‘นักแสดงแต่งหญิง’ กับ ‘งานเฉลิมฉลองของคริสต์ศาสนา’ อาจจะฟังดูไม่เข้ากันเท่าไรนัก แต่ปีนี้รายการ Rupaul Drag Race กำลังผสมสองสิ่งดังกล่าวเข้าด้วยกันอย่างเป็นทางการบนจอแก้ว กับโชว์พิเศษสำหรับคริสต์มาส พร้อมด้วยบทเพลงร่วมสมัยที่นำการเฉลิมฉลองมาตีความใหม่ ให้เปรี้ยวจี๊ดมากขึ้น เฮฮามากขึ้น และเปิดกว้างมากขึ้น
ถ้าพูดถึง ‘แดร็กควีน’ หรือนักแสดงแต่งหญิง เรามักจะนึกถึงการแสดงลิปซิงค์ หรือ การสวมบทบาทเป็นนักร้องชื่อดัง แสดงท่าทางประหนึ่งว่ากำลังขับร้องเพลงที่ถูกเปิดออกมาจากลำโพงตามผับบาร์ต่างๆ (ใครอยากดูโชว์ลิปซิงค์ดีๆ เราขอแนะนำให้ลองไปเสิร์ชหา การแสดงของ Pangina Heals ในรายการ Lipsynce Battle มาดูเป็นบุญตา) อย่างไรก็ดี ขนบนี้ถูกทำลายลงในวัฒนธรรมป๊อปของอเมริกาโดยแดร็กควีนคนหนึ่ง ที่ตัดสินใจส่งเสียงร้องของตัวเองแทนที่จะขยับปากตามเสียงของคนอื่น ใช่แล้ว เรากำลังพูดถึง RuPaul Andre Charles หรือที่รู้จักกันในนาม ‘Rupaul’ และ ‘MamaRu’ ผู้เปรียบเสมือน ‘ขุ่นแม่’ แห่งวงการแต่งหญิงสากล
เส้นทางชีวิตของเธอนั้นยืนหยัด (บนรองเท้าส้นสูง) อยู่ในวงการมากว่า 40 ปี โดยชีเริ่มแต่งหน้าและจิกส้นสูงมาใส่ตั้งแต่ช่วงที่ทำวงเพลงแนวพังก์ตอนอายุ 15 ปี ต่อมาย้ายบ้านไปตามฝันที่นิวยอร์ก ได้คลุกคลีอยู่ในวงการบันเทิงและการแสดงในไนท์คลับต่างๆ จนกระทั้งปี 1993 รูพอลได้ออกอัลบั้ม Supermodel of the World มีเพลงฮิตระดับชาติอย่าง SuperModel (You Better Work) ไต่อันดับบนชาร์ต Billboard Hot 100 ได้ถึงอันดับที่ 45 และที่สำคัญจารึกชื่อของเธอบนหน้าประวัติศาสตร์ในฐานะ แดร็กควีนคนแรกที่มีผลงานเพลงสตูดิโออัลบั้ม
จากนั้นมา ชื่อของ รูพอล ก็ยังโด่งดังขึ้นเรื่อยๆในหลากหลายสาขาบันเทิง: เธอเป็น แดร็กควีนคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้เป็นพรีเซนเตอร์ของเครื่องสำอาง MAC ในอเมริกา, เธอมีทอล์คโชว์ ของตัวเองชื่อ ‘Rupaul Show’ บนช่อง VH1, เธอปรากฏตัวในภาพยนตร์และซีรียส์ชื่อดังมากกว่า 50 เรื่อง, ติดอันดับ 100 บุคคลทรงพลังของนิตยสาร Time ประจำปี 2017 ฯลฯ อย่างไรก็ดี ผลงานที่สร้างชื่อให้เธอมากที่สุดนั้น คือการริเริ่มเรียลลิตี้โชว์ในปี 2009 ชื่อ RuPaul’s Drag Race
RuPaul’s Drag Race เป็นการแข่งขันประกวดความสามารถของศิลปินแดร็ก โดยผู้เข้าแข่งขันนอกจากจะต้องมีทักษะการแต่งหญิงได้สวยงามแล้ว ยังจะต้องตัดเย็บชุดได้เวอร์วังตามโจทย์ของแต่ละสัปดาห์ สามารถแค็ทวอร์ค ลิปซิงค์ ไปจนถึงเป็นพิธีกรรายการ และแสดงละครได้ด้วย! (คอนเซปท์ของผู้ชนะคือ “จะต้องมี C.U.N.T. หรือ Charisma, Uniqueness, Nerve และ Talent” นั่นเอง) ผ่านมาจะ 10 ปี 10 ซีซั่น รายการ Rupaul Drag Race ได้รับรางวัล Emmy กว่า 3 รางวัล แถมมียังกระแสนิยมที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนปัจจุบันเรียกว่าเป็นโอลิมปิกแห่งวงการแต่งหญิงก็ว่าได้ ส่วนนอกจอทีวี รูพอลยังจัด Rupaul’s Drag Convention ใหญ่ประหนึ่งมอเตอร์โชว์ เพื่อให้แฟนๆ รายการได้มาพบปะผู้เข้าแข่งขัน และสร้างสังคมของเหล่าผู้นิยมแต่งหญิงขึ้นอย่างเป็นปึกแผ่นทั่วประเทศ
อ้อ เกือบลืมไป นอกจากโชว์ที่อเมริกาแล้ว รูพอลยังมีการขายลิขสิทธิ์ให้ไปสร้างรายการในเวอร์ชั่นของประเทศอื่นๆ ด้วย โดยประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่ได้รับลิขสิทธิ์ มีโชว์ Drag Race Thailand ปี 2018 นี้เป็นปีแรก แต่ถ้าจะให้วิจารณ์เวอร์ชั่นของบ้านเราในที่นี้เพราะคงเนื้อที่ไม่พอ ขอละไว้ในโอกาสหน้าดีกว่า
นอกจากรายการแล้ว มาม่ารูก็ยังออกอัลบั้มเพลงของตัวเองควบคู่กับการทำรายการอย่างต่อเนื่อง เราจะเห็นว่าโจทย์การแสดงของผู้เข้าแข่งขันในตอนท้ายๆ มักจะเป็นการลิปซิงค์เพลงของ Rupaul หรือบางซีซั่นก็ให้แต่งท่อนร้อง/แร็ปใหม่ใส่เข้าเพิ่มบ้าง แน่นอนว่าเพลงเหล่านี้ได้รับความนิยมจากแฟนรายการอย่างมาก อีกทั้งยังมีผู้เข้าแข่งขันจำนวนไม่น้อยที่ไม่น้อยที่ก็ประสบความสำเร็จในฐานะนักร้องศิลปินกันไปยาวๆ หลังจบรายการ อาทิ Adore Delano ในแนวเพลงร็อก หรือ Trixie Mattel ในแนวเพลงคันทรี่ หรือ Alaska Thunderfuck ในแนวเพลงแดนซ์ เป็นต้น
โยงกลับมาที่เรื่องคริสต์มาส ต้องบอกก่อนว่าในจำนวน 14 อัลบั้ม (!) ของรูพอล มี 3 อัลบั้มที่เป็นเพลงธีมคริสมาสต์มาก่อน โดยอัลบั้มคริสต์มาสอันแรกถูกปล่อยออกมาควบคู่กับรายการ Rupaul Showในปี 1997 ชื่ออัลบั้มว่า Ho Ho Ho เป็นการนำเพลงคริสต์มาสแบบเดิมๆ มาตีความใหม่ ด้วยอารมณ์ขันและจริตจะก้านแบบแดร็กควีน เน้นการซ้อนนัยยะแบบทะลึ่งบ้าง จิกกัดบ้าง
เช่น I Saw Daddy Kissing Santa Claus ซึ่งมาจากเพลง I Saw Mummy Kissing Santa Claus ของ Jimmy Boyd ที่อัดไว้เมื่อปี 1952 และ ต่อมาถูกนำมาร้องใหม่หลายครั้งหลายครา มีเวอร์ชั่นที่ดังที่สุดเป็นของ The Jackson ปี 1970 หรือ Hard Candy Christmas เป็นต้น ส่วนอัลบั้มคริสต์มาสอันที่สองของรูพอลคือ Slay Belles (ล้อกับ Sleigh Bells ที่แปลว่า ‘กระดิ่งรถลาก’ แต่เปลี่ยนเป็น ‘สวยๆ แซ่บๆ’ แทน) 18 ปีหลังจากอัลบั้มแรก แต่ยังคงการตีความแบบสนุกสนานไว้เช่นเดิม ประเพณีการออกอัลบั้มช่วงคริสต์มาสของมาม่ารูยังส่งต่อไปถึงเหล่าผู้เข้าแข่งขันในโชว์ด้วย โดยพวกนางมีการรวมตัวกันออกอัลบั้มเพลงแนวนี้ในชื่อ Christmas Queens ในปี 2015, 2016, 2017 และ 2018 (ลองไปตามฟังกันได้ itunes นะคะ)
มาปีนี้ รูไม่เพียงแค่ออกอัลบั้มคริสต์มาสชื่อ Christmas Queen เท่านั้น แต่ชียังทำรายการแข่งขันตอนพิเศษ ‘RuPaul’s Drag Race Holi-Slay Spectacular’ ควบคู่กันด้วย
“ไม่มีอะไรจะบ่งบอกถึงคริสต์มาส มากไปกว่า เชสท์นัทเผาไฟ และแดร็กควีนใส่ถุงน่อง” รูพอลบอกว่าอัลบั้มใหม่ของเธอได้แรงบันดาลใจมาจากการได้ใช้เวลาช่วงวันหยุดสุดพิเศษนี้กับเหล่าลูกสาวคนโปรดในสังกัดของเธอ “และรายการพิเศษบนช่อง VH1 ครั้งนี้ ยังเป็นการส่งคำขอบคุณให้กับครอบครัว Drag Race ของฉัน ด้วยการส่งต่อความรัก เสียงหัวเราะ และแสงสว่างไปทั่วประเทศและทั่วโลกด้วย”
รายการนี้ออกฉายในวันที่ 8 ธันวาคม 2018 จะเป็นการรวมตัวเฉพาะกิจของผู้เข้าแข่งขันตัวจี๊ดจากซีซันก่อนๆ เช่น Eureka O’Hara, Jasmine Masters, Kim Chi, Latrice Royale, Mayhem Miller, Shangela, Sonique, และ Trixie Mattel โดยพวกนางจะมาแสดงความสามารถเพื่อชิงตำแหน่ง ‘Drag Race Xmas Queen’ ครั้งแรกบนจอแก้ว!
แต่น่าเสียดายที่พอเราได้ดูโชว์นี้ มันกลับไม่มีความสนุกเหมือนการแข่งขันตอนอื่นๆ ที่ผ่านมา ด้วยการดำเนินรายการแบบละครเพลง มีการเขียนสคริปต์ปล่อยมุขอย่างชัดเจน ไม่มีโอกาสให้เหล่าผู้เข้าแข่งขันด้นสด หรือปล่อยของกันอย่างเป็นธรรมชาติเหมือนก่อน อีกทั้งยังขาดการพูดเรื่องสังคม LGBTQ+ ซึ่งการเป็นกระบอกเสียงของเพศสภาพที่หลากหลายนั้นถือเป็นหนึ่งในจุดแข็งของโชว์นี้ก็ว่าได้
บางคนอาจจะบอกว่า การให้พื้นที่กับ Sonique ซึ่งเป็นสาวข้ามเพศ เป็นการแสดงจุดยืนของรายการที่บอกว่าใครๆ เพศไหน เฉาะแล้วหรือยังไม่เฉาะ ก็สามารถ ‘แต่งหญิง’ แสดงแดร็กได้ แต่ก็นั่นแหละ ในรายการเธอก็มีบทพูดน้อยเสียเหลือเกิน ดังนั้นโดยรวมแล้วโชว์นี้ได้รับเสียงตอบรับค่อนข้างแย่ เนื่องด้วยเหตุผลหลักๆ ที่ว่า รายการไม่ได้มีการ ‘แข่งขัน’ แต่เป็นการเขียนสคริปต์ละครเพลงเพื่อขายอัลบั้มเสียมากกว่า แถมไม่มีการสวมมงให้กับผู้ชนะตามที่โฆษณาไว้แต่อย่างใด สิ่งที่พอจะดีอยู่บ้างก็คือได้เห็นหน้าศิลปินแดร็กที่เราเคยคุ้น และได้ฟังเพลงใหม่ของมาม่ารู ที่มีติดหูอยู่สองสามเพลง อย่าง Get To You (For Christmas) และ Hey Sis, It’s Christmas เป็นต้น
ถึงแม้หลายๆ คนบอกว่านี่คือการขายวิญญาณ หรือ ‘sell out’ ของรายการ Drag Race ที่เปลี่ยนจากรายการเฉพาะกลุ่มมาเกาะกระแสปริโภคนิยม อีกทั้งยังมาโหนเทศกาลทางศาสนาที่เคยสอนว่าเป็นเกย์จะต้องตกนรก!
อย่างไรก็ดี เราอยากจะชวนให้มองอีกมุมหนึ่งว่า หากรายการนี้จะยังคงทำต่อทุกปี มันคงจะมีชาวสีรุ้งไม่น้อยที่ถือโอกาสนี้สร้างประเพณีการดู Rupaul ช่วงคริสต์มาส แทนที่จะต้องฟังเทศน์เกี่ยวกับความผิดบาปและต้องตกนรก
พวกเขาจะสามารถเฉลิมฉลองตัวตนของพวกเขา ร้องเพลงที่พวกเขาเข้าถึงได้ พร้อมๆ ไปกับคนอื่นๆ ซึ่งถ้าว่ากันจริงๆ ประเพณีคริสต์มาสของอเมริกันเดี๋ยวนี้มีความเป็นเทศกาลขายของ มากกว่าเทศกาลทางศาสนาอยู่แล้ว
เอาจริงๆ เพลงคริสมาสต์ที่ร้องตามๆ กันมานั้น มีใครเคยถามไหมว่าใครแต่ง? แต่งเมื่อไร? เพื่อใคร? ในยุคของพระเยซู เพลงเหล่านี้ถูกนำมาร้องกันแล้วหรือไม่? ดังนั้น เราขอชวนให้วางความ ‘ศักดิ์สิทธิ์’ จอมปลอมลงเสียก่อน และหากสารหลักของเทศกาลนี้คือความรักอันไม่มีเงื่อนไขของพระเยซูคริสต์ มันก็คงไม่แปลกที่เราจะได้ร้องเพลงคริสต์มาสที่ไร้พรมแดนและร่วมสมัย เหมาะสมกับโลกในปัจจุบันกันเสียที
Can I get an Amen up in here?
Tags: LGBTQ, RuPaul, RuPaul’s Drag Race, Queer Voice