ในชีวิตคนเราย่อมเคยทำเรื่องผิดพลาดขึ้นได้เสมอ โดยเฉพาะเมื่อต้องเจอกับเหตุการณ์ที่เราไม่คุ้นเคย หรือเมื่อต้องจัดการกับเรื่องที่เราไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน และเมื่อได้ทำผิดพลาดลงไปแล้ว สิ่งที่ดีที่สุดที่ควรทำก็คงจะเป็นการยอมรับผิดและกล่าวขอโทษอย่างจริงใจ
รัฐบาลแต่ละประเทศ ที่จริงแล้วก็ประกอบไปด้วยมนุษย์ธรรมดาที่จะต้องมีข้อผิดพลาดต่างๆ เช่นกัน โดยเฉพาะเมื่อต้องจัดการกับเหตุการณ์ใหม่ๆ ที่มีความซับซ้อน เช่น การระบาดของโควิด-19 แต่เมื่อเกิดข้อผิดพลาดขึ้นแล้ว ในฐานะที่รัฐบาลเป็นตัวแทนที่ได้รับมอบอำนาจจากประชาชนในการบริหารบ้านเมืองและแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น (และเป็นอำนาจผูกขาดตามกฎหมายที่ไม่มีใครมาทำแทนได้) เราย่อมคาดหวังได้ว่ารัฐบาลควรจะต้องแสดงความขอโทษต่อประชาชน และแก้ไขข้อผิดพลาดนั้นโดยเร็ว
การขอโทษที่ควรจะเป็น
การขอโทษที่ดีนั้น ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านได้ให้คำแนะนำไว้อย่างน่าสนใจ และล้วนมีเนื้อหาไปในทิศทางเดียวกัน เช่น ซินเธีย แฟรนซ์ (Cynthia Frantz) อาจารย์ด้านจิตวิทยาจาก Oberlin College อธิบายว่า “การขอโทษที่ประสบความสำเร็จ จะต้องทำให้อีกฝ่ายเชื่อว่าตนเองเข้าใจจริงๆ ว่าได้ทำผิดอะไรลงไป และทำให้อีกฝ่ายเชื่อว่าความผิดนั้นจะไม่ถูกกระทำลงอีก” ส่วน เอมี เอเบสุ ฮับเบิร์ด (Amy Ebesu Hubbard) อาจารย์ด้านการสื่อสารจาก University of Hawai’i at Mānoa ก็ได้อธิบายว่า “การขอโทษที่ควรจะเป็นนั้น จะต้องมีการยอมรับผิด มีการรับรู้ถึงผลร้ายและความทุกข์ที่เกิดขึ้นจากการกระทำ มีการสัญญาว่าต่อไปจะทำให้ดีขึ้น และมีการเสนอการแก้ไขเยียวยาความเสียหายในทันทีด้วยความจริงใจ”
โดยสรุปแล้ว การขอโทษที่ดีและเป็นที่น่าพอใจของอีกฝ่าย ควรจะมีองค์ประกอบ 5 ข้อ ดังนี้
1. มีการยอมรับข้อผิดพลาด และแสดงความเข้าใจว่าตนเองได้ทำผิดพลาดลงไปอย่างไร
2. แสดงความเข้าอกเข้าใจถึงผลร้ายและความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับอีกฝ่าย
3. ให้คำมั่นว่าต่อไปจะไม่ทำผิดพลาดแบบนี้อีก
4. มีการเสนอว่าจะแก้ไขเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น
5. การขอโทษเป็นไปด้วยความสุภาพและจริงใจ
การยอมรับผิดและขอโทษของรัฐบาลประเทศต่างๆ
การระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะในช่วงเริ่มต้น ถือได้ว่าเป็นวิกฤตที่มนุษย์ไม่เคยประสบพบเจอมาก่อน ทำให้รัฐบาลประเทศต่างๆ แม้อาจได้พยายามรับมือกับโควิดเป็นอย่างดี แต่ก็ยังเกิดเรื่องผิดพลาดได้ตลอดเวลาเช่นกัน
แต่เมื่อเกิดเรื่องผิดพลาดแล้ว สำหรับหลายประเทศก็เป็นเรื่องที่ไม่เกินความคาดหมาย ที่ผู้นำจะออกมาขอโทษและยอมรับต่อสาธารณชนว่าตนเองและรัฐบาลได้ทำผิดพลาดอย่างไรบ้าง และจะแก้ไขอย่างไรต่อไป แม้จะเป็นแค่ความผิดพลาดในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม ต่อไปนี้จะยกตัวอย่างการขอโทษจากรัฐบาลประเทศต่างๆ เกี่ยวกับข้อผิดพลาดในการจัดการกับโควิด-19
รัฐบาลอังกฤษ: ยอมรับว่าบริหารผิดและลาออก หลังจากละเมิดมาตรการโควิดเสียเอง
ในเดือนพฤศจิกายน 2563 แมตต์ แฮนค็อก (Matt Hancock) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของสหราชอาณาจักร ได้ออกมายอมรับว่ารัฐบาลมีการจัดการกับโควิด-19 ที่ผิดพลาด โดยกล่าวว่า
“ใช่ เราได้ทำเรื่องผิดพลาดลงไป หนึ่งในนั้นก็คือตอนที่เราออกแนวปฏิบัติสำหรับการจัดงานศพ มันถูกตีความให้เคร่งครัดขนาดที่ว่าคู่รักของคุณก็จะไม่สามารถไปงานศพของผู้ที่เสียชีวิตจากโควิดได้ นั่นเป็นสิ่งที่ผิดพลาด และเราได้แก้ไขแล้ว”
ต่อมาในเดือนพฤษภาคม 2021 หลังจากที่สื่ออังกฤษได้เผยแพร่ภาพขณะที่แฮนค็อกกำลังกอดผู้หญิงซึ่งเป็นเพื่อนร่วมงานภายในกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งถือเป็นการละเมิดกฎการเว้นระยะหว่างทางสังคม เขาได้ออกมายอมรับและขอโทษว่า “ที่จริงแล้วพวกเราซึ่งเป็นคนออกกฎเหล่านี้ ก็จะต้องทำตามกฎเหล่านี้ด้วย” ก่อนจะแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข
รัฐบาลเนเธอร์แลนด์: ขอโทษที่คลายมาตรการเร็วเกินไป และไม่ได้ฟังเสียงวิจารณ์แต่แรก
ในเดือนกรกฎาคม 2021 มาร์ก รุตต์ (Mark Rutte) นายกรัฐมนตรีของเนเธอร์แลนด์ ออกมาขอโทษที่รัฐบาลคลายมาตรการโควิดเร็วเกินไป โดยกล่าวว่า “สิ่งที่เราคิดว่าจะเป็นไปได้จริงในทางปฏิบัติ กลายเป็นว่าเป็นความคิดที่ผิด”และ “เราได้ตัดสินใจอย่างผิดพลาด เราเสียใจและขออภัย” นอกจากนี้ รุตต์ยังได้ขอโทษที่เขาและรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ปฏิเสธข้อวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้ในการแถลงข่าวในครั้งแรก โดยบอกว่า “พวกคุณขอความเห็นจากเรา แต่เราไม่ได้ตอบ นั่นเป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรม”
รัฐบาลออนแทริโอ แคนาดา: ขอโทษที่มาตรการรุนแรงเกินไป
ในเดือนเมษายน 2021 ดัก ฟอร์ด (Doug Ford) หัวหน้ารัฐบาลของจังหวัดออนทาริโอ แคนาดา ออกมากล่าวขอโทษต่อประชาชนเกี่ยวกับการที่รัฐบาลได้ออกมาตรการควบคุมโควิด-19 ที่รุนแรงเกินไป และไม่ได้ถูกแนะนำโดยผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข โดยเขายอมรับว่า “มาตรการดังกล่าวเป็นมาตรการที่สร้างผลเสียเป็นอย่างมาก” “เราทำผิดพลาด การตัดสินใจเหล่านี้ทำให้หลายๆ คนลำบากใจ” และ “ผมขอโทษและขออภัยจากใจจริง”
รัฐบาลไต้หวัน: ขอโทษที่ดูแลประชาชนได้ไม่ดีพอ
ในเดือนมิถุนายน 2021 ซู เจินชาง (Su Tseng-chang) นายกรัฐมนตรีไต้หวัน ได้กล่าวขอโทษต่อรัฐสภาเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ ของการจัดการกับโควิด-19 ว่า “ผมเสียใจต่อทุกชีวิตที่สูญเสีย โดยเฉพาะในเวลานี้ที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรค รัฐบาลเสียใจเป็นอย่างมากที่เราไม่ได้ดูแลพวกเขาได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ผมและรัฐมนตรีสาธารณสุขขออภัยกับเรื่องนี้”
รัฐบาลสิงคโปร์: ขอโทษที่เผลอฉีดโมเดิร์นนาให้เด็กวัย 16 ปี
ในเดือนมิถุนายน 2021 สิงคโปร์ได้ฉีดวัคซีนโมเดิร์นนาให้แก่เด็กอายุ 16 ปีซึ่งกรอกวันเกิดผิดในการจองคิวฉีดวัคซีน (ปกติจะฉีดให้เฉพาะผู้ที่อายุ 18 ปีขึ้นไป) จากข้อผิดพลาดดังกล่าว รัฐมนตรีสาธารณสุขและรัฐมนตรีศึกษาธิการสิงคโปร์ได้ออกแถลงการร่วมกัน ซึ่งมีเนื้อหาเช่น “เจ้าหน้าที่ผิดพลาดที่ไม่ได้ตรวจสอบอายุ ณ บริเวณจุดฉีดวัคซีน ทั้งที่ควรทำ” และ “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการขออภัยสำหรับความกังวลและความไม่สบายใจที่เกิดขึ้น” หรือ “คณะผู้เชี่ยวชาญวัคซีนโควิด-19 ได้ทำการตรวจสอบเรื่องนี้แล้ว และคาดว่าเขาจะไม่ได้รับอันตรายอะไร”
รัฐบาลญี่ปุ่น: ขอโทษที่จัดงานเลี้ยงละเมิดมาตรการโควิด และรับผิดชอบโดยการไม่รับเงินเดือน/ปลดผู้จัดงานออก
ในเดือนมีนาคม 2021 โนริฮิสะ ทามุระ (Norihisa Tamura) รัฐมนตรีสาธารณสุขญี่ปุ่น ออกมาขอโทษหลังจากที่เจ้าหน้าที่กระทรวง 23 คนได้ไปกินเลี้ยงอำลาที่ภัตตาคารในกรุงโตเกียวจนดึกดื่น ซึ่งเป็นการละเมิดมาตรการโควิด ทามุระกล่าวว่า “เป็นการทรยศความไว้วางใจของประชาชน” และเจ้าหน้าที่ที่เข้าร่วมจะต้องรับผิดชอบ ซึ่งในเรื่องนี้ คัตซึโนบุ คาโตะ (Katsunobu Katō) โฆษกรัฐบาล กล่าวว่า “เป็นเรื่องน่าเสียใจที่กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการรับมือกับโควิด-19 มาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ด้วย”
นอกจากนี้ ทามุระแสดงความรับผิดชอบโดยการไม่รับค่าตอบแทนเป็นเวลา 2 เดือน ส่วนผู้อำนวยการสำนักสุขภาพและคนชราของกระทรวง ซึ่งเป็นผู้จัดงานเลี้ยง ถูกปลดจากตำแหน่ง
การขอโทษของรัฐบาลต่างประเทศตามที่ยกตัวอย่างมา ถือได้ว่าเป็นการขอโทษที่ประชาชนจำนวนมากอยากได้ยิน เพราะมีการยอมรับว่าตัวเองทำพลาดอย่างไร มีการแสดงความเข้าใจถึงความทุกข์ที่เกิดกับประชาชนผู้ฟัง แสดงถึงความรับผิดชอบ มีความจริงใจ และที่สำคัญเป็นการยอมรับว่าตัวเองทำพลาดเป็นหลักโดยไม่มุ่งโทษคนอื่น
การขอโทษของรัฐบาลไทย
เป็นที่รู้กันว่า การบริหารจัดการสถานการณ์โควิดและการจัดหาวัคซีนของรัฐบาลไทยนั้น ไม่ได้เป็นไปตามที่ประชาชนคาดหวังไว้ แต่ข้อผิดพลาดจำนวนมากที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้มีการแสดงความรับผิดหรือขอโทษ ทว่ากลับหันไปโยนความผิดให้ประชาชนจนเป็นเรื่องปกติ หรือบางครั้งแม้ผู้นำได้ออกมาขอโทษประชาชนก็จริง แต่ก็มักไม่เข้าข่ายการขอโทษอย่างที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะเมื่อยังมีโทนเสียงของการโทษประชาชนอยู่เป็นปกติ และในเหตุการณ์ส่วนใหญ่ นอกจากจะไม่มีการขอโทษแล้ว ยังทำให้รู้สึกราวกับว่าไม่ได้มีความพยายามจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นตามที่ประชาชนร้องขอเลยด้วย
ตัวอย่างการขอโทษของนายกฯ: “ก็ต้องขอโทษถ้าหากว่าไม่ทันใจ”
วันที่ 27 มกราคมปีที่ผ่านมา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้พูดถึงผ่านพอดแคสต์ โดยส่วนหนึ่งของเนื้อหามีการขอโทษเรื่องการบริหารจัดการสถานการณ์ว่า “ระหว่างนี้เราก็ต้องระมัดระวัง อดทน อดกลั้น ปฏิบัติตามมาตรการของเราที่ออกไป ถ้าเราไม่ร่วมมือกันตรงนี้ มัวแต่โทษกันไปมา ก็จะไม่เกิดการแก้ปัญหาอย่างครบวงจร ก็ต้องขอโทษถ้าหากว่าไม่ทันใจ แต่ผมก็พยายามเร่งรัดอย่างที่สุดแล้วในทุกมิติและทุกเรื่อง วันนี้ขอให้ทุกคนมีความสุขปลอดภัยในช่วงนี้…”
ข้อความข้างต้น แม้มีการขอโทษหากว่าบริหารจัดการ ‘ไม่ทันใจ’ ประชาชน แต่ก็ยังบอกอีกว่าประชาชนต้องอดทน ต้องทำตามมาตรการ อย่าโทษกันไปมา และนายกฯ ก็ทำเต็มที่และดีที่สุดอยู่แล้ว
คำอธิบายของสถานการณ์ที่แย่ลงในข้อกำหนด พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ: เป็นเพราะประชาชนเอง
เมื่อสถานการณ์การระบาดย่ำแย่ลง ถ้าเป็นรัฐบาลต่างประเทศที่บริหารผิดพลาด เราอาจคาดหวังได้ว่ารัฐจะออกมาขอโทษและเร่งแก้ไข เปลี่ยนวิธีบริหารให้ดีขึ้น แต่สำหรับประเทศไทยในปัจจุบัน เดาได้เลยว่ามักจะมีการโทษประชาชนเป็นหลัก และไม่ใช่เพียงแค่การพูดออกสื่อเท่านั้น แต่เป็นการระบุไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในกฎหมายซึ่งเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษาเลยทีเดียว
เช่นในข้อกำหนดตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 22 ระบุว่า การระบาดระลอกเดือนเมษายน 2564 ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ “ประชาชนส่วนใหญ่มีความผ่อนคลาย… ไม่ค่อยระมัดระวังป้องกันตัวอย่างในช่วงต้นของการระบาด จึงทำให้โรคแพร่กระจายไป… จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกำหนดมาตรการการควบคุมการระบาดของโรคให้เข้มข้นกว่าเดิม” หรือข้อกำหนดฉบับที่ 29 ที่ระบุว่า “โดยที่มีการเผยแพร่โดยทั่วไปซึ่งข้อความอันเป็นเท็จที่อาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือน… อันเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ฉุกเฉินให้วิกฤติยิ่งขึ้น… จำเป็นต้องมีมาตรการที่กำหนดให้การใช้สิทธิหรือเสรีภาพในการแสดงออกเป็นไปอย่างมีเหตุผล…”
นอกจากจะไม่พูดถึงข้อผิดพลาดในการจัดการโควิดของรัฐบาลเองแล้ว ยังใช้อำนาจในการออกกฎหมายกล่าวโทษและตีตราประชาชนอีกด้วย
การขอโทษของ ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ: หนึ่งในการขอโทษที่สังคมไทยรอคอย
หนึ่งในคำขอโทษที่สังคมไทยรอมานาน คือคำขอโทษจาก นายแพทย์ นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เป็นคำขอโทษที่มีการยอมรับข้อบกพร่ององค์กรภาครัฐในการจัดการกับโควิด ซึ่งเราแทบไม่เคยได้ยินจากรัฐบาลนี้เลย โดยนายแพทย์นครกล่าวว่า “การจัดหาวัคซีนอาจจะไม่ทันตามจำนวนที่คิดว่าควรจะเป็นได้… แต่ต้องกราบขออภัยพี่น้องประชาชนที่สถาบันวัคซีนแห่งชาติแม้ว่าจะได้พยายามเต็มที่แล้ว แต่ก็ยังจัดหาวัคซีนได้ไม่เพียงพอต่อสถานการณ์… ก็ต้องกราบขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วย”
ข้อความเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ที่มาจากรัฐบาลไทยนั้น เมื่อดูจากหลายตัวอย่างแล้วจะพบว่ามักเป็นการโทษประชาชนเป็นหลัก แม้จะมีการออกมาขอโทษบ้างนานๆ ครั้ง แต่ส่วนใหญ่ก็มักจะ ‘ขอโทษแบบขอไปที’ และมักจะบอกว่ารัฐบาลได้ทำเต็มที่อย่างดีที่สุดแล้ว โดยแทบไม่มีการยอมรับว่าตนได้บริหารจัดการผิดพลาดอย่างไรบ้าง
แม้นานๆ ครั้งจะมีการยอมรับข้อผิดพลาดบ้าง เช่นที่ ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติได้ออกมายอมรับว่ามีปัญหาการจัดหาวัคซีน แต่จะมีประโยชน์อะไร ถ้าหลังจากนั้นประเทศไทยยังคงมีปัญหาด้านการจัดหาและกระจายวัคซีนที่เหมือนไม่ได้รับการแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นการกระจายวัคซีนไฟเซอร์บริจาคจากสหรัฐฯ ถึงมือบุคลากรด่านหน้าไม่ครบ หรือกระทั่งมีการสั่งซื้อซิโนแวคมาเพิ่มอีก 10 ล้านโดส ทั้งที่มีข้อกังขาด้านประสิทธิภาพในการป้องกันโรค
ดังนั้น แทนที่จะปฏิเสธข้อผิดพลาดและปัดความรับผิดชอบ เมื่อมีการบริหารจัดการที่ผิดพลาด การออกมายอมรับและขอโทษอย่างจริงใจ ก็เป็นสิ่งที่ดีที่จะบรรเทาความไม่พอใจของประชาชน และไม่ควรเป็นเรื่องที่เกินความคาดหมายของประชาชนด้วย
แต่สิ่งสำคัญยิ่งกว่าคำขอโทษที่น่าฟัง คือการลงมือแก้ไขข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นเพื่อให้สถานการณ์ดีขึ้นอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราอยากเห็นมากกว่าการขอโทษไปเรื่อยๆ
อ้างอิง
https://www.theatlantic.com/science/archive/2016/02/how-to-apologize/470457/
https://www.bbc.com/worklife/article/20200512-why-weve-been-saying-sorry-all-wrong
https://www.bbc.com/news/57611369
https://www.politico.eu/article/dutch-pm-apologizes-for-easing-coronavirus-measures-too-soon/
https://www.cbc.ca/news/canada/toronto/doug-ford-ontario-covid-19-news-conference-1.5997521
https://www.aa.com.tr/en/asia-pacific/japan-health-minister-apologizes-for-tokyo-party/2192507
https://thestandard.co/japans-health-minister-apologizes-for-not-accepting-salary/
https://www.matichon.co.th/politics/news_2550105
Tags: Rule of Law, Confession, การขอโทษ, ยอมรับผิด