ปัญหาเรื่องปากท้อง ปัญหาเศรษฐกิจ ค่าครองชีพ ของแพง น้ำมันแพง เป็นสิ่งที่ทั่วโลกกำลังเผชิญร่วมกัน บางพื้นที่มีปัญหาหนักหลายด้าน บางพื้นที่มีปัญหาไม่มากนัก รัฐบาลและสถาบันการเงินต่างพยายามหาทางแก้ปัญหาดังกล่าว เพราะตอนนี้มีหลายประเทศกำลังพบกับช่วงเวลาที่ยากลำบากจากภาวะเงินเฟ้อ

เมื่อเศรษฐกิจทั่วโลกกำลังผันผวนและเริ่มชะลอตัวมากขึ้นกว่าเดิม ประเทศไทยก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบดังกล่าวได้ ภาวะของแพง น้ำมันแพง ค่าครองชีพสูงสวนทางกับค่าแรงขั้นต่ำ ทำให้เกิดการพูดคุยกันในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ ถึงสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นว่าตอนนี้ไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป ไทยเป็นประเทศที่น่าเป็นห่วงที่สุดประเทศหนึ่งของโลกหรือไม่ และรัฐบาลไทยจะหาวิธีแก้ปัญหาด้วยวิธีไหน ทั้งมีบางความคิดเห็นอ้างอิงถึงพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกว่าตอนนี้ใครกำลังเผชิญกับปัญหาแบบใดอยู่บ้าง

วันที่ 23 พฤษภาคม 2565 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงสถานการณ์เงินเฟ้อทั่วโลกว่า อย่าบิดเบือนความจริง ไทยไม่ได้มีสถานะเงินเฟ้อสูงที่สุดในโลกอย่างที่กล่าวกันตามโซเชียลมีเดีย เวลานี้ วิกฤตโควิด-19 กำลังผ่านพ้นไป เศรษฐกิจของประเทศกำลังฟื้นตัวขึ้นอย่างช้าๆ

“มันก็เดือดร้อนทั้งหมด ทุกประเทศเดือดร้อนเหมือนกันหมด ของเราเดือดร้อน รัฐบาลก็ดูแลอย่างเต็มที่ ส่วนกำลังซื้อภาคประชาชน ค่าเงินบาทอ่อนตัว ฉะนั้นเป็นประโยชน์ต่อการส่งออกของเรา โดยเฉพาะสินค้าด้านการเกษตรปีนี้ราคาดี ไม่ว่าจะเป็นยาง ปาล์ม ข้าวโพด ข้าวยังทรงๆ อยู่ เพราะมีซัพพลายล้นตลาดจากข้าวที่ราคาต่ำกว่าที่อื่น ส่วนกำลังซื้อภาคชนบทก็กำลังดี ถ้าจะมองเศรษฐกิจของเราตอนนี้ถือว่าอยู่ในช่วงฟื้นฟูอย่างช้าๆ ไม่ถือว่าชะลอ ถ้าเทียบตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 มา เราต้องรักษาสมดุลตรงนี้ไว้ได้เพื่อทำให้เศรษฐกิจเติบโตต่อเนื่อง ผู้ทำงานจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากเคยโดนลดเงินเดือนค่าจ้างในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

“เราพยายามจะรักษาระดับเงินเฟ้อให้ต่ำกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเงินเฟ้อของเรามีคนไปพูดบิดเบือนว่า เรามากกว่าเขา เงินเฟ้อเราไม่ได้สูงที่สุดในโลก แต่เราอยู่ในกลุ่มที่ต่ำสุด และเราจะต้องกำกับดูแลราคาสินค้าในท้องตลาดให้ได้มากที่สุด เรื่องดอกเบี้ยนโยบายต่างๆ ทางธนาคารกำลังพิจารณาเพื่อพิจารณาตามความเหมาะสม 4 เดือนแรกเรายังคงมีเงินลงทุนโดยตรงเดือนละประมาณ 4 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตามในไตรมาส 2 และ 3 เราจำเป็นต้องเร่งผ่อนคลายมาตรการโควิดเพื่อดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาให้มาก รวมถึงนักท่องเที่ยวในประเทศเราด้วย ซึ่งยังพอมีเวลาตั้งแต่เวลานี้จนถึงช่วงไฮซีซันปลายปี”

ศูนย์วิจัยกรุงศรีประเมินสถานการณ์เงินเฟ้อในไทยช่วงนี้ว่า การขยายมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลจะช่วยผลกระทบทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมลดลงต่ำสุดในรอบ 5 เดือน ด้วยเหตุผลเรื่องความกังวลเกี่ยวกับต้นทุนการผลิตที่ปรับราคาสูงขึ้น เช่น วัตถุดิบพลังงาน ราคาค่าขนส่ง รวมถึงภาวะค่าครองชีพ หนี้ครัวเรือน และผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ทำให้ราคาน้ำมันโลกผันผวนหนัก ส่งผลกระทบถึงราคาน้ำมันในประเทศ โดยเฉพาะกับดีเซลที่เป็นทรัพยากรสำคัญของภาคอุตสาหกรรม และกระทบต่อภาคธุรกิจขนาดเล็กลงมา รวมถึงภาคประชาชนอย่างเลี่ยงไม่ได้

ข้อมูลคาดการณ์ของสถาบันการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุว่า ระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยตลอดทั้งปี 2565 จะยังคงต่ำกว่าระดับก่อนเกิดการระบาด 1.5 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ประเทศอื่นๆ กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับมาสูงกว่าช่วงก่อนโควิด-19 ประมาณ 1.6-13.4 เปอร์เซ็นต์ ส่วนศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์คาดการณ์ว่า เงินเฟ้อไทยปรับตัวขึ้นต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา จึงทำให้สามารถประเมินได้ว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยปี 2565 อาจเร่งตัวขึ้น 4.9 เปอร์เซ็นต์ กลายเป็นอัตราเงินเฟ้อสูงที่สุดในรอบ 14 ปี

ตอนนี้หลายพื้นที่ได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อ โดยเฉพาะกับประเทศที่มีปัญหาเศรษฐกิจเรื้อรัง เช่น เวเนซุเอลา ซิมบับเว และประเทศในแถบแอฟริกาใต้ อย่างที่พลเอกประยุทธ์กล่าวไว้ว่า ไทยไม่ใช่ประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อสูงที่สุดในโลก แต่เราก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่น่าเป็นห่วงไม่แพ้กัน

ส่วนประเทศมหาอำนาจโลกอย่างสหรัฐอเมริกา ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาพบว่าราคาแก๊สแพงขึ้น 18 เปอร์เซ็นต์ ก่อนที่เดือนเมษายน 2565 สำนักงานแรงงานสหรัฐฯ ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อในประเทศเพิ่มขึ้น 8.5 เปอร์เซ็นต์ สูงสุดในรอบ 40 ปี ผลจากการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Federal Reserve System: Fed) เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เผยว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.5 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงแผนปรับลดงบดุลตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นไป 4.75 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน (ประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท) ก่อนจะลดเพิ่มอีกเป็น 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน (3.2 ล้านล้านบาท) ทั้งหมดนี้เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อในประเทศ

ศรีลังกาคือหนึ่งในประเทศที่กำลังอยู่ในช่วงวิกฤต มหินทรา ราชปักษา (Mahinda Rajapaksa) นายกรัฐมนตรี ประกาศลาออกจากการบริหารงานที่ล้มเหลว เพราะกำลังเผชิญกับการขาดดุลงบประมาณ 2.3 แสนล้านบาท คิดเป็น 13 เปอร์เซ็นต์ของดัชนีผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) จนประเทศมีหนี้มหาศาล ทำให้ รานิล วิกรมสิงเห (Ranil Wickremesinghe) นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของศรีลังกา ออกแถลงการณ์ในวันที่ 16 พฤษภาคม 2565 ว่าศรีลังกาจะมีน้ำมันให้ใช้แค่วันนี้เป็นวันสุดท้าย เพราะรัฐบาลไม่มีงบประมาณเพียงพอที่จะจ่ายค่านำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงอีกต่อไป

ศรีลังกาจำเป็นต้องพึ่งพาเงินตราต่างประเทศมูลค่ากว่า 2,600 ล้านบาท เพื่อชำระสินค้านำเข้าที่จำเป็น เช่น อาหารสด ยารักษาโรค ส่วนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานศรีลังกาประกาศให้ประชาชนที่กำลังยืนต่อแถวรอซื้อน้ำมันแยกย้ายกลับบ้าน เพราะตอนนี้ไม่มีน้ำมันเหลือให้ใครอีกแล้ว โดยปัญหาการขาดแคลนน้ำมันเกิดขึ้นจากปัญหาสะสมในช่วงที่โควิด-19 ระบาดหนัก รัฐบาลไม่สามารถบริหารประเทศได้อย่างที่ควรจะเป็น ไหนจะผลกระทบความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน จนรัฐบาลต้องประกาศขอความช่วยเหลือจากหลายชาติ รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศ ทั้งการขอกู้ยืมน้ำมันเบนซินและดีเซลจากอินเดีย การขอให้ธนาคารโลกยื่นมือเข้ามาช่วยพยุงวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศ และการเร่งเจรจาขอกู้เงินฉุกเฉินจาก IMF

ไม่เพียงเท่านี้ มีรายงานว่าในสหราชอาณาจักรกำลังอยู่ในช่วงน่าเป็นห่วงไม่แพ้กัน เนื่องจากชาวอังกฤษจำนวนมากต้องจ่ายเงินมากขึ้นหลายเท่าเพื่อซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค สำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษ (ONS) ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อตั้งแต่ช่วงเมษายนที่ผ่านมาอยู่ที่ 9 เปอร์เซ็นต์ แอนดรูว์ เบลีย์ (Andrew Bailey) ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ (Bank of England: BOE) กล่าวว่า ปัญหาราคาอาหารพุ่งสูงจนทำให้เกิดการขาดแคลนในหลายพื้นที่เป็นผลมาจากสงครามในยูเครน

นักวิจัยตลาดจากสถาบัน Ipsos และสำนักข่าว Sky News ลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นคนอังกฤษ 2,000 คน พบว่า 4 ใน 5 กังวลเรื่องค่าครองชีพที่มีทีท่าจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ และกลัวว่าในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าจะไม่สามารถซื้อสินค้าหลายประเภทได้ ส่วนอีก 88 เปอร์เซ็นต์ กังวลว่าวิกฤตค่าครองชีพจะส่งผลกระทบต่อประเทศโดยรวมในช่วง 6 เดือนข้างหน้า

ประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลกอย่างอินเดีย ประกาศจำกัดปริมาณการส่งออกน้ำตาลอยู่ที่ 10 ล้านตัน โดยให้เหตุผลว่าต้องคำนึงถึงการบริโภคในประเทศและควบคุมราคาสินค้า ยูเครนที่กำลังกลายเป็นพื้นที่สงครามก็ไม่สามารถส่งออกข้าวสาลี ข้าวโอ๊ต ข้าวฟ่าง และน้ำตาล ได้มากเท่าเดิม เช่นเดียวกับรัสเซียที่ต้องจำกัดการส่งออก ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโพด ข้าวไรย์ แป้ง น้ำตาล และถึงจะลดการส่งออกก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของคนในประเทศ เห็นได้จากคลิปวิดีโอที่ประชาชนจำนวนมากกำลังแย่งกันซื้อน้ำตาลในซูเปอร์มาร์เก็ต 

นอกจากนี้ วันที่ 25 พฤษภาคม 2022 รัฐบาลฮังการีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อรับมือกับความขัดแย้งของประเทศเพื่อนบ้านอย่างยูเครน เนื่องจากเกิดการขาดดุลงบประมาณในไตรมาสแรก อัตราเงินเฟ้อประจำปีพุ่งสูงไปถึง 9.5 เปอร์เซ็นต์

คริสติน ลาการ์ด (Christine Lagarde) ประธานธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank: ECB) กล่าวว่า อีกไม่นานทางธนาคารกลางยุโรปจะเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายภายในเดือนกรกฎาคม และดอกเบี้ยจะกลับเข้าสู่แดนบวกได้อีกครั้งภายในกันยายนนี้

ภาวะเงินเฟ้อในแต่ละประเทศเกิดขึ้นไม่พร้อมกัน เกิดขึ้นในลักษณะที่แตกต่างกันไป แต่ก็ไม่ได้แตกต่างถึงขั้นเกินความคาดหมาย หลายประเทศรวมถึงไทยต่างก็ต้องเผชิญกับช่วงสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว เงินเฟ้อพุ่งสูง สินค้าแพงขึ้น แต่อัตราการว่างงานสูงขึ้นกว่าเดิมอย่างเลี่ยงไม่ได้

 

ที่มา

https://www.theguardian.com/business/2022/may/17/energy-bills-struggling-families-pushed-to-seek-refuge-in-mcdonalds

 https://www.cnbc.com/2022/05/17/skipping-meals-brits-are-being-warned-of-apocalyptic-food-price-rises.html

https://www.prachachat.net/finance/news-938730

https://www.thairath.co.th/news/politic/2400205

https://www.bloomberg.com/news/articles/2022-05-23/lagarde-says-ecb-likely-to-exit-negative-rates-by-end-september

 

Tags: , , , , , , , , , , , ,