ความทรงจำเป็นรากฐานของตัวตน ทั้งที่เป็นตัวตนปัจเจกบุคคลและกลุ่มสังคม ทว่าความสามารถในการจำของมนุษย์นั้นจำกัด การบันทึกความทรงจำของสังคมหรือประวัติศาสตร์จึงมีความสำคัญ เพราะประวัติศาสตร์จะส่งผลต่อความทรงจำของมนุษย์ กลายเป็นรากฐานแห่งตัวตนของสังคมไปพร้อมกันด้วย

เมื่อกองทัพไทยยังคงบันทึกอดีตแห่งตนอย่างภาคภูมิว่ามีนายพลกี่นายที่กลายเป็นนายกรัฐมนตรีแห่งประเทศไทย (ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการรัฐประหาร) ก็สะท้อนบางส่วนของตัวตนและแฟนตาซีทางการเมืองรัฐประหารของกองทัพไทยไปด้วย

ประวัติศาสตร์จึงเป็นสิ่งบ่งชี้อัตลักษณ์และพฤติการณ์ของสังคม ชาติ รวมถึงองค์กรหนึ่งๆ ในปัจจุบัน และอนาคต

ความบันเทิงของอดีตแห่งวงการกฎหมาย คือนักกฎหมายมีความทรงจำต่ออดีตหลายฉบับที่เป็นอิสระจากกันมากมาย กล่าวคือบ้างก็จำเอาว่าเราทำงานภายใต้พระปรมาภิไธยฯ บ้างก็จำเอาว่าตนรับใช้รัฐธรรมนูญ บ้างก็จำเอาว่าความยุติธรรมตามธรรมชาติ บ้างก็จำได้แค่ว่าเอ็งกินเหล้าเมายาไม่ว่าดอก… 

เมื่อนักกฎหมายมีความทรงจำต่ออดีตของวิชาชีพตนอย่างปลีกย่อยและแตกกระจาย การมีหลายบุคลิกของนักกฎหมายก็ดี การมีอภินิหารทางกฎหมายก็ดี กลับกลายเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ในกลุ่มสังคมที่ไม่มีประวัติศาสตร์ เพราะการทรยศตัวตนนั้นง่ายกว่ากันมากสำหรับคนและสังคมที่ไม่รู้จักจดจำ

การรื้อฟื้นเล่าเรื่องของเหตุการณ์ในอดีตมักเกิดขึ้นเมื่อบุคคลหรือสังคมกำลังเผชิญหน้ากับความไม่มั่นคงทางใจบางอย่าง เช่น การเขียนประวัติศาสตร์โดยชนชั้นนำสยามในช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 24 เนื่องจากชนชั้นนำต้องเผชิญหน้ากับวิกฤติตัวตนจนต้องเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของตนหลายด้าน อันเนื่องมาจากสภาวะอาณานิคมในสมัยนั้น หรือการเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในปัจจุบัน ส่งผลให้การเขียนประวัติศาสตร์ธรรมชาติ หรือการใช้วัตถุธรรมตามธรรมชาติเป็นประธานของเรื่องเล่าจึงเกิดให้เห็นขึ้นอยู่บ่อยๆ ในตอนนี้  

การเขียนประวัติศาสตร์จึงปะทะสังสรรค์กับความไม่มั่นคงของบุคคลหรือสังคมในปัจจุบันด้วย เพราะในสภาวะที่ไม่มั่นคง การจัดการกับความทรงจำต่ออดีต จะเป็นสิ่งที่ชวนให้บุคคลหรือสังคมกลับมามั่นคงได้อีกครั้ง ความทรงจำเป็นสิ่งที่มอบข้อควรระวัง มอบแรงบันดาลใจ ให้ความหวัง ก่อรูปบุคลิกภาพใหม่ที่จำเป็นสำหรับปัจจุบัน และส่องประกายแก่วิสัยทัศน์ต่ออนาคต ฯลฯ เช่น สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพอธิบายอดีตของสยาม เสนอแบบแผนของความเป็นไทยว่าไทยมีเก่งในการผสานประโยชน์ อันเป็นวิสัยทัศน์ที่ทรงอิทธิพลมาจนถึงปัจจุบัน หรือการหวนรำลึกถึงพระคุณและความรักของบิดามารดาในอดีต เมื่อตอนอกหักช้ำใจในปัจจุบัน เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการเลิกฟูมฟาย

หากทบทวนประวัติศาสตร์ของการเขียนประวัติศาสตร์กฎหมายไทย สิ่งที่พึงสังเกตคืออดีตของกฎหมายถูกเขียน ทบทวน รื้อฟื้น หรือกระทั่งพยายามลืม ในสี่ช่วงเวลาด้วยกัน ได้แก่

1.การลืมอดีตของระบบกฎหมายจารีตในสมัยการปฏิรูปกฎหมายและการศาลกลางพุทธศตวรรษที่ 24 เพราะระบบเดิมที่พ่ายแพ้ต่อสภาวะอาณานิคม กล่าวคือการสูญเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต

2.การทบทวนเพื่ออธิบายสภาวะใหม่ของระบบกฎหมาย ช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 24 ถึง ต้นพุทธศตวรรษที่ 25 เช่น โรเบิร์ต แลงกาต์ พระยานิติศาสตร์ไพศาลย์ หยุด แสงอุทัย หรือ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช

3.การรื้อฟื้นความทรงจำเกี่ยวกับระบบศาล อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนโครงสร้างสถาบันตุลาการในช่วงทศวรรษ 2540

4.วิกฤตศรัทธาต่อระบบยุติธรรมในปัจจุบัน ต้นทศวรรษ 2550 จนถึงปัจจุบัน ตั้งแต่ขบวนการตุลาการภิวัฒน์เป็นต้นมา สถาบันตุลาการถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง การตีความกฎหมายที่เน้นไปทางจำกัดเสรีภาพของประชาชน การสร้างบ้านพักข้าราชการศาลยุติธรรมที่สักแต่อ้างอำนาจแห่งกฎหมาย แต่ “ขึด” และไม่เห็นค่าของจารีตประเพณีและความนิยมของคนในท้องถิ่น หรือการไม่ให้ประกันตัวครั้งแล้วครั้งเล่าในความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

เมื่อสาธารณชนเชื่อมั่นต่อระบบยุติธรรมน้อยลง ประชาชนย่อมทบทวนความทรงจำและประวัติศาสตร์แห่งตนที่เชื่อมโยงประวัติศาสตร์ของระบบกฎหมาย เพื่อตอบคำถามที่อึดอัดมากมายอยู่ภายในใจ ทำนองว่า ทำไมระบบยุติธรรมจึงไม่เข้าใจประชาชน ทำไมองค์ประกอบความผิดของความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพถึงไปรวมถึงบรรพกษัตริย์ในอดีตที่ทรงสวรรคตไปนานแล้ว ทำไมกฎหมายที่ห้ามการสมรสของคนเพศเดียวกันจึงชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ทำไมศาลถึงเกรงใจและสยบยอมต่อคณะรัฐประหารนัก ทั้งที่ศาลยังเป็นวีรบุรุษของนักเรียนกฎหมาย และควรเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน ไม่ใช่ขันทีของทหาร

ตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2500 เป็นต้นมา นักวิชาการหลายสาขาวิชาจึงเริ่มเกิดการรื้อฟื้นประวัติศาสตร์ไทยที่เกี่ยวเนื่องกับระบบกฎหมายมากมาย เช่น งานของปิยบุตร แสนกนกกุล, ทามารา รูส, บียอน เดรสเซล, นิธิ เอียวศรีวงศ์, เดวิด เอ็ม. เองเกิล, ไทเรล ฮาเบอร์คอน, สมชาย ปรีชาศิลปกุล, ยูจีน มาริโอ, สายชล สัตยานุรักษ์, ผาสุก พงษ์ไพจิตร, คริส เบเคอร์, แอนดรู ฮาร์ดิ่ง, มุนินทร์ พงศาปาน และธงชัย วินิจจะกูล ฯลฯ

ยังไม่รวมถึงผลงานของนักวิชาการรุ่นใหม่อีกจำนวนมาก ที่อยู่ในกระแสความสงสัยใคร่รู้อดีตของวงการและระบบกฎหมาย เพราะความไม่เชื่อมั่นและระแวงสงสัยต่อระบบยุติธรรมในปัจจุบัน

ไม่มีช่วงเวลาใดในวงวิชาการกฎหมายที่อดีตและประวัติศาสตร์ของกฎหมายได้รับความสนใจจากนักวิชาการหลากหลายสาขามากเท่านี้อีกแล้ว ปรากฏการณ์นิติประวัติศาสตร์นิพนธ์ครั้งใหญ่นี้มิใช่เรื่องบังเอิญ หากแต่เป็นผลพวงของความอลหม่านของระบบกฎหมาย ที่ศาลเป็นผู้กวนน้ำให้ขุ่นขึ้นมาเอง หรือปล่อยให้สถาบันการเมืองอื่นเล่นตลกกับระบบกฎหมายอย่างต่อเนื่องนับทศวรรษภายใต้ฝุ่นตลบในระบบกฎหมายดังกล่าว ไม่น่าแปลกใจเลยที่สาธารณชนจะแสวงหาตัวตนใหม่ของระบบกฎหมาย เพื่อใช้เป็นที่พึ่งและยึดเหนี่ยวทางใจและสิทธิในปัจจุบัน เพื่อใช้เป็นรากฐานที่มั่นคงสำหรับและถักทอวิสัยทัศน์ต่ออนาคต

ประวัติศาสตร์มีหน้าที่ต่อสังคมฉันใด ประวัติศาสตร์กฎหมายก็มีความสำคัญต่อระบบกฎหมายฉันนั้น ทั้งนี้ ความสำคัญดังกล่าว เช่น บทบาทในการประกอบสร้างอัตลักษณ์ของวิชาชีพ สะท้อนย้อนคิด วิพากษ์ทบทวนตนเอง สร้างแรงบันดาลใจ และรวมถึงเป็นขุมพลังแห่งความมั่นคงขององค์กรฯ ซึ่งสถาบันทางกฎหมายจำเป็นต้องมีความมั่นคงดังกล่าว เพราะสถาบันทางกฎหมายต้องใช้อำนาจนั้นในการงัดข้อและปรามการกระทำทางการเมืองของสถาบันการเมืองอื่นๆ ที่ขัดหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อคติและหลักการแห่งกฎหมาย

สังคมจดจำอดีตแบบใด ย่อมมีปัจจุบันเช่นนั้น และมีอนาคตที่สอดคล้องตามกันไปด้วย

ที่ผ่านมานักกฎหมายไทยไม่สนใจอดีตของแวดวงตน เพราะเชื่อว่าไม่มีความจำเป็นต้องการประกอบวิชาชีพ นักประวัติศาสตร์ไม่สนใจประเด็นในแวดวงกฎหมายมากนัก เพราะบรรยากาศในวงการกฎหมายที่กังขาคนนอกวงการ ด้วยเหตุนี้ อดีตของวงการกฎหมายในช่วงห้าทศวรรษที่ผ่านมาจึงถูกครอบงำด้วยคตินิติศาสตร์แบบกษัตริย์นิยมมาโดยตลอด อดีตของวงการกฎหมายล้วนแต่มีชนชั้นเจ้านายระดับสูงเป็นศูนย์กลางทั้งสิ้น เช่น บิดาแห่งกฎหมาย บิดาแห่งกฎหมายมหาชน ผู้ก่อตั้งเนติบัณฑิตยสภาฯ หรือผู้พระราชทานรัฐธรรมนูญ

การปล่อยอดีตไปตามยถากรรมเช่นนี้ นอกจากจะเสียโอกาสในการพัฒนาวงการกฎหมายให้เข้มแข็งในเชิงอุดมการณ์แล้ว ยังเป็นการปล่อยให้สถาบันทางกฎหมายถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของสถาบันการเมืองอื่นได้ง่ายอีกด้วย

ฝุ่นที่ตลบเหนือสถาบันทางกฎหมายในปัจจุบันนี้เป็นวิกฤติและโอกาสของสังคมไทย ในการทบทวนอดีตของกฎหมายและส่งมอบประวัติศาสตร์กฎหมายในมิติที่ให้ความสำคัญต่อความเสมอภาค เสรีภาพ หรือจะประสิทธิภาพด้วยก็ได้ ต่อไปในอนาคต

สังคมไทยปัจจุบันกำลังต้องการประวัติศาสตร์ของกฎหมายมากกว่าครั้งไหนๆ และเป็นภารกิจทางประวัติศาสตร์ของนักกฎหมายที่ต้องร่วมลงมือถักทออดีตที่มีอนาคตของวงการกฎหมายต่อไป

Tags: , , , , , , ,