พูดถึงประเทศรวันดา คนส่วนใหญ่น่าจะคุ้นชื่อของประเทศนี้จากหนังออสการ์เรื่อง Hotel Rwanda เรื่องราวว่าด้วยการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในปี 1994 ที่มาถึงตอนนี้ เหตุการณ์รวันดาก็ครบรอบ 25 ปีแล้ว เรื่องน่าเศร้าของประเทศเล็กๆ จากแอฟริกาตะวันออกนี้เอง เป็นแรงบันดาลใจให้ผมเลือกเดินทางไปเยือนรวันดา เพื่อรำลึกและเรียนรู้บทเรียนที่ทีมนุษยชาติไม่ควรลืม

หลังเดินทางออกจากสนามบินนานาชาติคิกาลี ขณะนั่งรถเข้าสู่ตัวเมืองคิกาลี (Kigali) เมืองหลวงของรวันดา ความรู้สึกแรกคือ เมืองคิกาลีน่าสนใจกว่าที่คิด ตัวเมืองตั้งอยู่บนเนินเขา ย่านที่เป็นสถานทูตและองค์กรระหว่างประเทศนั้นดูสวยเป็นระเบียบ มีต้นศรีตรังหรือ Jacaranda ปลูกเป็นกลุ่มๆ ที่น่าจะสวยไม่น้อยเลยในฤดูออกดอก

ส่วนย่านชานเมืองเวลานี้มีการก่อสร้างมากมาย เห็นป้ายการก่อสร้างภาษาจีนและเครื่องจักรแบรนด์จีนทำงานอยู่เรื่อยๆ รวมถึงคนจีนที่เดินไปเดินมาในตัวเมืองคิกาลีหลายคน ทำให้เห็นได้ชัดถึงนโยบายการเปิดรับประเทศจีน นี่เองอาจจะเป็นเหตุผลของตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดดของรวันดาที่โตเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศในแอฟริกาในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้

แม้เมื่อเราขับรถออกไปนอกเมืองคิกาลี สภาพถนนก็ยังราดยางใหม่เอี่ยมสะอาดสะอ้าน คุณแซม คนขับรถของเราอวดด้วยความภาคภูมิใจว่า ในรวันดามีการกำหนดวันทำความสะอาดประจำเดือนไว้ทุกเดือน ทำให้พวกเราทึ่งกันไปตามๆ กันว่าทำไมประเทศที่ฟื้นจากสงครามการเมืองสามารถใช้นโยบายดึงความร่วมมือจากสังคมแบบนี้ได้

ในเมืองคิกาลีมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินอยู่ไม่ขาดตา หลายคนที่เข้ามารวันดาเพื่อมาหาประสบการณ์แห่งชีวิต ด้วยการเดินป่าไปดูลิงกอริลลาภูเขาในถิ่นอาศัยของมันเอง รวันดามีชื่อเสียงมากในการคิดเงินค่าเข้าชมกอริลล่าในป่าราคาแพงถึง USD 1,500 ต่อคน  แต่ในขณะเดียวกัน ก็จำกัดจำนวนคนเข้าชมกอริลล่าในแต่ละวัน และกำหนดเงื่อนไขอย่างเข้มงวด เพื่อให้รบกวนฝูงกอริลล่าให้น้อยที่สุด พร้อมกับแบ่งรายได้และสร้างอาชีพให้กับชุมชนโดยรอบ เพื่อเป็นการอนุรักษ์กอริลลาในระยะยาวอย่างยั่งยืน

นักท่องเที่ยวต่างชาติอีกจำนวนไม่น้อยที่เข้ามาเยือนรวันดาเพราะสนใจร่วมรำลึกเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อันแสนเศร้า แม้จะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในระยะเวลาไม่กี่วัน แต่ก็มีรากฐานปัญหายาวนานมาตั้งแต่ยุคสมัยอาณานิคม ที่เจ้าอาณานิคมอย่างเบลเยี่ยมพยายามส่งเสริมให้ชนเผ่าหลักของรวันดา อันได้แก่ ฮูตู (Hutu) ทวา (Twa) และ ทุตซี (Tutsi) มีความรู้สึกแปลกแยกตามชนเผ่า เพื่อจะได้ง่ายต่อการปกครองของเจ้าอาณานิคม แต่ความแปลกแยกนี้กลับกลายเป็นมรดกความเกลียดชังติดตัวชาวรวันดามาจนกระทั่งประเทศได้รับอิสรภาพ และมาระเบิดเป็นเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่โหดร้ายและหดหู่ที่สุดครั้งหนึ่งของมนุษยชาติ

พวกเราตั้งใจเลือกพักที่โรงแรม Hôtel des Mille Collines ซึ่งเป็นฉากหลังสำคัญของเหตุการณ์จริง และเป็นเซ็ตติงที่ใช้อ้างอิงในภาพยนตร์ Hotel Rwanda ด้วย โรงแรมนี้เอาเข้าจริงก็ไม่ได้ให้ความรู้สึกอะไรที่พิเศษ ออกจะเหมือนโรงแรมสามดาวในชานเมืองของอเมริกา ในโรงแรมมีบาร์ที่สระว่ายน้ำ ที่พวกเรากินอาหารเย็นกัน ค่ำๆ อากาศเย็นเหมาะกับการนั่งเล่นก่อนนอน

แต่ความรู้สึกของผมทิ้งดิ่งลงไปทันทีเมื่อได้เข้าไปในพิพิธภัณฑ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดา หรือ Kigali Genocide Memorial ที่เมืองคิกาลี หลังจากเดินทะลุทางเข้าผ่านลานกว้างเข้าไปในอาคารพิพิธภัณฑ์ เราก็เข้าไปในโถงแรกที่จัดแสดงข้อมูลที่มาและเหตุการณ์ของการฆ่าฟันกันครั้งนี้ มีถ้อยคำจากทั้งญาติของเหยื่อผู้เสียชีวิตและจากผู้กระทำผิดให้ขบคิด

 

 

จากห้องหนึ่งที่เต็มไปด้วยภาพถ่ายของของผู้เสียชีวิต ก็เป็นพื้นที่ของห้อง “คลังกระดูก” และเสื้อผ้าเครื่องใช้ของเหยื่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ที่เห็นแล้วรู้สึกสลดใจเป็นอย่างมาก

แต่ที่น่าเศร้าและหดหู่ที่สุดจนทำเอาผมรู้สึกเศร้าลึกและฝันร้ายไปหลายคืน คือห้องที่เต็มไปด้วยข้อมูลกับรูปภาพของเด็กๆ ที่ถูกทารุณจนเสียชีวิตจากน้ำมือมนุษย์ด้วยกัน ซึ่งผู้ก่อเหตุก็อาจจะเป็นคนรู้จักคุ้นเคยของเด็กๆ บางคนด้วย

ภาพถ่ายของเด็กๆ ทั้งหมดเป็นภาพถ่ายของเด็กอายุไม่น่าจะเกินวัยประถม เป็นภาพตอนก่อนเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เห็นถึงความบริสุทธ์ไร้เดียงสาและความน่ารักที่ขัดแย้งกับตัวหนังสือใต้รูป ที่เล่าถึงสาเหตุของการตายของเด็กๆ อ่านแล้วทำเอาผมรู้สึกคลื่นไส้ เด็กบางคนถูกฆ่าด้วยมีดพร้าที่ใช้กันในครัวเรือนทั่วไป ถูกจับเหวี่ยงกระแทกกับผนังอย่างรุนแรง ถูกเผาทั้งเป็น หรือถูกบังคับให้ดูแม่ของพวกเขาเองถูกข่มขืนและฆ่าตายอย่างโหดเหี้ยมในภายหลัง เด็กๆ หลายๆ คนถูกทำร้ายในโบสถ์ โรงพยาบาล หรือในห้องนอนของพวกเขาเอง

 

ผมรีบเดินออกมาจากอาคารเพราะรู้สึดหดหู่จนทนไม่ไหว มานั่งพักที่ลานปูนใกล้กับสวนกุหลาบอันสงบเงียบที่เป็นที่ฝังร่างของเหยื่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เกือบ 250,000 ร่าง ผมคิดว่าพิพิธภัณฑ์นี้ประสบความสำเร็จอย่างมากที่ทำให้ผู้มาเยือนตั้งคำถามกับตัวเอง คนเราจะต้องมีความเกลียดชังมากแค่ไหนถึงจะทำร้ายชีวิตของเพื่อนมนุษย์ที่เรารู้จัก หรือแม้กระทั่งเด็กไร้เดียงสาได้ง่ายดายขนาดนั้น แล้วคำถามที่ผุดขึ้นมาตอนนั้นคือ ทำกันขนาดนั้น แล้วชาวรวันดาปล่อยผ่านและให้อภัยกันได้อย่างไร ถึงพาประเทศก้าวหน้าพ้นจากการแก้แค้นและเกลียดชังได้

 

 

 

“เพื่อนบ้านของฉันติดคุกเพราะฆ่าสามีของฉัน เขาให้การต่อหน้าศาล Gacaca เปิดเผยว่าศพลูกฉัน 2 คนจากทั้งหมด 6 คนฝังอยู่ที่ไหน ฉันได้พบร่างของพวกเขา เขาขอให้ฉันให้อภัย ฉันขอบคุณที่เขาพูดความจริง” – Irene Ntawunganuyu กลุ่ม Kicukiro Womens Dialogue

“ที่ศาล Gacaca ผมสารภาพในอาชญากรรมที่ผมได้ก่อและร้องขอการให้อภัย ผมรับโทษและได้รับการปล่อยตัวแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ในจิตสำนักมันยังคงตอกย้ำว่าผมได้ฆ่าผู้บริสุทธิ์ ผมต้องทำสิ่งดีงามเพื่อคนอื่น ผมต้องป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำผิดไม่ว่ารูปแบบใด เพราะผมรู้ว่าสิ่งนั้นมันพาผมไปไกลขนาดไหน” – Hassan Ntibimenya สมาคม Abunze Ubumwe

ไม่ช้าก็ได้รับคำตอบจากแซม คนขับรถเชื้อสายทุตซีของพวกเรา ที่เป็นผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ครั้งนั้นด้วยการหนีเข้าป่าตามตะเข็บชายแดน และได้รับความช่วยเหลือจากผู้หญิงใจดีชาวฮูตู ซึ่งถือเป็นการกระทำที่เสี่ยงมาก เพราะถ้าทางการหรือชาวฮูตูรู้เห็นแม้แต่นิดเดียว ผู้หญิงใจดีคนนั้นก็จะมีชะตากรรมไม่ต่างจากชาวทุตซีนับล้านที่ถูกฆ่าเลย แต่พ่อและแม่ของแซมไม่โชคดีแบบนั้น ถูกทำร้ายจนเสียชีวิตไปอย่างโหดร้ายเหมือนกับชาวทุตซีส่วนใหญ่ในประเทศ

ผมถามแซมตรงๆ เลยว่า แซมให้อภัยคนที่ทำร้ายพ่อแม่ของเขาได้อย่างไร แซมตอบว่า หลังจากเหตุการณ์ผ่านไปเพียง 2 อาทิตย์ ผ่านช่วงเวลาของความรู้สึกโกรธ เกลียดชัง และเศร้าหมอง อย่างรุนแรง เขาก็คิดตัดใจได้ว่า ถ้าเขาไม่สามารถปลดปล่อยตัวเองจากเรื่องนี้ ชีวิตของเขาเองก็อาจจะไม่เพียงแต่ไม่มีความสุขแต่อาจจะใช้ชีวิตต่อไปไม่ได้อีกเลย

แซมยังเล่าเรื่องน้องชายแท้ๆ ของเขาอีกคนหนึ่ง ซึ่งไม่สามารถก้าวข้ามจากความรู้สึกแค้นเคืองได้ แม้ระยะเวลาจะผ่านมาแล้วถึง 25 ปี กลับกลายเป็นคนที่ปัญหาสุขภาพจิตเรื้อรังในปัจจุบัน

คืนนั้นระหว่างที่นอนไม่หลับที่โรงแรม ผมก็ยังนอนคิดต่อ ความเกลียดชังอย่างรุนแรงที่ทำให้มนุษย์ทำร้ายกันโหดเหี้ยมแบบนั้น จริงๆ มันอาจจะเริ่มต้นจากเพียงแค่จากความแตกต่างผสมความไม่ไว้วางใจ เติมรสด้วยการปลุกระดมชวนเชื่อ ว่าแล้วก็กลับมาคิดถึงประเทศไทยของตัวเอง จริงอยู่ว่าเรายังห่างไกลความเกลียดชังแบบนั้น แต่สังคมไทยปัจจุบันก็มี “พวกเรา” และ “พวกเขา” อยู่เต็มไปหมด หากไม่ระวังให้ดี เราอาจจะไปถึงจุดพลิกผันอันแสนเศร้า ที่ชาวรวันดามีตัวอย่างให้เราเห็นแล้ว

Fact Box

สงครามการเมืองรวันดาที่นำไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวทุตซี และชาวฮูตูสายกลาง จนมีผู้เสียชีวิต ราว 800,000 คนในช่วงเดือนเมษายนถึงกรกฎาคม 2537 ปมความรุนแรงมาจากการปลุกระดมความเกลียดชังว่าชาวทุตซีวางแผนจะกลับมามีอำนาจ ฟื้นฟูระบอบกษัตริย์ และจับชาวฮูตูเป็นทาส

Tags: , , , , , , , , , ,