DEMOCRACIES

D OCR IES

D IE

ถ้อยความ DEMOCRACIES ถูกกร่อนจนเหลือเพียงคำว่า DIE ปรากฏชัดบนผืนกระดาษสีขาว แดงและน้ำเงิน เช่นเดียวกันกับข้อความอีกมากมายที่ทยอยถูก ‘กร่อน’ ตัวอักษรและสระจนเปลี่ยนรูปแบบและความหมายไปโดยสิ้นเชิง และความหมายยิ่งถูกเน้นย้ำมากขึ้นเมื่อทุกข้อความล้วนแล้วแต่เล่าเรื่องราวของสิทธิและเสรีภาพอันจำกัดจำเขี่ย ทั้งที่เกิดขึ้นในไทยและต่างประเทศ

น่าสนใจที่ว่า ณัฐ — ณัฐวุฒิ สิริเดชชัย เจ้าของนิทรรศการศิลปะ RIGHTS | TYPE ที่คาฬวิท สตูดิโอ แอนด์ แกลเลอรี่ ได้ไอเดียความคิดที่จะบอกเล่าถึงสิทธิและขบวนการเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิภายหลังจากการไปทำงานอยู่ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา แล้วจึงค่อยสะท้อนกลับมามองยังประเทศบ้านเกิด ที่แม้ในโมงยามที่เขาออกเดินทาง -โดยตั้งเป้าไปเรียนภาษา- เมื่อปี 2009 ไทยจะยังไม่ระส่ำระสายจากแรงบีบอัดทางการเมืองและเรื่องของเสรีภาพมากนัก แต่พ้นจากห้วงเวลานั้นนานอีกทศวรรษ ข่าวคราวการเมือง การเคลื่อนไหวและการต่อสู้ของทั้งโลกฝั่งตะวันตกและที่บ้าน กอรปสร้างให้ณัฐมองเห็นแง่มุมบางอย่างที่เขาไม่เคยเห็นมาก่อน… หรืออาจจะเห็นแต่ไม่ได้จ้องมองมันอย่างเนิ่นนานมากพอ

ขวบปีแรกๆ ณัฐกรุยทางสาขาอาชีพตัวเองด้วยการเป็นดีไซเนอร์ และพบว่าแม้มันจะหล่อเลี้ยงชีพและครอบครัวได้ แต่ดูเหมือนจะยังส่งแรงไปไม่ถึงส่วนของชีวิตจิตใจ “เป็นดีไซเนอร์ก็ทำงานตามโจทย์ที่ลูกค้ามอบหมายมาครับ แล้วเราก็รับงานศิลปะมาเสริมๆ เพื่อสนองตัณหาตัวเอง” ณัฐหัวเราะลงท้ายประโยค “เราก็พยายามหาตัวเองอยู่พักนึงแหละ พอดีไปบ้านเพื่อนแล้วเห็นเครื่องพิมพ์ดีด ซึ่งตอนเด็กๆ เราชอบเล่นพิมพ์ดีดอยู่แล้วแหละ แต่มันก็เล่นไปโดยไม่ได้คิดอะไร แล้วเราก็ลองพิมพ์เป็นรูปร่างสี่เหลี่ยมดู ก็เห็นว่ามันเป็นรูปได้นะเลยลองศึกษามันมากขึ้น”

นั่นคือจุดกำเนิดแรกที่ทำให้ณัฐเห็นว่าตัวอักษรพิมพ์ดีดหรือ Typewriter สามารถเล่าถูกดัดแปลงให้มีความหมายอื่นได้มากกว่าการเป็นตัวอักษรเพียงอย่างเดียว ทั้งจากความสนใจที่เขาชอบตัวอักษรพิมพ์ดีดเป็นการส่วนตัว และโดยตัวพิมพ์ดีดเองเป็นตัวอักษรที่เคยรุ่งเรืองมาก่อนและจากไปในยุคที่คอมพิวเตอร์มาถึง ความรุ่งโรจน์และความเสื่อมสลายของมันจึงเป็นเรื่องที่ชวนให้ณัฐสนใจอยู่ไม่น้อย “ผมพบว่าศิลปะแบบ Typewriter Art มันเป็นศิลปะยุค 60s-70s แต่มันตายไปในช่วง computer period แล้วก็มีช่วงหนึ่งเลยที่ศิลปินจะสร้างงาน ส่วนใหญ่เป็นบทกวีนี่แหละ ผ่านตัวอักษรแบบพิมพ์ดีดโดยเอามาเล่นกับรูปร่างหรือ shape ของภาพ”

ณัฐขยายความว่า ความสนใจที่มีต่องานศิลปะของเขานั้นขยายขอบเขตมากขึ้นในวันที่เขาเดินทางไปถึงสหรัฐฯ “พอไปถึงที่นั่นเราได้ดูงานศิลปะเยอะมาก แล้วอย่างหนึ่งเลย เราพบว่าเขาพูดเรื่องสิทธิกันเป็นเรื่องปกติ ทั้งเรื่องพวกสิทธิเสรีภาพของมนุษย์ ไม่ว่าจะเรื่องสีผิว เพศ หรือเรื่องความเชื่อ เราเลยรู้สึกว่าเรื่องสิทธิมันสำคัญนะ”

นั่นคือประกายแรกที่วาบสว่างขึ้นมาให้เขาสนใจอยากทำนิทรรศการที่พูดถึงเรื่องสิทธิเสรีภาพ บวกรวมกับสภาพแวดล้อมที่ขับเน้นให้เขารู้สึกว่า สิทธิแห่งการออกความเห็น ตั้งคำถามของมนุษย์นั้นล้วนเป็นหลักวัดระดับสุขภาพของแต่ละประเทศ “ที่อเมริกา ผมมีเพื่อนที่เป็นเกย์เยอะมาก หัวหน้าผมก็เป็นเกย์กลุ่มแรกๆ เลยที่ได้แต่งงานที่อเมริกา ตัวเขาเป็นคนขาว สามีเขาเป็นคนดำ แล้วเมื่อสัก 35 ปีที่แล้วเขาไปรับอุปการะเด็กมาคนหนึ่ง ทุกวันนี้เด็กคนนั้นอายุเท่าผมแล้ว เขาสู้เรื่องสิทธิ LGBT มานานแสนนานแล้ว เราเห็น รู้มาและอยากสะท้อนมันออกมาในงานตัวเอง มันอยู่รอบตัวเราเลย คือตัวผมเองน่ะไม่ได้ถูกกดขี่ข่มเหงอะไรหรอก มากหน่อยก็แค่ไปสถานที่ท่องเที่ยวนอกเมืองบางแห่งแล้วโดนแซวว่าเป็นไชนีส มีเด็กๆ มาชี้บ้าง นั่นคือก็เท่านั้นเอง แล้วตอนผมไปอเมริกาแรกๆ เจอช่วงที่คนเพศเดียวกันยังแต่งงานกันไม่ได้ ข้ามมาจนตอนนี้ที่เขาแต่งงานกันได้แล้ว ผมก็รู้สึกว่ามันดีจังเลย มันเปลี่ยนไปในทางที่ดี เราอยากเล่าอะไรตรงนี้ว่าสิทธิมันคือแบบนี้แหละ

“แล้วตัวผมแค่อยากทำงานที่สะท้อนหรือพูดเรื่องสิทธิเฉยๆ ไม่ได้ตั้งใจจะพูดเรื่องการเมืองแต่แรก แต่มันดันไปเชื่อมกับการเมืองไทยได้พอดี ซึ่งผมเป็นคนสนใจข่าวการเมืองมากๆ มาตั้งนานแล้ว เลยคิดว่าน่าจะดีนะที่ได้ทำ”

ภายหลังจากสั่งสมความสนใจ ณัฐจึงขยับก้าวแรกในการทำนิทรรศการ RIGHTS | TYPE เล่าเรื่องจากตัวอักษรพิมพ์ดีดสู่รูปร่างและภาพเหมือนที่เรียงร้อยมาจากกลุ่มคน 30 คนจากหลากหลายอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นคนทำหนัง นักเคลื่อนไหวทางสังคมหรือสื่อมวลชน ด้วยคำถามเรียบง่ายและรายล้อมอยู่รอบตัวเราทุกลมหายใจว่า “อะไรคือสิทธิพื้นฐานที่คุณคิดว่าขาดหายไปจากสังคมในปัจจุบัน?” ก่อนที่เขาจะนำความเห็นที่ได้เหล่านั้นมาเรียบเรียงเป็น ‘ใบหน้า’ ของเจ้าของความเห็น นิทรรศการของณัฐจึงไม่ใช่มีแต่เพียงการกร่อนคำให้ค่อยๆ จางหายกลายเป็นอีกความหมายหนึ่ง หากแต่กลุ่มคำและแถวบรรทัดความคิดเห็นเหล่านี้ ยังประกอบร่างสร้าง ‘ใบหน้า’ หรือ ‘ตัวตน’ ของผู้พูดได้อีกด้วย

“กลุ่มคนที่ผมเลือกมาแบ่งออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ กลุ่มเพื่อนที่คิดว่าเขาน่าจะตอบคำถามเรา ซึ่งมีบางคนนะที่ไม่ตอบเหมือนกัน ไม่รู้จะตอบอะไร พูดลำบาก ซึ่งก็เข้าใจนะ บางคนบอกว่าเหมือนคำถามนางงามเลย (หัวเราะ) เลยลองมาสโคปให้เล็กลง หาคนที่น่าจะสนใจเรื่องนี้หรือคนที่ทำงานศิลปะด้วยกัน ที่สะท้อนสังคมเผื่อว่าเขาน่าจะมีไอเดียอะไร และอีกกลุ่มคือกลุ่มที่เราไม่รู้จักเลย เราแค่รีเสิร์ชชื่อและคิดว่าคนกลุ่มนี้น่าจะสนใจและตอบคำถามเราได้ กับคอนเซ็ปต์ของงานคือเสียงเล็กๆ ก็มีความหมายที่ยิ่งใหญ่ได้ 

“ผมไม่ได้คิดว่าเรียกร้องแล้วมันจะนำความเปลี่ยนแปลงมาในวันนี้พรุ่งนี้” เขาเล่า ไม่ใช่ด้วยท่าทีจำยอม แต่เป็นท่าทียอมรับความจริงและแข็งขัน “เลยคิดว่าถ้าจะทำแค่ส่วนของคนตัวเล็กๆ น่าจะเป็นเรื่องการ awareness มากกว่า ไม่ได้ตั้งใจจะเปลี่ยนแปลงโลกให้ได้ภายในวันเดียวหรอก”

‘ใบหน้า’ และ ‘ถ้อยความ’ ของบุคคลในนิทรรศการ ประกอบร้อยด้วยตัวอักษรเดี่ยวๆ รวมกันจนเป็นภาพใหญ่และเปี่ยมความหมาย บางทีแล้วมันอาจเป็นภาพสะท้อนของเสียงเล็กๆ ของผู้คน ที่หากรวมตัวกันได้หนาแน่นพอ มันน่าจะมีพลังและ ‘ส่ง’ ไปจนถึงใครบางคนที่เราอยากให้เขาได้ยินด้วยเหมือนกัน