7 มีนาคม 2563 เสียงปืนที่ดังขึ้นที่อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ จบชีวิตของ คณากร เพียรชนะ อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าศาลชั้นต้น ศาลจังหวัดยะลา วัย 51 ปี หลังพยายามฆ่าตัวตายมาแล้วหนึ่งครั้งก่อนหน้า เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2562 ที่ห้องพิจารณาคดีในศาลจังหวัดยะลา
คดีหมายเลขดำที่ 3428/2561 คือ ‘ต้นเหตุ’ ของเรื่องทั้งหมด คณากรระบุว่ามีการ ‘แทรกแซง’ การดำเนินคดีชายชาวมุสลิม 5 คน ในข้อหาอั้งยี่ ซ่องโจร จากเหตุฆาตกรรม 5 ศพ ที่อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา
ผู้พิพากษาคณากรเห็นว่าให้ ‘ยกฟ้อง’ จำเลยเนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอ แต่อธิบดีผู้พิพากษาภาค 9 ผู้บังคับบัญชาโดยตรงมีคำสั่งให้ ‘แก้คำพิพากษา’ เป็นประหารชีวิตจำเลย 3 คน ส่วนอีก 2 คน ให้จำคุก ทำให้คณากรรู้สึกว่าการแก้ไขคำพิพากษาดังกล่าวเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และไม่ได้ทำตามระเบียบขั้นตอน โดยอธิบดีผู้พิพากษาภาค 9 เลือกทำ ‘บันทึกลับ’ สั่งถึงเขาโดยตรงแทน คณากรจึงไม่ปฏิบัติตาม
คณากรเขียนแถลงการณ์หลายหน้า ชี้แจงสาเหตุที่ยกฟ้องผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ก่อนจะจบด้วยคำว่า “คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา คืนความยุติธรรมให้กับประชาชน”
คำชี้แจงจาก ไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกาในขณะนั้นระบุว่า เป็นเรื่องการสื่อสารที่ผิดพลาดระหว่างคณากรและอธิบดีผู้พิพากษาภาค 9 และยืนยันว่าเป็นขั้นตอนปกติ
ก่อนที่คณากรจะเสียชีวิต คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนการรักษาวินัยผู้พิพากษากรณีไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊ก และการเผยแพร่แถลงการณ์ของคณากร แต่เรื่องได้ยุติไปหลังคณากรเสียชีวิต ส่วนการแทรกแซงของอธิบดีผู้พิพากษาภาค 9 ก.ต. เห็นว่า ‘ไม่มีมูล’ จึงไม่ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง
ขณะที่ศาลอุทธรณ์ จังหวัดยะลา ได้มีคำพิพากษากลับจำคุก 35 ปี 4 เดือน และจำคุกตลอดชีวิตคดียิง 5 ศพ ที่คณากร ‘ยกฟ้อง’ ไปก่อนหน้านี้
1 ปีให้หลังมรณกรรมของผู้พิพากษาคณากร แม้สาเหตุที่เขายิงตัวตายจะกลายเป็นเรื่องที่ ‘ระบบ’ พยายามอธิบายว่าเกิดจากการสื่อสารไม่ตรงกัน แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมาก็คือ ‘การตั้งคำถาม’ ต่อความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรมนั้นมากขึ้นเรื่อยๆ และคนจำนวนไม่น้อยก็เชื่อว่ามีการ ‘แทรกแซง’ คำตัดสินของผู้พิพากษาจริง โดยเฉพาะในคดีที่เกี่ยวกับความมั่นคง และคดีการเมือง
The Momentum ชวน สมชาย ปรีชาศิลปกุล รองศาสตราจารย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ย้อนกลับไปมองการเสียชีวิตของผู้พิพากษาคณากร และความเป็น ‘อิสระ’ ของผู้พิพากษาที่ยังคงเป็นปมใหญ่ของกระบวนการยุติธรรมในวันนี้
ตลอดเวลาที่ผ่านมาคุณมองเห็นการปรับตัวขององค์กรตุลาการหรือกระบวนการยุติธรรมหรือไม่ หลังการยิงตัวตายของผู้พิพากษาคณากร
กรณีของผู้พิพากษาคณากรถือเป็นปรากฏการณ์ที่น่าจะสะท้อนสิ่งที่เป็น ‘ยอด’ ของภูเขาน้ำแข็ง ซึ่งเป็นปัญหาที่เคยถูกพูดถึงกันมาอยู่ ในเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่เป็นอิสระของผู้พิพากษา
การฆ่าตัวตายของคุณคณากรไม่ใช่ปัญหาในเชิงปัจเจก คือไม่ได้เป็นปัญหาส่วนตัวของผู้พิพากษาคนนี้ แต่เป็นภาพสะท้อนจากตัวโครงสร้างที่มันบิดเบี้ยว พอผ่านมา 1 ปี ผมคิดว่าเราไม่เห็นการปรับตัวในเชิงโครงสร้าง หรือมีปรับแก้โครงสร้างอะไรเกิดขึ้น ผมเข้าใจว่าทางฝ่ายตุลาการพยายามตอบปัญหานี้ว่าเป็นเรื่องปัจเจกบุคคลมากกว่า เป็นเรื่องที่สัมพันธ์กับโครงสร้างการบริหารงานของฝ่ายตุลาการ
เพราะฉะนั้น ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา เราไม่เห็นความพยายามในการปรับแก้โครงสร้างการบริหารงานใดๆ ไม่มีความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
คุณรู้สึกอย่างไรกับคำอธิบายว่าเรื่องของคุณคณากรเกิดจากการสื่อสารที่ผิดพลาด
มันอาจจะเป็นการสื่อสารที่ผิดพลาดก็ได้ แต่มันสะท้อนให้เห็นว่า อธิบดีผู้พิพากษาซึ่งดำรงตำแหน่งในฐานะกึ่งๆ ผู้บังคับบัญชา มีอิทธิพลอยู่ไม่น้อยต่อบรรดาผู้พิพากษาที่รับผิดชอบในคดีต่างๆ เพราะฉะนั้น การตอบว่าเป็นการสื่อสารที่ผิดพลาดดูไม่สู้จะตอบอะไรเท่าไหร่ สิ่งที่ผู้พิพากษาคณากรพยายามชี้ให้เห็นก็คือ มีความพยายามแทรกแซงคำวินิจฉัยในคดีเกิดขึ้น ผมไม่คิดว่าเป็นปัญหาเชิงบุคคลที่เกิดขึ้นในบางพื้นที่ แต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง
เพราะฉะนั้น หากมองในฐานะยอดของภูเขาน้ำแข็ง พอเราขยายเรื่องนี้ออกในช่วงรอบปีที่ผ่านมา เราได้เห็นคำวินิจฉัยและคำตัดสินของศาลในเรื่องที่ทำให้เกิดการตั้งคำถามอย่างกว้างขวางอย่างต่อเนื่อง ปัญหานี้ไม่ใช่ตัวบุคคลแต่เป็นโครงสร้างเรื่องความเป็นอิสระในการตัดสินคดีต่างๆ ที่เกิดขึ้น
ถ้าเราดูคดีล่าสุดอย่างการให้ประกันตัวคุณสุเทพ (เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส.) กับพวกที่ถูกศาลตัดสินว่าผิดไปแล้ว ในขณะที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ยังไม่ได้ตัดสินในคดีของกลุ่มราษฎรซึ่งยื่นประกันไป 4-5 ครั้ง แต่ก็ยังไม่ได้ประกันตัว มันเริ่มทำให้คนรู้สึกว่า การทำงานของตุลาการไม่ได้เป็นกลางอย่างที่เราคิด ส่วนหนึ่งจะมาจากการแทรกแซงหรือเปล่า ผมไม่รู้ ไม่ได้มีหลักฐาน แต่คนจำนวนมากในสังคม รู้สึกถึงความไม่เป็นกลาง และความไม่เป็นอิสระ ซึ่งมันเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางขึ้นเรื่อยๆ
สำหรับกรณีคุณคณากร สิ่งที่ถูกอธิบายอย่างหนึ่งก็คือ อธิบดีผู้พิพากษาภาค 9 สามารถทำความเห็นแย้งได้ เพื่อเป็นการตรวจสอบถ่วงดุลมากกว่าจะเป็นการแทรกแซง
การตรวจสอบถ่วงดุลโดยหลักนั้นสามารถมีความเห็นแย้งได้ แต่โดยทั่วไป ผู้พิพากษาที่ตัดสินคดีจะเป็นผู้ที่รับฟังข้อมูลพยาน หลักฐาน และมีบทบาทการพิจารณาในเรื่องที่เกี่ยวข้องโดยตรง เพราะฉะนั้น คนที่น่าจะเข้าใจสถานการณ์ที่สุดก็ควรจะเป็นคนที่ได้รับฟังข้อมูลหลักฐานด้วยตัวเองมากที่สุด
อธิบดีจะเข้ามามีเหตุผลต่างได้ไหม ผมคิดว่ามีเหตุผลที่ต่างได้ แต่มันควรแยกสิ่งที่เรียกว่าข้อเท็จจริง เพราะอธิบดีไม่ได้เป็นผู้รับฟังด้วยตนเอง แต่ผู้พิพากษาต่างหากที่เป็นผู้รับฟังด้วยตัวเอง เพราะฉะนั้น การวินิจฉัยข้อเท็จจริงหลายเรื่องน่าจะเป็นเรื่องที่สามารถตั้งคำถามว่า เรื่องที่มีความเห็นแย้งเป็นปัญหาลักษณะไหน เป็นการตีความตัวบทกฎหมายหรือเรื่องการอธิบายข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น
ไม่ใช่คดีคุณคณากรเพียงคดีเดียว และไม่ใช่แค่อธิบดี แต่หลายครั้งศาลชั้นต้นตัดสินอย่างหนึ่ง พอไปถึงศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา กลับตัดสินอีกแบบ ซึ่งเป็นปัญหาการวินิจฉัยข้อเท็จจริง เพราะส่วนใหญ่ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาเป็นการตัดสินจากข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นรับฟังมา ก็ต้องตั้งคำถามว่าคนที่ไม่ได้รับฟังคดีกับคนที่นั่งรับฟังการพิจารณาด้วยตัวเอง ใครที่น่าเชื่อถือมากกว่ากัน
คนในแวดวงตุลาการรู้สึกถึงความไม่เป็นอิสระหรือไม่ รู้สึกไหมว่าตัวเองถูกแทรกแซง
ในแวดวงตุลาการ ถ้าเราพูดถึงความเป็นอิสระหรือการแทรกแซง ส่วนใหญ่มักจะคิดถึงการแทรกแซงจากนักการเมือง ถ้าดูประวัติศาสตร์ ถ้าคิดถึงความเป็นอิสระ เขาก็คิดแต่เพียงว่าจะต้องไม่ถูกแทรกแซงจากนักการเมืองเป็นสำคัญ
พอจะรักษาความเป็นอิสระ ก็ต้องหาวิธีว่าทำอย่างไรไม่ให้นักการเมืองเข้ามาแทรกแซง เพราะฉะนั้น การบริหารงานก็จะกันนักการเมืองออกไป เช่น องค์กรที่มีบทบาทหน้าที่สำคัญในการบริหารงานของศาล คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.)
ในปัจจุบัน ก.ต. แทบทั้งหมดคือคนในศาลบริหารงานกันเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนที่มีบทบาทคือศาลอาวุโส ก.ต. ซึ่งประกอบด้วย ประธานศาลฎีกาเป็นประธาน ศาลฎีกา 6 คน ศาลอุทธรณ์ 4 คน ศาลชั้นต้น 2 คน รวมเป็น 12 คน และบุคคลภายนอกอีก 2 คน ที่ไม่ใช่นักกฎหมาย
บทบาทหลักๆ ของ ก.ต. จะทำหน้าที่ให้คุณ ให้โทษ เลื่อนลดปลดย้ายผู้พิพากษาต่างๆ ในหมู่ผู้พิพากษากันเอง นักการเมืองไม่แทรกแซงก็จริง แต่อำนาจตุลาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาลยุติธรรม ไม่มีจุดเชื่อมโยงหรือจุดสัมผัสกับคนในสังคมเลย ปัญหาขณะนี้คือ อำนาจตุลาการมันหลุดลอยไปจากสังคม
มันอาจจะอิสระจากนักการเมืองแน่ๆ แต่พอหลุดจากนักการเมืองแล้ว อำนาจตุลาการก็เกิดการตั้งคำถามว่าเชื่อมโยงกับประชาชนในทางไหน เพราะในทางหลักการ อำนาจตุลาการเป็นอำนาจอธิปไตยที่ต้องเชื่อมโยงกับประชาชน แต่ในระบบนี้กลับไม่มีเลย
คำถามสำคัญคือ ในสังคมไทยอำนาจตุลาการสัมพันธ์กับประชาชนอย่างไร ผมคิดว่าจุดเชื่อมโยงเบาบางมาก ถ้าเทียบกับประเทศอื่น เช่นสหรัฐอเมริกา คนจะเข้าดำรงตำแหน่งในศาลสูงสุด ต้องผ่านการให้ความเห็นชอบ ต้องผ่านสถาบันที่มาจากการเลือกตั้ง เช่น วุฒิสภา วุฒิสภาของอเมริกา มาจากการเลือกตั้ง คือผ่านสถาบันที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ความอิสระของฝ่ายตุลาการ กลายเป็นอิสระที่ลอยพ้นไปจากสังคม ลอยพ้นไปจากผู้คน นี่เป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้ตุลาการดูเหมือนว่าจะไม่สนใจต่อคำวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดขึ้นเลย
แล้วระบบจะหาจุดกึ่งกลางอย่างไร ระหว่างความเป็นอิสระจากนักการเมือง และการถูกกล่าวหาว่าอยู่แต่ในเฉพาะกลุ่มก้อนเดียวกัน พวกพ้องเดียวกัน
มันจำเป็นต้องคิดว่าจะออกแบบโครงสร้างอย่างไรให้ฝ่ายตุลาการ ซึ่งยังไงก็ต้องสัมพันธ์กับประชาชน อาจไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง แต่โครงสร้างต้องสามารถสัมพันธ์กับประชาชนโดยอ้อม เช่น บุคคลที่ดำรงตำแหน่งสำคัญในศาลยุติธรรมไม่ว่าจะเป็นประธานศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ หรือผู้บริหารของศาลชั้นต้น ซึ่งควรต้องผ่านความเห็นชอบของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง
และ ก.ต. ต้องไม่ใช่เป็นการบริหารงานของตุลาการ โดยฝ่ายตุลาการทั้งหมด ควรจะต้องมีเสียงของสังคม หรือตัวแทนจากรัฐสภาเข้าไปเกี่ยวข้องกับ ก.ต. ด้วย ซึ่งในปัจจุบันแทบจะไม่ปรากฏให้เห็นเลย
มีตัวชี้วัดอะไรหรือไม่ว่า ตุลาการ หรือศาล ถูกแทรกแซงจริง
ในเมืองไทยไม่มีตัวชี้วัดให้เห็นอย่างชัดเจน ปัญหาหนึ่งคือถ้าทำตัวชี้วัดในกระบวนการยุติธรรม จะถูกโต้แย้งว่าศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์อาจจะตัดสินอีกแบบหนึ่งด้วยความเป็นอิสระเพราะผู้พิพากษามีดุลพินิจที่แตกต่างกันได้ ในแง่ของดุลพินิจส่วนใหญ่ที่เขาทำกันจะเป็นมุมมองของสาธารณชนที่มีต่อฝ่ายตุลาการ แต่ตัวชี้วัดไม่สามารถทำได้ชัดเจน
และส่วนหนึ่งที่อาจชี้ให้เห็นถึงความเป็นอิสระของศาลได้คือ การที่ข้อพิพาทคล้ายๆ กันแต่ถูกชี้นำไปในทิศทางที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด
ระบบตุลาการหรือศาลจะรู้สึกตัวหรือไม่ว่าเรื่องนี้เป็นปัญหา และในที่สุดจะนำไปสู่การปรับตัว
ผมรู้สึกว่าฝ่ายตุลาการในบ้านเราค่อนข้างเป็นอิสระจากการถูกควบคุมและตรวจสอบ หลายครั้งที่แม้จะมีการโต้แย้งเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง ฝ่ายตุลาการก็ใช้วิธีนิ่งเงียบไม่ตอบโต้
ผมคิดว่าเป็นเพราะฝ่ายตุลาการรู้สึกว่าสถานะตัวเองมั่นคง ถูกตรวจสอบจากฝ่ายอื่นได้ยาก
จริงอยู่ว่าการสั่นคลอนฝ่ายตุลาการในเชิงโครงสร้างเป็นไปได้ยาก แต่ถ้ามีคำถามแบบนี้เกิดขึ้นเรื่อยๆ และเกิดแบบสม่ำเสมอ ผมคิดว่ามันจะสั่นคลอนความชอบธรรมของฝ่ายตุลาการ สำหรับฝ่ายตุลาการที่จะสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงนั้น ความไว้วางใจต่อสาธารณะมีความสำคัญ เพราะฉะนั้น ยังไงความไว้วางใจของสังคมมันลดต่ำลง หรือมีการเริ่มตั้งคำถามในทุกเรื่องที่ฝ่ายตุลาการทำหน้าที่ออกมา นั่นเป็นสถานะที่น่าเป็นห่วง
ผมคาดหวังว่าคนในสังคมตุลาการควรตระหนักกับเรื่องแบบนี้ว่าไม่ใช่เรื่องที่ดีต่อสถาบันตุลาการในระยะยาว
เป็นไปได้หรือไม่ที่อำนาจจากประชาชนจะสามารถปฏิรูประบบตุลาการได้สำเร็จ
มีบางประเทศที่คล้ายกับว่าเกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เกิดการต่อสู้ระหว่างประชาธิปไตยกับเผด็จการ พอผ่านเหตุการณ์แบบนั้น ผู้พิพากษาที่ให้การสนับสนุนฝ่ายเผด็จการหรืออำนาจนิยมก็จะถูกดำเนินคดีภายหลัง แต่มันเป็นในประเทศที่ฝ่ายประชาธิปไตยได้รับชัยชนะเด็ดขาดจนเกิดการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมอย่างจริงจัง
สำหรับประเทศไทย มีแนวโน้มหรือไม่ที่จะเกิดการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมหรือระบบศาลให้เป็นอิสระอย่างแท้จริง และแก้หลักการความเป็นอิสระที่ ‘หลุดลอย’ จากสังคมได้หรือไม่
ในเมืองไทยอาจจะยังไม่เห็น แต่สิ่งสำคัญที่ผมอยากจะเสนอคือ ตอนผมอ่านประวัติศาสตร์ สถาบันตุลาการในประเทศไทยตั้งแต่หลัง 2475 ไม่มีช่วงเวลาไหนที่สถาบันตุลาการถูกวิพากษ์วิจารณ์และตั้งคำถามอย่างกว้างขวาง แต่ว่าตั้งแต่ปี 2550 และภายหลังการรัฐประหาร 2557 มีกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งผมคิดว่ามันกว้างขวางและเข้มข้นขึ้น
ผมคิดว่ามันไม่เคยเกิดปรากฏการณ์แบบนี้มาก่อน ผมคิดว่านี่เป็นครั้งสำคัญที่ฝ่ายตุลาการถูกวิจารณ์และดึงเข้ามาในเรื่องการเมืองทั้งหมด
การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไม่อาจหลุดพ้นไปได้จากการปฏิรูปประชาธิปไตย ซึ่งหมายความว่า การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม อำนาจตุลาการ ภายใต้ระบบการเมืองแบบอำนาจนิยมนั้นเป็นไปได้ยาก การปฏิรูปกระบวนการตุลาการให้ถูกควบคุมตรวจสอบได้มักจะมากับการปฏิรูปทางการเมืองให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น
Tags: ตุลาการ, สมชาย ปรีชาศิลปกุล, คณากร เพียรชนะ, ศาลยุติธรรม