อย่างที่ได้ข่าวกันมาตลอดว่า หุ่นยนต์เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่มีการพัฒนาก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง การพัฒนานี้เกี่ยวข้องกับประเด็นทางจริยธรรมด้วยว่า เราควรจะมีกรอบสากลเพื่อกำหนดแนวทางในการพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์หรือไม่ และประเด็นทางจริยธรรมอะไรบ้างที่ต้องคำนึงถึง
เทคโนโลยีเกิดขึ้นมาจากความรู้บางอย่าง และเมื่อใช้เทคโนโลยีแล้วย่อมเกิดผลกระทบที่เปลี่ยนแปลงสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตัวอย่างง่ายๆ ที่แสดงให้เห็นว่า เมื่อเริ่มใช้เทคโนโลยีแล้ว การจะเปลี่ยนแปลงหรือเลิกใช้ ถือเป็นเรื่องยาก เช่น พลังงานไฟฟ้า ซึ่งเป็นพลังงานสารพัดประโยชน์ที่สามารถแปรรูปเป็นพลังงานรูปแบบอื่นๆ ได้ ถ้ามีพลังงานอื่นมาแทนที่ไฟฟ้า ก็หมายความว่า ระบบเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหมดที่เรารู้จักก็ต้องเปลี่ยนไปด้วย นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งว่า เทคโนโลยีมีผลกับสังคมมาก มันคือระบบของเทคโนโลยีที่อยู่รอบตัวเราอย่างแนบเนียนจนเราลืมนึกถึงมันไป
การพิจารณาเรื่อง ‘จริยธรรมของหุ่นยนต์’ จะนำไปสู่การออกแบบเทคโนโลยีที่เกิดผลเสียน้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ซึ่งเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการโลกว่าด้วยจริยธรรมในความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (World Commission on Ethics of Scientific Knowledge and Technology) ภายใต้ ยูเนสโก จึงจัดการประชุมเรื่องจริยธรรมหุ่นยนต์ขึ้น โดยมีนักปรัชญาเทคโนโลยีและนักปรัชญาที่ทำงานด้านจริยธรรมหุ่นยนต์คนสำคัญเข้าร่วม หนึ่งในนั้นคือ มาร์ค คูเคอร์เบิร์ก (Mark Coeckelbergh) ศาสตราจารย์ด้านปรัชญาเกี่ยวกับสื่อและเทคโนโลยี ผู้เชี่ยวชาญประเด็นจริยธรรมหุ่นยนต์ จากมหาวิทยาลัยเวียนนา
ผลงานของ มาร์ค คูเคอร์เบิร์ก ที่น่าสนใจเช่น สิทธิหุ่นยนต์ (Robot Rights? Towards a Social-Relational Justification of Moral Consideration (2010)) หุ่นยนต์สามารถสร้างงานศิลปะได้หรือไม่ (Can Machines Create Art? (2016)) เราไว้ใจหุ่นยนต์ได้หรือไม่? (Can we trust robot? (2012))
เว็บไซต์ Social Trends Institute เผยแพร่บทสัมภาษณ์ มาร์ค คูเคอร์เบิร์ก เป็นบทความชื่อ ‘Robot Ethics’ Is Not an Oxymoron: ‘จริยธรรมหุ่นยนต์’ ไม่ใช่แค่การเล่นคำ
มาร์คมองว่า ประเด็นสำคัญที่เราควรจะพิจารณาเกี่ยวกับเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ไม่ใช่เรื่องที่ว่าหุ่นยนต์จะก้าวหน้าจนทัดเทียมมนุษย์หรือไม่ แต่ปัญหาที่เร่งด่วนกว่าคือ การพัฒนาหุ่นยนต์ควรจะคำนึงถึงประเด็นทางจริยธรรมด้วย และผู้ที่มีอำนาจกำหนดนโยบายก็ควรจะตื่นตัวกับมิติทางจริยธรรมของหุ่นยนต์ เพราะมันจะช่วยลดผลเสียที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และท้ายที่สุด เมื่อเทคโนโลยีถูกใช้ในสังคม หน้าที่การพิจารณาเทคโนโลยีอย่างมีจริยธรรมไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วน
เนื่องจากเป็นประเด็นที่น่าขบคิดและถกเถียง ผู้เขียนจึงได้ขออนุญาตต้นทาง เพื่อนำบทสัมภาษณ์บางส่วนมาแปลและเผยแพร่ลงในที่นี้
คุณไปพูดในงานของยูเนสโกเกี่ยวกับเรื่องจริยธรรมหุ่นยนต์ ยูเนสโกเกี่ยวข้องอะไรกับเรื่องนี้?
ยูเนสโกมีงานในส่วนของคณะกรรมการโลกด้านจริยธรรมของความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี COMEST (World Commission on Ethics of Scientific Knowledge and Technology) ที่เพิ่งจะเผยแพร่รายงานด้านจริยธรรมหุ่นยนต์ ผมคิดว่ามันสำคัญที่นานาชาติและองค์การประชาชาติจะทำงานและพัฒนานโยบายในด้านนี้
ตอนนี้เป็นช่วงเวลาเหมาะที่ผู้กำหนดนโยบายจะหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมา และยังมีความสนใจจากสาธารณะในเรื่องปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ แต่การเร่งรีบในประเด็นนี้ก็สร้างปัญหาได้เช่นกัน
คุณหมายถึงปัญหาจริยธรรมอะไรบ้าง?
ปัญหาที่เทคโนโลยีสารสนเทศต่างๆ มีร่วมกัน ก็เช่นเรื่องความเป็นส่วนตัวกับปัญหาความมั่นคง รวมทั้งปัญหาการเสพติดด้วย ก็อย่างที่เรารู้กันว่า โทรศัพท์และอัลกอริธึมทำให้เรารู้สึกราวกับว่าจะขาดมันไม่ได้ พวกมันถูกสร้างมาเพื่อให้เป็นแบบนั้น มันเป็นส่วนหนึ่งของรูปแบบทางธุรกิจที่แข่งกันเรียกร้องความสนใจ (attention economy) ยิ่งเราคลิกมากเท่าไร บริษัทก็จะได้กำไรมากขึ้นเท่านั้น
แต่ผมเน้นไปที่เรื่องเกี่ยวกับหุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ และเทคโนโลยีเครื่องจักรอัตโนมัติ ซึ่งมีประเด็นอย่าง การเป็นเจ้าของการกระทำและอัตตาณัติ นั่นคือ เมื่อหุ่นยนต์เข้ามาทำหน้าที่บางอย่างแทนคน เราจะสูญเสียการเป็นเจ้าของงานนั้นหรือเปล่า? มันจะมาทำงานแทนเราได้หรือเปล่า? หรือเราสามารถที่จะร่วมงานกับหุ่นยนต์โดยไม่เกิดปัญหาได้หรือเปล่า และถ้าหากรถยนต์ไร้คนขับเกิดอุบัติเหตุจะถือเป็นความรับผิดชอบของใคร? สถานภาพทางศีลธรรมของหุ่นยนต์คืออะไร? ถ้าเราไปเตะมันจะผิดหรือเปล่า?
ประเด็นพวกนี้คืองานที่ผมทำมาอย่างต่อเนื่องตลอดสิบปีที่ผ่านมา อีกเรื่องหนึ่งคือ เทคโนโลยีเครื่องจักรมันสร้างระยะห่างหรือไม่ เช่น ในโลกของการเงิน มีช่องว่างระหว่างนักลงทุนกับคนที่ได้รับผลกระทบจากการตัดสินใจของพวกเขาหรือไม่ และเราจะจัดการกับผู้ใช้เทคโนโลยีที่มีความอ่อนไหวเช่น เด็ก หรือผู้สูงอายุบางกลุ่มที่จะต้องเกี่ยวข้องกับหุ่นยนต์อย่างไร เช่นด้านสุขอนามัย? ประเด็นเกี่ยวกับเพศ เช่น ถ้าต้องสร้างเสียงและรูปร่างให้หุ่นยนต์คล้ายมนุษย์ จะให้ออกมาเป็นเพศอะไร?
เมื่อหุ่นยนต์เข้ามาทำหน้าที่บางอย่างแทนคน เราจะสูญเสียการเป็นเจ้าของงานนั้นหรือเปล่า? มันจะมาทำงานแทนเราได้หรือเปล่า? หรือเราสามารถที่จะร่วมงานกับหุ่นยนต์โดยไม่เกิดปัญหาได้หรือเปล่า
มีปัญหาหลายอย่างเลยทีเดียว
มีคำถามมากมายและหาคำตอบไม่ได้ง่ายๆ นักปรัชญาจะช่วยวิเคราะห์ประเด็นเหล่านี้
แล้วจากนั้น ก็นำเสนอให้ผู้ออกนโยบายซึ่งอาจจะออกกฎระเบียบในการจัดการหุ่นยนต์ใช่มั้ย?
แน่นอน แต่ปัญหาคือผู้กำหนดนโยบายและนักปรัชญามักจะทำอะไรเกี่ยวกับกับกฎหมายและหลักการช้าเกินไป เทคโนโลยีมันออกมาใช้แล้ว ผมเสนอให้ต้องมีจุดยืนทางจริยธรรมในเชิงรุก สอดแทรกการไตร่ตรองเรื่องจริยธรรมและประเด็นทางสังคมเข้าไปอยู่ในกระบวนการพัฒนาของเทคโนโลยี และประเด็นจริยธรรมที่อยู่ในกระบวนการคิดค้นนวัตกรรม ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ดีสำหรับจริยธรรมและดีสำหรับธุรกิจด้วย
ผมนึกถึงกรณีของโฟล์คสวาเกน (กรณีที่หุ่นยนต์ในโรงงานโฟล์คสวาเกนฆ่ามนุษย์ในโรงงานรถยนต์ที่เยอรมนี) ถ้าหากคนที่อยู่ในแวดวงธุรกิจและเทคโนโลยีไม่คำนึงถึงจริยธรรม ก็อาจจะเกิดความผิดพลาดมหันต์แก่บริษัทและสังคมได้ หน่วยงานทั้งเล็กใหญ่ที่กำลังสร้างสรรค์เทคโนโลยีเพื่ออนาคต จำเป็นต้องร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญด้านจริยธรรม นักสังคมศาสตร์ และบุคคลอื่นๆ เพื่อให้แน่ใจได้ว่า งานและเทคโนโลยีนั้นให้ประโยชน์แก่สังคมในทางที่ดีขึ้น ลำพังผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิคและผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจนั้นไม่เพียงพอ ผมจึงพยายามที่จะเสนอทัศนะเชิงบวก มากกว่าจะต่อต้านเทคโนโลยีหรือต่อต้านธุรกิจ
หน่วยงานทั้งเล็กใหญ่ที่กำลังสร้างสรรเทคโนโลยีเพื่ออนาคต จำเป็นต้องร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญด้านจริยธรรม นักสังคมศาสตร์ และอื่นๆ เพื่อให้แน่ใจได้ว่า งานและเทคโนโลยีนั้นให้ประโยชน์แก่สังคมในทางที่ดีขึ้น
ทัศนะที่เสนอเป็นเรื่องด้านลบตลอดรึเปล่า
ที่ผ่านมา นักปรัชญาหลายคนที่วิพากษ์วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสังคม ได้เสนอมุมมองอนาคตแบบดิสโทเปียว่า จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเทคโนโลยีล้ำสมัยครอบงำสังคม และมักมีความรู้สึกว่าเทคโนโลยีกำลังคุกคาม หรือคาดการณ์ว่าเทคโนโลยีจะเข้ามาครอบงำ
แต่ผมคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องสร้างสิ่งใหม่ๆ เปิดกว้างให้กับโอกาสทางนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งช่วยเปิดประสบการณ์ของมนุษย์ และเปิดกว้างต่อคุณค่าความเป็นมนุษย์ งานปรัชญามีส่วนช่วยตรงนี้
แล้วมันจะสำคัญกับยูเนสโกอย่างไร?
โดยธรรมชาติ ปัญหาของเทคโนโลยีใหม่เป็นปัญหาของโลก เราจะต้องมีทางแก้ปัญหาในระดับโลกเช่นกัน เราต้องมีนโยบายระดับโลกด้านหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ ผมชอบสิ่งหนึ่งในยูเนสโก คือยูเนสโกรับฟังความรู้ด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และเชื่อมโยงกับผู้คนในภาคศิลปะและวัฒนธรรม จึงมีบทบาทเฉพาะซึ่งมีศักยภาพสำคัญชักนำคนในส่วนต่างๆ มาร่วมกันคิดถึงเทคโนโลยีในมุมใหม่และสร้างสรรค์
องค์กรระหว่างประเทศอย่างยูเนสโกยังสามารถเปิดมุมมองที่ไม่ได้มาจากโลกตะวันตก ซึ่งบางที ในบางบริบท ปัญหาเทคโนโลยีขั้นต่ำเป็นเรื่องสำคัญยิ่งกว่า เช่น เรื่องน้ำสะอาด ไฟฟ้า อาหาร เป็นต้น การใช้และความหมายของเทคโนโลยีขึ้นอยู่กับบริบททางวัฒนธรรม เราจะต้องการมุมมองที่แสดงให้เราเห็นถึงความหลากหลายระหว่างสังคมและภูมิภาคต่างๆ ในโลก ไม่เช่นนั้น ความคิดเกี่ยวกับเทคโนโลยีของเราก็จะเป็นแบบยึดอยู่กับมุมมองแค่ด้านเดียว ตัวอย่างเช่น เมื่อคิดเรื่องหุ่นยนต์ มันไม่ควรจะเป็นเรื่องงานอดิเรกของคนรวยในยุโรปและอเมริกา (หุ่นยนต์เป็นเพื่อนในบ้าน companion robot, sexbot- ผู้แปล) แต่เรื่องหุ่นยนต์ควรจะเกี่ยวข้องกับสังคมและการเมือง เช่น ปัญหาเกี่ยวกับสงคราม-สันติภาพ ปัญหาด้านสังคมและเศรษฐกิจ
ในเดือนกุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ ผมจัดงานเชื่อ ‘ปรัชญาหุ่นยนต์ 2018’ (Robophilosophy 2018) ซึ่งเป็นงานใหญ่ที่ผมอยากมุ่งประเด็นไปที่การเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ลองคิดถึงการทำงานในอนาคต เทคโนโลยีเครื่องจักรจะต้องมีรายได้ขั้นพื้นฐานหรือไม่? ลองคิดถึงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล จากมุมมองด้านเพศวิถีศึกษา เรายอมรับให้มีหุ่นยนต์บำเรอกามได้หรือไม่ หุ่นยนต์ไม่เพียงแต่เป็นเรื่องของเครื่องจักรกับจิตใจของเราเท่านั้น แต่มันรวมไปถึงสังคมและโลกในแบบที่เราอาศัยอยู่ด้วย
ดูเหมือนช่วงนี้คุณจะมีงานยุ่งแล้วจะมีอะไรต่อ
ผมกำลังจะไปพูดเกี่ยวกับความสร้างสรรค์และการปรับเปลี่ยนจากปัญญาประดิษฐ์ มีเพียงมนุษย์เท่านั้นที่จะมีความคิดสร้างสรรค์หรือไม่? จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อหุ่นยนต์ทำการแสดง? มันนับเป็นการแสดงได้หรือไม่? แล้วถ้าหากหุ่นยนต์กับมนุษย์ร่วมกันทำ งานนั้นจะมีความหมายอย่างไร? หุ่นยนต์จะนับเป็นบุคคลเสมือนมนุษย์คนอื่นในสังคม เป็นเหมือนหุ้นส่วนในสังคมโลกได้หรือไม่? ทำไมถึงไม่ได้? ผมจะต้องไปพูดสามครั้ง จากนั้นบินไปที่บรัสเซล ซึ่งสภาของเบลเยียมเชิญไปให้ความเห็นเกี่ยวกับจริยธรรมของอาวุธอัตโนมัติ
เป็นประเด็นสำคัญอีกเช่นกัน
ใช่ สหประชาชาติก็ให้ความสนใจเรื่องเหล่านี้เช่นกัน เป็นเรื่องธรรมดาที่เทคโนโลยีได้สร้างปัญหาระดับโลก และต้องมีทางแก้ปัญหาระดับโลก ไม่เพียงแต่ความสนใจจากองค์กรระดับรัฐบาลเท่านั้น ผมยังเสนอเหตุผลว่า สถาบันอื่นๆ ก็ควรเข้ามามีบทบาทด้วย เราไม่ควรคิดว่ารัฐจะสามารถแก้ปัญหาได้ทุกแง่มุม ผมเสนอให้ผู้กำหนดนโยบายในองค์กรระหว่างประเทศและระดับรัฐบาลไม่จัดระเบียบเทคโนโลยีแบบบนลงล่างเท่านั้น แต่ควรจะมองไปที่การสนับสนุนให้มีการริเริ่มในระดับล่างด้วย รวมทั้ง ผู้มีบทบาทในภาคสังคม ประชาชนที่มีส่วนร่วม และแน่นอน รวมนักวิทยาศาสตร์ด้วย
ผู้กำหนดนโยบายควรทำอะไรและคุณคิดว่ายูเนสโกควรทำอะไร
ในตอนท้ายของการประชุมที่ยูเนสโก ผมเสนอต่อตัวแทนสมาชิกประเทศต่างๆ ให้คิดถึงสิ่งที่พวกเขาทำได้ และเน้นให้เห็นความเร่งด่วนในการสร้างวิสัยทัศน์และนโยบายร่วมกัน ตอนนี้ยูเนสโกมีส่วนช่วยในการรวมผู้คนเข้าด้วยกันและพัฒนานโยบายร่วมกัน มันช่วยสร้างสำนึกและริเริ่มกระบวนการใหม่ในทิศทางเดียวกันนี้ แต่ในระดับรัฐ ระดับภูมิภาค รวมไปถึงองค์กรอิสระและนักการเมืองท้องถิ่น จะต้องช่วยกันนำเรื่องนี้ไปเป็นส่วนหนึ่งของบริบทที่เกี่ยวกับผลพวงของเทคโนโลยี ทุกๆ คนเป็นผู้ที่มีส่วนได้เสียร่วมกัน ทุกคนควรจะรู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง และควรจะเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องและขบคิดเกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่
Tags: information technology, philosophy, ethics, AI, ปัญญาประดิษฐ์, Robot, หุ่นยนต์, Technology, จริยธรรม