ผมเชื่อว่าหลายคนคงเคยอ่านสัมภาษณ์ผู้ที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน วัยรุ่นรวยร้อยล้าน นักลงทุนที่นั่งเทรดหุ้นอยู่บ้านแล้วมีรายได้ 6 หลัก หรือนักธุรกิจที่พลิกกิจการสู่ยุคดิจิทัลจนยอดขายและกำไรเพิ่ม 3 เท่า คนรวยเหล่านี้มักพูดถึงแรงบันดาลใจ ความใฝ่รู้ การทำงานหามรุ่งหามค่ำ รวมถึงกึ๋นของความเป็นผู้ประกอบการ
หันกลับมามองตัวเอง เราก็ไม่ได้นั่งงอมืองอเท้าอยู่บ้าน เสาร์-อาทิตย์ก็หมดเวลาไปกับการอ่านหนังสือ เทคคอร์สออนไลน์แทบไม่ได้หยุดพักผ่อน แถมทักษะธุรกิจก็ใช่ว่าจะไม่มีเพราะเรียนจบจากคณะดังด้วยเกรดที่ไม่ได้ขี้เหร่ แต่ทำมั้ย ทำไม ทำธุรกิจของตัวเองก็ไม่ประสบความสำเร็จ ลองเล่นหุ้นก็ไม่เห็นจะมีกำไรเกิน 4 หลัก (บางครั้งยังขาดทุนอีกต่างหาก)
โลกช่างไม่ยุติธรรม!
เข้าใจถูกแล้วครับ โลกนี้ไม่ยุติธรรมจริงๆ เพราะงานศึกษาล่าสุดพบว่าความรวยไม่ได้มาจากความฉลาด แต่มาจากโชคเสียเป็นส่วนใหญ่ แถมโชคที่ว่าก็ดันมาแบบแรนดอม โดยผู้เขียนขอสรุปเป็นโชค 2 ชั้น ที่อธิบายว่าคนรวยในปัจจุบันเกิดจากการ ‘ถูกหวยชีวิต’ มากกว่าปัจจัยเรื่องความฉลาดหรือการทำงานหนัก
โชคชั้นที่ 1 – โชคที่คาบมาตั้งแต่เกิด
คนเราเลือกเกิดไม่ได้ ดังนั้นการที่เราจะเกิดในครอบครัวใด มีกำลังทรัพย์ส่งเสียเรามากแค่ไหน และจะมีความเป็นอยู่อย่างไรในช่วงต้นของชีวิต เป็นเรื่องของโชคล้วนๆ ครับ และความแรนดอมดังกล่าวอาจส่งผลต่อความได้เปรียบและเสียเปรียบของเด็กชายและเด็กหญิงทั้งชีวิต ไม่ว่าจะแง่สุขภาพ การศึกษา รวมถึงทุนรอนที่เก็บไว้ในกรณีเกิดวิกฤติ งานวิจัยหลายชิ้นชี้ว่าความยากจนนี่แหละครับ ที่เป็นต้นเหตุของสารพัดความเครียด และความเครียดเองก็เป็นปัจจัยที่ทำให้คนจนไม่หลุดพ้นจากความยากจนเสียที
หลายคนอาจมองว่าสาเหตุที่คนจนยังจนอยู่เช่นนั้น ก็เพราะมีพฤติกรรมดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ติดการพนัน ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้อาจเป็นภาพสะท้อนที่เกิดจาก ‘ความเครียดมหาศาล’ ที่ผู้มีรายได้น้อยต้องเผชิญอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ความผันผวนของรายได้คนจนนั้นสูงมากจน อภิจิต แบนเนอร์จี (Abhijit Bannerjee) และเอสเทอร์ ดูโฟล (Esther Duflo) อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์การพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัย MIT มองว่าคนจนเหล่านี้ไม่ต่างจาก ‘ผู้บริหารกองทุนเฮดจ์ฟันด์ที่ไม่มีรองเท้าใส่’
จุดเริ่มต้นที่แรนดอมนี่แหละครับ ที่อาจส่งผลให้เรารวย-ไม่รวย ในอนาคต โดยเฉพาะในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงอย่างประเทศไทย การเกิดในครอบครัวรายได้ปานกลาง-สูง ก็ถือว่ามีชัยไปกว่าครึ่ง
เพื่อเปรียบเทียบให้เห็นภาพ ผู้เขียนขอหยิบยกตัวเลขสถิติความเหลื่อมล้ำที่น่าสนใจในประเทศไทยมานำเสนอครับ
ครอบครัวที่จนที่สุดในประเทศไทย 10 เปอร์เซ็นต์ มีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือน 4,300 บาทต่อเดือน ส่วนครอบครัวที่รวยที่สุดในประเทศไทย 10 เปอร์เซ็นต์ มีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือน 90,000 บาทต่อเดือน
ครอบครัวที่จนที่สุดในประเทศไทย 10 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีสินทรัพย์ มีแต่หนี้สิน ส่วนครอบครัวที่รวยที่สุดในประเทศไทย 10 เปอร์เซ็นต์ ถือครองสินทรัพย์สุทธิ 57 เปอร์เซ็นต์ของประเทศไทย
ครอบครัวที่มีเงินฝากน้อยที่สุด 10 เปอร์เซ็นต์ มีเงินฝากรวมคิดเป็น 0.005 เปอร์เซ็นต์ของเงินฝากทั้งหมด ส่วนครอบครัวที่มีเงินฝากสูงที่สุดในประเทศไทย 10 เปอร์เซ็นต์มีเงินฝากรวมคิดเป็น 93 เปอร์เซ็นต์ของเงินฝากทั้งหมด
พอจะเห็นภาพไหมครับ ว่าความสำเร็จของใครหลายคนในปัจจุบัน อาจมีจุดเริ่มต้นมาจาก ‘ดวง’ ตั้งแต่เกิด ในบางประเทศก็มีความพยายามในการ ‘เกลี่ย’ สินทรัพย์ตั้งแต่ที่เกิดจากความสุ่มล้วนๆ โดยจัดเก็บภาษีมรดกเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ด้านสาธารณะ
ไมเคิล แซนเดล (Michael Sandel) ศาสตราจารย์ด้านปรัชญาการเมือง แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สรุปหัวใจของโชคที่ติดตัวมาตอนเกิดไว้อย่างน่าสนใจว่า “ไม่ต่างจากการคัดเลือกนักกีฬาโอลิมปิกสมัยต่อไป จากการดูว่าเขาและเธอมีพ่อแม่เป็นนักกีฬาโอลิมปิกหรือเปล่า”
โชคชั้นที่ 2 – ความแรนดอมของโอกาสที่จะรวย
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งชื่อว่า “พรสวรรค์หรือโชค: บทบาทของการสุ่มในการตัดสินความสำเร็จหรือล้มเหลว (Talent vs Luck: the role of randomness in success and failure)” โดย อเลสซานโดร พลูชิโน (Alessandro Pluchino) และคณะ จากมหาวิทยาลัยคาตาเนีย ประเทศอิตาลี เพื่อหาคำตอบว่าปัจจัยใดที่ทำให้ใครคนหนึ่งร่ำรวยกว่าอีกคนหนึ่งอย่างมหาศาลโดยใช้แบบจำลองในคอมพิวเตอร์
แบบจำลองดังกล่าวจะสร้างบุคคลสมมติขึ้นมาจำนวนมาก แต่ละบุคคลจะมีระดับทักษะแตกต่างกันโดยมีการกระจายตัวแบบปกติ (Normal Distribution) ซึ่งจำลองมาจากโลกความเป็นจริง ตัวอย่างเช่น มนุษย์ทั่วไปมี IQ เฉลี่ย 100 และกระจายตัวอยู่ในช่วงแคบๆ โดยไม่มีใครมี IQ กระโดดไปถึงหลักพันหรือหมื่น อีกปัจจัยหนึ่งคือโอกาสที่จะทำให้ร่ำรวยขึ้น รวมถึงวิกฤตที่ทำให้ยากจนลง ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่แต่ละคนประสบพบเจอแบบสุ่มต่อเนื่องกันเป็นเวลา 40 ปี
ตัวอย่างเช่น นาย ก. มี IQ 95 ไปเจอเหตุการณ์ที่ต้องใช้ IQ ขั้นต่ำ 85 เพื่อให้ความมั่งคั่งเพิ่ม 10 เปอร์เซ็นต์ ในกรณีนี้ นาย ก. จะประสบความสำเร็จเนื่องจากมี IQ เพียงพอ ส่วนนาย ข. มี IQ 95 เช่นกัน แต่การสุ่มอาจทำให้นาย ข. เจอเหตุการณ์ร้ายที่ต้องใช้ IQ ขั้นต่ำ 100 เพื่อไม่ให้ความมั่งคั่งลดลง 10 เปอร์เซ็นต์ ในกรณีนี้ นาย ข. ไม่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ ทำให้โดนโชคทำร้ายเนื่องจาก IQ ไม่เพียงพอ ฯลฯ
ตามตรรกะด้านบน หลายคนอาจมองว่าคนที่ IQ สูงกว่าย่อมได้เปรียบ ซึ่งก็ถูกต้องแล้วครับ แต่สิ่งที่น่าประหลาดใจคือคนที่มีความมั่งคั่งมากที่สุดกลับไม่ใช่คนที่ฉลาดที่สุด (แต่มักจะฉลาดกว่าค่าเฉลี่ย) แต่เป็นคนที่โชคดีที่สุดต่างหาก
นาซิม ทาเล็บ (Nassim Taleb) หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านความเสี่ยงเขียนถึงกรณีดังกล่าวไว้ว่ามนุษย์มัก ‘ถูกหลอกโดยความแรนดอม’ เช่น การไปเทิดทูนเหล่านักเทรดหุ้นรวยเร็วและหวังว่าวันหนึ่งฉันจะเป็นอย่างเขาหรือเธอบ้าง โดยลืมมองไปว่าเราติดกับดักอคติความอยู่รอด (Survivorship Bias) กล่าวคือมองเห็นแต่ผู้ที่ประสบความสำเร็จ โดยอาจลืมมองความล้มเหลวของคนอีกหมื่นๆ ชีวิต แถมยังยกตัวอย่างไว้อย่างแสบสันว่า “ถ้าเราโยนเครื่องพิมพ์ดีดให้ลิงจำนวนอนันต์ตัว อย่างน้อยจะมีลิงสักตัวหนึ่งที่กดแป้นพิมพ์มั่วๆ แล้วออกมาเป็นมหากาพย์อีเลียด”
ในหนังสือของเขา นาซิม ทาเล็บ ชวนเรามองปัจจัยความร่ำรวยได้แปลกแหวกแนว โดยหยิบเอาแนวคิดอย่างโลกคู่ขนานมาอธิบายได้อย่างเห็นภาพ คล้ายกับนวนิยายวิทยาศาสตร์อย่าง Dark Matter ที่การตัดสินใจของเราหนึ่งครั้ง อาจแตกย่อยออกเป็นโลกคู่ขนานหลากมิติ ส่วนโลกที่เราอยู่ในปัจจุบันนั้น ก็เป็นเพียงมิติหนึ่งของเส้นทางที่เราเลือก
เพื่อให้เห็นภาพ ผู้เขียนชวนจินตนาการถึงอาชีพสองอาชีพ คือนักเทรดหุ้นกับแพทย์ แน่นอนครับว่า ผู้ประกอบอาชีพสองอาชีพนี้แต่ละคนย่อมมีรายได้มากน้อยแตกต่างกันไป และปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งที่กำหนดว่าใครจะมีรายได้มากหรือน้อยก็คือดวง
เราลองสมมติให้ นาย ก. ประกอบอาชีพนักเทรดหุ้น และนาย ข. ประกอบอาชีพแพทย์ โดยทุกการตัดสินใจของทั้งสองคนจะส่งผลให้เกิดมิติคู่ขนานแยกย่อยแตกต่างกัน หากเรานำผลลัพธ์ดังกล่าวมาพล็อตเป็นกราฟก็จะได้การแจกแจงระฆังคว่ำตามรูปด้านล่าง โดยส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานหรือความกว้างของฐานกราฟแตกต่างกัน
ขอย้ำก่อนนะครับว่านี่เป็นแค่การทดลองเชิงความคิด และทุกอย่างเป็นตัวเลขสมมติเพื่อการอธิบายเท่านั้น
จากกราฟ เราจะพอมองเห็นภาพว่านาย ก. ผู้ประกอบอาชีพนักเทรดหุ้นจะมีการกระจายตัวของรายได้ที่กว้างกว่า บางโลกคู่ขนาน นาย ก. อาจประสบความสำเร็จเป็นนักเทรดอายุน้อยร้อยล้าน แต่บางครั้งโชคไม่เข้าข้าง นาย ก. อาจเป็นนักเทรดหุ้นที่ไม่ประสบความสำเร็จ โดนไล่ออกจากงาน และอาจต้องอยู่ด้วยเบี้ยยังชีพของผู้ไม่มีรายได้ แต่โดยเฉลี่ยแล้ว นาย ก. จะมีรายได้ 15,000 บาท
ส่วนนาย ข. ผู้เป็นแพทย์ จะมีการกระจายตัวของรายได้ในกรอบที่แคบกว่า กล่าวคืออาจมีบางมิติที่ นาย ข. ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก แต่ก็ไม่ได้ถึงกับรายได้ขาดมือ แต่ในอีกโลกหนึ่ง นาย ข. อาจเป็นศัลยแพทย์มือหนึ่งที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง ทำงานโรงพยาบาลเอกชนยักษ์ใหญ่ และสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ โดยเฉลี่ยแล้ว นาย ข. จะมีรายได้ 40,000 บาท
ในบางโลกคู่ขนาน นาย ข. อาจโชคกลางๆ และมีรายได้ในระดับค่าเฉลี่ย แต่เปิดเฟซบุ๊กเห็น นาย ก. นักเทรดหุ้นผู้ประสบความสำเร็จถล่มทลาย และผันตัวเองเป็นไลฟ์โค้ชชื่อดัง นาย ข. อาจรู้สึกเศร้าใจหน่อยๆ และสงสัยว่าทำไมตอนสมัยมหาวิทยาลัยไม่เลือกเรียนไฟแนนซ์เผื่อจะรวยด้วยหุ้นกับเขาบ้าง แต่หาก นาย ข. เห็นกราฟด้านบน ก็อาจมองโลกแตกต่างออกไป และได้ข้อสรุปว่านาย ก. ในโลกนี้ก็เป็นแค่ค่าผิดปกติ (Outliers) แต่โดยเฉลี่ยของทุกมิติคู่ขนานแล้ว นาย ข. มีรายได้เฉลี่ยที่สูงกว่า
หลายคนอาจไม่ค่อย ‘ซื้อ’ แนวคิดมิติคู่ขนานของ นาซิม ทาเล็บ สักเท่าไหร่ แต่สำหรับผู้เขียน มุมมองความเสี่ยงในลักษณะดังกล่าวทำให้เรามองโลกได้ชัดเจน และหลุดพ้นจากกับดักอคติความอยู่รอดได้ในระดับหนึ่ง
คำถามต่อไปคือ ถ้าเราต่างรู้อยู่แก่ใจว่าความร่ำรวยส่วนใหญ่เกิดจากสารพัดตัวแปรสุ่ม ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความรู้ความสามารถเป็นปัจจัยหลัก เราควรจะทำอย่างไร?
ในระบบคิดแบบทุนนิยม กลไกเดียวที่พอจะเกลี่ยเฉลี่ยโชคได้ก็คงหนีไม่พ้นสารพัดภาษี ที่หากระบบไม่ผิดเพี้ยน ก็จะเน้นอุดหนุนผู้มีรายได้น้อยให้พอจะลืมตาอ้าปากได้ในสังคม เช่น การศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือบริการสาธารณสุข รวมถึงแนวคิดอย่าง “รายได้ขั้นต่ำสากล (Universal Basic Income)” เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสเริ่มวิ่งจากจุดสตาร์ตเดียวกัน
และแน่นอนครับ ผมไม่ได้บอกให้เรานั่งนิ่งๆ อยู่บ้านแล้วรอโอกาสให้เดินมาหา แต่เราควรลับฝีมือเตรียมพร้อมเอาไว้ เพราะถ้าโอกาสมาถึงเราเมื่อไหร่ จะได้เติบโตไปอย่างก้าวกระโดด แต่หากโอกาสนั้นไม่มาถึงก็ไม่เป็นไร ถือเสียว่าโชคไม่เข้าข้าง ที่สำคัญ ควรฟังสูตรลับของความสำเร็จด้วยความระมัดระวัง เพราะต่อให้เราลอกสูตรนั้นมาเป๊ะๆ ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะประสบความสำเร็จเสมอไป
เอกสารประกอบการเขียน
- 8 ข้อเท็จจริง ความเหลื่อมล้ำในไทย
- Justice
- If you’re so smart, why aren’t you rich? Turns out it’s just chance.
- Getting rich is largely about luck – shame the wealthy don’t want to hear it
- Fooled by Randomness: The Hidden Role of Chance in Life and in the Markets by Nassim Nicholas Taleb
- Poor Economics: A Radical Rethinking of the Way to Fight Global Poverty by Abhijit Banerjee and Esther Duflo