4 มิถุนายน 2563 คือวันที่ ‘ต้าร์’ – วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองถูกบังคับให้ ‘สูญหาย’ โดยกลุ่มชายฉกรรจ์ได้ใช้กำลังบังคับพาตัวออกจากอพาร์ตเมนต์ที่กัมพูชา
จนถึงวันนี้ 4 มิถุนายน 2564 1 ปีผ่านไป ความคืบหน้าของคดียังไม่ถึงไหน และเป็นเครื่องย้ำเตือนว่า เหตุการณ์ ‘อุ้มหาย’ ไม่ควรเกิดขึ้นบนปฏิทินหน้าไหน หรือประวัติศาสตร์บทใดก็ตาม
“เราเดินทางไปสำนักงานตำรวจแห่งชาติกัมพูชา แต่เจ้าหน้าที่กลับบอกว่าเปิดดูกล้องวงจรปิด 16 ตัว พร้อมกับลงสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่แล้ว ไม่มีคนชื่อวันเฉลิม ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพวกเขาพยายามบิดเบือนข้อเท็จจริงตั้งแต่ครั้งแรกที่รับคดี เขาพยายามจะบอกนานาชาติว่าที่กัมพูชาไม่มีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น” สิตานันท์ สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของต้าร์ ให้สัมภาษณ์กับ The Momentum
เรารวบรวมกรณีบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหายหรืออุ้มหายในรอบ 7 ปีที่ผ่านมา โดยมีตั้งแต่นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม นักกิจกรรม และนักเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งกลุ่มหลังได้รับผลกระทบโดยตรงจากการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557
แม้จะผ่านมานานเพียงใด แต่ความคืบหน้าคดีของผู้ที่ถูกอุ้มหายเหล่านี้คืบหน้าไปน้อยมาก ส่วนใหญ่ยังคง ‘ไร้คำตอบ’ ว่าใครเป็นผู้กระทำ ส่วนกระบวนการยุติธรรมก็ไม่สามารถเอาผิดใครได้แม้แต่คนเดียว
1. พอละจี รักจงเจริญ (บิลลี่)
สูญหายเมื่อ 17 เมษายน 2557
สถานะปัจจุบัน: เสียชีวิต
แกนนำกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบางกลอยบน และสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ‘บิลลี่’ – พอละจี รักจงเจริญ หลานชายของปู่คออี้ ผู้นำชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย ได้หายตัวไปอย่างลึกลับ ก่อนขึ้นให้การเป็นพยานปากสำคัญกับศาลปกครอง กรณีเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานรื้อเผาทำลายบ้านและยุ้งข้าวคนในชุมชนกะเหรี่ยง เมื่อปี 2554 ในยุทธการตะนาวศรี เขาหายตัวไปเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 โดย ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานขณะนั้น สารภาพว่าได้จับตัวบิลลี่ไปจริง แต่ปล่อยตัวเขาที่แยกหนองมะค่า แต่ไม่มีใครได้พบเจอบิลลี่อีกเลย
จนเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2562 ดีเอสไอแถลงว่าพบกระดูกมนุษย์ใกล้ถังน้ำมันใต้สะพานแขวน ใกล้บริเวณที่ทำการอุทยาน และยืนยันว่ากระดูกที่พบเป็นของ ‘บิลลี่’
2. อิทธิพล สุขแป้น (ดีเจซุนโฮ)
สูญหายเมื่อ 22 มิถุนายน 2559
สถานะปัจจุบัน: ไม่ทราบ
หนึ่งในสมาชิกกลุ่มคนเสื้อแดงเชียงใหม่ มีบทบาทในการจัดรายการวิทยุชุมชนคนเสื้อแดง ภายหลังรัฐประหารของ คสช. ดีเจซุนโฮลี้ภัยไปยังประเทศลาว ก่อนหายตัวไป และไม่สามารถติดตามความเป็นอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้
วันที่ 22 มิถุนายน 2559 มีผู้พบเห็นดีเจซุนโฮครั้งสุดท้ายขณะรับประทานอาหารที่ร้านแห่งหนึ่ง ภายหลังเขาขี่มอเตอร์ไซค์กลับบ้าน และมีผู้อ้างว่าได้ยินเสียงผู้ชายตะโกนร้องขอความช่วยเหลือในพื้นที่ในเวลาเดียวกัน ต่อมาพบมอเตอร์ไซค์ รองเท้ากีฬา 1 ข้าง ของดีเจซุนโฮตกอยู่ห่างจากร้านอาหารดังกล่าว 1 กิโลเมตร
3. เด่น คำแหล้
สูญหายเมื่อ 16 เมษายน 2559
สถานะปัจจุบัน: เสียชีวิต
นักต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดินทำกิน จากนโยบายทวงคืนผืนป่าของ คสช. และประธานโฉนดชุมชนโคกยาว ตำบลทุ่งลุยลาย อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2559 เด่น คำแหล้ สูญหายระหว่างออกไปหาของป่าบริเวณสวนป่าโคกยาว เขตรอยต่อระหว่างเขตป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนามและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว
18 เมษายน 2559 ปฏิบัติการค้นหาเด่น คำแหล้ เริ่มต้นขึ้นต่อเนื่องนานหลายวัน แต่ไม่มีใครพบเจอเขา จนกระทั่งวันที่ 24 มีนาคม 2560 ภรรยาของเด่น คำแหล้ พบกางเกงและรองเท้าที่คาดว่าเป็นของสามี ต่อมาพบกะโหลกศีรษะมนุษย์และกระดูกฝ่าเท้าเท้าเพิ่ม ภายหลังตรวจสอบพยานหลักฐานร่วม 2 ปี เจ้าหน้าที่ก็ยืนยันว่าเด่น คำแหล้ได้เสียชีวิตไปแล้ว
4. วุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ (โกตี๋)
ถูกอุ้มหายเมื่อ 29 กรกฎาคม 2560
สถานะปัจจุบัน: ไม่ทราบ
เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2560 จอม เพชรประดับ นักข่าวและผู้ลี้ภัยทางการเมือง ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคมที่ผ่านมา ผมได้รับคำยืนยันจากคนใกล้ชิดโกตี๋ว่า โกตี๋ถูกชายชุดดำประมาณ 10 คน คลุมหน้าด้วยหมวกไหมพรม พร้อมอาวุธครบมือ บุกเข้าจับตัวเวลาประมาณ 9.45 น. ตามเวลาประเทศลาว”
เหตุการณ์อุ้มหายดังกล่าวเกิดขึ้นขณะที่โกตี๋และเพื่อนอีก 2 คน กำลังลงจากรถและเดินทางเข้าบ้าน ปรากฎว่ากลุ่มชายชุดดำได้แอบซุ่มอยู่ข้างหลังบ้าน ก่อนเดินเข้ามาล้อมโกตี๋ และนำผ้ามาคลุมหน้าทั้ง 3 คน พร้อมกับนำผ้ายัดปาก มัดมือไพล่หลัง ก่อนนำตัวโกตี๋ขึ้นรถที่จอดเตรียมไว้ ส่วนเพื่อนทั้งสองคนได้ถูกช่วยเหลือจากเพื่อนบ้านในภายหลัง
สิ่งที่น่าสนใจในคดีนี้คือ เพื่อนของโกตี๋ทั้งสองคนเล่าว่า กลุ่มชายชุดดำที่เข้ามาจับตัวพูดภาษาไทย และใช้อุปกรณ์ช็อตไฟฟ้าเข้าที่ต้นคอ พร้อมกับขู่ไม่ให้ส่งเสียงร้องขอความช่วยเหลือ ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าว ทั้งสองคนเข้าแจ้งความกับตำรวจในท้องที่ และได้รับคำบอกเล่าจากคนใกล้ชิดว่า โกตี๋น่าจะมีชีวิตอยู่ และถูกส่งตัวกลับมาประเทศไทย ด้านพลเอก ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในขณะนั้น กล่าวต่อเหตุการณ์สูญหายของโกตี๋ว่า เรื่องนี้พิสูจน์ยาก และอาจเป็นข่าวลือในการหลบหนีของโกตี๋ก็เป็นได้
5. สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ (สุรชัย แซ่ด่าน), ไกรเดช ลือเลิศ (สหายกาสะลอง) และสุรชัย ภูชนะ (สหายภูชนะ)
ถูกอุ้มหายเมื่อ 12 ธันวาคม 2561
สถานะปัจจุบัน: พบศพของสหายกาสะลองและสหายภูชนะริมแม่น้ำโขง ส่วนสุรชัย แซ่ด่าน ยังไม่ทราบสถานะ
ภายหลังจากที่สุรชัย แซ่ด่าน, สหายกาสะลอง และสหายภูชนะ ได้ลี้ภัยทางการเมืองมายังประเทศลาว พอดแคสต์และวิทยุใต้ดินรายการ ‘ปฏิวัติประเทศไทย’ ได้กลายเป็นช่องทางหลักในการเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเทศ
แต่หลังจากพอดแคสต์ตอนสุดท้ายถูกอัดเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2561 ก็ไม่มีใครสามารถติดต่อสุรชัยและคณะได้อีกเลย ต่อมา วันที่ 12 ธันวาคม 2561 สหายกาสะลอง และสหายภูชนะก็หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย และเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2561 มีผู้พบศพลอยติดตลิ่งตลาดนัดไทย-ลาว อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ต่อมาวันที่ 28 ธันวาคม ก็พบศพที่สองตามมาที่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ตำบลท่าจำปา อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม และวันที่ 29 ธันวาคม ก็พบศพที่ 3 บริเวณริมฝั่งแม่น้ำ ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม
โดยลักษณะศพที่พบถูกมัดมือมัดเท้า ใบหน้าถูกตีจนเละ ไม่สามารถระบุตัวบุคคลได้ นอกจากนั้น ศพยังถูกคว้านท้องและเทปูนเข้าใส่แทน ภายหลังการตรวจพิสูจน์อัตลักษณ์ พบว่าตรงกับสหายกาสะลองและสหายภูชนะ แต่ในคดีนี้มีข้อถกเถียงว่า สรุปแล้วมี 2 ศพ หรือ 3 ศพ กันแน่ เพราะระหว่างที่รอตรวจสอบศพที่ 2 ศพได้หลุดลอยตามน้ำ ตำรวจจึงเชื่อว่ามีเพียง 2 ศพเท่านั้น เพราะเชื่อว่าศพที่พบบริเวณท่าจำปา อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม และศพที่พบตำบลอาจสามารถเป็นศพเดียวกัน ขณะที่ ปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์ ภรรยาของสุรชัย เชื่อว่ามี 3 ศพ แต่ศพของสุรชัยถูกทำลายไปแล้ว
6. ชูชีพ ชีวะสุทธิ์ (ลุงสนามหลวง), สยาม ธีรวุฒิ (สหายข้าวเหนียวมะม่วง) และกฤษณะ ทัพไทย (สหายยังบลัด)
สูญหายเมื่อ 8 พฤษภาคม 2562
สถานะปัจจุบัน: ไม่ทราบ
ชูชีพ ชีวะสุทธิ์ (ลุงสนามหลวง) เป็นหนึ่งในผู้ได้รับคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 49/2557 ให้ไปรายงานตัว แต่เขาตัดสินใจลี้ภัยไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ส่วน สยาม ธีรวุฒิ เป็นนักเคลื่อนไหวและนัดจัดวิทยุใต้ดินระหว่างเป็นนักศึกษาได้ร่วมทำกิจกรรมกับกลุ่มประกายไฟ กลุ่มประกายไฟการละคร และได้ร่วมแสดงละครเวที ‘เจ้าสาวหมาป่า’ จนถูกดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ และกฤษณะ ทัพไทย เป็นหนึ่งในผู้ลี้ภัยที่หายตัวไปพร้อมทั้ง 2 คน
เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 มีข่าวว่าทั้งสามคนถูกจับกุมที่เวียดนาม ทว่าภายหลังมีผู้ใกล้ชิดบอกว่าถูกส่งตัวกลับไทยระหว่างเดินทางจากลาวไปเวียดนาม อย่างไรก็ตาม ทางการเวียดนามให้การปฏิเสธว่าไม่มีข้อมูลการเดินทางเข้าประเทศหรือการจับกุมตัวทั้งสามคน ขณะที่ พลตำรวจเอก ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ปฏิเสธว่าไม่มีการจับกุมทั้งสามคน และไม่ได้รับการประสานงานจากเพื่อนบ้าน
7. วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์
ถูกอุ้มหายเมื่อ 4 มิถุนายน 2563
สถานะปัจจุบัน :ไม่ทราบ
นักเคลื่อนไหว-นักกิจกรรมที่ทำงานร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเด็กและเยาวชน รณรงค์ป้องกันเอชไอวี ภายหลังการรัฐประหารปี 2557 เขาตัดสินใจลี้ภัยไปพนมเปญ ประเทศกัมพูชา
เมื่อ 4 มิถุนายน 2563 เวลา 17.54 น. วันเฉลิมยืนซื้อลูกชิ้นปิ้งหน้าคอนโดในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชาขณะที่คุยโทรศัพท์กับพี่สาว ‘เจน’ – สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ไปด้วย ระหว่างนั้น เขาถูกกลุ่มชายฉกรรจ์ใช้อาวุธบังคับนำตัวขึ้นรถเอสยูวีสีดำออกไปอย่างรวดเร็ว โดยคำพูดสุดท้ายที่พี่สาวได้ยินคือ “โอ๊ย หายใจไม่ออก” หลังเกิดเหตุ ไม่สามารถติดต่อวันเฉลิมได้อีกเลย
รัฐไทยไม่เคยรับผิดชอบต่อการ ‘อุ้มหาย’
สุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Rights Watch) ให้สัมภาษณ์ The Momentum ว่า จุดเหมือนของคนเหล่านี้ส่วนใหญ่ คือบุคคลที่รัฐไทยกล่าวหาว่าเป็นพวกวิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นพวกมีความคิดล้มล้างสถาบัน เลยให้ความรู้สึกว่าเมื่อใครก็ตามถูกหมายหัวด้วยข้อหาดังกล่าว ไม่ว่าจะหนีออกไปนอกประเทศหรืออยู่ที่ไหนก็ตาม ก็หนีไม่พ้นอันตราย
“สิ่งที่ตามมาคือรัฐไทยไม่ได้แสดงความรับผิดชอบ ดูดำดูดี มีการสร้างกระแสต่อสังคมว่า สิ่งที่นักเคลื่อนไหวทางการเมืองถูกกระทำเป็นสิ่งที่ไม่สำคัญ เพราะเป็นพวกมีพฤติการณ์จาบจ้วงท้าทายสถาบันพระมหากษัตริย์ การสร้างความรู้สึกเช่นนี้มันทำให้รัฐไม่ต้องรู้สึกกดดันที่จะต้องติดตาม สืบสวนค้นหาความจริง”
สำหรับกรณีของวันเฉลิม มีพยานหลักฐาน มีภาพกล้องวงจรปิด จึงทำให้เกิดการสอบสวนขึ้น แต่สอบสวนมาทั้งปีก็ไม่มีความคืบหน้าอะไร แต่กรณีอื่นๆ เช่น ดีเจซุนโฮ ที่หายตัวไปแบบไร้ร่องรอยไม่มีพยาน ไม่มีใครรู้เห็น หรือกรณีของสุรชัยและเพื่อนอีกสองคนก็ไม่มีใครเห็นเหตุการณ์ เจอเพียงศพที่ลอยในแม่น้ำโขง สิ่งเหล่านี้เป็นลักษณะร่วมว่า เมื่อไม่มีศพ ไม่มีพยานหลักฐาน ไม่มีรายงาน ไม่มีเหตุการณ์ เรามักได้คำตอบจากทางรัฐบาลทั้งของประเทศจุดเกิดเหตุเช่น ลาว กัมพูชา เวียดนาม และประเทศไทยว่า “ไม่รู้ ไม่เห็นจะมีอะไรเกิดขึ้น” อย่างกรณีของสุรชัยและเพื่อน ต้องรอให้ศพโผล่ขึ้นมา ถึงมีการสอบสวนขึ้น
“รัฐไทยอาศัยช่องโหว่ในแง่ของการบังคับสูญหาย ยังไม่ได้รับสถานะความผิดทางกฎหมายอาญาภายใต้กฎหมายไทย นี่จึงเป็นการผลักภาระออกไป เพราะไม่มีคำนิยาม แต่หากมีคำนิยามอย่างชัดเจน ก็ไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ ตอนนี้คำนิยามล่าสุดคือต้องเป็นการฆาตกรรม อย่างหลายกรณีไม่เจอศพ วันเฉลิมก็ไม่เจอศพ จะสืบสวนอย่างไร แล้วยิ่งเป็นกรณีนอกประเทศยิ่งส่งผลให้สอบสวนยาก”
“แม้ว่ากรณีของวันเฉลิมไปไกลถึงสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นผู้รับคดีที่เกิดขึ้นนอกราชอาณาจักร แต่ถามว่ารับแล้วเกิดอะไรขึ้น ใครเป็นผู้สอบสวน ตำรวจหรือดีเอสไอ เวลาผ่านมาแล้ว 1 ปี ยังไม่มีการมอบอำนาจผู้สอบสวน หรือกรณีสุรชัยและเพื่อนอีก 2 คน ที่เจอศพ จึงทำให้สามารถสอบสวนในฐานะคดีฆาตกรรมได้ แต่คดีเหล่านี้กลับไม่มีความคืบหน้า วันนี้ปัญหาจึงเป็นเรื่องที่กรณีส่วนใหญ่ไม่มีการสอบสวน พอมีการสอบสวนก็ไม่มีความคืบหน้าเป็นรูปธรรมชัดเจน”
ที่ปรึกษาฮิวแมนไรท์วอทช์ประจำประเทศไทยบอกว่า สิ่งที่ต้องทำเร่งด่วนตอนนี้ คือต้องนิยามการบังคับสูญหายให้เป็นความผิดภายใต้กฎหมายอาญาให้ได้ ทว่าปัญหาตอนนี้คือร่างที่รัฐบาลเสนอเป็นร่างที่ด้อยกว่ามาตรฐานโลก เป็นร่างที่เหมือนใช้ซื้อเวลาตอนถูกนานาชาติถามเกี่ยวกับการอุ้มหายในประเทศ ความหวังตอนนี้จึงตกมาที่ภาคประชาชนและพรรคก้าวไกล ที่ได้เสนอร่างผู้สูญหายอีกฉบับที่มีเนื้อหารัดกุมสอดรับมารตรฐานสากลมากกว่าฉบับของรัฐบาล แต่รัฐบาลยังไม่แสดงความผูกมัดว่าจะเอาร่างนี้
1 ปีที่ผ่านมาทำให้เราได้เห็นอะไรมามาก ในขณะที่สูญเสียอะไรไปเยอะมากเช่นกัน
ขณะที่ สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของวันเฉลิม ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าคดีล่าสุดการหายตัวไปของวันเฉลิมว่า หลังจากไปให้ปากคำกับศาลกัมพูชา ผู้พิพากษาได้เรียกพยานบุคคลที่คิดว่ามีส่วนรู้เห็นตามภาพและวีดีโอแล้ว แต่ยังคงไม่รู้ว่าพยานได้เดินทางมาสอบปากคำหรือไม่ เพราะไม่มีลายลักษณ์อักษรบันทึกไว้ มีเพียงคำบอกเล่าจากทนายเท่านั้น
“เราเดินทางไปสำนักงานตำรวจแห่งชาติกัมพูชา แต่เจ้าหน้าที่กลับบอกว่าเปิดดูกล้องวงจรปิด 16 ตัว พร้อมกับลงสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่แล้ว ไม่มีคนชื่อวันเฉลิม ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพวกเขาพยายามบิดเบือนข้อเท็จจริงตั้งแต่ครั้งแรกที่รับคดี เขาพยายามจะบอกนานาชาติว่า ที่กัมพูชาไม่มีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น
“แต่หากเป็นเรื่องโกหก ทำไมเราถึงมีหลักฐานมากขนาดนี้ เราเอาหลักฐานมาจากไหน เอาพาสปอร์ตกัมพูชามาจากไหน นอกจากนี้ยังมีคลิปวีดีโอที่วันเฉลิมบันทึกไว้ก่อนหายตัวไป เพราะคลิปสามารถเช็กได้ว่าถ่ายที่ไหน ถ่ายกี่โมง ถ่ายประเทศอะไร ส่วนในประเทศไทย เรามีหลักฐานชี้ชัดว่ารัฐบาลมีส่วนเกี่ยวข้องกับการหายตัวไปครั้งนี้ มีเอกสารทุกอย่าง แต่พวกเขากลับปฏิเสธตั้งแต่วันแรก”
สิตานันท์เล่าต่ออีกว่า ภายหลังรัฐประหาร 2557 มีคดีผู้ลี้ภัยนอกราชอาณาจักรถูกอุ้มหายทั้งหมด 9 ราย รวมถึงคดีวันเฉลิม ยกตัวอย่างเช่น คดีดีเจซุนโฮ และคดีของลุงสนามหลวง ที่ก่อนหน้านั้นภรรยาและลูกของเขาถูกนำตัวไปกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ เพื่อกดดันให้ลุงสนามหลวงหยุดเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่ภายหลังการปล่อยตัวภรรยาและลูก ลุงสนามหลวงกลับหายตัวไป ซึ่งคดีลุงสนามหลวงและดีเจซุนโฮครอบครัวไม่ได้แจ้งความ
“เมื่อวานเราสอบถามดีเอสไอเรื่องนี้ เขาบอกว่าถ้าญาติไม่ได้แจ้งความก็ไม่สามารถทำอะไรได้ ในเรื่องกฎหมายก็คงช่วยพวกเขาไม่ได้ แต่หากเป็นเรื่องกิจกรรมหรือเรื่องอื่นก็จะช่วย”
สิตานันท์ยอมรับว่า ไม่เคยคาดหวังถึงกระบวนการยุติธรรมทั้งในไทยและกัมพูชา “ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมาทำให้เราได้เห็นอะไรมามาก ในขณะที่สูญเสียอะไรไปเยอะมากเช่นกัน ในวาระที่อายุใกล้ครบ 50 ปี เรื่องนี้เป็นสิ่งที่หนักหนาที่สุดในชีวิต เพราะที่ผ่านมาโดนกระทำทุกรูปแบบ แต่ก็ยอมแพ้ไม่ได้ อ่อนแอไม่ได้ หลายคนต่อสู้มากับเรา เดินมาพร้อมกัน ดังนั้น เรื่องนี้จึงมีแต่ต้องเดินหน้าต่อ แม้เราจะอยากโยนผ้าขาวตลอดเวลาก็ทำไม่ได้
“สิ่งที่เรายังคิดอยู่เสมอคือ ตอนนี้ทำไปเพื่ออะไร ทำไปทำไม แต่เมื่อเราเห็นน้องๆ ที่ออกมาต่อสู้ ไม่ว่าจะเป็นไมค์ (ภาณุพงศ์ จาดนอก), เพนกวิน (พริษฐ์ ชิวารักษ์), อานนท์ นำภา, รุ้ง (ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล) หรือคนอื่นๆ อีกมากมายที่ออกมาต่อสู้เพื่ออนาคตของเขา ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของใคร นี่คือสิ่งที่เรายังเดินหน้าสู้ต่อ สิ่งที่เราพอจะทำได้ตอนนี้คือการตีแผ่บอกกับสังคม ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะมันอาจเกิดกับใครก็ได้ และอาจเป็นคุณได้เสมอ”
Tags: คสช., รัฐประหาร 2557, อุ้มหาย, #saveวันเฉลิม, ครบรอบ 1 ปี วันเฉลิมหายตัวทุกคนลืมได้ แต่พี่ยังไม่ลืม