สกุลเงินเสมือน (Virtual Currencies) ไม่แตกต่างจากการฉ้อฉลของนายพอนซี (Ponzi’s Schemes) ที่นักลงทุนคาดว่าจะได้รับผลตอบแทนจากราคาที่เพิ่มขึ้น โดยหวังว่าสักวันหนึ่งจะมีนักลงทุนที่โง่กว่ามาซื้อสินทรัพย์นั้นไปก่อนที่ตลาดจะวาย” อีฟ เมิร์ช (Yves Mersch) หนึ่งในคณะกรรมการบริหาร ธนาคารกลางแห่งสหภาพยุโรป กล่าวในการประชุมทางการเงินและสถาบันการเงิน (Official Monetary and Financial Institutions Forum) ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ประโยคดังกล่าวกลายเป็นพาดหัวของหลายสำนักข่าว หากจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพ คำพูดของนายอีฟก็คงไม่ต่างจากคณะกรรมการบริหารของธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาให้สัมภาษณ์ว่า บิทคอยน์ก็ไม่ต่างจากแชร์ลูกโซ่นั่นแหละครับ

ผู้เขียนขอออกตัวแรงว่าไม่เห็นด้วยกับคำพูดของนายอีฟ แต่ก่อนจะอธิบายเหตุผล ขอใช้พื้นที่ทำความรู้จักกับการฉ้อฉลของนายพอนซี (Ponzi’s Schemes) หรือที่รู้จักกันในชื่อว่า ‘แชร์ลูกโซ่’

ย้อนกลับไปราว 99 ปีก่อน กระทาชายชื่อว่า ชาร์ลส์ พอนซี (Charles Ponzi) เกิดปิ๊งไอเดีย ทำกำไรจากการซื้อขายแสตมป์ โดยใช้จุดบอดของกลไกราคาทำให้แสตมป์ซึ่งควรจะมีมูลค่าเท่ากันกลับแตกต่างกันในแต่ละประเทศ ซึ่งเป็นการทำกำไรแบบไร้ความเสี่ยง (arbitrage) โดยไม่ผิดกฎหมาย

ธุรกิจดังกล่าวทำท่าจะไปรุ่ง จนนายพอนซีจัดตั้งบริษัทและสัญญากับนักลงทุนว่าจะคืนผลตอบแทนให้ร้อยละ 50 ภายใน 45 วัน และร้อยละ 100 ภายใน 90 วัน แต่น่าเสียดายที่การทำกำไรในลักษณะนี้มักจะเกิดแค่ระยะสั้นๆ เพราะโอกาสดังกล่าวจะดึงดูดเหล่านักลงทุนเข้าสู่ตลาด และทำให้กลไกราคากลับมาทำงานได้อย่างปกติ หรือสร้างกำไรจากส่วนต่างได้เพียงจิ๋วจ้อยเท่านั้น

แต่ชื่อเสียงจากความสำเร็จของนายพอนซี รวมถึงผลตอบแทนแบบการันตีก็ดึงดูดนักลงทุนได้ไม่น้อย สุดท้าย เมื่อนายพอนซีสร้างกำไรจากโมเดลซื้อขายแสตมป์ไม่ได้ จึงเริ่มเอาเงินจากนักลงทุนรายใหม่มาจ่ายเป็นผลตอบแทนให้กับนักลงทุนคนก่อนหน้า หมุนวนไปเรื่อยๆ แต่เมื่อไรที่ไม่มีนักลงทุนหน้าใหม่ ก็ได้เวลาปาร์ตี้เลิก เพราะนายพอนซีไม่มีปัญญาหาเงินมาจ่ายผลตอบแทนให้นักลงทุนอีกต่อไป

แชร์ลูกโซ่นั้นระบาดทั่วโลกอย่างถ้วนหน้า เพราะนอกจากกลไกการทำงานที่ง่ายแสนง่ายจนไม่ว่าใครก็สามารถจัดตั้งได้ ในโลกนี้ก็ยังมีคนจำนวนมากมายที่คาดหวังการรวยเร็วทางลัดซึ่งมักตกเป็นเหยื่อแชร์ลูกโซ่ที่มักเสนอช่องทางการลงทุนที่น่าเชื่อถือ ตั้งแต่หุ้น น้ำมัน เงินตราต่างประเทศ ทัวร์ญี่ปุ่น และเทรนด์ล่าสุดที่กำลังมาแรง คือแชร์ลูกโซ่สกุลเงินเข้ารหัส (Cryptocurrency) ที่มีลักษณะการระดมเงินทุนโดยอ้างว่าจะนำไปลงทุนในคริปโต หรือแลกเปลี่ยนเงินสดเป็นสกุลเงินเข้ารหัส โดยมักมาในรูปแบบที่น่าเชื่อถือ ดูเป็นมืออาชีพ จนทำให้เหยื่อหลงเชื่อได้ไม่ยาก

ส่วนจะรู้ได้อย่างไร ว่าโอกาสลงทุนไหนที่เข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ ผู้เขียนแนะนำให้จำไว้ 5 ข้อดังนี้ครับ

  • สัญญาว่าจะได้รับผลตอบแทนสูงแต่ความเสี่ยงต่ำ ซึ่งขัดกับหลัก“High Risk High Return” หรือ ยิ่งความเสี่ยงมากเท่าไหร่ ผลตอบแทนก็ยิ่งคุ้มค่ามากเท่านั้นอย่างสิ้นเชิง ลองจินตนาการดูนะครับว่า ถ้ามีโอกาสลงทุนในลักษณะนี้จริง นักลงทุนทั่วสารทิศย่อมแห่มาแย่งชิงโอกาสดังกล่าวจนกลไกตลาดเข้าที่เข้าทางและสร้างกำไรได้ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน
  • ผลตอบแทนต่อเนื่องโดยไม่สนสภาพเศรษฐกิจ แม้ว่านักลงทุนจะเก่งแค่ไหน กลยุทธ์ยอดเยี่ยมอย่างไร แต่ถ้าตลาดเทาซึมเศร้าทั่วโลก ก็ยากที่จะสร้างผลตอบแทนแบบไม่สะทกสะท้าน
  • กลยุทธ์การลงทุนเป็นความลับ หรืออธิบายซับซ้อนจนไม่เข้าใจ อันนี้ให้ตั้งข้อสงสัยไว้ก่อนเลยครับว่ามีอะไรแปลกๆ หรือเปล่า ที่สำคัญ ผู้เขียนแนะนำเสมอว่าอย่าลงทุนในสินทรัพย์ที่ตัวเองไม่เข้าใจว่าทำงานอย่างไรครับ
  • ไม่ให้ดูเอกสารการลงทุน ถึงข้อนี้แนะนำให้ขอคืนเงินเถอะครับ เพราะการลงทุนส่วนใหญ่มักอยู่ในรูปแบบของสัญญา เมื่อเราขอดูสัญญาที่เป็นลายลักษณ์อักษรไม่ได้ สัญญาใจอย่างเดียวคงไม่ปลอดภัยเท่าไหร่นัก
  • ขอถอนเงินลงทุนลำบาก หากเข้าข่ายทั้ง 4 ข้อ แล้วเดินไปขอถอนเงินลงทุน แต่กลับถูกบ่ายเบี่ยง อิดออด ก็ชัดเจนแล้วครับว่าเงินที่เราลงทุนไปนั้นอยู่ในวงของแชร์ลูกโซ่เรียบร้อย เนื่องจากการที่แชร์ลูกโซ่จะเดินหน้าต่อไปได้ต้องอาศัยเงินจากนักลงทุนใหม่เข้ามาหมุนเวียน การขอถอนเงินลงทุนโดยนักลงทุนเดิมก็ไม่ต่างจากการตัดอายุของวงแชร์ให้ความแตกเร็วขึ้น

ย้อนกลับมาที่ประเด็นของนายอีฟที่เปรียบสกุลเงินดิจิทัลกับแชร์ลูกโซ่ จะพบว่าไม่ค่อยเข้าเค้าเท่าไหร่นัก เพราะนอกจากสกุลเงินดิจิทัลที่ได้รับการยอมรับอย่างบิทคอยน์จะไม่มีองค์กรกลางคอยขับเคลื่อน การซื้อบิทคอยน์เพื่อเก็งกำไรก็ใช่ว่าจะการันตีผลตอบแทนหรือได้รับผลตอบแทนอย่างสม่ำเสมอ (ล่าสุดเพิ่งหล่นฮวบไปสดๆ ร้อนๆ) ที่สำคัญ สกุลเงินเข้ารหัสเหล่านี้ไม่ต้องอาศัยนักลงทุนหน้าใหม่เพื่อความอยู่รอด

อย่างไรก็ดี ข้อสังเกตเหล่านั้นก็ใช่ว่าจะไม่น่ารับฟังไปเสียทั้งหมด เพราะประเด็นที่นายอีฟหยิบยกสกุลเงินเข้ารหัสมาเปรียบกับการฉ้อฉลของนายพอนซี ก็เนื่องจากความผันผวนของราคาที่ไม่มีทีท่าว่าจะสงบ นอกจากนี้ คนส่วนใหญ่ที่เข้าซื้อสกุลเงินเข้ารหัสยังเน้นการเก็งกำไรมากกว่านำมาใช้จ่ายจริง และเวลาในการทำธุรกรรมที่ช้าแสนช้า จนอีฟมองว่า “ไม่เห็นอนาคตที่สกุลเงินเสมือนจะมาแทนที่เงินในปัจจุบัน”

สองนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยพิตต์สเบิร์ก ประเทศอังกฤษ ได้ลองใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์เพื่อประเมินราคาของสกุลเงินเข้ารหัสแล้วได้ข้อสรุปว่า เงินเหล่านั้น “ไม่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจจากแบบจำลองการประเมินราคาที่ใช้กันทั่วไป” และราคาในปัจจุบันอาจอยู่ในสภาวะฟองสบู่ โดยราคาดังกล่าวถูกขับเคลื่อนโดยความต้องการซื้อของนักลงทุนรายย่อยซึ่งมาทีหลัง แต่หากนักลงทุนเหล่านั้นรู้สึกไม่ปลอดภัย เริ่มเทขายเมื่อไหร่ ก็ย่อมทำให้ราคาหล่นฮวบ

เหตุผลที่สกุลเงินเข้ารหัสถูกเปรียบเทียบกับแชร์ลูกโซ่ก็เพราะกลไกการถ่ายโอนความมั่งคั่งที่คล้ายคลึงกัน คือผู้มาทีหลังจะเป็นแรงผลักดันราคาให้สูงขึ้น ในขณะที่นักลงทุนซึ่งซื้อมาก่อนก็จะฉวยจังหวะฟันกำไรสร้างแรงขายจนราคาสินทรัพย์ตก ส่งผลให้นักลงทุนซึ่งเข้าซื้อตามกระแสประสบอาการ ‘ติดดอย’ ไปตามๆ กัน นอกจากนี้ หลายคนอาจไม่ทราบว่าตลาดอย่างบิทคอยน์มี ‘เจ้าพ่อ’ คือนักลงทุนรายใหญ่ราว 1,000 บัญชีซึ่งถือครองสกุลเงินบิทคอยน์คิดเป็นร้อยละ 40 ของทั้งตลาด ซึ่งหากเจ้าพ่อเหล่านี้เทขายเมื่อไหร่ ย่อมสร้างอุปทานจำนวนมากจนราคาหล่นฮวบอย่างไม่ต้องสงสัย

แม้ว่าสกุลเงินดิจิทัลเหล่านี้มักถูกต้องข้อกังขาและโจมตีต่างๆ นานา แต่ทุกฝ่ายต่างเห็นตรงกันว่าเทคโนโลยีบล็อกเชนซึ่งอยู่เบื้องหลังสกุลเงินเข้ารหัสเหล่านี้คือเทคโนโลยี ‘เปลี่ยนโลก’ จากเดิมที่ต้องอาศัยพ่อค้าคนกลาง เช่น ธนาคาร เพื่อสร้างความเชื่อมั่น บล็อกเชนอาจสร้างกลไกใหม่เข้ามาแทนที่ให้สองฝ่าย ‘เชื่อถือ’ กันได้โดยไม่ต้องอาศัยตัวกลางอีกต่อไป

ก็ต้องรอดูกันครับว่าสกุลเงินเข้ารหัสจะมาแทนที่สกุลเงินที่ใช้ในปัจจุบันได้หรือไม่ หรือจะเป็นแค่สินทรัพย์ที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัย แต่ราคาผันผวนเกินกว่าที่ใครจะอยากนำมาใช้จ่ายจริง

 

 

เอกสารประกอบการเขียน

Tags: , , , , , , ,