ลองมองหาดีๆ แล้วจะเจออาร์ตบุคช้างเผือกในงาน Bangkok Art Book Fair 2019 แน่นอน 

งานยังคงจัดขึ้นที่ Bangkok City City Gallery ที่รวบรวมพลอาร์ตที่สนใจในงานศิลปะอันหลากหลายตลอดมา ปี 2019 นี้งานอาร์ตบุ๊กแฟร์ได้จัดขึ้นเป็นปีที่ 3 แล้วและคึกคักเช่นเคย ทั้งสำนักพิมพ์อิสระ และสตูดิโอออกแบบมากหน้าหลายตาจากหลายประเทศตั้งแต่กลุ่ม Queer Asians จากฟิลาเดเฟีย สตูดิโอออกแบบจากมาเลเซีย สำนักพิมพ์อิสระที่ใช้หมึกเพื่อสิ่งแวดล้อมและสนับสนุนประเด็นทางสิทธิและสังคมจากอินโดนีเซีย และจอมยุทธ์หลายสำนักจากประเทศไทย

อาร์ตบุ๊กเกิน 10 เล่มที่เลือกมานี้เป็นแนวทางและสัญญาณที่ดีของการระบายเฉดที่แตกต่างของความเป็นหนังสือและงานอาร์ตที่น่าเก็บสะสม เป็นตัวแทนที่น่าสนใจในการแสดงออกทางตัวตนทั้งในฐานะของนักออกแบบ ผู้สนใจศิลปะเข้มข้น และพลเมืองโลก ประเด็นที่ไกลไปกว่านั้นคือผู้ที่มาชมงานอาจจะเป็นหนึ่งในศิลปินของอนาคตที่จะมาออกบูทในปีต่อๆ ไปเพราะมองเห็นความเป็นไปได้ที่หลากหลายจากการสังเกตและเล่นสนุกไปกับมัน

Vacilando bookshop

ศิลปิน : รวมศิลปิน

Vacilando bookshop (TH)

โต๊ะหมายเลข B07

“รู้ๆ กันอยู่ไม่ต้องพูดอะไรมากเนอะ”

Decoding Dictatorial statues

หากคอ Photobook หลงเข้ามาในบูท Vacilando bookshop คงจะโดนตกไปด้วยหนังสือภาพหายากและคอนเซ็บน่าซื้อหลายเล่ม ซึ่งเล่มแรกเข้ากับสถานการณ์บ้านเมืองมาก คือเล่ม Decoding Dictatorial statues โดย Ted Hyunhak Yoon กราฟิกดีไซเนอร์ที่เริ่มโปรเจ็คถอดรหัสรูปปั้นผู้นำ เก็บรวบรวมมาแล้ววิเคราะห์ว่ามันกลายมาเป็นประติมากรรมที่ทรงพลังได้อย่างไรบ้าง ภาษาภาพที่เห็นได้ด้วยตาเปล่าสื่อสารความหมายแฝงทางการเมืองอย่างไร หรือมีบทบาทในการเป็นสื่อและสาระสำคัญ (materiality) อย่างไรบ้าง วิเคราะห์ไปเลยหนาๆ จุกๆ เพราะหลังจากหยิบเล่มนี้ วิทิต จันทามฤต เจ้าของร้านก็ยิ้มอ่อน บอกเลยว่า “รู้ๆ กันอยู่ไม่ต้องพูดอะไรมากเนอะว่าทำไมแนะนำเล่มนี้”

Words , Tomodachi

เล่มนี้ง่ายและมีไอเดียความเป็นญี่ปุ๊นญี่ปุ่นสูงมาก Koichiro Kimura ศิลปินชาวญี่ปุ่นที่ติดกล้องดิจิตอลไว้กับเพดานบ้านเป็นเวลา 2 ปี โดยที่กล้องจะถ่ายรูปทุกๆ 10 นาที เขาได้รูปเป็นแสนๆ รูปแล้วค่อยมานั่งคัดลงหนังสือภาพอีกทีหนึ่ง ถ้าพลิกๆ ดูจะเห็นความน่ารักและอบอุ่นผ่านความเรียบง่ายแต่ได้ใจ เพราะมันเป็น setting เดิมที่ตัวละครเปลี่ยนไป บางทีลูกนอนเลยเบาะไปจนเห็นแต่ขา บางทีเป็นภาพเคลื่อนไหวจนไม่เห็นตัวคน บางทีกอดกันกลมใต้ผ้าห่มอุ่น

คิมุระบอกว่าถ้าคุณผู้ชมพลิกๆ ผ่านแล้วรู้สึกว่ากำลังมองครอบครัวชาวบ้านนอนอยู่ในห้อง ผมก็ประสบความสำเร็จแล้วล่ะ

ส่วนเล่มสีเหลืองอีกเล่มครองคอนเซ็ปต์ setting เดิมแต่ตัวละครเปลี่ยนเหมือนกัน เป็นภาคต่อจาก Words ที่เขาเปลี่ยนมาถ่ายลูกชายตอนเข้าห้องน้ำไปอึ๊ ซึ่งสีหน้าก็มีตั้งแต่ความยากลำบากเหมือนรบอยู่ในสงครามกับสีหน้าแห่งความปลดปล่อย ตกอยู่ในสภาวะทิ้งตัว ผ่อนคลายสบายสุข เขาบอกว่าเด็กๆ มักจะใช้ชีวิตอย่างสดใส พวกเขาคิดว่าการเข้าห้องน้ำไปอึ๊นี่เป็นกิจกรรมการเล่นมากกว่าที่จะคิดว่ามันสกปรกหรืออะไร 

SEARCH: Discovering Southeast Asia’s Graphic Design Studios

ศิลปิน : LIE design studio

LIE (MY)

โต๊ะหมายเลข B14

“บางที่ไม่รู้จักใครก็เริ่มจากกูเกิลหาสตูดิโอออกแบบไปเลย”

อาร์ตบุ๊กที่รวบรวมผลงานของสตูดิโอดีไซน์ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งประเทศไทย, สิงคโปร์, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์ และเวียดนามเกิดจากไอเดียของอาร์ตไดเร็กเตอร์ชาวมาเลเซีย Driv Loo ที่อยากสร้างชุมชนนักออกแบบและกราฟิกดีไซเนอร์ในภูมิภาคเข้าไว้ร่วมกัน รวมถึงสนับสนุนงานออกแบบของมาเลเซียให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นเพราะในปี 2011 ที่เขาเริ่มอยากจะรวบรวมพอร์ตเหล่านี้เอาไว้ ชุมชนการออกแบบยังไม่ครึกครื้นเท่าตอนนี้ เลยเริ่มถามชาวแก็งกราฟิกด้วยกันที่ประจำอยู่ประเทศต่างๆ ว่ามีสตูดิโอไหนน่าสนใจอยากแนะนำไหม อย่างเวียดนามที่เป็นประเทศที่ไม่รู้จักใคร ก็เริ่มจากกูเกิลหาข้อมูลเอาเลย ขลุกขลักกันอยู่ 4 ปี ก็พิมพ์เองออกมาจนเป็นเล่มอลังการอย่างที่เห็น

ตอนแรก Driv Loo แค่อยากเก็บข้อมูลสตูดิโอออกแบบเหล่านี้ไว้เป็นกำลังใจให้พี่น้องนักออกแบบชาวเอเชีย แต่เขาแง้มบอกว่าถ้าเล่มนี้มันเวิร์ก เล่มหน้าๆ เขาอยากจะเจาะลึกไปที่ประเด็นการออกแบบโดยรวมทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับเล่มนี้ สตูดิโอออกแบบในไทยที่เขาเลือกมาก็มีทั้ง Wrongdesign, TNOP, Teaspoon studio หรือ Cadson Deemak เลือกมาได้ภายใต้ insights ที่ค่อนข้างหลากหลาย

พอเป็นรูปเล่มสวยงาม ดีไซน์กริบแบบนี้แล้ว เราเลยถามถามคลิเช่เสียหน่อยว่ามีคอนเซ็ปต์การออกแบบอะไรที่คุณเห็นว่าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีร่วมกันไหม

“ผมคิดอยู่เหมือนกันแต่ก็ยังไม่ได้คำตอบ แต่ถ้าคุณเอาอาร์ตบุ๊กทุกเล่มมารวมกันแล้วสำรวจทีเดียว คุณจะเข้าใจเซนส์ของการใช้สี หรือองค์ประกอบบางอย่างที่คล้ายกันมาก รวมถึง Typography ที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ประเทศมากๆ ด้วย”

แนะนำว่าให้ลองไปเปิดทั้ง 6 เล่มพร้อมกันรัวๆ หน้าบูทเลยเพื่ออรรถรส ในเล่มมีทั้งปกหนังสือและสินค้า โดยเฉพาะนักศึกษาออกแบบ ไอเทมนี้น่าซื้อเก็บไว้มากๆ

ดวงตาเห็นคำ

ศิลปิน : สุวิชา พิทักษ์กาญจนกุล

Salmon Books (TH)

โต๊ะหมายเลข C04

“แทบจะได้ยินเสียงออกมาจากตัวอักษร ก็เลยยิ่งกระตุ้นความสนใจที่จะเก็บคำเหล่านั้นมาคิดต่อ”

“รับซื้อกำลังภายใน” “หน้าวินห้ามจับแมวไป” และ “เล่นน้ำทะเลแห้งเร็วกว่านรก” เป็นถ้อยคำที่เราประทับใจเป็นการส่วนตัว

บูทแซลมอนบุ๊กมีซีนน่าสนใจจำนวนมากในราคาน่ารัก หนึ่งในนั้นคือเล่ม ดวงตาเห็นคำ มีทั้งคำแค้น, คำโฆษณา หรือคำสั่งอาหาร โดย ‘เนย สุวิชา พิทักษ์กาญจนกุล’ คนตาดีที่ชอบเดินสำรวจย่านเมืองเก่า เจอวัฒนธรรมความ kitsch แสนคิ้วท์มากมาย ทั้งตามประตูบ้านคน ร้านอาหารตามสั่ง จนมือถือมีแต่รูปแมวกับป้ายคำพวกนี้เต็มไปหมด คงเป็นเพราะเนยชอบอ่านหนังสือและขลุกอยู่กับมันมาตั้งแต่เด็ก ดวงตาเลยเจอดีบ่อยจนรวมเล่มป้ายคำพิศวงมาได้ขนาดนี้ ซึ่งเอาเข้าจริงๆ แล้วซีนนี้ดูสนุกและเคี้ยวง่าย แต่จริงๆ มันตอบคำถามเรื่องพื้นที่และการสื่อสารของผู้คนในพื้นที่ที่เนยเอาตาไปสอดส่องได้อย่างน่าสนใจ

“เรามักจะพบคำสนุกๆ ในย่านชุมชนเป็นหลัก เราคิดว่า เพราะที่ได้มีคน ที่นั่นมีความขัดแย้ง เรามองว่ามันเป็นการพยายามสื่อสารกันทางอ้อมเพื่อให้ได้สิ่งที่ตัวเองต้องการ เป็นการดีลกับความขัดแย้งแบบไม่ต้องเผชิญหน้ากันตรงๆ บางครั้งเป็นการระบายความอัดอั้น สังคมไทยที่เราได้เห็นและเติบโตมามักจะไม่พูดกันอย่างตรงไปตรงมา คำเหล่านี้จึงเป็นเหมือนศิลปะในการแสดงออกความรู้สึกนึกคิดข้างใน และต่อรองกับคนข้างนอกให้เราพอจะอยู่ร่วมกันได้ในเมืองนี้”

The Uni_Verse Local Local

ศิลปิน : The Uni_form studio

The Uni_form design studio (TH)

โต๊ะหมายเลข C21

“ปกนี้จองแล้ว”

ปีที่ 3 และ The Uni_Verse อาร์ตบุคลำดับที่ 3 ของ The Uni_form studio ปั่นประเด็นเรื่องความไทยอีกครั้งหลังจากเล่ม Open/Code โดยมีศิลปิน, นักเขียน, กราฟิกดีไซเนอร์มากมายที่มาร่วมแจมออกแบบคอนเทนต์ในเล่มให้สนุก ตลก จิกกัดความเป็นไทยแบบพอแสบๆ คันๆ ซึ่งไฮไลต์ซึ่งเป็นจุดเด่นของยูนิฟอร์ม อยู่ตรงที่ issue นี้มีถึง 99 ปก ใครจองปกไหนไปแล้วก็จะเป็นเจ้าของเพียงคนเดียวเท่านั้น!

“มันเริ่มมาจากที่เราอยากทดลองเรื่องไทยๆ ที่จริงๆ เคยมีหัวข้อเรื่องการค้นหาความเป็นไทยผ่านเข้ามาตั้งแต่เรายังเด็กเลย เลยสงสัยมาตลอดว่าสรุปแล้วอะไรคือไทย ซึ่งเราก็มองว่ามันมีประเด็นที่สามารถนำเสนอได้แม้ว่ามันจะทำซ้ำมาตั้งกี่ปีแล้วก็ไม่รู้ แต่ก็ยังมีอะไรให้ค้นหาอยู่ตลอด” วุฒิภัทร สมจิตต์ และ ปริวัฒน์ อนันตชินะ กราฟิกดีไซเนอร์เล่าเบื้องหลังไอเดีย

สำหรับเล่มล่าสุด ภายในหนังสือสดใสเล่มหนามีทั้งประเด็นทางเดินแบบไทยๆ ผีแบบไทยๆ  และจินตนาการบรรเจิดอีกเป็นกระบุง เหมาะกับการเก็บสะสมไว้เป็นแหล่งข้อมูลและสำรวจความ ‘บ้านบ้าน’ ที่ศิลปินแต่ละคนนำเสนอออกมาอย่างไม่บ้านเลย

Table 20

ศิลปิน : รวมศิลปิน

Table 20 (TH)

โต๊ะหมายเลข C15

“เพราะหัวนมทุกหัวนมคือพิซซ่าที่จะกลับมาอย่างยิ่งใหญ่”

Pizza Pastie Party Set ทวงคืนสิทธิความเท่าเทียมให้หัวนม

ใครจะบอกว่าสิ่งนี้แอบเสิร์ดเราขอปฏิเสธ นี่คือวาระระดับชาติที่ประชากรโลกควรมาสุมหัวกันต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมของหัวนมที่โดนเซ็นเซอร์กันจังเลย ในขณะที่โดนพิซซ่าขโมยซีนไปหน้าตาเฉยในฐานะอาหารที่มีคนชอบอัพลงอินสตราแกรมทั่วโลก ซึ่งจริงๆ หัวนมก็ต้องการพื้นที่สื่อตรงนี้ด้วย เหมือนที่ในซีนนี้บอกว่า “because every nipple is just a pizza waiting to be made” และหัวนมที่ได้รับการบันทึกไว้ในเล่มนี้ก็เพื่อมนุษยชาติ พิซซ่าทุกถาดได้แรงบันดาลใจมาจากหัวนม ผลิตด้วยความรัก และจะโดน daek ไปในที่สุด

อ่านจบแล้วเดินไปหยิบพิซซ่ามาแปะบนหัวนมเพื่อทวงคืนสิทธิให้น้องกัน 

ร่วมแชร์หัวนมกันได้ที่ pizzanipple.com บอกเลยเว็บไซต์จริงจังไม่ได้ทำเอาฮา

13 faces of Thai Coup De’tat leaders – coloring books สมุดระบายสีผู้นำรัฐประหารชาวไทย 13 หน่วย 

: ) มีลูกให้ลูก มีหลานให้หลาน บันดาลสุข (ไม่พูดมาก)

Light Elegance

ศิลปิน : Pui Cheng Lei

Art’s empowering lab (CN)

โต๊ะหมายเลข C11

“ดอกไม้ปลอม พอมาอยู่บนตัวคนแล้วดูมีชีวิต”

หนังสือภาพจากช่างภาพชาวฮ่องกง Pui Cheng Lei ผู้ชอบถ่ายภาพพื้นที่ที่ถูกหลงลืมหรือวัตถุชายขอบ ราคาย่อมเยาแต่พิมพ์สีสวยงาม คอนเซ็ปต์ของเล่มนี้คือดอกไม้และชีวิต ที่เธอออกไปถ่ายรูปดอกไม้ที่ขึ้นตามธรรมชาติในพื้นที่สาธารณะที่มาเก๊ามาเปรียบเทียบกับการนำดอกไม้ปลอมไปวางไว้ที่ร่างกายของมนุษย์ ดอกไม้ดูมีชีวิตชีวาและสดใสขึ้นมาทั้งๆ ที่เป็นของปลอม

ในเซ็ตนี้จะมีหนังสือภาพอีก 2 เล่มที่ถ่ายโดยช่างภาพหญิงทั้งหมด Mon Ng ตัวแทนของแกลเลอรี่บอกว่าเขาต้องการสนับสนุนศิลปินผู้หญิงที่ต้องการจะสื่อสารเรื่องเพศเพื่อเพิ่มมุมมองให้เห็นความแตกต่างระหว่างอาร์ตที่นำเสนอโดยผู้หญิงและผู้ชาย ซึ่งภาพทั้งหมดในเล่มนี้ได้รับการจัดแสดงในนิทรรศการ Light Elegance ที่ฮ่องกงมาแล้ว

Prism ปริซึมของภาพถ่าย: การแตกตัวขององค์ความรู้และความทรงจำว่าด้วยเหตุการณ์ 6 ตุลา

ศิลปิน : ธนาวิ โชติประดิษฐ + กรกฤช เจียรพินิจนันท์

THANAVI + KORNKRIT (TH)

โต๊ะหมายเลข C26

“ถึงแม้ว่าจะมีการรื้อฟื้นความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลา แต่ก็ยังเป็นเรื่องชายขอบในประวัติศาสตร์ฉบับทางการ”

ออกจะแตกต่างจากบูทอื่นๆ ในงานไปเสียหน่อยเพราะผู้ที่ได้รับหนังสือภาพแต่ละเล่มไปจะได้เป็นส่วนหนึ่งของการวิจัย Prism ปริซึมของภาพถ่าย: การแตกตัวขององค์ความรู้และความทรงจำว่าด้วยเหตุการณ์ 6 ตุลาภายใต้ทุนสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม” (สกสว.) ปี 2562 หลังจากเซ็นชื่อและตอบคำถามเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลากลับไปในภายหลัง

ใช่แล้ว อาร์ตบุ๊กหนักๆ หนาๆ เล่มนี้ ….ฟรี

“เบื้องหลังคือเราเข้าไปสำรวจตามแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่มีข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลา เช่น หอจดหมายเหตุ ธรรมศาสตร์, ในเว็บไซต์ 2519.net, โครงการ บันทึก 6 ตุลา เพราะเราก็อยากรู้ว่าในแง่ของภาพถ่าย หรือ archive มันบันทึกไว้บ้าง แล้วค่อยรวบรวมออกมาเป็นรูปเล่ม” กรกฤช 

เหตุการณ์นองเลือดครั้งสำคัญของไทยในประวัติศาสตร์ 6 ตุลายังคงถูกพับเก็บอยู่ใต้พรมมาจนถึงปัจจุบันถึงแม้ว่าจะมีงานเขียนเชิงวิชาการที่อธิบายประวัติศาสตร์ชุดนี้อยู่ ศิลปิน-นักวิจัยทั้ง 2 คนมองเห็นถึงทฤษฎีภาพถ่ายที่สามารถนำมาใช้ศึกษาเหตุการณ์ 6 ตุลาได้โดยเฉพาะ และสังเกตเห็นว่าแม้ข้อมูลเหล่านี้จะได้รับการบันทึกอย่างเป็นระบบ แต่ก็ยังไม่สามารถระบุได้ว่าบางภาพเป็นภาพของเหตุการณ์ 14 ตุลา หรือ 6 ตุลา จึงยิ่งเห็นได้ว่าคนจดจำมันอย่างเบลอๆ เป็นความทรงจำชายขอบที่น่าสนใจว่า ‘ภาพ’ ในหนังสือเล่มนี้มันทำหน้าที่อะไร เป็นได้มากกว่าการบันทึกอดีตหรือไม่ แล้วสุดท้ายเห็นภาพแล้วเข้าใจเหตุการณ์ชัดขึ้นหรือจางลง

อีกแล้วเห็นไหมฝนตก

ศิลปิน : ปัญจพร ไชยชมภู

Gonegone and leaves หายหายและหลายๆ ใบ (TH)

โต๊ะหมายเลข C08

“ทำหนังสือทำมือไม่จำเป็นต้องยาก”

“อีกแล้วเห็นไหมฝนตก ตกอีกแล้วเห็นไหมฝนฯ” คือเล่มสามจากในซีรี่ย์ Wordpool ซึ่งเกิดจากคำที่ศิลปิน เอ๋ย ปัญจพร ไชยชมภู เจอในชีวิตประจำวัน ซึ่งเล่มนี้เธอเลือกคำว่า ‘เห็น’ เพราะคอนเทนต์พูดถึงการเห็นด้วยดวงตาจริงๆ และการเห็นที่แปลว่าเข้าใจ เช่น มันเป็นแบบนี้แล้วเห็นไหม เลือกเรื่อง 8 เรื่องที่พูดถึงดวงตาและความเข้าใจของการมองเห็นมาดีไซน์ลงฟอร์แมทที่ค่อนข้างใหญ่เพราะอยากจะทดลองกับวิถีการอ่านของคน ท่ามกลางไซส์ไม่ปกติและการจัดเลย์เอาท์ประหลาดนิดหน่อย พอลองอ่านแบบมีคอนเซ็ปต์ของคนทำกำกับ เราเลยลองอ่านซีนนี้ 2-3 รอบในจังหวะที่ต่างกัน เป็นกิจกรรมบันเทิงใช้ได้ เพราะ Wordpool แต่ละประโยคข้างในซ้อนมิติของการตีความลงไปในการเล่าแบบนิ่งๆ 

“เวลาคนอ่านอ่านเร็ว ตัวละครก็จะเร็ว อ่านช้าก็ช้า ถ้าเราดึงตัวละครให้ห่างจากกันมากๆ จนทำให้งงว่ายังเป็นบรรทัดเดียวกันอยู่หรือเปล่า มันจะส่งผลกระทบต่อคนอ่านไหม และแต่ละคนจะได้รับประสบการณ์ในการอ่านแตกต่างกันไป” เอ๋ยเล่า พอถามว่าทำไมถึงทำสเกลแค่ 2 หน้าเอ๋ยก็บอกว่ามันง่ายมาก เพราะพยายามดึงของที่บ้านมาใช้ และไอเดียเป็นแบบนี้มาตั้งแต่เล่มแรกแล้ว

“เราอยากให้คนที่มาดูงานเราเขาเข้าใจว่าทำซีนมันไม่ได้ยากขนาดนั้น เนี่ย ทำแล้วก็ปริ๊นต์ พับ เย็บ เสร็จแล้ว มันเป็นคอนเซ็ปต์ของ Wordpool มาตลอดว่าเราอยากลองทำฟอร์แมทใหม่ๆ ทำให้คนเห็นว่าซีนมันเป็นไปในทางไหนได้บ้าง”

Dear Chagall

ศิลปิน : Ranuthong

Scarysay (TH)

โต๊ะหมายเลข C01

“งานเป็นขาวดำ แต่มองแล้วเห็นเฉดสีมากมายออกมาจากภาพ”

ต้อง รณัฐ เลขาขำ หรือ Ranuthong ไม่ได้วาดรูปมาหลายปีมากแล้วหลังจากจบคณะศิลปกรรมศาสตร์จากจุฬาฯ ในงานนี้เขาจึงใช้เวลาแต่ละวันใน 1 อาทิตย์วาดรูปโดยใช้แค่ปากกา fine liner และดินสอ 2B พิมพ์ลงบนกระดาษไขที่ปนเนื้อกระดาษสา เปิดช่องว่างให้เห็นภาพในหน้าถัดไปหรือก่อนหน้าอย่างมีกิมมิกออกมาเป็น Dear Chagall หนังสือภาพที่ใช้ไอเดียของ appropriation art คือการเอาอาร์ตที่มีอยู่แล้วมาเล่าในบริบทของสังคมใหม่ ซึ่งไม่ใช่การสร้างสรรค์ fine art หรือลอกงาน แต่เอาองค์ประกอบที่มีอยู่เดิมมาตีความว่าภายในเวลาเป็นสิบๆ ปีที่ผ่านมา ศิลปินคนใหม่เห็นว่ามันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรไปบ้าง

“ผมเขียนโต้ตอบกับศิลปินคนหนึ่งที่ผมรู้สึกว่างานเขาค่อนข้างให้ความสำคัญกับความรักส่วนตัว ตัวคนรักเขา งานศิลปะ และศาสนาที่เขาชอบมากๆ ผมรู้สึกว่าสัญลักษณ์บางอย่างมันน่าสนใจมากๆ เลยเขียนโต้ตอบเป็นจดหมายสั้นๆ ขึ้นต้นว่า Dear Chagall ที่เราพยายามจะอ่านงานเขาแล้วจัดองค์ประกอบและตีความออกมาในแบบของเรา”

ถ้าไม่พิจารณาคอนเซ็ปต์เชิงวิชาการแบบนี้แล้วเปิดดูภาพไปเรื่อยๆ จะพบความซับซ้อนเชิงอารมณ์ และความแฟนตาซีแบบหม่นๆ เซอร์เรียลและมีประเด็นเรื่องเพศที่น่าสนใจในการตีความใหม่ของ Ranuthong 

Dear Chagall เป็นเล่มเก่าที่คอนเซ็ปต์และกิมมิกแน่น ศิลปินออกเล่มใหม่ในงานอาร์ตบุ๊กแฟร์ครั้งนี้ชื่อว่า When Iuppiter Falls in Love with Luna. ที่เราอยากให้ลองไปเปิดและคุยกับศิลปินดูโลกแฟนตาซีในอีกหนึ่งมิติ

Inbetweeners

ศิลปิน : อานนท์ ไชยแสนสุข, ลิตา ชาลาอาดิศัย

Anon x Lita (TH)

โต๊ะหมายเลข B11

“พื้นที่ของเด็กแว้นที่คนอาจจะชอบเหยียดบ้าง แต่เรารู้สึกว่ามันอยู่ในเส้นเรื่องใหญ่เลยนะ”

อาร์ตบุ๊กเล่มนี้เริ่มจากคำว่า ‘อาณาเขต’ ที่ศิลปิน 2 คนรู้สึกว่ามันมีเส้นสมมติอยู่ในแผนที่ประเทศไทย ซึ่งในความเป็นจริงเส้นนั้นไม่ได้แบ่งพื้นที่ที่แท้จริง เลยนำมาซึ่งความรู้สึกว่าเป็นผู้ที่อยู่ตรงกลางระหว่าง 2 อาณาเขต การหาข้อมูลมาอธิบายสิ่งที่ตัวเองก็ยังระบุที่มาที่ไปชัดเจนไม่ได้ราว 8 เดือน จึงออกมาเป็นอาร์ตบุ๊กที่จัดเลย์เอาท์ฉูดฉาด น่าสนใจ และมีการตีความหมายของบริบทสังคม, วัฒนธรรมป๊อป หรือแม้กระทั่งวาทกรรมทางการเมืองในรูปแบบที่ไม่ตรงไปตรงมาแต่เสียดสีและน่าหัวเราะปนร้องไห้ในบางหน้า

“จริงๆ จะบอกว่าเป็นเรื่องชนชั้นก็อาจจะไม่ใช่ทั้งหมด อย่างในหน้านี้เป็นรูปทิชชู่ ซึ่ง texture ของมันเป็น Toilet paper เป็นกระดาษทิชชูที่ราคาถูกที่สุดแล้วแต่คนไทยเอามาใช้ทั้งในโต๊ะอาหารและในทุกพื้นที่ หรืออันที่มีหน้าที่เป็นกระสอบที่สำเพ็งที่ดีไซน์คล้ายกับชิ้นที่แบรนด์อย่าง Balenciaga เอาไปทำกระเป๋า หรือพวกรูปอินทีเรียในร้านอาหารที่มักจะมีองค์ประกอบบางอย่างที่พยายามสื่อให้เห็นถึงความจน ความรวย เรื่องสีก็น่าสนใจเพราะคนไทยมีเซนส์การใช้สีฉูดฉาด สนุก แล้วมันอยู่ในพื้นที่ เช่น พื้นที่ของเด็กแว้นที่คนอาจจะชอบเหยียดบ้าง แต่เรารู้สึกว่ามันอยู่ในเส้นเรื่องใหญ่เลยนะ”

Kamboja press

ศิลปิน : รวมศิลปิน

Kamboja press (ID)

โต๊ะหมายเลข B04

“สนับสนุนศิลปะภาพถ่ายผ่านการใช้หมึกเพื่อสิ่งแวดล้อม”

สำนักพิมพ์จากอินโดนีเซียที่ขับเคลื่อนประเด็นทางสังคม การเมือง และวัฒนธรรมผ่านงานของศิลปินจากหลากหลายประเทศและใช้เทคนิคการพิมพ์ริโซกราฟด้วยหมึกที่ทำจากถั่วเหลืองเพื่อเป้าหมายในการรักษาสิ่งแวดล้อมยั่งยืน 

ผลงานจากอาร์ตบุ๊กสีฉูดฉาดและมีเอกลักษณ์ล้วนแล้วแต่เป็นเล่มที่เข้มข้นและบางเล่มค่อนข้างเป็นส่วนตัวมาก แต่เป็นความส่วนตัวที่ประเด็นเป็นสากล สื่อสารทั้งเรื่องความสิ้นหวังของการเมือง ความแปลกแยก และชีวิตที่บิดเบี้ยว หรือแม้กระทั่งเรื่องเซ็กซ์กับอินเทอร์เน็ตก็มีการใช้สีและวิธีนำเสนอได้ตรงมาก

ตัวอย่างเช่น เล่ม Borderlines of freedom ที่ศิลปินเล่าเรื่องราวในเซอร์เบียซึ่งเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน เธอเป็นนักศึกษาด้านถ่ายภาพที่รู้สึกถึงวิกฤตของสังคม การเมือง ความขัดแย้งของเซอร์เบีย-มอนเตรเนโกร และแนวคิดประเพณีนิยมของครอบครัว 

“เธอรู้สึกถึงความแปลกแยกในพื้นที่และต้องการออกไปจากที่นี่ แต่ก็ยังห่วงครอบครัว และคิดว่านี่ก็คือปัญหาของเจเนอเรชั่นที่เกิดขึ้นทั่วโลก” ตัวแทนจากสำนักพิมพ์เล่า

CommDe Student’s union 

ศิลปิน : นักศึกษาภาควิชา CommDe จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

CommDe Student’s union (TH)

โต๊ะหมายเลข C03

“เพื่อนชอบเมามาก เลยทำเล่มนี้ขึ้นมา”

ถ้าใช้เวลาที่โต๊ะนี้นานๆ ได้ อยากให้ลองคุยกับน้องๆ นักศึกษาภาควิชาการออกแบบนิเทศศิลป์ หรือ CommDe จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะงานของแต่ละคนชวนว้าวด้วยไอเดียของความเยาว์วัยภายใต้คอนเซ็ปต์เดียวคือ ‘obsession’ หรือความลุ่มหลง โจทย์กว้างๆ ที่อาจารย์โยนมา น้องเหล่านี้ตีความกันสนุกสนาน กล้าคิดกล้าทำอาร์ตในรูปแบบใหม่ๆ และที่สำคัญคือบางเล่มไปไกลจนอยากเจอหน้าคนทำว่าทำไมกวน teen จัง

 ชาวนากับงูเห่า

ดูเผินๆ เหมือนเป็นซีนเล่มที่เขียนข้อความเรื่องชาวนาอะไรสักอย่างลงไปในหน้าปก แต่ความแสบกว่านั้นคือเล่มนี้น้องศิลปินชอบกินเหล้ามากเลยเอามาเล่าซะเลย เริ่มง่ายๆ จากการเล่าเรื่องชาวนากับงูเห่าในเวอร์ชันตัวเอง แล้วคอนเทนต์ก็เริ่มเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามปริมาณแอลกอฮอลล์ที่ดื่ม บันทึกเสียงไว้แล้วคัดเลือกมาลงซีน แถมเซ็นชื่อกำกับไว้ในความเมาแต่ละรอบด้วย

แม้จะไม่ได้เจอหน้าน้องในงาน แต่ตัวงานคาแรคเตอร์กวนประสาทจัดมากจนพอจะนึกคาแรคเตอร์คนทำออก อยากให้ลองไปพลิกๆ อ่านถ้อยคำขยุกขยุยในซีนของน้องภัคจิรา ยอดยิ่ง สักหน่อย ถือเป็นอาร์ตบุคกลิ่นตลกที่ดึงมู้ดจากเล่มสวยๆ งามๆ จริงจังเล่มอื่นได้ดีมาก

Sunflowers A book of Experiments With Sunflowers

ดูผ่านๆ คล้ายกับหนังสือฝรั่ง obsession ของนักศึกษาคนนี้คือดอกทานตะวันที่น้องลองเอามาทดลองด้วยวิธีต่างๆ เช่น บีบ, ทอด, ตัดครึ่ง, เหยียบ, แยกส่วน หรือโยนไปเรื่อย 2 นาที อธิบายวิธีการและ before-after อย่างละเอียดพร้อมบรรยายการเปลี่ยนแปลงในแต่การทดลองแต่ละครั้งด้วย

อาร์ตบุคพิมพ์ปกแข็ง สีสันงดงาม และเขียนเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด มีทริกเล็กน้อยบอกวิธีการดูแลดอกทานตะวันในแจกันที่บ้านด้วย

Tags: