เย็นวันที่ 8 พฤศจิกายน 2015 สายฝนทำท่าจะโปรยปรายในเมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า แต่กลุ่มเมฆสีเทาบนท้องฟ้าไม่อาจหยุดยั้งความตั้งใจของประชาชนในเมืองหลวงที่จะมาร่วมฉลองชัยชนะกับผู้นำคนแรกในรอบกว่า 50 ปีที่มาจากการเลือกตั้ง

กลุ่มคนหลายร้อยรวมตัวกันหน้าที่ทำการใหญ่ของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ National League for Democracy (NLD) แม้ผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการจะยังไม่ประกาศออกมา ถนนสายใกล้เคียงคลาคล่ำไปด้วยผู้คน ที่บ้างก็ใส่เสื้อสกรีนรูป ‘ออง ซาน ซูจี’  บ้างใส่เสื้อสีแดง สกรีนภาพนกยูงสีเหลืองกลางอก – สีและสัญลักษณ์ประจำพรรคเอ็นแอลดี

ธงประจำพรรคเอ็นแอลดีไม่ต่ำกว่ายี่สิบผืนที่โบกสะบัดไปในอากาศ บ่งบอกความรู้สึกของประชาชนพม่าในเวลานั้นได้เป็นอย่างดี ความหวังถึงวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่าดูจะอยู่ใกล้แค่เอื้อม เมื่อบุคคลที่ประชาชนพม่ารักและเทิดทูนอย่าง ออง ซาน ซูจี กำลังอยู่ในเส้นทางที่จะขึ้นมาเป็นผู้นำพลเรือนของประเทศที่ตกอยู่ใต้การปกครองของทหารมานานกว่าห้าทศวรรษ

นอกจากประชาชนชาวพม่าซึ่งยินดีปรีดาไปกับชัยชนะถล่มทลายของพรรคเอ็นแอลดีแล้ว ประชาคมนานาชาติที่หนุนหลัง ออง ซาน ซูจี มาโดยตลอดต่างก็มีความหวังว่า สถานการณ์ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในพม่าน่าจะเป็นไปในทางที่ดีภายใต้การนำของผู้นำหญิงคนนี้

จากนักโทษวีรสตรี สู่ผู้นำพลเรือนใต้กองทัพพม่า

เรื่องราวการต่อสู้และชีวประวัติของ ออง ซาน ซูจี ในฐานะวีรสตรีนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยแห่งพม่าปิดฉากลงไปในวินาทีที่เธอรับตำแหน่ง ‘ที่ปรึกษาของรัฐ’ (State Counsellor) อันมีนัยสำคัญว่า เธอคือผู้นำของรัฐบาลพลเรือนแห่งพม่า

ตำแหน่งที่ปรึกษาของรัฐพม่าเป็นตำแหน่งเฉพาะกาลที่กำหนดขึ้นมาหลังจากการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนปี 2015 เพื่อให้ซูจีสามารถดำรงตำแหน่งผู้นำรัฐบาลได้ เพราะมาตรา 59 ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2008 ที่ร่างโดยเผด็จการทหาร กำหนดไว้ชัดเจนว่าคู่ชีวิตและบุตร/ธิดาของประธานาธิบดีพม่าจะต้องไม่ใช่ชาวต่างชาติ ไม่ต้องบอกก็คงรู้กันว่ารัฐธรรมนูญมาตรานี้เขียนขึ้นเพื่อกีดกันซูจีที่มีสามีเป็นชาวอังกฤษและลูกชายสองคนที่ถือสัญชาติอังกฤษ ไม่ให้ขึ้นเป็นประธานาธิบดี

แต่บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญไม่อาจหยุดยั้งลูกสาวของนายพล ออง ซานที่ชาวพม่าถือกันว่าเป็นวีรบุรุษแห่งชาติผู้ปลดปล่อยพม่า ในการขึ้นเป็นผู้นำพลเรือนของพม่า อันเป็นบทบาทใหม่ในฐานะนักการเมืองและผู้นำรัฐบาลโดยพฤตินัย

ซูจีและพรรคเอ็นแอลดีเริ่มงานในฐานะรัฐบาลพลเรือนเมื่อเดือนมีนาคม 2016 ท่ามกลางความท้าทายหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยภายใต้ข้อจำกัดของรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ว่า 25 เปอร์เซ็นต์ของที่นั่งในรัฐสภาจะเป็นของทหารโดยอัตโนมัติ การให้อำนาจแต่งตั้งรองประธานาธิบดีหนึ่งในสองคนว่าต้องแต่งตั้งโดยกองทัพ การสงวนตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กระทรวงกิจการชายแดน และกระทรวงกลาโหมไว้ให้ทหารเท่านั้น

ประชาคมนานาชาติที่หนุนหลัง ออง ซาน ซูจี มาโดยตลอดต่างก็มีความหวังว่า สถานการณ์ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในพม่าน่าจะเป็นไปในทางที่ดีภายใต้การนำของผู้นำหญิงคนนี้

 

นอกจากความท้าทายที่ฝังรากเอาไว้แล้วในกฎหมาย ยังมีเรื่องความขัดแย้งด้านชาติพันธุ์ที่ดำรงอยู่มาอย่างยาวนาน การพัฒนาปัจจัยพื้นฐานและบริการสาธารณะแก่ประชาชนที่แทบจะหยุดชะงักไปโดยสิ้นเชิงในช่วงเวลาที่รัฐบาลทหารครองอำนาจ รวมไปถึงความเกลียดชังระหว่างชาวพุทธและมุสลิมที่แผ่ขยายตัวออกไป โดยมีพระสงฆ์ขวาจัดอย่างวิระธูเป็นแกนนำเผยแพร่ความเกลียดชังต่อชาวมุสลิมและศาสนาอิสลาม จนนำมาซึ่งการออกกฎหมายสี่ฉบับว่าด้วยเชื้อชาติและศาสนา ที่กลุ่มองค์กรสิทธิมนุษยชนมองว่าเป็นการเลือกปฏิบัติอย่างชัดเจนต่อชาวมุสลิมในพม่า

ในเดือนเมษายน 2016 ซูจีเริ่มต้นการเข้ารับตำแหน่งด้วยการประกาศปล่อยตัวนักโทษการเมืองที่ยังถูกคุมขังอยู่ทั้งหมด พม่าเคยเป็นประเทศที่มีจำนวนนักโทษการเมืองสูงถึงกว่า 2,000 คนในช่วงทหารเรืองอำนาจ นักโทษการเมืองบางส่วนได้รับการปล่อยตัวในปี 2014 หลังจากที่กองทัพพม่าเริ่มปรับตัวเข้าหาโลกภายนอกมากขึ้น หลังจากนั้น รัฐบาลของซูจีได้ยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยสถานการณ์ฉุกเฉิน (Emergency Provision Act) ที่รัฐบาลทหารเคยใช้เป็นเครื่องมือในการจับกุมและลงโทษผู้ที่ต่อต้านหรือวิพากษ์วิจารณ์ระบอบเผด็จการ สถานการณ์ในช่วงแรกเริ่มของรัฐบาลพม่าภายใต้การนำของพรรคเอ็นแอลดีเหมือนจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ ออง ซาน ซูจีได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากประชาคมนานาชาติเมื่อเธอกล่าวสุนทรพจน์ ณ ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในเดือนกันยายนปี 2016

เพราะบททดสอบที่แท้จริง คือความขัดแย้งด้านชาติพันธุ์และศาสนาในพม่านั้นยังไม่ปรากฏขึ้น

ชาตินิยมและความขัดแย้งทางศาสนา ข้อสอบอันท้าทาย

ความขัดแย้งด้านชาติพันธุ์ในพม่าไม่ใช่เรื่องใหม่ ชนกลุ่มน้อย เช่น กะเหรี่ยง ฉาน (ไทใหญ่) คะฉิ่น อาระกัน ต่างจับอาวุธขึ้นสู้กับรัฐบาลทหารพม่าเพื่อสิทธิในการปกครองตนเอง แม้กระทั่งปัจจุบัน การสู้รบระหว่างกองกำลังชนกลุ่มน้อยและกองทัพพม่ายังคงดำเนินอยู่ในรัฐฉาน รัฐกะเหรี่ยง และรัฐคะฉิ่น

แต่ความขัดแย้งด้านชาติพันธุ์ที่มีศาสนาเป็นองค์ประกอบ กลายเป็นความท้าทายที่รัฐบาลพลเรือนภายใต้การนำของซูจีต้องเผชิญหลังจากเข้ารับตำแหน่งเพียงไม่กี่เดือน เมื่อกองกำลังปลดปล่อยอาระกันโรฮิงญา (Arakan Rohingya Salvation Army – ARSA) เข้าโจมตีป้อมรักษาความปลอดภัยตามแนวชายแดนพม่า-บังกลาเทศ จนมีเจ้าหน้าที่เสียชีวิต 13 นาย

รายงานของ International Crisis Group ระบุว่า กองกำลังปลดปล่อยอาระกันโรฮิงญานี้ก่อตั้งขึ้นในปี 2012 หลังจากเกิดเหตุจลาจลในรัฐยะไข่ เมื่อมีการปะทะกันของกลุ่มชาวพุทธและชาวมุสลิมโรฮิงญาทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ ก่อนจะตามมาด้วยเหตุจลาจลใหญ่อีกครั้งปี 2013 เมื่อม็อบชาวพุทธและชาวมุสลิมปะทะกันอย่างรุนแรงในมัณฑะเลย์ ก่อนที่ความวุ่นวายจะขยายตัวไปสู่เมืองอื่น

สาเหตุของความขัดแย้งรอบล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อกองกำลังปลดปล่อยอาระกันโรฮิงญาโจมตีป้อมตำรวจ 25 ป้อมในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา กองทัพพม่าและตำรวจรวมถึงชาวพุทธบางส่วนในรัฐยะไข่ตอบโต้การโจมตีครั้งนี้อย่างรุนแรงด้วยการปิดล้อมเขตเมาง์ดอว์ (Muangdaw) ทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ ก่อนจะเริ่มการสังหารอย่างไม่เลือกหน้า รวมทั้งผู้หญิงและเด็ก เผาทรัพย์สินและบ้านเรือนของชาวโรฮิงญา และกีดกันความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมทุกชนิด จนมีรายงานจากในพื้นที่ว่า ชาวโรฮิงญากว่า 400 คนเสียชีวิตจากปฏิบัติการของกองทัพ และกว่า 400,000 คนต้องลี้ภัยไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างบังกลาเทศ ข้อกล่าวหาเรื่องการกวาดล้างกลุ่มชาติพันธุ์ (ethnic cleansing) หรือแม้กระทั่งการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (genocide) พุ่งเป้าไปยังรัฐบาลพม่า

สภาพบ้านเรือนที่ถูกเผา ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในเมาง์ดอว์ ทางตอนเหนือของรัฐยะไข่
(ภาพถ่ายโดย Reuters ถ่ายเมื่อ 12 กันยายน 2017)

 

ชาวบ้านในเมาง์ดอว์ ทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ หอบข้าวของหนีความรุนแรงเพื่อย้ายไปอยู่ที่หมู่บ้านอื่น (ภาพถ่ายโดย Reuters ถ่ายเมื่อ 12 กันยายน 2017)

ท่ามกลางวิกฤตการณ์ในรัฐยะไข่ ทุกสายตาจับจ้องไปที่ซูจีในฐานะผู้นำโดยพฤตินัยของรัฐบาลพลเรือน ความเงียบของซูจีรวมถึงท่าทีก่อนหน้านี้ที่ประกาศจะไม่ให้ความร่วมมือกับคณะแสวงหาข้อเท็จจริงขององค์การสหประชาชาติทำให้หลายฝ่ายผิดหวัง ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพหลายคน เช่น สาธุคุณเดสมอนด์ ตูตู และมาลาลา ยูซาฟไซ ออกมาเรียกร้องให้ซูจีแสดงจุดยืนและเข้าแทรกแซงการปฏิบัติการของกองทัพในรัฐยะไข่

ในวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา ซูจีแถลงต่อหน้าเจ้าหน้าที่ระดับสูง นักการทูต และประชาชนทั้งโลกผ่านการถ่ายทอดสดว่า รัฐบาลพม่าไม่ได้หวาดกลัวการวิพากษ์วิจารณ์จากนานาชาติ และยังประณามการละเมิดสิทธิมนุษยชนและความรุนแรงนอกกฎหมายที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่ แต่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า ตลอดการแถลงครั้งนี้ ซูจีหลีกเลี่ยงการใช้คำว่า “โรฮิงญา” โดยเลี่ยงไปใช้คำว่า “ชาวมุสลิม” แทน นอกจากนี้ ยังมีเรื่องเนื้อหาที่ขัดกันเองในสุนทรพจน์ของซูจี กับข้อสรุปในรายงานคณะกรรมการที่ปรึกษารัฐยะไข่ (Advisory Commission on Rakhine State) ที่ซูจีแต่งตั้งมาเองกับมือ โดยมีโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ เป็นประธานคณะกรรมการ ซึ่งสุนทรพจน์ของซูจีอ้างว่า รัฐบาลพม่าไม่ทราบว่าทำไมชาวมุสลิมในรัฐยะไข่อพยพข้ามเขตแดนไปยังบังกลาเทศ ในขณะที่รายงานของคณะกรรมการฯ ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “ปฏิบัติการของทหารและตำรวจทำให้ชาวมุสลิมหลายหมื่นคนอพยพข้ามไปยังบังกลาเทศ”

ทว่า ขณะที่ประชาคมนานาชาติประณามท่าที ‘แกล้งตาย’ ของออง ซาน ซูจี ประชาชนชาวพม่ายังคงเชื่อมั่นและให้การสนับสนุนผู้นำของพวกเขาอย่างล้นหลาม อดีตผู้นำนักศึกษาและนักโทษการเมือง มิน โก นาย และกลุ่มนักศึกษารุ่น 88 ซึ่งเคยถูกล้อมปราบอย่างเหี้ยมโหดโดยรัฐบาลทหารประกาศสนับสนุนซูจีและรัฐบาลอย่างเปิดเผย รวมถึงกล่าวว่า โรฮิงญาไม่ได้เป็นหนึ่งใน 135 กลุ่มชาติพันธุ์ที่พม่าให้การรับรอง

ผู้ลี้ภัยโรฮิงญาระหว่างรอความช่วยเหลือที่ ค็อกซ์ บาซาร์ ประเทศบังกลาเทศ
(ภาพถ่ายโดย Reuters ถ่ายเมื่อ 20 กันยายน 2017)

เคอ (ขอสงวนชื่อจริง) พนักงานองค์กรพัฒนาเอกชนชาวฉาน กล่าวว่า ตัวเขาเห็นด้วยกับจุดยืนของซูจีและรัฐบาลพม่า “การละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นในทุกหนทุกแห่งและทุกวันในพม่า กองทัพพม่ายังคงใช้กำลังกับชนกลุ่มน้อยในรัฐฉานหรือคะฉิ่น แต่ประชาคมนานาชาติไม่ได้สนใจปัญหาที่เกิดขึ้นในส่วนอื่นของประเทศ สื่อและองค์กรระหว่างประเทศให้ความสำคัญเฉพาะกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่ แต่ดอว์ซู (ออง ซาน ซูจี) ในฐานะผู้นำรัฐบาล จำเป็นจะต้องให้ความสำคัญกับทุกปัญหาในประเทศ และดอว์ซูยังต้องเผชิญกับความกดดันอย่างมากจากกองทัพ ถ้าถามผม ในมุมมองของผม ผมสนับสนุนจุดยืนของดอว์ซูและรัฐบาล”

ส่วนลิน (ขอสงวนชื่อจริง) อดีตผู้นำนักศึกษาอีกคนจากปี 1988 บอกว่า เธอรู้สึก “เจ็บปวดและเหมือนโดนหักหลัง” เมื่อเห็นเพื่อนฝูงที่เคยร่วมกันต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหารจนหลายคนกลายเป็นนักโทษการเมืองและหลายคนต้องลี้ภัยเหมือนตัวเธอ แต่วันนี้กลับเปลี่ยนไปเป็นเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อวาทกรรมชาตินิยมต่อต้านชาวมุสลิมโรฮิงยาของกองทัพ และแสดงจุดยืนที่ตรงข้ามกับสิ่งที่พวกเขาและเธอเคยเชื่อในอดีตอย่างสิ้นเชิง รวมถึงรู้สึกอกหักที่ขบวนการนักศึกษาเคยยกให้ซูจีเป็นตัวอย่างหรือ “ไอดอล” ของขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน

ความเงียบของซูจีรวมถึงท่าทีก่อนหน้านี้ที่ประกาศจะไม่ให้ความร่วมมือกับคณะแสวงหาข้อเท็จจริงขององค์การสหประชาชาติทำให้หลายฝ่ายผิดหวัง

 

วิกฤตโรฮิงญา วิกฤตออง ซาน ซูจี

หากจะเปรียบการดำรงตำแหน่งของรัฐบาลพรรคเอ็นแอลดีและออง ซาน ซูจี เป็นการต่อสู้บนผืนผ้าใบ ก็คงต้องบอกว่า ในระยะเวลา 18 เดือนที่เปรียบเสมือนยกที่หนึ่ง ความท้าทายนานัปการได้รัวหมัดซ้ายขวาใส่หน้ารัฐบาลพลเรือนจนแทบประคองตัวไว้ไม่อยู่

บทบาทของกองทัพพม่าในวิกฤติความขัดแย้งด้านชาติพันธุ์และศาสนา ยิ่งทำให้สถานการณ์ของซูจีและรัฐบาลย่ำแย่ลงไปกว่าเดิม นักวิเคราะห์และผู้ติดตาม ต่างจับตามองภูมิศาสตร์ทางการเมืองครั้งนี้อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเมื่อจีนแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยที่สหราชอาณาจักรและสวีเดนเสนอให้ใช้กลไกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nations  Security Council) เข้าแทรกแซงสถานการณ์ในรัฐยะไข่ เนื่องจากมีหลักฐานของการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ

ประชาคมนานาชาติที่เคยโอบอุ้มซูจีเมื่อครั้งที่เธอตกเป็นนักโทษการเมืองในบ้านของตัวเองกำลังตั้งข้อสงสัยต่อบทบาทของเธอในฐานะผู้นำโดยพฤตินัยของรัฐบาลพม่ากับวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น และมีทีท่าว่าจะดำเนินต่อไป ตราบใดที่ปัญหาความขัดแย้งและการเลือกปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อยยังไม่ได้รับการแก้ไข

ถึงนาทีนี้ ออง ซาน ซูจี อาจจะเหลือทางเลือกไม่มากนักในการเอาตัวรอดจากสังเวียนการเมืองครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดหน้าแลกและต่อสู้กับบทบาทของกองทัพอย่างเปิดเผยซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะถูกน็อกคาเวที หรือจะเต้นวนตั้งการ์ดไปรอบๆ จนเอาตัวรอดได้จนถึงยกสุดท้าย ซึ่งก็คือการเลือกตั้งครั้งหน้าในปี 2020 ท่ามกลางเสียงครหาก่นด่าว่าชกไม่สมศักดิ์ศรี

การตัดสินใจครั้งนี้ของซูจี นอกจากจะเดิมพันด้วยความหวังและอนาคตของประชาชนชาวพม่า 52 ล้านคนซึ่งฝากไว้กับผู้นำที่พวกเขานับถืออย่างสุดซึ้งแล้ว เส้นทางที่ ออง ซาน ซูจี ต้องเลือก คือการถูกจดจำในฐานะนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยหรือการถูกจดจำในฐานะนักการเมืองคนหนึ่งที่ตกอยู่ภายใต้การควบคุมเบ็ดเสร็จของกองทัพ และกลายเป็นเพียงแค่เครื่องมือของกระบวนการฟอกขาวประชาธิปไตยในพม่า

Tags: , , , , , , , , , , , , ,