วันนี้ (12 กันยายน 2024) สถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ (Institute of Security & International Studies: ISIS Thailand) จัดงานเสวนา ‘การเลือกตั้งสหรัฐฯ 2024: แนวโน้มและนัยยะต่อภูมิรัฐศาสตร์โลก เอเชียตะวันออก และไทย’ ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

รัตพล อ่อนสนิท หัวหน้าภาคภาษาไทยประจำสำนักข่าววิทยุเสียงอเมริกา (Voice of America: VOA) และสุรชาติ บำรุงสุข ศาสตราจารย์กิตติคุณประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เป็นวิทยากร ขณะที่ พงศ์พิสุทธิ์ บุษบารัตน์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และผู้อำนวยการ ISIS Thailand เป็นวิทยากรและผู้ดำเนินรายการ 

ในตอนหนึ่งของการสนทนา รัตพลเล่าว่า เขาให้ความสนใจการเลือกตั้งสหรัฐฯ อย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา โดยย้อนกลับไปเล่าถึงปรากฏการณ์ ‘หักปากกาเซียน’ หลัง โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) พลิกโผชนะ ฮิลลารี คลินตัน (Hillary Clinton) แคนดิเดตจากพรรคเดโมแครต (Democratic Party) ซึ่งไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดขึ้น และเป็นจุด ‘ตาสว่าง’ ที่ทำให้เขาพยายามทำความเข้าใจการเมืองอเมริกันอย่างลึกซึ้ง ด้วยการลงพื้นที่ฟังเสียงชาวอเมริกันในชนบท

ย้อนกลับมาที่สถานการณ์ปัจจุบัน หัวหน้าภาคภาษาไทยประจำ VOA อธิบายว่า การเลือกตั้งสหรัฐฯ 2024 มีความสำคัญมาก นอกจากเปรียบเสมือน ‘การเลือกตั้งของโลก’ แล้ว ภายใต้บริบทการเปลี่ยนแปลงของสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ยังมีการเปลี่ยนผ่านและเหตุการณ์ ‘แผ่นดินไหว’ ครั้งใหญ่ ที่สร้างความสั่นสะเทือนในภาคการเมืองอีกด้วย 

สำหรับประเด็นปัญหาที่สำคัญที่สุด ในการตัดสินใจลงคะแนนเสียงของประชาชน คือประเด็นเศรษฐกิจและปากท้อง หลังชาวอเมริกันเผชิญภาวะเงินเฟ้อระดับสูง สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อในเดือนมิถุนายน 2022 ถึง 9% ขณะที่ดอกเบี้ยการกู้บ้านอยู่ที่ 7% นับเป็นอัตราสูงสุดในรอบ 20 ปี ซึ่งสวนทางของความฝันของชาวอเมริกัน ที่ต้องการมีบ้านเป็นของตนเองหลังเกษียณอายุ ยังไม่รวมราคาสินค้าที่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์

อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ สิทธิการทำแท้งของสตรี หากย้อนกลับไปในปี 1983 ศาลสูงสุดของสหรัฐฯ เคยตัดสินให้ผู้หญิงมีสิทธิในการทำแท้งในคดี Roe V. Wade ซึ่งนับเป็นมาตรฐานยาวนานของชาวอเมริกันนับ 49 ปี กระทั่งในปี 2022 ศาลสูงสุดโหวตคว่ำคำตัดสินดังกล่าว ส่วนหนึ่งเป็นเหตุมาจากการแต่งตั้งผู้พิพากษาในสมัยทรัมป์ถึง 3 คน ทำให้ผู้พิพากษาฝ่ายอนุรักษนิยมเพิ่มขึ้นเป็น 6 คน ขณะที่ฝ่ายเสรีนิยมมีเพียง 3 คนเท่านั้น 

รัตพลย้ำความสำคัญว่า การที่สิทธิการทำแท้งหายไป เปรียบเสมือนพายุที่พัดทำลายสหรัฐฯ ทั้งประเทศ เพราะการปะทะกันทางความคิดดังกล่าว มีอิทธิพลอย่างมากในการเมืองระดับมลรัฐกับท้องถิ่น 

นอกจากนี้ ประเด็นผู้อพยพก็เป็นปัจจัยในการลงคะแนนเสียงของชาวอเมริกัน หลังในช่วงที่ผ่านมา ชาวต่างชาติเข้ามาในสหรัฐฯ ถึง 10 ล้านคน โดยมีตัวเลขสูงสุดอยู่ที่ 2.5 แสนคนในเดือนธันวาคม 2023 ขณะที่จำนวนสะสมของผู้อพยพก่อนหน้านี้ก็มีปริมาณ 10 ล้านคนเช่นเดียวกัน นับเป็นจุดสั่นคลอนความรู้สึกของแรงงานชาวอเมริกัน เพราะเกิดความรู้สึกหวาดกลัวในเรื่องการถูกแย่งงานจากชาวต่างชาติ

ขณะที่ประเด็นของสงครามและการเมืองระหว่างประเทศ รัตพลยอมรับว่า แม้สงครามและความรุนแรง เช่น สงครามยูเครน หรือสงครามฮามาส-อิสราเอล จะมีความสำคัญต่อโลกในระดับเปลี่ยนดุลอำนาจ แต่ปกติแล้ว การต่างประเทศไม่ใช่เรื่อง ‘ใกล้หัวใจ’ ชาวอเมริกันในการลงคะแนนเสียงในคูหาเลือกตั้ง ยกเว้นกลุ่มฝ่ายซ้าย-เสรีนิยม ที่มีปฏิกิริยาเป็นพิเศษ และยกเป็นสิ่งสำคัญในการตัดสินใจ 

ผู้สื่อข่าวจาก VOA ยังเสริมต่อว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ยังมีเอกลักษณ์เฉพาะต่างจากปีอื่นๆ เพราะ ‘แผ่นดินไหวทางการเมือง’ ครั้งใหญ่ คือการถอนตัวของ โจ ไบเดน (Joe Biden) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากแคนดิเดต หลังจากเพลี่ยงพล้ำในการดีเบต ก่อนจะส่ง กมลา แฮร์ริส (Kamala Harris) รองประธานาธิบดี ลงสนามแทน และการลอบสังหารทรัมป์ที่เป็น ‘กาวใจ’ ให้พรรครีพับลิกัน (Republican Party) รวมกันเป็นหนึ่งเดียว

คำถามต่อมาคือ มุมมองของแคนดิเดตต่อนโยบายเป็นอย่างไร รัตพลฉายภาพให้เห็นว่า ทรัมป์มองเศรษฐกิจในแบบ ‘คนอเมริกันต้องมาก่อน’ (American First) คู่กับนโยบายโดดเดี่ยวตนเองจากโลกระหว่างประเทศ (Isolationism) ขณะที่ปูมหลังในอดีตคือ การเป็นนักธุรกิจทำให้ทรัมป์สนับสนุนแนวทางเศรษฐกิจแบบ ‘ไหลจากบนสู่ล่าง’ (Trickle-Down Economy) หรือความเชื่อที่ว่า ‘ท่านเจ้าสัวรวยแล้ว ประชาชนจะรวยตามเอง’ 

ขณะที่แฮร์ริสมีนโยบายเศรษฐกิจที่เน้นให้คนตัวเล็กลืมตาอ้าปาก ภายใต้แผน Opportunity Economy เช่น ลดภาษีให้ครอบครัวที่มีลูก หรือธุรกิจขนาดเล็ก ทั้งยังสนับสนุนนโยบายให้ประชาชนมีบ้านหลังแรกและสวัสดิการต่างๆ ง่ายขึ้น

แต่หากในมุมของสิทธิการทำแท้ง ผู้สื่อข่าวอาวุโสตั้งข้อสังเกตว่า แม้ทรัมป์จะมีแนวทางต่อต้านสิทธิการทำแท้ง แต่ท่าทีของเขาอ่อนลงในการดีเบตครั้งล่าสุด ขณะที่แฮร์ริสอยู่ฝ่าย Pro-Choice และสนับสนุนสิทธิสตรี โดยพยายามโจมตีว่า หากทรัมป์เป็นประธานาธิบดี เขาจะพยายามออกกฎหมายแบนการทำแท้งทั่วประเทศ แต่ก็ยังเป็นข้อมูลที่คาดเคลื่อนอยู่ เพราะย้ำแค่ว่า เขาจะให้มลรัฐตัดสินใจกันเอง

ในประเด็นผู้อพยพเป็นที่แน่ชัดว่า ทรัมป์ไม่สนับสนุนการหลั่งไหลของชาวต่างชาติ โดยมีนโยบายขับไล่ผู้อพยพ ใช้กองกำลังสำรองจัดการ และเคร่งครัดในการให้วีซ่าถาวรมากขึ้น ตรงกันข้ามกับแฮร์ริสที่มองว่า ผู้อพยพมีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ด้วยการดึงให้กลุ่มคนเหล่านี้เสียภาษีถูกต้องตามกฎหมาย แต่ก็ไม่ได้นิ่งเฉยเรื่องผู้อพยพล้นหลาม โดยจำกัดโควตาคนเข้าเมืองให้ไม่เกิน 2,500 คนต่อวัน

ขณะเดียวกัน การต่างประเทศเป็นประเด็นที่แฮร์ริสและทรัมป์มีท่าทีคล้ายคลึงกัน แม้ทรัมป์จะย้ำว่า หากเขาเป็นประธานาธิบดี โลกจะสงบ เพราะความสัมพันธ์อันดีส่วนตัวระหว่างผู้นำในรัฐอำนาจนิยม เช่น วลาดีมีร์ ปูติน (Vladimir Putin) ประธานาธิบดีรัสเซีย และคิม จองอึน (Kim Jong-eun) ผู้นำเกาหลีเหนือ แต่ทั้ง 2 คนมีจุดยืนเหมือนกันในการสนับสนุนอิสราเอล ทว่าแฮร์ริสมีท่าทีสงบและไม่มุทะลุมากกว่า เช่น การวิจารณ์ เบนจามิน เนทันยาฮู (Benjamin Netanyahu) ผู้นำอิสราเอลที่โจมตีกาซา และเรียกร้องการหยุดยิง

รัตพลยังทิ้งท้ายว่า การเลือกตั้งครั้งนี้น่าจับตามองอย่างมาก โดยมีปัจจัยคือ แผ่นดินไหวทางการเมืองถึง 2 ครั้ง สะท้อนจากจำนวนผู้ชมการดีเบตครั้งล่าสุดในวันที่ 11 กันยายนที่ผ่านมา ถึง 57 ล้านคน ก่อนจะสรุปว่า ประเด็นที่สำคัญกับชาวอเมริกันในการลงคะแนนเสียง คงหนีไม่พ้นเรื่องเศรษฐกิจ, สิทธิการทำแท้ง, ผู้อพยพ และภูมิรัฐศาสตร์โลกตามลำดับ

Tags: , , , , , , , , , , , , , , , ,