ประเด็นร้อนในเรื่องผลงานศิลปะ ‘เสียดสีสังคม’ ของ นิ้น-เพชรนิล สุขจันทร์ นิสิตชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับผลงาน ‘ซุกไว้ใต้หมอน’ ไม่ใช่ได้รับการพูดถึงเป็นครั้งแรก ก่อนหน้านี้เธอทำงานศิลปะภาพหลังเฟรมในชื่อ ‘แด่การศึกษา ด้วยรัก และอาลัยยิ่ง’ ซึ่งหลังจากเผยแพร่ผลงานดังกล่าวก็กลายเป็นประเด็นร้อน โดยเฉพาะในเรื่องการตั้งคำถามถึงเรื่องการศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย

งานจัดแสดงชุดซุกไว้ใต้หมอน ที่สำนักข่าว Top News พาดหัวว่าเป็นงานศิลปะ ‘สุดเสื่อม’ นั้น เป็นผลงานส่วนหนึ่งการเรียนวิชา Advance Creative ของคณะศิลปกรรมศาสตร์ โดยเมื่อขึ้นชื่อว่าวิชาที่ต้องการใช้ ‘ความคิด’ และ ‘การตีความหมาย’ เป็นตัวตั้ง จึงทำให้นิ้นสนใจในงานศิลปะจัดวาง (Installation Art) เพราะเป็นศิลปะที่ต้องใช้การนำวัตถุมาจัดวางเพื่อให้กลายเป็นเรื่องราว นอกจากนี้ยังเป็นศิลปะที่เล่นกับพื้นที่ ซึ่งเธอเพิ่งเริ่มได้เรียนรู้และลงมือทำเป็นงานแรก นอกจากงานศิลปะแบบภาพพิมพ์ที่เธอถนัด รวมถึงโจทย์ที่ได้รับมาจากอาจารย์คือการทำศิลปะที่เกี่ยวข้องกับ ‘หัว’ โดยต้องเน้นการใช้ ‘ครีเอทีฟ’ เป็นหลัก

เธอยอมรับว่าเป็นคนที่ชอบทำงานในเชิง ‘เสียดสีสังคม’ เป็นทุนเดิม และไม่ได้อยากทำงานชิ้นเดียวเพื่อให้ได้ ‘คะแนน’ แล้วไม่มีความหมายอะไร เธออยากให้งานของเธอเป็นส่วนหนึ่งในการตั้งคำถามหรือกระตุ้นสังคม เสมือนแรงกระเพื่อมเบาๆ ของน้ำในลำธารขนาดใหญ่ นอกจากนี้เธออยากให้ศิลปะได้ทำหน้าที่ในการสื่อสารความคิดของศิลปินสู่สังคมอย่างครบถ้วนกระบวนความ ทำให้ใส่ใจและให้เวลากับการหาข้อมูลในการทำงาน

จุดเริ่มต้นของงานชิ้นนี้เกิดจากการตั้งคำถามถึง ‘ปัญหา’ ในรั้วมหา’ลัย โดยเฉพาะในเรื่องของ ‘การรับฟังเสียงของนิสิต’ ที่มักไม่ได้รับการตอบรับเท่าที่ควร แน่นอนว่าปัญหาของงานชิ้นดังกล่าวคือมีบางส่วนของงานที่คล้าย ‘พระเกี้ยว’ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่ชาวจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยภูมิใจ 

‘รัดเกล้า’ ที่เธอซื้อมาจากสำเพ็งในราคาที่นิสิตพอจ่ายไหว และนำมาติดกระจกประดับประดาด้วยสีทองอร่าม ส่วนหมอนก็เช่นกันเธอไปเลือกซื้อและนำมาเย็บประกอบเองทั้งหมด

เธอยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า ‘ตั้งใจ’ ให้งานชิ้นนี้หมายถึงมหาวิทยาลัย โดยนำรัดเกล้ามาทำให้ดูคล้าย ‘พระเกี้ยว’ เพื่อให้สามารถตีความหรือนัยได้อย่างถูกต้อง โดยเริ่มแรกเธอคิดถึงคำกล่าวที่ว่า ‘เกียรติภูมิจุฬาฯ คือเกียรติแห่งการรับใช้ประชาชน’ 

“ในขณะที่บ้านเมืองมีปัญหาต่างๆ นานา ซึ่งบางปัญหาก็อยู่ไม่ไกลจากรั้วของมหา’ลัย เช่น การรื้อถอนโรงภาพยนตร์สกาลา เป็นเรื่องที่จุฬาฯ สามารถออกมาพูดได้ แต่กลับเลือกที่จะไม่สนใจ แม้แต่ในเรื่องการเมืองก็ตาม ทำให้นิสิตต้องรวมตัวกันเขียนจดหมายส่งหนังสือไปถึงผู้บริหาร แต่หลายครั้งกลับไม่มีอะไรตอบกลับมา กลายเป็นเสียงเงียบเสมอมา ซึ่งในหลายเรื่อง การเข้าถึงและไปหาผู้บริหารก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้นแม้แต่นิสิตภายใน จุฬาฯ ยังเลือกไม่ฟังเสียง แล้วเช่นนี้จุฬาฯ จะรับใช้ประชาชนได้อย่างไร”

เธอจึงตัดสินใจใช้ช่องว่างระหว่าง ‘คณะผู้บริหาร’ กับ ‘นิสิต’ โดยสะท้อนถึงการที่ไม่รับฟังเสียงของนิสิต แต่มักยินยอมพร้อมใจไปรับฟังเสียงของนายทุน ซึ่งขัดแย้งกัน โดยเธอเขียนอธิบายไว้ดังนี้

‘ในโลกทุนนิยมที่จุฬาฯ เองไม่ได้รับใช้ประชาชนอย่างแท้จริง แต่จุฬาฯ กลับรับใช้ผู้มีอำนาจและนายทุน โดยเฉพาะผู้บริหาร ในขณะที่นิสิตออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมเพื่อสิทธิและผลประโยชน์ของตัวนิสิตเองและมหาวิทยาลัยเป็นสิ่งสำคัญ เช่น การรื้อโรงภาพยนตร์สกาลา สิทธิการชุมนุมในรั้วมหา’ลัย การไล่ที่ชุมชนสามย่าน รวมถึงการรื้อถอนประเพณีที่ล้าหลัง ซึ่งทุกๆ อย่างเป็นสิ่งที่จุฬาฯ ไม่ยอมอนุมัติ เพิกเฉย และมักผิดคำสัญญาที่ให้ไว้ เพราะขึ้นอยู่กับผู้อยู่เบื้องหลังที่อาจจะไม่ใช่นิสิต แต่คือผู้ที่มีอำนาจ’

เธอเผยอีกว่างานชิ้นนี้ยังคงเป็นตัวแทนของการเปิดเผย ‘ปัญหา’ ที่ซุกซ่อนอยู่ใต้พรมมานานและไม่มีใครกล้าเปิดเผย ดังเช่นครั้งหนึ่งในขณะที่เป็นนิสิตปีที่ 1 เธอประสบกับอาจารย์ที่แสดงออกถึงการ ‘คุกคามทางเพศ’ ซึ่งอาจารย์คนดังกล่าวประพฤติเช่นนี้มานานหลายสิบปี นิสิตรุ่นก่อนก็ประสบเช่นกัน แต่ในเมื่อไม่มีใครพูด สิ่งเหล่านี้ก็กลายเป็นปัญหาหมักหมม เธอจึงตัดสินใจไปเรียกร้องกับอาจารย์ ถึงได้มีการจัดการสอบสวนค้นหาความจริงในเรื่องดังกล่าว 

นอกจากปัญหาเหล่านี้ จุฬาฯ ยังมีปัญหาอีกมากมาย แม้ไม่ใช่เธอที่เป็นคนออกมาพูด ก็ต้องมีคนอื่นแสดงออกอยู่ดี ดังนั้นจะดีกว่าไหม หากจุฬาฯ จะหาวิธีจัดการและรับฟังปัญหาต่างๆ ไม่ปล่อยให้สะสมจนกลายเป็นลูกโป่งที่บวมพองและแตกออกในที่สุด

เมื่องานนี้ได้รับการเผยแพร่ออกไป ราวกับน้ำมันกระเด็นเข้ากองไฟทันที กระแสโซเชียลฯ โหมกระหน่ำมาที่เธออย่างรุนแรง สำนักข่าว Top News นำไปพาดหัวข่าวว่า ‘จุฬาฯ สุดเสื่อม นำพระเกี้ยวไปไว้บนทางเดิน พร้อมโปรยอาหารหมา’

ด้านหนึ่งเธอน้อมรับคำติชมและพร้อมที่นำไปปรับปรุงผลงานให้ดียิ่งขึ้น ส่วนผู้ชมที่เข้ามาคอมเมนต์ในเชิงด่า เธอไม่ใส่ใจ เนื่องจากเธอพิมพ์อธิบายความต้องการและนัยของความหมายของงานชิ้นนี้ไปหมดแล้ว แต่ใครจะตีความว่าเป็นเช่นไรก็ขึ้นอยู่กับทัศนคติและความสนใจของเขามากกว่า สิ่งหนึ่งที่เธอยืนยันตลอดว่าไม่มีใครอยู่เบื้องหลังงานของเธอ มีแต่เพียงประสบการณ์และความรู้ความสามารถของเธอเท่านั้น ที่ผลิตและกลั่นกรองจนกลายเป็นงาน ‘ซุกไว้ใต้หมอน’ ชิ้นนี้ 

“เราก็รู้สึกว่าบางครั้ง เราอาจจะล้ำเส้นเกินไป แต่เราไม่ได้มีเจตนาร้ายต่อมหาวิทยาลัย ในส่วนที่หลายคนกล่าวว่าเราใส่ร้ายไปถึงเบื้องสูง ไม่เป็นความจริงเลย เพราะเราอยากให้คนเห็นแล้วนึกถึงมหา’ลัย เป็นอันดับแรก ไม่มีเจตนาใส่ร้ายในเรื่องดังกล่าว ส่วนเจตนาที่แท้จริงคืออยากเห็นจุฬาฯ พัฒนามากกว่านี้ ถ้ามหาวิทยาลัยยังเก็บปมปัญหาไม่สะสาง ไม่รับฟังเสียงนิสิต-ครู-อาจารย์ มหาวิทยาลัยจะเป็นมหาวิทยาลัยที่ส่งเสริมประชาธิปไตยได้อย่างไร”

ส่วนอาจารย์ก็มีทั้งติชมและรับฟังแนวความคิด ซึ่งเธอฝากขอบคุณอาจารย์ทุกคนที่เข้ามาช่วยเสริมเติมแต่งให้งานชิ้นนี้สมบูรณ์ แม้ว่าอาจารย์บางคนจะไม่เห็นด้วยกับงานประเภทศิลปะ-การเมืองเลยก็ตาม

“อาจารย์บอกกับเราว่าให้จบไปก่อนได้ไหม ค่อยทำงานศิลปะเสียดสีสังคม เราตอบกลับไปว่าในขณะนี้เราเป็นคนในรั้วจุฬาฯ รับรู้ปัญหามากมาย ถ้าไม่พูดไม่แสดงงานศิลปะตอนนี้จะมีความหมายอะไร หากคนในยังพูดไม่ได้ คนนอกยิ่งอย่าหวังเลย”

อย่างไรก็ดี เธอไม่เคยเห็นด้วยกับคำกล่าวที่ว่า ศิลปะคือ ‘สิ่งสวยงาม’ เท่านั้น ต้องเป็นสิ่งจรรโลงใจเท่านั้น แต่สำหรับเธอ ศิลปะต้องให้ประโยชน์ในด้านใดด้านหนึ่ง อาจจะสะเทือนใจ สุนทรีย์ แต่สิ่งที่สำคัญคือต้องให้อะไรกับสังคม ถ้าผู้ชมดูแล้วตั้งคำถามหรือตีความได้ นั่นก็คือผลสำเร็จของคำว่าศิลปะ

นอกจากนี้คำว่า‘ศิลปะ’ สำหรับเธอต้องการสิ่งที่เรียกว่า ‘เสรีภาพ’ ควบคู่กันไป เพราะไม่มีกรอบล้อมใดจะนิยามศิลปะได้ ดังนั้นเรื่องเสรีภาพคือสิ่งที่สำคัญสำหรับงานศิลปะ ดั่งคำที่เธอนิยามว่า “ศิลปะจะงอกเงยในหัวใจของเสรีชนก็ต่อเมื่อทุกคนมีเสรีภาพ”

“เราเชื่อว่าศิลปะไม่มีถูกไม่มีผิด เชื่อเสมอมาว่าศิลปะสามารถเป็นเครื่องมือในการสื่อสารได้ ศิลปะคือต้องให้ประโยชน์ในด้านใดด้านหนึ่ง ไม่จำเป็นว่าจะต้องสวยงามเพียงอย่างเดียว และผลงานชิ้นนี้ก็ได้ทำหน้าที่ของมันเสร็จสมบูรณ์แล้ว”

อย่างไรก็ตาม เธอยังภูมิใจที่สามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของนิสิตในรั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอยากจะจบออกไปด้วยการนำความรู้และความสามารถมาใช้เพื่อรับใช้ประชาชนอย่างแท้จริง โดยเธอยังหวังว่าจุฬาฯ จะรับฟังเสียงของนิสิตให้มากขึ้นเพื่อการพัฒนาของมหาวิทยาลัยเอง

Tags: , , , , , ,