เมื่อพูดถึงคำว่า ‘จำนำ’ หลายคนคงนึกถึง ‘โรงตึ๊ง’ ที่เราเอาของมีค่าไปฝากไว้กับเถ้าแก่ ซึ่งจะเป็นคนประเมินมูลค่าของสิ่งนั้นแล้วให้เงินเรามา เราก็ปั๊มลายนิ้วมือเอาไว้เป็นหลักฐาน เมื่อวันที่เราพอมีสตางค์ ก็เอาเงินไปไถ่ของของเรากลับคืนมา หากเลยกำหนดเวลา ของสิ่งนี้ก็จะถูกนำออกไปขายให้คนอื่นแทน
ความหมายนี้ มีส่วนคล้ายกับการ ‘จำนำข้าว’ ที่ชาวนาเอาข้าวไปจำนำไว้กับรัฐบาล รัฐบาลจะกำหนดราคาว่าจะรับจำนำที่เท่าไร ระหว่างนั้น หากปรากฏว่าราคาข้าวในท้องตลาดดีกว่าราคาที่รัฐให้ ชาวนาก็สามารถไปไถ่ข้าวคืนมา แต่หากราคายังแย่อยู่ รัฐบาลก็เก็บข้าวไว้ หาโอกาสระบายออกในตลาดโลก
หากยังจำกันได้ เมื่อปี 2554 รัฐบาลภายใต้การนำของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประกาศนโยบายรับจำนำข้าวจากชาวนาในราคาเกวียนละ 15,000-20,000 บาท มีเกษตรกรลงชื่อขอเข้าร่วมโครงการนี้กว่า 3.2 ล้านครัวเรือน
โครงการลักษณะนี้มาจากความพยายามยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกร แนวคิด ‘จำนำข้าว’ ไม่ได้เริ่มมีมาในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แต่เริ่มมาตั้งแต่สมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ในปี 2524 และดำเนินเรื่อยมาหลายรัฐบาล (2,500 บาทต่อเกวียนในรัฐบาลเปรม 3,000 บาทต่อเกวียนในรัฐบาลชวน) ต่อมาในปี 2552 อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเป็นนายกรัฐมนตรี เปลี่ยนจากโครงการรับจำนำข้าวมาเป็นโครงการรับประกันราคาข้าว ที่รัฐบาลจะให้เงินอุดหนุนชาวนา หากพ่อค้าคนกลางที่รับซื้อข้าวไปให้ราคาไม่ถึงเกณฑ์ที่ประกันราคาเอาไว้
ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ นโยบายจำนำข้าวก็ถูกนำกลับมาใช้อีกครั้ง แต่ที่เด่นไปกว่ารัฐบาลในอดีตคือราคาจำนำต่อเกวียนสูงเป็นพิเศษที่ 15,000-20,000 บาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่ใครเห็นก็ตาโต
ด้านหนึ่งมองว่านี่เป็นนโยบายแทรกแซงราคาเพื่อช่วยชาวนาและแก้ไขปัญหาราคาข้าวตกต่ำ ขณะที่อีกด้านเคลือบแคลงว่า นี่เป็นเพียงอีกหนึ่งนโยบายประชานิยมที่หวังผลประโยชน์ทางการเมือง
บนข้อถกเถียงนี้ ข้อเท็จจริงที่แวดล้อมอยู่คือ ในไทย ปริมาณข้าวที่ปลูกมีมากกว่าปริมาณการบริโภคในประเทศ และที่ผ่านมา ข้าวคุณภาพดีก็ส่งออกในราคาที่ถูกกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ชาวนาขายข้าวให้ตัวกลางโดยไร้อำนาจต่อรอง ทำให้ราคาข้าวเปลือกถูกกดต่ำ
ตามทฤษฎี เมื่อราคาข้าวเดิมเป็นราคาที่ต่ำกว่าทุน ผลคือชาวนาขายข้าวขาดทุน ไม่พ้นวงจรยากจนและเป็นหนี้ การรับจำนำข้าวในราคาสูงก็อาจจะทำให้ราคาข้าวเปลือกในตลาดทั้งในและต่างประเทศสูงขึ้น แต่ในทางปฏิบัติ ปัญหาใหญ่คือข้าวระบายไม่ออก ความหวังที่จะสต็อกข้าวไว้เพื่อให้ราคาข้าวในตลาดโลกสูงขึ้นแล้วจึงค่อยระบายนั้นไม่เกิดเพราะราคาข้าวในตลาดโลกไม่ได้สูงขึ้นเลย เรื่องนี้อาจสะท้อนข้อเท็จจริงหนึ่งว่า ที่ผ่านมาไทยส่งออกข้าวได้มากก็เพราะกดราคาลงไปต่ำมาก
หลังดำเนินโครงการไปในเดือนตุลาคม 2554 ได้ไม่กี่วัน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็ส่งหนังสือเสนอให้ยุติโครงการรับจำนำข้าว ระบุว่ามีการทุจริต
ขั้วตรงข้ามทางการเมือง และผู้ที่ไม่เห็นด้วย ใช้เงื่อนไขเรื่องนโยบายจำนำข้าววิพากษ์โจมตีรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ทั้งมองว่า นี่เป็นการทุจริตเชิงนโยบายทั้งในการรับจำนำข้าวและการระบายข้าว ตั้งข้อสงสัยในโครงการขายข้าวรัฐต่อรัฐหรือโครงการข้าวจีทูจีให้จีน และมองว่าการที่รัฐแทรกแซงราคาตลาดขัดกับหลักเศรษฐกิจเสรี
จำนำข้าวบนเพลิงการเมืองไทย
เรื่องจำนำข้าวกลายเป็นอีกปมสำคัญให้ประชาชนส่วนหนึ่งออกมาชุมนุมแสดงความไม่พอใจรัฐบาลยิ่งลักษณ์อย่างรุนแรง
แม้ยิ่งลักษณ์จะประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรไปแล้วในปลายปี 2556 แต่เหตุการณ์ความไม่พอใจทางการเมืองยังรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนเมื่อปี 2557 ผู้ชุมนุมภายใต้การนำของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) เข้าปิดล้อมธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย เพื่อคัดค้านการปล่อยเงินกู้ให้แก่รัฐบาลเพื่อนำมาใช้ในโครงการจำนำข้าว
ความรุนแรงโหมหนัก ป.ป.ช. เข้ามาตั้งคณะกรรมการชุดใหญ่เพื่อสอบสวนยิ่งลักษณ์ ซึ่งต่อมาก็มีความเห็นให้ถอดถอนยิ่งลักษณ์ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และมีความเห็นให้ดำเนินคดีอาญาฐานละเลยการปฏิบัติหน้าที่จนทำให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว อัยการสูงสุดจึงเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีกรณีปล่อยปละละเลยไม่ระงับยับยั้งการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 ซึ่งจะมีโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจซึ่งรับผิดชอบโครงการจำนำข้าว เบิกความในศาลว่า เงินทุนที่ใช้ เป็นเงินกู้ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ซึ่งคุมกรอบเงินหมุนเวียนที่จะใช้ในโครงการนี้ไม่เกิน 5 แสนล้านบาท ในประเด็นนี้ พยานฝ่ายโจทก์มองว่าเป็นความเสียหายด้านการเงินการคลัง โดยสุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า สุดท้ายเมื่อปิดบัญชีโครงการ ก็พบตัวเลขการใช้เงินสูงถึง 8.7 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ดี ในช่วงเวลาที่ฝุ่นตลบอยู่นั้น อีกองค์กรอิสระ คือ ศาลรัฐธรรมนูญ มีความเห็นในอีกคดีหนึ่งว่า ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ใช้อำนาจในฐานะนายกรัฐมนตรีสั่งโยกย้ายข้าราชการ (กรณี ถวิล เปลี่ยนสี) ซึ่งศาลเชื่อว่าเป็นการกระทำเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง และมีผลประโยชน์ทับซ้อน จึงถือเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และพิพากษาให้ยิ่งลักษณ์สิ้นสุดสถานะความเป็นรัฐมนตรี อันมีผลทำให้ยิ่งลักษณ์พ้นจากตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรีในวันที่ 7 พฤษภาคม 2557 อีกไม่กี่วันหลังจากนั้น กองทัพไทยก็เข้าทำการรัฐประหารยึดอำนาจในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลพลเรือนหรือรัฐบาลทหาร คดียังคงอยู่ในการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตลอดมา ซึ่งใช้เวลาพิจารณาช่วงปี 2558-2560 และจะมีคำพิพากษาในวันที่ 25 สิงหาคมนี้
คดีทุจริตภายใต้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
รัฐบาลหลายๆ รัฐบาล ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย ต่างก็พยายามหาวิธีดำเนินนโยบายประชานิยมเพราะอยากให้คนรักคนจดจำ หากนโยบายนั้นเข้าท่า สามารถแก้ปัญหาไปถึงระดับโครงสร้างได้จริงและมีผลระยะยาว ก็ถือเป็นโชคดีของส่วนรวม
แต่ความเสี่ยงของประชานิยมที่อยากจะเขย่าโครงสร้าง ก็แปลว่ากลุ่มอำนาจและกลุ่มผลประโยชน์เดิมถูกสั่นคลอนและจะไม่ยอมเอาง่ายๆ บ่อยครั้งจึงพบว่า ประชานิยมที่ทำได้และได้ทำ มักให้ความสุขแบบพลุ ที่มาวูบเดียวแล้วดับไป
โจทย์ของจำนำข้าวยังไปถึงว่า เรื่องนี้เป็นประชานิยมแบบไหน เพราะเมื่อได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของปมขัดแย้งที่บานปลายของการเมืองไทย คำถามสำคัญในเวลานี้คือ ถ้ารัฐบาลนั้นๆ บริหารงานผิดพลาดเชิงนโยบาย ถือเป็นความผิดอาญาหรือไม่ และ ‘ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง’ จะตั้งประเด็นการพิจารณาจากมุมใด
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นแผนกใหม่ที่ตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ 2540 เพื่อพิจารณาคดีที่มีข้อกล่าวหาว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้แก่ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และข้าราชการการเมือง มีข้อครหาว่าทุจริตต่อหน้าที่หรือร่ำรวยผิดปกติ
คดีแทบทั้งหมดที่เข้าสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มักเป็นคดีทุจริต ที่มีมากคือคดียื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ คดีดังในอดีต เช่น คดีนายรักเกียรติ สุขธนะ ส.ส.พรรคความหวังใหม่ อดีตรัฐมนตรีในยุครัฐบาลชวน หลีกภัย ในช่วงปี 2540-2541 ถูกกล่าวหาว่ารับสินบนบริษัทยา ต่อมา ในปี 2546 เขาเป็นรัฐมนตรีคนแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่ศาลฎีกามีคำสั่งให้ต้องโทษจำคุกในคดีทุจริตรับสินบน 5 ล้านบาทจากบริษัทยา ให้ยึดทรัพย์เป็นจำนวน 233.88 ล้านบาท และจำคุก 15 ปี (ต่อมาได้รับการลดโทษ และออกจากเรือนจำหลังติดคุกนานกว่า 5 ปี)
ในปี 2548 อีกคดีเด่นคือ คดีที่ ป.ป.ช.ขึ้นเงินเดือนให้ตัวเอง ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ พิพากษาว่า ป.ป.ช. ทั้ง 9 คนมีความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ ให้รอลงอาญา 2 ปี
ยังมีอีกหลายคดีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีตกเป็นจำเลย เช่น คดีทุจริตที่ดินรัชดาฯ ซึ่งในปี 2550 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ มีความเห็นให้ลงโทษจำคุก 2 ปี หลังจากนั้น พ.ต.ท.ทักษิณก็เป็นจำเลยในอีกหลายคดี ได้แก่ คดีหวยบนดิน (2551) คดีเอ็กซิมแบงก์ (2551) คดีแปลงสัญญาสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต (2551) ทุกคดีโดนตั้งข้อหามีความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ แต่เนื่องจาก พ.ต.ท.ทักษิณหลบหนีออกไปจากประเทศไทย ศาลจึงสั่งจำหน่ายคดีเอาไว้ชั่วคราว
แม้ดูเหมือนคดีส่วนใหญ่ ศาลฎีกามักจะลงโทษนักการเมืองว่ามีความผิด แต่ก็มีหลายคดีที่ยกฟ้อง เช่น คดีที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายและช่วยเหลือเกษตรกรและจำเลยรวม 44 คน รวมถึงนายเนวิน ชิดชอบ อดีต รมช.เกษตรฯ ถูกฟ้องจากการดำเนินโครงการประมูลกล้ายาง 90 ล้านต้น แต่มีปัญหาว่ากล้ายางตายเกือบหมด และมีข้อครหาว่าผู้เสนอราคาเป็นพวกเดียวกัน สุดท้ายศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ วินิจฉัยยกฟ้อง ด้วยเหตุผลที่ว่า จำเป็นต้องช่วยเกษตรกร และการดำเนินการเป็นไปตามระเบียบ
นอกจากนี้ ยังมีคดีที่เสนาะ เทียนทอง อดีต รมช.มหาดไทย ถูกดำเนินคดีฐานความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการในกรณีสนามกอล์ฟอัลไพน์ ซึ่งสุดท้ายแล้ว คดีขาดอายุความจนต้องยกฟ้องเมื่อปี 2553
และมีกรณีเมื่อปี 2552 ที่เครือข่ายผู้ให้บริการโทรศัพท์ 3 ราย ส่ง SMS ในนามของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะนายกรัฐมนตรี ถึงประชาชน 17.2 ล้านเลขหมาย โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ก็ถูกยื่นตรวจสอบว่าเข้าข่ายรับสิ่งของหรือผลประโยชน์เกิน 3,000 บาทหรือไม่ ศาลฎีกาก็มีมติให้ยกคำร้อง ให้เหตุผลว่าไม่มีกฎหมายรองรับ
จากบรรดาคดีในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทั้งหมด หากกลับมาดูคดีจำนำข้าวที่ยิ่งลักษณ์เป็นจำเลย ก็อาจเรียกได้ว่า นี่เป็นคดีที่ศาลจะพิจารณาความผิดพลาดเชิงนโยบาย ซึ่งแน่นอนว่าถ้าให้สอดคล้องกับการพิจารณาตามอำนาจหน้าที่ของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ คำฟ้องย่อมต้องระบุเชื่อมโยงถึงความทุจริตและไม่โปร่งใสในขั้นตอนทั้งกระบวนการ ดังที่ยิ่งลักษณ์ถูกตั้งข้อหาว่า ละเลย ไม่ระงับยับยั้งการทุจริต
ศาลเป็นสถาบันที่ได้รับการคาดหวังให้เป็นที่พึ่งสุดท้ายของสังคม ไม่ว่าจะอยู่ภายใต้รัฐบาลแบบใด ศาลก็ถูกคาดหวังเสมอมาให้รับใช้ประชาชนด้วยการพิทักษ์หลักการและความยุติธรรม คำพิพากษาในคดีจำนำข้าวจึงไม่ใช่เพียงเป็นคำตัดสินเกี่ยวกับตัวอดีตนายกรัฐมนตรีและการดำเนินนโยบายในอดีตเท่านั้น แต่ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นการพิสูจน์ตัวเองของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองด้วยเช่นกัน เพราะคำตัดสินเชิงนโยบายครั้งนี้ จะถูกใช้เป็นบรรทัดฐานทางการเมืองต่อไปในอนาคตด้วย
DID YOU KNOW?
Tags: จำนำข้าว, ยิ่งลักษณ์, ชินวัตร, rice-pledging scheme, SupremeCourt
- วันที่ 25 สิงหาคม ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ จะอ่านคำพิพากษาสองคดีในวันเดียวกัน คือ คดีการปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตและความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าวของยิ่งลักษณ์ และคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือ จีทูจี โดยมี บุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมช.พาณิชย์ และพวกรวม 28 รายเป็นจำเลย
- ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ลงมติเมื่อ 23 มกราคม 2558 ให้ตัดสิทธิ์ไม่ยุ่งเกี่ยวทางการเมือง 5 ปี และต่อมา เมื่อ 19 ตุลาคม 2559 กระทรวงการคลังได้ออกคำสั่งให้ยิ่งลักษณ์ชดเชยความเสียหายจำนวน 35,717 ล้านบาทในโครงการรับจำนำข้าว ปัจจุบันอยู่ระหว่างการใช้มาตรการบังคับทางปกครอง