นับตั้งแต่ปี 2024 ศึกดิสแทร็กระหว่าง เดรก (Drake) และเคนดริก ลามาร์ (Kendrick Lamar) ทวีความดุเดือด ภายหลังลามาร์ปล่อยเพลง Not Like Us มาโจมตีเดรกอย่างหนัก จนเกิดผลกระทบเชิงลบต่อภาพลักษณ์ของเขา
เดรกตอบโต้ด้วยการฟ้อง Universal Music Group (UMG) กล่าวหาว่า ค่ายโปรโมตเพลงโจมตีเขาและใช้กลวิธีทางการตลาดที่ไม่เป็นธรรม ก่อนลามาร์นำเพลงดังกล่าวขึ้นเล่นบน Half Time Show ของการแข่งขันซูเปอร์โบวล์ 2025
ศึกครั้งนี้สะท้อนถึงอิทธิพลของดิสแทร็กที่ขยายจากเวทีดนตรีไปสู่เวทีธุรกิจและกฎหมาย บทความจะพาท่านไปสำรวจมุมมองทางกฎหมาย และสำรวจความเป็นไปได้ของคดีความที่ได้รับความสนใจจากทั่วโลกในขณะนี้
ศึกแรประหว่างศิลปินไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ การปะทะกันมักเกิดขึ้นผ่าน Diss Tracks ที่อาจมีทั้งข้อเท็จจริงและการแต่งเติม อย่างไรก็ตามการปะทะกันระหว่างเดรกกับลามาร์ครั้งนี้ กลับได้รับความสนใจเป็นพิเศษ เนื่องจากทั้ง 2 ฝ่ายต่างขุดคุ้ยและแลกเปลี่ยนข้อกล่าวหารุนแรงกันอย่างต่อเนื่อง พร้อมปล่อยเพลงในจังหวะที่รวดเร็วตลอดปี 2024 ราวกับเป็นสงครามดนตรี
เดรก ซูเปอร์สตาร์แห่งวงการแรป ได้ยื่นคำร้องต่อศาลในนิวยอร์กและเท็กซัส โดยกล่าวหา UMG ว่า มีการดำเนินกลยุทธ์ทางธุรกิจที่ไม่เป็นธรรมเพื่อผลักดันให้ Diss Tracks ของลามาร์ กลายเป็นเพลงฮิตระดับโลก ทั้งที่ทั้งคู่ต่างอยู่ภายใต้ค่ายเพลงเดียวกัน
ขณะที่ลามาร์ ศิลปินเจ้าของรางวัล Pulitzer Prize จากเมืองคอมพ์ตัน มลรัฐแคลิฟอร์เนีย เป็นที่รู้จักจากผลงานที่วิพากษ์วิจารณ์สังคมอย่างเฉียบคม ขณะที่เดรก ศิลปินจากโตรอนโต ถือเป็นหนึ่งในศิลปินที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในยุคสตรีมมิง ด้วยอิทธิพลที่แผ่ขยายไปทั้งวงการเพลงและวัฒนธรรมป็อป
ความซับซ้อนของศึกครั้งนี้อยู่ที่ UMG ซึ่งเป็นบริษัทเพลงที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นบริษัทแม่ของทั้ง Interscope Records (ค่ายของลามาร์) และ Republic Records (ค่ายของเดรก) ทำให้การปะทะกันของทั้งสองศิลปินถูกขนานนามว่าเป็น ‘สงครามกลางเมืองของวงการแรป’
ความขัดแย้งนี้ไม่ได้เป็นความขุ่นเคืองใจชั่วครั้งคราวที่พึ่งเกิดขึ้น แต่กลับเกิดขึ้นมาเป็นเวลากว่าทศวรรษและทวีความดุเดือดตลอดปี 2024 ซึ่งทั้งคู่ต่างฟาดฟันกันด้วยการใช้เสรีภาพในการแสดงออกของตนในการสร้างสรรค์ผลงานในบริบทของวัฒนธรรมฮิปฮ็อป สิ่งนี้เรียกว่า Diss Track หรือ เพลงดิส โดย Diss นี้ย่อมาจาก ‘Disrespect’ ซึ่งหมายถึงการทำให้เสียความน่านับถือ ดังนั้นเพลงดิสจึงเป็นเพลงที่อบอวนไปด้วยความต้องการที่จะโจมตีศิลปินอีกฝ่าย ซึ่งกำไรก็คือผู้ชมผู้ฟังที่ติดตามว่าฝ่ายไหนจะใช้ไม้ไหนเข้ามาเล่นงานอีกฝ่าย และอีกฝ่ายจะทำการเอาคืนได้หรือไม่
มหากาพย์ Not Like Us น่าจะเป็นโน้ต A ไมเนอร์นะ ‘It’s probably A minor’
จากข้อมูลของนิตยสาร Times ลามาร์ดูเหมือนจะมีข้อพิพาทกับเดรกมาตั้งแต่ปี 20131 หลังจากเขาแรปถึง เจ โคล (J Cole) และเดรก ผ่านเพลง Control ของบิ๊กฌอน (Big Sean) ซึ่งเดรกก็ออกมาตอบโต้แบบอ้อมๆ ผ่านบทสัมภาษณ์และในเพลงเช่นกัน แต่นี่ก็ยังไม่นับเป็นการเปิดศึก กระทั่งในเดือนมีนาคม 2024 ลามาร์ร่วมฟีเจอร์เพลง Like That ร่วมกับ Future และ Metro Boomin กล่าวถึงเดรกและเจโคลว่า เทียบชั้นตนไม่ได้ ตนเองคือเบอร์หนึ่ง หลังจากนั้นเดรก ตอบโต้ด้วยเพลง Push Ups และ Taylor Made Freestyle เคนดริกตอบกลับด้วยเพลง Euphoria และ 6:16 in LA ซึ่งมีเนื้อหาต่อว่าเดรกว่า เป็นคนไม่จริงและใช้คนอื่นแต่งเพลงแทน (Ghost Writers)
การฟาดฟันผ่านเนื้อเพลงบนดิสแทร็กของสองฝ่ายดำเนินไปเรื่อยๆ กระทั่งเริ่มกลายเป็นที่จับตามองจากแฟนเพลงทั่วโลก ทั้งคู่ต่างขุดคุ้ยเรื่องราวของกันและกัน โจมตีไปถึงครอบครัวและชีวิตส่วนตัวของอีกฝ่าย เดรกปล่อยเพลง Family Matters โดยมีเนื้อหากล่าวหา เคนดริก ลามาร์ ว่ามีปัญหาในครอบครัวและใช้ความรุนแรงกับ วิตนีย์ อัลฟอร์ด (Whitney Alford) คนรักของเขา ในขณะเดียวกัน ซึ่งลามาร์ก็ทำการตอบโต้ด้วยเพลง Meet the Grahams ซึ่งมีเนื้อหากล่าวหาว่า เดรกมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมกับเด็ก เป็นผู้ล่วงละเมิดทางเพศ และกล่าวหาในแง่ลบ2 กระทั่งในเดือนพฤษภาคม 2024 ลามาร์ทำการปล่อยเพลง Not Like Us ซึ่งเป็นการโจมตีเดรกอย่างรุนแรง เพลงได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง อย่างไรก็ตามเพลงนี้ประสบความสำเร็จอย่างมากและได้รับเข้าชิงรางวัลแกรมมี่ไปถึง 5 สาขา และได้คว้ารางวัลเพลงแห่งปี ติดอันดับบิลบอร์ด และมียอดสตรีมทะลุพันล้านครั้งบนแพลตฟอร์ม Spotify
https://www.youtube.com/watch?v=H58vbez_m4E
ในเพลง Not Like Us ที่ลามาร์ปล่อยออกมานั้นไม่ได้เป็นเพียงการโจมตีถึงสถานะศิลปิน หรือความสามารถทางดนตรีเท่านั้น แต่มีเนื้อหาที่วิพากษ์วิจารณ์เดรก ไปถึงตัวตนและจุดยืนของเขาในวงการ แต่จุดที่รุนแรงที่สุดของเพลงคือการที่มีการพูดถึงพฤติกรรมของเขาที่เกี่ยวข้องกับเยาวชน จากเนื้อเพลงของเขาที่มีการเสียดสีว่า เดรกเป็นพวกชอบเด็ก มีการใช้คำว่า Pedophile มาเป็นส่วนประกอบในเพลง รวมไปถึงมีการเล่นคำ “Tryna strike a chord and it’s probably A-Minor”
ในบริบทนี้ A Minor ก็ชวนให้ผู้ฟังตีความไปไกลกว่าคอร์ดทางดนตรีได้ เพราะนอกจาก A Minor จะเป็นโน้ต Am แล้ว มันยังแปลว่า ‘ผู้เยาว์’ ได้ด้วย ซึ่งเนื้อหาของเพลงดังกล่าวก็ทำให้สังคมเกิดคำถามเกี่ยวกับตัวตนของเดรก ซึ่งสิ่งนี้สร้างผลกระทบเชิงลบต่อจุดยืนและภาพลักษณ์ของเขา ตลอดจนกลายเป็น ‘ภัยคุกคาม’ ภายหลังที่เขาออกมาชี้ว่า มีผู้บุกรุกบ้านของเขาและลูกชายต้องถูกนำออกจากโรงเรียนเพราะเหตุผลด้านความปลอดภัย’3 โดยอ้างอิงถึงเหตุการณ์ในเดือนพฤษภาคม 2024 ในโตรอนโต ประเทศแคนาดา โดยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่คฤหาสน์ของเดรกถูกยิงได้รับบาดเจ็บสาหัส4 ทั้งยังมีการบุกรุกบ้าน และมีความจำเป็นต้องให้ลูกชายย้ายออกจากโรงเรียน โดยเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากมีการปล่อยเพลงดังกล่าว
https://youtu.be/KDorKy-13ak?si=_cQLJfrlvWe1WN7e
การแสดงพักครึ่ง Super Bowl 2025 ของเคนดริก ลามาร์
ลามาร์ได้รับเชิญให้ขึ้นเล่นคอนเสิร์ตในช่วงพักครึ่งของการแข่งขันนักแสดง ซามูเอล แอล. แจ็กสัน (Samuel L. Jackson) แต่งกายเป็นลุงแซม (Uncle Sam) ที่โต้ตอบกับโชว์ระหว่างการแสดง มีการอ้างอิงถึงวัฒนธรรมคนดำและการใช้สัญลักษณ์ที่วิพาก์วิจารณ์ต่อ ‘ความเป็นอเมริกัน’ โชว์นี้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ลบจาก ‘ฝ่ายขวา’ หรือกลุ่มที่สนับสนุนโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าเป็นการแสดงที่ ‘แย่ที่สุดตั้งแต่เคยมีมา’5 และไม่เปิดรับให้ผู้ชมที่ไม่ใช่แฟนเพลงเข้าใจ โดยการแสดงประกอบไปด้วย 11 เพลงดัง เช่น Squabble up, DNA, Humble และ Luther ร่วมกับศิลปินหญิง SZA รวมไปถึงดิสแทร็กเจ้าปัญหา Not Like Us
แม้จะได้รับการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการออกแบบโชว์ แต่กระนั้นหากวัดกันในเรื่องความสำเร็จของการจัดทำดิสแทร็ก การขึ้นเล่นคอนเสิร์ตช่วงพักครึ่งของ เคนดริก ลามาร์ ใน Super Bowl ถูกมองว่าเป็นการประกาศชัยชนะอย่างชัดเจน เดรกผู้ซึ่งเคยโอ้อวดถึงความยิ่งใหญ่ทางการค้าและสถานะของเขาในฐานะศิลปินระดับโลก กลับกลายเป็นฝ่ายเสียเปรียบ ไม่เพียงในแง่ของสนามทางวัฒนธรรม แต่รวมไปถึงในสนามการค้าด้วย เนื่องจากการแข่งขันถือเป็นปัจจัยชี้ขาดความสำเร็จของฮิปฮอป
“I want to play their favourite song… but you know they love to sue”
(ผมอยากเล่นเพลงที่พวกเขาชอบ… แต่คุณก็รู้ว่าพวกเขาชอบฟ้อง)
ลามาร์กล่าวหลังจากเริ่มการแสดงช่วงพักครึ่งของ Super Bowl พร้อมกับเล่นอินโทรเพลง Not Like Us ซ้ำแล้วซ้ำอีก ซึ่งเป็นการหยอกล้อกับผู้ชมที่ต่างลุ้นกันว่า เขาจะเล่นเพลงดิสยอดนิยมของเขาหรือไม่ ซึ่งในที่สุดเขาก็ทำการแสดงมัน ระหว่างการแสดง เขายิ้มให้กับกล้อง ก่อนจะพูด “Hey Drake, I heard you like em young” และทำการแสดงท่ามกลางโดยทำการเซนเซอร์ตัวเอง ไม่ร้องในท่อน “Certified Lover Boy?, Certified paedophile” ซึ่งเป็นถ้อยคำที่เป็นประเด็นทางคดี โดยคาดว่าขณะแสดงมีผู้ชมมากกว่า 120 ล้านคนที่รับชมการแข่งขัน
จากสตูดิโอไปถึงห้องพิจารณาคดี เมื่อ Diss Track สร้าง Damaged?
ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา เดรกได้ยื่นฟ้อง UMG ซึ่งเป็นค่ายเพลงที่จัดจำหน่ายผลงานของเขาเอง ในข้อหาหมิ่นประมาท (Defamation), การคุกคาม (Harassment), และการดำเนินธุรกิจที่หลอกลวง (Deceptive Business Practices)6 โดยเขากล่าวหาว่า UMG มีส่วนร่วมในการโปรโมตผ่านเพลง Not Like Us ของลามาร์ ซึ่งกล่าวหาว่าเขาเป็น Pedophile หรือผู้ล่วงละเมิดทางเพศต่อผู้เยาว์ UMG “จงใจโปรโมตข้อกล่าวหาที่เป็นเท็จและหมิ่นประมาทเขา” โดยที่รู้ว่ามันเป็นความจริง
ทั้งนี้เขาระบุว่า “หลังจากที่ Not Like Us ถูกปล่อยออกมา มีผู้บุกรุกบ้านของเขาและลูกชายต้องถูกนำออกจากโรงเรียนเพราะเหตุผลด้านความปลอดภัย”7 ในเดือนพฤษภาคม 2024 เกิดเหตุการณ์ที่คฤหาสน์ของเดรกในโตรอนโต ประเทศแคนาดา โดยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของเขาถูกยิงได้รับบาดเจ็บสาหัส8 ทั้งยังมีการบุกรุกแมนชันของเขาที่ประเทศแคนาดา
นอกจากนี้เดรกยังอ้างว่า UMG ได้ใช้วิธีการที่ไม่โปร่งใส เช่น การใช้บอตและการจ่ายเงินเพื่อเพิ่มจำนวนการสตรีมเพื่อทำให้เพลงดังกล่าวได้รับความนิยมมากขึ้น9 ข้อกล่าวหาดังกล่าวนี้ หมายความไปถึงการใช้กลยุทธ์ของค่ายเพลงที่เขาเห็นว่า ‘ไม่เป็นธรรม’ เช่น การจ่ายเงินให้สถานีวิทยุทำการโปรโมต ลดค่าลิขสิทธิ์เพลงเพื่อสร้างแรงจูงใจไปยังแพลตฟอร์มให้ทำการโปรโมตเพลงมากขึ้น ในประเด็นนี้ เดรกได้ทำการกล่าวหา UMG และแพลตฟอร์ม Spotify ว่าร่วมมือกันตกลงทำการโปรโมตและลดค่าลิขสิทธิ์อย่างไม่เป็นธรรมเพื่อทำให้ Not Like Us ได้รับความนิยม และได้ฟ้องร้องว่า ทั้งสองบริษัทนั้นทำแผนการที่ละเมิดกฎหมาย RICO (Racketeer Influenced and Corrupt Organizations Act)
โดยปกติแล้ว RICO Act ใช้จัดการกับกิจกรรมผิดกฎหมาย เช่น คดีฆาตกรรม ลักพาตัว ค้ายาเสพติด ติดสินบน การฟอกเงิน และการพนันผิดกฎหมาย ในคดีของเดรก เขาอ้างว่า UMG และ Spotify ดำเนินธุรกิจที่เข้าข่าย ‘องค์กรฉ้อโกง’ โดยใช้กลยุทธ์ที่ผิดกฎหมายเพื่อโปรโมตเพลง Not Like Us ซึ่งทางค่าย UMG ก็ได้ตอบสนองต่อข้อกล่าวหาเหล่านี้ โดยปฏิเสธว่า ไม่มีการกระทำที่ไม่เป็นธรรมต่อเดรก และยืนยันว่า ทางค่ายเพลงให้ความสำคัญกับศิลปินทุกคนอย่างเท่าเทียม พวกเขามุ่งจะปกป้องชื่อเสียงของทั้งบริษัทและศิลปินอย่างเท่าเทียม10 นอกจากนี้ UMG ยังระบุว่า ข้อกล่าวหาของเดรกไม่มีมูลความจริงและเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง11
มุมมองทางกฎหมายเกิดอะไรขึ้น เมื่อถูกดิสแล้วจะฟ้องหมื่นประมาท
อ่านมาถึงตรงนี้ควรตั้งข้อสังเกตว่า การฟ้องร้องคดีของเดรกไม่ได้ตั้งคดีฟ้องลามาร์ โดยตรง แต่เป็นการฟ้องค่าย UMG ที่ทำหน้าที่จัดจำหน่ายและเผยแพร่ผลงานเพลง นี่อาจเป็นทั้งกลยุทธ์ทางกฎหมาย และอาจเป็นทั้งการตั้งเงื่อนไขต่อรองระหว่างเขากับค่ายเพลง ซึ่งสิ่งนี้ก็สร้างคำถามว่าคดีนี้จะไปได้ถึงข้อหาหมิ่นประมาทจากการเผยแพร่บทเพลงจริงหรือไม่?
เมื่อทำการพิจารณาจากข้อเท็จจริงข้างต้น พบว่ามีข้อจำเป็นต้องพิจารณา 2 ประเด็นหลัก ได้แก่ ประเด็นการหมิ่นประมาทผ่านการโปรโมตเพลง Not Like Us และประเด็นการดำเนินธุรกิจที่ไม่เป็นธรรม (Deceptive Business Practices) ของค่าย UMG ซึ่งหมายรวมไปถึงกลยุทธ์การโปรโมตเพลงและการใช้บอต
ในประเด็นแรก การหมิ่นประมาทผ่านการโปรโมตเพลง Not Like Us ซึ่งอ้างว่า UMG มีส่วนร่วมในการจัดให้มีการเผยแพร่เนื้อเพลงที่มีข้อกล่าวหาที่เป็นเท็จต่อเขา โดยเฉพาะถ้อยคำว่า Pedophile หรือ ‘ใคร่เด็ก’ โดยที่ UMG รู้อยู่แล้วว่า ถ้อยคำดังกล่าวไม่เป็นความจริง แต่ยังมีเจตนาส่งเสริมเพื่อแสวงหาผลกำไร กระทั่งนำไปสู่ภัยคุกคามด้านความปลอดภัย แต่ทั้งนี้ในสหรัฐฯ รัฐธรรมนูญสหรัฐฯ รับรองที่จะคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกทางศิลปะ ทำให้ในส่วนนี้ดูเหมือนจะฟ้องร้องให้เกิดเป็นมูลคดีได้ยาก เนื่องจากการแรปนั้นเป็นการแสดงออกในฐานะศิลปะโดยมีรากฐานเป็นวัฒนธรรมย่อย ทั้งเป็นที่เข้าใจโดยพื้นฐานว่าเนื้อเพลงและเนื้อหาของเพลงแรปนั้นมักมีลักษณะการพูดเกินจริง (Hyperole)12 ซึ่งผู้ฟังที่ได้รับสารส่วนใหญ่ไม่ได้มองว่าเป็นข้อเท็จจริง
ดังนั้นหากเดรกต้องการชนะในประเด็นนี้ เขาก็ต้องมีภาระพิสูจน์ว่า ลามาร์และค่าย UMG ตั้งใจที่จะแสดงถ้อยคำดังกล่าวในลักษณะที่จะทำให้ผู้คนเชื่อว่ามันเป็นเรื่องจริง ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าถ้อยคำนั้นเป็นเท็จแต่ยังคงเผยแพร่ และการเผยแพร่นั้นก่อให้เกิดความเสียหายต่อเขาไม่ว่าจะในด้านเกียรติยศ ชื่อเสียง รวมไปถึงสิทธิอื่นๆของเขาโดยตรง
เมื่อพิจารณาอีกด้าน หากคิดในมุมของค่าย UMG ก็ย่อมต้องพิจารณาในฐานะตัวกลางที่เป็นธุรกิจผลิตเพลง เพลงเป็นผลผลิตจากการแสดงออกเชิงสร้างสรรค์ ดังนั้นจึงเป็นไปได้ยากที่เพลงจะกลายมาเป็นคำกล่าวหาที่มีผลทางกฎหมายเด่นชัดโดยสภาพ ทั้งนี้ย่อมไม่ใช่หน้าที่ของค่ายที่จะต้องมาพิสูจน์ว่า เนื้อหาในเพลงนั้นมีข้อเท็จจริงประกอบอยู่ไหม ดังนั้นในประเด็นการหมิ่นประมาท ดูเหมือนว่าจะฟังไม่ขึ้น เนื่องจากเพลงดังกล่าวเป็นความคิดเห็น และเป็นการใช้เสรีภาพทางศิลปะ ซึ่งหากต้องการชนะในประเด็นนี้จริงๆ ก็ต้องจัดการกับภาระการพิสูจน์เหล่านี้ หากเดรกสามารถพิสูจน์ได้ว่า UMG มีเจตนาหมิ่นประมาทและโปรโมตข้อความเท็จโดยรู้ว่ามันไม่จริง ก็อาจเปลี่ยนรูปคดีได้
ในประเด็นต่อมา เดรกกล่าวหา UMG ว่า มีพฤติกรรมบิดเบือนการแข่งขันทางดนตรี และใช้กลยุทธ์ที่ไม่เป็นธรรมในการโปรโมตเพลง Not Like Us ผ่านการจ่ายเงินให้โปรโมตอย่างไม่เป็นธรรม และการใช้บอตเพื่อเพิ่มยอดสตรีมมิงเพลง โดยมีรายงานว่า มีการปลอมยอดเข้าชมมากกว่า 30 ล้านครั้ง13 ซึ่งทั้งหมดนี้ทำเพื่อให้เพลง Not Like Us กลายเป็นไวรัล ในประเด็นนี้ดูเหมือนว่า จะเป็นปัญหาเชิงธุรกิจมากกว่ากรณีพิพาทตามกฎหมายแพ่ง ซึ่งปัญหาดังกล่าวได้แก่ปัญหาการผูกขาดทางตลาดจากค่ายในการเลือกโปรโมตศิลปินอย่างไม่เท่าเทียม ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีเข้ามาแทรกแซงอุตสาหกรรม ซึ่งทั้งหมดนี้จำเป็นต้องพึ่งพาพยานหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำที่ไม่เป็นธรรมจากค่าย ซึ่งหากพิสูจน์ได้ว่า UMG ทำการโปรโมตโดยไม่เป็นธรรมหรือใช้บอทเข้ามาปลอมยอดเข้าชมจริง เราก็อาจเห็นบรรทัดฐานหรือคำตัดสินที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมดนตรีได้
เอาเข้าจริงเมื่อพิจารณาประเด็นทางกฎหมายข้างต้น ข้อกล่าวหาในประเด็นส่วนหลังดูเหมือนจะหนักแน่นและมีน้ำหนักมากกว่าประเด็นแรก เนื่องจากสามารถตรวจสอบได้จากข้อมูลเชิงเทคนิก เช่น วิธีการทางตลาด วิธีการสตรีมมิง จรรยาบรรณทางธุรกิจ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อไป ดังนั้นสิ่งที่น่าจับตาดูนอกเหนือไปจากความสำเร็จในการจัดสร้างเพลงดิส และถ้อยคำที่สร้างความอับอาย คือมาตรฐานในการดำเนินธุรกิจค่ายเพลง การโปรโมต โดยเฉพาะในยุคที่เครือข่ายดิจิทัลและยอดสตรีมมิงได้กลายไปเป็นมูลค่าและความสำเร็จทางการตลาด
What’s next?
กรณีพิพาทนี้มีความสลับซับซ้อนและสะท้อนให้เห็นถึงการแข่งขันที่ดุเดือนของอุตสาหกรรมเพลงยักษ์ใหญ่ โปรดตั้งข้อสังเกตว่า ศิลปินทั้งสองต่างสังกัดเดียวกัน จึงเป็นไปได้ว่าการฟ้องร้องและการใช้สิทธิทางศาลนี้อาจเป็นกลไกในการต่อรองของเดรกกับค่ายเพลง และแสดงให้เห็นการแข่งขันกันเองภายในค่าย ภายใต้เงื่อนไขทางธุรกิจและความพยายามในการช่วงชิงอำนาจสื่อ
การที่เดรกฟ้องร้อง UMG แทนที่จะฟ้องลามาร์โดยตรง อาจเป็นกลยุทธ์ทางกฎหมายที่ฉลาด เพราะการฟ้องร้องบุคคลในข้อหาหมิ่นประมาทเกี่ยวกับเนื้อหาในเพลงแรปนั้นแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะชนะในสหรัฐฯ เนื่องจาก First Amendment คุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออก โดยเฉพาะในบริบทของศิลปะและดนตรี อย่างไรก็ตามหากเขาสามารถพิสูจน์ได้ว่า UMG จงใจโปรโมตข้อกล่าวหาที่เป็นเท็จเพื่อทำลายชื่อเสียงของเขา ซึ่งเป็นภาระอันหนักอึ้งของฝ่าย Drake ที่จะต้องพิสูจน์องค์ประกอบความผิดให้เข้าลักษณะข้อหาหมิ่นประมาทคือ พิสูจน์เจตนาในการก่อความผิดจากลามาร์และค่าย UMG
ในขณะที่ประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมดนตรีนั้นหนักแน่นฟังขึ้นมากกว่าข้อหาหมิ่นประมาท ในประเด็นของข้อกล่าวหาว่า ค่าย UMG ใช้วิธีการตลาดที่ไม่เป็นธรรม มีการแทรกแซงตลาด มีการตกลงค่าโปรโมตและลดค่าลิขสิทธิ์เพลงกับแพลตฟอร์มอื่นๆ ล้วนเป็นคดีที่ต้องพึ่งพาพยานเอกสาร และข้อมูลเชิงเทคนิค กรณีนี้อาจมีน้ำหนักพอที่จะนำไปสู่การฟ้องร้องในเชิงการค้าและการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งเป็นการตรวจสอบการแข่งขันทางธุรกิจและการตลาดของค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ จึงเป็นที่น่าสนใจต่อว่าจะออกมาเป็นอย่างไร? เพราะในยุคของสตรีมมิง ยอดวิวและกระแสบนโซเชียลมีเดียสามารถแปรเปลี่ยนเป็นผลกำไรจำนวนมหาศาล
อย่างไรก็ตามข้อพิพาทนี้อาจได้รับการไกล่เกลี่ยประนีประนอมนอกศาล เนื่องจากศิลปินทั้งคู่ต่างอยู่ในสังกัดร่มใหญ่ UMG เหมือนกัน จึงเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่ากลยุทธ์ของเดรกอาจเป็นไปเพื่อต่อรองสัญญาทางธุรกิจของเขา และทั้งหมดก็อาจเป็นไปเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากไปกว่าการรักษาเกียรติยศชื่อเสียง
อ้างอิงข้อมูลจาก
1https://www.thetimes.com/article/whats-the-beef-between-kendrick-lamar-and-drake-rx2st32m6
2https://en.wikipedia.org/wiki/Drake%E2%80%93Kendrick_Lamar_feud
3https://www.theguardian.com/global/2024/dec/11/tlw-11-12-24
4https://www.matichon.co.th/entertainment/news_4564987
5https://themomentum.co/report-kendrick-lamar-halfshow-superbowl2025-resentment
6https://www.thetimes.com/article/whats-the-beef-between-kendrick-lamar-and-drake-rx2st32m6?utm
7https://www.theguardian.com/global/2024/dec/11/tlw-11-12-24
8https://www.matichon.co.th/entertainment/news_4564987
9https://www.courthousenews.com/wp-content/uploads/2025/01/drake-UMG-defamation-complaint.pdf
10https://people.com/drake-sues-own-record-label-for-alleged-defamation-over-kendrick-lamar-diss-track-not-like-us-8775091
11https://www.vulture.com/article/drakes-lawsuit-universal-music-group-explained.htm
12https://www.theguardian.com/global/2024/dec/11/tlw-11-12-24
13https://www.cnet.com/tech/services-and-software/kendrick-lamar-super-bowl-most-watched-ever-heres-how-to-see-it/#google_vignette
Tags: Not Like Us, Kendrick vs Drake, Diss Track, Halftime Show, Super Bowl