เมื่อพูดถึงสภาพการณ์ของอุตสาหกรรมนิตยสาร หนึ่งในชื่อของผู้ร้ายตัวการที่ใครๆ ต้องพูดถึงคือ ‘อินเทอร์เน็ต’ ก็ไม่ปฏิเสธว่าเทคโนโลยีนี้เข้ามาเปลี่ยนโลก เปลี่ยนชีวิต และเปลี่ยนวิธีการเข้าถึงข้อมูล จนหลายๆ สื่อก็ต้องปรับเปลี่ยนตัวเอง นิตยสารก็เช่นกัน
ในบริบทประเทศไทย การอยู่รอดของนิตยสารหลายหัวนั้นอาจกล่าวได้ว่าเป็นเรื่องยาก แม้จะมีคนจำนวนหนึ่งได้ทดลองก้าวข้ามขีดจำกัดต่างๆ กันมาอย่างทุลักทุเล ไม่ต่างจากเข็นหินขึ้นภูเขาด้วยมือเปล่า ล้มหายตายจากระหว่างทางก็มีไม่น้อย ส่วนในต่างประเทศนั้น นิตยสารหลายเล่มเช่นกันที่ “อำลาแผง” แต่ก็มีการเกิดขึ้นของนิตยสารอิสระไม่น้อยที่ยังคงโต้คลื่นของความเป็นเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์สื่อได้อย่างท้าทาย
หนึ่งในประเทศที่วัฒนธรรมนิตยสารอิสระแข็งแรงมาก นั่นคือประเทศอังกฤษ วัฒนธรรมการอ่านและการมีพื้นที่แสดงความสนใจที่เฉพาะกลุ่มนั้นเคียงคู่มากับประวัติศาสตร์มาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่สิ่งพิมพ์ที่เกิดขึ้นโดยสมาชิกของความเคลื่อนไหววอติกซิสม์ (Vorticism) ตั้งแต่ปี 1914 นิตยสารการเมืองช่างประชดอย่าง Private Eye ที่ก่อตั้งขึ้นในยุค 60s (และยังคงเป็นนิตยสารที่ขายดีที่สุดในเกาะอังกฤษมาจนถึงปัจจุบัน) นิตยสาร Spare Rib ที่กำหนดกลุ่มเป้าหมายชัดเจนว่าเป็นสื่อสำหรับเฟมินิสต์โดยเฉพาะ มาจนถึงปรากฏการณ์ของนิตยสาร The Face ในช่วงปี 80s จนถึง 90s
และอังกฤษก็ยังคงผลิตนิตยสารอิสระขึ้นมาอย่างไม่เคยหยุดพัก
เมื่อเข้าสู่ยุคร่วมสมัย อังกฤษก็มีนิตยสารอย่าง Mushpit ที่เขียนบทความในเล่มโดยกลุ่มคนรุ่นใหม่ผู้หญิงในลอนดอน Burnt Roti นิตยสารสำหรับผู้หญิงเอเชียใต้ gal-dem นิตยสารด้านวัฒนธรรมในลอนดอน ที่ดำเนินงานโดยกลุ่มอาสาสมัครผิวสีและชนกลุ่มน้อยผู้หญิง เคียงข้างบนชั้นวางคู่กับนิตยสารอย่าง White Review ที่ว่าด้วยเรื่องราวของศิลปะและวรรณกรรมในอังกฤษ หรือ Amorist นิตยสารเร้าอารมณ์อีโรติกจากนักข่าวสาวอย่างโรวัน เพลลิ่ง (Rowan Pelling)
นิตยสารจำนวนมากจะเข้าไม่ถึงผู้อ่านเลยหากไม่มีคนกลางที่รวบรวมและจัดจำหน่ายให้ หนึ่งในเว็บไซต์ที่ทำหน้าที่เป็นชั้นวางนิตยสารในโลกออนไลน์และเปิดดำเนินการมากว่า 11 ปีอย่าง STACK เว็บไซต์จัดจำหน่ายนิตยสารอิสระออนไลน์จากประเทศอังกฤษ ที่ก่อตั้งโดยสตีเว่น วัตสัน (Steven Watson) และเขาก็เพิ่งมาบรรยายในหัวข้อ Riding the Wave of Independent Magazines ในงาน Bangkok Art Book Fair 2019
วัตสันเป็นหนึ่งในคนที่เต็มไปด้วยความหลงใหลและความรักในนิตยสารเล่มมานานนับทศวรรษ โดยเขาเคยให้สัมภาษณ์กับ HISKIND ไว้ว่า “นิตยสารนั้นเป็นวิธีอันมหัศจรรย์ในการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อ่าน เมื่อมีสักคนหนึ่งนั่งลงอ่านนิตยสารและโฟกัสไปกับเนื้อหา เปิดโอกาสให้บทสนทนานั้นจมลึกลงไปเรื่อยๆ และผู้อ่านก็ไม่อาจถูกรบกวนได้ ผมเชื่อว่าข้อจำกัดของรูปแบบการอ่านนั้นเป็นจุดแข็งและเป็นสิ่งที่นิตยสารทำได้ดีที่สุด”
ในเวทีบรรยายครั้งนี้ เขาได้สรุปความเป็นไป (ได้) ในวงการสื่อนิตยสารอิสระทั่วโลก พร้อมทั้งทิศทางในอนาคตของวงการสื่อสิ่งพิมพ์ …ที่ยังพอมองเห็นแสงสว่างอยู่บ้าง
The Mindful Alternative
นับตั้งแต่การเปิดตัวของ iPad ในปี 2010 เป็นชนวนสำคัญที่ทำให้คนรู้สึกว่าสิ่งพิมพ์จะต้องตายจาก เพราะการมีเครื่องมือที่ทำให้สามารถอ่านสิ่งพิมพ์ได้ในหน้าจอ มีการดาวน์โหลดนิตยสารมาอยู่ในอุปกรณ์ได้ สำหรับสตีเว่นเอง เขาค้นพบว่าไม่ได้ชอบการอ่านในลักษณะนั้น ทั้งในเรื่องของความรู้สึกและเรื่องเชิงเทคนิคการ อ่าน อย่างเช่น หน้าจอ iPad นั้นมีเงาสะท้อน ซึ่งนั่นอาจเป็นเหตุผลที่นิตยสารออนไลน์ไม่เคยประสบความสำเร็จจริงๆ
ขณะที่การเกิดขึ้นของ Kindle นั้นดีกว่ามาก ในแง่ที่ถูกออกแบบมาเพื่อการ ‘อ่าน’ โดยเฉพาะ ซึ่งสตีเว่นคิดว่าฟังก์ชั่นการไฮไลท์เท็กซ์ใน Kindle นั้นทำลายประสบการณ์ในการอ่าน เพราะสุดท้ายจะมีผู้ใช้ที่แชร์เนื้อหาส่วนที่ไฮไลท์เพื่อให้เพื่อนในโซเชียลมีเดียได้รู้
นิตยสารที่ถูกพิมพ์ออกมาเป็นรูปเล่ม จึงยังเป็นสื่อที่มีพื้นที่ในการสร้างความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างการอ่าน ตัวหนังสือ รูปภาพ การค่อยๆ รับรู้เนื้อหาสิ่งที่เกิดขึ้นในแต่ละหน้า นิตยสารนั้นสามารถอ่านได้โดยไม่ถูกเก็บข้อมูลจากบราวเซอร์หรือกูเกิ้ลเพื่อถูกนำไปใช้ในระบบอัลกอริธึม ทั้งนี้ สตีเว่นก็ไม่ได้หมายความให้หยุดใช้อินเทอร์เน็ต แต่เขาขอให้ใช้อย่างระมัดระวังอย่างมาก
“เมื่อไหร่ที่ผู้อ่านตระหนักรู้เรื่องความเป็นส่วนตัวของข้อมูล ก็จะตระหนักถึงคุณค่าของสิ่งพิมพ์มากขึ้น”
Technology Breed Diversity
พูดง่ายๆ คือคนสามารถสร้างนิตยสารอิสระของตัวเองได้ง่ายขึ้น โดยสตีเว่นกล่าวว่า “ทุกอย่างขึ้นอยู่กับเทคโนโลยี มีซอฟต์แวร์สำหรับงานออกแบบที่ราคาเริ่มเป็นมิตร นั่นหมายความว่าถ้าหากคุณมีไอเดีย คุณก็สามารถทำให้เป็นนิตยสารได้เลย”
เมื่อกำแพงของเทคโนโลยีถูกทำลายและเทคโนโลยีสร้างความหลากหลายมากขึ้น ผู้ใช้สามารถเข้าถึงได้ในราคาที่ถูกและสร้างสิ่งที่น่าสนใจได้ทันที ทำให้เกิดผลลัพธ์ขึ้นมากมาย เทคโนโลยีเปิดโอกาสให้ผู้คนสามารถแสดงความคิดสร้างสรรค์ของตัวเองได้ ผู้ใช้ไม่ว่าอยู่ที่ไหนในโลกก็มีอำนาจในการสร้างนิตยสาร มีพลังในการสื่อสารในสิ่งที่ตัวเองสนใจ เป็นเหตุให้เกิดผลเป็นนิตยสารเฉพาะทางมากขึ้น รวมถึงแพลตฟอร์มอื่นๆ ที่ช่วยเผยแพร่สิ่งที่ตัวเองคิดขึ้นมาได้ด้วย
21st-century Infrastructure
ไม่ใช่แค่การคิดไอเดีย การถ่ายทอดเป็นเนื้อหา การเลือกรูปภาพและการจัดวางเลย์เอาท์ ยังมีส่วนสำคัญที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงในการทำนิตยสารมากนัก นั่นคือเรื่องการทำให้นิตยสารเป็นธุรกิจความคิดสร้างสรรค์แห่งศตวรรษที่ 21 แน่นอนว่ามีเครื่องมือมากมายที่ทำให้ผู้ผลิตสามารถผลิตเนื้อหาของตัวเองได้ แต่ต้องมาพร้อมกับรูปแบบธุรกิจและโครงสร้างของการจัดจำหน่ายเพื่อขับเคลื่อนให้นิตยสารนั้นเติบโตอย่างเป็นธุรกิจได้เช่นกัน
ลองดูชั้นวางนิตยสารในร้านสะดวกซื้อในวันนี้ที่ลดขนาดลงและลดความสำคัญลง นิตยสารต้องขายโฆษณาในเล่ม จึงจำเป็นต้องกำหนดราคาขายที่แพง ทุกเล่มใช้พลังงานและเงินทุนจำนวนมาก เพราะแน่นอนว่าผู้ผลิตนิตยสารต้องการขายแล้วได้กำไร นั่นจึงเป็นหนึ่งในขั้นตอนของการจัดการกับต้นทุน แต่ทั้งนี้ก็ยังมีร้านขายนิตยสารอิสระอีกจำนวนมากมายที่ให้พื้นที่ขายโดยไม่ได้หักค่าจัดจำหน่าย เพิ่มโอกาสในการขยายเครือข่ายระหว่างผู้ผลิตนิตยสารอิสระในหลายประเทศ เข้ามาร่วมแชร์พื้นที่จัดจำหน่ายร่วมกัน ถือว่าเป็นโครงสร้างพื้นที่การจัดจำหน่ายแบบใหม่ และเป็นอนาคตของนิตยสารอิสระให้ได้หายใจต่อ
นอกจากนี้แล้ว สตีเว่น ยังเล่าถึง 5 เทรนด์นิตยสารอิสระสำหรับ ณ วันนี้ และแนวทางของนิตยสารที่มีศักยภาพที่จะไปต่อก็ได้แก่
-
Making Meaning (loud)
นิตยสารอิสระที่จะสามารถไปต่อได้ คือนิตยสารที่สร้างความหมายและการเปลี่ยนแปลงในประเด็นระดับโลก อย่างเช่น Good trouble นิตยสารจากนิวยอร์ก ก่อตั้งเพื่อเฉลิมฉลองให้กับวัฒนธรรมการต่อต้าน ตีพิมพ์เรื่องราวที่เป็นจุดตัดระหว่างศิลปะ วัฒนธรรมทางการเมือง และการประท้วง โดย ร็อด สแตนลี่ย์ (Rod Stanley) เนื่องจากช่วงเวลาหลังจากที่โดนัลด์ ทรัมป์ได้รับการเลือกตั้ง เขาเห็นว่ามีคนเดินไปแล้วร้องไห้ไป ในฐานะสื่อจึงเขียนลงบล็อก และจากบล็อกก็พัฒนาเป็นนิตยสารเล่มนี้
นอกจากเนื้อหาเข้มข้นแล้ว จุดเด่นของ Good trouble คือวิธีการในการออกแบบเลย์เอาท์ ทั้งที่เต็มไปด้วยตัวอักษรขนาดเล็ก มีการใช้องค์ประกอบกราฟิกอย่างลูกศรที่ทำเป็นจุดหรือการสาดสีกระจาย ท้าทายผู้อ่านในยุคที่ผู้คนไม่สะดวกใจเวลาเห็นตัวหนังสือเยอะๆ ด้วยการให้ความสำคัญกับตัวหนังสือและเนื้อหาให้เป็นตัวแทนของการการส่งเสียงดังและพยายามสร้างความแตกต่าง
-
Making Meaning (quiet)
ต่อมาที่นิตยสารอิสระที่สร้างความหมายและการเปลี่ยนแปลงในประเด็นส่วนบุคคล เขายกตัวอย่างนิตยสาร Anxy ดำเนินงานโดยทีมงานจากเว็บไซต์ medium.com ที่มารวมตัวกันเพื่อทำนิตยสารเกี่ยวกับสุขภาพจิต โดยไม่ได้นำเสนอเนื้อหาจริงจังราวกับวารสารวิชาการ แต่เป็นการบอกเล่าเรื่องราวจากผู้มีประสบการณ์และผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายแง่มุม ในรูปแบบของข้อเขียน บทความ และบทสัมภาษณ์ ผ่านการออกแบบรูปเล่มเป็นอย่างดี ตลอดจนชุดภาพถ่ายและการ์ตูน
Anxy ทำมาแล้วทั้งหมด 4 เล่ม แต่ละเล่มมีการกำหนดธีมหลัก อย่างเช่นเล่มแรกเรื่อง Anger ที่นำเสนอว่าคนเราย่อมโกรธได้ แต่จะจัดการกับความรู้สึกในชั่วขณะที่โกรธและความรู้สึกหลังจากนั้นอย่างไร หรือเล่มล่าสุดในธีม Masculinity ที่นำเสนอเรื่องราวความเป็นชายในหลากหลายแง่มุม ตั้งแต่เรื่องของอำนาจจนถึงความไม่มั่นคง
-
Upstart Amateurs
เทรนด์นิตยสารอิสระที่มีผู้ลงสนามเป็นมือสมัครเล่นมากขึ้น เช่น นิตยสารผู้หญิงเกี่ยวกับเรื่องสยองขวัญ SUSPIRA ที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก ผู้ก่อตั้งนั้นเคยทำงานในนิตยสารแม่มดมาก่อน จึงนำเสนอความเป็นผู้หญิงในประเด็นที่ต่างออกไป อย่างการแสดงออกถึงผู้หญิงยุคใหม่ที่มีพลังลี้ลับ
-
Corporate Indies
นิตยสารอิสระที่ดำเนินงานอยู่ภายใต้องค์กรใหญ่ เช่น นิตยสาร Eyes on design จาก AIGA เกิดขึ้นเพื่อสื่อสารกับนักออกแบบรุ่นใหม่ โดยเฉพาะนักออกแบบผู้หญิง มีการใช้กราฟิกสีสันสดใสเข้ามาช่วยออกแบบ มีมุกตลกที่จะขำได้ถ้าเป็นนักออกแบบโดยเฉพาะ เจตนาเพื่อล้อเลียนกับขนบของนิตยสารทั่วไปนั่นเอง
-
Perverting Genres
เทรนด์สุดท้ายที่ถูกพูดถึงคือนิตยสารอิสระที่นำหัวข้อทั่วไปมาปรับมุมมองในแง่มุมที่แตกต่าง อย่างนิตยสาร MacGuffin เลือกประเด็นที่น่าเบื่ออย่างเรื่อง เตียง หน้าต่าง กางเกง มาสร้างสรรค์เป็นเนื้อหาที่ทำให้น่าสนใจได้มากขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ
Tags: Magazine, Bangkok Art Book Fair 2019, นิตยสารอิสระ, STACK