เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2024 ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ประกาศผ่านแพลตฟอร์ม Truth Social ระบุว่า ภายในวันแรกของการทำงานในฐานะประธานาธิบดี (วันที่ 20 มกราคม 2025) เขาจะออกคำสั่งบริหารเรียกเก็บภาษี 25% สำหรับสินค้านำเข้าทั้งหมดจากเม็กซิโกและแคนาดา โดยให้เงื่อนไขว่า อัตราภาษีนำเข้านี้จะมีผลจนกว่าปัญหาเรื่องยาเสพติดเฟนทานิล (Fentanyl) และการลับลอกเข้าเมืองสหรัฐฯ ที่มาจากเม็กซิโกและแคนาดาจะหมดไป และก็ยังได้โพสต์ถึงประเทศจีนถึงปัญหายาเสพติดว่า มีปัญหาการส่งยาเสพติดจำนวนมาก โดยเฉพาเฟนทานิลจากจีนเข้าสู่สหรัฐฯ ซึ่งจีนกลับไม่แก้ไขปัญหานี้ ทั้งที่มีการพูดคุยระหว่างสหรัฐฯ กับตัวแทนของจีนเกี่ยวกับการลงโทษผู้ค้าเฟนทานิล โดยตัวแทนของจีนให้คำมั่นว่า จะใช้บทลงโทษสูงสุด (โทษประหารชีวิต) แต่ท้ายที่สุดจีนยังไม่ดำเนินการตามที่กล่าวไว้
การดำเนินการครั้งนี้ทรัมป์อธิบายว่า เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ในการกดดันพันธมิตรและคู่แข่งทางการค้าของสหรัฐฯ ให้ปรับเปลี่ยนนโยบายและขยับตัวเกี่ยวกับปัญหาด้านยาเสพติดและการลักลอบเข้าเมืองสหรัฐฯ
การประกาศครั้งนี้ไม่เพียงแต่สร้างความกังวลในหมู่นักวิเคราะห์เศรษฐกิจและผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศ แต่ยังจุดชนวนคำถามสำคัญเกี่ยวกับบทบาทของสหรัฐฯ ในฐานะผู้นำระบบการค้าระหว่างประเทศ การใช้อำนาจทางภาษีในลักษณะนี้สะท้อนถึงแนวโน้มของการทบทวนและท้าทายกรอบข้อตกลงระหว่างประเทศที่เคยสร้างขึ้น และทำให้เกิดข้อสงสัยว่า การดำเนินนโยบายในลักษณะนี้จะส่งผลต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างไร
เนื่องจากการใช้นโยบายภาษีในลักษณะนี้ไม่ได้ตั้งอยู่บนฐานของปัญหาทางการค้า เช่น การทุ่มตลาดหรือการอุดหนุนสินค้าภายในประเทศ แต่กลับใช้เป็นเครื่องมือการเมืองหรือการแสดงอำนาจ เพื่อกดดันประเทศเพื่อนบ้านให้ดำเนินการตามความต้องการของสหรัฐฯ เช่น การหยุดผู้อพยพผิดกฎหมายหรือการแก้ไขปัญหายาเสพติด
อีกทั้งยังขัดแย้งกับ United States-Mexico-Canada Agreement (USMCA) ซึ่งเข้ามาแทนที่ NAFTA โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือและลดอุปสรรคทางการค้าในอเมริกาเหนือ การเรียกเก็บภาษี 25% ของทรัมป์อาจขัดแย้งกับหลักการพื้นฐานของข้อตกลงนี้ที่มุ่งลดหรือยกเว้นภาษีสินค้าระหว่างสหรัฐฯ เม็กซิโก และแคนาดา
ในแง่ของกฎหมายระหว่างประเทศ การใช้อำนาจฝ่ายเดียวโดยไม่สนใจพันธกรณีตามข้อตกลงที่มีผลผูกพันอาจถูกมองว่าเป็นการละเมิดหลักการพื้นฐาน เช่น หลัก Pacta Sunt Servanda ที่กำหนดให้ทุกฝ่ายในข้อตกลงระหว่างประเทศต้องปฏิบัติตามพันธกรณีที่ได้ลงนามไว้ 1
การดำเนินการดังกล่าวอาจนำไปสู่ข้อพิพาทระหว่างประเทศในกรอบของ USMCA และองค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ ในการเป็นผู้นำระบบการค้าระหว่างประเทศ
กรณีของจีน: การขยายสงครามการค้า
ในกรณีของจีน การเพิ่มภาษี 10% เกิดขึ้นในบริบทที่สหรัฐฯ กับจีนมีความขัดแย้งทางการค้ามาอย่างยาวนาน การเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติม ไม่เพียงแต่เพิ่มภาระให้กับสินค้านำเข้าจากจีน แต่ยังสะท้อนถึงแนวโน้มของการยกระดับสงครามการค้าระหว่างสองประเทศมหาอำนาจด้วย
การเพิ่มภาษีดังกล่าวอาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อ Supply Chain ระดับโลก เนื่องจากจีนเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญในการผลิตและส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม
คำถามคือ การดำเนินนโยบายในลักษณะนี้จะนำไปสู่การลดความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่าง 2 ประเทศหรือไม่ และหากจีนเลือกที่จะตอบโต้ด้วยมาตรการทางภาษีหรือการจำกัดการค้าต่อสหรัฐบ้าง จะเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในระดับใด
ความชอบธรรมในการใช้ภาษีเป็นเครื่องมือทางการเมือง
แม้ว่าภาษีที่สูงขึ้นจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับรัฐบาล แต่ผลกระทบต่อผู้บริโภคและธุรกิจในประเทศอาจสร้างความเสียหายที่ยิ่งใหญ่กว่า การใช้ภาษีเป็นเครื่องมือกดดันประเทศเพื่อนบ้านให้ดำเนินการตามที่สหรัฐฯ ต้องการ เช่น การแก้ปัญหาการอพยพเข้าเมืองหรือการลักลอบขนยาเสพติด อาจดูเหมือนเป็นการแสดงอำนาจในเชิงการเมือง แต่ในความเป็นจริง การใช้ภาษีในลักษณะนี้อาจเป็นการทำลายโครงสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างประเทศ
ภาษีควรเป็นเครื่องมือในการสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและสนับสนุนความร่วมมือระหว่างประเทศ ไม่ใช่เครื่องมือที่สร้างความขัดแย้งและผลกระทบเชิงลบต่อระบบการค้าระหว่างประเทศ
สำหรับกรณีของเม็กซิโกและแคนาดา การเพิ่มภาษีอาจทำให้ต้นทุนสินค้านำเข้าสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาสินค้าในตลาดภายในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ผู้บริโภคชาวอเมริกันอาจต้องเผชิญกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น และธุรกิจที่พึ่งพาสินค้าหรือวัตถุดิบจากประเทศเหล่านี้อาจสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน
ส่วนในกรณีของจีน การเพิ่มภาษีอาจส่งผลต่อราคาสินค้าประเภทอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักร และสินค้าอุปโภคบริโภคที่พึ่งพาการนำเข้าจากจีนโดยตรง ซึ่งท้ายที่สุดจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคและผู้ผลิตในสหรัฐฯ
ผลกระทบต่อระบบการค้าระหว่างประเทศ
มาตรการทางภาษีในลักษณะนี้ เป็นการท้าทายระบบการค้าระหว่างประเทศในวงกว้าง การเพิ่มภาษีแบบฝ่ายเดียวอาจขัดต่อหลักการของ WTO ซึ่งส่งเสริมความเป็นธรรมในระบบการค้า และอาจกระตุ้นให้เกิดการตอบโต้จากประเทศที่ได้รับผลกระทบ
ความกังวลหลักคือ การดำเนินการดังกล่าวอาจนำไปสู่ สงครามการค้า ในระดับที่รุนแรงยิ่งขึ้น ซึ่งไม่มีฝ่ายใดได้รับประโยชน์ การลดความตึงเครียดทางการค้าผ่านการเจรจาและความร่วมมือระหว่างประเทศอาจเป็นทางเลือกที่ยั่งยืนกว่า
บทเรียนและข้อเสนอแนะถึงทางออกที่ยั่งยืนกว่า
แทนที่จะเพิ่มภาษีและสร้างความขัดแย้ง รัฐบาลสหรัฐฯ ควรใช้วิธีการเจรจาเพื่อหาข้อตกลงที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน และเมื่อสหรัฐฯ เม็กซิโกและแคนาดามี USMCA อยู่แล้ว ยิ่งไม่ควรละเมิดข้อตกลงระหว่างประเทศนี้ รวมถึงควรแสดงศักยภาพในการทำข้อตกลงพิเศษอื่นเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหายาเสพติดและลักลอบเข้าเมืองมากกว่าให้สหรัฐฯ ฝ่ายเดียวใช้มาตรการทางภาษีมากดดัน เช่น การจัดตั้งคณะทำงานระหว่างประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาที่เป็นต้นเหตุของการลักลอบขนยาเสพติดและการอพยพเข้าเมือง
เชิงอรรถ
1 https://ustr.gov/trade-agreements/free-trade-agreements/united-states-mexico-canada-agreement
Tags: Donald Trump Tax, โดนัลด์ ทรัมป์, ภาษี, สงครามการค้า, Rule of Law