ช่วงปลายปีของทุกปี ดอกเบญจมาศ หนึ่งในดอกไม้ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด จะเข้าสู่ช่วงที่ราคาดีที่สุด และตลาดวโรรสหรือ ‘กาดหลวง’ พื้นที่ค้าขายใจกลางเมืองเชียงใหม่ก็จะเต็มไปด้วยแผงขายดอกไม้สำหรับการนำไปประดับตามงานพิธีต่างๆ
ทว่าน้อยคนที่จะรับรู้ถึงความเป็นไปเบื้องหลังความงดงามของมวลดอกไม้นั้นแฝงด้วยความยากลำบาก และสภาพการทำงานอันตกต่ำของแรงงานข้ามชาติในพื้นที่แปลงดอกไม้ โดยบทความฉบับนี้ จะฉายภาพให้เห็นถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว ซึ่งอาจเป็นด้านที่ถูกโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมปิดซ่อนเอาไว้มาตลอด
เนื้อหาที่นำเสนอจะเกี่ยวข้องกับพื้นที่แปลงดอกเบญจมาศบนดอยอินทนนท์ ในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งผู้เขียนได้มีโอกาสร่วมทำงานกับคณะทำงานจากมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา เพื่อศึกษาวิจัยทางกฎหมายต่อประเด็นสถานการณ์แรงงานบังคับในพื้นที่ดังกล่าว
แรงงานเป็นใคร ?
พื้นที่ภาคเหนือ แรงงานที่ทำงานในภาคเกษตรส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานข้ามชาติชาวไทใหญ่ ซึ่งเดินทางเคลื่อนย้ายถิ่นฐานมาจากรัฐฉานด้วยภูมิประเทศที่มีอาณาเขตติดต่อกัน และมักจะประกอบอาชีพเป็นเกษตรกรอยู่แล้ว โดยสาเหตุที่บีบให้แรงงานต้องเดินทางออกจากบ้านเกิด เข้ามาในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย ได้แก่ ปัญหาด้านเศรษฐกิจครัวเรือน การทำมาหากิน และปัญหาปากท้อง ประกอบกับปัญหาทางการเมือง การถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่ทหาร ความปลอดภัยและสวัสดิภาพของตนและครอบครัวจากสถานการณ์สงครามกลางเมืองในประเทศ
ขณะเดียวกัน หลังจากที่แรงงานเคลื่อนย้ายเข้ามา วิทยาการทางอำนาจของรัฐไทยที่ก้าวหน้าแผ่ขยายปกคลุมทุกพื้นที่ ประกอบการจัดวางให้เรื่องการบริหารแรงงานข้ามชาติเป็นเรื่องเกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงของชาติ ได้ส่งผลให้แรงงานกลุ่มหลังนี้ต้องตกอยู่ภายใต้การกำกับโดยอำนาจรัฐอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่าง ยิ่งการถูกกำกับด้วยเอกสารในการพิสูจน์ตัวบุคคล และเมื่อชีวิตหรือการทำงานของแรงงานถูกทำให้เป็นสิ่งที่อาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคง ย่อมส่งผลให้พวกเขาต้องตกอยู่ใน “สภาวะยกเว้น” การคุ้มครองสิทธิพลเมืองบางประการ เพื่อให้รัฐสามารถเข้าใช้อำนาจบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนอาจต้องเสี่ยงที่จะถูกละเมิดสิทธิตลอดเวลา ทั้งจากนายจ้างและเจ้าหน้าที่รัฐ
กล่าวอีกนัยหนึ่ง ระบบการบริหารจัดการประชากรของรัฐไทยที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ได้สร้างสภาวะความเปราะบางให้กับแรงงานข้ามชาติถึงขีดสุด ผลักไสให้แรงงานข้ามชาติกลายเป็นผู้มีสถานะอยู่เบื้องล่างสุดในโครงสร้างระบบความสัมพันธ์ทางสังคม พร้อมกับถูกบดบังด้วยนโยบายความมั่นคงที่มองแรงงานเป็นภัยคุกคาม และระบบทุนนิยมที่กำหนดให้แรงงานเป็นเพียงปัจจัยการผลิตอย่างหนึ่งเท่านั้น จนเปิดโอกาสให้แรงงานสามารถตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงหรือการกระทำละเมิดสิทธิมนุษยชนได้อยู่เสมอ
สภาพการทำงานอันตกต่ำ และการถูกบังคับใช้แรงงาน
แรงงานในงานภาคเกษตรจะไม่ได้อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายคุ้มครองแรงงานเฉกเช่นแรงงานทั่วไป แต่อยู่ในบังคับของกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานเกษตรกรรม ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญให้แรงงานในภาคเกษตรส่วนใหญ่ไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิแรงงานตามมาตรฐานขั้นต่ำอย่างที่ควรจะเป็น หลายปัจจัยยังชี้ให้เห็นว่า ภาคเกษตรกรรมของไทยไม่ได้ปลอดจากแรงงานบังคับแต่อย่างใด แรงงานหลายคนต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่มีปัจจัยหลายอย่างที่เชื่อมโยงกับความไม่สมัครใจและการบีบบังคับ โดยลักษณะของสภาพการทำงานอันตกต่ำนั้นประกอบด้วย
หนึ่ง ค่าตอบแทนที่น้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำตามกฎหมาย เนื่องจากพบว่า ระบบการจ้างงานในแปลงดอกไม้ไม่ได้มีระบบเหมือนกับการทำงานรายวันหรือรายเดือนโดยทั่วไป แต่จะเข้าข่ายเป็นการทำงานแบบรับเหมาภายใต้การสั่งการให้ดูแลแปลงดอกไม้ ซึ่งนำไปสู่ระบบการจ่ายค่าตอบแทนที่ไม่เป็นธรรม
แรงงานหลายคนต้องทำงานโดยได้ค่าจ้างรอบละ 4–5 เดือน โดยส่วนแบ่งค่าตอบแทนจะคิดเป็นมัด (1 มัด = 10 ดอก) มัดละ 10 บาท ซึ่งอาจลดลงไปอีกหากเจ้าของแปลงเห็นว่าดอกไม้ไม่ได้มาตรฐาน ทำให้แรงงานจะได้เงินค่าตอบแทนเพียง 30,000-50,000 บาทต่อรอบเท่านั้น สถานการณ์นี้บีบบังคับให้แรงงานต้องตัดสินใจกู้หนี้ยืมสินหรือเบิกเงินล่วงหน้าหรือยอมทำผิดกฎหมายโดยไปรับจ้างรายวันที่อื่น สำหรับการจับจ่ายเพื่อการดำรงชีพของครอบครัวและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่จำเป็น
จากการสำรวจพบว่า ได้ปรากฏพฤติการณ์ที่เหมือนกับนายจ้างบังคับแรงงานให้ต้องทำงานหรืออยู่ในที่ดินต่อไป เนื่องจากว่าหากไม่อยู่หรือย้ายออกไปจะไม่ได้รับค่าตอบแทนที่เหลือ และจะได้เพียงเท่าที่เบิกไปก่อนล่วงหน้าเท่านั้น
สอง ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน กล่าวคือ ตามหลักการทั่วไป แรงงานจะต้องมีชั่วโมงการทำงานปกติที่จะบ่งชี้ว่า นายจ้างสามารถใช้อำนาจบังคับบัญชาสั่งลูกจ้างให้กระทำต่างๆ เกี่ยวกับหน้าที่การงานได้ในช่วงเวลาใดได้บ้าง
แต่สำหรับแรงงานภาคเกษตรที่นอกจากจะถูกยกเว้นการคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานแล้ว ยังถูกว่าจ้างเหมาทำงาน โดยกำหนดให้ค่าตอบแทนว่าจะได้หรือไม่ ขึ้นอยู่ผลสำเร็จและความพึงพอใจของนายจ้างเจ้าของที่ดิน การทำงานของแรงงานจึงไม่สามารถกำหนดให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
จากสอบถามแรงงานบางคน อาจต้องเริ่มทำงานตั้งแต่เช้ามืดจนถึงกลางคืน ต้องทำงานมากกว่า 10 ชั่วโมง พร้อมกับเวลาพักผ่อนอันน้อยนิด ในบางครั้ง แรงงานบางคนมีเวลาพักผ่อนตอนกลางคืนเพียง 3 ถึง 4 ชั่วโมงเท่านั้น
แม้แรงงานบางรายจะเรียกตนเองว่าเป็น ‘แรงงานรับเหมาดูแลดอกไม้’ แต่หากพิจารณาจากข้อเท็จจริง แรงงานอาจต้องตกอยู่ในนิติสัมพันธ์บางอย่างที่ไม่ใช่ทั้งสัญญาจ้างแรงงานและสัญญาจ้างทำของ เพราะการทำงานรับเหมาของแรงงาน ยังต้องถูกอำนาจบังคับบัญชาสั่งการเป็นระยะ มีการมาตรวจสอบการทำงานและความรับผิดชอบของแรงงานอยู่บ่อยครั้ง เสมือนกับสัญญาจ้างแรงงาน แต่ค่าตอบแทนกลับขึ้นอยู่กับผลสำเร็จของงานในลักษณะของสัญญาจ้างทำของ ทำให้สุดท้ายแล้ว แรงงานไม่ได้มีเวลาทำงานปกติที่ชัดเจนแน่นอน
สาม แรงงานต้องทำงานในสภาพการทำงานและสภาพการดำรงชีพที่เลวร้าย มีลักษณะไม่พึงประสงค์และอาจต้องทำงานในสภาพที่มีลักษณะเสื่อมเสีย ไม่ถูกสุขอนามัย หรือมีความเสี่ยง แรงงานแปลงดอกไม้คือแรงงานที่ต้องทำงานและอยู่อาศัยโดยมีแปลงดอกไม้รายล้อม รวมถึงลักษณะบ้านพักอาศัยที่มุงด้วยสังกะสี และมีโครงสร้างแบบ ‘ตามมีตามเกิด’ ไม่ได้คำนึงถึงสุขอนามัยใดๆ ทั้งสิ้น
แรงงานต้องอดทนอยู่ให้ได้ ประกอบมีความเสี่ยงอันตรายต่อปัญหาฝนฟ้าอากาศ โดยเฉพาะช่วงฤดูฝน และฤดูหนาว ที่แรงงานก็ต้องจุดเตา ก่อไฟ สร้างความอบอุ่นภายในบ้าน ที่เสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัยและปัญหาเรื่องระบบทางเดินหายใจของแรงงานและครอบครัว
สิ่งที่พิจารณาต่อมา หากปัญหาการสภาพการทำงานที่ตกต่ำดำเนินไปอย่างเรื้อรัง ย่อมก่อเกิดสถานการณ์อย่างหนึ่งที่ไม่อาจยอมรับได้อย่าง ‘การบังคับใช้แรงงาน’
เนื่องจากเป็นการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลและประชากรกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอย่างร้ายแรง เพราะแรงงานบังคับคือแรงงานผู้ไม่ได้สมัครใจหรือยินยอมที่จะทำงานให้แก่นายจ้าง แต่การกระทำนั้นเกิดขึ้นจากการที่ผู้ใดบังคับข่มขืนใจด้วยวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใด โดยการทำให้แรงงานผู้นั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้หรืออยู่ในภาวะต้องจำยอมทำงานให้ หรือจะเห็นได้ว่า การที่ทำให้แรงงานอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้นั้น แม้ตัวแรงงานเองจะทำงานให้แก่นายจ้างก็ตาม แต่หากไม่ได้เกิดจากความสมัครใจแต่เป็นการทำงานที่อยู่ในภาวะต้องจำยอม ถือว่าเป็นการบังคับใช้แรงงาน
และจากลักษณะสภาพการทำงานทั้งสามข้อข้างต้น สามารถถือได้ว่าเป็นข้อมูลหรือพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักมากขึ้นในการบ่งชี้ว่าการบังคับใช้แรงงานเกิดขึ้นจริง ประกอบกับตัวชี้วัดเหล่านี้สามารถใช้เป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์สำหรับใช้เทียบเคียงการประเมินต่างๆ ที่จะมีขึ้นในอนาคตเกี่ยวกับสภาพการทำงานของแรงงาน
การที่แรงงานถูกเอาเปรียบเนื่องมาจากเป็นแรงงานข้ามชาติ ไม่รู้ภาษาไทย ไม่มีความรู้เกี่ยวกับกฎระเบียบ ภาวการณ์บังคับแรงงานมีโอกาสเพิ่มมากขึ้นในกรณีที่แรงงานต้องพึ่งพิงนายจ้างในการดำรงชีวิต เช่น ที่พัก อาหาร หรืองานสำหรับญาติพี่น้องของแรงงาน ซึ่งแรงงานให้ยอมรับว่า ความไม่รู้และอัตลักษณ์ของการเป็นแรงงานข้ามชาติ เป็น ‘คนอื่น’ ในสังคมไทย มีโอกาสสูงที่ตนถูกเอาเปรียบ การไม่รู้ภาษา ประกอบกับความแปลกแยกทางวัฒนธรรมที่ตนมีสถานะด้อยกว่านายจ้างผู้มีสถานะเป็นพลเมืองตามกฎหมาย ที่ทำให้ไม่สามารถได้รับสิทธิประโยชน์หรือความเป็นธรรม แต่จะต้องอดทนอยู่กับสภาวะดังกล่าวให้ได้
ความปลอดภัยในการทำงานเป็นศูนย์
จากการสอบถามข้อมูลสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงานของแรงงานในแปลงดอกไม้ที่คณะผู้วิจัยได้ลงพื้นที่สำรวจ พบว่าแรงงานมีความกังวลในเรื่องโรคประจำตัวที่อาจเป็นผลลัพธ์มาจากการทำงานของตน หลายคนรู้ดีว่าผลเสียต่อสุขภาพไม่ปรากฏให้เห็นในเร็ววัน แต่ย่อมเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งคนอื่นๆ ที่มีโรคประจำตัว แพ้สารเคมีการเกษตร ก็ต้องยอมออกจากพื้นที่เพื่อไปประกอบอาชีพอย่างอื่นแทน
ในเรื่องหลักประกันสุขภาพและการรักษาพยาบาลของแรงงาน พบว่าส่วนใหญ่จะซื้อบัตรประกันสุขภาพ 30 บาท ในโรงพยาบาลใกล้เคียง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล เพื่อประหยัดเวลา แรงงานส่วนมากจะรักษาพยาบาลเมื่อต้องเจ็บป่วย โดยเลือกไปคลินิกหรือซื้อยามารับประทานเอง
จากการสอบถามเพิ่มเติม โดยเกี่ยวโยงกับสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 แรงงานส่วนใหญ่ได้รับวัคซีน 2 เข็ม โดยเป็นสูตรไขว้ คือ ยี่ห้อไฟเซอร์กับแอสตร้าเซเนก้า ซึ่งมีการจัดหาเจ้าหน้าที่เข้ามาฉีดวัคซีนถึงพื้นที่อาศัย
ส่วนประเด็นที่ว่าแรงงานมีอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยในการทำงานหรือไม่ แรงงานเล่าว่า ไม่ได้มีอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยในการทำงานอย่างเป็นกิจจะลักษณะ เช่น การใช้หน้ากากอนามัยที่ไม่กันสารเคมีการเกษตร ไม่ใส่แว่นตา เพราะอาจบดบังทัศนวิสัย ไม่มีถุงมือที่ปลอดภัยต่อสารเคมี ชุดทำงานที่เป็นชุดลำลองแขนยาว หรือเสื้อกันหนาว ขณะเดียวกัน นายจ้างหรือเจ้าของแปลงดอกไม้ ก็ไม่ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานอย่างที่ควรจะเป็นแต่อย่างใด
อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากการทำงาน จะเป็นเรื่องไฟรั่วมากกว่าเรื่องอื่นๆ การถูกไฟดูดถือเป็นเรื่องปกติของแรงงานที่ต้องทำงานโดยมีไฟฟ้าและน้ำเป็นองค์ประกอบตลอดเวลา ซึ่งแรงงานไม่เห็นว่าอันตรายมากเท่าไหร่
พัฒนากลไกการร้องทุกข์จากสายตาของแรงงาน
แม้จะตระหนักดีถึงความไม่เป็นธรรม ความยากลำบากในการทำงาน และการถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง แต่ก็พบว่าแรงงานทั้งหมดล้วนตัดสินใจที่จะไม่เลือกใช้กลไกทางกฎหมายหรือสถาบันทางกฎหมาย เพื่อปกป้องคุ้มครองตนเองจากกรณีถูกละเมิดสิทธิด้านต่างๆ
แรงงานส่วนหนึ่งให้เหตุผลว่า การใช้กลไกทางกฎหมายหรือร้องเรียนต่อหน่วยงานรัฐไม่คู่ควรเหมาะสมกับกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำมาหากินในประเทศไทย เป็นเพียงคนอื่น ไม่ใช่คนไทย บวกกับความไม่รู้เรื่องกฎหมาย การไปร้องเรียนติดต่อหน่วยงาน อาจเสี่ยงที่จะถูกจับเพราะไม่รู้ว่าตนกระทำถูกหรือผิดกฎหมายหรือไม่
เช่นเดียวกันกับความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจหน่วยงานรัฐไทย ที่อาจเห็นประโยชน์ของคนไทยสำคัญกว่าประชากรข้ามชาติ ทำให้คนที่ประสบปัญหาความไม่เป็นธรรมส่วนใหญ่รู้สึกกลัว ไม่กล้าไปติดต่อหน่วยงานราชการไทย เป็นสำนึกที่มีต่อกฎหมายซึ่งอยู่ภายใต้อิทธิพลของความแปลกแยกทางวัฒนธรรมสูง รวมทั้งเรื่องการที่แรงงานประเมินถึงความเป็นไปได้แล้วว่า ตนมีโอกาสที่จะไม่ชนะคดีมีสูงกว่า
การรักษาความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างตนกับนายจ้างเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่แรงงานตัดสินไม่ใช้กฎหมาย เพราะการร้องเรียน ร้องทุกข์ ต่อหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบ อาจสร้างความขัดแย้งแก่แรงงานกับนายจ้าง จนทำให้แรงงานรู้สึกไม่ปลอดภัย และไม่เป็นผลดีต่อการใช้ชีวิตในประเทศไทยในระยะยาว ประกอบกับเรื่องบุญคุณ ที่แรงงานมักจะมองว่า การที่นายจ้างรับตนเข้าทำงานเป็นเรื่องบุญคุณของนายจ้าง หรือ ‘พ่อเลี้ยงแม่เลี้ยง’ ที่มีต่อตนและครอบครัว การร้องเรียนตั้งเรื่องดำเนินคดีกับนายจ้าง ก็ไม่ต่างจากการเนรคุณต่อผู้มีพระคุณ
ด้วยเหตุเหล่านั้น การแก้ไขปัญหาของแรงงานโดยการบังคับใช้กฎหมายตามสิทธิที่ตนพึงมีจึงไม่ปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรม ท้ายที่สุดแรงงานส่วนใหญ่จะมองว่า การถูกเอารัดเอาเปรียบในการทำงาน เป็นเรื่องเคราะห์กรรมหรือเวรกรรมมากกว่า และไม่สามารถทำอะไรได้นอกจาก ‘ทำใจ’
ด้วยคำสำคัญตรงนี้ย่อมส่งผลให้แรงงานที่ประสบปัญหาความไม่เป็นธรรม และตกเป็นเหยื่อของการบังคับใช้แรงงานยังคงติดอยู่ในภาวะความเป็นธรรม ซึ่งไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของรัฐได้
การพัฒนาแก้ไขปัญหานี้ ย่อมหนีไม่พ้นการจัดการกลไกการร้องทุกข์ โดยที่ผู้มีอำนาจและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหลายจำเป็นต้องเข้าใจหรือนำพาตนเองไปอยู่ในจุดที่แรงงานข้ามชาติอยู่ ต้องลดความเป็นชาตินิยมที่กีดกันกลุ่มประชากรข้ามชาติที่ถูกตราหน้าด้วยความเป็นอื่นมาตลอดลง ยอมรับความแตกต่างหลากหลายให้มากขึ้น
เพราะระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยในระดับรากฐานยังต้องพึ่งพาแรงงานข้ามชาติ ให้เข้ามาเป็นแรงงานทดแทนในงานที่คนไทยไม่ทำ เป็นหน้าที่ของรัฐไทยควรต้องทำให้กลไกระบบกฎหมายสร้างความเป็นธรรมแก่คนกลุ่มนี้ให้ได้
เอกสารอ้างอิง
Musikawong, S., et al., “Working and employment conditions in the agriculture sector in Thailand: A survey of migrants working on Thai sugarcane, rubber, oil palm and maize farms,” (Geneva: International Labour Organization, 2021).
ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี, “อัตลักษณ์เอกสาร: วงศาวิทยาการควบคุมประชากรของรัฐไทย”, (เชียงใหม่: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2561)
สมชาย ปรีชาศิลปกุล, พรมแดนความรู้ของการศึกษากฎหมายแนวนิติสํานึกในสังคมไทย, นิติสังคมศาสตร์, 8(1), 24 – 41.
สิริรัฐ สุกันธา, การเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามชาติสัญชาติพม่า ในเขตภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย, Journal of Economics, 18(1), 2014, 43 – 63.
อานันท์ กาญจนพันธุ์ และชัยพงษ์ สำเนียง. “แรงงานข้ามชาติ: อัตลักษณ์และสิทธิความเป็นพลเมือง”, (เขียงใหม่: แผนงานสร้างเสริมนโยบายสาธารณะที่ดี (นสธ.) สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (PPSI), 2557).
Tags: ค่าแรงขั้นต่ำ, สิทธิมนุษยชน, แรงงานข้ามชาติ, เกษตรกร, RuleofLaw, ChiangMaiDecentralized, เชียงใหม่