วันนี้ (4 เมษายน 2567) วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวตอนหนึ่งในการอภิปรายทั่วไปรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน แบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 152 ว่า หากรวมยอดสมัครทหารเกณฑ์ทั้งแบบวอล์กอินและการสมัครแบบออนไลน์ในปี 2566 รวมถึงในปีนี้ จะพบว่า มีแนวโน้มลดลงและไม่มีทางจะนำไปสู่การยกเลิกการเกณฑ์ทหารได้ การที่ สุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระบุว่า อยู่ระหว่างทางในการลดกำลังพลและยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ถือเป็นการหลอกลวงและตบตาประชาชน
โดยปี 2566 ยอดการรับสมัครกำลังพลโดยสมัครใจทั้งวอล์กอินและออนไลน์ไม่ได้มีแนวโน้มมากขึ้น อีกทั้งยังมีแนวโน้มลดลงด้วยซ้ำ ฉะนั้นจึงยังต้องจับใบดำใบแดงกันต่อไป ไม่มีทางที่จะนำไปสู่การยกเลิกการเกณฑ์ทหารได้ การบอกว่าอยู่ระหว่างทางยกเลิกการเกณฑ์ทหารถือเป็นการตบตาประชาชน
นอกจากนี้ หากพิจารณาอัตรากำลังพลย้อนหลังจะพบว่า ยอดสมัครทหารเกณฑ์ในปี 2557–2562 อยู่ที่ประมาณ 1 แสนนาย ในปี 2563–2564 อยู่ที่ประมาณ 9.7 หมื่นนาย และในปี 2565 แม้จะลดลงค่อนข้างมาก คือลงไปเหลือ 5.8 หมื่นนาย ด้วยสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 แต่ในปี 2566 กลับเด้งกลับมาอยู่ที่ 9.3 หมื่นนาย ขณะที่ในปี 2567 อยู่ที่ 8.3 หมื่นนาย โดยสรุปก็คือ ตลอด 11 ปีลดกำลังพลได้เฉลี่ยปีละ 1,500 นายเท่านั้น ฉะนั้นสิ่งที่รัฐบาลปัจจุบันทำจึงไม่ได้มีอะไรใหม่ เป็นเพียงสิ่งที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ทำอยู่แล้ว
“การลดอัตราเท่านี้ไม่ใช่การพัฒนาร่วมกันแน่ แต่เป็นการพัฒนาหลอกลวง ตบตา เพื่อซื้อเวลาการปฏิรูปกองทัพออกไป ถ้าจะปฏิรูป ต้องปฏิรูป ปรับปรุง เอาภารกิจมากางว่าต้องใช้กำลังพลเท่าไร โดยเฉพาะกำลังพลที่เป็นทหารราบ ความต้องการทหารราบนั้นลดลงในทุกประเทศ ต้องเอาภารกิจไม่เกี่ยวกับการทหาร ทหารรับใช้ เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ เด็กปั๊ม คาร์แคร์ รับเหมา เอาออกให้หมด การยุบ ควบรวมหน่วยทหาร เดี๋ยวต้องมาพูดว่า เดี๋ยวจะยุบหน่วยงาน อย่าพูดเลยครับ”
วิโรจน์ยังระบุด้วยว่า หากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมระบุว่า จะลดกำลังพลผ่านการยุบหน่วยงาน แต่หากกางแผนงานจริงๆ จะพบว่า แผนการยุบหน่วยงานเหล่านี้จะลดกำลังพลได้เพียง 700–1,700 อัตรา และลดงบประมาณได้เพียง 34 ล้านบาท จากงบบุคลากรทั้งสิ้น 9.3 หมื่นล้านบาท ขณะเดียวกัน หากพิจารณาอัตรากำลังพลทหารที่จำเป็นของประเทศควรจะอยู่ที่ 5-6 หมื่นนาย
ทั้งนี้ตัวเลขของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่า ในสภาวะสังคมสูงวัย อัตราการเติบโตเศรษฐกิจลดลง เนื่องจากวัยแรงงานลดลง การลดกำลังพลลงครึ่งหนึ่ง หรือปีละ 5 หมื่นคน จะทำให้ให้แรงงานได้ประกอบอาชีพที่มีทักษะ สร้างรายได้ให้ประเทศ และทำให้ได้แรงงานที่มีความฝัน สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตได้ราว 6% ซึ่งต้องตั้งคำถามว่า รัฐบาลนี้ ทั้งสุทินและเศรษฐา ทวีสิน ในฐานะนายกรัฐมนตรี ได้ตระหนักหรือไม่
วิโรจน์ยังให้ข้อมูลด้วยว่า ใบแดง 1 ใบทำให้ชายไทยเสียรายได้จากการทำงานเฉลี่ยแล้ว 3.42 แสนบาทต่อคน ปี 2566 มีใบแดง 5.7 หมื่นใบ ทำแรงงานเสียรายได้รวม 2 หมื่นล้านบาท
“เรามีมูลค่าความเสียหายจากการจับใบดำใบแดง 5.7 หมื่นล้าน ถ้าใช้ปาหี่แบบพลเอกประยุทธ์ต้องใช้เวลายี่สิบปี ถึงปลอดทหารรับใช้ ประชาชนรู้ว่าต้องมีพลทหารเพื่อภารกิจความมั่นคง คำถามคือทำไมต้องมากขนาดนี้ อย่ามาเถียงว่ามีตามความจำเป็นแล้ว เพราะประชาชนเขาเห็นว่ามีคนหัวเกรียนตัดหญ้า ซักผ้า แล้วบ้านนายพล ก็ติดป้ายว่าพลตรี พลโท พลเอก อะไร อย่างนี้เรียกจำเป็นเหรอ
“หรือการมีพลทหารมากมาย เอาไว้เป็นเพราะเป็นแหล่งผลประโยชน์เอาไว้หล่อเลี้ยงบรรดานายพลที่หากินจากการบังคับเกณฑ์ทหาร เพราะปีๆ หนึ่งบังคับไว้ไม่ใช่น้อยๆ สัสดีบางกลุ่มบางก๊วน เอาสด.43 เก๊มาหลอกขายประชาชน ใบหนึ่งลือกันว่าอยู่ที่ห้าหมื่นบาท ถ้าหลอกประชาชนหกหมื่นคน ความเสียหายก็สามพันล้านบาท ไปฝึกทหารในค่าย ก็สามารถยกเงินเดือนให้นายพล 1 หมื่นบาท ถ้านายพลนายพันลักลอบปล่อยกลับบ้านสองหมื่นนาย ก็สองพันสี่ร้อยล้าน รวมสองก้อนห้าพันล้านบาท นี่เป็นสาเหตุที่ลดกำลังพลไม่ได้ใช่หรือไม่”
Tags: เกณฑ์ทหาร, วิโรจน์ ลักขณาอดิศร, ก้าวไกล