“คนกลุ่มหนึ่งเชื่อว่าต้องวางระเบิดถึงจะเกิดความสงบ ในขณะที่อีกกลุ่มก็เชื่อว่าต้องไม่ให้มีการวางระเบิดสังคมจึงจะสงบ” นี่คือสิ่งที่ อนีส นาคเสวี ค้นพบ หลังจากทำงานศิลปะเกี่ยวกับสันติภาพในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ตลอดระยะเวลาเกือบสองทศวรรษ
ความหมายของคำว่าสันติภาพไม่ได้มีเพียงหนึ่งเดียวแบบที่หลายคนรวมทั้งตัวเขาเองเคยเข้าใจ แต่มันถูกตีความไปตามมุมมองและปูมหลังของแต่ละคน ซึ่งนั่นหมายความว่า มันเป็นไปได้ยากที่จะทำให้ทุกคนที่มาจากหลากหลายพื้นที่และวัฒนธรรมจะมองสันติภาพในมิติเดียวกัน
สิ่งนี้ทำให้เขาคิดว่า ถึงเวลาที่เขาควรจะเปลี่ยนหัวข้อพูดในงานศิลปะของเขาเสียที
เมื่อต้นปี อนีสซึ่งเกิดและเติบโตในปัตตานี ร่วมงานกับ วลัย บุปผา นักมานุษยวิทยาทัศนา และอาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ริเริ่มโครงการ Pattani Landlord หรือ “ปัตตานี แลนด์หลอด” เพื่อกระตุ้นให้คนท้องถิ่นได้ตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมผ่านหลอดพลาสติกใช้แล้ว
เราได้เจอกับอนีส เจ้าของร้านกาแฟ RIP (ย่อจากคำว่า Rest in Pattani เล่นคำกับคำว่า Rest in Peace) โดยบังเอิญ ป้ายขนาดใหญ่เท่ากำแพงร้านชวนสะดุดตา เล่าถึงความเป็นมาของโครงการ Pattani Landlord ที่มีสองความหมาย
![](https://themomentum.co/wp-content/uploads/2018/11/อนีส-นาคเสวี-โดย-อนีส-นาคเสวี.png)
อนีส นาคเสวี
ความหมายแรกคือ landlord ที่มีความหมายตรงไปตรงมา คือ “เจ้าของบ้าน” ซ่อนนัยยะว่า ในฐานะเจ้าบ้าน คุณจะทำอย่างไรเพื่อให้บ้านเมืองดีขึ้น และในความหมายที่สอง การพ้องเสียงคือ “หลอด” ที่เกิดจากการใช้งานในเมืองนี้เอง
อนีสพยายามแสดงให้คนปัตตานีมองเห็นว่า ทุกคนมีส่วนร่วมในการเพิ่มขยะพลาสติกอย่างไร และเราต่างใช้หลอดมากมายแค่ไหนในแต่ละวัน แล้วจะทำอย่างไรเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาลดการใช้พลาสติกได้
ถ้านึกไม่ออกว่าเราใช้พลาสติกมากแค่ไหน ก็ลองนึกถึงข่าววาฬเพศผู้เกยตื้นด้วยอาการป่วยหนักบริเวณปากคลองนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาจนกระทั่งเสียชีวิต ในอีกเกือบหนึ่งสัปดาห์ผ่านไป ผลผ่าพิสูจน์พบขยะพลาสติกในกระเพาะอาหารของเจ้าวาฬโชคร้ายมากถึง 80 ชิ้น (ซึ่งก่อนหน้านั้นได้ขย้อนออกมาแล้ว 5 ชิ้น) รวมน้ำหนักถึง 8 กิโลกรัม และนั่นก็ไม่ใช่สัตว์น้ำตัวแรกที่ต้องเสียชีวิตจากการ “บริโภค” พลาสติก
ประเทศไทยเป็นหนึ่งในห้าประเทศ (จีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม) ในเอเชียที่ทิ้งขยะลงสู่มหาสมุทรมากที่สุดในโลก นั่นคือประมาณ 60 เปอร์เซนต์ของขยะพลาสติกในมหาสมุทรที่มีราวๆ 8 ล้านตัน
ที่มาของงานปัตตานีแลนด์หลอด เกิดขึ้นหลังจากที่อนีสทำงานศิลปะที่รณรงค์เรื่องสันติภาพมาตั้งแต่ปี 2548 แต่ก็พบว่า เวลาที่คนส่วนใหญ่พูดเรื่องสันติภาพ มักไปเน้นในแง่ของการเมือง แต่ก็พบว่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา การเรียกร้องเรื่องสันติภาพคงไม่สามารถเห็นผลความเปลี่ยนแปลงในเร็ววัน และคุณภาพชีวิตก็ไม่ได้ดีขึ้นนัก อนีสจึงรู้สึกว่า มันจำเป็นที่น่าจะพูดถึงหัวข้อใหม่ๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตบ้าง ซึ่งเรื่องสิ่งแวดล้อมก็ถือเป็นจุดร่วมที่ทุกคนน่าจะมองเห็นประเด็นสิ่งแวดล้อมหรือความสะอาดของบ้านเมืองในแบบเดียวกัน
เขาจึงเริ่มจัดแสดงงาน Inst(r)a(w)llation ขึ้นที่ร้านกาแฟของเขา งานดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของงานแสดงศิลปะ Bangkok Biennial ที่จัดขึ้นในหลายจังหวัดและจบลงเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ในงานแสดงดังกล่าว เขาได้นำหลอดพลาสติกใช้แล้วมาตัดเป็นชิ้นเล็กๆ ยาวประมาณครึ่งนิ้ว ยัดไส้ผ้าที่เย็บเป็นรูปวาฬและเต่า และในปัจจุบันถูกทำในรูปแบบหมอนอิง (ยัดไส้หลอดใช้แล้ว) พิมพ์คำว่า Pattani Landlord บนปลอกหมอน
นับตั้งแต่เริ่มโครงการเมื่อต้นปีที่ผ่านมา เขาผลิตหมอนไปแล้ว 20 ใบ แต่ละใบใช้หลอด 450 ชิ้น นำมาตัดเป็นชิ้นเล็กๆ ยาวประมาณครึ่งนิ้ว นั่นหมายถึงหลอดถูกนำกลับมาใช้อีกครั้งแล้ว 9,000 ชิ้น และในร้านเขายังมีหลอดใช้แล้วเตรียมพร้อมทำเป็นไส้หมอนอิงอีกหลายใบ
อนีสเล่าว่า การทำความสะอาดหลอดคือความยากของการนำหลอดใช้แล้วกลับมาตัดเป็นชิ้นเล็กๆ ยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตรเพื่อทำเป็นไส้หมอน เพราะการทำความสะอาดหลอดต้องทำในทันทีที่ใช้เสร็จ
ในช่วงแรกของการทดลอง เขารู้สึกเกรงใจร้านเครื่องดื่มอื่นๆ ประมาณ 10 ร้านที่ยอมแยกหลอดมาบริจาคให้ทำไส้หมอน จึงอาสาที่จะทำความสะอาดเองที่ร้าน แต่การทิ้งเวลาไว้นานทำให้การทำความสะอาดหลอดเป็นไปได้ยากเพราะคราบเครื่องดื่มที่ติดอยู่ภายในแล้ว ยังทำให้เศษอาหารที่ติดอยู่ข้างในเน่าเสียจนส่งกลิ่นเหม็นและเกิดหนอนด้านใน จนต้องทิ้งหลอดชุดนั้นไปทั้งหมด
ปัจจุบัน เขาจึงขอให้สองร้านที่ร่วมโครงการช่วยทำความสะอาดหลอดให้ทันทีหลังใช้ และในบ่ายวันที่เราแวะไปคุยกับอนีส ก็มีเจ้าของร้านที่สาม ยินดีที่จะล้างหลอดใช้แล้วที่ร้านมาให้เขานำกลับมาใช้อีกครั้งในโครงการนี้ทั้งหมดนี้ เพื่อให้ชาวบ้านตระหนักถึงขยะพลาสติกจำนวนมหาศาลในท้องทะเลที่เกิดการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้ง เหมือนที่ศิลปินหลายกลุ่มและหลายองค์กรได้ทำขึ้นทั่วโลก แต่เขาก็คิดอีกทีว่า มันคงดูไม่ค่อยจะสมเหตุสมผลสักเท่าไรเพราะชาวบ้านในปัตตานีสักกี่คนจะเคยเห็นวาฬ แต่คนปัตตานีน่าจะคุ้นเคยกับภาพฝูงแพะที่มาคุ้ยกองขยะแล้วกินพลาสติกเพราะเข้าใจผิดว่าเป็นอาหารเสียมากกว่า เขาจึงมีแนวคิดที่จะใช้แพะเป็นสัญลักษณ์ที่จะกระตุ้นการรับรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมของคนท้องถิ่น
การที่เขานำหลอดกลับมาใช้งานอีกครั้งเพราะเขามองว่า การรีไซเคิลหรืออัพไซเคิลพลาสติกไม่ใช่ทางออกของการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกล้นโลก แต่เขาก็อธิบายอย่างเป็นเหตุเป็นผลว่า เพราะสินค้าที่ได้จากการรีไซเคิลหรืออัพไซเคิลส่วนใหญ่มักมีราคาสูงเกินเอื้อมถึงแล้วต่อให้คุณรัก(ษ์)โลกแค่ไหน “คุณก็ไม่ซื้อใช้อยู่ดี” เพราะฉะนั้นทางออกของมันคือการใช้เท่าที่จำเป็น
แต่การเป็นผู้ร่วมก่อตั้งโครงการปัตตานีแลนด์หลอดก็ไม่ได้แปลว่าเขาเลิกใช้หลอดอย่างสิ้นเชิง แน่นอนว่าร้านกาแฟของอนีสก็ยังคงต้องมีหลอดไว้คอยบริการลูกค้า แต่ทางร้านกันมาใช้วิธีพยายามสื่อสารกับลูกค้าด้วยป้ายในร้าน หรือสอบถามลูกค้าทุกครั้งเพื่อให้แน่ใจว่าทุกคนจะใช้หลอดเท่าที่จำเป็นเท่านั้น เพราะฉะนั้นอย่าได้รำคาญถ้าอนีสจะถามคุณว่า “รับหลอดไหม” ทุกครั้งที่คุณสั่งเครื่องดื่ม
Tags: ปัตตานีแลนด์หลอด, Pattani Landlord