวจนปวดกระดูกของหนัง งานนี้เราสามารถได้ยินอิทธิพลของสิ่งที่ริวอิจิกำลังให้ความสนใจในช่วงหลังมานี้ คือดนตรีมินิมอลแอมเบียนท์
เมนธีมของ The Revenant เต็มไปด้วยพื้นที่ว่าง ทิ้งระยะห่างระหว่างเสียงที่ดังขึ้นมาเแต่ละระลอก เล่นคล้ายเดิมแต่ค่อยๆ เปลี่ยนไปในแต่ละครั้ง ซึ่งเราสามารถพบอะไรแบบนี้ได้ในดนตรีมินิมอล หรือในบางแทรคดนตรีถูกเล่นทิ้งหางเสียงให้เป็นโดรนยืดยาวจนแทบจะกลืนกันไปหมด รวมเป็นบรรยกาศบางเบาล่องลอยแบบดนตรีแอมเบียนท์
นอกจากนั้นในสกอร์ The Revenant ยังมีการทดลองใช้เสียงไม่ประสานกัน (asynchronous) อย่างในแทรคต์ Killing Hawk ที่อยู่ดีๆ ก็มีเสียงนอยซ์ซึ่งอาจจะมาจากการเคาะหรือสีอะไรบางอย่างแทรกขึ้นมาท่ามกลางแอมเบียนท์หนาวเย็นอย่างไม่เข้ากัน แต่ก็กลมกลืนแบบแปลกๆ The Revenant จึงดูจะเป็นงานที่ริวอิจิทดลองเพื่อเป็นพิมพ์เขียวสำหรับงานตัวเองด้วย เพราะสิ่งต่างๆเหล่านี้ล้วนปรากฏในอัลบั้ม async ของเขาทั้งหมด
ดนตรีอิเล็กทรอนิกส์
แม้เขาจะโด่งดังจากเพลงประกอบภาพยนตร์ แต่พูดได้ว่าก้าวแรกในวงการดนตรีของริวอิจิคือเพลงอิเล็กทรอนิกส์ ในช่วงต้นยุค 70s ระหว่างเรียนอยู่ Tokyo National University of Fine Arts and Music ริวอิจิที่ได้รับการฝึกทั้งดนตรีคลาสสิคไปจนถึงดนตรีพื้นเมือง เขาได้ค่อยๆ ขยายความสนใจไปสู่การทดลองกับเครื่องดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ ต่อมาเขาก็ร่วมกับเพื่อนอีกสองคนคือ ฮารุโอะมิ โฮะโซะโนะ (Haruomi Hosono) และ ยูกิฮิโระ ทะกะฮะชิ (Yukihiro Takahashi) ก่อตั้งวง Yellow Magic Orchestra หรือ YMO ขึ้นมา
ด้วยฝีมือที่ยอดเยี่ยมของแต่ละคนและการใช้ซินธิไซเซอร์อย่างหลากหลาย แถมยังมีการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์มาผสมซึ่งตอนนั้นถือว่าเป็นเรื่องค่อนที่ข้างใหม่มาก ทำให้ YMO สร้างซาวด์ที่ล้ำสมัยในยุคนั้น นอกจากด้านเทคนิคแล้วเมโลดี้ที่เล่นออกมานั้นก็โดดเด่นแสนจะโอเรียนทัล โดยไม่ต้องพึ่งเครื่องดนตรีพื้นเมืองก็บอกได้ว่านี่คือเพลงจากโลกตะวันออก โดยฮารุโอะมิ โฮะโซะโนะ เคยบอกว่าส่วนหนึ่งที่ใช้กลิ่นอายเอเชียนชัดเจนแบบนี้ก็เพื่อล้อกับสเตอริโอไทป์ที่ชาวตะวันตกมองชาวเอเชียแบบเอ็กซอติกนั่นเอง
YMO ปล่อยอัลบั้มแรกออกมาในปี 1978 และประสบความสำเร็จทันที นอกจากซาวด์ที่มีเอกลักษณ์แล้วอีกอย่างคือสไตล์ด้านวิชวลของทางวงเอง ตั้งแต่แฟชั่นการแต่งตัวไปจนถึงมิวสิควิดีโอ ก็ราวกับหลุดมาจากหนังไซไฟ แถมญี่ปุ่นช่วงปลายยุค 70s ถึง 80s เติบโตทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว (และค่อยมาเจอกับภาวะฟองสบู่แตกต้นยุค 90s) จนทำให้เมืองหลวงซึ่งเป็นบ้านเกิดของ YMO อย่างโตเกียว กลายเป็นเมืองล้ำยุคดูโลกอนาคต นั่นเลยทำให้ดนตรีของ YMO สอดรับกับภาพของโตเกียวในยุคนั้นได้อย่างลงตัวจนเหมือนเป็นซาวด์แทรคของเมืองเลยทีเดียว
เมื่อเวลาผ่านไปงานอิเล็กทรอนิกส์ของริวอิจิก็มีความทดลองยิ่งขึ้นและค่อยๆ ทอนรูปลง ไหลไปทางดนตรีแอมเบียนท์ บางเบา สามารถเริ่มเห็นสไตล์ที่ว่านี้ค่อยๆ ปรากฎขึ้นในช่วงปี 2000s ตอนเขาเริ่มทำงานร่วมกับ อัลวา โนโต (Alva Noto) หรือชื่อจริง คาร์สเตน นิโคไล (Carsten Nicolai) ศิลปินอิเล็กทรอนิกส์ชาวเยอรมัน ในอัลบั้มของทั้งคู่มักจะเป็นเสียงเปียโนของริวอิจิล่องลอยคู่ไปกับกลิทช์ (glitch) กับ นอยซ์ของอัลวา และในงานล่าสุดของทั้งคู่อย่าง Glass ปี 2018 ที่เป็นอิมโพรไวรส์ประกอบอินสตอเลชั่นอาร์ต Dots Obsession—Alive, Seeking for Eternal Hope ของศิลปินลายจุดผู้โด่งดัง ยาโยย คุซาม่า
ในงานชิ้นนี้ พบว่าริวอิจิไม่ใช้เสียงเปียโนแล้ว แต่เล่นซาวด์จากสิ่งอื่นตั้งแต่ซินธิไซเซอร์ไปจนถึงการเอาไมโครโฟนกรีดกระจกสร้างแอมเบียนท์ที่กลืนรวมไปกับซาวด์ของอัลวา ในอัลบั้มเดี่ยวของริวอิจิเริ่มพบกลิ่นอายแบบนี้ชัดเจนขึ้นตั้งแต่อัลบั้ม Out of Noise ในปี 2009 ที่เสียงเปียโนละลายหายกลายเป็นกลิทช์นอยซ์และแอมเบียนท์ไปช่วงกลางอัลบั้ม ก่อนจะกลับมาอีกครั้งในช่วงท้าย
มาถึงอัลบั้ม async ซาวด์อิเล็กทรอนิกส์ถูกพัฒนาจนกลายเป็นซาวด์แอมเบียนท์จางๆ กลืนไปกับเสียงบันทึกบรรยากาศจากธรรมชาติ ผสมเสียงเครื่องดนตรีอะคูสติครวมถึงสิ่งที่ไม่ใช่เครื่องดนตรี ถ้า YMO เหมือนมนุษย์หุ่นยนตร์ในหนังไซไฟล้ำยุค async คงเป็นการรวมร่างของธรรมชาติกับเทคโนโลยี และหากมองภาพรวมให้ใหญ่กว่านั้นจะเห็นว่าดนตรีของริวอิจิดูจะสะท้อนสังคมญี่ปุ่น จากโตเกียวโลกอนาคตในช่วงที่ YMO โด่งดัง มาถึงตอนนี้ที่ทุกคนก็เริ่มมองเห็นผลกระทบของเทคโนโลยีรวมถึงความสำคัญของธรรมชาติกันมากขึ้น การแก้ปัญหาสมดุลของเทคโนโลยีกับธรรมชาตินั้น คำตอบอาจจะไม่ใช่การปฏิเสธวิทยาการแต่เป็นการหลอมรวมกันในแบบที่อัลบั้ม async ทำกับเสียงก็เป็นได้
ธรรมชาติ
หากมองย้อนกลับไปจะเห็นนอกจากเรื่องดนตรีว่าริวอิจิค่อยๆ พัฒนาความสนใจเกี่ยวกับธรรมชาติมานานแล้วเช่นกัน
เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่าเริ่มตื่นตัวเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมในช่วงต้นยุค 90s หลังจากเจอบทความในเว็บไซด์ของ Greenpeace ที่ว่าด้วยเรื่องโรงงานรีไซเคิลขยะนิวเคลียร์ มันคือโรงงานที่รีไซเคิลกากยูเรเนียมเพื่อทำพลูโตเนียม โรงงานแบบนี้ปล่อยกัมมันตภาพรังสีรุนแรงกว่าโรงงานปกติหลายเท่า ที่สำคัญคือทางตอนเหนือของญี่ปุ่นก็มีโรงงานแบบนี้ขนาดใหญ่อยู่
ความสนใจนี้เริ่มปรากฎในงานโอเปร่า LIFE ปี 1999 ที่มีส่วนหนึ่งชื่อว่า Oppenheimer’s Aria ซึ่งเป็นการนำเสียงของ เจ. โรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์ (J. Robert Oppenheimer) นักฟิสิกส์ผู้เป็นบิดาของระเบิดปรมาณู ขณะพูดถึงโลกที่เปลี่ยนไปตลอดกาลหลังจากมีระเบิดนิวเคลียร์อย่างน่าขนลุก มาแสดงร่วมกับดนตรีสะเทือนอารมณ์ หรืออย่างในปี 2009 อัลบั้ม Out of Noise ก็มีการใช้เสียงจากธรรมชาติอย่างโดดเด่นในเพลง Glacier ที่นำเสียงน้ำไหลมาเรียบเรียงผสานกับดนตรี ซึ่งเขาได้เดินทางไปบันทึกเสียงน้ำนี้ถึงขั้วโลก อัดมันจากธารน้ำแข็งจริงๆ ตามชื่อเพลง ตัวคอนเซปต์เองเกี่ยวกับธรรมชาติและภาวะโลกร้อน ตั้งแต่ตอนนั้นเราจะเริ่มเห็นอีกบทบาทของริวอิจินอกจากการเป็นศิลปินนั่นคือการเป็นแอคทิวิสต์โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม และมักจะแสดงทัศนคติผ่านทั้งทางงานเสียงและการเคลื่อนไหวอื่นๆ ของเขาเสมอ
ยิ่งหลังจากเหตุการณ์สึนามิครั้งใหญ่ในปี 2011 ที่สร้างความเสียหายกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะจนเกิดผลกระทบกับประชาชนตามมามากมาย ริวอิจิตัดสินใจเข้าร่วมชุมนุมต่อต้านการใช้พลังงานนิวเคลียร์ ดูเหมือนว่าสึนามิและมะเร็งในช่วงปี 2011-2014 จะเป็นเหตุการณ์สำคัญครั้งใหญ่ในชีวิตของริวอิจิที่เชื่อมโยงถึงกัน สั่นสะเทือนเขาทั้งในฐานะปัจเจกรวมไปถึงความคิดเกี่ยวกับบทบาทของตัวเองต่อสังคม นอกจากผลงานที่ทดลองไปสุดทางมากขึ้นบทบาทแอคทิวิสต์ของเขาเองก็ดูจะจริงจังขึ้นด้วยเช่นกัน
ฉากเปิดในหนัง Ryuichi Sakamoto: Coda อธิบายถึงความเชื่อมโยงนี้ได้ค่อนข้างดี มันเป็นฉากที่ริวอิจิอยู่ในพื้นที่ภัยพิบัตินิวเคลียร์ฟูกูชิมะ เขาเข้าไปทำความรู้จักกับเปียโนผุพังหลังหนึ่ง หลังจากทักทายอยู่ชั่วครู่เขาก็ค่อยๆ ลองเล่นมันดู บางคีย์ของเปียโนถูกกดแล้วจมไม่ยอมกลับขึ้นมา เสียงผิดเพี้ยน แต่ริวอิจิก็เล่นเพลงเสียงแปร่งออกมาได้ไพเราะอย่างประหลาด เปียโนหลังนี้ถูกคลื่นสึนามิซัด ถูกทิ้งลอยอยู่นานจนเห็นคราบน้ำทะเลได้ชัดเจน แต่ในที่สุดเมื่อน้ำลด มันรอดมาได้
ริวอิจิพูดว่าเสียงจากเปียโนที่เราคุ้นเคยเกิดจากการควบคุมของมนุษย์ ผ่านการตั้งคีย์ ปรับแต่งเสียงต่างๆ ย้อนไปถึงจุดแรกสุดตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต การเอาไม้หลายแผ่นมาบีบอัดกดทับ ดัดโลหะ เปลี่ยนแปลงรูปร่างของวัสดุ ให้มันออกมาเป็นสิ่งที่เราต้องการ ได้ในเสียงที่เราต้องการ แต่เมื่อสึนามิซัดมาเปียโนหลังนี้ก็กลับไปสู่ธรรมชาติ เสียงของมันหลุดออกจากการควบคุม สำหรับธรรมชาติแล้วเสียงที่ถูกปรับแต่งจนออกมาไพเราะในแบบที่เรานิยามกัน มันอาจจะผิดเพี้ยนแปลกแปร่ง ตอนนี้ธรรมชาติได้คืนเสียงดั้งเดิมให้กับมัน
ริวอิจิคิดถึงสิ่งนี้กับมะเร็งของเขาด้วย เขารู้จักกับเปียโนหลังนี้ในปี 2011 หลังจากนั้นไม่นานในปี 2014 เขาก็ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งลำคอระยะที่ 3 มะเร็งซัดเขาเหมือนกับที่สึนามิทำกับเปียโน ริวอิจิให้สัมภาษณ์ว่าสำหรับเขาแล้วมันเชื่อมโยงกันหมด พลังของธรรมชาติ เปียโน รวมถึงร่างกายของเขา ทั้งหมดล้วนเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ กระทั่งการถูกกระแทกด้วยพลังธรรมชาติ นั้นก็เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ
ดนตรีทดลอง
หลังจาก async ถูกปล่อย ริวอิจิได้ทดลองวิธีการใหม่ๆ ในการแสดงสดด้วยเช่นกัน บางครั้งงานของเขาก็ลดทอนรูปแบบลงมากๆ จนเส้นแบ่งของ ‘เสียง’ กับ ‘ดนตรี’ เบลอไปหมด อย่างเช่นการแสดงร่วมของเขากับ เดวิด ทูป (David Toop) ที่มีการเล่นกับเสียงขยำกระดาษหรือเสียงโลหะชิ้นเล็กๆ รูดผ่านสายเปียโน
งานนี้ดูใกล้เคียงกับ subgenre ของดนตรีทดลองที่เรียกว่า โลวเวอร์เคส (lowercase) ซึ่งคือขั้นสุดโต่งของดนตรีแอมเบียนท์ที่มักเล่นกับเสียงที่เบามากและถูกละเลยไป นำเอามันมาขยายและบิดเบือนผสมออกมาให้ได้ยิน แต่ก็มักเป็นการได้ยินในระดับที่เบาและเต็มไปด้วยช่องว่างของความเงียบ
สตีฟ โรเดน (Steve Roden) ผู้บุกเบิก lowercase เคยให้นิยามถึงมันว่าเป็น ‘เสียงที่ไม่ได้เรียกร้องความสนใจ เป็นเสียงที่ต้องถูกค้นพบเอง’ (It doesn’t demand attention, it must be discovered) อีกอย่างที่โลวเวอร์เคสดูจะมีความสัมพันธ์กับริวอิจิก็คือการใช้แหล่งกำเนิดเสียงที่ไม่ใช่เครื่องดนตรี อย่างเสียงธรรมชาติ หรือ เสียงจากวัตถุในชีวิตประจำวัน
อย่างอัลบั้ม Forms of Paper ของ สตีฟ โรเดน ที่ถูกนับว่าเป็นอัลบั้มโลวเวอร์เคสอัลบั้มแรก ก็ใช้เสียงจากการขยำกระดาษมาผสม บิดเบือน เติมเอฟเฟคต์ลงไป พูดไปแล้วก็เหมือนกับมันคือลูกผสมระหว่างดนตรีอิเล็กทรอนิกส์กับเสียงจากธรรมชาติ แบบที่ async ทำนั่นเอง
วิธีการแบบนี้ยังสามารถโยงกับงาน prepared piano ของ จอห์น เคจ (John Cage) หัวหอกวงการดนตรีทดลองตั้งแต่ยุค 50s ได้อีกด้วย prepared piano คือการที่เคจนำเปียโนมาปรับแต่งด้วยการสอดน็อตตะปู ยางลบ หรือวัสดุอย่างอื่น ลงในช่องว่างระหว่างสายเปียโน ทำให้เมื่อเวลาดีดเปียโนออกมา เสียงที่ได้จะไม่ใช่เสียงเปียโนที่เรารู้จัก เคจลองได้ทำลายเส้นแบ่งระหว่างเครื่องดนตรี (music instrument) กับแหล่งกำเนิดเสียง (sound source) ริวอิจิก็ได้ลองใช้วิธีการสร้างเสียงโดยไม่ยึดโยงกับเทคนิคการเล่นหรือแหล่งกำเนิดใดๆ ตั้งแต่การลองเอาแก้วน้ำมาหมุนกับแฉกลอง ดีดสายเปียโนข้างในหรือเคาะฝาแทนการกดลิ่ม ไปจนถึงการนำเสียงจากสิ่งที่ไม่ใช่เครื่องดนตรีอย่างชามกระเบื้องมาใช้ แล้วเล่นกับมันต่อด้วยเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์
ในอัลบั้ม async เองก็ใช้วิธีนี้และเนื่องจากการใช้เสียงจากธรรมชาติของสิ่งต่างๆ โดยไม่ควบคุมด้วยวิธีแบบดนตรีทั่วไปนั่นเองเลยทำให้องค์ประกอบต่างๆ ล้วนไม่ประสานกัน (asynchronous) แต่ไม่ใช่ว่ามันจะกลายเป็นแค่เสียงรบกวนสะเปะสะปะ ริวอิจิยังคำนึงถึงการสร้างดนตรีอยู่ เพียงแต่เขาเลือกที่จะเริ่มจากจุดนี้และจัดการอย่างไม่ตามทฤษฎีหรือรูปแบบปกติ
async
หากลองดูดีๆ จะเห็นว่างานทั้งหมดที่ว่ามาล้วนถูกตกผลึกออกมาในอัลบั้ม async โดยการรวมองค์ประกอบทุกอย่างนี้ภายใต้คอนเซปต์ของการไม่ประสานกันหรือไม่ซิงค์กัน (asynchronous) ริวอิจิพูดถึงไอเดียของมันว่า วันหนึ่งเขาตั้งคำถามกับตัวเองว่าทำไมพื้นฐานของดนตรีทั้งหมดตั้งแต่ป๊อปไปจนถึงคลาสสิคคือความประสานกัน (synchronization) เขาเลยอยากทดลองทำสิ่งใหม่ๆ โดยเริ่มจากคำถามนี้ อัลบั้ม async จึงเป็นการทดลองสร้างดนตรีที่ไม่ยึดโยงกับรูปแบบหรือไวยากรณ์ใดๆ
อย่างเรื่องเพลงประกอบภาพยนตร์เอง ระหว่างทำอัลบั้ม async ริวอิจิได้พูดถึงอิทธิพลจากหนังของผู้กำกับชาวรัสเซีย อังเดร ทาร์คอฟสกี้ (Andrei Tarkovsky) ว่าเขาประทับใจการใช้เสียงของทาร์คอฟสกี้มาก ทั้งเสียงลำธารไหล เสียงย่ำเดินบนพื้นหญ้า ถูกนำมาประกอบกันจนสร้างบรรยากาศงดงาม เขาถึงขนาดยกย่องทาร์คอฟสกี้ว่าถือเป็นนักประพันธ์เพลงได้เลยทีเดียว
ริวอิจิได้ดัดแปลงวิธีนี้มาใช้ใน async แต่ไม่ใช่แค่การนำเสียงบันทึกมาประกบลงกับดนตรีเฉยๆ ทุกองค์ประกอบถูกใช้กลืนกันไปหมดด้วยวิธีลูกผสมอิเล็กทรอนิกส์กับเสียงธรรมชาติ เช่น แทรค Walker เราสามารถได้ยินเสียงเดินในป่ากลืนไปกับเสียงที่เราบอกไม่ได้ว่ามาจากเครื่องอิเล็กทรอนิกส์หรือเสียงนกและแมลงในป่าจริงๆ (หรืออาจเป็นทั้งคู่)
ทั้งหมดถูกผสานรวมกันจนเหมือนสร้างซีนในหนังขึ้นมามากกว่าจะเป็นแค่เพลง ความรู้สึกแบบนี้เกิดขึ้นกับทั้งอัลบั้ม ริวอิจิบอกว่าเขาอยากลองสร้างให้อัลบั้มนี้ให้เหมือนซาวด์แทรคหนังที่ไม่มีอยู่ ซึ่งที่จริงแล้วหนังเรื่องนั้นอาจหมายถึงชีวิตของเขาในช่วงเวลานั้นนั่นเองก็ได้ และนอกจากไอเดียเชิงทฤษฎีและด้านเทคนิค async ยังมีคอนเซปต์ทางจิตใจที่ส่วนตัวมากๆ อีกด้วย นั่นจึงทำให้มันเป็นอัลบั้มที่ทั้งแปลกใหม่น่าสนใจและเปี่ยมด้วยอารมณ์
ริวอิจิเคยให้สัมภาษณ์ว่าหลักการของเขาคือต้องทำให้ตัวเองเซอร์ไพร์สอยู่เสมอในการทำงาน และตั้งแต่ก้าวแรกจนถึงตอนนี้ดูเหมือนว่าริวอิจิยังไม่หยุดที่จะทำให้ตัวเองและพวกเราประหลาดใจ จึงเป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่งที่เขาหายจากมะเร็งแล้วเพราะเราก็หวังได้ฟังอะไรใหม่ๆ อีกมาก แม้เขาจะอายุ 66 ปีแล้วก็เถอะ
อ้างอิง
หนังสือ เสียงของอิสรภาพ John Cage กับ Experimental Music โดย อติภพ ภัทรเดชไพศาล
http://documentaryclubthailand.com/ryuichi-sakamoto-coda/
https://th-th.facebook.com/DocumentaryClubTH/
https://pitchfork.com/news/55850-ryuichi-sakamoto-diagnosed-with-cancer/
https://en.wikipedia.org/wiki/Coda_(music)
https://en.wikipedia.org/wiki/Dal_segnohttp://www.music-mind.com/Music/mpage6.HTMhttps://en.wikipedia.org/wiki/Ryuichi_Sakamoto
https://en.wikipedia.org/wiki/Yellow_Magic_Orchestra
https://en.wikipedia.org/wiki/April_2011_Fukushima_earthquake
https://en.wikipedia.org/wiki/Japanese_asset_price_bubble
https://en.wikipedia.org/wiki/Async
https://en.wikipedia.org/wiki/Lowercase_(music)
https://en.wikipedia.org/wiki/Forms_of_Paperhttps://www.indiewire.com/2018/07/ryuichi-sakamoto-interview-coda-cancer-the-revenant-1201980683/
Tags: Documentary, Experimental Music, Ryuichi Sakamoto, Ryuichi sakamoto: Coda, music composer, electronic music