คำเตือน บทความชิ้นนี้มีอคติของผู้เขียน เนื่องจากผู้เขียนมีส่วนเกี่ยวข้องกับการฟ้องคดีฝุ่น PM2.5 ภาคเหนือ คดีที่ ส.3/2566 (ผู้อ่านจึงโปรดใช้วิจารณญาณ)

ในวาระที่ใกล้จะล่วงเลยปี 2566 และเตรียมเข้าสู่ฤดูกาลฝุ่นควันในรอบปี 2567 เมื่อช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา แม้ว่าค่าฝุ่น PM2.5 จะไต่ระดับขึ้นไปแตะที่เลข 500 กว่าไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่ปัญหาฝุ่นของภาคเหนือยังคงถูกผลักให้แต่ละจังหวัดเป็นผู้มีอำนาจในการแก้ไขปัญหา ซึ่งมักจะเป็นการแก้ไขปัญหาแบบเฉพาะหน้าในทุกๆ ปี

ปัญหามลพิษฝุ่นพิษของภาคเหนือเป็นปัญหาที่ต่างออกไปจากฝุ่นพิษภาคกลาง เพราะมีปัญหาฝุ่นควันข้ามพรมแดน ควบคู่ไปกับปัญหาการจัดการพื้นที่การเผาวัสดุทางการเกษตร และนโยบายการห้ามเผา ซึ่งเป็นนโยบายที่ออกมาจากส่วนกลางที่ไม่เข้าใจบริบทของแต่ละพื้นที่ การจัดการกับปัญหาฝุ่นควันพิษภาคเหนือจึงไม่อาจแยกส่วนและผลักให้เป็นการแก้ไขเฉพาะหน้าของแต่ละรายจังหวัดได้  

ที่ผ่านมา ความพยายามในการแก้ไขปัญหาฝุ่นของรัฐส่วนกลาง ไม่อาจทำให้เกิดการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม และปัญหาฝุ่นก็กลายเป็นปัญหาที่ซ้ำซากบนความทุกข์ทนของคนภาคเหนือ ความอดทนของประชาชนภาคเหนือต่อการแก้ไขปัญหาของรัฐจึงหมดลง ส่งผลภาคเหนือมีคดีที่ฟ้องร้องให้หน่วยงานรัฐเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง 

บทความชิ้นนี้จึงจะพาท่านผู้อ่านไปสำรวจและตั้งคำถามกับเหตุผลที่หน่วยงานรัฐใช้ในการสู้คดี ส.1/2566 ซึ่งเป็นคดีฝุ่นเหนือคดีแรกที่ประชาชนเป็น ‘ผู้แพ้คดี’

 

ฝุ่นพิษที่ภาคเหนือ

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ในโลกออนไลน์ได้มีการเผยแพร่รูปหมอกควัน PM2.5 ในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ พร้อมแคปชันว่า “บรรยากาศเหมืองสวิตฯ คุณภาพชีวิตเหมือนเชอร์โนบิล”[1] เป็นสเตตัสที่เสียดสีคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ภาคกลาง ที่จะต้องเผชิญกับปัญหา PM2.5 ที่จะมาในช่วงพฤศจิกายน-ธันวาคม ในทุกๆ ปี และฝุ่นพิษนี้จะวนมาในภาคเหนือในช่วงเวลาที่ไล่เลี่ยกัน แต่จะสะสมอยู่ที่ภาคเหนือยาวนานกว่าเสมอ (มกราคม-เมษายน)

ความต่างของฝุ่นในพื้นที่ภาคกลางและภาคเหนือ หากมองในเมือง ผลกระทบที่จะเกิดต่อสุขภาพคงไม่ต่างกัน เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า PM2.5 เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคผิวหนัง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน โรคหลอดเลือดสมอง รวมถึงโรคมะเร็งปอด แต่หากเรามองหาที่มาของฝุ่น PM2.5 นั้นมีความต่าง และระดับของความเหลื่อมล้ำของเสียงที่สะท้อนปัญหาระหว่างคนต่างจังหวัด กับคนเมืองกรุง อาจจะเป็นคำกล่าวหาที่ดูมีอคติมากเกินไป แต่ไม่มีสิ่งใดเกินเลยในความรู้สึกของคนต่างจังหวัดคนหนึ่ง

ที่มาของฝุ่นเหนือมีอยู่ด้วยกัน 3 ปัจจัย หนึ่งคือ ด้วยลักษณะภูมิประเทศที่เป็นที่ราบแอ่งกระทะล้อมด้วยภูเขา ทำให้เป็นแหล่งเก็บฝุ่นชั้นดี สอง สภาพอากาศ ที่ไม่หมุนเวียนในช่วงฤดูร้อน อุณหภูมิของชั้นบรรยากาศด้านบนมีอุณหภูมิสูง ทำให้อากาศไม่หมุนเวียน และสาม ปัญหาจากการเผา ทั้งการเผาวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร ตอข้าว หรือข้าวโพด ไฟไหม้ป่า (ส่วนหนึ่งเกิดจากนโยบายห้ามเผา-ผู้เขียน) รวมไปถึงฝุ่นข้ามพรมแดนจากประเทศเพื่อนบ้าน[2] ด้วย 3 ปัจจัยนี้ จึงทำให้ภาคเหนือในช่วงหน้าร้อนกลายเป็น “เสมือนห้องรมควันฝุ่น PM2.5 ชั้นดี สำหรับโรคมะเร็งปอด”

พื้นเพผู้เขียนเป็นคนเหนือมาตั้งแต่เกิด เติบโต ร่ำเรียน ทำงานอยู่ใน 2 จังหวัด เชียงรายและเชียงใหม่มาอย่างต่อเนื่อง และครอบครัวของผู้เขียนก็อาศัยอยู่ทั้งสองจังหวัดนี้เช่นกัน ผู้เขียนจึงเป็นกลายเป็นหลักฐานที่มีชีวิตของผู้ที่ประสบกับฝุ่นพิษ PM2.5 มาร่วมกว่า 10 ปีที่ยังคงใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ 

เราต่างรู้กันดีว่า ในวันที่ท้องฟ้าเป็นสีส้มหม่น เพราะถูกปกคลุมด้วยฝุ่นพิษ PM2.5 สร้างความยากลำบากมากเพียงใดต่อการใช้ชีวิตของผู้คนข้างนอกห้องแอร์ และไม่มีเครื่องกรองฝุ่น และท่านขับรถเครื่อง (รถมอเตอร์ไซด์) อาการแรกที่ท่านจะเจอคือ อาการเคืองตา สำหรับคนที่เป็นภูมิแพ้อาการจะยิ่งรุนแรงมากขึ้น ยังไม่รวมถึงคนกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้ป่วย คนท้อง ผู้สูงอายุ เด็ก ที่ภูมิคุ้มกันต่ำอยู่แล้วแต่ยังคงต้องใช้ชีวิตในพื้นที่ข้างนอก พวกเรายังคงต้องออกไปทำงาน

ท่ามกลางค่าฝุ่นที่สูงเกินค่ามาตรฐานทั้งการที่ต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบนี้นานร่วม 4 เดือนในแต่ละปี เครื่องชี้วัดคุณภาพฝุ่นทางกายภาพที่ดูมีคุณภาพและใกล้ตัวกับคนเชียงใหม่มากที่สุด คือการมองไปที่ดอยสุเทพว่า วันนี้ยังเห็นดอยอยู่ไหม? หากวันไหนไม่เห็นก็จะเป็นที่รู้กันว่า ค่าฝุ่นน่าจะสูงแน่ๆ แต่สิ่งที่แย่กว่าการใช้ชีวิตท่ามกลางฝุ่นพิษ คือการที่ภาครัฐยังคงใช้วิธีการแก้ไขปัญหาแบบการบริหารราชการแผ่นดินแบบเดิมๆ ทั้งความเงียบงันจากหน่วยงานระดับจังหวัด และท้องถิ่นเพราะต้องรอคอยคำสั่งจากส่วนกลางอยู่เสมอ มันทำให้ผู้คนในพื้นที่ภาคเหนือหดหู่ใจที่ได้แต่เฝ้ารอว่าเมื่อไรฝุ่นพิษจะจางลงไป หรือเฝ้าภาวนาให้ฝนตกแต่ละวัน เพื่ออย่างน้อยก็จะได้มีอากาศดีๆ ได้หายใจ

แต่ที่เลวร้ายกว่าการแก้ไขปัญหาที่ล่าช้า คือทัศนคติของการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 จากรัฐที่ปรากฏผ่านคำพิพากษาคดีฝุ่น หมายเลขดำและแดง ส.1/2566 ซึ่งเป็นคดีแรกที่ศาลปกครองจังหวัดเชียงใหม่มีคำพิพากษายกฟ้อง และที่ผู้เขียนสนใจเหตุผลการอธิบายภัยฝุ่น PM2.5 ที่เกินค่ามาตรฐาน ที่ถูกอธิบายว่า

‘แม้เป็นสาธารณภัยที่ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดในภาคเหนือ และมีความเสี่ยงทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนจำนวนมาก แต่ไม่ถึงขนาดกระทบขวัญกำลังใจของประชาชนทั้งประเทศ และไม่มีความจำเป็นต้องขอรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศในการแก้ไขปัญหาหรือระงับภัยพิบัติดังกล่าว’[3]

 

เพราะฝุ่นเหนือ…ไม่กระทบต่อขวัญกำลังใจของคนทั้งประเทศ

ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ภาคเหนือ แม้เป็นภัยทางธรรมชาติที่ครอบคลุมพื้นที่ภาคเหนือและส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนจำนวนมาก แต่ยังคงถูกจัดระดับให้เป็นสาธารณภัยระดับที่ 2 เป็นกรณีที่จังหวัดสามารถดำเนินการได้เอง โดยจังหวัดจะรายงานขึ้นไปกระทรวงตามระดับการจัดการที่แผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติกำหนดไว้[4] ดังนั้น จึงเป็นเหตุผลสำคัญของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่ใช้ในการอธิบายเหตุที่ไม่ประกาศใช้อำนาจตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.​2550 เนื่องจากการจะประกาศให้เป็นภัยพิบัติระดับ 4 สาธารณภัยระดับร้ายแรงอย่างยิ่ง ผู้ถูกฟ้องคดีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่ผู้ถูกฟ้องคดีมอบหมาย ควบคุม สั่งการ และบัญชาการ (มาตรา 31) ซึ่งต้องคำนึงถึงเกณฑ์และเงื่อนไขในการประกาศยกระดับตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยระดับชาติ พ.ศ. 2564-2570 ที่กำหนดให้ผู้บัญชาการ หรือผู้อำนวยการใช้เกณฑ์หรือเงื่อนไขเรื่องพื้นที่ ประชากร ความซับซ้อน ศักยภาพทรัพยากร และการพิจารณาตัดสินใจของผู้บัญชาการ/ผู้อำนวยการ เป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจยกระดับ ทำให้สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ของภาคเหนือจึงถูกอธิบายว่าเป็นภัยที่สามารป้องกันได้ และยังไม่ถึงขั้นที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จะเป็นผู้สั่งการ ด้วยเหตุผลที่ว่า

‘โดยสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 เป็นภัยที่สามารถป้องกันและบรรเทาได้โดยไม่ต้องขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศ เช่น กรณีแผ่นดินไหวประเทศตุรกี หรือสึนามิ ส่วนที่ยังไม่กระทบขวัญกำลังใจของคนทั้งประเทศ เนื่องจากเหตุดังกล่าวกระทบต่อประชาชนส่วนหนึ่งและยังใช้ชีวิตต่อไปได้ อีกครั้งกรณีดังกล่าวเป็นดุลพินิจของผู้ถูกฟ้องคดีและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องที่เสนอขึ้นไปตามลำดับชั้น’[5]

แต่ด้วยความเคารพ ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นคนเหนือ ได้อ่านข้อความข้างต้น รู้สึกโกรธมาก เพราะความที่คนภาคเหนือทนกับค่าฝุ่นที่สูงมานานและเรื้อรังมาหลายปี ยังไม่นับกับความเครียดที่ต้องตื่นขึ้นมารู้ค่าฝุ่นที่สูงลิ่วเกินค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศในช่วงที่ฝุ่นรุนแรง แต่ภาครัฐยังคงล่าช้า และปล่อยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแก้ไขปัญหาเป็นรายพื้นที่ หรือการแจกหน้ากากกันฝุ่นที่ไม่เพียงพอและไม่มีประสิทธิภาพ ความรู้สึกจึงประดังประเดเมื่ออ่านข้อความดังกล่าวจบ จนต้องตั้งคำถามกลับว่า แล้วคนเหนือไม่ใช่ประชาชนคนไทยหรือ? ถึงถูกปล่อยให้ต้องเผชิญปัญหาซ้ำซากเช่นนี้

อีกทั้ง ผู้เขียนเห็นว่า การให้เหตุผลเช่นนี้มีปัญหาในตัวของมันเอง กล่าวคือ 

1. การให้เหตุผลในลักษณะเช่นนี้ เป็นคำอธิบายที่ค่อนข้างจะยกกรณีภัยพิบัติที่มีความรุนแรงในบริบทที่ต่างกัน และผิดฝาผิดตัวอย่างยิ่ง เพราะการนำที่เปิดรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศมาเป็นเงื่อนไขในการกำกับเหตุของระดับภัยพิบัตินั้น และเทียบกับความสูญเสียที่รุนแรงทันด่วนกับเหตุการณ์สึนามิที่เกิดต่อทั้งชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนในสภาวะที่รวดเร็วแต่รุนแรงส่งผลเสียหายอย่างมหาศาล จนต้องเปิดรับการช่วยเหลือจากต่างประเทศ ยิ่งตอกย้ำให้เห็นปัญหาฝุ่น PM2.5 ภาคเหนือเทียบไม่ได้เลยกับสถานการณ์เช่นนั้น ดังนั้น การยกระดับภัยพิบัติด้วยเหตุผลข้างต้น จึงทำให้สถานการณ์วิกฤตฝุ่นพิษภาคเหนือไม่สามารถยกระดับภัยพิบัติได้ ด้วยเงื่อนไขความต่างนี้ทำให้ปัญหาฝุ่นเหนือไม่เคยกลายเป็นวิกฤตในระดับภูมิภาคหรือประเทศเลย

2. ผลกระทบของฝุ่น PM2.5 ต่อสุขภาพและชีวิตของประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือ เป็นภัยที่ไม่ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงและส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินอย่างกรณีสึนามิแน่ แต่จากผลกระทบที่จะเกิดต่อสุขภาพของประชาชนที่ทนสูดดมฝุ่นพิษนี้มาตลอด 10 ปีและจะยาวนานต่อไปอีกนาน การสะสมของฝุ่นย่อมเพิ่มความเสี่ยงด้านสุขภาพให้แก่ประชาชนในพื้นที่เป็นแน่ ความเจ็บป่วยในระยะยาวทั้งต่อเด็ก ผู้หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย รวมถึงประชากรวัยแรงงานที่ดำรงชีวิตอยู่ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ กลับไม่ถูกตีค่าและให้ความหมายต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีในสายตาของรัฐ

และในปีที่ผ่านมาค่าความเข้มข้นของ PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง จากข้อมูลคุณภาพอากาศย้อนหลัง พ.ศ.2566 ของกรมควบคุมมลพิษ พบค่าสูงสุดต่อเนื่องที่วัดได้ คือ 473, 546 และ 519 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ณ ตำบลเวียงพาง อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ระหว่างวันที่ 26-28 มีนาคม 2566 ส่วนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ พบค่าความเข้มข้นของ PM2.5 สูงสุดที่ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 30 มีนาคม – 2 เมษายน 2566 วัดได้ 365, 342, 342 และ 326 ไมโครกรัมต่อลูกบาศ์เมตร[6] ค่าตัวเลขฝุ่น PM2.5 ที่สูงเช่นนี้ คงเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า คนภาคเหนือต้องตกเป็นผลผลิตชั้นดีของโรคมะเร็งปอดมากน้อยเพียงใด ยังไม่นับตัวเลขทางเศรษฐกิจที่แต่ละจังหวัดต้องสูญเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวไปในช่วงวิกฤตฝุ่น

3. การแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ไม่สามารถผลักให้เป็นหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานระดับจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งใด เพราะปัจจัยที่มาของฝุ่นเกิดจากปัญหาการเผาในที่โล่ง ไฟไหม้ป่า ปัญหาฝุ่นควันข้ามพรมแดน เมื่อผนวกรวมกับสภาพภูมิประเทศ สภาวะอากาศที่ความกดอากาศต่ำ และการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สภาวะเอลนีโญ่แล้ว ปัญหาฝุ่น PM2.5 จึงเป็นเรื่องใหญ่ในระดับภูมิภาคที่จำเป็นต้องอาศัยทรัพยากร กำลังพล งบประมาณ องค์ความรู้ในการแก้ไขปัญหาที่หลากหลายเปิดรับการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนและภาควิชาการเป็นอย่างมาก การบังคับใช้กฎหมายและนโยบายอย่างเข้มข้น รวมไปถึงการเจรจาขอความร่วมมือจากประเทศเพื่อนบ้าน เพราะปัญหาฝุ่น PM2.5 เป็นปัญหาที่ใหญ่และมีความซับซ้อนเชื่อมโยงหลายปัจจัย ทำให้สิ่งเหล่านี้จึงเกินกำลังของหน่วยงานในระดับจังหวัดอย่างมาก

จึงจำเป็นที่จะต้องมีการกำหนดทิศทางในการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษภาคเหนือในระดับชาติ บนแผนปฏิบัติการที่มีความเป็นหนึ่งเดียว ปฏิบัติการได้จริงและมีประสิทธิภาพ พร้อมการแผนรับมือในสถานการณ์ฉุกเฉินที่ค่าฝุ่นอยู่ในระดับที่อันตรายและส่งผลกระทบต่อสุขภาพและอนามัยของประชาชน รวมไปถึงมาตราการเยียวยาที่สามารถทำให้ผู้คนสามารถเข้าถึงอากาศที่อยู่ในระดับปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นการได้รับหน้ากากอนามัยป้องกันฝุ่นที่มีประสิทธิภาพที่เพียงพอ การเข้าถึงเครื่องฟอกอากาศ และการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพและเพียงพอ มาตรการเหล่านี้เป็นสิ่งที่ประชาชนคนไทยควรจะได้รับเพื่อให้ผู้คนสามารถดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่ดีได้ 

4. การไม่รับรองสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดีในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.​2560 การที่กฎหมายสูงสุดของประเทศไม่ได้รับรองสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี แม้จะไม่ได้ส่งผลต่อที่ประชาชนฟ้องร้องหน่วยงานของรัฐให้ทำหน้าที่แก้ไขปัญหามลพิษในสิ่งแวดล้อม แต่การไม่รับรองสิทธิดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในสิทธิที่ควรจะถูกรับรองตามกฎหมายและยังสะท้อนว่า รัฐไม่มีความจริงใจที่จะพัฒนาให้คุณภาพชีวิตของประชาชนทั้งคนรุ่นปัจจุบัน และคนในรุ่นถัดไปสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่สะอาด ดีต่อสุขภาพ และยั่งยืน ตามที่รัฐไทย ดังนั้น การรับรองสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดีตามรัฐธรรมนูญจึงเป็นสิ่งสำคัญและเป็นหน้าที่ของรัฐโดยตรง

ท้ายนี้ ณ ปัจจุบัน ในเดือนธันวาคมสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ยังคงคุกรุ่นในพื้นที่ภาคกลาง และในจังหวัดเชียงใหม่ ดอยสุเทพเริ่มหายอยู่หลังม่านฝุ่นพิษ สัญญานที่ไม่ดีกำลังกลับมาอีกครั้ง หากภาครัฐยังคงไม่จริงจังกับการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในระยะเวลาอันใกล้ เราคงต้องสังเวยสุขภาพและชีวิตของประชาชนไปอีกนับหลายพันคน จนกว่าจะได้อากาศที่สะอาด และความเป็นอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีคืนมา

 

อ้างอิง

[1] ข้อมูลจากเพจ Thailand Can เครือข่ายอากาศสะอาด

[2] BBC News ไทย, ฝุ่นควันภาคเหนือ: ดินแดนที่เด็กและผู้ใหญ่ ไม่มีสิทธิเลือกอากาศบริสุทธิ์หายใจ, เผยแพร่เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2023, https://www.bbc.com/thai/articles/cw4wppvg0dzo.

[3] คำพิพากษา คดีหมายเลขดำและแดง ส.1/2566, หน้า 10-11.

[4] คำพิพากษา คดีหมายเลขดำและแดง ส.1/2566 หน้า 56.

[5] คำพิพากษา คดีหมายเลขดำและแดง ส.1/2566 หน้า 56.

[6] เอกสารแสดงข้อมูลค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงของ PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือ เดือนมกราคม – พฤษภาคม 2566,  http://air4thai.com/forweb/getReport.php?file=northhaze_2023

Tags: , , ,