ชื่อของรุ่งเรือง ปรีชากุล เป็นที่รู้จักของคอข่าวสารการเมืองมาตั้งแต่ยุคเก่าก่อน ครึ่งชีวิตของเขาคือการเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์และบรรณาธิการที่ปักหลักอยู่กับประเด็นสังคมและการเมือง ด้วยอุดมการณ์ที่ปลูกฝังมาจากนักหนังสือพิมพ์หัวก้าวหน้าชั้นครูในวิชาชีพว่า ‘นักข่าวต้องอยู่เคียงข้างประชาชน’ ในยุคที่สื่อสารมวลชนมีอิทธิพลต่อการชี้นำความคิด
แต่คนข่าวก็ไม่อาจพลิกโลกด้วยปากกา เกือบสามสิบปีของการทำงานสายข่าว ทำให้เขาได้ค้นพบว่า อุดมการณ์กับความเป็นจริงนั้นบางครั้งก็สวนทางกัน โดยเฉพาะหากสื่อนั้นไม่อาจทำหน้าที่ของตนได้อย่างเต็มที่ และกลายเป็นเครื่องมือของกลุ่มก้อนการเมืองและนายทุน รุ่งเรืองหันหลังให้วิชาชีพนักหนังสือพิมพ์ ด้วยหน้าที่บรรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ เป็นตำแหน่งสุดท้าย จากพิษภัยของการเมืองและกลุ่มทุน เมื่อประเด็นที่เขาพยายามนำเสนอมีความเกี่ยวเนื่องกับผลประโยชน์ทับซ้อนของคนบางกลุ่ม
รุ่งเรืองวางสถานะและฐานันดรของคนข่าวทิ้งไว้ตรงนั้น ออกจากเมือง มุ่งหน้าสู่ป่า ใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างเรียบง่ายอยู่ในหมู่บ้านเล็กๆ เชิงเขาของอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน และเลือกที่จะใช้พื้นที่บนโซเชียลมีเดียของตัวเอง พูดคุยถึงสิ่งที่เห็นและเป็นจริง แสดงความเห็นต่อสังคมและการเมืองบ้างด้วยเสรีทางความคิด อันเป็นนิสัยของคนข่าวที่ไม่เคยจางหาย
อะไรเป็นสาเหตุที่คุณลาออกจากการเป็นบรรณาธิการสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ในคราวนั้น
ตอนนั้นทำสกู๊ปเรื่องไข้หวัดนก ซึ่งมีเรื่องเกี่ยวพันกับการปิดข่าวของรัฐบาลในสมัยนั้นตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปี 2546 แล้วเราเสนอข่าวช่วงปลายเดือนมกราคม 2547 แต่การเปิดโปงของเราจะทำให้เกิดผลกระทบกับเรื่องผลประโยชน์เพราะเกี่ยวเนื่องกับนายทุนและรัฐบาล กับอีกเรื่องคือประเด็นต่อต้านเอฟทีเอ (เขตการค้าเสรี) ของรัฐบาล เราทำสองเรื่องนี้เป็นเรื่องขึ้นปก สกู๊ปชุดใหญ่สองเรื่องสี่สิบหน้า ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับคุณภาพชีวิตของคนในประเทศนี้และเรื่องของทุน
เราปิดต้นฉบับเล่มนี้ด้วยความพอใจมาก ส่งเข้าโรงพิมพ์รอหนังสือวางแผง แล้วทุกวันศุกร์เราจะคอยเช็กแผงตรงท่ารถทัวร์ซึ่งเราจะนั่งกลับบ้านที่เมืองกาญจน์ ปรากฏว่าวันนั้นมีวางแล้วทั้งมติชนสุดสัปดาห์ เนชั่นสุดสัปดาห์ แต่ปรากฏว่าไม่มีของเราเลย เราก็นึกว่ายอดเราดีมาก (หัวเราะ) ปรากฏว่ามันไม่ใช่อย่างนั้น เพราะหนังสือถูกรื้อหมดเลย
ปกติที่ผ่านมา เวลาจะรื้อเปลี่ยนเรื่อง เขาจะต้องบอกเรา เพราะที่ผ่านมามีอะไรก็จะบอก บางครั้งมีรายการคุณขอมาจากทางฟากรัฐบาล ขอผ่านมาทางคณะผู้บริหาร และคณะบรรณาธิการที่เป็นบอร์ดใหญ่ของบริษัทบางคน ซึ่งเราก็นั่งอยู่ในบอร์ดนี้ด้วย เวลามีอะไรก็เคยมาขอ พี่ชัช (ชัชวาลย์ คงอุดม-เจ้าของหนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวันและสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ หรือที่เป็นที่รู้จักทั่วไปในฉายา ‘ชัช เตาปูน’) เขาก็ยังเคยบอกว่า รุ่งเรืองนี่ไปขออะไรเขาไม่ได้หรอก ถ้าสิ่งที่เขานำเสนอนั้นถูกต้อง พี่ชัชเขารู้ และเขาก็ไม่เคยขอ
แต่กับฉบับนี้ไม่ใช่
ที่ผ่านมาเราเล่นประเด็นการเมืองก็อัดรัฐบาลมาตลอด บางครั้งเราก็พยายามเบา แต่บางเรื่องเราเบาไม่ได้ก็ต้องใส่เกียร์เดินหน้าอย่างเดียว ที่ทำมาเก้าปี สกู๊ปเราเคยถูกรื้อสองครั้ง ครั้งแรกคือตอนที่จะทำเรื่องร้อยปีชาตกาล ของปรีดี พนมยงค์ ที่รัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ จะเสนอยูเนสโก้ให้เชิดชูเกียรติบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์เป็นบุคคลของโลก เราก็เอาขึ้นปกเลยทั้งรูปอาจารย์ปรีดี และเรื่องพาดปกว่า‘หนึ่งศตวรรษรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์’ แต่สุดท้ายก็ต้องเปลี่ยนปกรื้อทำใหม่ ก็เก็บเอามาเป็นประวัติศาสตร์ฉบับหนึ่ง
พอมาเรื่องนี้เขาก็ไม่พอใจอีก คิดว่าเขาไม่เอาเราแล้ว เพราะรอให้เขาเรียกไปคุยอยู่ข้ามวัน เขาก็ไม่เรียก จนสุดท้ายก็ได้คุยกัน เขาพูดว่ามันเสียหายมากรู้มั้ย หนังสือดึงกลับมาให้ทางรายวันแก้ รื้อเรื่องของเราหมดเลย แล้วเอาเรื่องด้านบวกของไข้หวัดนกที่กระทรวงเกษตรฯ ทำข้อมูลไว้เข้ามาแทน กว่าจะพิมพ์เสร็จวางแผงได้ก็วันจันทร์ ล่าช้าไม่ทันเขา ยิ่งเสียหายหนักเข้าไปอีก
รู้สึกอย่างไรเมื่อเห็นงานตัวเองถูกรื้อแบบนั้น
มันก็ไม่ได้แล้ว เพราะเขาเคยขอมาหลายครั้งว่าให้เบาๆ แต่ถ้าเบาเมื่อไร คนก็ต้องมองว่ารุ่งเรืองไปกินอะไรผิดมาแน่เลย แนวทางของหนังสือก็กำลังไปได้ดี เริ่มมีทิศทางและมีแฟนชัดเจน แต่เราทำหนังสือเขาเสียหายมาสองครั้งแล้ว คิดเป็นเงินก็เป็นล้านอยู่แล้ว หนังสือสี่หมื่นฉบับต้องเอาไปเผา เวลาที่ควรจะวางแผงก็ไม่ได้วาง มันเสียโอกาส เราเป็นบรรณาธิการก็ต้องรับผิดชอบ เรียกว่าถ้าเป็นนายกฯ ก็ต้องลาออก แต่เขาก็ยังเสนอว่าให้อยู่ช่วยงานอย่างอื่นก่อน หรือเป็นบรรณาธิการที่ปรึกษาไป แต่มันก็ไม่ใช่นิสัยเราที่วันๆ จะเอาแต่เดินไปเดินมาแล้วรับเงินเดือน เพราะเราเป็นคนทำงาน ก็เลยบอกว่า งั้นผมออกแล้วกัน แต่จะทำให้อีกหนึ่งอาทิตย์ เพราะเรารู้ว่ามีคนรอเสียบตำแหน่งเราอยู่แล้ว
ผิดหวังหรือว่าอกหักกับวงการสื่อที่อยู่มาเกือบทั้งชีวิตไหม
ก็ไม่ได้อกหัก เรารู้ทิศทางของมันอยู่ ไม่อย่างนั้นคงไม่ได้เคยอยู่และเคยย้ายมาหลายฉบับ แต่เราก็ยังคิดว่ามันน่าจะมีสักฉบับที่เราจะทำอะไรได้ อย่างตอนอยู่บางกอกโพสต์ จากข่าวมันๆ สำหรับเรา พอไปลงบางทีหั่นเหลือสามสี่บรรทัด เคยย้ายไปทำข่าวสด ย้ายไปอยู่ไทยรัฐ ไปฟอร์มตัวเองให้เป็นหัวสี มันก็ยังไม่ใช่ เพราะเราเองก็คิดว่าเราทำข่าวคุณภาพ เป็นข่าวเชิงสร้างสรรค์ ไม่ใช่ขายข่าวตลาด ลีลาในการเขียนบทความหรือคอลัมน์ หรือการนำเสนอก็ต่างกันอยู่แล้ว
คุณเดินออกมาจากอาชีพนักข่าวด้วยความรู้สึกแบบไหน
รู้สึกโล่ง เพราะรู้แล้วว่าประเทศนี้สื่อฯไม่มีจริง เพราะมีนายทุน เราทำอะไรไม่ได้หรอก และชีวิตเราก็ทำมาพอสมควรแล้ว ความจริงเราตัดสินใจที่จะเลิกอาชีพนี้ตั้งแต่ลาออกจากนิตยสารดอกเบี้ยการเมืองรายสัปดาห์ในช่วงกลางปี 2539 ตอนนั้นเป็นบรรณาธิการบริหารนิตยสารฉบับนี้อยู่ ซึ่งก่อนหน้านั้นอยู่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เพราะเราเบื่อแล้ว แต่ที่เข้าไปทำสยามรัฐฯ กลายเป็นว่าเราอยู่มาอีกตั้งเก้าปี ซึ่งพอเข้าไปทำ ก็ชวนหลายคนให้ไปเขียน ตอนแรกทุกคนปฏิเสธหมด เพราะว่าเป็นของชัช เตาปูน แต่ตอนหลังก็มาเขียนกันเยอะ อาจารย์แซม วรศักดิ์ มหัทธโนบล อาจารย์ตั๋ง ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ตู่ ธนา วงศ์ญาณณาเวช (นามปากกาของธเนศ วงศ์ยานนาวา ขณะเขียนให้สยามรัฐฯ) อาจารย์วีระ สมบูรณ์ จนเป็นหนังสือที่มีนักเขียนซีไรต์ ศิลปินแห่งชาติมาเขียนมากกว่ามติชนสุดสัปดาห์เสียอีก พี่เนาว์ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, อัศศิริ ธรรมโชติ, คมทวน คันธนู, จำลอง ฝั่งชลจิตร, ไพวรินทร์ ขาวงาม, โชคชัย บัณฑิต, เรืองรอง รุ่งรัศมี, กฤช เหลือลมัย, วัฒน์ วรรลยางกูร หรือแม้กระทั่ง คำ ผกา ก็แจ้งเกิดที่นี่ ส่วนชาติ กอบจิตติ มาเป็นวาระในโอกาสที่สำคัญๆ พอเราออกมาเขาก็เลิกเขียนกันไป
ที่ว่าเบื่ออาชีพนี้แล้ว เบื่อเพราะอะไร
เพราะมันไม่ใช่อย่างที่คิด มันไม่ใช่เลยที่เราคิดจะไปสู้อะไรกับทุน เขาขายข่าวเพื่อจะค้าข่าว เขาต้องการกำไรมากกว่า ขนาดเราเป็นหัวหน้าข่าวแล้วเรายังทำในสิ่งที่อยากทำไม่ได้เลย ข่าวเข้ามาวันๆ มีเป็นพันชิ้น แต่ข่าวที่ได้ลงคือการขายข่าว เรื่องที่ไม่ได้สมควรลงแต่ก็ลงเพราะขายได้ บ้านเราเป็นอย่างนี้ เคยไปอยู่หัวสี นักการเมืองกับคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์เขาก็เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพราะสื่อเป็นแบบนี้ประเทศนี้ถึงได้ล้าหลัง ถ้าสื่อดีการเมืองประเทศเราก็อาจจะเจริญไปนานแล้วก็เป็นได้
ตอนเข้ามาเป็นนักข่าวใหม่ๆ เชื่อว่าคุณคงมาด้วยสิ่งที่เรียกว่าอุดมการณ์
ใช่ เพราะว่าเราเริ่มจากอยู่มติชนซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ก้าวหน้าในยุคนั้น เป็นหนังสือข่าวคุณภาพ นักวิชาการ ปัญญาชนอ่าน บุคลากรคนทำก็มีผู้หลักผู้ใหญ่ที่มีเกียรติประวัติร่วมด้วย มีทั้งอาจารย์สุภา ศิริมานนท์ เสนีย์ เสาวพงศ์ อาจารย์ป๋อง-พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร เราอยู่กับคนเหล่านี้ เรายืนเคียงข้างชาวบ้าน หรือประชาชนที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ และที่นั่นจะมีเสวนา มีการติวเข้มนักข่าว เอาทุกอย่าง เพราะต้องแข่งขันกับหนังสือพิมพ์ฉบับอื่นด้วย และตอนนั้นทางเจ้าของและผู้บริหารก็ต้องการให้มติชนเกิดให้ได้ กระทั่งมีมติชนสุดสัปดาห์ออกมาอีกเล่มหนึ่ง ก็ช่วยกันทำตั้งแต่ปกแรก อาจารย์ป๋องเป็นหัวแรงใหญ่ ดีขึ้นมาเรื่อยๆ มาดียิ่งขึ้นก็ตอนที่ เสนีย์ เสาวพงศ์ เขียนเรื่อง ‘คนดีศรีอยุธยา’ นิยายอิงประวัติศาสตร์ ลงเป็นตอนๆ ในมติชนสุดสัปดาห์ และดีขึ้นเป็นลำดับเมื่อพี่เถียร-เสถียร จันทิมาธร ออกจากป่ามาแล้ว ก็มาเป็นบรรณาธิการบริหารมติชนสุดสัปดาห์ และดูเหมือนยอดจะดีมาจนถึงทุกวันนี้
แม้จะจบไม่สวย แต่ถึงที่สุดแล้วสยามรัฐฯ ก็เป็นเหมือนมาสเตอร์พีซในชีวิตการทำงานสื่อของคุณด้วยหรือเปล่า
ใช่ เพราะทำกับมือ เดือนหนึ่งมีสี่เล่ม เก้าปีคูณเข้าไปก็หลายร้อยเล่ม เราเห็นพัฒนาการของหนังสือขึ้นมาเรื่อยๆ จากยอดที่เคยตกไปหลังอาจารย์หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ (ปราโมช) ไม่อยู่ และเปลี่ยนบรรณาธิการมาหลายคน จากหกเจ็ดหมื่นฉบับเหลือไม่ถึงห้าพันฉบับ ยอดเหลือคืนบานเบอะ เราเข้ามาก็ทำจนยอดขึ้นมาสามสี่หมื่น เฉพาะเล่มที่เอาคุณทองแดงมาขึ้นปกเป็นเล่มแรกนั้นยอดพิมพ์ขึ้นไปเจ็ดหมื่น แม้กระทั่งตัวเลขที่ใช้ในหนังสือ พอเข้าไปทำเราก็เปลี่ยนเลขอารบิกกลับมาเป็นตัวเลขไทย เพราะมันเท่ดี และเราอยากรักษาของเก่า มันเป็นภาษาของเรา ซึ่งเราทำให้คนไทยอ่าน
ก็ถือว่ามันเป็นบันทึกหน้าหนึ่งของชีวิต ที่เราได้ทำกับมือจริงๆ และเอาจริงเอาจังกับมันมาก ปกระยะหนึ่งก็ให้ ทองธัช เทพารักษ์ ทำ ตัวหนังสือถ้าสะกดผิด ปรู๊ฟต้องจ่ายตัวละสิบบาท เพราะหนังสือที่จะได้รับการยอมรับ อันดับแรก ความถูกต้องชัดเจน เรื่องคน สถานที่ ต้องไม่ผิดไม่เพี้ยน การตรวจสอบคำต้องตรวจสอบกับราชบัณฑิต สมัยนั้นต้องโทรเข้าไป ยากเย็นมาก และต้องมีพจนานุกรมเล่มเบ้อเริ่มของหลายสำนักตั้งอยู่บนโต๊ะไว้เทียบเคียงกัน ผิดกับเดี๋ยวนี้จิ้มกูเกิลก็รู้แล้ว
พอลาออกมาแล้วตัดสินใจกับชีวิตต่อไปอย่างไร
ยังไม่รู้จะยังไง แล้วอาชีพสื่อมันไม่มีหลักประกันอะไรสักอย่าง เงินก็ไม่มีหรอก เราได้สถานะแต่ไม่มีเงิน แล้วเงินสะสมที่บริษัทจ่ายให้เราได้มาสองแสนบาท ใช้หนี้เหลือแปดเก้าหมื่น ออกจากงานก็ขึ้นปายมาเที่ยวสนุกสนานไป แป๊บเดียวเกลี้ยง (หัวเราะ)
ตอนทำงานเป็นนักข่าว คุณใช้ชีวิตแบบไหน
อะไรก็มีหมด เพราะเราเป็นหัวหน้า แล้วเราเป็นคนได้เงินเดือนสูงที่สุดในสยามรัฐฯ พี่ชัชเองก็โปรดมาก เพราะเขาเห็นว่าเราทำให้หนังสือดี จากเงินเดือนสองหมื่นห้าตอนเข้าไปปีสามเก้า ตอนหลังได้เพิ่มขึ้นมาอีกหมื่นหนึ่ง และมีเงินพิเศษที่ได้จากพี่ชัชอีกอาทิตย์ละปึก ปึกละหมื่น มันเหลือเฟือมาก แล้วช่วงนั้นดวงดี แทงหวยก็ถูกอีก (หัวเราะ) ได้ยินไปถึงชั้นบนฝั่งรายวัน ถูกหวยก็กลายเป็นทุกขลาภ เพราะต้องเลี้ยงหมดทุกชั้น
ทุกเย็นวันศุกร์ เราจะมีร้านที่เราไปนั่งกันประจำคือที่ร้านนายทองอยู่ อยู่ยืน ร้านของเจน (สุวิทย์ สุวิทย์-สวัสดิ์ อดีตนักข่าว) ตรงถนนพระอาทิตย์ ป้อมพระสุเมรุ เป็นที่สิงกันทั้งคอลัมนิสต์ นักคิด นักเขียน บางคนหิ้วเหล้ามา เช็กบิลกันคนละร้อยสองร้อย ที่เหลือเราจ่าย ชีวิตสนุกทุกวัน ดูแลคน เวลาศิลปินแสดงงานศิลปะ เราก็อุดหนุนกัน ภาพมีเป็นร้อย หนังสือก็เต็มบ้านเป็นพันๆ เล่ม เสื้อผ้าต้องใส่ยี่ห้อโปโล เมดอินยูเอสเอเท่านั้น รองเท้าต้องคลาร์ก ซื้อนาฬิกาเป็นว่าเล่นสิบกว่าเรือน ทั้งโอเมก้า ลองจิ้นส์ ต้องไขลานและออโตเมติกเท่านั้น นาฬิกาควอตซ์ไม่ใส่ โรเล็กซ์นี่สามสี่เรือน มีเรือนที่พี่ชัชให้ด้วยเป็นแสน วันศุกร์เวลาเบิกเงินจากฝ่ายการเงินไม่ทัน เราต้องแอดวานซ์ก่อน ก็เอานาฬิกาไปจำนำ ตอนออกจากงานนี่ตั๋วจำนำประมาณสามสิบใบ อะไรที่จำนำไว้ก็คิดว่าจะไปต่อดอกไว้ก่อน แต่ตอนหลังทำไม่ได้ของก็หลุดไป
เคยนึกเสียดายไหมกับการใช้จ่ายแบบนั้น
ก็เคยเสียดายมาก แต่ตอนหลังก็ปลง ทำไงได้ล่ะ
รู้สึกว่าตัวเองไม่ได้วางแผนชีวิต หรือว่าวางแผนชีวิตผิดไหม
คิดว่าทำไมเราไม่คิดว่ามันจะต้องมีเงินออม แต่เราคิดว่าตั้งแต่โตมาเรามีทุกอย่างอยู่แล้ว เรื่องเงินไม่เคยขาดมือ ไม่ได้หิว มีจนเหลือ ใช้หมดมันก็จะมีมาอีก เงินอยู่ในตัวไม่ได้ ต้องมีเรื่องให้ออก ซึ่งประมาทมาก ควรจะเก็บ แต่ก็ไม่ได้เก็บ ทุกวันนี้ก็ยังลำบาก แต่เรารู้จักใช้ชีวิตจึงพอประทังไปได้
แล้วจากที่แค่แวะมาเที่ยวในครั้งแรก อะไรทำให้คุณตัดสินใจมาอยู่ปาย
ตอนหลังมาอยู่นานขึ้นจนย้ายมาอยู่เลย ก็ยังไม่คิดอะไร สบายๆ ไม่มีแผนอนาคตเลยสักอย่าง อยู่ๆ ไปก็เขียนโปสการ์ด ทำงานศิลปะขาย งานไม้ เขียนรูป เจอเศษไม้ก็เก็บมาทำปิ่นปักผม เพราะในน้ำมีไม้เยอะมาก ไม้ประดู่ ไม้แดง ไม้สัก ชาวบ้านไม่เห็นค่า เจอก็ขนเก็บมาจนขนไม่ไหว ขนจนหลังเสียมาถึงทุกวันนี้ เพราะยกของหนัก ทั้งหินทั้งไม้ ชาวบ้านเขาเห็นเรามาอยู่ใหม่ๆ ก็นึกว่าเราเป็นญี่ปุ่นหรือฝรั่ง เหมือนที่เขาเรียกว่าบ้าหอบฟาง ไม้ซึ่งไม่มีค่าอะไรเรามาทำปิ่น บอกเขาว่ามันขายได้นะ เขาก็ยังหัวเราะ ขายได้จริงเหรอ ซึ่งมันก็ขายได้จริงๆ
ตัวเองก็ไม่ได้มีพื้นฐานเกี่ยวกับงานศิลปะนะ แต่อยู่กับพรรคพวกศิลปินมันก็สนุกสนาน พอมาอยู่ที่นี่ก็เริ่มเขียนรูปจริงจัง เพราะสนุก ไม่ได้คิดว่ามันจะรวยหรอก ให้มันอยู่ได้ บางทีก็มีจ๊อบเป็นงานเขียนเข้ามาบ้าง ได้เป็นก้อนบ้าง แล้วก็มีเงินเดือน สว. เบี้ยชราของผู้สูงวัยเดือนละหกร้อย มีเท่านั้น
ย้อนไปช่วงที่คุณมาอยู่ใหม่ๆ ปายยังเป็นเมืองเล็กๆ เงียบๆ ชาวบ้านทำเกษตร ไม่ได้เป็นเมืองท่องเที่ยว บาร์หรือศิลปินก็ไม่ได้เยอะเหมือนทุกวันนี้
ตอนนั้นไม่ได้มีคนเยอะ ก็จะเป็นกลุ่มเฮฮาปาร์ตี้ กินเหล้าสูบกัญชาแบบเสรีชน ที่เดี๋ยวนี้ก็หายๆ กันไป กับอีกกลุ่มจะเป็นชาวบ้านไปเลย แต่ตอนที่มาใหม่ๆ เราไม่ได้คลุกคลีกับชาวบ้านที่เป็นชาวบ้านในพื้นที่จริงๆ เราสมาคมกับพวกที่มาจากทางใต้บ้าง จากกรุงเทพฯ บ้าง เป็นศิลปิน เป็นเจ้าของบาร์ เจ้าของเกสต์เฮาส์ ส่วนเราเช่ากระต๊อบอยู่ริมน้ำปาย ตอนนั้นมณ (มณฑลี วิจิตรธนสาร-คู่ชีวิต) สอนศิลปะ เราก็สอนเรียงความ ภาษาอังกฤษ เลข เอาเด็กแถวหมู่บ้านมาทำกิจกรรม สอนทุกเสาร์อาทิตย์ แต่พ่อแม่เขาก็ดูจะไม่ค่อยส่งเสริม ทำนองยังคิดเหมือนเดิมว่าเป็นศิลปินมันคงทำอะไรกินไม่ได้ เขาก็ไม่ได้สนใจ ให้เข้าไร่เข้าสวนดีกว่า ทั้งๆ ที่เราซื้ออุปกรณ์ซื้ออะไรมาไว้ให้เด็กเรียนกันสนุกสนานมาก นี่คือความคิดแบบคนเมืองที่อยากจะทำอะไรเพื่อชุมชน ฝันหวาน เท่ เวลาวัดมีงานนี่พวกเราไปเขียนจิตรกรรมฝาผนังฟรีเลย
จนต่อมาก็มาสร้างบ้านอยู่ที่ท้ายหมู่บ้านตาลเจ็ดต้น เขยิบไกลจากน้ำ ข้างหลังบ้านเราเป็นเขาเป็นเทือกติดกันหมดเลย แล้วเป็นป่าชุมชนด้วย เดินขึ้นไปบ่อยๆ ทางเป็นดิน ก็ถือว่าเป็นหลังสุดท้ายที่ติดป่าเขา เมื่อก่อนเด็กชอบมาหานะ แต่ชาวบ้านแถวนี้เขากลัวผี เขาจะกระจุกกันอยู่ในหมู่บ้าน บางทีเขายังนึกว่าเราเป็นผีด้วยซ้ำ เพราะเราอยู่โดดๆ หลังเดียว แล้วพออยู่ๆ ไปต้นไม้ที่ปลูกไว้ รวมทั้งไม้ในพื้นที่ที่มีตออยู่แล้วก็ใหญ่ขึ้นครึ้มน่ากลัว เด็กๆ ก็จะไม่มากัน กลัวงูเงี้ยวเขี้ยวขอกันด้วย บางทีเขาก็บอกทำไมไม่ตัดต้นไม้
ต้นไม้ในพื้นที่เป็นไม้ประดู่ ไม้แดง แต่ไม้สักไม่เหลือแล้ว ตัดกันเหี้ยนหมด ไม้ประดู่ไม้แดงไม่ได้มีค่าสำหรับเขา มะขามป้อม มะกอกป่า ตะแบก นี่มีอยู่เต็ม เวลาทำไร่เขาถางเตียนหมด บ้านหลังนี้สร้างมาเก้าปี เดี๋ยวนี้ต้นไม้ใหญ่ๆ ขึ้นคลุมหมดแล้ว กลายเป็นป่า เพราะเราเป็นคนชอบต้นไม้ บางต้นเวลาขึ้นมาแล้วใบมีรูปทรงแปลกๆ เราก็คิดว่ามันมีชาติตระกูลแน่ๆ ต้องไม่ใช่ต้นไม้ธรรมดา วันดีคืนดีมันพุ่งขึ้นมา เริ่มโต อ้าว มีดอก กลายเป็นโมกป่า เขาเรียกโมกหลวง หอม มีมะตูมเต็มบ้าน เป็นไม้โบราณ เท่เลยนะ ต้นสักนี่ปลูกเสริม และมีอะไรเยอะแยะที่บางทีก็ยังไม่ปรากฏชัดเจนว่าเป็นต้นอะไร เพราะยังไม่สมบูรณ์เต็มที่
ทุกวันนี้ความสัมพันธ์กับชาวบ้านในชุมชนเป็นอย่างไรบ้าง
ก็ไปได้ดี เพราะมาอยู่ตั้งแต่แรกเราเป็นคนให้ ดูแล ก็มีเพื่อนบ้านที่ดีๆ ที่เวลาเราไม่อยู่ก็ฝากดูบ้านได้ โดยพื้นฐานของชาวบ้านเขามีจิตใจที่ดีอยู่แล้ว เราได้คลุกคลีกับชาวบ้านจริงๆ ก็ตอนย้ายมาอยู่ที่นี่แหละ เริ่มกินเหล้าขาวกับชาวบ้าน ชาวบ้านก็สนุก เขาเรียกเราว่าลุงหนวด ในหมู่บ้านจะมีอยู่ร้อยกว่าหลังคาเรือน ลูกหลานที่จบปริญญาตรีนับคนได้เลย ส่วนใหญ่พอได้ปริญญาแล้วก็ออกไปอยู่ที่อื่น คนในหมู่บ้านนี้ส่วนใหญ่จบ ป.4 ป.6 ยังเป็นหมู่บ้านที่ไม่พัฒนา ยังล้าหลังมาก มาอยู่ที่นี่ทำให้รู้ว่าชนบทกับเมืองหลวงมันคนละเรื่องกันเลย คนที่อยู่ส่วนกลาง อยู่ในเมืองหลวง เวลามีอะไรก็จะตื่นเต้นกันอยู่ในกรอบตัวเอง หมกมุ่นกับเรื่องที่ตัวเองรู้ ไม่เคยเอาตัวเองมาอยู่ข้างนอกแล้วมองเข้าไป อย่างเลือกตั้งนี่เลือกยังไงก็ได้หน้าเดิม เพราะซื้อเสียงกัน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และสมาชิก อบต.เป็นหัวคะแนน ชาวบ้านก็ยังเหมือนเดิม
มาอยู่ที่นี่ มีเสื้อมีอะไรก็แจกเหมือนเดิม เวลาไปกินเหล้าก็บอกเขาไม่ต้องออกหรอก เราออกเอง ทำกับข้าวกินกัน เหล้าขาวมีกินทุกคืน แล้วเราก็จะคุยกับเขาเรื่องอย่าไปตัดไม้ทำลายป่า พยายามจะบอกเขาว่ามันเป็นเรื่องธรรมชาติใกล้ตัว ถ้าวันหนึ่งป่าหมดไปแล้วมันจะยุ่งนะ ฝนฟ้าฤดูกาลจะเปลี่ยน เขาก็บอกครับๆ บางทีบอกเจ็บหัว (ปวดหัว) ไม่พูดเรื่องนี้แล้ว นอน เพราะสุดท้ายมันเป็นเรื่องของวิถีเขา ทำไปทำมาในหมู่บ้านคนเกือบจะทั้งหมู่บ้านตัดไม้เถื่อนขายทั้งนั้นเลย ดีว่าเขาไม่เอาขวานจามหัวเรา
หรืออย่างเรื่องสารเคมี เราก็พยายามบอกเขาว่าอย่าไปใช้ ที่เจ็บป่วยกันก็จากพิษของมันนะ แต่เขาก็มีความรู้สึกว่าถ้าไม่ใช้สารเคมี การจ้างแรงงานไปถอนหญ้าหรืออะไรค่าแรงมันสูง ไม่คุ้มกับต้นทุนการผลิต ยาเคมีมันมีอยู่แล้วก็ฉีดมันไปซะ แล้วพอเจ็บป่วยเขาก็ไปเชื่อพวกเจ้าพวกคนเข้าทรง ยังเคารพศรัทธากันอยู่ เรารู้ว่าการที่ลูกเขาไอหรือป่วย เพราะเกิดมาแล้วภูมิต้านทานไม่มี เป็นหอบหืดกันก็เพราะเผาป่ากัน ถึงหน้าแล้งก็เผากันแล้ว แต่เขาก็ไม่ได้สนใจ ภาครัฐก็ไม่ทำงานเลย มีแต่ป้าย ถ้าเขามีเครื่องป้องกันสำหรับตัวเขาเวลาฉีดสารเคมีก็ยังดีกับเขาหน่อย แต่โดยสภาพแวดล้อมมันก็สะสมในแหล่งดินแหล่งน้ำอยู่นั่นแหละ เขาใช้ทุกวันทุกฤดูกาล เขาฉีดกันไม่ยั้ง เราก็พูดไปเรื่อยๆ จนตอนหลังเขาก็เขินนะ เวลาเขาแบกถังน้ำยาไปฉีด เดินผ่านหน้าบ้านเขายังหันมาพูดกับเราแบบเขินๆ ว่าผมไปฆ่าตัวตายนะครับ เราก็ไม่รู้จะพูดยังไง (หัวเราะ)
คือชาวบ้านก็รู้อยู่ แต่เขาไม่รู้จะทำอย่างไร
ใช่ เพราะต้นทุนมันถูก และเขาคิดว่ามันยังไม่เกิดแบบปัจจุบันทันด่วน ฉีดแล้วชักตายเลยแบบนั้น พอมันไม่ได้ตายทันที มันสะสม เขาเลยยังไม่คิดอะไร การที่เราเห็นว่ามีการออกมารณรงค์ หรือต่อต้านสารเคมีกันอยู่ในส่วนกลาง มันไม่มีผลหรอก การแก้ปัญหาที่ทุบโต๊ะไปเลยก็คือยกเลิกการนำเข้า ถ้าไม่มีนำเข้าก็คือจบ แต่ก็ไม่ยกเลิกกันอีกเพราะผลประโยชน์ ยกเลิกนี่เขายกเลิกได้นะ มันอยู่ที่รัฐเลยว่าคุณเป็นขี้ข้าของทุนของบริษัทที่ผูกขาดหรือเปล่า เพราะในต่างประเทศ ในยุโรป เขาเลิกใช้ เขาห้ามนำเข้า แต่เราทำไมไม่เลิก นั่นแหละปัญหา
หรืออย่างรณรงค์เรื่องบุหรี่ อุตส่าห์ทำซองรูปมะเร็งให้น่ากลัว มีใครเลิกดูดมั้ย เสียตังค์ ทีนี้ทำไปทำมาโรงงานและกรมสรรพสามิตได้ภาษีเยอะ เขาก็ไม่เลิกผลิต ล่าสุด รัฐโดยกระทรวงการคลังจะทุ่มเงินงบประมาณลงมาอีกสี่พันล้าน เพื่อขยายหรือเปิดโรงงานใหม่ โดยนายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ออกมาให้สัมภาษณ์ เชื่อมั่นว่าศักยภาพของโรงงานผลิตยาสูบแห่งใหม่นี้ จะสร้างรายได้ให้แก่รัฐเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศได้ต่อไป อย่างนี้ก็เท่ากับว่าสองมาตรฐานหรือดับเบิ้ลสแตนดาร์ด คือย้อนแย้งกับสิ่งที่รัฐโดยกระทรวงทบวงกรมต่างๆ พยายามรณรงค์ให้คนไทยเลิกบุหรี่ โดยปีหนึ่งๆ รัฐเสียเงินงบประมาณหลายพันล้านที่เอาไปซุกไว้ตามกระทรวงทบวงกรมต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นงบฯโฆษณาในการรณรงค์และประชาสัมพันธ์เพื่อให้คนไทยลด ละ เลิกบุหรี่ เช่นอุดหนุนกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นต้น
เท่าที่ตามข้อมูลดู ช่วงสามปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2558-2560 โรงงานยาสูบมีกำไรเพิ่มขึ้นทุกปี อย่างปีงบประมาณ 2560 คือปี 2559 โรงงานยาสูบมีรายได้จากการขายบุหรี่ 65,237 ล้านบาท กำไร 9,343 ล้านบาท เงินนำส่งรัฐ 62,576 ล้านบาท รายได้เพิ่มขึ้นจากเดิมอีกกว่าสองพันล้านเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านั้น และเงินจำนวนนี้แหละที่เรียกๆ ประชดประชันกันว่าภาษีบาป ถูกจัดสรรไปเป็นเงินงบประมาณในแต่ละปีเพื่อรณรงค์ให้ลด ละ เลิกบุหรี่กัน ถามว่า แล้วอย่างนี้นโยบายของรัฐไทยที่ไปรับลูกมาจากองค์การอนามัยโลก ว่าภายในอีกเจ็ดปีข้างหน้า คือปี 2568 จะต้องลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ให้เหลือประมาณ 9 ล้านคน ขณะที่ทุกวันนี้จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติซึ่งก็เชื่อไม่ได้ทั้งหมดเพราะเป็นราชการไทย
คือระบบราชการไทยนั้นถ้ามีการรายงานเรื่องตัวเลขเมื่อไหร่ต้องบวกต้องคูณเข้าไปอีก เช่นเวลาตำรวจสันติบาล หรือสายลับของรัฐ สมัยก่อนพวกเรานักข่าวล้อ ๆ กันว่าพวกเจมส์บอนด์ ถูกสั่งให้ไปสังเกตการณ์ เป็นต้นว่าการชุมนุมประท้วงของมวลชน จะปัญหาอะไรก็แล้วแต่ ที่เป็นการคัดค้านหรือต่อต้านนโยบายรัฐ เวลาได้ยินวิทยุสื่อสารที่เจ้าหน้าที่ใช้กัน ไม่รู้ว่าเดี๋ยวนี้ยังใช้กันอยู่หรือเปล่า สมมติว่าคนมาชุมนุมประมาณห้าพันคน สายลับพวกนี้ก็จะรายงานเข้าไปยังต้นสังกัดว่า ประมาณ 500-700 คนเท่านั้น รุ่งขึ้นข่าวพาดหัวหนังสือพิมพ์กับตัวเลขของราชการผิดกันราวฟ้ากับเหว ผลเสียก็คือทำให้ระดับบนขึ้นไปตัดสินใจผิดพลาด เรื่องเล็กก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ กลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวได้
กลับมาเข้าเรื่อง จากตัวเลขของสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่าสถานการณ์การสูบบุหรี่ของคนไทยในปี 2560 ที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป อยู่ที่ 10.7 ล้านคน ซึ่งจริงๆ แล้วมันน่าจะมากกว่านั้น ก็คล้ายกับที่ผู้อำนวยการกองสลากกินแบ่งฯ บอกนั่นแหละว่าราคาล็อตเตอรี่ไม่มีใครขายเกินใบละ 80 บาทตามที่ระบุไว้ในล็อตเตอรี่ เพราะฉะนั้น การที่รัฐทุ่มเงินกว่าสี่พันล้านเพื่อสร้างโรงงานยาสูบใหม่ มันจะลดจำนวนผู้สูบให้น้อยลงไปได้อย่างไร อีกอย่างหนึ่งในด้านการค้าการขาย ถ้าแนวโน้มของตลาดไม่ดีขึ้น เขาจะกล้าทุ่มทุนลงมาหรือ คิดแล้วขำไม่ออก
ดูๆ ไปประเทศเราก็เลยคล้ายๆ กับพวกศรีธนญชัย คุณภาพคนถึงได้เป็นอย่านี้ การเมืองการปกครองถึงไม่ไปไหน วนๆ กันไปอยู่แค่นี้ เลือกตั้งแล้วยึดอำนาจ เสร็จแล้วก็ฉีกรัฐธรรมนูญ อะไรอย่างนั้น ไม่มีอะไรจริงสักเรื่อง แต่ที่ดีอยู่อย่างหนึ่ง คือ เวลาที่มีสถานการณ์อะไรวิกฤต คนไทยนี่ของจริงนะ รวมพลังกันได้ดี เพราะพื้นฐานจิตใจคนไทยนั้นดี มีอะไรก็ร่วมแรงร่วมใจช่วยกัน แต่ต้องรอให้ถึงวิกฤตก่อน (หัวเราะ)
ยังมองเห็นความหวังบ้างไหมกับประเทศนี้
เราพยายามพูดกันว่าเราต้องทำอะไรเพื่อคนรุ่นหลัง แต่ผมก็ค้านนะว่ามันไม่ใช่ เพราะโลกนี้นะ ทุกคนต้องกำหนดอนาคตชีวิตของตัวเอง น่าเสียดายที่พรรคการเมืองหน้าใหม่ก็ไม่เคยพูดถึงเรื่องพื้นฐานที่เราพูดกันนี่เลย เขาพูดกันแต่เรื่องเงิน เรื่องทุน แล้วคนก็เชื่อ เพราะคนไทยหมดความหวังกับทุกอย่าง อย่าไปพูดว่าเราจะต้องสร้างจิตสำนึกนักการเมืองเลย มันต้องสร้างจิตสำนึกของคนคือต้องปฏิรูปการศึกษาก่อน เหมือนที่ชาติ กอบจิตติ เขียนและแสดงความเห็นไว้ว่าทำยังไงครูถึงจะต้องมีคุณภาพ เขาต้องได้เงินเดือนมากกว่าใครด้วยซ้ำไป และต้องคัด เพราะครูเป็นแม่พิมพ์ ไม่ใช่มาเป็นครูเพราะสอบไม่ติดคณะที่อยากเรียน ถ้าครูไม่มีคุณภาพ แล้วเด็กจะมีคุณภาพได้ยังไง ทุกวันนี้เด็กเขียนอะไรก็ยังผิด คนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจถึงจะได้เปรียบ ส่งลูกไปเรียนพิเศษได้ แต่ชาวบ้านก็ยังเป็นชาวบ้านที่ยังอยู่ห่างไกล เข้าไม่ถึงโอกาส ฉะนั้นประเทศนี้ควรต้องเอาจริงเอาจังเรื่องการศึกษา ปฏิรูประบบการศึกษาหรือวิชาจริงๆ ถึงจะสร้างสำนึก สร้างบุคลากรได้
มาใช้ชีวิตที่นี่ แต่ดูเหมือนความเป็นนักข่าวซึ่งเป็นนิสัยที่ติดตัวอยู่ ยังไม่หายไปไหน
ไม่เคยหายไปไหน หลังบ้านเราเป็นเขา เป็นป่าชุมชน เราก็จะออกไปกับกล้องถ่ายรูปตัวนึง ไปถ่ายรูปกล้วยไม้ดอกไม้ มันมีทุกฤดูกาล แล้วมันสวย แต่ชาวบ้านเขาไม่เคยรู้สึกว่าเขาจะรักดอกไม้กันหรอก คนละอารมณ์ เพราะวิถีชีวิตเขาคือทำมาหากิน แล้วต้นไม้มีเยอะมาก ส่วนเราอยู่ในเมืองมายี่สิบสามสิบปี ต้นไม้แต่ละต้นมีค่า แต่ที่นี่เขาโค่น บางคนยังมี กลัวว่าไม้สักจะล้มทับบ้านเขาก็ตัดเลย ส่วนเราสนใจแม้กระทั่งว่าเวลาเอ็งตัดต้นไม้ นกหนูที่มันเคยมาเกาะมันจะอยู่ยังไง คิดไปถึงขนาดนั้น ถึงได้พยายามจะบอกเขา ฉะนั้นความเป็นนักข่าวเวลาเห็นอะไรไม่ชอบมาพากล ก็จะถ่ายรูปแล้วไปโพสต์ลงในเฟซบุ๊กตัวเอง ล่าสุดเมื่อปีที่แล้ว ไปเจอคนกานไม้ (*กาน คือทำให้ต้นไม้ยืนต้นตาย) ก็ถ่ายรูปแล้วไปโพสต์
เขากานแล้วค่อยมาโค่น แต่บางทีก็มาโค่นกันสดๆ เลยนะ เราออกไปเดินเกือบทุกวัน ถ้าวันไหนบางจุดไม่ได้ไป ไปอีกวันโดนแล้ว แม้กระทั่งแค่จะสอยรังมดแดงรังเดียว สอยไม่ถึงก็ตัดต้นไม้เลยเพื่อเอารังมดแดง ไม้แดงเลยนะ ถ้าบ้านเราภาคกลางไม้แดงคือไม้หรูเลย เป็นไม้เนื้อแข็ง แต่เขาไม่เห็นค่า ตัดไปทำฟืน บางทีเดินผ่านแล้วมันรก ตัดเลย เราเสียดายจริงๆ เพราะเรารักไปหมด
ทีนี้พอถ่ายรูปไปโพสต์ ก็เกิดเป็นเรื่องเป็นราว เพราะมีเพื่อนเคยรับราชการเป็นนายอำเภอเก่า ทุกวันนี้เกษียณแล้วเห็นว่าทำอย่างนี้ไม่ได้ผล เพราะมันเห็นแต่ในกลุ่มของเพื่อนเรา เขาเลยก๊อปปี้เนื้อหากับรูปส่งต่อไปให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบใหญ่สุดของจังหวัดแม่ฮ่องสอน คือระดับผู้อำนวยการอะไรอย่างนั้น ตัวผู้อำนวยการแทนที่จะแจ้งให้เจ้าหน้าที่ระดับอำเภอรับทราบด้วยวาจา หรือด้วยคำสั่งอะไรก็แล้วแต่โดยที่ไม่เปิดตัวผู้ร้องเรียน ก็ปรากฏว่าทำงานแบบราชการไทยหรืออะไรก็สุดแท้แต่ ก็ก๊อปปี้เนื้อหาและรูปส่งไปให้ระดับปฏิบัติในพื้นที่ทั้งหมดนั้นเลย ความลับที่ควรจะเป็นความลับของทางราชการและตัวผู้ร้องไม่เดือดร้อน ก็กลายเป็นเรื่องกลับตาลปัตร ตัวการซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องของกำนันก็รู้หมดอีกเช่นเดียวกัน เพราะเจ้าหน้าที่ป่าไม้ระดับอำเภอก็เอาทั้งหมดไปให้กำนันดู ส่วนกำนันก็เอาไปให้ญาติที่เป็นผู้กระทำผิดดูอีกต่อหนึ่ง แล้วมันจะไปเหลืออะไร
ก็มีการนัดคุยกัน เราก็ปฏิเสธไปว่าไม่รู้เรื่อง ใครทำก็ไม่รู้ หาไม่เช่นนั้นจะอยู่ลำบากมาก ต้องรบกับคนทั้งหมู่บ้านเพราะส่วนใหญ่เขาก็เป็นญาติพี่น้องกัน เดี๋ยวนี้เห็นอะไรไม่ชอบมาพากล บางเรื่องก็ต้องทำใจ สังคมส่วนใหญ่มันเป็นอย่างนี้ พึ่งและไว้วางใจเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้จริง ๆ
เมื่อเปิดหน้ารบไม่ได้ สิ่งที่คุณยังทำได้อยู่คืออะไร
เมื่อเห็นอะไรที่มันไม่ใช่ เราก็จะเขียนบอกว่าเจออีกแล้ว แต่ไม่ได้ระบุว่าเป็นใคร เพราะเรารู้ว่าร้องไปราชการก็ไม่ได้แก้ปัญหา เว้นแต่มีส่วนกลางมาช่วย ตอนนี้มันเหมือนเป็นเรื่องใครเรื่องมัน บ้านเมืองนี้ไม่มีทางไปไหนได้เลยถ้าข้าราชการยังเป็นอย่างนี้ เราก็ได้แต่หวังว่าถ้าคนรุ่นนี้ตายไป เด็กรุ่นใหม่คงตัดไม้ไม่เป็นแล้ว เพราะเข้าไปเรียนหนังสือในเมืองใหญ่กัน แต่มันจะมีต้นไม้ให้เห็นถึงวันนั้นมั้ยก็ไม่รู้นะ (หัวเราะ)
แล้ววิธีแก้ของเราก็คือ ในที่ของเราที่มีอยู่ไร่กว่า เราก็จะไปขุดกล้าสักตามข้างทางหรือกล้าไม้บางชนิด มีเยอะมาก มาปลูก มันอาจจะขึ้นได้สูงบ้างหรือไม่สูงไม่เป็นไร ปลูกมันหมด คิดว่าอย่างน้อยในที่เรา ก็ปลูกให้เต็มที่ ทุกวันนี้ในหมู่บ้านนอกจากบ้านเราเอง ก็มีแต่ป่าช้ากับวัดเท่านั้นที่มีต้นไม้ขึ้นเหมือนกับยังเป็นป่า นอกนั้นโล่งหมดแล้ว เราก็คิดนะว่าปลูกในที่ตัวเองจะปลอดภัย แต่วันดีคืนดีมีพวกพม่าซึ่งเป็นไตนอก คือพวกไทยใหญ่พม่า ที่เข้ามาอยู่ในปายทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย ประมาณตัวเลขกันจริง ๆ ก็น่าจะหกเจ็ดหมื่นคน พวกนี้มาตัดไม้ไผ่ในที่เรา พอได้ยินเสียงเราก็ไปดู เขาวิ่งหนี เราก็วิ่งไล่ จนไปเจอเขาหลบอยู่ ก็คุยกันว่าทำแบบนี้ไม่ได้นะ นี่มันที่เรา ตัวซีดกันเลย เลยบอกให้กลับมาตัดกันให้เสร็จ พอตัดเสร็จก็ไม่ได้ให้ไม้นั้นไป เอาไว้ใช้เอง (หัวเราะ) นี่ขนาดในที่เรานะ ถ้าเผลอก็โดนตัดเหมือนกัน
ทำไมคุณถึงตั้งใจว่าจะต้องออกไปเดินป่าทุกวัน
มันสบายใจ โล่ง เวลาที่อยู่ในโลกที่มันกว้างๆ มีต้นไม้ ความคิดมันโล่ง แล้วอากาศมันสดชื่น มันสงัด มันเงียบ มันมีความสุขมากเลย เห็นอะไรก็เอามาลงเฟซบุ๊ก โลกทุกวันนี้นะ สื่อที่เป็นจริงคือสื่อออนไลน์ และเราทุกคนเป็นเจ้าของกิจการสื่อ เราเป็นนักข่าว วิเคราะห์นั่นนี่ เมื่อก่อนเวลาเขียนเรื่องอะไรกว่าจะได้ลงนี่เป็นอาทิตย์ เดี๋ยวนี้สดๆ เลย ทั้งเรื่องทั้งรูป เหมือนเวลาที่พูดถึงเรื่องสารเคมี สมัยทำข่าว ทำหนังสือพิมพ์ ข่าวแบบนี้ขายไม่ได้ แต่จริงๆ แล้วมันเป็นปัญหาพื้นฐานของประเทศนี้ ข่าวควรจะต้องนำเสนอเรื่องแบบนี้ ไม่ใช่ข่าวแบบดาราเตียงหักเลิกกัน หรือเสนอแต่ข่าวที่หวือหวาแบบที่เป็นกันอยู่
หรืออย่างล่าสุดโอ-วรุฒ วรธรรม เสียชีวิต แทนที่จะเสนอข่าวด้านบวกให้เกียรติกับคนที่เขาล่วงลับแล้ว เพราะมันจะถูกบันทึกไว้เป็นประวัติศาตร์ ก็ไปเสนอในแง่ที่คิดว่าจะกระตุ้นต่อมอยากรู้อยากเห็นได้ เพื่อการขายข่าวค้าข่าว ก็เป็นอย่างนี้ พฤติกรรมคนอ่านที่ถูกปลูกฝังมาเป็นเวลาสิบปี ยี่สิบปี หรือสามสิบปี มันก็เป็นไปตามสื่อนั่นแหละ
หมายถึงว่าสื่อเป็นคนกำหนดรสนิยม ค่านิยมของคนในสังคม
ใช่ ทั้งที่คุณเปลี่ยนได้ แต่ไม่เปลี่ยน ฉะนั้นข่าวที่มีเนื้อหาเชิงสร้างสรรค์หรือเป็นประโยชน์เลยไม่ค่อยมี หรือมีก็กลายเป็นข่าวเล็ก เป็นข่าวที่ขายไม่ได้
เรามีสื่อโชเชียลฯ เยอะขึ้นแล้ว คิดว่าถ้าสื่อทำงานเยอะขึ้น มันอาจจะเป็นข้อดีที่จะพลิกวิกฤติไปสู่การพัฒนาคนได้ไหม
ที่จริงเป็นโอกาสอันดี แต่ทุกวันนี้ในโลกออนไลน์มีขยะเยอะมาก เพราะไม่ได้มีการสกรีน และคนไม่ได้มานั่งตรึกตรองหรือใช้วิจารณญาณว่ามันใช่หรือไม่ใช่ ข่าวออกมาเป็นแบบปัจจุบันทันด่วน พอได้ยินอะไรมาหน่อยก็ใส่กันแล้ว แชร์กันมา บางทีหาที่มาที่ไปหรือข้อเท็จจริงเพื่อพิสูจน์ไม่ได้เลย แล้วมันก็ผิดตลอด
ฉะนั้นจะต้องมีสื่อที่เป็นหลักให้ได้ คนก็จะได้พึ่งพา เพราะยังไงก็ตาม ข่าวสารข้อเท็จจริงยังเป็นเรื่องจำเป็นมากและต้องรู้เท่าทัน คนทั่วไปไม่มีทางรู้เท่าทันกันหรอก ว่าไปสื่อมวลชนก็ยังเป็นเหมือนกองหน้าที่จะสร้างสังคมหรือสร้างสรรค์อะไรที่ดีๆ ได้ ตอนนี้ก็เห็นว่ามีอยู่บ้าง แต่ก็ไม่มาก
แต่สื่อโชเชียลก็เป็นดาบสองคมเหมือนกัน เพราะมันไว ทุกวันนี้ทุกคนที่ใช้สื่อเขาเป็นเจ้าของสื่อนะ แต่เขาไม่รู้ว่าเขากำลังมีอำนาจอยู่ในมือ และถ้าใช้ไม่เป็นก็จะหลงทาง เพราะไม่รู้จักคิด ไม่รู้จักเครื่องมือที่ตัวเองมี ในโลกของสื่อวันหนึ่งมันอาจจะพัฒนาไปได้เมื่อคนมีคุณภาพ แต่ดูแล้วโลกในยุคที่เครื่องมือสื่อสารพัฒนามาจนถึงตอนนี้ มันไม่สามารถสร้างคนให้มีคุณภาพตามได้ทันเลย เพราะมันเกี่ยวข้องกับระบบทุนที่กระตุ้นต่อมบริโภค กระตุ้นให้คนหลงใหลต้องไปซื้อ เป็นโลกของทุนนิยมที่ไร้พรมแดนจริงๆ ดังนั้นจึงต้องมีสื่อหลัก คำว่าสื่อหลักหมายถึงว่ามีกิจการที่ชัดเจน ว่าเป็นสื่อออนไลน์ที่ก่อตั้งมาเพื่อให้ข่าวสารข้อมูลข้อเท็จจริงที่ถูกต้องและเชื่อถืออ้างอิงได้ แล้วก็สร้างสำนึก สร้างคน ติดอาวุธทางความคิดให้เขา
แต่คนที่รับสื่อก็ฉลาดขึ้นนะคะ สื่อที่ไม่มีคุณภาพก็จะถูกดูแคลนจากคนรับสื่อไปเอง
เพราะสื่อเหล่านั้นไม่ทำการบ้าน ต้องโทษตั้งแต่โต๊ะข่าว หัวหน้าข่าว บ.ก.ข่าว ที่มอบหมายงานลงมา รวมถึงทุนด้วย ที่บางครั้งนักข่าวทำอะไรมากไม่ได้ ไม่อย่างนั้นไม่ได้ลง เหมือนสมัยที่เรายังเป็นนักข่าว ไม่ได้เป็น บ.ก. ข่าวไหนที่จะกระทบทุนเขาก็ไม่ลง ที่ผ่านมาในอดีตเราเป็นนักข่าวเราเสนอไม่ได้ แต่พอมาเป็น บ.ก. บางครั้งเราก็ยังเสนอไม่ได้อีกเหมือนกัน เพราะนายทุนไม่ยอมถ้าจะไปกระทบกับผลประโยชน์
ตอนนี้หากจะว่าไป การโพสต์เรื่องที่คุณสนใจในพื้นที่โซเชียลมีเดียของตัวเอง ก็คล้ายการทำหน้าที่สื่ออิสระอยู่กลายๆ
ตอนนี้ดีเลย อิสระ สนุกมาก มันมาก ทุกคนเป็นสื่อได้ถ้าคิดแบบนี้นะ คนที่เคยเป็นนักข่าวมาก็จะได้เปรียบ เพราะเราได้ผ่านโลกแบบนั้นมา เวลาไปเห็นไปเจออะไรมาจะอยากรีบเสนอ ไม่อยากค้าง
คิดว่าวันหนึ่งคุณจะเห็นอะไรที่ไม่เข้าท่าแล้วจะสามารถปล่อยวาง ปล่อยผ่านได้ไหม
ยังตอบไม่ได้ ไม่รู้ เพราะยังไม่ตาย (หัวเราะ) ทุกวันนี้ถ้าเห็นอะไรก็ยังจะวิพากษ์วิจารณ์เหมือนเดิม แต่ตอนนี้บั้นปลายของตัวเองแล้ว คนเราเวลามีอายุมากขึ้น มันเริ่มอยู่กับตัวเองแล้ว ชีวิตที่เคยเห็นอะไรกว้างๆ มันเริ่มแคบลง ตอนนี้เริ่มคิดแล้วว่าเราจะตายยังไง ถ้าหลงลืมแล้วใครจะเลี้ยงเรา ทำการุณยฆาตเหมือนที่ผู้สูงอายุชาวออสเตรเลียคนหนึ่งทำจะได้มั้ย ขี้เกียจอยู่แล้ว (หัวเราะ)
ทุกวันนี้ที่ยังอยากอยู่เพราะอยากดูว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นอีก ยังน่าติดตามดูว่ามันจะเป็นอย่างที่เราคิดไหม ฉะนั้นระหว่างที่เราอยู่ เวลาเห็นอะไรเราก็ยังต้องมีการวิพากษ์วิจารณ์ เพราะเราก็ยังมีสื่ออยู่ในมือ เป็นประโยชน์มากเลย มันยังให้ความคิดกับคน สร้างคนได้ เพราะพื้นฐานของเราต้องการสร้างคน สร้างสังคมที่มันดีๆ ต้องติดอาวุธทางความคิด สังคมมันถึงจะเดินไปในทางที่ดี มีอารยะได้ มีอารยะนี่ยิ่งกว่ามีประชาธิปไตยเสียอีก
เราคิดว่าสื่อเป็นการให้การศึกษาที่ไม่ได้อยู่ในระบบ มันให้การศึกษากับคนทุกวันทุกเวลา ถ้าข้อมูลข่าวสารดี ข้อมูลข่าวสารถูกต้อง คนบริโภคหรือคนอ่านหรือคนที่เสพสื่อเขาก็จะมีคุณภาพขึ้นด้วยถ้าเรารับผิดชอบในความเป็นสื่อ แต่ที่ผ่านมายังขาด ยังขายข่าวเพื่อที่จะมุ่งเอาสตางค์ สมัยก่อนที่เราโตมาจากมติชน ยังมีการสั่งสอนเรื่องอุดมการณ์ มีการพูดถึงอิศรา อมันตกุล คิดถึงกลุ่มสุภาพบุรุษของศรีบูรพา หรือกุหลาบ สายประดิษฐ์ เขาสู้กันมา แต่ตอนนั้นโลกยังไม่ใหญ่ขนาดนี้ก็สู้ได้ ทุกวันนี้โลกใหญ่โต โครงสร้างที่เป็นโลกของทุนที่ไร้พรมแดนมันซับซ้อนมากขึ้น มันไม่รู้ว่าตรงไหนที่เป็นแกนกลาง มันสะเปะสะปะกันไปหมด
มีอะไรอยากแนะนำไปถึงคนทำสื่อยุคนี้ไหม
ไม่รู้จะแนะนำยังไง เพราะที่เขาโตขึ้นมาทุกวันนี้เขาก็ผ่านประสบการณ์กันมาแล้ว แต่ยังไงก็ตาม วิชาชีพสื่อมันเป็นสัมมาอาชีพ เหมือนที่อาจารย์สุภา ศิริมานนท์ ครูและผู้อาวุโสของวงการสื่อสารมวลชนเคยว่าเอาไว้ มันไม่ใช่เป็นอาชีพที่แค่มีรายได้ตอบแทน แต่เป็นอาชีพที่มีเกียรติมากอย่างที่เขาเรียกว่าเป็นฐานันดรสี่ เพราะว่าเป็นผู้ให้ เป็นผู้นำสาร สามารถสร้างพลเมืองหรือสร้างคนให้มีสำนึก สร้างคนดีให้เกิดขึ้น สร้างชาติ สร้างทุกอย่างได้ อาชีพสื่อคือการให้ข้อมูลความรู้ข้อเท็จจริง ฉะนั้นการเป็นนักข่าวหรือ บ.ก.ต้องมีความรอบคอบ มีวิจารณญาณ สำคัญคือมีสำนึกก่อน สำนึกในวิชาชีพ สำนึกน่ะสำคัญ แล้วประโยชน์ส่วนรวมคือสิ่งสูงสุด สิ่งเหล่านี้เคยถูกสอนกันมานั่นแหละ แต่ต้องทำให้ได้สิ ต้องคิดถึงคนอื่นก่อน ไม่ใช่ว่าสร้างภาพมาพูด แต่โดยหน้าที่โดยวิชาชีพต้องเป็นแบบนั้น
Fact Box
- รุ่งเรือง ปรีชากุล ท่องอยู่ในสมรภูมิข่าวอย่างโชกโชน เป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์ ทั้งหัวขาวดำที่เรียกว่าหนังสือพิมพ์คุณภาพ และหนังสือหัวสีขายข่าวชาวบ้าน เขาแจ้งเกิดที่หนังสือพิมพ์มติชนรายวันยุคบุกเบิกที่ถนนเฟื่องนคร ช่วงรอยต่อรัฐบาลของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทท์ กับรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ในปี 2523 และเป็นนักข่าวคนแรกของหนังสือพิมพ์มติชนที่คว้ารางวัลอิศรา อมันตกุล หรือที่เรียกกันว่ารางวัลพูลิตเซอร์ของเมืองไทยในปี 2524 ด้วยข่าวขุดคุ้ยความไม่ชอบมาพากลในการออกเสียงเลือกอธิบดีกรมอัยการ (ที่ในยุคนั้นยังไม่ได้เป็นสำนักงานอัยการสูงสุดเหมือนในปัจจุบันนี้)
- ในปี 2527 เขาออกไปอยู่หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ยุคที่สำนักงานตั้งอยู่ในตึกอื้อจือเหลียง ที่บางกอกโพสต์เขาแทบจะทำให้นายบรรหาร ศิลปอาชา ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในคณะรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และเป็นเลขาธิการพรรคชาติไทยต้องติดคุก เพราะการทุจริตการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.จังหวัดยโสธร ในปี 2529 ด้วยการนำเสนอข่าวนี้ขึ้นพาดหัวหน้าหนึ่ง ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในแวดวงการเมืองของสภาผู้แทนราษฎร และส่งผลให้นายบรรหารถูกยื่นญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ รวมถึงมีการนำหลักฐานการทุจริตยื่นฟ้องต่อศาลในคดีอาญา แต่ท้ายที่สุด คดีก็ต้องถูกยกไปเพราะไม่มีใครกล้าไปเป็นพยาน ส่วนการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภาผู้แทนราษฎรก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น เนื่องจากถึงเวลาลงมติ ฝ่ายรัฐบาลที่มีเสียงข้างมากอยู่แล้วก็เป็นฝ่ายชนะ
- ปลายปี 2533 รุ่งเรืองลาออกมาเป็นหัวหน้าข่าวการเมืองและหัวหน้าข่าวหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ข่าวสด อยู่ได้เกือบจะครบหนึ่งปี เกิดปัญหาภายในระดับผู้บริหาร จึงพากันยกทีมออกทั้งนักข่าวและช่างภาพ โดยเขาย้ายไปเป็นนักข่าวอาวุโสสายการเมืองที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ผ่านเหตุการณ์ข่าวพฤษภาฯ ปี 2535 และการเลือกตั้ง ส.ส.สองครั้งในปีนั้น ที่ถูกส่งจากส่วนกลางออกไปตระเวนทำข่าวใน 17 จังหวัดภาคอีสาน เพื่อความถูกต้องแม่นยำ
- ปี 2536 เขาออกจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐไปนั่งเก้าอี้หัวหน้ากองบรรณาธิการนิตยสารดอกเบี้ยการเมืองรายสัปดาห์ และก้าวขึ้นเป็นบรรณาธิการบริหารหลังจากนั้น แต่อยู่นิตยสารดอกเบี้ยฯ ได้สองปีก็ลาออกด้วยความตั้งใจที่จะเลิกจากอาชีพนี้ เพราะเกิดความเบื่อหน่าย
- แต่เมื่อได้รับการทาบทามให้ไปเป็นบรรณาธิการบริหาร สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ หลังจากที่ ชัช เตาปูน-ชัชวาลย์ คงอุดม เข้ามาเป็นเจ้าของกิจการ เขาจึงทำงานข่าวที่นี่ยาวนานเกือบหนึ่งทศวรรษ เป็นชีวิตช่วงสุดท้ายของอาชีพนักข่าวมีสังกัด จนกระทั่งยื่นใบลาออกในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2547 เพราะแรงเสียดทานทางการเมือง